HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

LIVING SPACE


Brick by Brick

อาคารหลังใหม่ของสถาบันสอนภาษา เอยูเอ บนถนนราชดำริ ไม่เพียงสะท้อนความงดงามทางสถาปัตยกรรมเท่านั้น แต่ยังเป็นตัวแทนของมิตรภาพสหรัฐฯ-ไทยที่ยืนยงมาเกือบศตวรรษ

เป็นที่รู้กันดีว่าสองฟากของถนนราชดำรินั้นห้อมล้อมไปด้วยตึกระฟ้า โรงแรมหรู และโครงการพักอาศัยระดับไฮเอนด์ จนถนนสายร่มรื่นแห่งนี้ถูกขนานนามว่าเป็นตัวแทนแห่งความมั่งคั่งและทันสมัยของสถาปัตยกรรมในกรุงเทพฯ กระนั้น ท่ามกลางอาคารกระจกเงาวับ ยังมีตึกขนาด 6 ชั้นซึ่งสร้างด้วยอิฐแดงทั้งหลังแฝงตัวอยู่ อาคารหลังนี้ได้รับแรงบันดาลใจในการออกแบบมาจากรูปแบบสถาปัตยกรรมเก่าแก่ของไทยและสหรัฐฯ และปัจจุบันทำหน้าที่เป็นบ้านของ ‘สถาบันสอนภาษา AUA’ ซึ่งเปิดประตูต้อนรับนักเรียนครั้งแรกเมื่อปี 2495 เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกด้านการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและการศึกษา โดยเป็นผลสืบเนื่องมาจากการก่อตั้งสมาคมนักเรียนเก่าสหรัฐอเมริกา ในพระบรมราชูปถัมภ์ อีกทั้งเป็นตัวแทนความสัมพันธ์อันดีระหว่างทั้งสองประเทศ ตลอดระยะเวลาเกือบ 70 ปีที่ผ่านมา

เมื่อราว 10 ปีที่แล้ว คณะกรรมการของสถาบันสอนภาษาได้ตัดสินใจว่าจ้างสองสถาปนิกชื่อดังจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์สยาณี วิโรจน์รัตน์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์พิรัส พัชรเศวต มารับหน้าที่ออกแบบอาคารหลังใหม่ ทั้งคู่มีชื่อเสียงด้านการออกแบบสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานความเป็นสมัยนิยมเข้ากับสถาปัตยกรรมไทยเดิมได้อย่างลงตัว อาทิ บ้าน Trop V House ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากบ้านทรงไทย และอาคารอีกหลายหลังภายในรั้วจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไล่เรียงตั้งแต่อาคารเฉลิมราชกุมารี 60 พรรษา ไปจนถึงอาคารจุฬาพัฒน์ 13

อิฐแดงถือเป็นทั้งตัวแทนจากธรรมชาติและวัฒนธรรมร่วมของไทยและสหรัฐฯ ซึ่งสะท้อนอัตลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมที่ยึดโยงกับเรื่องวัฒนธรรม

แม้ว่าอาคารของสถาบันสอนภาษาเอยูเอบนถนนราชดำรินั้นจะถูกสร้างขึ้นใหม่ เพื่อแทนที่อาคารยุคโมเดิร์นหลังเดิม โดยเพิ่งมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการไปเมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา และหอประชุมหลักนั้นยังคงอยู่ในระหว่างการตกแต่ง แต่การออกแบบที่สวยสะดุดตาด้วยอิฐมอญนี้ จริงๆ แล้วสะท้อนรูปแบบสถาปัตยกรรมช่วงยุค ’50s ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่สถาบันแห่งนี้ได้รับการก่อตั้งขึ้น นอกจากนี้ หากสังเกตให้ดีจะเห็นว่าอาคารใหม่ของเอยูเอนั้นแทบไม่มีหน้าต่างเลย โดยเฉพาะบริเวณส่วนหน้าของตึก สิ่งที่สถาปนิกออกแบบมาเพื่อทดแทนหน้าต่าง ก็คือช่องวงกลมขนาดใหญ่ และช่องลมทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่เรียงเป็นแนวยาวไปจนถึงชั้น 6 ของอาคาร ชวนให้นึกถึงสถาปัตยกรรมโพสต์โมเดิร์นที่นิยมสอนกันในโรงเรียนออกแบบในสหรัฐฯ ในช่วงยุค ’70s

“อิฐนั้นเปรียบเสมือนตัวกลางที่ยึดโยงระหว่างสองวัฒนธรรมจากซีกโลกตะวันตกและตะวันออกไว้” ผศ.สยาณี วิโรจน์รัตน์ อธิบายถึงผลงานสร้างสรรค์ของเธอและผศ.พิรัส พัชรเศวต ซึ่งใช้ระยะเวลาร่วม 10 ปีในการก่อสร้าง โดยในระหว่างนั้นตัวโครงการได้ผ่านการปรับรูปแบบและงบประมาณอยู่หลายครั้ง รวมทั้งเผชิญกับเหตุการณ์เพลิงไหม้ย่อมๆ เมื่อหลายปีก่อน

“อิฐแดงยังถือเป็นทั้งตัวแทนจากธรรมชาติ และวัฒนธรรมร่วมของไทยและสหรัฐฯ ซึ่งสะท้อนอัตลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมที่ยึดโยงกับเรื่องวัฒนธรรม จะเห็นว่ามหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรม ไปจนกระทั่งอาคารบางส่วนในมหาวิทยาลัยเก่าแก่ของเมืองไทย แลสถาปัตยกรรมในอยุธยา มักใช้อิฐเป็นองค์ประกอบหลัก อิฐเหล่านี้ถือเป็นรากฐานของสถาปัตยกรรม และเป็นตัวแทนทางอารยธรรมและวัฒนธรรมของมนุษย์ในมุมมองของสถาปัตยกรรม” พิรัสเสริม

โครงสร้างอาคารนั้นผ่านการปรับเปลี่ยนรูปแบบมาแล้วหลายครั้งตลอดช่วงระยะเวลา 10 ปี แต่ทุกแบบล้วนมีอิฐเป็นองค์ประกอบในทางใดทางหนึ่ง เดิมทีส่วนหน้าของตึกนั้นถูกออกแบบให้เป็นกระจกขนาดใหญ่ แต่สถาปนิกทั้งคู่ตัดสินใจเปลี่ยนแผน หลังจากที่โปรเจกต์ล่าช้ากว่ากำหนดออกไปเรื่อยๆ ประกอบกับงบประมาณที่จำกัด ในแบบสุดท้ายซึ่งถูกใช้ในการก่อสร้างนี้ ด้านนอกของอาคารนั้นสร้างขึ้นด้วยอิฐ 1.7 ล้านก้อนในรูปแบบ ‘โมดูลาร์ (modular)’ ซึ่งเป็นวิธีการก่อสร้างที่สามารถยกอิฐทั้งหมดมาประกอบบริเวณหน้างาน ตามความกว้างและยาวที่กำหนดไว้ โดยอาคารหลังนี้ใช้อิฐเพียง 2 ขนาด กับวิธีการเรียงอิฐทั้งหมด 16 รูปแบบ

เพื่อทดแทนจำนวนหน้าต่าง และแก้ปัญหาเรื่องที่อิฐมอญมักเก็บความร้อนมากกว่าวัสดุก่อสร้างสมัยใหม่ พิรัสและสยาณีจึงได้เพิ่มแถวช่องลมเข้าไปในแต่ละชั้น เพื่อเปิดรับลมธรรมชาติและช่วยให้อากาศภายในอาคารหมุนเวียนได้ดียิ่งขึ้น ขณะที่ช่องลมซึ่งมีขนาดใหญ่กว่านั้นได้รับการคำนวณตำแหน่งให้ล้อมกรอบสถานที่ต่างๆ ในย่าน อาทิ โรงแรม VIE และราชกรีฑาสโมสร ได้อย่างพอดี ราวกับเป็นผลงานของช่างภาพอาชีพ แรงบันดาลใจในการออกแบบเหล่านี้มีที่มาจากแนวคิด ‘ประณีตสถาปัตยกรรม’ ที่พิรัสเคยได้ร่ำเรียนตั้งแต่สมัยยังเป็นนักเรียนสถาปัตย์ “ประณีตสถาปัตยกรรมนั้นแสดงออกถึงความงดงามของงานฝีมือ ซึ่งต่างจากอาคารพาณิชย์ทั่วไป ทุกวันนี้อาคารในรูปแบบประณีตสถาปัตยกรรมนั้นหาได้ค่อนข้างยาก อาจเป็นเพราะปัจจัยทางเศรษฐกิจและระยะเวลาก่อสร้างที่จำกัด” พิรัสกล่าว

ในขณะที่อาคารใหม่ของสถาบันสอนภาษา เอยูเอ นั้นแฝงไว้ด้วยความทันสมัยทั้งคานและราวจับที่ทำจากโลหะสไตล์อินดัสเตรียล เฟอร์นิเจอร์ไม้เรียบขรึม และพื้นหินบริเวณทางเข้าด้านหน้า กระนั้นหัวใจการออกแบบของอาคารลูกผสมไทย-อเมริกันแห่งนี้ ก็สะท้อนประวัติศาสตร์อันยาวนานของทั้งสองประเทศ และบรรดาช่างฝีมือชั้นครูทั้งชาวไทยและอเมริกันผู้ก่อร่างสร้างความสัมพันธ์ขึ้นมาผ่านอิฐทีละก้อน

Essentials


AUA Language Center

179 ถ.ราชดำริ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ

fb.com/AUALC