SECTION
ABOUTCLIENT VALUES
A Simple Plan
เรียนรู้เคล็ดลับชีวิตเรียบง่ายของกัญชริษา นครศรี ผู้ใช้ศิลปะของการสื่อสารและการเงินกำกับงานวิศวะอันซับซ้อนในฐานะรองประธานบริษัทบางกอกโซลาร์ พาวเวอร์
แม้ไม่ได้จบมาทางวิศวกรรมศาสตร์ แต่กัญชริษา นครศรี ไม่มีปัญหาในการบริหารองค์กรที่เต็มไปด้วยเหล่าวิศวกร และงานไฟฟ้าที่มีแต่เครื่องกลสลับซับซ้อน
ตรงกันข้าม บทบาทในฐานะรองประธานบริษัทบางกอกโซลาร์ พาวเวอร์ จำกัด เป็นโอกาสให้เธอได้ใช้ความสามารถด้านการเงินที่เรียนมาเข้าจัดการความเสี่ยงและรับมือความเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ทั้งในไทยและในโลกที่อาจส่งผลต่อธุรกิจขององค์กรได้ทุกเมื่อ ไม่ว่าจะเรื่องโรคระบาด หรือความขัดแย้งระหว่างประเทศ
ด้วยเส้นทางชีวิตที่ต้องก้าวเดินสู่พรมแดนอันไม่คุ้นเคยและต้องพลิกกระบวนท่ารับมืออยู่เสมอคนอาจนึกไม่ถึงว่ากัญชริษาผู้ชอบเรียกตนเองว่า ‘เก๋’ อย่างเป็นกันเองกลับมีมุมมองว่าชีวิตของตนนั้น ‘ราบเรียบ’ ตามแบบแผนที่วางไว้ ไม่เร้าใจเหมือนชีวิตของนักบริหารหลายคนที่ต้องคลุกคลานฝ่ามรสุมกว่าจะเข้าถึงความสำเร็จ
เด็กราชินี
เก๋มีพี่น้องสามคน มีพี่สาวคนโต และพี่ชายคนกลาง เก๋เป็นลูกสาวคนเล็ก คุณพ่อคุณแม่ทำธุรกิจ การเลี้ยงดูที่บ้านก็จะโอ๋ๆ หน่อย อยากได้อะไรก็ให้ ถ้าแม่ไม่ให้ คนอื่นก็ให้แทน สมัยเป็นเด็กก็เข้าเรียนที่โรงเรียนราชินีตรงปากคลองตลาด ภาพลักษณ์ของเด็กที่นี่คือเรียบร้อย ตอนแรกก็ไม่คิดว่าเราหรือเพื่อนเรียบร้อยเลย แต่พอเข้ามหาวิทยาลัย ได้เห็นคนหลากหลายถึงได้เห็นว่าโรงเรียนเราสอนให้คนเรียบร้อยจริง โรงเรียนไม่ได้เน้นสอนให้เรียนเก่ง แต่เน้นไปที่เรื่องความประพฤติดีมากกว่า อย่างคำขวัญของโรงเรียนที่ว่า ‘จงรักษาความดีประดุจเกลือรักษาความเค็ม’ ก็เป็นคำสอนที่มีผลต่อเก๋ในเรื่องการเลือกคบคนหรือการรับคนเข้าทำงาน ถ้ารับสมัครทีมงานใหม่ ถ้าผู้สมัครมีโปรไฟล์ดีเลิศใกล้เคียงกัน เก๋จะเลือกดูและรับคนที่มีนิสัยหรือจิตใจดีก่อน
หลังเรียนจบจากอเมริกา มาเริ่มงานครั้งแรกที่ BMW Finance เขาก็พอใจเพราะว่าเขาชอบคนที่กล้าคิดต่าง กล้าแสดงความคิดเห็น คืออย่างเจ้านายเก๋เป็นฝรั่งเขาถามไอเดียแล้วเรากล้าจะแสดงความเห็น จุดนี้สังคมไทยไม่กล้าที่จะคิดต่างกับเจ้านาย เก๋ยังเอามาสอนลูกน้องในทีมทุกวันนี้ว่า เวลาเสนองานอะไร ให้เอาที่ถูกต้องไม่ใช่ถูกใจ ไม่ต้องเสนองานเพื่อเอาใจเรา
จากวารสารฯ สู่ไฟแนนซ์
เก๋ไม่ใช่เด็กที่เรียนหนังสือเก่งอะไรนักสู้พี่สาวคนโตที่เรียนเก่งระดับเกียรตินิยมอันดับหนึ่งไม่ได้ ตอนเรียนจบชั้นมัธยมปลายที่โรงเรียนราชินี ความจริงเก๋เรียนสายวิทย์มา แต่ยอมรับนะว่าเรียนคำนวณไม่เก่งเลย ก็เลยมาเข้าคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เขาว่าเป็นคณะผู้หญิงสวย ต้องเข้าให้ได้นะ (หัวเราะ) ทีนี้ ตอนเรียนจบมันตรงกับช่วงที่เกิดวิกฤตต้มยำกุ้งพอดี (ปี 1997) เก๋เห็นบริษัทไฟแนนซ์ล้มหรือปิดตัวเยอะมาก ก็คิดว่าเราน่าจะเรียนต่อทางด้านไฟแนนซ์ เพราะต่อไปความต้องการน่าจะมีมากขึ้นจากวิกฤต ก็เลยตัดสินใจไปเรียนต่อปริญญาโทด้านไฟแนนซ์ที่ University of San Francisco แต่ก่อนไปเก๋ก็หมั้นกับแฟน (ดร.ทิศพล นครศรี) ก่อนแล้วค่อยบินไปเรียนต่อด้วยกันที่อเมริกา
รู้แลกความคิด
การเรียนในอเมริกาจุดเด่นคือเขาเปิดรับความคิดของเราอยู่เสมอ นักเรียนมีสิทธิ์ยกมือเพื่อบอกว่ากำลังคิดอะไรหรือคิดต่างอย่างไรแล้วผู้สอนก็ยินดีรับฟัง การศึกษาในอเมริกาช่วยเปิดโอกาสให้เราคิดเห็นในจุดที่แตกต่าง การเรียนของเขาจะเป็นการเรียนแบบ active เขาจะให้หัวข้อมาแล้วนักศึกษาจะต้องไปทำการบ้านมาก่อนเพื่อที่จะมาแชร์ความคิดเห็นในหัวข้อนั้น เป็นการสอนแบบที่จะทำให้เราเห็นมุมมองในเรื่องเดียวกันจากหลายมุมบางครั้งวัฒนธรรมที่ต่างกันก็มีมุมมองที่แตกต่างกัน และผู้สอนก็จะยินดีเสมอเมื่อความคิดเห็นของผู้เรียนแตกต่างไปจากของเขา
หน้าที่หลักคือการป้องกันความเสี่ยงให้บริษัท เช่น เรื่องต้นทุน สมมุติดอลลาร์กำลังแข็งค่าขึ้น เราก็ต้องพิจารณาว่าต่อไปเงินจะแข็งค่าขึ้นหรืออ่อนลง เก๋ใช้วิธีโทรปรึกษากับผู้รู้ แล้วรวบรวมข้อมูลเพื่อดูว่าบทวิเคราะห์ชุดไหนเป็นไปได้มากที่สุด
ยึดถูกต้อง ไม่เอาถูกใจ
หลังเรียนจบจากอเมริกา เก๋มาเริ่มงานครั้งแรกที่ BMW Finance ในไทยเมื่อปี 2001 ความจริงตอนนั้นหลังเรียนจบปริญญาโทเก๋สมัครงานธนาคารในอเมริกาไว้หลายแห่ง เผอิญเกิดเหตุการณ์ก่อวินาศกรรม 9/11 ด้วยความตกใจก็บินกลับบ้านเลย แล้วทางบีเอ็มดับเบิลยูเขาเพิ่งตั้งบริษัทไฟแนนซ์ เก๋ก็เข้ามาสมัครได้เป็นพนักงานคนที่ 3 ของบริษัท ตอนนั้นเราได้รับการ ‘โปรแกรม’ มาใหม่จากซานฟรานซิสโกแล้ว มีระบบความคิดใหม่แล้ว พอมาทำงานในบริษัทต่างชาติที่ BMW Finance เขาก็พอใจเพราะว่าเขาชอบคนที่กล้าคิดต่าง กล้าแสดงความคิดเห็น คืออย่างเจ้านายเก๋เป็นฝรั่ง เขาถามไอเดียแล้วเรากล้าจะแสดงความเห็นว่า “อันนี้เราไม่เห็นด้วยกับคุณนะ” จุดนี้สังคมไทยไม่กล้าที่จะคิดต่างกับเจ้านาย เก๋ยังเอามาสอนลูกน้องในทีมทุกวันนี้ว่า เวลาเสนองานอะไร ให้เอาที่ถูกต้อง ไม่ใช่ถูกใจ ไม่ต้องเสนองานเพื่อเอาใจเรา
วางผ้าอ้อมจับปากกา
ทำงานที่แรกได้สักพัก เก๋ก็แต่งงานแล้วตามแฟนไปอยู่อเมริกาช่วงหนึ่งเพราะเขาไปเรียนต่อปริญญาเอก แล้วก็มีลูกด้วยกันที่อเมริกา หลังจากแฟนเรียนจบปริญญาเอกพวกเรากลับมาเมืองไทย เก๋ก็มาเป็นแม่บ้าน ยังไม่ได้เริ่มงานใหม่ โดยส่วนตัวเก๋แล้ว การเลี้ยงลูกยากกว่าทำงานมาก การเลี้ยงลูกเวลาที่มีอะไรไม่ได้ดั่งใจ มันมีเรื่องของหัวใจเข้าไปเกี่ยวข้อง เราจะมีความผิดหวังเสียใจ ตรงข้ามกับการทำงาน พอผลไม่ได้ตามเป้า เราก็ปรับกลยุทธ์เพื่อให้งานสำเร็จ ไม่มีการเอาเรื่องของหัวใจเข้าไปเกี่ยว พอลูกโตแล้ว ดูแลตัวเองได้บ้างแล้ว เก๋เลยคิดว่าจะกลับไปทำงานดีกว่า ตอนนั้นแฟนของเก๋เขาเริ่มทำบริษัทบางกอกโซลาร์แล้ว เรียกว่าเป็นหนึ่งในบริษัทที่บุกเบิกเรื่องโซลาร์ฟาร์มในไทย เก๋ถามเขาว่าทำไมมาทำโซลาร์ฟาร์ม เขาบอกกับเก๋ว่าธุรกิจที่เขาทำถึงนอนก็ยังได้เงิน เพราะดวงอาทิตย์ขึ้นทุกที่ในโลก ถึงตกในไทย เราก็ไปทำโซลาร์ฟาร์มที่ยุโรป ที่เยอรมนีได้ เราก็ยังได้เงินถึงไทยจะมืดค่ำแล้ว เก๋ฟังแล้วก็ชอบ ก็เลยกลับเข้ามาทำงานที่บางกอกโซลาร์ พาวเวอร์ ในตำแหน่งรองประธานบริษัท
การที่เราจะประสบความสำเร็จ สิ่งสำคัญคือเราต้องคิดบวก เชื่อว่าทุกปัญหามีทางออก การมี growth mindset จะช่วยให้เราเติบโตและพัฒนาไปในสิ่งที่เราเชื่อได้โลกของการทำงานต้องอาศัยประสบการณ์ และเราควรรักในสิ่งที่ทำ
รับมือวิศวกร
ถ้าย้อนเวลาได้ ก็อยากกลับไปเรียนวิศวะ เพราะสิ่งที่อยู่รอบตัวเรานับแต่นั้นมีแต่คนจบวิศวะทั้งนั้น เรียกว่าตื่นตาตื่นใจกับการทำงานมาก เวลาที่เราประชุมกับพวกวิศวกร เขาจะค่อนข้างอยู่ในกรอบของเขามาก มีตรรกะของพวกเขา ซึ่งเก๋ก็รู้สึกว่าศีลของเราจะเสมอกันไหมคือบางทีคนจบวารสารฯ อย่างเราพูดอะไรตลกๆ ออกไป แต่เขาไม่ขำกัน ทุกคนดูเคร่งเครียดจริงจัง ทุกอย่างเป็นศัพท์วิศวะหมด จนบางครั้งเก๋ต้องบอกเขาว่าให้ช่วยสื่อสารด้วยภาษาที่คนธรรมดาทั่วไปเข้าใจได้ไหมแต่ตอนที่เก๋เข้ามาอยู่ที่บางกอกโซลาร์ พาวเวอร์ ช่วงแรก เก๋ต้องถูกส่งไปศึกษาในโรงงานก่อน ต้องเข้าไปดูในไลน์การผลิต ต้องมีการปูพื้น ไม่งั้นศีลไม่เสมอกัน ทำให้เราคุยกับพวกเขาไม่รู้เรื่อง
คาดการณ์ปัญหา
หน้าที่หลักในตำแหน่งรองประธานคือการป้องกันความเสี่ยงให้บริษัท ส่วนมากจะดูเรื่องการจัดซื้อ ดูทางด้านการเงิน ยกตัวอย่างเช่น เรื่องต้นทุน สมมุติว่าดอลลาร์กำลังแข็งค่าขึ้น ตอนนี้อยู่ที่ 30 บาทต่อหนึ่งดอลลาร์ เราก็ต้องพิจารณาว่าต่อไปเงินจะแข็งค่าขึ้นหรือจะอ่อนค่าลง เก๋ก็ใช้วิธีโทรปรึกษากับผู้รู้ เช่น โทรไปสอบถาม relationship manager ของเกียรตินาคินภัทรว่ามีความเห็นว่าอย่างไร แล้วเก๋ก็รวบรวมข้อมูลเพื่อดูว่าบทวิเคราะห์ชุดไหนเป็นไปได้มากที่สุด แล้วค่อยทำ hedging หรือล็อกค่าเงิน แน่นอนว่ามันก็มีความเสี่ยงถ้าเกิดค่าเงินไม่ได้เป็นไปตามที่เราคาด แต่ก็อย่างที่บอกว่าเก๋จะปรึกษากับผู้รู้ก่อน อันนี้เป็นการป้องกันความเสี่ยงอย่างหนึ่ง หรืออย่างสมมุติเราซื้อแผงโซลาร์เซลล์จากเมืองจีน เราก็ต้องเข้าใจวัฒนธรรมธุรกิจของเขาว่าต่อให้เราวางเงินมัดจำไปก่อน 10% วันนี้ แต่สมมติอีกสามเดือนข้างหน้าตอนส่งมอบจริงราคาวัตถุดิบของเขาขึ้น เขาก็จะคิดราคาเราเพิ่มขึ้นจากที่เราวางมัดจำไปแล้ว ตรงนี้ก็เป็นความเสี่ยงเรื่องการทำธุรกิจอย่างหนึ่งที่เราต้องพร้อมรับมือ ปีก่อนหน้านี้ก็มีเรื่องการระบาดของโควิด-19 แล้วปีนี้ก็มีเรื่องสงครามยูเครน-รัสเซีย เราก็ต้องรีบหากลยุทธ์มารับมือให้ทัน
ความสำเร็จใช่เรื่องเพศ
เก๋มองว่าคำว่า ‘เพศสภาพ’ หรือข้อจำกัดการทำงานจากเพศสภาพไม่ควรมีแล้วอย่างตัวเก๋เองก้าวข้ามจุดที่กลัวการทำงานกับผู้ชายจำนวนมากๆ มาได้แล้วทั้งที่ตอนแรกพนักงานที่ทำด้วย 95% เป็นผู้ชายและเป็นวิศวกรหมดเลย แม้แต่กับลูกค้าก็เป็นผู้ชาย แต่มาถึงตรงนี้ เก๋รู้สึกว่าการได้ทำงานกับพนักงานเหล่านี้เป็นพลังบวกให้กับตัวเองในการเรียนรู้ที่จะทำงาน ไม่ได้มองว่าการทำงานในสังคมผู้ชายเป็นปัญหา เก๋รู้สึกว่าการเป็นผู้หญิงทำให้การคุยกับผู้ชายไหลลื่น เป็นข้อได้เปรียบของผู้หญิง แล้วความสำเร็จในการทำงานก็ไม่ได้เกี่ยวกับเพศ การที่เราจะประสบความสำเร็จอะไรสักอย่าง สิ่งสำคัญคือ เราต้องคิดบวก เชื่อว่าทุกปัญหามีทางออก การมี growth mindset จะช่วยให้เราเติบโตและพัฒนาไปเป็นในสิ่งที่เราเชื่อได้ สมัยเด็กๆ เก๋อาจจะคิดว่าการเรียนเก่งคือทุกอย่าง แต่พอโตมา ถึงได้รู้ว่าการเรียนไม่ใช่ทุกอย่าง เพราะในโลกของการทำงานเราต้องอาศัยประสบการณ์ด้วย และเราควรรักในสิ่งที่ทำจะทำให้งานของเราออกมาดี
ผิดหวังคือเติบโต
เก๋มีลูกสามคนอายุ 17 16 และ 12 ปี สองคนแรกตอนนี้เรียนอยู่ที่ต่างประเทศ เราก็โทรศัพท์คุยกับเขาทุกวัน คอยให้คำปรึกษาเขา ซึ่งเก๋มองว่าการเลี้ยงเด็กที่โตแล้ว เราควรปล่อยให้เขาได้เรียนรู้ชีวิตจากความผิดหวังไม่ควรไปประคมประหงมลูกมากเกินไป ถ้าเราชมเขาว่าเก่ง ว่าทำได้ดีอย่างนี้อย่างนั้นมันอาจจะดีถ้าเขายังเด็กมากๆ แต่พอเขาโตเราต้องให้เขาได้เรียนรู้ที่จะโต ได้แก้ปัญหาด้วยตัวเอง อย่างลูกคนโตตอนไปเรียนที่ต่างประเทศครั้งแรก ไปอยู่โรงเรียนประจำเขาไม่มีความสุขเลย คุณครูไม่อนุญาตให้เอาโทรศัพท์เข้าห้องนอน ก็ต้องชาร์จไว้นอกห้อง ปรากฏที่ชาร์จหายไป เขาโทรมาปรับทุกข์กับเรา เราก็บอกเขาว่า “โอเค บ่นเสร็จแล้วใช่ไหม แล้วลูกได้เรียนรู้อะไรจากเรื่องนี้บ้าง” หรือตอนที่เขาตกเครื่องบินเป็นครั้งแรก เขาโทรมาหา เราก็เเนะนำให้เขาติดต่อกับสายการบิน ลิสต์คำถามให้ แต่เพราะเขายังไม่รู้ ไม่แน่ใจว่าควรทำยังไง ทำให้ต้องไปต่อคิวที่เคาน์เตอร์นานถึงหกชั่วโมง หลังจากนั้นเราก็โทรคุยกัน ถามว่ารู้หรือยังว่าต่อไปถ้าตกเครื่องบินอีกต้องทำยังไง เขาก็รู้แล้วว่าถ้าตกเครื่องบิน ต้องรีบไปที่เคาน์เตอร์สายการบินให้เร็วที่สุด นี่คือประสบการณ์ที่คนเป็นพ่อแม่สอนลูกเองไม่ได้ เขาต้องเรียนรู้เอง
ไม่หยุดพัฒนา
ตอนนี้เช้าเย็นที่ขาดไม่ได้ก็คงเป็นฟังยูทูบ คือไม่มีเวลาดูแต่หูฟังตลอดนะ โดยเฉพาะพวกข่าวสารธุรกิจ จะได้วางแผนว่าจะทำยังไงต่อไปกับธุรกิจ มีอะไรที่ต้องเตรียมหรือระวัง ส่วนพวกหนังสือก็จะอ่านแนวจิตวิทยาเป็นหลักเลย อย่างล่าสุดก็อ่านหนังสือชื่อ Mindset เพราะเราต้องเอามาใช้ในการทำงาน เอามาใช้สอนทีมงานว่าควรปรับทัศนคติหรือวิธีคิดอย่างไร อีกเล่มที่อ่านก็ At Your Best ซึ่งพูดถึงการบริหารเวลาของเราในแต่ละวันให้มีประสิทธิภาพ จะได้จัดระเบียบชีวิต เอาช่วงเวลาของวันที่เรามีพลังมากที่สุดไปทำเรื่องที่สำคัญที่สุด เป็นหนังสือที่สอนให้เรารู้จักวางลำดับความสำคัญของสิ่งที่ต้องทำในแต่ละวัน คือเก๋จะเรียนรู้และพัฒนาตัวเองตลอด เก๋ยังบอกกับทีมงานเสมอว่า ขอให้ทุกคนอย่าหยุดการเรียนรู้
ราบเรียบสู่อนาคต
เก๋มองว่าถ้ามีใครเอาชีวิตเก๋ไปทำเป็นภาพยนตร์ คงจะเป็นเรื่องที่ไม่น่าตื่นเต้นเลย เพราะเป็นไปตามแผนที่วางไว้ตลอด มีความราบเรียบ ไม่มีจุดหักมุม อย่างที่บอกไว้ว่าเรียนจบแล้วแต่งงาน อันนี้เป็นไปตามที่แพลนจะมีลูกตอนอายุเท่าไหร่ก็วางแผนไว้ เลี้ยงลูกโตแล้วจะกลับเข้ามาทำงานก็เป็นไปตามแผนที่คิดไว้เช่นกัน เพราะงั้นตอนนี้ที่ควรคิดน่าจะเป็นแผนสำหรับอนาคตมากกว่า เช่น เราจะทำงานไปจนถึงอายุ 75 ดีไหม หรือเท่าไหร่ดี ถ้าถามเฉพาะตอนนี้ ก็คิดว่าอยากจะทำงานจนถึงอายุ 60 ปีพอ แต่ก็มีคนบอกว่าถ้าหยุดทำงาน จะเสี่ยงเป็นอัลไซเมอร์ ตอนนี้ก็เลยอ่านพวกหนังสือด้านเวชศาสตร์ชะลอวัย (anti-aging) เก๋เองเคยคิดอยากเรียนต่อด้านนี้ด้วย แต่เพื่อนก็บอกเรียนแล้วอาจจะแก่ลงกว่าเดิม (หัวเราะ) ก็เลยอ่านเอาดีกว่า ■
รู้จักกับกัญชริษา นครศรี
กัญชริษา นครศรี จบการศึกษาชั้นมัธยมปลายจากโรงเรียนราชินี ปริญญาตรีจากคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และปริญญาโทด้านการเงินจาก University of San Francisco สหรัฐอเมริกา ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองประธานบริษัทบางกอกโซลาร์ พาวเวอร์ จำกัด