HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

BEYOND BOUNDARIES


Nature Wanderers

เมื่อวิกฤตโรคระบาดเปิดทางให้คนรักผจญภัยออกลุยป่า จัดแคมปิ้งจนกลายเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่บูมต่อเนื่องในยุคหลังโรคระบาด

แรกเริ่มเดิมที อภิญญา อินง้อง หรือพินจัดทริปแคมปิ้งและเดินป่าทั่วประเทศไทยในยามว่างจากการเรียนและการทำงานของตัวเอง เพื่อนๆ คอเดียวกันที่มีโอกาสได้ร่วมเดินทางกับเธอต่างชื่นชมที่พินสามารถเลือกสถานที่ที่เหมาะกับการทำกิจกรรมในแต่ละช่วงเวลาของปีได้ดีเยี่ยม อีกทั้งช่วยเตรียมอุปกรณ์ที่จำเป็นและบริหารจัดการทริปในแต่ละครั้งให้เต็มไปด้วยความสนุกสนานจนน่าประทับใจ นำไปสู่การชักชวนและบอกต่อเพื่อนกลุ่มอื่นๆ ให้มาร่วมออกแคมป์ไปด้วยกันอย่างต่อเนื่อง

4 ปีผ่านไป พินตัดสินใจจดทะเบียนบริษัทเพื่อดำเนินธุรกิจด้านแคมปิ้งและเดินป่าเต็มรูปแบบในชื่อ Gogotrip Thailand ซึ่งเวลานี้มีผู้ติดตามบนเฟซบุ๊กกว่า 50,000 บัญชี และจัดทริปเดินป่า ขึ้นเขา และออกแคมป์ในสถานที่ต่างๆ ทั้งในไทยและต่างประเทศ เช่น เนปาล และอินเดีย เป็นประจำทุกเดือน

“ย้อนกลับไปเมื่อ 4 ปีที่แล้ว คนไทยไม่ได้เดินป่าหรือขึ้นเขากันเยอะขนาดนี้ แต่ตอนนี้กระแสกลับโตอย่างรวดเร็ว” พินบอกเล่าถึงความเปลี่ยนแปลงของการทำกิจกรรมตั้งแคมป์และเดินป่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้

ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา ความนิยมของการทำกิจกรรมแคมปิ้งพุ่งสูงขึ้นทั่วโลก ตัวเลขของนักแคมปิ้งหน้าใหม่ในสหรัฐอเมริกาสูงขึ้นถึง 500% ขณะที่ในสหราชอาณาจักร ปริมาณการจัดทริปแคมปิ้งตามสถานที่ต่างๆ ในประเทศก็ขยายตัวถึง 80% ซึ่งเป็นข้อมูลที่ทำการสำรวจและบันทึกโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติของทั้งสองประเทศ

โซนป่าและภูเขาทางภาคใต้ส่วนใหญ่จะเป็นที่นิยมในหมู่นักเดินป่าผู้ชำนาญที่ต้องการหลีกเลี่ยงพื้นที่ภาคเหนือที่คราคร่ำไปด้วยเหล่านักเดินป่าหน้าใหม่

ส่วนในประเทศไทย แม้ยังไม่มีการบันทึกตัวเลขหรือสถิติในเรื่องนี้ไว้ชัดเจน แต่ก็มีหลักฐานที่บ่งชี้ว่ากิจกรรมดังกล่าวกำลังได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นไม่แพ้กัน เช่น จำนวนพื้นที่ตั้งแคมป์เอกชนที่ผุดขึ้นในหลายจังหวัดซึ่งเป็นผลจากการต้องปิดให้บริการของสถานที่ท่องเที่ยวและอุทยานแห่งชาติสำคัญๆ ในช่วงโควิด-19 ระบาดหรือจะเป็นดารานักแสดงชื่อดัง เช่น หมาก-ปริญ สุภารัตน์ หลุยส์ สก๊อต และอัค-อัครัฐ นิมิตรชัย ต่างก็อวดรูปตัวเองขณะออกโร้ดทริปในรถบ้าน รูปอุปกรณ์ทำกิจกรรมแคมปิ้งชิ้นใหม่ล่าสุด และรูปตอนกางเต็นท์ในสถานที่ตั้งแคมป์ผ่านโซเชียลมีเดียของตัวเอง ไปจนถึงคนที่เป็นตำนานของวงการแคมปิ้งไทยอีกหลายๆ คน เช่น ธัชรวี หาริกุล เจ้าของร้านอุปกรณ์สำหรับกิจกรรมกลางแจ้ง Thailand Outdoor ที่คอยปลุกกระแสการทำกิจกรรมประเภทนี้ผ่านสื่อต่างๆ อย่างต่อเนื่อง

นอกจากคนดังเหล่านี้ อุปกรณ์ที่ใช้ในการตั้งแคมป์ยังมีส่วนช่วยสร้างความนิยมให้กับกิจกรรมมากขึ้นด้วย จริงอยู่ว่าสำหรับมือใหม่อาจจะซื้อของถูกๆ ไปใช้ตั้งแคมป์ก่อน แต่พอเริ่มชำนาญและติดใจ คนเหล่านี้ก็จะเริ่มลงทุนหาซื้ออุปกรณ์ที่ขึ้นชื่อในคุณภาพซึ่งคนในวงการนิยมใช้แม้จะมีราคาแพง เช่น กางเต็นท์ต้องนึกถึงเต็นท์ของแบล็กเดียร์ปิ้งย่างต้องใช้เตาของโคลแมน และถ้าจะแบกของลุยป่า ต้องใช้กระเป๋าเดินป่ายี่ห้อเกรกอรี่

กระแสเเคมปิ้งที่พุ่งพรวดยังได้เปลี่ยนงานอดิเรกยามว่างของพินในฐานะคนประสานงานจัดทริปแคมปิ้งมาเป็นการเปิดธุรกิจจัดแคมปิ้งของตัวเอง ซึ่งเต็มเกือบทุกรอบในยามที่เธอประกาศจัดกิจกรรม

“นักเดินป่าหน้าใหม่ๆ ทักเข้ามาในเพจของเราเยอะมาก” พินตั้งข้อสังเกต พร้อมให้ข้อมูลเสริมว่ากลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่ของเธอมักอยู่ในช่วงอายุ 18-30 ปี รวมถึงวัยรุ่นที่เพิ่งเรียนจบจากมหาวิทยาลัยที่ต้องการมองหาประสบการณ์ใหม่ๆ ในชีวิต

“ยูทูบเบอร์และอินฟลูเอนเซอร์ดังๆ อย่าง Pigkaploy เองก็มีส่วนช่วยกระตุ้นให้หลายๆ คนมาลองทำตามดู” พินกล่าวเสริม

สำหรับผู้ที่ก้าวเข้าสู่วงการนี้เป็นครั้งแรก พินแนะนำให้จัดทริปเดินป่าหรือขึ้นเขาทางภาคเหนือในช่วงเดือนมิถุนายนไปจนถึงเดือนมกราคม เนื่องจากเป็นระยะเวลาที่มีสภาพอากาศเหมาะสมสำหรับทำกิจกรรมดังกล่าว ดอยม่อนจอง ซึ่งครอบคลุมพื้นที่อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอสามเงา จังหวัดตาก เป็นสถานที่ที่มือใหม่นิยมไปเดินลัดเลาะตามแนวผาเพื่อชื่นชมความสวยงามของ ‘ภูเขาสีทอง’ ในช่วงฤดูหนาว ส่วนโซนป่าและภูเขาทางภาคใต้นั้นส่วนใหญ่จะเป็นที่นิยมในหมู่นักเดินป่าผู้ชำนาญที่ต้องการหลีกเลี่ยงพื้นที่ภาคเหนือที่คราคร่ำไปด้วยเหล่านักเดินป่าหน้าใหม่ การขยายตัวและแตกกลุ่มระหว่างนักเดินป่าหน้าใหม่กับหน้าเก่าในพื้นที่ที่ต่างกันเป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงความนิยมที่พุ่งสูงขึ้นของกิจกรรมประเภทนี้

“ช่วงนี้คนที่เดินป่ามาสักระยะหนึ่งแล้วมักมองหาสถานที่เงียบๆ ที่คนไม่ค่อยไปเพื่อหลีกหนีความวุ่นวาย ภาคใต้เป็นเส้นทางที่โหด เพราะเต็มไปด้วยตัวทาก ซึ่งนักเดินป่าหน้าใหม่หลายคนกลัว จึงมักจะเลี่ยงโซนนี้ แต่สำหรับคนที่เชี่ยวชาญอยู่แล้ว เส้นทางนี้ก็สบายสำหรับเขา” พินกล่าว

ความสนใจของผู้คนต่อกิจกรรมแคมปิ้งที่มากขึ้นทำให้หลายคนหันมาให้ความสนใจและวิจารณ์ถึงโครงสร้างพื้นฐานในการสนับสนุนกิจกรรมแคมปิ้งของไทยที่ยังมีไม่มากพอ เช่น นอกเหนือจากการพูดกันแบบปากต่อปากแล้ว จุดตั้งแคมป์ในพื้นที่ห่างไกลหลายแห่งถูกเอ่ยถึงในโลกออนไลน์น้อยมาก พื้นที่พวกนี้ส่วนใหญ่ใช้ระบบใครมาก่อนได้ก่อนโดยไม่มีการจำกัดสิทธิ์ ทำให้คนที่อยากไปตั้งแคมป์ในพื้นที่ดังกล่าวต้องรีบเดินทางไปให้ถึงจุดหมายตั้งแต่เช้ามืดเพื่อจับจองพื้นที่ก่อนใครถ้าไม่อยากเสี่ยงได้จุดตั้งแคมป์ในส่วนที่ไม่ชอบหรือไม่น่าอยู่

นอกจากนี้ จุดตั้งแคมป์หลายแห่งก็ไม่มีการกั้นอาณาเขตพื้นที่ให้ผู้ใช้บริการอย่างเป็นสัดเป็นส่วน ทำให้เกิดปัญหาการแย่งกันใช้พื้นที่และสิ่งอำนวยความสะดวกไม่เพียงพอต่อความต้องการ อีกทั้งกฎระเบียบของทางราชการเองก็สร้างอุปสรรคต่อการทำกิจกรรม เช่น ในเดือนมีนาคมปี 2564 ทางกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้พยายามออกกฎห้ามนักแคมปิ้งทำหมูกระทะในบริเวณจุดกางเต็นท์ของอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ แต่พอเป็นบางเรื่องกลับขาดกฎระเบียบที่เข้มงวด เช่น การส่งเสียงดังของผู้ใช้บริการบางกลุ่ม และการจัดการขยะในพื้นที่ตั้งแคมป์ซึ่งเป็นปัญหาที่ชวนปวดหัวต่อทั้งนักท่องเที่ยวและทางราชการเอง “มันต่างจากพื้นที่ตั้งแคมป์ในยุโรปและอเมริกามาก” อีฟ-อติชา ยิ่งศิริอำนวย แสดงความคิดเห็น

อีฟคือผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Campa แพลตฟอร์มออนไลน์ที่นำระบบการจัดการกิจกรรมแคมปิ้งของต่างประเทศมาปรับใช้ในประเทศไทย (เช่น การจองพื้นที่กางเต็นท์ล่วงหน้าผ่านระบบออนไลน์ การกำหนดเขตพื้นที่ต่อหนึ่งหน่วยผู้ใช้บริการอย่างเป็นสัดเป็นส่วนในจุดตั้งแคมป์เอกชน และการทำลิสต์รวบรวมจุดกางเต็นท์ที่มีคุณภาพ) ทีมงานของแพลตฟอร์มลงพื้นที่ด้วยตัวเองเพื่อสำรวจ ตรวจสอบคุณภาพของจุดตั้งแคมป์แต่ละแห่ง ถ่ายภาพ และนำไปจัดแบ่งเป็นหมวดหมู่เพื่อเปิดให้ผู้ใช้บริการมาสำรองพื้นที่บนแพลตฟอร์มออนไลน์ โดย Campa จะหักค่าคอมมิชชั่นส่วนหนึ่งจากการจองในแต่ละครั้ง ซึ่งอีฟบอกว่าตอนนี้มียอดคนเข้าชมเเพลตฟอร์มต่อเนื่องทุกวัน

อีฟเริ่มสร้างแพลตฟอร์มนี้กับเพื่อนของเธอ ซึ่งปัจจุบันพ่วงตำแหน่งหุ้นส่วนทางธุรกิจด้วย ตั้งแต่ครั้งยังอยู่ที่แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา หลังได้แรงบันดาลใจจากแอปพลิเคชันจองพื้นที่กางเต็นท์ของที่นั่นและคิดว่าประเทศไทยควรมีระบบแบบนี้เช่นเดียวกัน

“เราคิดว่าถ้าเราไม่ทำ เดี๋ยวก็ต้องมีคนทำแน่ๆ” อีฟกล่าว

กระนั้น ขั้นตอนการพัฒนาแพลตฟอร์มก็ไม่ได้เป็นไปอย่างรวดเร็ว เหตุผลสำคัญคือ โมเดลของ Campa อาจนับเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในการท่องเที่ยวในพื้นที่ตั้งแคมป์ของเอกชน อีฟและทีมงานจึงต้องทุ่มเทเวลาในการพูดคุยกับเจ้าของจุดตั้งแคมป์รายต่างๆ เพื่อช่วยให้เจ้าของแคมป์เหล่านี้เข้าใจและยอมปรับเปลี่ยนมุมมองต่อธุรกิจการตั้งแคมปิ้ง ขณะเดียวกัน ทีมงานของ Campa ก็พยายามปรับการรับรู้และความเข้าใจของนักแคมปิ้งด้วย โดยให้ทีมการตลาดของเว็บไซต์ช่วยเผยแพร่ความรู้ในการตั้งแคมป์บนหลักความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการเตรียมออกบริการให้นักแคมปิ้งสามารถเช่าอุปกรณ์ตั้งแคมป์ผ่านแพลตฟอร์มของ Campa เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายหรืออุปสรรคต่างๆ ให้แก่คนที่ต้องการเริ่มต้นเข้าสู่วงการนี้

“แค่พื้นที่กางเต็นท์หรือจุดตั้งแคมป์อย่างเดียวไม่พอ เราอยากสร้างชุมชนของคนรักการท่องเที่ยวหรือทำกิจกรรมกลางแจ้งขึ้นมาเลย” อีฟบอกเล่าเป้าหมายของเธอด้วยความมุ่งมั่น

ท่ามกลางสถานการณ์ที่หลายภาคส่วนยังต้องใช้เวลาฟื้นตัวจากความบอบช้ำที่ได้รับจากโรคระบาดตลอดสองปีที่ผ่านมา ธุรกิจแคมปิ้งกลับเป็นหนึ่งในไม่กี่วงการที่ได้รับประโยชน์จากมาตรการกักตัวและควบคุมโรคโควิด-19 ธุรกิจอย่าง Gogotrip Thailand และ Campa คือหนึ่งในตัวอย่างของธุรกิจแคมปิ้งที่กำลังเดินหน้าไปได้ดี ซึ่งเชื่อว่าเมื่อมาตรการต่างๆ เกี่ยวกับโรคระบาดของไทยผ่อนคลายลงไปอีกจนอาจจะเหลือศูนย์ ธุรกิจแคมปิ้ง เดินเขา ลุยป่า และกิจกรรมผจญภัยกลางแจ้งที่พ่วงกันก็จะยิ่งมีอนาคตที่สดใสให้คนรักธรรมชาติและการผจญภัยได้ออกลุยเก็บภาพสวยอย่างเป็นอิสระยิ่งกว่าสองปีที่ผ่านมาแน่นอน