HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

LIVING SPACE


The Ongoing Memoir

ผศ.บุญเสริม เปรมธาดา สถาปนิกผู้อนุรักษ์และชุบชีวิตวัฒนธรรมอยุธยาผ่านการค้นหาวิถีชุมชนที่ถูกลืม

ภาพของเรือยนต์กำลังลากจูงเรือท้องแบนลำเลียงสินค้าขนาดใหญ่สามลำฝ่าทวนกระแสแห่งแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างเนิบช้า พลางส่งเสียงเครื่องยนต์ดังก้องเป็นจังหวะไม่หยุดหย่อน คือภาพวิถีชีวิตตลอดลำน้ำที่ ‘ป้าอี่’ คุ้นเคยเป็นอย่างดี เพราะตั้งแต่เด็กแล้วที่ป้าอี่ต้องช่วยแม่ล่องเรือไปตามสองฝั่งแม่น้ำเพื่อขายเกลือ ซื้อข้าวจากชาวนา และแลกเปลี่ยนสินค้ากับชุมชนริมฝั่งแม่น้ำ

แม้ภาพวิถีชีวิตดังกล่าวจะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงแล้วในวันนี้ แต่ป้าอี่ในวัย 70 ปี ร่วมกับกลุ่มสตรีชาวท้องถิ่นที่ทำงานในร้าน ‘ดิ อาร์ทิซานส์ อยุธยา’ (The Artisans Ayutthaya) ยังคงมุ่งมั่นสืบสานวัฒนธรรมอาหารตำรับดั้งเดิมของอยุธยาเพื่อส่งต่อให้คนรุ่นหลัง

“ผมอยากสร้างพื้นที่ให้กลุ่มคนที่อาจจะถูกสังคมหลงลืม โดยเฉพาะหญิงชราเหล่านี้ที่มักถูกมองข้าม อยากย้ำให้ทุกคนเห็นว่าไม่ว่าอายุเท่าไร ทุกคนก็เท่าเทียมกัน” ผศ.บุญเสริม เปรมธาดา สถาปนิกผู้ก่อตั้ง Bangkok Project Studio อธิบายเหตุผลของการสร้างร้านอาหารแห่งนี้

ที่จริงแล้วที่ตั้งของร้านอาหารริมน้ำร้านนี้เดิมเป็นชุมชนของหญิงม่ายและหญิงโสดสูงวัยจำนวนมากที่อาศัยอยู่ร่วมกันและมีความผูกผันแนบแน่นกันอย่างไม่น่าเชื่อ ทุกๆ วันพวกเธอแต่ละคน รวมถึงป้าอี่ จะตระเตรียมข้าวปลาอาหารที่ปรุงอย่างพิถีพิถันเพื่อนำไปถวายพระในวัดใกล้ๆ และแยกส่วนหนึ่งไว้สำหรับแจกจ่ายให้เพื่อนบ้านร่วมชุมชน

ดิ อาร์ทิซานส์ อยุธยา ได้รับการออกแบบให้มีลักษณะเป็นตึกรูปทรงสามเหลี่ยมจำนวนห้าหลัง แต่ละหลังตั้งชื่อตามหญิงสูงวัยที่อาศัยในละแวกร้าน ซึ่งป้าอี่คือหนึ่งในนั้น ตัวอาคารทั้งหลังสร้างขึ้นจากไม้เต็งที่หาได้ในท้องที่กับบล็อกแก้วที่พบเห็นได้ทั่วไปตามผนังห้องน้ำ บุญเสริมเลือกใช้วัสดุทั้งสองชนิดนี้ด้วยเหตุผลว่านี่คือวัสดุที่มักถูกมองข้ามและไม่นำมาใช้ในการก่อสร้าง ไม่ต่างจากผู้คนอีกมากหน้าหลายตาในชุมชน

โครงการลักษณะเดียวกับดิ อาร์ทิซานส์ อยุธยา ช่วยให้คนท้องถิ่นไม่ต้องดิ้นรนย้ายถิ่นฐานเข้าสู่เมืองใหญ่ การเดินทางกลับบ้านเกิดของคนต่างจังหวัดช่วงวิกฤตโควิด-19 ตอกย้ำความสำคัญของชุมชนชนบท นำไปสู่ความเชื่อที่ว่าชุมชนท้องถิ่นคืออนาคต

แผนผังของกลุ่มอาคารทั้งห้าหลังได้รับการจัดวางให้ซ้อนสลับด้านกันไปมาจนเกิดเป็นช่องทางเดินที่ดูคล้ายเส้นทางในเขาวงกต ทางเดินนี้ทอดยาวระหว่างฟาซาดหรือส่วนหน้าของอาคารที่ทำจากบล็อกแก้วล้อมด้วยกรอบไม้ของตึกแต่ละหลัง เมื่อเดินไปยังแต่ละมุม ก็จะพบกับแนวต้นไม้ที่ปลูกเรียงรายอย่างเป็นระเบียบ มองเห็นวิวทิวทัศน์ของแม่น้ำ และยังมีสะพานที่พาดเชื่อมกับแนวเส้นตรงยาวไร้ที่ติของผนังแต่ละอาคาร

“ผมนำเรื่องราวชีวิตของหญิงสูงวัยในชุมชนมาเชื่อมเข้ากับการออกแบบทางสถาปัตยกรรมของตัวเอง เพื่อให้เกิดความรู้สึกของการได้เจออะไรบางอย่างที่ซุกซ่อนไว้” บุญเสริมอธิบาย

แม้เพิ่งเปิดตัวเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปี 2565 แต่ ดิ อาร์ทิซานส์ อยุธยา ก็ได้รับรางวัล Wallpaper* Design Award สาขาร้านอาหารยอดเยี่ยมประจำปีนี้เป็นที่เรียบร้อยตั้งแต่ยังไม่ทันเปิดบริการแบบทางการด้วยซ้ำ ส่งผลให้สถานที่แห่งนี้ซึ่งมีฉายาสะท้อนเอกลักษณ์อันแจ่มชัดว่า ‘ภัตตาคารนารี’ (The Women Restaurant) กลายเป็นเวทีให้ชาวบ้านและวัฒนธรรมในชุมชนได้เปล่งแสงและเป็นที่สนใจอีกครั้ง

เมนูอาหารของร้านสะท้อนภาพการเรียนรู้และส่งผ่านองค์ความรู้ของท้องถิ่นเป็นอย่างดี เพราะกลุ่มสตรีในชุมชนได้ร่วมกันสร้างสรรค์อาหารแต่ละจานจากตำราที่สืบต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ไม่ว่าจะเป็น ‘แกงขี้เหล็กใบฉลาดเนื้อย่าง’ ‘ต้มกะทิปลาสลิดไหลบัวใบมะดัน’ และ ‘กุ้งแม่น้ำเผาสะเดาน้ำปลาหวาน’ ข้าวที่เสิร์ฟที่นี่หุงในหม้อดินด้วยไฟจากเตาถ่าน ขณะที่น้ำกะทิยังใช้วิธีขูดเนื้อมะพร้าวให้เป็นฝอย และคั้นด้วยมือแบบโบราณ

นอกจากคุณค่าด้านภูมิปัญญาปากะศิลป์ดิ อาร์ทิซานส์ อยุธยา ยังจัดการแสดงสดต่างๆ เช่น ลิเก และการบรรเลงดนตรีจากเยาวชนในชุมชน ซึ่งจะจัดขึ้นทุกวันหยุดสุดสัปดาห์เพื่อสืบสานและชุบชีวิตศิลปวัฒนธรรมไทย

แน่นอนว่าบุญเสริมเป็นบุคคลหนึ่งที่เชื่ออย่างหมดใจว่าการออกแบบที่ดีย่อมสร้างประโยชน์ให้แก่ชุมชนได้

“ผลงานสถาปัตยกรรมไม่จำเป็นต้องเป็นแค่ตึก แต่สามารถเป็นแรงเสริมให้โครงสร้างของสังคมแข็งแรง”

โครงการต่างๆ ที่มีลักษณะเดียวกันกับ ดิ อาร์ทิซานส์ อยุธยา ช่วยให้คนท้องถิ่นในภูมิภาคต่างๆ ไม่ต้องดิ้นรนย้ายถิ่นฐานเข้าสู่เมืองใหญ่เพื่อหางานทำ ในมุมมองของบุญเสริม การเดินทางกลับบ้านเกิดของคนต่างจังหวัดจำนวนมากในช่วงวิกฤตโควิด-19 ช่วยตอกย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของชุมชนชนบท ซึ่งนำไปสู่ความเชื่อที่ว่าชุมชนท้องถิ่นคืออนาคต

แนวคิดนี้สะท้อนให้เห็นได้ผ่านการใช้ภาชนะดินเผาวาดมือ และอุปกรณ์สแตนเลสบนโต๊ะอาหารที่สั่งซื้อจากการผลิตด้วยมือในชุมชน

“ของทำมือไม่จำเป็นต้องเชยหรือล้าสมัยเสมอไป กระบวนการดังกล่าวจะช่วยให้เกิดการส่งต่อภูมิปัญญาของคนในท้องถิ่น อีกทั้งยังช่วยเพิ่มมูลค่าให้แก่ผลิตภัณฑ์นั้นด้วย” บุญเสริมกล่าว

ในการสร้างร้านอาหารแห่งนี้ คนงานราว 20 คนได้รับการสอนวิธีการก่อบล็อกแก้วเป็นจำนวนกว่า 6,500 ชิ้น ขณะเดียวกันบุญเสริมยังได้พัฒนาอิฐจากมูลช้าง ซึ่งได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมจัดแสดงในงาน Biennale of Architecture and Landscape Design ที่เมืองแวร์ซายส์ ประเทศฝรั่งเศส ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมไปจนถึงกรกฎาคม ปี 2565 นี้อีกด้วย

“ผมไม่มีหลักในการทำงานตายตัวแต่ส่วนใหญ่ผมจะเริ่มงานจากความจริงที่เห็นแล้วก็ใช้ทัศนคตินำทางให้ผมสามารถสร้างสรรค์บางสิ่งบางอย่างที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน ประเทศ หรือโลกของเราได้” บุญเสริมกล่าว

ในขณะที่โลกกำลังทะยานเข้าไปสู่เมตาเวิร์ส การได้สัมผัสถึงการรักษา สืบสาน และส่งต่อภูมิปัญหาท้องถิ่นเหล่านี้อย่างเป็นรูปธรรมนับเป็นหนึ่งในไม่กี่เรื่องที่ชวนให้เกิดความคุ้นเคยและอบอุ่นใจ