HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

ECONOMIC REVIEW


เทคโนโลยี mRNA: ยาวิเศษของอนาคต

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ
ที่ปรึกษา
กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร


การระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธ์ุใหม่ทำให้น้อยคนที่จะไม่รู้จัก mRNA ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ใช้ผลิตวัคซีนของบริษัทโมเดอร์นา และบริษัท Bio-N-Tech (ไบออนเทค) ผู้ผลิตวัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอ 2 ชนิดที่ส่วนใหญ่ยอมรับว่าเป็นวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพสูงสุดและนับวันจะได้รับความนิยมและการยอมรับมากขึ้น

ความสำเร็จดังกล่าวของวัคซีนของบริษัททั้งสองในการป้องกันโควิด-19 เป็นการพิสูจน์ให้เห็นว่าเทคโนโลยี mRNA น่าจะมีบทบาทสำคัญในการพัฒนายาและวัคซีนเพื่อรักษาและป้องกันการระบาดของโรคต่างๆ ในอนาคต ความเชื่อมั่นในเทคโนโลยีนี้ทำให้ราคาหุ้นของบริษัททั้งสองปรับขึ้นไปแล้วกว่า 10 เท่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา กล่าวคือราคาหุ้นของโมเดอร์นานั้นปรับขึ้นจากประมาณ 20 เหรียญเมื่อปลายปี 2019 (ตอนที่โควิด-19 เริ่มระบาดที่ประเทศจีน) มาอยู่ที่มากกว่า 300 เหรียญต่อหุ้นในปลายปี 2021 สำหรับราคาหุ้นของบริษัทไบออนเทคนั้นก็ได้เพิ่มขึ้นจากราว 33 เหรียญมาเป็น 350 เหรียญในช่วงเวลาเดียวกัน

ทำไมเทคโนโลยี mRNA จึงประสบความสำเร็จมากกว่าในการพัฒนาและผลิตวัคซีนเพื่อป้องกันโควิด-19 คำตอบคือ การผลิตวัคซีนตามแบบฉบับเดิม เช่น การผลิตวัคซีนเพื่อป้องกันไข้หวัดใหญ่นั้นมีหลายขั้นตอน เช่น ต้องฉีดไวรัสเข้าไปในไข่ไก่แล้วเลี้ยงเพื่อเพิ่มจำนวนไวรัส แล้วต้องทำให้เป็นเชื้อตาย กระบวนการดังกล่าวใช้เวลานานอย่างน้อย 6 เดือน ดังนั้นบริษัทยาจะต้องคาดเดาว่าไข้หวัดใหญ่สายพันธ์ุใดจะระบาดในฤดูหนาวครั้งต่อไป ส่งผลให้วัคซีนที่เราฉีดเพื่อป้องกันไข้หวัดใหญ่ทุกปีนั้นมีประสิทธิผลในการป้องกันการเป็นไข้หวัดใหญ่ได้เพียง 50% เพราะต้องคาดการณ์ว่าสายพันธ์ุใดน่าจะระบาดก่อนฤดูหนาวนานถึง 8 เดือน แม้ปัจจุบันจะมีเทคโนโลยีที่ดีกว่า เช่น Viral vector แต่ยังใช้เวลานานกว่าเทคโนโลยี mRNA อยู่ดี

นอกจากนี้ เทคโนโลยี mRNA นั้นยังมีข้อได้เปรียบอื่นๆ ด้วย ซึ่งผมได้พยายามรวบรวมข้อมูลมาสรุปสาระสำคัญดังนี้

1. mRNA นั้นเปรียบเสมือนกับ 'ตำรา' ที่สามารถ 'สั่ง' ให้เซลล์ของมนุษย์ผลิตโปรตีนขึ้นมาซึ่งเป็นชิ้นส่วนของไวรัส ในกรณีของโควิดคือการผลิตโปรตีนปลายแหลม (spike protein) ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของโควิด-19 และเมื่อระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์ได้เห็นและรู้จักโปรตีนปลายแหลมดังกล่าว ก็จะสามารถจดจำเพื่อปราบปรามและฆ่าไวรัส 'ตัวจริง' ได้หากเราได้รับเชื้อดังกล่าวในอนาคต

mRNA นั้นเปรียบเสมือนกับ 'ตำรา' ที่สามารถ 'สั่ง' ให้เซลล์ของมนุษย์ผลิตโปรตีนขึ้นมาซึ่งเป็นชิ้นส่วนของไวรัส ในกรณีของโควิด คือการผลิตโปรตีนปลายแหลมซึ่งเป็นลักษณะเด่นของโควิด-19 และเมื่อระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์ได้เห็นและรู้จักโปรตีนปลายแหลม จะสามารถฆ่าไวรัส 'ตัวจริง' ได้

2. อีกเทคโนโลยีหนึ่งที่เป็นส่วนประกอบสำคัญคือการพัฒนา Lipid nanoparticles ให้เป็นหีบห่อเพื่อบรรจุ mRNA ที่ต้องการเพื่อนำไป 'ส่ง' ให้ถึงที่หมายคือเซลล์ในร่างกายอย่างปลอดภัย

คำถามที่ตามมาคือเทคโนโลยี 2 เรื่องหลักดังกล่าวนั้นดูไม่น่าจะยากเย็นอะไรมากนัก แล้วทำไมจึงไม่มีใครคิดค้นและพัฒนาวิธีการดังกล่าวมาก่อนหน้านี้เพราะนักวิทยาศาสตร์ค้นพบ RNA ครั้งแรกมานานเกือบ 60 ปีแล้ว คำตอบคือการจะยัดเยียดตำราจากภายนอกมา 'สั่ง' ให้โรงงานผลิตของเซลล์คือ 'โรงงาน ribosomes' นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะ ribosomes มีภารกิจประจำล้นมืออยู่แล้ว ดังนั้นงานวิจัยในช่วงที่ผ่านมาจึงเป็นการเพียรพยายามให้ mRNA กระตุ้นให้เซลล์ผลิตโปรตีนที่ต้องการในจำนวนที่มากเพียงพอ นอกจากนั้นผู้เชี่ยวชาญบางคนแสดงความเห็นว่าการพัฒนา Lipid nanoparticles นั้นก็เป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างยิ่ง ดังนั้น เมื่อผมอ่านถึงตรงนี้เมื่อ 3 ปีที่แล้ว ผมจึงสรุปผิดคิดว่าเทคโนโลยี mRNA นั้นคงจะไม่สามารถนำมาใช้ได้จริงในอนาคตอันใกล้ จึงไม่ได้ถือโอกาสซื้อหุ้นของ 2 บริษัทดังกล่าวซึ่ง 'หากรู้อย่างนี้' ก็คงจะร่ำรวยไปแล้ว

คำถามที่ตามมาคือราคาหุ้นของทั้ง 2 บริษัทนั้นสะท้อนศักยภาพทั้งหมดของเทคโนโลยี mRNA แล้วหรือไม่ คำตอบคือผมไม่ทราบ แต่สามารถนำเสนอข้อมูลเท่าที่มีอยู่มาสรุปว่าปัจจุบันนั้นทั้ง 2 บริษัทกำลังวางแผนทำอะไรเพิ่มเติมในการพัฒนาเทคโนโลยี mRNA ในส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีนโควิด-19 ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้

บริษัทโมเดอร์นาก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2010 ใช้เวลานาน 10 ปีจึงสามารถพัฒนาให้สามารถนำส่ง mRNA เข้าไปในเซลล์ และให้ mRNA สามารถเข้าไปกระตุ้น Ribosome ให้สร้างโปรตีนที่ต้องการในจำนวนที่เพียงพอจนประสบความสำเร็จในการผลิตวัคซีนโมเดอร์นา ซึ่งก้าวต่อไปกำลังพัฒนาวัคซีนรักษาโรคอื่นๆ เช่น Zika HIV และโรคไข้หวัดใหญ่ ตลอดจนโรคปอดอื่นๆ ทั้งนี้กำลังเร่งพัฒนาวัคซีนที่จะป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่และโควิด-19 สายพันธ์ุใหม่ไปพร้อมๆ กัน นอกจากนั้น โมเดอร์นายังอยู่ระหว่างพัฒนายาร่วมกับบริษัทแอสตราเซเนกาเพื่อจะสร้างเยื่อหัวใจ (regenerate heart issue) สำหรับคนที่ประสบอาการหัวใจล้มเหลว โดยใช้ mRNA กระตุ้นให้ร่างกายสร้างโปรตีนเพื่อการสร้างเซลล์เคลือบเส้นเลือดหัวใจที่เรียกว่า Vascular endothelial growth factor A โดยได้ทำการทดลองขั้นที่ 1 (phase 1 clinical trial) กับมนุษย์เสร็จสิ้นไปแล้วในปี 2019 และกำลังอยู่ระหว่างการทำการทดลองขั้นที่ 2

ผู้เชี่ยวชาญและนักลงทุนจึงกำลังตื่นเต้นและให้ความสำคัญกับเทคโนโลยี mRNA อย่างมากเพราะเป็นเทคโนโลยีที่สามารถสั่งการให้ร่างกายของมนุษย์ผลิตยาอะไรก็ได้มารักษาได้สารพัดโรค

บริษัทไบออนเทคก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2008 และเมื่อต้องเผชิญกับโควิด-19 ก็ได้ร่วมมือกับบริษัทไฟเซอร์ผลิตวัคซีนที่ใช้กันอยู่อย่างแพร่หลายยิ่งกว่าวัคซีนของโมเดอร์นา สำหรับทิศทางในการพัฒนาเทคโนโลยี mRNA ของบริษัท ไบออนเทคนั้นมุ่งเน้นทำยารักษาโรคมะเร็งโดยมีตำรับยาที่อยู่ในระหว่างการพัฒนามากถึง 21 ตำรับในการรักษาโรคมะเร็งด้วยวิธีต่างๆ 11 วิธีด้วยกัน เช่น การใช้ mRNA ฉีดเข้าไปในเซลล์มะเร็งให้ผลิตโปรตีน CytoKine ซึ่งเป็นโปรตีนที่ส่งสัญญาณเรียกระบบภูมิคุ้มกันให้มาจัดการฆ่าเซลล์มะเร็ง นอกจากนั้น ดร.อูเกอร์ ชาฮินประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทไบออนเทคยังชี้ว่าบริษัทฯ ได้พิสูจน์แล้วว่าเทคโนโลยี mRNA สามารถแปลงเซลล์เลือดให้กลายเป็นสเต็มเซลล์ได้ อนาคตจะพัฒนาเทคโนโลยี mRNA ให้สามารถกระตุ้นการสร้างเซลล์กระดูก (สำหรับคนที่เป็นโรคกระดูกเสื่อม) และสร้างคอลลาเจน (collagen) เพื่อลดการเหี่ยวย่นของผิวหนังได้

จะเห็นได้ว่าทำไมผู้เชี่ยวชาญและนักลงทุนจึงกำลังตื่นเต้นและให้ความสำคัญกับเทคโนโลยี mRNA อย่างมากเพราะเป็นเทคโนโลยีที่สามารถสั่งการให้ร่างกายของมนุษย์ผลิตยาอะไรก็ได้มารักษาได้สารพัดโรค นอกจากนั้นยังผลิตยาที่มีลักษณะเฉพาะเจาะจงและเหมาะสมกับพันธุกรรมของผู้ป่วยคนนั้น (personalized medicine) ซึ่งมองได้ว่าจะเป็น game changer จากปัจจุบันที่ผลิตยาออกมาหลายตำรับเพื่อรักษาโรคชนิดหนึ่ง เพราะยาแต่ละตำรับจะมีความเหมาะและประสิทธิผลที่แตกต่างสำหรับแต่ละคน

ประเด็นสุดท้ายคือ RNA นั้นเป็นตำราที่ไม่ถาวรสั่งการได้เพียงชั่วคราวแล้วก็จะละลายหายไปเองจึงไม่ต้องกลัวเรื่องการตกค้างดังนั้นบริษัทไบออนเทคจึงกำลังพยายามพัฒนา mRNA ซึ่งกระตุ้นตัวเอง (self-amplifying) ให้สามารถผลิตโปรตีนที่ต้องการได้ในจำนวนมากๆ ในระยะเวลาอันสั้นที่ RNA 'สั่งการ' อยู่ในเซลล์