HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

STATE OF THE ARTS


Redrawing the Line

กลุ่มศิลปินไทยร่วมสมัยกับการหยิบยืมวัฒนธรรมดั้งเดิม เช่น โขน หรือภาพวาดศาสนา มาประยุกต์ในงานศิลปะเพื่อตีความและตั้งคำถามถึงนิยาม ‘ความเป็นไทย’

เป็นเวลากว่าทศวรรษแล้วที่นักรบ มูลมานัส กลายเป็นที่รู้จักผ่านผลงานศิลปะการตัดแปะในรูปแบบดิจิทัล (digital collage) ที่ผสมผสานภาพผู้คนในอดีตหรือตัวละครในวรรณคดีโบราณให้เข้ากับงานภาพสมัยใหม่ได้อย่างทรงพลังชนิดที่ตัวเขาเองก็ไม่คาดคิดว่าจะได้กระแสตอบรับทั้งในด้านบวกและลบอย่างท่วมท้น

ผลงานของศิลปินมากความสามารถคนนี้สำรวจและตีความ ‘ความเป็นไทย’ ในมุมมองที่แตกต่าง โดยนำรูปวาดหรือภาพถ่ายที่สะท้อนลักษณะเฉพาะแบบไทยๆ มาจัดวางคู่กับงานศิลปะสไตล์ตะวันตกที่มีชื่อเสียงได้กลมกลืน ยกตัวอย่างเช่น ภาพ Napoleon Crossing the Alps ที่นักรบตัดเอาม้าก้านกล้วยมาใส่แทนม้าให้นโปเลียนขี่หรือภาพชายหนุ่มรูปงามนาม Narcissus มองไปยังน้ำที่สะท้อนภาพนางอัปสร

ความมุ่งมั่นในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ และอาจรวมไปถึงการเป็นคลื่นรุ่นใหม่ไฟแรงที่มีพลังเปี่ยมล้นในตัว ผลักดันให้นักรบก้าวไปอีกขั้นด้วยการทดลองถ่ายทอดเรื่องราวใหม่ๆ ที่เกี่ยวกับราชสำนักไทยผ่านงานศิลปะแนวคอลลาจ แต่กลับสร้างความไม่พอใจแก่คนบางกลุ่ม

“กระแสตอบรับด้านลบมีเข้ามาตลอด รวมถึงข้อความข่มขู่ต่างๆ แต่เราแค่ต้องการตีความวัฒนธรรมประเพณีไทยในมุมมองที่แตกต่างเท่านั้นเอง ไม่ได้ตั้งใจแสดงความเป็นปฏิปักษ์ต่อใครหรือละเมิดกฎหมาย แต่เมื่อหลายๆ คนคิดไปในทำนองนั้น ทำให้เราต้องตั้งคำถามกับการทำงานของตัวเองมากๆ เหมือนกัน” นักรบกล่าว

ศิลปินอย่างนักรบและจิตติ คือตัวอย่างของคนที่พยายามนำเสนอและบอกเล่ามรดกทางวัฒนธรรมด้วยแนวคิดที่พลิกแพลง ครอบคลุม และจริงใจต่อยุคสมัยของตนเพื่อชักนำให้เกิดการถกเถียง ต่อยอด และวิวัฒน์ใน ‘ความเป็นไทย’

โดยไม่รู้ตัว ทุกวันนี้ศิลปินหลายๆ คนรวมถึงตัวนักรบเองได้ก้าวเข้าสู่สมรภูมิแห่งความขัดแย้งที่มีชื่อว่า ‘สงครามทางวัฒนธรรม’ ระหว่างกลุ่มอนุรักษนิยมและฝ่ายก้าวหน้าซึ่งดูจะกำลังเกิดขึ้นทั่วโลก โดยหากเรานึกถึงนักศึกษามหาวิทยาลัยที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากการวาดภาพพระพุทธรูปอุลตร้าแมน หรือพิเชษฐ กลั่นชื่น ผู้ทลายกรอบการรำโขนแบบดั้งเดิมและประยุกต์เข้ากับท่าเต้นร่วมสมัยจนถูกเดียดฉันท์จากกลุ่มอนุรักษนิยมโขน นักรบจึงไม่ใช่ศิลปินไทยคนแรกที่ต้องตกอยู่ในสภาวะ ‘ทัวร์ลง’เช่นนี้

“ศิลปินทุกวันนี้ต้องเผชิญกับคำวิพากษ์วิจารณ์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งจากกลุ่มหัวโบราณ หรือจากกลุ่มนาฏศิลป์ไทยดั้งเดิมที่เคารพงานศิลปะต้นฉบับมากๆ เพราะฉะนั้นในฐานะศิลปิน คุณต้องทำความเข้าใจผู้ร่วมงานของตัวเองและสิ่งที่สังคมคาดหวังจากผลงานของคุณด้วย” จิตติ ชมพี แสดงความคิดเห็น จิตติเป็นนักออกแบบท่าเต้นที่มีชื่อเสียง อีกทั้งเป็นผู้ก่อตั้งคณะเต้น 18 Monkeys Dance Theatre ซึ่งผลงานต่างๆ นั้นได้แรงบันดาลใจจากงานนาฏศิลป์ต้นฉบับดั้งเดิมและคอนเทนต์ในโลกออนไลน์ที่เกี่ยวข้องกับเพศสภาพของผู้คน

วัฒนธรรมไทยได้รับอิทธิพลอย่างมากจากศาสนาพุทธ ซึ่งเป็นศาสนาที่คนส่วนใหญ่ในประเทศนับถือ รวมไปถึงประเพณีพิธีกรรมต่างๆ จากวัฒนธรรมถือผีดั้งเดิม ระบบความเชื่อที่จับต้องไม่ได้จึงแทรกซึมเข้าไปในวิถีชีวิตของสังคมไทยในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นโหราศาสตร์ที่กำหนดฤกษ์งามยามดีสำหรับคู่รักในการแต่งงาน หรือความเชื่อเรื่องดวงหรือโชคลางที่ส่งผลต่อการเมืองของประเทศ ไม่แปลกที่งานศิลปินไทยจะกระทบความเชื่อไม่ว่าเรื่องใดก็เรื่องหนึ่ง

“ความจริงคนไทยได้รับอิทธิพลจากศาสนาพุทธมากว่าพันปีแล้ว และนำศาสนามาปรับใช้ในวิถีชีวิตประจำวันอย่างดีมาก แต่ผมว่าทุกวันนี้การตีความหลักคำสอนต่างๆ แคบและคร่ำครึยิ่งกว่าเดิมเสียอีก” นักรบ ซึ่งนับถือศาสนาพุทธแต่ไม่ได้ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดแสดงความคิดเห็น

นักรบเติบโตมาในครอบครัวที่มีพ่อเป็นตำรวจและแม่เป็นช่างทำผม หลังเลิกเรียนเขามักใช้เวลาไปกับการอ่านนิตยสารจากฝั่งตะวันตกที่เขาหลงใหลและชื่นชอบอย่าง ‘ไทม์’ และ ‘โว้ก’ ในร้านทำผมของแม่ ซึ่งจุดประกายไอเดียให้เขาตัดภาพต่างๆ ในนิตยสารเหล่านั้นมาทดลองสร้างสรรค์เป็นผลงานในวิชาศิลปะของโรงเรียนในเวลาต่อมา ศิลปะร่วมสมัยจากฝั่งตะวันตกที่ได้เรียนรู้และซึมซับผ่านการพลิกหน้านิตยสารอยู่บ่อยๆ นี้เองที่ผลักดันให้นักรบเกิดความสนใจอย่างลึกซึ้งต่อรากเหง้าของวัฒนธรรมไทยและเริ่มตั้งคำถามว่าอะไรคือนิยามความเป็นไทยที่แท้จริง

นักรบพัฒนาฝีมือการสร้างสรรค์ภาพตัดแปะที่ผสมผสานระหว่างความเป็นตะวันออกและตะวันตกเรื่อยมาจนออกมาเป็นผลงานศิลปะที่สื่อสารกับผู้ชมได้อย่างทรงพลัง โดยเฉพาะงานที่ได้รับแรงบันดาลใจจากศาสนาที่เขาสนใจ แม้ว่าการทำงานดังกล่าวนั้นอาจสร้างปัญหาให้เขาได้ในภายหลังก็ตาม

“ทุกวันนี้เวลาเราพยายามจะนิยามความเป็นไทย มันมักจะหมายถึงอะไรบางอย่างที่ดูห่างไกลจากชีวิตของพวกเรามากๆ เลย ผมว่าความเป็นไทยคือความสามารถในการพลิกแพลงและดัดแปลง แต่รัฐเขาไม่เห็นแบบที่เราเห็น เขาเห็นแต่วัฒนธรรมดั้งเดิมที่มีความประณีต ซึ่งมันไม่ใช่ทุกอย่าง ยิ่งช่วงหลังมานี้พอมีการขับเคลื่อนทางความคิดและการแสดงออกกันมาก ทำให้ผมพบว่าเราสามารถหยิบยืมเรื่องราวของอดีตมาช่วยบอกเล่าถึงกระแสความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นได้” นักรบกล่าว

ในทางตรงกันข้ามก็มีกลุ่มศิลปินอย่างจิตติที่พยายามเลี่ยงสร้างสรรค์ผลงานที่อาจก่อให้เกิดดราม่าหรือสร้างความไม่พอใจแก่คนในสังคม อดีตวิศวกรผู้ผันตัวเป็นศิลปินผู้นี้มักคำนึงถึงความอ่อนไหวในเนื้องานที่อาจส่งผลกระทบต่อผู้เสพผลงานของเขาอยู่เสมอ

“เราพยายามไม่ปรับเปลี่ยนท่ารำต้นฉบับ เพราะโครงการนาฏศิลป์ของเราเกิดขึ้นจากความตั้งใจที่จะสนับสนุนกลุ่มคนทำงานด้านนาฏศิลป์ไทยดั้งเดิม ผมเป็นคนนอก เพราะฉะนั้นผมจะไม่เปลี่ยนท่ารำหรือเรื่องราวเดิมที่มีอยู่แล้ว ผมเลือกและสนใจเฉพาะองค์ประกอบของโขนที่สร้างแรงบันดาลใจให้ผมเท่านั้น” จิตติอธิบาย

โดยปกติแล้วผลงานร่วมสมัยของจิตตินั้นมักเคารพและยึดตามขนบของการแสดงโขนอย่างเคร่งครัด ยกตัวอย่างเช่น การให้นักแสดงโขนที่สวมบทบาทเป็นตัวละครมนุษย์ ลิง หรือยักษ์ ตัวใดตัวหนึ่งแล้วสวมบทบาทนั้นไปตลอดชีวิต การควบคุมให้ท่ารำถูกต้องและเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดมาเป็นเวลาหลายร้อยปี ในขณะที่เนื้อเรื่องนั้นต้องเชื่อมโยงกับมหากาพย์รามเกียรติ์ จิตติยืนยันว่าเขาไม่ได้ต้องการที่จะทำลายขนบธรรมเนียมที่มีมาตั้งแต่อดีต อีกทั้งไม่ต้องการแสดงความไม่เคารพต่อโขนต้นฉบับและตัวนักแสดงที่สืบทอดและปฏิบัติตามแบบแผนดั้งเดิมต่อๆ กันมาด้วย

“เราได้รับเชิญจากโรงละครแห่งชาติและได้ทำความรู้จักกับครูโขนที่ทำงานร่วมกับที่นั่น อีกทั้งได้พูดคุยสอบถามว่าสิ่งที่เราต้องการจะทำนั้นทำได้หรือไม่ ซึ่งพวกเขาก็ได้ให้คำแนะนำและข้อมูลที่เป็นประโยชน์หลายอย่าง แถมยังบอกด้วยว่าฉากไหน ตอนไหนในรามเกียรติ์ที่เราควรจะนำไปทำการแสดง เราจึงมองว่าเราต้องเคารพพวกเขา เพราะพวกเขาคือครูของเรา” จิตติกล่าว

แน่นอนว่าศิลปินร่วมสมัยกับจิตติไม่ได้มีแนวคิดในทางเดียวกันกับเขาทุกคน เช่น พิเชษฐ กลั่นชื่น ที่ผลงานการแสดงโขนของเขาทลายกรอบและแบบแผนดั้งเดิมของนาฏศิลป์ชั้นสูงนี้ทั้งหมด และนำเว็ทสูท ดนตรีร็อก ฝารองนั่งชักโครก และอื่นๆ อีกมากมายมาประยุกต์และผสมผสานในชุดการแสดงแต่ละครั้ง นอกจากนี้ เขายังใช้โขนเพื่อสื่อสารประเด็นสิทธิมนุษยชนต่างๆ เช่น ปัญหาคนไร้บ้านและปัญหาของคนชาติพันธุ์และชนพื้นเมือง ด้วยเหตุนี้ พิเชษฐจึงเป็นคนนอกรีตในสายตาของผู้ที่ต้องการรักษาความบริสุทธิ์ของนาฏศิลป์ดั้งเดิม แต่ในขณะเดียวกันก็ได้รับการขนานนามว่าเป็นผู้มอบนิยามใหม่ให้แก่ศิลปะการแสดงไทย “ผมคิดว่าผมเป็นปีศาจนะ แต่เป็นปีศาจฝ่ายดี จริงๆ หลายคนตั้งฉายานี้ให้ผมเพราะมองว่าผมทำลายวัฒนธรรมไทยซึ่งเป็นเรื่องเหลวไหลมากๆ” พิเชษฐให้สัมภาษณ์กับ Coconuts Bangkok ในปี 2556

อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าศิลปินอย่างจิตติ ประยุกต์ ตีความ หรือแม้กระทั่งสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ได้น้อยกว่าผู้ที่ขบถต่อขนบดั้งเดิมของนาฏศิลป์ไทย หากมีโอกาสได้ฟังจิตติเล่าถึงการทำงานของเขา ผู้ฟังจะสัมผัสได้ทันทีถึงความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และความชื่นชอบศาสตร์การเต้นของเขาที่มีอย่างเหลือล้น จิตติสามารถก้าวขึ้นมาเป็นศิลปินร่วมสมัยระดับแนวหน้าของประเทศไทยได้อย่างรวดเร็วภายในเวลาเพียง 10 กว่าปี ในเดือนกันยายนปีที่ผ่านมา เขาได้รับเครื่องอิสริยาภรณ์ด้านศิลปศาสตร์และอักษรศาสตร์ ชั้นอัศวิน (Les insignes de Chevalier de l’Ordre des Arts et des Lettres) จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมประเทศฝรั่งเศส ในฐานะผู้ส่งเสริมและสนับสนุนศิลปะการแสดงของไทยผ่านการประยุกต์โขนแบบดั้งเดิมเข้ากับท่าเต้นร่วมสมัยในการแสดงชุด School of Ganesh และ Miscellany of Khon ที่เผยแพร่ผ่านภาพยนตร์สารคดีจำนวน 5 ตอนและหนังสือในชื่อเดียวกัน

การแสดงชุด School of Ganesh กล่าวได้ว่าเป็นศิลปะร่วมสมัยอย่างแท้จริง จิตติสร้างสรรค์งานชุดนี้เพื่อสะท้อนผลลัพธ์ของการสำรวจ ‘สถาปัตยกรรมของร่างกาย’ (body architecture) และ ‘ประติมากรรมเคลื่อนไหว’ (moving sculptures) ผ่านนักแสดงที่ใช้แขนและขาค่อยๆ แหวกตัวทะลุออกมาผ่านรอยแตกของผนังปูนสีขาว รวมไปถึงการเคลื่อนไหวในลักษณะที่บิดเบี้ยวอย่างเชื่องช้าของหัว แขน และขา และเครื่องหัวรูปสัตว์ต่างๆ ทั้งลิง ควาย และช้าง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนพระพิฆเนศ แต่ละท่วงท่าที่นักแสดงถ่ายทอดออกมาล้วนแฝงไปด้วยความหมายลึกซึ้ง สะกดสายตา และหลายครั้งก็ยากที่จะตีความ เมื่อได้ชมแล้ว สามารถพูดได้เลยว่านี่ไม่ใช่โขนในยุคปู่ย่าตายายอย่างที่เราคุ้นเคยกันมาก่อน

ส่วนภาพยนตร์สารคดีชุด Miscellany of Khon หรือ ‘เกร็ดโขน’ นั้นนำเสนอในรูปแบบที่ต่างออกไป เริ่มต้นด้วยหนังสั้นที่เปิดตัวชายสวมหน้ากากคนหนึ่งขณะกำลังคลานไปตามชายหาด ไม่นานนักก็มีนักแสดงอีกหนึ่งคนปรากฏตัวขึ้น ซึ่งใช้เส้นด้ายสีขาวขนาดยาวสอดเข้าออกระหว่างช่องปากและฟันของหน้ากากที่เขากำลังสวมใส่อยู่ หลังจากนั้นฉากก็เปลี่ยนไปยังโรงละครที่มีนักแสดงกำลังอธิบายวิธีการที่ผู้รำโขนต้องคาดเชือกบริเวณฟันให้แน่นเพื่อให้หัวโขนกระชับกับศีรษะ ท่วงท่าการร่ายรำในสารคดีชุดนี้ถ่ายทอดออกมาได้อย่างละเมียดและอ่อนช้อยสวยงาม

“โรงละครแห่งชาติย่อมไม่สามารถทำงานในแบบที่เรานำเสนอได้ เนื่องจากพวกเขามีหน้าที่ต้องอนุรักษ์ขนบดั้งเดิมตามที่เคยปฏิบัติกันมาตั้งแต่อดีต ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ อย่าลืมว่าถ้าโรงละครแห่งชาติไม่รักษาเอาไว้ พวกเราทุกคนก็จะสูญเสียรากเหง้าและประวัติศาสตร์ของตัวเราเองไป” จิตติกล่าว

แม้โขนในรูปแบบดั้งเดิมจะไม่มีความแตกต่างกันมากนักในแต่ละการแสดง แต่จิตติกลับได้แรงบันดาลใจใหม่ๆ ทุกครั้งที่มีโอกาสได้ชม “เวลาไปดูโขนที่โรงละครแห่งชาติ ครูโขนที่เรารู้จักหลายๆ คนก็มักจะคิดว่าเราคงจะเบื่อ แต่เราไม่ได้ไปดูโขนเพื่อความสนุก เราไปดูในฐานะคนทำงานต่างหาก”

กลับมาที่นักรบอีกครั้ง เขาเป็นศิลปินที่มีแนวคิดแตกต่างจากจิตติโดยสิ้นเชิง เพราะเขาไม่ได้ยึดติดอยู่กับขนบมาตรฐานหลักทางศิลปะใดๆ ดังนั้นจึงง่ายกว่าสำหรับเขาในการนำองค์ประกอบทางศิลปะตามแบบแผนดั้งเดิมมาประยุกต์ใช้ในงานของตัวเองโดยไม่ต้องวิเคราะห์ถึงพื้นฐานความเป็นมาของสิ่งนั้นๆ แม้การหยิบยืมองค์ประกอบทางวัฒนธรรมบางอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องราวทางศาสนา อาจก่อให้เกิดความไม่สบายใจหรือกระแสต่อต้านจากคนบางกลุ่ม แต่นักรบกลับมองว่ามันช่วยให้ผลงานของเขาสามารถสื่อสารไปยังคนหลากหลายกลุ่มได้กว้างขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีแนวคิดอนุรักษนิยมจำนวนมากที่ติดตามผลงานของเขาในโซเชียลมีเดีย

“อาจเป็นเพราะเขารู้สึกชื่นชมภาพโบราณหรือองค์ประกอบที่มีความเป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมที่เรานำมาใช้ในงาน หรือมองเห็นความสวยงามของรูปแบบการนำเสนองานศิลปะของเรา แต่เมื่อใดก็ตามที่เราแตะเรื่องการเมืองและโพสต์ในโซเชียลมีเดีย เราจะถูกอันฟอลโลว์ทันที” นักรบอธิบายพร้อมเสียงหัวเราะ

ในปี 2564 ที่ผ่านมา นักรบเข้าร่วมโครงการศิลปินพำนักที่ Cité internationale des arts ประเทศฝรั่งเศส และทำหน้าที่เสมือนซอฟต์พาวเวอร์มีชีวิตที่ช่วยเผยแพร่แนวคิดความเป็นไทยสู่โลกตะวันตก

“เราพบว่าผู้ชมงานชาวต่างประเทศสามารถเข้าถึงความขัดแย้งบางอย่างที่เราสอดแทรกไว้ในงานศิลปะของเราได้โดยไม่จำเป็นต้องรู้เรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทยมาก่อนเลยก็ได้ ผมไม่ได้จะบอกว่างานในอนาคตของเราจะถูกสร้างสรรค์ขึ้นมาเพื่อ ‘สั่งสอน’ ผู้คน มันเกินหน้าที่ของการเป็นศิลปิน แต่เราอาจจะแค่แสดงให้เห็นถึงตัวอย่างของการหยิบยืม เรื่องราวในอดีตหรือองค์ประกอบบางอย่างของจารีตประเพณีดั้งเดิมมาประยุกต์ใช้” นักรบกล่าว

ในสังคมโลกที่ประกอบด้วยอุดมการณ์ที่แตกต่างหลากหลายเช่นนี้ การให้อิสระแก่ศิลปินได้นำองค์ประกอบทางวัฒนธรรมแบบดั้งเดิม หรือประวัติศาสตร์เก่าแก่มาประยุกต์เพื่อสื่อสารให้คนรุ่นปัจจุบันได้รับรู้ผ่านงานศิลปะอาจจำเป็นต่อการพัฒนาของโลกศิลปะศิลปินอย่างนักรบและจิตติ รวมไปถึงศิลปินรุ่นใหม่ร่วมสมัยของพวกเขา คือตัวอย่างของคนที่พยายามจะนำเสนอและบอกเล่ามรดกทางวัฒนธรรมด้วยแนวคิดที่พลิกแพลง ครอบคลุม และจริงใจต่อยุคสมัยของตนเพื่อชักนำให้เกิดการถกเถียง ต่อยอด และวิวัฒน์ใน ‘ความเป็นไทย’

ที่จริงๆ แล้วคงไม่อาจมีข้อสรุปว่าเป็นอย่างไรเพียงรูปแบบเดียว