SECTION
ABOUTECONOMIC REVIEW
เศรษฐกิจไทย: สร้างใหม่อย่างไรดี
ฉบับนี้ ผมหยิบยืมหัวข้องานสัมมนา ‘This is the End of the Line: สถานีต่อไปของเศรษฐกิจไทยสร้างใหม่อย่างไรดี’ ของ KKP เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2565 มาขยายความต่อไปอีก เพราะเป็นการสะท้อนความเห็นและความรู้สึกที่แพร่หลายว่าเศรษฐกิจไทยนั้นไม่ได้พัฒนาหรือเจริญขึ้นตามที่หลายคนคาดหวังไว้ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา การที่จีดีพีขยายตัวอย่างเชื่องช้า ลุ่มๆ ดอนๆ ทำให้เป็นห่วงอย่างยิ่งว่าอนาคตของเศรษฐกิจไทยจะค่อนข้างมืดมนดังนั้น จึงต้องพยายามตอบคำถามว่าเราจะ 'สร้างใหม่อย่างไรดี'
ผมขอช่วยหาคำตอบโดยใช้วิชาการทางเศรษฐศาสตร์ซึ่งเป็นศาสตร์ที่ริเริ่มขึ้นมาเกือบ 250 ปีที่แล้ว เพื่อแก้ไขปัญหาความขาดแคลน (scarcity) แปลว่าจะทำอย่างไรให้สามารถใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้ได้มาซึ่งผลผลิตสูงสุดเพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ที่มีมากอย่างที่ไม่มีที่สิ้นสุด (unlimited wants) ตรงนี้บางคนอาจจะเถียงว่ามนุษย์ควรจำกัดความต้องการ ซึ่งก็เคยมีการนำเสนอแนวคิด เช่นว่านี้ เช่น หนังสือของ E.F. Schumacher ชื่อ 'Small is Beautiful' ที่เขียนขึ้นเมื่อปี 1973 แต่เวลาผ่านมาแล้วเกือบ 50 ปี คนส่วนใหญ่ในโลก ก็ยังต้องการจีดีพีที่เพิ่มขึ้นมากกว่าจะยึดกับแนวคิด Small is Beautiful
กล่าวคือ เราต้องการเห็นจีดีพีหรือผลผลิตของประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องไปพร้อมกับการทำให้ความเหลื่อมล้ำลดลงไปด้วย ดังนั้นคำถามคือเราจะสามารถสร้างเศรษฐกิจไทยให้ได้มาซึ่งวัตถุประสงค์ดังกล่าวได้อย่างไร
คำตอบขั้นพื้นฐานคือต้องมุ่งเน้นการสร้าง Supply (อุปทาน) ไม่ใช่การกระตุ้น Demand (อุปสงค์) ตรงนี้อาจเห็นว่าเป็นเรื่องพื้นๆ ที่ไม่ต้องบอกก็รู้กันอยู่แล้ว แต่ผมเห็นบ่อยครั้งว่าเวลาพูดถึงการพลิกฟื้นเศรษฐกิจนั้นจะกล่าวถึงเครื่องยนต์ 4 เครื่องของเศรษฐกิจคือ การบริโภค การส่งออก การใช้จ่ายของรัฐ และการลงทุนซึ่งเป็นการมองปัญหาในเชิงอุปสงค์ทั้งสิ้น แม้ว่าการลงทุนนั้นที่จริงแล้วสำคัญที่สุด ไม่ใช่เพราะช่วยกระตุ้นอุปสงค์ในระยะสั้นอย่างเดียว แต่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างกำลังการผลิตทำให้เศรษฐกิจขยายตัวใหญ่โตยิ่งขึ้นในอนาคต ตรงกันข้าม การบริหารจัดการอุปสงค์นั้นคือวิชาเศรษฐศาสตร์มหภาค (macroeconomics) ที่กำเนิดขึ้นไม่นานมานี้ คือไม่ถึง 90 ปี ที่ผ่านมาเพื่อแก้ปัญหาระยะสั้น ไม่ใช่เพื่อตอบปัญหาการสร้างเศรษฐกิจในระยะยาว
เวลาพูดถึงการพลิกฟื้นเศรษฐกิจนั้นจะกล่าวถึงเครื่องยนต์ 4 เครื่อง คือ การบริโภค การส่งออก การใช้จ่ายของรัฐ และการลงทุน ซึ่งเป็นการมองปัญหาในเชิงอุปสงค์ทั้งสิ้นแต่ตอนที่ผมเรียนวิชา Economic Growth เพื่อศึกษาการขยายตัวของเศรษฐกิจในอดีต เราจะเห็นอย่างถ่องแท้ว่าปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจเจริญเติบโตและขยายตัวต่อเนื่องต้องเป็นปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับอุปทานทั้งสิ้น
ตอนที่ผมเรียนวิชา Economic Growth เพื่อศึกษาการขยายตัวของเศรษฐกิจในอดีต โดยวิเคราะห์การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาวเป็น 100-200 ปีนั้น เราจะเห็นอย่างถ่องแท้ว่าปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจเจริญเติบโตและขยายตัวอย่างต่อเนื่องนั้น จะต้องเป็นปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับอุปทานทั้งสิ้น เพราะเรารู้ตั้งแต่ต้นแล้วว่าอุปสงค์มีอยู่มากเกินกว่าที่จะผลิตสินค้าและบริการมาตอบสนองอยู่เสมอ
บางคนอาจแย้งว่าไม่จริงเพราะหลายกรณีก็เห็นการผลิตสินค้าล้นตลาด ซึ่งกรณีดังกล่าวเกิดขึ้นได้ในระยะสั้นและเมื่อราคาตกต่ำก็จะเป็นแรงจูงใจให้ลดการผลิตลงไปเอง แต่ที่สำคัญคือ เวลาพูดถึงความสำคัญของการกระตุ้นอุปสงค์นั้น ที่จริงแล้วผู้พูดหมายถึง Effective Demand หรือกำลังซื้อที่มีอยู่จริง แต่กำลังซื้อที่มีอยู่จริงต้องมาจากเจ้าของทรัพยากรที่ทำให้ได้รับผลตอบแทน (รายได้) หรือได้รับเงินมาจากรัฐบาล (เช่น คนละครึ่ง) แต่เงินที่ได้มาจากรัฐบาลนั้นเป็นเงินรายได้ของประชาชนคนอื่นที่รัฐบาลไปเก็บภาษีมา ไม่ว่าจะเป็นคนอื่นในปัจจุบันหรือลูกหลานของเราในอนาคตที่รัฐบาลจะเก็บภาษีมาใช้หนี้ที่ได้สร้างขึ้นในวันนี้
ดังนั้นการสร้างเศรษฐกิจคือการสร้างและพัฒนาปัจจัยด้านอุปทานซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 5 ปัจจัยคือ
- แรงงาน
- ที่ดิน
- พลังงาน
- เงินลงทุน
- เทคโนโลยี
หากพิจารณาสภาวการณ์ของไทยในปัจจุบันก็พอประเมินได้ว่าแรงงานไทยมีแต่จะขาดแคลนมากขึ้น ดังนั้ หากต้องการเพิ่มปริมาณแรงงานก็ต้องนำเข้าแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างมีระบบ ไม่ให้ต้องมีนอกมีในและมีผลประโยชน์แอบแฝงเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ส่วนที่ดินนั้นก็มีอย่างจำกัดเช่นกัน เว้นแต่จะพัฒนาคุณภาพของดินซึ่งก็ต้องใช้เงินทุนและเทคโนโลยี ในทำนองเดียวกันประเทศไทยก็กำลังจะขาดแคลนพลังงานเพราะราคาพลังงานทั่วโลกน่าจะอยู่ที่ระดับสูงต่อไปอีกหลายปี ขณะที่ปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยก็กำลังลดเหลือน้อยลงทุกปี ทำให้ปริมาณการผลิตต้องลดลงเช่นกัน
ดังนั้นเศรษฐกิจไทยจะสร้างขึ้นมาใหม่อย่างไรนั้น คำตอบคือจะต้องสร้างด้วยการลงทุนและเทคโนโลยี ทั้งนี้รวมถึงการพัฒนาการศึกษาและสร้างบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถซึ่งเป็นการลงทุนในมนุษย์ที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่าเป็น Human Capital ซึ่งเป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงและมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ตลอดมา
เศรษฐกิจไทยจะสร้างขึ้นมาใหม่อย่างไรนั้น คำตอบคือต้องสร้างด้วยการลงทุนและเทคโนโลยีรวมถึงการพัฒนาการศึกษา และสร้างบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ ซึ่งเป็นการลงทุนที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า Human Capital
การลงทุนมีความเสี่ยง ดังนั้นการระดมทุนจึงต้องอาศัยความกล้าได้-กล้าเสียและความสามารถของผู้ประกอบการที่พร้อมเสี่ยงทุ่มเททรัพยากรในปัจจุบันเพื่อหวังผลกำไรในอนาคตที่สำคัญคือส่วนใหญ่จะนำเอาแนวคิดและเทคโนโลยีใหม่ๆ มาพัฒนาเป็นสินค้าและบริการ เหมือนที่สตีฟ จ้อบส์คิดค้นและผลิต iPhone ดังนั้นเงินทุนกับเทคโนโลยีจึงมักจะไปด้วยกัน และงานวิจัยในอดีตมีข้อสรุปอย่างแน่วแน่ว่า ปัจจัยหลักที่นำมาซึ่งการพัฒนาของเศรษฐกิจในช่วง 200-300 ปีที่ผ่านมาคือเทคโนโลยีและเงินทุน
ประเด็นที่ตามมาคือการระดมทุนและเทคโนโลยีนั้นจะทำอย่างไรจึงจะมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด ซึ่งในอดีตนั้นก็จะมองไปที่ระบบทุนนิยม คือต้องอาศัยทุนเป็นตัวขับเคลื่อนโดยให้ทุนนั้นถูกกำกับและจัดสรรโดยกลไกตลาดเสรี (free market-based capitalism) ตรงนี้ แปลว่าควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของตลาดเงินและตลาดทุนโดยรัฐยอมให้ภาคเอกชนเก็บกำไรที่ทำได้เอาไว้ไม่ใช่พยายามควบคุมราคาสินค้าและบริการ (ซึ่งลดกำไร) หรือเก็บภาษีในอัตราที่สูงจนการลงทุนไม่คุ้มค่า
แต่ความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดดในช่วง 40 ปีที่ผ่านมาของจีนทำให้บางคนอาจมองว่าระบบทุนนิยมที่ได้รับการบงการจากรัฐ (state-led capitalism) อาจมีประสิทธิผลมากกว่าโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีความชัดเจนว่าบางอุตสาหกรรมนั้นจะเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญยิ่งในการพัฒนาความเป็นหนึ่งทางเศรษฐกิจในอีก 20-30 ปีข้างหน้า ได้แก่ semi-conductor robotics และ artificial intelligence ซึ่งบางคนอาจมองว่าการได้แรงสนับสนุน การกำกับดูแล และการชี้นำจากภาครัฐจะทำให้ได้เปรียบกว่าการพึ่งพากลไกตลาดเสรี
ผมไม่ได้หมายความว่าการสร้างเศรษฐกิจไทยใหม่นั้นเราจะต้องไปเป็นเจ้าของเทคโนโลยีดังกล่าว แต่ควรให้ความสำคัญกับการลงทุนเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีหรือใช้เทคโนโลยีให้ได้ผลตอบแทนสูงสุด โดยจะต้องเลือกว่าประเทศไทยจะพัฒนาไปในทิศทางใด ซึ่งเราอาจมองอย่าง กว้างๆ ว่าอยากจะพัฒนาเชิงอุตสาหกรรมต่อไป (เช่น เป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ EV) หรือจะเปลี่ยนมาให้ความสำคัญกับการบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูงกว่าการท่องเที่ยว เช่น การบริการด้านสุขภาพ และการผลิตอาหารออร์แกนิคกับอาหารสุขภาพอื่นๆ เป็นต้น ■