SECTION
ABOUTLIVING SPACE
Emerging Stronger
ความท้าทายใหม่ของนักผังเมืองทั่วโลก อาจเป็นการออกแบบชุมชนให้สอดคล้องกับความต้องการใหม่ๆ อย่างพื้นที่สีเขียวและมาตรการเว้นระยะห่าง
การระบาดของโควิด-19 นำไปสู่นวัตกรรมในหลายๆ รูปแบบ รวมถึงนวัตกรรมของสิ่งที่เรียกว่า ‘เมือง’ มีการปิดถนนบริเวณใจกลางเมืองหลายแห่งทั่วโลก ตั้งแต่โบโกต้าไปจนถึงเบอร์ลิน เพื่อคืนพื้นที่ให้แก่คนเดินเท้าและ ผู้ขับขี่จักรยานตามชุมชนที่พลุกพล่าน รวมทั้งวางแผนริเริ่มโครงการสีเขียวในบริเวณใจกลางเมืองบรัสเซลส์ มีการจำกัดความเร็วลงเป็น 20 กม./ชม. ในขณะที่วอชิงตัน ดีซี และนิวยอร์ก เจ้าหน้าที่ได้ขยายทางเท้าโดยลดพื้นที่เลนรถวิ่งลง ทำให้บาร์และร้านอาหารมีพื้นที่เพิ่มขึ้นสำหรับบริการลูกค้า และเปิดบริเวณให้คนทั่วไปสามารถมาออกกำลังกายได้โดยไม่ต้องเสี่ยงกับการเข้าใกล้ผู้อื่น
มาร์โค กราเนลลี รองนายกเทศมนตรีเมืองมิลาน เมืองศูนย์กลางแห่งโลกแฟชั่น บอกกับหนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียนว่าจะมีการปรับเปลี่ยนถนนความยาวรวม 35 กิโลเมตร ให้เป็นถนนคนเดิน “เราต้องมาวาดภาพมิลานกันใหม่” เขากล่าว “แน่นอนว่าเราต้องการให้เศรษฐกิจกลับมาเหมือนเดิม แต่เราคิดว่าควรจะทำในรูปแบบที่แตกต่างไปจากเมื่อก่อน”
มาตรการที่มีการนำมาใช้อย่างกะทันหันเหล่านี้ไม่เพียงแต่ช่วยควบคุมโคโรน่าไวรัส แต่ยังเป็นการเตรียมพร้อมสำหรับเศรษฐกิจในรูปแบบใหม่ที่ต้องลดการให้บริการคนทีละมากๆ ลง อย่างไรก็ตาม ในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเมืองที่การวางแผนและนโยบายผังเมืองต้องหลีกทางให้โครงการขนาดใหญ่มาตลอด ความเปลี่ยนแปลงในทำนองนี้ดูจะยังอยู่อีกห่างไกล
ในวันนี้ที่มีแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่ากว่า 400,000 ล้านบาท ผู้เชี่ยวชาญต่างตั้งคำถามว่ามีส่วนใดของเค้กชิ้นใหญ่นี้ที่จะไปสนับสนุนแนวคิดเศรษฐกิจสีเขียว
คนกรุงเทพจำนวนไม่น้อยคงยังจำความรู้สึกของเสือติดจั่นในช่วงปิดเมืองได้ดี เพราะเมื่อมีการปิดสวนสาธารณะในเดือนเมษายน ก็ไม่มีการจัดถนนสำหรับให้ประชาชนได้ออกกำลังกาย และเมื่อสิ้นสุดการปิดเมืองในเดือนพฤษภาคม การจราจรที่กลับมาติดขัดเหมือนเดิมแทบจะทันทีทำให้หลายคนสงสัยว่า new normal จะแตกต่างจาก old normal อย่างไร และในวันนี้ที่มีแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่ากว่า 400,000 ล้านบาท ผู้เชี่ยวชาญต่างตั้งคำถามว่ามีส่วนใดของเค้กชิ้นใหญ่นี้ที่จะไปสนับสนุนแนวคิดเศรษฐกิจสีเขียว แบบที่นายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เคิล ได้ให้คำมั่นสัญญากับชาวเยอรมัน
“นี่ไม่ใช่การระบาดครั้งสุดท้าย สภาพอากาศโลกกำลังเปลี่ยนไปอย่างมาก” ยศพล บุญสม ผู้อำนวยการของ Shma Designs บริษัทสถาปัตยกรรมผังเมืองที่เคยชนะรางวัลมา และมีพนักงานที่ทำหน้าที่หลายด้าน ตั้งแต่การออกแบบไปจนถึงการทำสื่อ เพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม “แล้วทำไมเราถึงไม่ใช้งบประมาณนี้เพื่อฟื้นฟูเมือง วิกฤตนี้ควรจะเป็นจุดเริ่มต้นของการพูดคุย การหารือ เพื่อหาวิธีพัฒนาเมืองในระยะยาว”
ยศพลบอกว่า บริษัทของเขาทำงานอย่างใกล้ชิดร่วมกับกรุงเทพมหานคร รวมถึงโครงการ Green Link ซึ่งเป็นโครงการสร้างเครือข่ายถนนสีเขียวยาว 54 กม. ทั่วทั้งเมือง โดยการปลูกต้นไม้ใหญ่ถึง 10,800 ต้นซึ่งจะช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 1,620 ตัน และกรองฝุ่นได้ถึง 3,580 ตัน ในแต่ละปี เขากล่าวว่าโครงการนี้จะทำให้ราคาที่ดินพุ่งสูงขึ้น ช่วยพัฒนาพื้นที่สาธารณะซึ่งเป็นที่ต้องการอย่างมาก และลดการขยายตัวของเมืองแบบกระจัดกระจายได้ด้วยการพัฒนาคุณภาพชีวิตในชุมชนต่างๆ
“สองปีก่อน เราสร้างสวนขนาดเล็กไว้ใต้ทางด่วน ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นว่าการสร้างพื้นที่สีเขียวให้อยู่ร่วมกับอาคารสิ่งก่อสร้างเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ เรามีพื้นที่ที่มีแต่สิ่งก่อสร้าง แต่ไม่มีต้นไม้เลยอยู่เยอะมาก” เขาบอก อย่างไรก็ตาม ยศพลมองว่าเมืองไทยมีปัญหาสำคัญอยู่ข้อหนึ่งที่ทำให้แนวคิดดีๆ กลายมาเป็นนโยบายที่ยั่งยืนไม่ได้
“ภาครัฐยังไม่มีนโยบายเพื่อส่งเสริมหรือกำหนดทิศทางให้โครงการเหล่านี้” เขาอธิบาย “ความพยายามในการพัฒนาเมืองจึงกลายเป็น ‘ตัวอย่างที่ดี’ ที่ไม่มีใครทำตาม”
อย่างไรก็ตาม ยศพลก็ไม่ท้อ เพราะที่ผ่านมา ฉมาได้ติดต่อกับองค์กรที่ดูแลปัญหาสังคมหลากหลาย ตั้งแต่เรื่องความยากจน ไปจนกระทั่งการจัดการลำน้ำกว่า 30 องค์กร เพื่อก่อตั้งสิ่งที่เขาเรียกว่า ‘urban platform’ หรือเครือข่ายคนเมืองที่จะร่วมกันผลักดันแผนการพัฒนาเมืองให้แก่ภาครัฐได้อย่างมีน้ำหนักมากขึ้น
“วิกฤต PM2.5 เริ่มเปลี่ยนพฤติกรรมของคน ตอนนี้ ลูกค้าของเราต้องการพืชที่สามารถดูดซับฝุ่นและอนุภาคเล็กๆ ได้” เขากล่าว “เมื่อมีสถานการณ์โรคระบาด พวกเขาคำนึงถึงสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีมากขึ้น ไม่ใช่สำหรับตัวเองแต่สำหรับคนรุ่นหลังด้วย นอกจากนั้น ทุกคนตระหนักว่าเราไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ แต่ต้องเปลี่ยนระบบนิเวศให้เกิดประโยชน์ต่อเมืองและผู้คนที่อาศัยอยู่ในเมือง”
โครงการต่างๆ ที่มีการพูดคุยกันประกอบด้วยการสร้างฟาร์มบนพื้นที่ทิ้งร้างใจกลางเมืองเพื่อกระจายอาหารให้แก่ชุมชน “ความสามารถที่จะเข้าถึงอาหารสำคัญมากสำหรับชุมชนในช่วงวิกฤต เพราะคนไม่ต้องกังวลว่าจะไม่มีอะไรกิน หากมีแหล่งอาหารอยู่ใกล้ๆ นอกจากนี้ เรายังสามารถเปลี่ยนฟาร์มกลางเมืองให้เป็นสวนสาธารณะ เมื่อปัญหาการขาดแคลนอาหารหมดไปหลังจากผ่านวิกฤตโควิด-19 ได้ด้วย”
ขณะเดียวกัน โครงการที่เป็นที่รู้จักอย่าง เจ้าพระยาสกายปาร์ค ซึ่งริเริ่มโดยศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) ที่จะเปลี่ยนสถานีรถไฟร้างให้เป็นสวนสีเขียวพาดข้ามแม่น้ำ ภายใต้ความร่วมมือการออกแบบด้านสถาปัตยกรรมโดย N7A และด้านภูมิสถาปัตยกรรมโดย Landprocess ก็กำลังเพิ่มพื้นที่สีเขียวที่ทุกคนเข้าถึงได้ในเมืองนี้ เช่นเดียวกับโครงการสวนขนาดเล็กของฉมา ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการในพื้นที่ต่างๆ ทั้งหัวลำโพง เอกมัย และกรุงเกษม
“การพัฒนาและความตระหนักรู้ในวิถีชีวิตนั้นกำลังรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน” ยศพลบอก “เห็นได้ชัดว่าเราไม่สามารถกลับไปทำอะไรเหมือนเดิมได้อีกต่อไป” ■