SECTION
ABOUTLIVING SPACE
A Place of Thier Own
ท่อง ‘อาณาจักรช้าง’ จังหวัดสุรินทร์ สถาปัตยกรรมระดับโลกที่จะพลิกฟื้นวิถีชีวิตคนและช้าง
“มาทำไม” นี่คือคำทักทายแรกที่บุญเสริม เปรมธาดา ได้รับจากชาวบ้านเมื่อเขาเดินทางมาถึงสุรินทร์เป็นครั้งแรกในปี 2558 เพื่อวางแผนออกแบบสถาปัตยกรรมในโครงการ ‘โลกของช้าง’ หรือ Elephant World ซึ่งเป็นผลงานชิ้นเอกที่ทำให้เขาคว้ารางวัล Royal Academy Dorfman Award For Architecture ประจำปี 2019 จากกรุงลอนดอนซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้แก่สถาปนิกผู้สร้างสรรค์งานสถาปัตยกรรมเพื่ออนาคต และทุกวันนี้ โลกของช้าง ยังเป็นแลนด์มาร์กสำคัญในพื้นที่หมู่บ้าน ‘ชาวกูย’ กลุ่มชาติพันธุ์พื้นถิ่นสุรินทร์ที่มีวิถีชีวิตผูกพันกับช้างมานานกว่า 400 ปีอีกด้วย
บุญเสริมเล่าว่า “ชาวกูยไม่ค่อยชอบคนต่างถิ่น ผมก็เลยบอกชาวบ้านว่ารัฐบาลจะเข้าไปช่วยให้พวกเขาทำมาหากินและใช้ชีวิตแบบเดิมต่อไปได้”
ณ ตอนนั้นพื้นที่โครงการยังคงเป็นพื้นที่รกร้างว่างเปล่าและแห้งแล้ง หลังจากใช้เวลาก่อสร้างนาน 5 ปี อาณาจักรช้างแห่งนี้ใกล้จะเสร็จสมบูรณ์แล้ว โดยในโครงการประกอบด้วยพื้นที่หลัก 3 ส่วน คือ ลานกิจกรรมสำหรับช้าง หอชมวิวสร้างด้วยอิฐ และส่วนสุดท้ายที่ดูเหมือนจะได้รับความสนใจเป็นพิเศษคือ พิพิธภัณฑ์ช้าง ที่ดูโดดเด่นด้วยลักษณะตัวอาคารและทางเดินวกวนคล้ายเขาวงกต โดยได้รับการเผยแพร่บนสื่อออนไลน์ด้านสถาปัตยกรรมระดับโลกอย่าง ArchDaily และ Designboom มาแล้ว
เนื้อที่ทั้งหมด 5,400 ตารางเมตรของพิพิธภัณฑ์ช้างประกอบด้วยทางเดินเปิดโล่ง รายรอบด้วยกำแพงอิฐสูง 10 เมตรซึ่งไล่ระดับตามความลาดชันของพื้นที่ เห็นได้ชัดว่า การออกแบบพื้นที่ให้กว้างขวางและใหญ่โตมโหฬารขนาดนี้เป็นพื้นที่ที่ออกแบบมาโดยเฉพาะสำหรับช้างที่แต่ละตัวน้ำหนักไม่ต่ำกว่า 5,000 กิโลกรัมนั่นเอง
ชาวกูยไม่ค่อยชอบคนต่างถิ่น ผมก็เลยบอกชาวบ้านว่ารัฐบาลจะเข้าไปช่วยให้พวกเขาทำมาหากินและใช้ชีวิตแบบเดิมต่อไปได้
พิพิธภัณฑ์ช้างถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่สำหรับช้างกว่า 200 เชือกที่อาศัยอยู่กับชาวกูย ควาญช้างสามารถพาพวกมันเข้ามาเดินเล่นได้ตามสบาย ส่วนนักท่องเที่ยวจะต้องอยู่ภายในห้องกระจกที่จัดไว้ภายในตัวอาคาร ซึ่งนี่ถือเป็นการพลิกโฉมการเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์อย่างสิ้นเชิง เพราะตอนนี้ผู้ชมจะถูกจำกัดพื้นที่โดยจะมีการกำหนดจุดจัดแสดงเพียงบางแห่งที่ผู้ชมสามารถไปเข้าดูกิจกรรมของควาญช้างและช้างได้ เช่น บริเวณสระน้ำและบ่อดินลูกรังซึ่งควาญช้างสามารถพาช้างเข้ามาเล่นน้ำหรือเล่นดินได้อย่างอิสระ โดยผู้ชมจะอยู่ภายในพื้นที่ที่จำกัดไว้เท่านั้น
ในเมื่อ บุญเสริม ระบุอย่างชัดเจนว่าสถาปัตยกรรมนี้จะช่วยฟื้นคืนวิถีชีวิตของคนและช้างตามวัฒนธรรมและประเพณีของชาวกูย เพราะฉะนั้น ควรต้องทำความเข้าใจก่อนว่าชาวกูยเป็นใครมาจากไหนและมีความสำคัญกับโครงการนี้อย่างไร
ชาวกูย เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่หนาแน่นใน จังหวัดสุรินทร์และศรีสะเกษ มีวัฒนธรรมและประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ โดยเฉพาะความชำนาญและวิชาการคล้องช้างป่าเพื่อเข้ารับราชการในวังหลวงตามโบราณราชประเพณีหรือเพื่อทำงานลากซุงในป่า โดยทั่วไป ชาวกูยจะเลี้ยงช้างของตนไว้ในบริเวณบ้านและดูแลรักษาช้างเปรียบเสมือนหนึ่งในสมาชิกครอบครัว อย่างไรก็ตาม วิถีชีวิตของชาวกูยและช้างได้รับผลกระทบอย่างจังจากการตัดไม้ทำลายป่าในช่วงทศวรรษที่ 50 ซึ่งนำมาสู่การยกเลิกสัมปทานป่า ส่งผลให้ช้างตกงาน ทั้งยังสูญเสียที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหาร ชาวกูยจึงจำเป็นต้องพาช้างเดินร่อนเร่ไปตามถนนและสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ทั่วประเทศเพื่อทำการแสดงช้างแลกกับรายได้อันน้อยนิดมาประทังชีวิตทั้งคนและช้าง
เราต้องการแสดงความเคารพต่อวัฒนธรรมประเพณีของชาวกูยและช้าง
ด้วยตระหนักถึงปัญหาของทั้งคนและช้าง รัฐบาลจึงสนับสนุนให้จัดโครงการโลกของช้างขึ้นเพื่อช่วยพาชาวกูยและช้างกลับบ้าน และสามารถสร้างรายได้ในถิ่นฐานของตนเองโดยไม่ต้องละทิ้งวิถีชีวิตดั้งเดิม อย่างไรก็ตาม ความปรารถนาดีนี้กลับถูกตั้งคำถามจากชาวโลกว่าเป็นการสนับสนุนการทรมานสัตว์เพื่อกอบโกยผลประโยชน์ให้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือไม่ โดยเฉพาะ บุญเสริม ในฐานะสถาปนิกใหญ่ของโครงการก็ยังถูกครหาไปด้วย จนเขาต้องตอบโต้กลับไปว่าวัตถุประสงค์หลักของพิพิธภัณฑ์ช้างไม่ได้สนับสนุนการทารุณสัตว์ ตรงกันข้าม นี่คือการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนั้นต่างหาก
“เราต้องการแสดงความเคารพต่อวัฒนธรรมประเพณีของชาวกูยและช้าง พิพิธภัณฑ์นี้เป็นสถานที่แสดงช้างก็จริง แต่เราไม่ได้บังคับให้ช้างมาแสดงหรือมาเต้นให้เราดูเหมือนที่เคยเห็น เราต้องการแสดงวิถีชีวิตของช้างที่อยู่ร่วมกับคนไม่ว่าจะอยู่ในหรือนอกพื้นที่โครงการก็ตาม”
ลักษณะเด่นของตัวอาคารพิพิธภัณฑ์ช้างแห่งนี้คือแนวกำแพงอิฐที่ไล่ระดับความสูงลดหลั่นกันไป โดยได้รับแรงดลใจจากสภาพพื้นที่อาศัยของช้างที่มีทั้งเนินดินและบ่อน้ำ โดยอิฐทั้งหมด 480,000 ก้อนที่ใช้ก่อสร้างอาคารหลังนี้เป็นอิฐทำมือที่ผ่านกรรมวิธีโบราณตามภูมิปัญญาของชาวกูยที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน แนวกำแพงไล่ระดับสูงต่ำนำทางให้ผู้มาเยือนเดินลัดเลาะไปตามทางคดเคี้ยวคล้ายเขาวงกต ขณะที่ช่องว่างระหว่างกำแพงเปิดรับแสงธรรมชาติ ก่อให้เกิดเอ็ฟเฟ็กต์แสงและเงาอันสวยงามที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดทั้งวัน สร้างบรรยากาศแปลกใหม่ในการชมพิพิธภัณฑ์ได้เป็นอย่างดี
บุญเสริม มองว่าความผูกพันระหว่างชาวกูยกับช้างคงตัดกันไม่ขาด จึงนำมาซึ่งปรัชญาการออกแบบพิพิธภัณฑ์ช้างแห่งนี้ที่เขาตั้งใจให้เป็นงานสถาปัตยกรรมที่เข้าถึงชีวิตจิตใจของช้างและคนเลี้ยงช้าง ไม่ใช่เป็นเพียงสวนสัตว์ตามที่คนอื่นอยากให้เป็น ■