SECTION
ABOUTLIVING SPACE
Boutique Renaissance
วรพันธุ์ คล้ามไพบูลย์ ราชาบูติค ผู้หลงใหลการพลิกฟื้นอาคารเก่าให้กลับเฉิดฉายเพื่อชุมชน
ทุกครั้งที่วรพันธุ์ คล้ามไพบูลย์ มองเห็นอาคารเก่าแก่ทรุดโทรม สิ่งที่เขาเห็นไม่ใช่ความผุพังของอาคาร หลังคาที่ใกล้ถล่ม หรือสีที่ลอกออกบนกำแพง หากแต่เป็นประวัติศาสตร์ที่ซุกซ่อนอยู่ในสถาปัตยกรรมเก่า ร่องรอยของวิถีชีวิตอันเป็นเอกลักษณ์ และ ศักยภาพที่จะช่วยพลิกเศรษฐกิจให้ชุมชน
วรพันธุ์ ได้รับสมญานามว่า ‘ราชาบูติค’ (Boutique King) จากการดัดแปลงและชุบชีวิตสถานที่เก่าๆ ทั่วประเทศ เช่น โรงเรียนหลังเก่าที่รอวันพังทลายในจังหวัดอุทัยธานี อาคารไม้ทรุดโทรมสมัยสงครามโลกในอุบลราชธานี และบ้านร้างของชาวประมงริมฝั่งคลองในกรุงเทพฯ ให้กลายเป็นโรงแรมขนาดเล็ก หรือที่เรียกว่าบูติคโฮเต็ล โรงแรมทุกแห่งที่เขาชุบชีวิตล้วนมีเสน่ห์สะท้อนความเป็นท้องถิ่น ไม่ว่าจะในจังหวัดห่างไกล หรือใจกลางเมืองเก่าของกรุงเทพฯ
“ผมรักการทำงานกับอาคารเก่าๆ ที่อยู่ในสภาพย่ำแย่เสมอ” วรพันธุ์พูดถึงงานของตนด้วยตาเป็นประกาย
จากจุดเริ่มต้นที่อยากอนุรักษ์บ้านเรือนเก่าแก่ให้สังคม ถึงวันนี้วรพันธุ์ก้าวมาไกลจนผู้คนยกให้เขาเป็นเหมือนหัวหอกผู้พิทักษ์โรงแรมขนาดเล็ก และเป็นผู้นำการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมเก่าร่วมสมัยภายใต้แนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน
“เราต้องสร้างความรู้ความเข้าใจให้ผู้คนตระหนักถึงความสำคัญของอาคารเก่าว่ามีคุณค่าทางสถาปัตยกรรมและควรค่าแก่การอนุรักษ์ ต้องทำให้เขารู้ว่าเราสามารถเปลี่ยนพื้นที่เก่าๆ เหล่านี้ให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนได้ และทำให้พื้นที่ดังกล่าวมีศักยภาพทางการเงินได้ด้วย” วรพันธุ์ อธิบาย
แนวคิดของวรพันธุ์นับว่าสมเหตุสมผล แต่โดยทั่วไปแล้ว ตลาดอสังหาริมทรัพย์มักเห็นตรงข้าม เฉพาะในกรุงเทพฯ ตลาดที่ดินมีแนวโน้มเลือกพัฒนาโครงการใหม่ๆ มากกว่ารักษาโครงการเก่าไว้ ในปี 2559 บางกอกโพสต์รายงานว่าคอนโดใหม่มีราคาสูงกว่าคอนโดเก่าอายุ 10 - 20 ปี ถึง 5 เท่า ทั้งที่อยู่ในทำเลเดียวกัน เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ส่วนใหญ่จึงเลือกที่จะขายโครงการของตนให้นักพัฒนาเพื่อทำกำไรมากกว่าจะนำทุนทรัพย์มาปรับปรุงอาคารเดิม
นอกเหนือจากตัวตนเฉพาะที่งอกเงยออกจากอาคารหลังเก่าแล้ว บรรยากาศของสถานที่และความกลมกลืนกับชุมชนโดยรอบยังเป็นอีกหนึ่งเสน่ห์ของโรงแรมบูติคแบบวรพันธุ์ที่ดึงดูดให้ผู้ที่หลงใหลวิถีชุมชนเลือกมาเข้าพักอยู่เสมอ
เมื่อพูดถึงการลงมือทำ วรพันธุ์เริ่มงานอนุรักษ์บ้านเรือนเก่าอย่างจริงจังในปี 2553 หนึ่งในงานชิ้นแรกๆ ที่เขาลงมือปรับปรุงและฟื้นฟูคือบ้านเก่าๆ หลังหนึ่งไร้คนเหลียวแลในซอยสามเสน 5 ซึ่งเขาออกไอเดียให้แปลงเป็นเกสต์เฮาส์แบบ 3 ห้องนอน รวมถึงแบ่งเนื้อที่ไว้เป็นสำนักงานของ ‘ซูเปอร์กรีนสตูดิโอ’ (Super Green Studio) สตูดิโอออกแบบที่เขาตั้งขึ้นเอง
วรพันธุ์เรียกพื้นที่ทั้งหมดของเกสต์เฮาส์นี้ว่า ‘สามเสน 5 ลอดจ์’ (Samsen 5 Lodge) ซึ่งนอกจากจะสามารถต้อนรับแขกผู้สนใจเข้าพักที่แห่งนี้ยังเป็นเหมือนแปลงสาธิตภาคปฏิบัติของวรพันธุ์ในการนำเสนอความเป็นไปได้ที่จะสร้างที่พักด้วยแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนควบคู่การส่งเสริมการท่องเที่ยวของชุมชน
หลังความสำเร็จในการพัฒนาสามเสน 5 ลอดจ์ วรพันธุ์ก็เริ่มเป็นหัวหอกในการพัฒนาและฟื้นฟูอาคารเก่ารอบกรุงเทพฯ ให้กลับมาเป็นประโยชน์แก่ชุมชน ตัวเขากับทีมงานตระเวนพูดคุยกับเจ้าของอาคารเก่าๆ ทั้งบ้านไม้หรือห้องแถวในชุมชนที่อยู่มานานหลายสิบปีเพื่อปรับปรุง ตกแต่ง และพัฒนาให้กลายเป็นโรงแรมบูติคขนาดเล็กที่ไม่เพียงมีบรรยากาศน่าอยู่ แต่ยังสามารถสะท้อนตัวตนของที่พักให้ออกมาแตกต่างจากโรงแรมขนาดใหญ่
นอกเหนือไปจากตัวตนเฉพาะที่งอกเงยออกจากอาคารหลังเก่าแล้ว บรรยากาศของสถานที่และความกลมกลืนกับชุมชนโดยรอบยังเป็นอีกหนึ่งเสน่ห์ของโรงแรมบูติคแบบวรพันธุ์ที่ดึงดูดให้ผู้ที่หลงใหลวิถีชุมชนเลือกมาเข้าพักอยู่เสมอ
“หลายคนเลือกเข้าพักโรงแรมสไตล์บูติคเพราะอยากสัมผัสวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ อยากสัมผัสกับความงามและประวัติศาสตร์ของชุมชนผ่านมุมมองที่แตกต่างออกไป” วรพันธุ์อธิบาย
ยิ่งกว่านั้น การฟื้นฟูและปรับปรุงอาคารเก่าๆ เหล่านี้ยังมีส่วนสำคัญต่อการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมบ้านไม้เก่าของไทย เช่น บ้านสไตล์ขนมปังขิง (Gingerbread-Style House) ซึ่งเป็นการออกแบบบ้านไม้สไตล์ยุโรปที่ผู้มีอันจะกินสมัยก่อนนิยมสร้าง ทำให้ผู้คนปัจจุบันได้มีโอกาสเรียนรู้และตระหนักถึงคุณค่าของสถาปัตยกรรมไม้ที่กำลังถูกบดบังด้วยอาคารอิฐปูน เช่น ‘บ้านเตปา’ในพื้นที่เขตดุสิตของกรุงเทพฯ เป็นบูติคโฮเต็ลสไตล์ไทยที่มีบรรยากาศ ร่มรื่นด้วยเงาไม้ซึ่งปลูกรอบสถานที่
นอกจากเป็นสถาปนิก วรพันธุ์ยังทำหน้าที่ของครูด้วยการจัดเวิร์กช็อปให้ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่ต้องการเปลี่ยนอาคารเก่าของครอบครัวให้กลายเป็นเกสต์เฮาส์ที่น่าสนใจมาตั้งแต่ปี 2555 สองปีต่อมาเขาก็เขียนหนังสือเกี่ยวกับการทำธุรกิจบูติคโฮเต็ลเล่มแรกชื่อว่า ‘เปลี่ยนบ้านเก่าเป็นบูติคโฮเต็ล’ ตามด้วย ‘The Hostel Bible’ ที่ว่าด้วยการทำธุรกิจโรงแรม และ ‘Homemade Stay’ เกี่ยวกับการทำที่พักแบบ City Homestay เพื่อเผยแพร่ความรู้ในการทำธุรกิจโรงแรมขนาดเล็ก
วรพันธุ์กล่าวว่าคนส่วนใหญ่รู้จักเขากับสตูดิโอผ่านหนังสือที่เขาเขียนหรือคลาสที่เขาเปิดสอน แต่หลายคนกลับไม่รู้ว่าจะทำยังไงกับทรัพย์สินของตนดี
“หลายๆ ครั้งที่พวกเขามาหาเราเพราะอยากได้ทางออกจริงๆ” วรพันธุ์กล่าว
ตัวอย่างของโครงการแนวนี้ เช่น ‘เวฬาวาริน’ บูติคโฮเต็ลในจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นโรงแรมขนาด 11 ห้องนอนที่มีกลิ่นอายของความเป็นอีสาน ด้วยโครงสร้างอาคารทรงแปดเหลี่ยมทำจากไม้ดำเก่าแก่ที่เคยเป็นโกดังสินค้าสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ตกแต่งภายในด้วยเฟอร์นิเจอร์งานฝีมือ และศิลปะพื้นบ้านอีสาน ทางตระกูลผู้ถือครองกรรมสิทธิ์เคยทิ้งร้างสถานที่ไปนานถึง 20 ปี จนทายาทรุ่นปัจจุบันได้มาทำงานร่วมกับวรพันธุ์เพื่อรื้อฟื้นประวัติศาสตร์ของอำเภอวารินชำราบ ในจังหวัดอุบลราชธานี
ขณะที่ ‘อุไทย เฮอริเทจ’ (Uthai Heritage) ในจังหวัดอุทัยธานี เดิมเป็นโรงเรียนเอกชนแห่งแรกของจังหวัดที่มีอายุถึง 80 ปี ตัวอาคารเดิมเป็นไม้เสริมปูน มีหลังคาไม้สมัยสงครามโลกซึ่งสร้างความประทับใจให้กับวรพันธุ์ “ครั้งแรกที่เห็นหลังคาไม้ของที่นี่ ผมก็รู้สึกหลงใหลทันที” ก่อนลงมือถอนรื้อและเสริมแต่งอาคารซึ่งถูกทิ้งร้างนาน 20 ปีให้กลายเป็นอาคารที่ขับเน้นความงามเรียบง่ายต่อผู้มาเยือน ดังเช่น คานไม้ธรรมชาติซึ่งนำมาเสริมอาคารอย่างเป็นระเบียบยามเดินไปตามระเบียง เสาเข็มที่นำมาตอกเพิ่มรับความแข็งแรง หรือพื้นปูใหม่ไร้รอยสะดุด
อย่างไรก็ดี ใช่ว่าวรพันธุ์ยินดีรับปรับปรุงและฟื้นฟูอาคารเก่าทุกแห่ง เพราะทุกๆ งานที่ได้รับการติดต่อ วรพันธุ์จะใช้เวลาคัดเลือกว่าชิ้นใดที่เหมาะกับสไตล์การทำงานของเขาผ่านบทสนทนาที่มีกับเจ้าของสถานที่ ทั้งสองฝ่ายต้องแชร์ไอเดียว่าอยากให้โรงแรมออกมาเป็นอย่างไร และดูว่าเจ้าของสถานที่เห็นด้วยกับแนวคิดของวรพันธุ์ในการสะท้อนอัตลักษณ์ของสถานที่หรือไม่และอย่างไร
นอกจากนี้ วรพันธุ์จะไม่เข้าไปออกแบบและจัดการโครงการให้โดยตรง หากว่าโครงการ ดังกล่าวไม่ช่วยเพิ่มความหลากหลายทางเศรษฐกิจและโอกาสให้แก่คนในท้องที่ เช่น ไม่ช่วยให้เกิดการจ้างงาน ไม่ส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในชุมชน ไปจนถึงไม่มีส่วนร่วมกับการอนุรักษ์อัตลักษณ์ของท้องถิ่น
กรณีที่ตอบตกลง วรพันธุ์และทีมงานจะปรึกษากับผู้เกี่ยวข้องอย่างละเอียดเพื่อวางแนวคิดและออกแบบอาคาร ตั้งงบประมาณระยะเวลาที่คาดว่าโครงการจะถึงจุดคุ้มทุนไปจนถึงแผนระยะยาวของเจ้าของโรงแรม
แม้เวลานี้สามเสน 5 ลอดจ์จะยังปิดทำการเพราะมีโครงการปรับปรุงอาคาร แต่วรพันธุ์ยังคงเดินทางไปทำงานทั่วประเทศไม่มีหยุด บางโครงการอยู่ในพื้นที่ไกลปืนเที่ยงถึงจังหวัดตรังและแม่ฮ่องสอน
“พวกเรารักที่จะทำงานศิลปะ โครงการโรงแรมก็เหมือนงานประติมากรรมที่เราสร้างขึ้น และเราก็ทุ่มเวลาให้กับโครงการเหล่านี้โดยไม่เสียดาย” เขาอธิบาย
ท่ามกลางการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ยุคใหม่ที่มุ่งเน้นแต่โครงการขนาดใหญ่ ทั้งคอนโดสูงห้างเมกะคอมเพล็กซ์ หรือสำนักงาน ซึ่งกำลังเบียดบังอัตลักษณ์ของชุมชนทั้งในเมืองใหญ่และเมืองเล็กให้สูญไปมากขึ้นทุกที งานของวรพันธุ์ คล้ามไพบูลย์ และซูเปอร์กรีนสตูดิโอถือได้ว่าเป็นหนึ่งในเสียงเรียกดังชัดให้สังคมเกิดสติตระหนักถึงคุณค่าอันประเมินไม่ได้ของอาคารเก่าแก่ที่เก็บความจำและประวัติศาสตร์ของชุมชนไว้ตราบนานเท่านาน ■