HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

INVESTMENT REVIEW


เมื่อสภาพคล่องโลกกำลังจะหด(?)

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย
หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ รองหัวหน้าสายงานวิจัย
บล.เกียรตินาคินภัทร

แม้ว่าในช่วงสองปีที่ผ่านมาโลกจะเจอปัญหาโควิดจนส่งผลกระทบต่อทั้งเศรษฐกิจ ธุรกิจ และสังคมไปทั่วโลก แต่ราคาสินทรัพย์แทบทุกประเภททั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง หลังจากมีความผันผวนอย่างรุนแรงในระยะแรก ปัจจัยที่สนับสนุนทำให้ราคาสินทรัพย์เหล่านี้เพิ่มสูงขึ้น คือการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่ามหาศาลผ่านนโยบายการคลังและนโยบายการเงินทั่วโลก ที่ออกมาเพื่อช่วยบรรเทาและลดผลกระทบจากการหยุดชะงักทางเศรษฐกิจ

โดยเฉพาะด้านนโยบายการเงิน ที่ธนาคารกลางใหญ่ๆ ทั่วโลก พากันลดอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็ว และธนาคารกลางประเทศใหญ่ๆ ทั้งธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ธนาคารกลางญี่ปุ่น และธนาคารกลางอังกฤษพากัน 'พิมพ์เงิน' เพิ่ม ผ่านนโยบาย quantitative easing หรือ QE ที่ไล่ซื้อพันธบัตรในตลาดการเงินเสมือนการอัดฉีดสภาพคล่องอย่างต่อเนื่อง

การกระทำนี้มีจุดประสงค์ใหญ่สามด้านคือ หนึ่ง ต้องการทำให้สภาพคล่องในระบบมีอยู่อย่างเกินพอ เพื่อลดความเสี่ยงของการขาดสภาพคล่อง ที่จะนำไปสู่ปัญหาในตลาดการเงินได้ สอง เพื่อลดต้นทุนในการกู้ยืม โดยไล่ซื้อพันธบัตรรัฐบาลจนอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงปรับลดลงทุกระยะ ซึ่งจะทำให้ต้นทุนในการกู้ยืมเงินลดลง ไม่ว่าจะเป็น การกู้ซื้อบ้าน กู้ทำธุรกิจ สาม เพื่อไล่คนที่ถือสินทรัพย์ปลอดภัย เช่น พันธบัตรรัฐบาล เอาเงินไปลงทุนและซื้อสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงมากกว่า เพื่อให้สภาพคล่องในตลาดสินทรัพย์เสี่ยงและการลงทุนมีอย่างเพียงพอ

แต่ในปัจจุบันที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นกลับขึ้นมา และปัญหาข้อจำกัดด้านอุปทานต่างๆ เช่น ราคาพลังงาน การขนส่ง และตลาดแรงงาน ทำให้เงินเฟ้อในประเทศต่างๆ อย่างสหรัฐฯ ขยับขึ้นไปอยู่ในระดับที่สูงที่สุดในรอบหลายสิบปี และมีการคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้ออาจจะอยู่ในระดับสูงต่อไป

ถ้าธนาคารกลางไม่ทำอะไรนานเกินไป จนการคาดการณ์เงินเฟ้อสูงขึ้นในการทำสัญญาทุกอย่าง เช่น การกำหนดค่าจ้างแรงงาน การตั้งราคาสินค้า หรือค่าเช่า ทุกคนก็จะบวกเงินเฟ้อคาดการณ์เพิ่มเข้าไปอีก ยิ่งทำให้อัตราเงินเฟ้อค้างอยู่นานและเอาลงยาก

นอกจากนี้ ตลาดแรงงานเริ่มตึงตัว จำนวนตำแหน่งงานที่เปิดมีมากกว่าจำนวนคนหางาน ทำให้ค่าจ้างแรงงานเริ่มปรับขึ้น

ธนาคารกลางสหรัฐฯ ซึ่งมีเป้าหมายเชิงนโยบายสองด้าน คือ การรักษาเงินเฟ้อในระดับต่ำ และการจ้างงานเต็มที่ เริ่มไม่มีเหตุผลที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเต็มที่เหมือนอย่างเคย และเท้าที่คาอยู่ที่คันเร่งต้องเริ่มผ่อนลงบ้าง เพราะสิ่งที่ธนาคารกลางกลัวที่สุดคือการขยับช้าเกินไป จนมีความเสี่ยงที่อัตราเงินเฟ้อจะอยู่สูงจนเอาลงไม่ได้ และต้องเหยียบเบรกแรงกว่าที่ควรเป็น หรือที่ตลาดมักเรียกว่า behind the curve แม้ว่าต้นเหตุของเงินเฟ้อจะมาจากปัจจัยด้านต้นทุน แต่ถ้าธนาคารกลางสหรัฐฯ ไม่ทำอะไรนานเกินไป จนการคาดการณ์เงินเฟ้อสูงขึ้นในการทำสัญญาทุกอย่าง เช่น การกำหนดค่าจ้างแรงงาน การตั้งราคาสินค้า หรือค่าเช่า ทุกคนก็จะบวกเงินเฟ้อคาดการณ์เพิ่มเข้าไปอีก ยิ่งทำให้อัตราเงินเฟ้อค้างอยู่นานและเอาลงยาก

ดังนั้น ธนาคารกลางสหรัฐฯ จึงอาจจะต้องเริ่มถอนเท้าจากคันเร่ง และเริ่มแตะเบรกเบาๆ เมื่อรู้สึกว่าความเสี่ยงของเศรษฐกิจลดลง และความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อเริ่มมีมากขึ้น

ธนาคารกลางสหรัฐฯ เริ่มส่งสัญญาณจะค่อยๆ ลดการอัดฉีดสภาพคล่อง และคาดว่าจะหยุดการอัดฉีดในช่วงต้นปีนี้ และเริ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายหลังจากนั้น และคาดกันว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายถึง 3-4 ครั้งในปีนี้ และจะขึ้นต่อเนื่องไปเรื่อยๆ และคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะเริ่มถอนสภาพคล่อง และปรับลดขนาดของงบดุลภายในปีนี้ ซึ่งถือว่าเร็วกว่าการปรับนโยบายเข้าสู่ภาวะปกติหลังการทำ QE รอบก่อนมาก

ในภาวะเช่นนี้ การลงทุนอาจจะต้องใช้ความระมัดระวังเพิ่มมากขึ้นเพราะอาจจะมีความผันผวนเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนที่มี valuation ค่อนข้างตึงตัว ราคาแพง หรือน่าสงสัยว่าจะเป็น 'ฟองสบู่' และอาจจะทำให้ธุรกิจที่พึ่งพาสภาพคล่อง พึ่งพาการกู้ยืมเงินระยะสั้น มีความเสี่ยงในการขาดสภาพคล่องหรือผิดนัดชำระหนี้ได้มากขึ้น

ในขณะที่ธนาคารกลางอังกฤษหยุดการอัดฉีดสภาพคล่องแล้ว และธนาคารกลางยุโรปน่าจะค่อยๆ ลดการอัดฉีดสภาพคล่องในช่วงต้นปี แปลว่า ภาวะที่สภาพคล่องล้นระบบ จนไล่ซื้อสินทรัพย์จนราคาแพง และมีความสงสัยว่าจะเป็นฟองสบู่หรือไม่ กำลังจะค่อยๆ หายไป และต้นทุนทางการเงินกำลังจะสูงขึ้น จากการที่ธนาคารกลางทั่วโลกกำลังเริ่มอัดฉีดในอัตราที่ลดลง จะหยุด และถอนสภาพคล่องออกในที่สุด

อย่างไรก็ตาม ภาวะอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น อาจจะไม่ได้แปลว่าการลงทุนโดยเฉพาะในหุ้นจะแย่ไปเสียหมด โดยเฉพาะถ้าธุรกิจบริษัทได้รับประโยชน์จากเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง หรือสามารถส่งผ่านราคาและต้นทุนที่สูงขึ้นให้กับลูกค้าได้ กำไรของบริษัทอาจจะขยายตัวไปพร้อมๆ กับอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นก็ได้

แต่ในภาวะเช่นนี้ การลงทุนอาจจะต้องใช้ความระมัดระวังเพิ่มมากขึ้น เพราะอาจจะมีความผันผวนเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนที่มี valuation ค่อนข้างตึงตัว ราคาแพง หรือน่าสงสัยว่าจะเป็น 'ฟองสบู่' และอาจจะทำให้ธุรกิจที่พึ่งพาสภาพคล่อง พึ่งพาการกู้ยืมเงินระยะสั้น มีความเสี่ยงในการขาดสภาพคล่องหรือผิดนัดชำระหนี้ได้มากขึ้น

หรืออาจจะทำให้ประเทศเกิดใหม่ที่มีปัญหาเรื่องปัจจัยพื้นฐาน เช่น พึ่งพาเงินทุนจากต่างประเทศมาก ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด มีเงินสำรองน้อย หรือมีปัญหาเงินเฟ้อ เจอปัญหาเรื่องเงินทุนไหลออกได้

และในอดีตที่ผ่านมาเวลาธนาคารกลางขึ้นดอกเบี้ยทีไรก็เหมือนกับการเอา punch bowl (โถน้ำพันช์) ออกจากงานปาร์ตี้ไปเจาะฟองสบู่ให้แตกและเกิดความผันผวนในตลาดทุกทีการลงทุนจึงต้องใช้ความระมัดระวังอย่างยิ่งครับ