SECTION
ABOUTLIVING SPACE
A Wall Welcome
Burgundy Studio กับการสร้างสรรค์งานศิลปะและภาพวาดฝาผนังตามออเดอร์ที่กำลังเปลี่ยนโฉมธุรกิจภาคบริการในกรุงเทพฯ ให้มีเอกลักษณ์ดึงดูดใจลูกค้ายิ่งกว่าเคย
สำหรับธุรกิจภาคบริการอย่างโรงแรม คาเฟ่ หรือร้านอาหารแล้ว งานศิลปะต่างๆ ที่จัดแสดงอยู่ภายในร้านไม่ได้มีไว้ให้แขกเหรื่อได้เพลินตาเพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องสร้างภาพจำให้ลูกค้า จนกลายเป็นความแตกต่างให้กับแบรนด์ในวันที่การแข่งขันทางธุรกิจเข้มข้นขึ้น
ทว่าการตามหาภาพวาดหรือรูปถ่ายสวยงามสมใจนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย สำหรับเจ้าของกิจการหลายราย ภาพวาดหรือรูปถ่ายศิลปะขึ้นชื่ออาจมีราคาแพงเกินเอื้อม ส่วนคนที่มือหนักพอจะจ่ายได้ก็มักไม่แน่ใจว่าภาพใดจะสะท้อนภาพลักษณ์ของแบรนด์ได้ชัดที่สุด
ข้อข้องใจเหล่านี้กลายเป็นจุดกำเนิดของเทรนด์ใหม่ในธุรกิจศิลปะเมืองกรุง นั่นคือ ‘งานศิลปะตามสั่ง’ (custom artwork) และ ‘ภาพศิลปะฝาผนัง’
“ทั้งคาเฟ่และร้านอาหารต่างก็ต้องการเป็นจุดดึงดูดให้ลูกค้ามาถ่ายรูปสวยๆ เอาไปแชร์ในอินสตาแกรมเพื่อให้คนที่เห็นรูปถ่ายเกิดความสนใจในแบรนด์หรือร้านค้าของพวกเขามากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ร้านค้าก็อยากมีอะไรที่สะท้อนเอกลักษณ์และเป็นส่วนหนึ่งของร้านโดยไม่ต้องจ่ายแพงเกินควร ปกติงานศิลปะติดกรอบรูปอาจมีราคาอยู่หลักแสนบาทต่อรูปแต่ถ้าวาดลงบนผนังขนาด 3x5 ตารางเมตรราคาภาพวาดอาจตกที่รูปละห้าหมื่นบาทเท่านั้น” เฟิร์น-ศยาพร อาภรณ์ทิพย์ หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Burgundy Studio สตูดิโอศิลปะที่มีความเชี่ยวชาญในการวาดภาพติดกรอบและภาพวาดฝาผนังตามออเดอร์ของลูกค้า กล่าว
บริการที่ลูกค้าจะได้จากเบอร์กันดีสตูดิโอต้องเป็นอะไรที่มากกว่าการออกแบบลวดลายหรือลงฝีแปรงบนฝาผนังเท่านั้น เพราะงานออกแบบควรเป็นงานที่สร้างสรรค์ขึ้นเป็นเอกลักษณ์
ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา เบอร์กันดีสตูดิโอรับออกแบบงานศิลปะที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตามความต้องการของกิจการต่างๆ ซึ่งมีตั้งแต่ภาพจิตรกรรมสีน้ำมันบนฝาผนังที่งดงาม ไปจนถึงภาพวาดสีอะคริลิก และสีน้ำมันบนระแนงไม้ไผ่ที่สร้างสรรค์อย่างประณีต เฟิร์นตั้งสตูดิโอนี้ร่วมกับการ์ด-เกียรติคุณ วัฒนะพันธ์ เพื่อนศิลปินที่เธอร่วมงานด้วยมานาน กิจการของเบอร์กันดีสตูดิโอที่มีทีมงานทั้งหมด 12 คนเติบโตอย่างรวดเร็ว ลูกค้ารายแล้วรายเล่าเดินเข้ามาว่าจ้างสตูดิโอให้ออกแบบงานศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นโรงแรมแกรนด์ ไฮแอท หางโจว โรงแรมเภรี เขาใหญ่ ร้านอาหารโรงสำราญ หรือร้านอาหารตะลิงปลิง กระทั่งลูกค้าที่เป็นบุคคลธรรมดาทั่วไปที่ต้องการเปลี่ยนจากวอลเปเปอร์สีพื้นๆ บนฝาผนังบ้านไปเป็นภาพวาดสีอะคริลิกที่มีลวดลายโลดแล่นดังใจ
แม้วิกฤตโควิด-19 จะทำให้ยอดการใช้บริการของสตูดิโอแห่งนี้ลดน้อยลงไปบ้าง แต่เฟิร์นชี้ว่า ที่จริงแล้วความต้องการผลงานสร้างสรรค์แบบที่เบอร์กันดีสตูดิโอทำยังคงพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง ความต้องการนี้ไม่ได้จำกัดตัวอยู่แต่ในเอเชียเท่านั้น ในประเทศอังกฤษ รายงานชิ้นหนึ่งของ Homes & Garden นิตยสารด้านการออกแบบภายใน ระบุว่า “ในช่วงที่ผ่านมา สถิติการค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับ ‘วอลเปเปอร์ที่วาดลงบนผนัง’ (Wall mural wallpaper) บนโลกออนไลน์สูงขึ้นถึง 132 เปอร์เซ็นต์ ส่วน ‘จิตรกรรมบนผนังห้องรับแขก’ (Living room murals) เพิ่มขึ้น 48 เปอร์เซ็นต์”
อย่างไรก็ดี บริการที่ลูกค้าจะได้จากบริษัทออกแบบเช่นเบอร์กันดีสตูดิโอต้องเป็นอะไรที่มากกว่าการออกแบบลวดลายหรือลงฝีแปรงบนฝาผนังเท่านั้น
“บางครั้ง ลูกค้ามาหาเราพร้อมไอเดียภาพที่พวกเขาเจอบนอินเทอร์เน็ต กรณีแบบนี้พวกเราจะแนะนำให้ลูกค้าไปซื้อภาพที่เห็น แล้วปริ๊นต์ออกมาทำวอลเปเปอร์เลยจะดีกว่า” เฟิร์นกล่าวเช่นนี้เพราะงานออกแบบของเบอร์กันดีสตูดิโอควรเป็นงานที่สร้างสรรค์ขึ้นเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใครเท่านั้น
ยกตัวอย่างงานที่เคยออกแบบของสตูดิโอ เช่น การออกแบบภาพให้ร้านโรงสำราญ ทางสตูดิโอฉายโปรเจกเตอร์ก่อนแล้วค่อยลงสีอะคริลิกสีทองหลายชั้นลงบนผืนผ้ากำมะหยี่ที่ติดบนผนัง ส่วนบ้านของลูกค้ารายหนึ่งที่ชื่อ ‘โนนี่’ สตูดิโอออกแบบชิ้นงานที่แตกต่างกันสำหรับห้อง 3 ห้อง เฟิร์นเล่าว่าหนึ่งในห้องทั้งสามทีมงานของเธอใช้เทคนิคเฟรสโก้หรือการวาดภาพและลงสีบนผนังปูนที่ยังไม่แห้ง
สำหรับอาคารแสดงทิฟฟานี่โชว์ในพัทยา เฟิร์นใช้เวลาเกือบหนึ่งเดือนในการออกแบบชิ้นงานที่โดดเด่นที่สุดของอาคารซึ่งเต็มไปด้วยรายละเอียดปลีกย่อยมากมาย งานชิ้นนี้มีชื่อว่า Flowers, Wave, Sea ประกอบด้วยภาพจิตรกรรมผนังโค้ง 2 ด้าน ด้านหนึ่งมีขนาด 7.7X14.5 ตารางเมตร ส่วนอีกด้านมีขนาด 3.2X9 ตารางเมตร ทั้งหมดลงเส้นด้วยหมึกดำตามด้วยการลงสีอะคริลิกสีดำและสีเงิน
“เราออกแบบงานชิ้นนี้ให้มีความลื่นไหล ไม่มีความเป็นชายหรือความเป็นหญิง และไม่ดูเป็นไทยหรือฝรั่งจ๋าจนเกินไป” เฟิร์นอธิบายเบื้องหลังการสร้างสรรค์ผลงานชิ้นนี้ ซึ่งใช้เวลาหลายเดือนตั้งแต่เริ่มต้นจนจบงาน
หลายคนอาจมองว่าการดูแลรักษาผลงานศิลปะประเภทนี้น่าจะยากกว่าภาพวาดบนผืนผ้าหรือกระดาษ แต่เฟิร์นกลับเห็นตรงกันข้าม
“ถ้าภาพวาดบนผืนผ้าหรือกระดาษเสียหาย การซ่อมแซมอาจทำได้ยากและมีราคาสูง แต่ภาพวาดบนผนัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพที่ลงสีอะคริลิก มันง่ายกว่ากันเยอะในการแก้ไขเพิ่มเติม”
เฟิร์นอธิบายเสริมอีกว่า “ปกติ ร้านอาหารส่วนใหญ่มักจะรีโนเวตทุกๆ 3-5 ปีอยู่แล้ว การตกแต่งร้านด้วยศิลปะประเภทนี้จึงง่ายต่อการปรับรูปโฉมหรือสร้างความรู้สึกใหม่ๆ ในร้าน โดยไม่ต้องลงทุนซื้องานศิลปะชิ้นใหม่ๆ ที่มีราคาแพงเพิ่มอีก”
นอกจากนี้เธอยังย้ำถึงพลังของโซเชียลมีเดียที่ช่วยขับเคลื่อนธุรกิจเหล่านี้ให้เติบโต ดีไซน์ใหม่ๆ ในตัวร้านจะดึงดูดลูกค้าผู้ชื่นชอบการสร้างคอนเทนต์ลงสังคมออนไลน์ให้มาใช้บริการของร้านได้อีกด้วย
แม้ภาพวาดบนผนังจะไม่ได้รับการให้คุณค่าในแบบเดียวกับภาพวาดติดกรอบ แต่คุณค่าของมันที่มีต่อแบรนด์หรือธุรกิจต่างๆ กลับประเมินค่าไม่ได้ ยกตัวอย่างเช่น คีย์วิชวลที่เฟิร์นออกแบบให้บูทิคโฮเทลอย่าง ‘บ้านใน’ ซึ่งตัวโลโก้ประกอบขึ้นจากดอกไม้ไทย 3 ชนิด ได้แก่ กุหลาบขาว มะลิซ้อน และเบญจมาศ รวมกับงานอื่นๆ ทั้งภาพวาดเจ้าของร้าน ภาพเขียน และแบบร่างโครงสร้างสถาปัตยกรรมของร้าน ซึ่งเฟิร์นบอกว่า “ทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นตัวตนของร้านเรียกได้ว่าผุดขึ้นมาจากงานเหล่านี้”
สำหรับอุตสาหกรรมการต้อนรับและบริการแล้ว รายละเอียดปลีกย่อยด้านการออกแบบต่างๆ กำลังมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างในกรณีของธุรกิจให้เช่าที่พักอาศัยผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์อย่าง Airbnb ศิลปะในห้องสามารถสะท้อนรสนิยมส่วนตัวของผู้เป็นเจ้าของห้องได้ดี ซึ่งไม่เหมือนภาพวาดสูตรสำเร็จที่พบได้ตามโรงแรมหรือที่พักระดับโลก และเมื่อประกอบกับบริการที่เต็มไปด้วยความใส่ใจจากบริษัทออกแบบภาพวาดอย่างเบอร์กันดีสตูดิโอ กระทั่งภาพวาดฝาผนังก็สามารถช่วยให้โรงแรมต่างๆ นำเสนอเอกลักษณ์ที่ชัดเจนของโรงแรมไปพร้อมกับสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ให้ลูกค้าได้แล้ว แม้ไม่ได้ถ่ายทอดออกมาตรงๆ ก็ตาม
เช่นเดียวกันกับคาเฟ่และร้านอาหารในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพมหานคร ที่ซึ่งธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มขยายตัวอยู่ตลอดเวลา การสร้างเอกลักษณ์ของร้านให้เป็นที่จดจำอาจนำไปสู่จุดตัดระหว่างความสำเร็จหรือความซบเซาของร้านร้านหนึ่งได้เลยทีเดียว
“ในอนาคต ร้านอาหารแต่ละแห่งจะอยากสร้างเอกลักษณ์ของตนเองให้เด่นชัดขึ้น ซึ่งนับว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าทีเดียว” เฟิร์นกล่าวทิ้งทาย ■