SECTION
ABOUTLIVING SPACE
Ground Zero
รู้จัก GalileOasis โครงการชุมชนศิลปะกลางเมืองหลวงที่ยินดีต้อนรับผู้มีใจรักในงานศิลปะทุกแขนง
ภายในตรอกเล็กๆ หลังโรงเรียนกิ่งเพชร ย่านราชเทวี กำแพงอาคารพาณิชย์ทรุดโทรมหลังหนึ่งดูพยายามสื่อสารกับผู้เข้าเยี่ยมชมด้วยถ้อยคำและอารมณ์ที่บาดลึก ข้อความสีแดงบนกำแพงชั้นสองใต้หน้าต่างไม้เขียนว่า “รักเจี๊ยบคนเดียว ตอนนี้คิดถึงมาก” หากแต่เมื่อเดินย้อนกลับไปยังบันไดทางลง กลับพบถ้อยคำไม่โลกสวยอีกหนึ่งประโยคว่า “โปรดรักษาความสะอาด ห้ามทิ้งขยะทุกชนิด”
อาคารพาณิชย์เก่านี้เป็นหนึ่งในสมาชิกอาคารพาณิชย์ร่วม 20 หลังซึ่งเคยเป็นย่านร้านค้าและที่พักอาศัยอันคึกคัก ก่อนเศรษฐกิจซบเซาจนหลายคนพากันละทิ้งและปล่อยให้พวกมันทรุดโทรมไปตามกาลเวลา เหลือเพียงร่องรอยของอดีตที่ยังพอเห็นได้จากพื้นที่ซึ่งได้รับการปรับแต่งให้เกิดใหม่เป็นโรงละคร โรงแรม แกลเลอรีศิลปะ จนถึงทางเดินส่วนกลางอันร่มรื่นในนาม GalileOasis
หากเดินมาจากถนนบรรทัดทอง ตรอกทางเข้าโครงการจะอยู่เยื้องกับกำแพงของโรงเรียนกิ่งเพชร ขอเพียงเดินตามป้ายบอกทางไปจนสุดตรอกก็จะพบกับอาคารทั้ง 20 หลัง ด้วยความโปร่ง สะอาด และเป็นระเบียบของโครงการ หลายคนอาจนึกไม่ถึงว่าครั้งหนึ่งอาคารพาณิชย์เหล่านี้มีสภาพไม่ต่างจากชุมชนแออัดด้วยข้าวของและถุงขยะที่วางเบียดเสียดอยู่หน้าอาคารจนแถบหาทางเดินเข้าไปด้านในไม่ได้เลย
“ตอนที่เรามาที่นี่ครั้งแรก ตึกแถวพวกนี้ถูกแบ่งเช่าให้แรงงานต่างชาติกับคนค้าขายอาหารริมถนน” แหม่ม-นพมาศ ภัทรกุล รำลึกความทรงจำแรกที่มีกับอาคารพาณิชย์เหล่านี้ เธอจำได้ว่าในตึกแถวด้านหน้าโครงการที่ปัจจุบันคือโรงละครเคยมีคนเช่าอยู่รวมกันอย่างแออัดถึง 18 คน
เราปรับปรุงอาคารเหล่านี้นานถึงสามปี มีคนเข้ามาช่วยเหลือพัฒนาหลายคน ทั้งสถาปนิก นักออกแบบตกแต่งภายใน รวมถึงเจ้าของโครงการธุรกิจ เราตกลงร่วมกันว่าจะเหลือร่องรอยทางประวัติศาสตร์ของอาคารเอาไว้เป็นคำจารึกของสถานที่
ที่ดินเหนือตรอกซึ่งไม่ไกลจากสถานีรถไฟฟ้าราชเทวีนี้เป็นกรรมสิทธิ์ในครอบครัวของรัศมี เผ่าเหลืองทอง ผู้เชี่ยวชาญด้านละครเวทีของไทย ด้วยประวัติการศึกษาด้านศิลปะการละครจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนเรียนจบจากวิทยาลัยการละครที่มหาวิทยาลัยเยล เธอเคยทั้งเขียนบทละคร กำกับละครเวที เป็นบรรณาธิการนิตยสารโลกหนังสือ และยังเคยเป็นอาจารย์ด้านการละครของนพมาศอีกด้วย
เมื่อเกือบสี่สิบปีที่แล้ว รัศมีซึ่งเพิ่งเข้าเป็นอาจารย์ด้านศิลปะการละครที่มหาวิทยาลัยศิลปากรได้ไม่นานมุ่งหมายจะจัดแสดงละครเวทีของตัวเองเรื่องแรกชื่อ ‘กาลิเลโอ’ (ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ GalileOasis) นพมาศกับนักศึกษาอีกร่วมสี่คนได้มาขอเข้าโครงการละครเรื่องนี้ เมื่อเวลาผ่านไป ทุกคนที่เคยร่วมแสดงละครเวทีเรื่องแรกของรัศมีก็ได้กลายมาเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการฟื้นคืนชีวิตตึกแถวทั้ง 20 หลังใจกลางเมือง
“การสร้างพื้นที่สำหรับความคิดสร้างสรรค์โดยเฉพาะเป็นความฝันของเราเสมอมา” รัศมีกล่าว
นอกจากการเป็นผู้บริหารศูนย์ศิลปวัฒนธรรมแสงอรุณมานานกว่า 10 ปี รัศมียังเป็นผู้ริเริ่มโครงการหลายชิ้นที่ผสมผสานงานศิลปะแขนงต่างๆ เพื่อช่วยเหลือนักโทษรุ่นเยาว์ คนติดยา และเยาวชนในสังคมด้อยโอกาสให้มีโอกาสพัฒนาตนเองผ่านงานศิลปะ
“คนกำหนดนโยบายบางทีไม่เห็นบทบาทของศิลปะในการเสริมสร้างชีวิต พวกเราเลยอยากสร้างชุมชนของเหล่าศิลปินทั้งคนที่มีชื่อเสียงหรือเพิ่งเข้ามาใหม่ในวงการ รวมถึงผู้ชื่นชอบงานศิลปะจากทุกช่วงวัยและอาชีพให้มาพบปะ สนุกสนาน และมีส่วนร่วมไปกับกิจกรรมของชุมชนได้” รัศมีกล่าว
รัศมีกับเพื่อนร่วมอุดมการณ์เคยปรึกษากับสถาปนิกถึงสี่คนก่อนจะได้มารู้จักกับวิสูตร วิรุณานนท์ สถาปนิกที่พร้อมแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์เพื่อช่วยกันรักษาความงดงามของอาคารห้องแถวเก่าๆ เหล่านี้ให้คงอยู่ ซึ่งรวมถึงประวัติศาสตร์และเรื่องราวที่ผ่านมา วิสูตรใช้เวลานานหลายเดือนตรวจสอบพื้นที่ทุกตารางนิ้วของอาคารทุกหลังเพื่อประเมินสภาพว่าจะดึงเอาฝาไม้ แผ่นเหล็ก จนถึงประตูและบานหน้าต่างไม้เก่าๆ มารับใช้หน้าที่ใหม่ให้ตอบโจทย์โครงการอย่างไรจนนำไปสู่การรีโนเวทสถานที่ด้วยแนวคิด Old and New เพื่อให้ความเก่าและความใหม่อยู่ร่วมกันได้อย่างลงตัว
“เราใช้เวลาปรับปรุงและแต่งอาคารเหล่านี้ให้พัฒนาความสวยงามขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปนานถึงสามปี โครงการนี้มีคนเข้ามาช่วยเหลือพัฒนากันหลายคน ทั้งสถาปนิก นักออกแบบตกแต่งภายใน รวมถึงเจ้าของโครงการธุรกิจแต่ละส่วน และพวกเราก็ตกลงร่วมกันว่าจะเหลือร่องรอยทางประวัติศาสตร์ของอาคารทั้งหมดเอาไว้ให้เป็นคำจารึกของสถานที่” รัศมีกล่าวเสริม
มีการทุบกำแพงที่กั้นระหว่างคูหาภายในอาคารต่างๆ ลง เผยให้เห็นอิฐสีส้มที่แทรกอยู่ภายในชั้นปูนของอาคารกลายเป็นช่องว่างคล้ายอุโมงค์ที่มีผิวไม่ราบเรียบ เงยหน้าขึ้นไปยังเพดานของชั้นล่างจะมองเห็นคานและพื้นไม้ที่รองรับทางเดินของชั้นบน ขณะที่ห้องด้านหน้าของอาคารถูกทุบทิ้งทั้งหมดให้กลายเป็นพื้นที่เปิดโล่งสำหรับผู้มาเยี่ยมเยือนได้เดินชมโครงการที่อยู่ภายใน ส่วนทางเดินด้านนอกซึ่งกั้นกลางระหว่างอาคารสองฝั่งก็ประดับแซมด้วยพันธุ์พืชและที่นั่งพักผ่อนกลางแจ้งหน้ากระจกแก้วสไตล์โมเดิร์นของแต่ละโครงการธุรกิจซึ่งเข้ามาเช่าพื้นที่
“เราพยายามรักษาของดั้งเดิมของอาคารเหล่านี้ให้ได้มากที่สุดเท่าที่เราทำได้ เช่น ป้ายเลขอาคารที่ติดอยู่บนผนังเหนือประตูทางเข้าเดิมของอาคารแต่ละแห่ง หรือศาลพระภูมิที่ตั้งอยู่ติดกำแพงด้านในสุดของโครงการใต้อักษรจีนที่เขียนอวยพรให้ผู้พักอาศัยในสถานที่แห่งนี้มีแต่ความสงบสุขและร่มเย็น ของชิ้นไหนที่เราหาประโยชน์ใช้สอยใหม่ได้เราก็เอามาใช้ซึ่งรวมถึงประตูมุ้งลวด 15 บานที่เรานำมาติดตั้งใหม่เป็นหน้าต่างรับแสงบนชั้นสองเพื่อสร้างความสว่างให้กับพื้นที่โรงละครที่อยู่เบื้องล่าง” นพมาศยกตัวอย่างแนวทางการพัฒนาโครงการกาลิเลโอเอซิส
ด้วยความผูกพันที่มีต่อศิลปะการแสดงละครเวทีร่วมกัน อาจารย์รัศมีและทีมงานจึงตั้งความหวังไว้ทีแรกว่าโรงละครแห่งนี้จะเป็นเสาหลักที่คอยโอบอุ้มโครงการกาลิเลโอเอซิสก่อนตระหนักว่าธุรกิจโรงละครเพียงอย่างเดียวไม่อาจอุ้มชูโครงการได้ตลอดรอดฝั่ง ทีมงานจึงตัดสินใจเปิดตัวโรงแรมขึ้นมาอีกหนึ่งแห่ง แต่การระบาดของโรคโควิด-19 ก็บังคับให้ทางโครงการต้องเปลี่ยนไปเน้นธุรกิจบริการคนในพื้นที่โดยรอบแทน ถึงเดือนพฤศจิกายนปี 2021 ร้านคาเฟ่ Piccolo Vicolo ซึ่งเป็นธุรกิจจากภายนอกที่มาขอเช่าพื้นที่โครงการเป็นรายแรกก็เปิดให้บริการ โดยชั้นบนของคาเฟ่เป็นแกลเลอรีงานศิลปะที่บริหารโดยนพมาศกับทีมงาน จากนั้นไม่นานทางโครงการก็ได้ร้านอาหารทะเล Fishmonger เข้ามาร่วมแจม ตามมาด้วย Recoroom ร้านจำหน่ายแผ่นเสียงเก่า และ XinXin ร้านขนมหวานสูตรไต้หวัน
ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา รัศมีกับทีมงานเพิ่งจัดแสดงละครเวทีเรื่อง Quartet เป็นเรื่องแรกของโรงละคร และมีกำหนดจะจัดแสดงเรื่องที่สองในเดือนสิงหาคมนี้ นอกจากนั้นแล้ว ในชั่วเวลาไม่กี่เดือนหลังเปิดอย่างเป็นทางการกาลิเลโอเอซิสเคยจัดทั้งงานหนังสือ ตลาดนัดสินค้าทำมือ คอนเสิร์ต เวิร์กชอปงานศิลปะ และงานวัฒนธรรมอื่นๆ อีกหลายงาน
“เราอยากเปิดประตูต้อนรับศิลปินรุ่นใหม่ๆ ให้เข้ามาแสดงและขายผลงานในราคาที่ทุกคนจับต้องได้ ถึงพวกเราจะอายุไม่น้อยกันแล้ว แต่คนที่เข้ามาใช้พื้นที่ที่เราสร้างขึ้นล้วนเป็นคนรุ่นใหม่ ก็เหมือนตึกพวกนี้ที่รวมความเก่ากับความใหม่เข้าด้วยกัน พวกเราเห็นกาลิเลโอเอซิสเป็นเหมือนพื้นที่ให้คนรุ่นต่างๆ ได้มาผสานและแลกเปลี่ยนไอเดียระหว่างกัน” นพมาศอธิบาย
คล้ายกับที่กาลิเลโอเผยแพร่ความรู้อย่างกล้าหาญจนเป็นจุดเริ่มของการเปลี่ยนแปลงวิทยาศาสตร์กาลิเลโอเอซิสก็เป็นหนึ่งในตาน้ำหล่อเลี้ยงศิลปะของเมืองหลวงที่อาจช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้ศิลปินรุ่นใหม่ได้เติบโตและพัฒนางานศิลปะต่อไปได้อย่างไม่รู้จบเช่นกัน ■