SECTION
ABOUTBEYOND BOUNDARIES
The Wild West
‘กาญจนบุรี’ จากอดีตสมรภูมิแห่งความขัดแย้งสู่ดินแดนที่อุดมด้วยคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ความหลากหลายทางวัฒนธรรม และธรรมชาติอันงดงามสะกดใจ
ในมุมของนักเขียนสารคดีเชิงท่องเที่ยว จังหวัดกาญจนบุรีเป็นเมืองธรรมชาติที่ยังมีความน่าสนใจให้ค้นหา ด้วยผืนป่าที่ยังอุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชพรรณและสัตว์ป่านานาชนิด สายธารและน้ำตกขึ้นชื่อ และเขตอุทยานแห่งชาติที่มีเขาสูงเป็นพรมแดนกั้นระหว่างไทยกับประเทศเมียนมา ไม่นับรวมถึงเรื่องราวอันเปี่ยมไปด้วยมนต์ขลังแห่งวันวานของเส้นทางรถไฟสายมรณะที่สร้างขึ้นสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง จนนักเขียนชาวต่างชาติหลายคนขนานนามดินแดนแห่งนี้ว่าเป็น ‘Wild West’ แห่งประเทศไทย
แม้การเปรียบเปรยนี้ไม่ได้หมายความว่ากาญจนบุรีคือ ‘แดนเถื่อนตะวันตก’ แบบที่ชาวอเมริกันใช้เรียกขานภูมิภาคตะวันตกของประเทศตนเมื่อครั้งเริ่มก่อตั้งประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อกว่า 400 ปีก่อน แต่ในแง่มุมทางประวัติศาสตร์ของไทยเอง ดินแดนตะวันตกในจังหวัดกาญจนบุรีก็มีเรื่องราวแห่งความขัดแย้งและการต่อสู้เพื่ออิสรภาพในแบบฉบับของสยามประเทศ เช่น สงครามระหว่างราชอาณาจักรอยุธยากับหงสาวดี ซึ่งส่วนหนึ่งสะท้อนผ่านภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์เรื่อง ‘ตำนานสมเด็จพระนเรศวร’
ตำนานสมเด็จพระนเรศวรซึ่งสร้างรวมกันหกภาคใช้พื้นที่ถ่ายทำส่วนใหญ่ในจังหวัดกาญจนบุรีเพื่ออิงกับสถานที่และเหตุการณ์ที่พงศาวดารบันทึกไว้ และใช้งบประมาณการสร้างสรรค์รวมกันกว่า 700 ล้านบาท ภาพยนตร์ชุดดังกล่าวมีส่วนช่วยจุดประเด็นการถกเถียงเรื่องราวที่นักประวัติศาสตร์ยังคงหาข้อสรุปไม่ได้ เช่น ศึก ‘ยุทธหัตถี’ หรือการชนช้างระหว่างสมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับพระมหาอุปราชามังสามเกียดว่าเกิดขึ้นที่ใดแน่ หรือแม้กระทั่งทำให้นักวิชาการเคยถูกแจ้งความดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพพระมหากษัตริย์ในอดีต
แม้ประวัติศาสตร์สงครามโลกอาจชวนให้หดหู่ใจ แต่หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เหลืออยู่กลับเป็นแม่เหล็กดึงดูดให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศมาเยี่ยมชมทุกปี
นอกจากประวัติศาสตร์ยุคบรรพชนของสยามประเทศแล้ว เรื่องราวของ ‘ทางรถไฟสายมรณะ’ และ ‘สุสานทหารสัมพันธมิตรดอนรัก’ ในจังหวัดกาญจนบุรี ยังเป็นภาพสะท้อนความโหดร้ายของสงครามโลกครั้งที่สองที่เคยเกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัด ทหารจากทั่วโลก ทั้งชาวเอเชีย อเมริกัน ยุโรป ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ รวมกันกว่า 100,000 นายต้องสูญสิ้นชีวิตในป่าดิบจากการเป็นเชลยและถูกใช้แรงงานหนักเพื่อสร้างเส้นทางรถไฟข้ามแม่น้ำแควและมุ่งไปยังปลายทางฝั่งเมียนมา ความโหดร้ายนี้ได้รับการถ่ายทอดเป็นวรรณกรรมเรื่อง ‘The Bridge Over the River Kwai’ โดยปิแอร์ บูล นักเขียนชาวฝรั่งเศสผู้เคยถูกจับเป็นเชลยศึกและถูกใช้แรงงานในเหตุการณ์ดังกล่าว ก่อนจะนำไปดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ในชื่อเดียวกันและได้รับการยกย่องในวงกว้างในเวลาต่อมา
แม้ประวัติศาสตร์สงครามโลกอาจชวนให้หดหู่ใจ แต่หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เหลืออยู่กลับเป็นแม่เหล็กดึงดูดให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศมาเยี่ยมชมทุกปี ถึงขนาดว่าในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั่วโลกหยุดชะงัก แต่พื้นที่ประวัติศาสตร์ของจังหวัดยังคงมีนักท่องเที่ยวให้ความสนใจมาเยี่ยมเยือนอยู่ตลอด ช่วยให้ธุรกิจท่องเที่ยวรอบแหล่งประวัติศาสตร์ยังพอเอาตัวรอดช่วงที่แย่ที่สุดของโรคระบาดมาได้ สอดคล้องกับข้อมูลจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยว่าจังหวัดกาญจนบุรีเป็นจุดหมายการท่องเที่ยวยอดนิยมลำดับที่ห้าของประเทศ รองจากกรุงเทพฯ ชลบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และเพชรบุรี
นอกจากวัดวาอารามและอุทยานแห่งชาติที่กระจายตัวอยู่ในหลายพื้นที่ของกาญจนบุรีแล้ว ยังมีอีกสถานที่หนึ่งที่นักท่องเที่ยวทั้งไทยและเทศอาจยังไม่นิยมไปเที่ยวมากนักแต่ควรจะต้องไปเยือนสักครั้งหนึ่งในชีวิต นั่นคืออำเภอสังขละบุรี
นอกเหนือจากโบราณวัตถุ อนุสรณ์สถาน และวัดวาอารามที่มีคุณค่าเชิงประวัติศาสตร์แล้ว ผู้คนอีกไม่น้อยมาเยือนกาญจนบุรีเพื่อดื่มด่ำธรรมชาติทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยสถานที่ที่กล่าวกันว่าหากไม่ไปเยือน ก็เหมือนมาไม่ถึงกาญจนบุรี ก็คือแม่น้ำแคว ที่งดงามที่สุดยามแสงอาทิตย์ยามเช้าตกกระทบผิวน้ำ และปัจจุบันเรียงรายไปด้วยรีสอร์ทหรูหราริมสองฝั่งน้ำ
Cross River Kwai คือหนึ่งในรีสอร์ทที่เปรียบเสมือนแหล่งพลังงานทางธรรมชาติให้แก่ชาวกรุงที่ต้องการหลีกหนีความวุ่นวายของสังคมเมืองและวิถีชีวิตที่ต้องหลับนอนในหอพักหรือคอนโดอันคับแคบเพื่อสร้างความกระปรี้กระเปร่ากลับคืนสู่ร่างกายอีกครั้ง ในแต่ละวันของรีสอร์ตแห่งนี้ที่โดดเด่นด้วยแพบ้านพักทรงสี่เหลี่ยมสไตล์อินดัสเทรียลเท่ๆ ก็สามารถพบเห็นนักท่องเที่ยวนอนพักผ่อนท่ามกลางแสงแดดอ่อนๆ ในช่วงเช้า หรือพายเรือคายัคเพื่อชื่นชมธรรมชาติที่สวยงามของแม่น้ำแคว
อีกหนึ่งรีสอร์ทที่โดดเด่นไม่แพ้กันคือ PLA2 Sinagarind วิลล่าลอยน้ำที่มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใครแห่งนี้สามารถสร้างชื่อเสียงในระดับนานาชาติได้ ไม่ใช่แค่เพราะสถาปัตยกรรมสไตล์อินดัสเทรียลเท่านั้น แต่ยังรวมถึงที่ตั้งในเขตเขื่อนศรีนครินทร์ที่กั้นแม่น้ำแควใหญ่ และอยู่ห่างจากอุทยานแห่งชาติเอราวัณมาทางทิศเหนือเพียงสี่กิโลเมตร
‘เดอรีน สตูดิโอ’ คือสตูดิโอผู้ออกแบบวิลล่าลอยน้ำแห่งนี้ โครงของตัวอาคารเป็นรูปทรงเรขาคณิตสร้างขึ้นจากไม้ ส่วนภายในมีการตกแต่งให้ดูคล้ายเรือดำน้ำ เช่น ท่อเหล็กเรียงรายที่ติดไว้บนเพดานในห้องโถง ประตูทางโค้งที่ไม่สูงนัก บันไดเหล็กติดกำแพงที่ต้องปีนขึ้นลง รวมถึงหน้าปัดวัดความดัน และพวงมาลัยเรือดำน้ำ ขณะเดียวกันก็เพิ่มความโมเดิร์นโปร่งสบายด้วยเฟอร์นิเจอร์หินอ่อนที่จัดวางอย่างเข้าคู่กับโครงสร้างภายใน ตัวรีสอร์ทแบ่งโซนที่พักออกเป็นสองส่วน บนดาดฟ้ามีอ่างน้ำอุ่นไว้อาบรับลมชมวิวและท้องฟ้ายามค่ำคืน ส่วนชั้นล่างมีสระว่ายน้ำส่วนตัวและที่นั่งรับลมเย็น ซึ่งแขกที่เข้าพักสามารถเลือกลงเล่นน้ำเย็นของเขื่อนศรีนครินทร์ได้จากบริเวณนี้หากต้องการ
บรรยากาศที่ดูไร้กาลเวลาและธรรมชาติอันสวยงามของสังขละบุรีและหมู่บ้านเล็กๆ อย่างปิล็อก สะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยของกาญจนบุรี
ส่วนใครที่ไม่ได้ชอบที่พักสไตล์ลอยน้ำเท่าใดนัก อาจเลือกเข้าพักที่ ‘ธารา วิลล่า’ รีสอร์ทหรูติดแม่น้ำแควใหญ่ที่ไม่ทิ้งกลิ่นอายธรรมชาติ ซึ่งดึงดูดอินฟลูเอนเซอร์และนักท่องเที่ยวผู้รู้จักเลือกให้มาเข้าพักแล้วหลายคน ที่นี่มีบริการสระว่ายน้ำส่วนตัว สวนสีเขียวสำหรับคนรักการปิกนิก และทางเดินยาวใต้ร่มเงาไม้
สองฟากข้างซึ่งปูด้วยดินเหนียวอัดแข็ง ออกแบบโดยสถาปนิกมือรางวัลอย่างปัจจ์ บุญกาญจน์วนิชา จาก ‘บ้านดิน ลาแตร์’ ซึ่งเจ้าตัวก็เพิ่งเสร็จสิ้นงานสถาปัตย์ให้รัฐสภาแห่งประเทศไทยไปเมื่อไม่นาน
นอกจากนี้ ภายในธารา วิลล่ายังมี Din Cafe คาเฟ่ผสมร้านอาหารติดริมแม่น้ำแควใหญ่ที่ดึงดูดผู้คนให้มาแวะพักจิบกาแฟ หรือลิ้มรสอาหารไปพร้อมกับลมเย็นของแม่น้ำและสถาปัตยกรรมเฉพาะของร้าน จากฝีมือการออกแบบของปัจจ์เช่นกัน
ส่วนใครที่เป็นสายคอนเทนต์อยากถ่ายรูปสวยลงอินสตราแกรม ‘มีนา cafe’ คืออีกจุดหมายที่ไม่ควรพลาด ด้วยทางเดินไม้ยาวตัดทุ่งนาที่ให้สีสันเขียวเหลืองตามฤดูกาลเพาะปลูกและเก็บเกี่ยว ผสมกับวิวอันงดงามของ ‘วัดถ้ำเสือ’ ที่ตั้งอยู่บนยอดเขาไม่ไกลจากตัวร้าน เนื่องจากเป็นสถานที่ท่องเที่ยวกลางแจ้ง แนะนำให้พกหมวกปีกกว้างกันแดดติดตัวไปด้วย
อย่างไรก็ดี การไปเที่ยวเมืองกาญจนบุรีหรือคาเฟ่ยอดนิยมที่ผู้คนรีวิวไม่ขาดอาจหมายถึงการผจญกับนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่ ท่ามกลางแสงแดดที่พร้อมแผดเผาทุกเมื่อ นักท่องเที่ยวบางส่วนที่อยากได้ความเป็นส่วนตัวกว่าจึงมักเลี่ยงการเดินทางเข้าเมืองหรือสถานที่ยอดฮิตเพื่อหาพื้นที่สงบไว้พักผ่อนระยะยาว ซึ่งนอกจากวัดวาอารามและอุทยานแห่งชาติที่กระจายตัวอยู่ในหลายพื้นที่ของกาญจนบุรีแล้ว ยังมีอีกสถานที่หนึ่งที่นักท่องเที่ยวทั้งไทยและเทศอาจยังไม่นิยมไปเที่ยวมากนักแต่ควรจะต้องไปเยือนสักครั้งหนึ่ง นั่นคืออำเภอสังขละบุรี
สังขละบุรีเป็นอำเภอชายแดนทางทิศตะวันตกสุดของจังหวัดกาญจนบุรี ตัวอำเภออยู่ห่างจากชายแดนประเทศเมียนมาเพียง 24 กิโลเมตร และด้วยความเป็นเมืองชายแดนที่คนยังไม่ค่อยรู้จักและเข้าไปเยี่ยมเยือนเท่าใดนัก จึงขาดทรัพยากรดี ๆ เพื่อสร้างความเจริญในตัวอำเภอ ที่นี่ไม่มีร้านอาหารหรือโรงแรมหรู ๆ ให้คนได้ถ่ายรูปสวยลงโซเชียลมีเดีย ทว่าสิ่งทดแทนสำคัญของสังขละบุรีคือความสวยงามของพื้นที่โดยรอบ รวมถึงความหลากหลายของผู้คน ประวัติศาสตร์ พื้นที่ธรรมชาติอันเงียบสงบที่หลุดรอดจากความวุ่นวายของคำว่าเมือง และจุดท่องเที่ยวที่ไม่คาดคิดว่าจะหาได้จากที่นี่
เส้นทางขับรถไปอำเภอสังขละบุรีอาจเป็นเส้นทางในฝันของนักขับรถที่รักการผจญภัย ด้วยป่าดิบเขียวขจีบนยอดเขาที่มองเห็นได้สุดสายตาไปตามทาง บางช่วงถนนก็คดเคี้ยวจนต้องหักพวงมาลัยเป็นพัลวัน และเมื่อขับผ่านพ้นแมกไม้ก็ปะเข้ากับตลาดสดชุมชนที่ผู้คนยังจับจ่ายไม่หยุด รวมถึงวัดพุทธหลายแห่งที่มีให้เห็นเป็นระยะ ๆ
‘สะพานมอญ’ นับเป็นหนึ่งในไฮไลต์สำคัญของสังขละบุรี สะพานแห่งนี้คือจุดเชื่อมวัฒนธรรมของทั้งชาวมอญและชาวไทยที่มีความยาวถึง 400 เมตรเพื่อไว้ใช้ข้ามแม่น้ำซองกาเลีย และเคยได้ชื่อว่าเป็นสะพานไม้ที่ยาวที่สุดของไทย โดยเชื่อมระหว่างตัวอำเภอเมืองสังขละบุรีกับบ้านวังกะ (หรือเรียกอีกอย่างว่า ‘ฝั่งมอญ’) ส่วนชื่อทางการว่า ‘อุตตมานุสรณ์’ ได้มาจากนามของหลวงพ่ออุตตมะ พระภิกษุชาวพม่าที่เดินทางเข้ามาอาศัยอยู่ในฝั่งไทยพร้อมนำครอบครัวชาวมอญอีกกว่า 60 ครอบครัวติดตามมาด้วยและสร้างชุมชนชาวมอญบนผืนดินแห่งนี้ โดยหลวงพ่ออุตตมะได้ดำริให้มีการสร้างสะพานแห่งนี้ขึ้นเพื่อความสะดวกในการสัญจรของชุมชนชาวมอญที่อยู่ในฝั่งบ้านวังกะ ต่อมาภายหลังหลวงพ่ออุตตมะได้เป็นภิกษุผู้ถือสองสัญชาติทั้งไทยและเมียนมา และยังเป็นพระสงฆ์ผู้ได้รับการเคารพนับถือมากที่สุดรูปหนึ่งของไทย
ส่วนชุมชนชาวบ้านที่ควรไปเยือนในสังขละบุรีนั้นต้องนับรวมหมู่บ้าน ‘ปิล็อก’ เข้าไปด้วย หมู่บ้านแห่งนี้เหมาะสำหรับนักผจญภัยหรือคนที่อยากใช้เวลาสัมผัสกับความเป็นชุมชนอย่างแท้จริง เพราะตัวหมู่บ้านอยู่ห่างจากสะพานมอญนานถึงเกือบสามชั่วโมงและอยู่ใกล้ชายแดนเมียนมามาก แต่สิ่งที่ได้นับว่าคุ้มค่าเพราะหมู่บ้านแห่งนี้ขึ้นชื่อเรื่องทิวทัศน์ธรรมชาติที่นักท่องเที่ยวหลายคนยกย่องว่าสวยงามที่สุดของจังหวัดกาญจนบุรี หมู่บ้านแห่งนี้ยังเคยเป็นพื้นที่ทำเหมืองขนาดเล็กของนักขุดแร่ชาวพม่าที่สำรวจแร่ตามแนวตะเข็บชายแดนไทย-เมียนมาเมื่อครั้งอดีตอีกด้วย
หมู่บ้านปิล็อกตั้งอยู่บนเนินเขาที่ปกคลุมไปด้วยเมฆหมอกในยามเช้าหรือฤดูหนาว ซึ่งไม่ได้เป็นเพียงเส้นแบ่งเขตแดนทางธรรมชาติระหว่างไทย-เมียนมาเท่านั้น แต่ยามที่เมฆหมอกเริ่มซาผู้มาเยี่ยมเยือนจะพบกับทิวทัศน์ที่สะกดใจจากเขาสูงสีเขียวสวยงามเรียงรายสุดสายตาที่อยู่ล้อมรอบ แซมด้วยสายธารของน้ำตกธรรมชาติ ตัวหมู่บ้านปิล็อกมีขนาดเล็ก เงียบสงบ จุดน่าสนใจของหมู่บ้าน เช่น ตลาดปิล็อก จะขายสินค้าภูมิปัญญาชาวบ้านผสมกับของใช้ทั่วไป เช่น ตะเกียงมอญที่ชาวบ้านมักใช้ส่องไฟนำทางในยามค่ำคืนหรือยามหมอกลงหนา หรือร้านกาแฟชาวบ้านที่สร้างขึ้นจากไม้หลากสีสัน ส่วนใครที่มาเป็นคู่ก็อาจเดินจูงมือไปชมสะพานไม้ซึ่งอยู่ใกล้กับ ‘เหมืองปิล็อก’ ที่เริ่มมีคนเรียกว่าสะพาน ‘ล็อกรัก’ เพราะมีนักท่องเที่ยวนำแม่กุญแจลงชื่อคู่รักมาล็อกไว้กับราวสะพานเหมือนสะพานข้ามแม่น้ำแซนในปารีส
บรรยากาศที่ดูไร้กาลเวลาและธรรมชาติอันสวยงามของสังขละบุรีและหมู่บ้านเล็กๆ อย่างปิล็อก สะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยของกาญจนบุรีจากอดีตสมรภูมิแห่งการสงครามและความขัดแย้งที่บันทึกลงในพงศาวดาร ตำราประวัติศาสตร์ หรือเรื่องเล่าตกทอดของท้องถิ่นมาถึงวันนี้ วิถีชีวิตของชุมชนชาวมอญและชาวไทยในชุมชนชายแดนแห่งนี้คือหลักฐานของ ‘การหล่อหลอม’ ทางวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของสองฝั่งประเทศที่ได้กลายเป็นดินแดนเล็ก ๆ อันเงียบสงบ ที่อาจสะกดใจนักท่องเที่ยวทุกผู้คนที่มาเยือนให้หลงลืมประวัติศาสตร์การรบพุ่งหรือวิถีชีวิตเมืองอันวุ่นวายไปได้เลย ■