HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

STATE OF THE ARTS


Art on Skin

‘การสัก’ ศิลปะบนเรือนร่างที่กำลังท้าทายความเชื่อเดิมของสังคมจากความประณีต ความทุ่มเท และหัวใจของผู้รักในการสักศิลปะเพื่อถ่ายทอดตัวตน

ท่ามกลางความวุ่นวายของถนนสุขุมวิทที่เต็มไปด้วยคนขับรถใจร้อน มอเตอร์ไซค์ที่วิ่งเลาะบนบาทวิถีเพื่อเลี่ยงการจราจรที่ติดขัด และคนเดินเท้าที่ต้องฝ่าความโกลาหลเหล่านี้ทุกๆ วัน ตรงมุมหนึ่งใต้เงาของสถานีรถไฟฟ้าพร้อมพงษ์ มีป้ายสีแดงสดพร้อมตัวอักษรสีดำใหญ่หนาเขียนว่า All Day Tattoo

หากมองลอดกระจกใสเข้าไปภายใน ภาพที่เห็นอาจชวนให้บางคนรู้สึกกลัวอยู่ลึกๆ เพราะร้าน All Day Tattoo คือศูนย์รวมคนรักรอยสักที่มารอรับการสักหรือไม่ก็คือช่างที่มาให้บริการสักแก่ผู้สนใจตลอด 7 วันทำการของสัปดาห์ บางคนในร้านมองเห็นได้ชัดเจนว่ามีรอยสักที่ไล่ยาวจากลำคอขึ้นไปถึงแนวกรามซึ่งถ้าเป็นพนักงานออฟฟิศทั่วไปคงไม่กล้าสักไปทำงานแน่

แม้ภาพจากภายนอกจะดู ‘นอกกระแส’ ไปบ้างเพราะรอยสักหลากหลายของผู้คนที่ผ่านเข้าออก บรรยากาศภายในร้านกลับให้ความรู้สึกตรงกันข้าม เมื่อเปิดประตูกระจกใสเข้าไปภายใน พนักงานของร้านจะหันหน้ามาต้อนรับแขกทุกคนด้วยรอยยิ้มสดใสเป็นกันเอง ไม่ว่าลูกค้ารายนั้นจะยังลังเล หรือกล้าๆ กลัวๆ ที่จะรับการสักหรือไม่ก็ตาม

ภายในร้าน นอกจากช่างสักที่กำลังจับเข็มแหลมลงบนเนื้อหนังของผู้มาใช้บริการแล้ว พนักงานอีกหลายคนก็ง่วนกับการออกแบบลายสักให้ตรงตามลูกค้าสั่ง ขณะที่อีกส่วนนั่งจับเข่าพูดคุยอย่างผ่อนคลายกับเพื่อนร่วมงานหลังเพิ่งเสร็จงานสักให้ลูกค้า ซึ่งบางรายอาจใช้เวลาสักนานหลายชั่วโมงกว่าจะเสร็จสิ้น

บรรยากาศอบอุ่นและเป็นกันเองของร้านไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ หากแต่เป็นความตั้งใจ หลายทศวรรษที่ผ่านมา การสร้างสรรค์ศิลปะลงบนร่างกายอย่างถาวรที่เรียกว่า ‘การสัก’ ทั้งถูกวิพากษ์วิจารณ์และถูกมองในแง่ลบโดยเฉพาะในเมืองไทย ที่คนไม่น้อยยังเห็นว่ารอยสักเป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงนักโทษหรืออันธพาล ซึ่งเป็นความเชื่อที่ปรากฎแม้ในสังคมอเมริกัน อย่างน้อยก็ในช่วงยุคหกศูนย์

หลายทศวรรษที่ผ่านมา การสร้างสรรค์ศิลปะลงบนร่างกายอย่างถาวรที่เรียกว่า ‘การสัก’ ทั้งถูกวิพากษ์วิจารณ์และถูกมองในแง่ลบ โดยเฉพาะในเมืองไทยที่คนไม่น้อยยังเห็นว่ารอยสักเป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงนักโทษหรืออันธพาล ซึ่งเป็นความเชื่อที่ปรากฎแม้ในสังคมอเมริกัน อย่างน้อยก็ในช่วงยุคหกศูนย์

ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา คนในวงการรอยสักต้องสู้ไม่น้อยเพื่อให้สังคมไทยยอมรับทั้งรอยสัก คนที่สัก และศิลปินช่างสัก กระทั่งถึงวันนี้ ศิลปินช่างสักรุ่นใหม่ๆ สามารถแสดงผลงานสักของตนให้สังคมเห็นมากขึ้นกว่าแต่ก่อน ผลงานของแต่ละคนยังสะท้อนถึงอิทธิพลการสักจากหลายพื้นที่ในโลก ซึ่งต้องยกความดีความชอบให้กับอิทธิพลของโซเชียลมีเดีย เช่น ยูทูบ หรือพินเทอเรสต์ ยิ่งกว่านั้น ผู้คนที่ชื่นชอบในรอยสักและภาคภูมิใจกับรอยสักของตัวเองก็มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นจนลายสักดูไม่ใช่ของแปลกปลอมอีกต่อไป คนดังจากหลากหลายวงการ เช่น แพรว-วทานิกา ดา-เอ็นโดรฟิน ลูกเกด-เมธินี ชาริล ชับปุยส์ หรือคู่รักแทน-อติชาต และกระจิ๊บ-สุธยา ลี ล้วนแล้วแต่มีรอยสักเป็นหนึ่งในซิกเนเจอร์ที่คนจดจำทั้งสิ้น

สำหรับประเทศไทย รอยสักอยู่คู่กับประวัติศาสตร์มานานในรูปแบบของการสักยันต์ที่เชื่อว่ามีผลในทางป้องกันภัย แต่นอกจากนั้นแล้ว ยังมีลายสักที่ให้ผลเฉพาะทางอื่นๆ อีกหลายประเภท เช่น ทำให้คนรักคนหลง หรือทำให้ธุรกิจเจริญก้าวหน้า โดยทุกวันนี้ลายที่ดูจะได้รับความนิยมมากที่สุดคือ ‘ยันต์ห้าแถว’ ซึ่งว่ากันว่า แต่ละแถวมุ่งหมายให้ผลดีแก่ชีวิตในมิติต่างๆกัน ได้แก่ แถวที่ 1 แก้ฮวงจุ้ย แถวที่ 2 แก้ดวงตกหรือแก้ปีชง แถวที่ 3 ป้องกันคุณไสย แถวที่ 4 ส่งเสริมโชคลาภและธุรกิจการงาน และแถวที่ 5 เมตตามหาเสน่ห์กับผู้คน

ชาวต่างชาติอีกไม่น้อยยังจดจำลายสักยันต์ของไทยได้จาก ‘การสักตัวแบบแทงมือ’ (Thai Bamboo Tattoo) ซึ่งเป็นหนึ่งในรูปแบบการสักลายแบบดั้งเดิมของไทยที่ใช้ไม้ไผ่เหลาแทงลงไปเป็นรอยสัก และยังเป็นวิธีการสักแบบเดียวกับที่แองเจลินา โจลี นักแสดงชาวอเมริกันชื่อดังเคยบินมารับการสักกับอาจารย์หนู กันภัย อาจารย์สักยันต์ชื่อดังจนกลายเป็นข่าวไปทั่วโลก

“สุดท้ายแล้วมันเป็นเรื่องความเชื่อของแต่ละคน ถ้าสักแล้วทำให้เรารู้สึกดีจากภายใน การสักก็ไม่ได้มีผลร้ายอะไร” วงษ์รพี ศิลปะพงษ์ ศิลปินช่างสักชื่อดังที่มีร้านอยู่ในกรุงเทพฯ กล่าว

รอยสักที่มาจากความรู้สึกลึกๆ ในใจของเราและความทรงจำไม่จำเป็นจะต้องเป็นความทรงจำที่ดีเสมอไป การที่เราเติบโตขึ้นและเริ่มไม่อินกับลายที่เคยสักไว้เมื่อหลายปีก่อน ก็เป็นเรื่องธรรมดา เพราะไม่ว่าอย่างไร มันก็ยังมีความหมายสำหรับเรา หรือไม่ก็ชอบแค่เพราะชอบ ไม่ต้องมีเหตุผลอะไรมากกว่านั้น

วงษ์รพีคือหนึ่งในตัวอย่างของช่างสักที่มีความสามารถในการประยุกต์วัฒนธรรมการสักจากทั่วโลกเข้ามาผสมผสานกับการเขียนยันต์ของไทยจนเกิดลวดลายรอยสักเป็นเอกลักษณ์ โดยตัวเขาคือลูกศิษย์หนึ่งเดียวที่ได้รับการถ่ายทอดความรู้เรื่องการเขียนยันต์โดยตรงจากอาจารย์ไพโรจน์ รื่นวิชา หนึ่งในปรมาจารย์ด้านการเขียนยันต์ที่มีชื่อเสียงของไทย

อย่างไรก็ดี แม้แรงบันดาลใจทางวัฒนธรรมและจิตวิญญาณจะอยู่เบื้องหลังงานของวงษ์รพี แต่เขาก็ยอมรับว่า รากเหง้าด้านจิตวิญญาณของรอยสักไม่ใช่เรื่องที่ลูกค้าสนใจนักในปัจจุบัน

“ความจริงคือ นักท่องเที่ยวต่างชาติมักไม่รู้ประวัติของการสักยันต์ แต่เราเห็นว่าถ้าลูกค้ามีความสุข ตัวเรามีความสุข และงานของเราไม่ได้กระทบความรู้สึกใครแบบการสักลายพญานาคไว้ที่ขาหรือที่เท้า เราก็ไม่ติดที่จะทำให้ เพราะสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแล้ว การสักในเมืองไทยก็เหมือนกับซื้อของที่ระลึกกลับบ้านไปด้วย” วงษ์รพีแสดงความเห็น

ในกรุงเทพฯ หนึ่งในศิลปินช่างสักที่มีลูกค้าอยากสักด้วยมากที่สุดคือ ลุค ซาโตรุ ศิลปินเชื้อสายไทย-ญี่ปุ่น-อเมริกัน ที่จบจากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก และเป็นผู้อยู่เบื้องหลังร้านสักชื่อดังอย่าง Black Pig Tattoo สำหรับเขาแล้ว การสักยันต์เป็นเรื่องที่อยู่นอกขอบเขตวิชาชีพของเขาเวลาเจอลูกค้าที่เป็นนักท่องเที่ยวและชาวต่างชาติโดยทั่วไปมาขอให้สักยันต์

“สมัยที่เริ่มทำอาชีพนี้แล้วเจอนักท่องเที่ยวมาขอให้สักยันต์ ผมก็ทำให้ แต่หลังจากมีเพื่อนพาไปตามวัดต่างๆ ทำให้ผมเห็นความเชื่อมโยงระหว่างเรื่องราวทางจิตวิญญาณกับ ‘พลัง’ ทางวัฒนธรรมที่เข้มข้นในเรื่องของการสัก ความรู้สึกที่เกิดขึ้นทำให้ผมเลิกสักยันต์ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา” ซาโตรุท้าวความถึงเหตุผลที่ทำให้เลิกยุ่งเกี่ยวกับการสักยันต์

อย่างไรก็ดี ซาโตรุไม่ได้หมายความว่าลายที่เขาออกแบบนั้นจะไม่มีแรงบันดาลใจมาจากการสักยันต์ เพียงแต่เขาแสดงจุดยืนว่าจะไม่สักลายที่เชื่อกันว่าเป็นการลงอาคมรวมอยู่ในงานของเขา ทุกวันนี้ ถ้ามีลูกค้าถามเขาเกี่ยวกับลายสักยันต์ เขาจะแนะนำลูกค้าให้ไปหาอาจารย์ต่างๆ ที่รับสักด้านนี้โดยเฉพาะแทน

“ถ้าเขาอยากได้แบบนั้น ผมจะบอกให้เขาไปทำกับอาจารย์ที่สักยันต์ด้านนี้และทำพิธีอย่างถูกต้อง ดีกว่าเดินไปเข้าร้านสักถัดไปแล้วได้ยันต์แบบปลอมๆ มาแทน” ซาโตรุกล่าว

‘ความหมาย’ ของรอยสักแต่ละแบบเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ยังมีการถกเถียงในโลกของการสัก ซึ่งไม่ได้เกิดแค่กับรอยสักที่เชื่อมโยงวัฒนธรรมกับความเชื่อทางจิตวิญญาณเข้าด้วยกันอย่างการสักยันต์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงรอยสักเพื่อความสวยงามซึ่งเป็นงานสักส่วนใหญ่

โดยปกติ เนื่องจากการสักเป็นศิลปะที่จะอยู่กับร่างกายอย่างถาวร ลูกค้าจำนวนมากมักเกิดความรู้สึกอยากได้ลายที่มีความพิเศษบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นข้อความที่มีความหมายกับตัวเอง สัญลักษณ์ของเหตุการณ์สำคัญในชีวิต หรือรูประลึกถึงสิ่งรัก อย่างไรก็ดี มีช่างสักและลูกค้ามากขึ้นเรื่อยๆ ที่มองว่าการมีรอยสักบนเรือนร่างไม่จำเป็นต้องมีความหมายอะไรเลยก็ได้ นอกจากการเป็น ‘ศิลปะ’

“รอยสักไม่จำเป็นจะต้องมีความหมายลึกซึ้งเสมอไป ถ้าคุณชอบลายไหน คุณก็แค่สักลายนั้น” คือความเห็นของ ณัฐกุล ทองเชื้อ ศิลปินสาววัย 25 ปี แห่ง Ferder Blue เจ้าของบริการงานสักที่รับเฉพาะลูกค้าที่จองคิวล่วงหน้าเท่านั้น ณัฐกุลชำนาญในการออกแบบลายที่เซอร์เรียลหรือมีความเป็นการ์ตูนปนอยู่ ลายสักสไตล์เซอร์เรียลนั้นมักเกี่ยวข้องกับไอคอนด้านป๊อปคัลเจอร์ในช่วงเวลานั้นๆ โดยณัฐกุลเริ่มเส้นทางในการเป็นศิลปินช่างสักตั้งแต่อายุเพียง 17 ปี จากประสบการณ์ที่ผ่านมา เธอบอกว่า ความกังวลของลูกค้าว่าจะชอบรอยสักนั้นตลอดไปไหมเป็นส่วนหนึ่งของการสักอยู่แล้ว

“รอยสักที่มาจากความรู้สึกลึกๆ ในใจของเราและความทรงจำไม่จำเป็นจะต้องเป็นความทรงจำที่ดีเสมอไป การที่เราเติบโตขึ้นและเริ่มไม่อินกับลายที่เคยสักไว้เมื่อหลายปีก่อน ก็เป็นเรื่องธรรมดา เพราะไม่ว่าอย่างไรมันก็ยังมีความหมายสำหรับเรา หรือไม่ก็ชอบแค่เพราะชอบ ไม่ต้องมีเหตุผลอะไรมากกว่านั้นก็ได้ มันเป็นร่องรอยของช่วงเวลาหนึ่งในชีวิตของเรา ซึ่งทุกๆ อย่างมีการเปลี่ยนแปลงตัวเราเองก็โตขึ้น ความคิดก็เปลี่ยน เพราะฉะนั้นมันเลยเป็นเรื่องธรรมดาที่วันหนึ่งเราจะเปลี่ยนความคิดที่มีต่อมัน” ณัฐกุลให้มุมมอง

ณัฐกุลยังเชื่ออีกว่า ถ้าจะทำให้วัฒนธรรมการสักเติบโตในเมืองไทยขึ้นไปอีก ต้องเริ่มจากการที่ลูกค้าและศิลปินช่างสักเชื่อว่าการสัก คืองานศิลปะอีกรูปแบบหนึ่ง

“ในอดีต ลูกค้ามองว่าช่างสักคือคนที่ทำงานตามหน้าที่ ทำงานออกมาให้ตรงตามแบบที่ลูกค้าบอกเท่านั้น แต่สำหรับยุคนี้ ศิลปินช่างสักหลายคนพยายามค้นหาและสร้างสไตล์ที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง ไม่ใช่แค่ดูแล้วลอกแบบตามหนังสือ ขณะที่ลูกค้าก็ยินดีให้ช่างสักมีอิสระในการออกแบบลายตามที่เห็นว่าดีมากกว่าจะดูลายที่มีให้เลือกแล้วชี้บอกว่า ‘ฉันอยากได้แบบนี้’”

ซาโตรุเห็นด้วยกับเรื่องนี้ เขากล่าวว่า “ผมอยากเห็นศิลปินช่างสักในไทยมีสไตล์ของตัวเองมากขึ้น ผมเห็นศิลปินรุ่นใหม่หลายคนมีผลงานสักที่ดูคล้ายกับงานของพวกศิลปินจากแคลิฟอร์เนีย ทั้งที่จริงๆ แล้วผมอยากเห็นลายสักที่มองแล้วรู้ทันทีว่าเป็นงานของใคร”

นอกจากนี้ ในมุมของช่างสักก็ดี หรือในมุมของลูกค้าที่มารับการสักก็ดี การหลีกเลี่ยงไม่พูดถึงความเห็นที่แตกต่างระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ที่มีต่อรอยสักก็หมายถึงการเลือกมองข้ามข้อเท็จจริงที่วงการสักยังต้องรับมือในเรื่องนี้ จิอัน ลูก้า โทเนลโล ครีเอทีฟไดเรกเตอร์ของ All Day Tattoo กล่าวว่า เป็นเรื่องปกติมากที่จะมีลูกค้าเดินเข้าร้านมาแล้วบอกว่าอยากสักถึงแม้ว่าพ่อแม่จะไม่เห็นด้วยก็ตาม

“เรื่องความคิดที่แตกต่างระหว่างคนสองรุ่นเป็นเรื่องธรรมดา เรื่องนี้ไม่ได้มีแค่ในไทย คือแทนที่จะมองว่าเวลานี้รอยสักเป็นอย่างไรแล้วคนยุคเก่าเขายังไม่เปลี่ยนมุมมอง พวกเขายังเห็นว่ารอยสักมันสื่อหรือเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมย่อยบางอย่างอยู่” โทเนลโลกล่าว

อย่างไรก็ดี เวลาที่เปลี่ยนผ่านก็นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงในทัศนคติของคน โทเนลโลเล่าต่อว่า ลูกค้าอีกกลุ่มหนึ่งของ All Day Tattoo คือลูกค้าที่อายุ 50 ปีขึ้นไป ซึ่งมีจำนวนมากที่สุด ตัวเขายังเชื่อว่า วิวัฒนาการของลายสักในเมืองไทยมีบทบาทสำคัญทำให้คนมองการสักเปลี่ยนไป เช่นเดียวกับวงษ์รพีผู้ใช้งานของตัวเองทลายเส้นแบ่งระหว่างงานสักแบบดั้งเดิมกับสมัยใหม่ก็เห็นว่า การเกิดลายสักรูปแบบใหม่ๆ ที่น่ารักช่วยลดทอนภาพลักษณ์ของรอยสักที่ต้องดู ‘โหดๆ’ เท่านั้นลงไปได้

“ทุกวันนี้ ถ้าดูในอินสตาแกรม ร้านสักหลายร้านดูเหมือนร้านเค้กด้วยซ้ำ เพราะมีสีสันน่ารักมาก ที่ผ่านมายังไม่เคยได้ยินลูกค้ามาบอกว่า กังวลว่าจะทำให้พ่อแม่โกรธเพราะไปสักมา โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ปัญหาจริงๆ ไม่ได้อยู่ที่คนสัก เพราะคนที่สักไม่ผิดหรอก แต่คนที่ผิดคือคนที่มาก้าวก่ายต่างหาก” วงษ์รพีเล่า

ส่วนณัฐกุลจาก Ferder Blue บอกว่าเธอสักให้ลูกค้ามาแล้วทุกแนว รวมถึงคนที่เป็นแพทย์และครูอาจารย์ด้วย

“ท้ายที่สุดมันก็อยู่ที่พฤติกรรมและการวางตัว มันไม่มีอะไรที่ยกระดับตัวตนของเราได้ดีไปกว่าพฤติกรรมของเราเอง ไม่ว่าคุณจะมีรอยสักหรือไม่ก็ตาม คุณต้องมีทัศนคติที่ดีก่อน” ณัฐกุล กล่าวอย่างหนักแน่น

“คือเราปฏิเสธไม่ได้ว่า รอยสักมันยังมีแง่มุมของโลกยุคเก่าอยู่ แต่ขณะเดียวกันรอยสักก็เป็นวัฒนธรรมที่กำลังเติบโต โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เลือกจะทำงาน เรียนรู้ และมองการสักในมุมที่ต่างออกไป ตอนนี้ในสังคมก็มีคนที่ยอมรับและเห็นว่าการสักเป็นการแสดงออกถึงตัวตนของคนที่สักมากขึ้น และก็เริ่มเห็นว่าการสักมันไม่ได้เกี่ยวอะไรกับความเป็นกบฏต่อสังคมเลย” โทเนลโลชี้ถึงความเปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปในมุมมองที่สังคมมีต่อการสัก

ถึงอย่างนั้น โทเนลโลซึ่งเพิ่งผ่านวันเกิดครบ 40 ปี ไปได้ไม่นาน ยอมรับว่า แม้แต่แม่ของเขาซึ่งอายุ 60 กว่ายังคงรู้สึกว่า “ยอมรับได้ยากเวลาที่เห็นลูกสักลายใหม่เพิ่ม”

เช่นเดียวกับซาโตรุในวัย 40 กว่า และมีรอยสักทั่วตัวเปิดใจว่า “แม่ตามอินสตาแกรม แล้วก็ยังโกรธทุกครั้งที่เราสักลายใหม่ๆ”

ประสบการณ์จากคนใกล้ตัวของโทเนลโลและซาโตรุสื่อว่าการเปลี่ยนความคิดของคนรุ่นเก่าที่มีต่อลายสักคงเป็นเรื่องยาก แต่อย่างน้อยการพัฒนาศิลปะของรอยสักอยู่เสมอก็อาจทำให้สังคมมองรอยสักเปลี่ยนไป ผลงานของศิลปินรุ่นใหม่ๆ ที่เบนเข็มเข้าหากระแสโลกและหลุดจากกรอบคิดทางวัฒนธรรมเดิมอาจเป็นกุญเเจที่จะช่วยให้การสักพัฒนาไปเป็นศิลปะกระแสหลักที่ไม่เพียงจะไม่ถูกปัดตกขอบ แต่ยังเป็นพื้นที่ให้ศิลปินช่างสักได้จารึกสไตล์ของตนอย่างภาคภูมิ