SECTION
ABOUTECONOMIC REVIEW
อนาคตที่ไม่สดใสของโลกาภิวัตน์
หากแบ่งคนไทยเป็นกลุ่มอายุ จะพบว่าคนไทยที่เป็นผู้ใหญ่วันนี้ตั้งแต่อายุ 20 ปีถึง 70 ปี มีรวมทั้งสิ้นเกือบ 48 ล้านคน เป็นกลุ่มที่ไม่เคยต้องเผชิญกับสงครามโลก แต่เป็นกลุ่มที่ได้เห็นพัฒนาการของการเชื่อมโยงโลกทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและเร่ง ตัวขึ้นอีกในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา ซึ่งต่อมาเรียกว่า 'โลกาภิวัตน์' (Globalization) และวิวัฒนาการต่อไปสู่การขยายห่วงโซ่อุปทานของโลก (global supply chain) ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ทำให้เศรษฐกิจของโลกขยายตัวได้ดีและต่อเนื่องบนพื้นฐานของการพัฒนาที่ขับเคลื่อนด้วยการผลิตและพัฒนาสินค้าและบริการใหม่ๆ ขึ้นมาโดย อาศัยการลงทุนเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีใหม่และการลงทุนสร้างโรงงานเพื่อผลิตในประเทศที่ต้นทุนการผลิตต่ำ (off-shoring) ตลอดจนการมุ่งเน้นทำแต่กิจกรรมที่เชี่ยวชาญที่สุด (specialization) เพื่อลดต้นทุนการผลิตให้ต่ำ แต่ก็เป็นการเพิ่มการพึ่งพาระหว่างกันมากขึ้น (dependency)
แนวโน้มที่ว่านี้พอจะวัดได้จากการนำมูลค่าการส่งออกมาเปรียบเทียบกับมูลค่าจีดีพีของโลก ซึ่งมีการเก็บข้อมูลให้เห็นเป็นร้อยปี
'โลกาภิวัตน์' และการขยายห่วงโซ่อุปทานของโลกเป็นปรากฏการณ์ที่ทำให้เศรษฐกิจของโลกขยายตัวได้ดีและต่อเนื่องบนพื้นฐานของการพัฒนาที่ขับเคลื่อนด้วยการผลิตและพัฒนาสินค้าและบริการใหม่ๆ ขึ้นมา โดยอาศัยการลงทุนเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีใหม่และการลงทุนสร้างโรงงานในประเทศที่ต้นทุนการผลิตต่ำ ... เพื่อลดต้นทุนการผลิตให้ต่ำ แต่ก็เป็นการเพิ่มการพึ่งพาระหว่างกันมากขึ้น
หากพิจารณาจากกราฟ จะเห็นได้ว่าในต้นศตวรรษที่แล้วการส่งออกต่อจีดีพีสูงถึง 14% ในปี 1913 ซึ่งปรับขึ้น มาโดยตลอดจากหลายสิบปีก่อนหน้า ในช่วงนั้นการค้าขายที่เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดจากการล่าอาณานิคมเพื่อเปิดตลาดของประเทศมหาอำนาจของยุโรป ซึ่งปิดฉากลงเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง (1914-1918) กล่าวคือสงครามทำให้โลกรบกัน ไม่ได้ค้าขายกัน ต่อเนื่องไปถึงสงครามโลกครั้งที่สอง (1939-1945) ทำให้สัดส่วนการส่งออกต่อจีดีพีของโลกลดลงเหลือต่ำกว่า 5%
ต่อจากนั้นการค้าระหว่างกันของโลกก็ปรับตัวดีขึ้นแต่ไม่มากเพราะเป็นช่วงของสงครามเย็นจุดเปลี่ยนสำคัญ (โดยไม่ได้ตั้งใจ) คือวิกฤติน้ำมันและเงินเฟ้อสูงที่เริ่มต้นในปี 1973 ซึ่งกระตุ้นให้มีการแสวงหาและลงทุนในการพัฒนาแหล่งพลังงานใหม่ๆ ทั่วโลกเพื่อทดแทนน้ำมันดิบจากโอเปก เราจะจำได้ว่ามีบริษัทพลังงานข้ามชาติเข้าไปสำรวจพบก๊าซธรรมชาติที่อ่าวไทย 10 ปีต่อมาและในประเทศตลาดเกิดใหม่ทั่วโลกในช่วง 1975-2000
ยุคนั้นยังเป็นยุคของการขยายตัวของบริษัทข้ามชาติ (multinational corporations) ในทุกๆ ด้านเพื่อหาตลาดใหม่ๆ และลดต้นทุนการผลิต รวมทั้งประเทศไทยที่ได้รับเงินลงทุนจากญี่ปุ่นที่หลบเลี่ยงการแข็งค่าของเงินเยนและการขาดแคลนแรงงาน เช่น การย้ายอุตสาหกรรมรถยนต์มาผลิตที่ประเทศไทย
แรงขับเคลื่อนการลงทุนและการค้าระหว่างประเทศถูกกระตุ้นต่อไปอีกหลังจากปี 1990 เมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลาย ทำให้เศรษฐกิจทุนนิยมได้รับแรงงานและทรัพยากรจากประเทศที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต และแม้แต่รัสเซียเองก็ปรับเปลี่ยนเศรษฐกิจมารับการลงทุนจากบริษัทข้ามชาติมากมาย ในทำนองเดียวกันการเปิด ประเทศของจีนโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าเป็นภาคีองค์กรการค้าโลก (WTO) ของจีนในปี 2001 ก็เป็นการนำทรัพยากรและแรงงานราคาถูกเติมเข้าไปในระบบลงทุนนิยม
จึงไม่ต้องแปลกใจว่าสัดส่วนของการส่งออกต่อจีดีพีของโลกเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจากต่ำกว่า 10% ตอนปี 1975 มาเป็น 15% ในปี 1990 และ 19% ในปี 2001 และถึงจุดสูงสุดที่ 26% ในปี 2008 ก่อนที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะประสบกับวิกฤติทางการเงินและเศรษฐกิจตกต่ำอย่างรุนแรงในปีดังกล่าว ในช่วงเวลาดังกล่าว อัตราเงินเฟ้อก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่วนสำคัญเพราะทรัพยากรที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวประกอบกับการขยายการลงทุนระหว่างประเทศและการเชื่อมโยงกันของเศรษฐกิจโลกได้ช่วยลดต้นทุนการผลิตลงอย่างมาก
พวกเราส่วนใหญ่ในวันนี้เกิดและทำงานในช่วงที่ globalization โชติช่วงชัชวาล แต่ยุคดังกล่าวอาจจะกำลังปิดฉากลง และในอนาคตจีดีพีน่าจะขยายตัวช้าลงและเงินเฟ้อก็น่าจะสูงขึ้นในช่วง 20-30 ปีข้างหน้าด้วย
ผมขอสรุปว่าชีวิตของพวกเราส่วนใหญ่ในวันนี้ เกิดและทำงานในช่วงที่ globalization โชติช่วงชัชวาล แต่ยุคดังกล่าวอาจจะกำลังจะปิดฉากลงและในอนาคตจีดีพีน่าจะขยายตัวช้าลงและเงินเฟ้อก็น่าจะสูงขึ้นในช่วง 20-30 ปีข้างหน้าอีกด้วย ผมไม่ได้ต้องการมองโลกในแง่ลบ แต่มีเหตุให้ต้องสรุปในทำนองนั้นครับ
อันที่จริงแล้วความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงของการพึ่งพา global supply chain นั้น กล่าว ได้ว่าเริ่มขึ้นเมื่อเกิดน้ำท่วมใหญ่ที่ประเทศไทยในปี 2011 (และปีเดียวกันก็มีแผ่นดินไหวรุนแรงที่ญี่ปุ่น) ทำให้การผลิตสินค้าอุตสาหกรรม (โดยเฉพาะรถยนต์) ได้รับผลกระทบอย่างหนัก ต่อมาก็มีกระแสต่อต้านการรวมตัวกันทางเศรษฐกิจ เช่น Brexit และประธานาธิบดีทรัมป์ก็ทำสงครามการค้ากับจีน ทำให้เห็นได้ว่าโลกกำลังต้องการถอยหลังออกจากโลกาภิวัตน์ แต่ ต้องยอมรับว่าในช่วงดังกล่าวมีแต่คำพูด ไม่ค่อยเห็นการกระทำอย่างจริงจัง
แต่ผมมองว่าการระบาดของโควิด-19 และสงครามยูเครน-รัสเซียกำลังจะทำให้ de-globalization หรือ on-shoring เริ่มเป็นจริงในช่วง 10-20 ปีข้างหน้า นอกจากนั้นสหรัฐฯ ก็ยังมีท่าทีชัดเจนมากขึ้นว่าต้องการลดทอนการพึ่งพาจีน โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อการสร้างความเป็นหนึ่งทางเทคโนโลยี เช่น อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์
กล่าวคือยุคที่ธุรกิจต้องการลดต้นทุนโดยการขยาย global supply chain กำลังจะถูกลดทอนลงเมื่อธุรกิจเริ่ม ให้ความสำคัญอย่างจริงจังกับ supply chain security ไม่ใช่ supply chain efficiency เพียงอย่างเดียว แต่ความมั่นคงของห่วงโซ่การผลิตนั้นย่อมต้องมีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น ทั้งในเชิงของการลงทุนและต้นทุนการผลิตต่อหน่วยที่จะต้องปรับตัวสูงขึ้นในช่วง 5-10 ปีข้างหน้า
นอกจากนั้นก็ยังมีภารกิจที่จะต้องลงทุนเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามพันธะที่ให้ไว้กับ Cop26 ซึ่งย่อมหมายถึงการลงทุนที่เพิ่มขึ้นและต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นในอีกทางหนึ่งด้วย ผมจึงต้องสรุปว่ามีความเสี่ยงสูงในอนาคต 20-30 ปีข้างหน้าที่เศรษฐกิจโลกจะเผชิญกับอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น แต่การขยายตัวทางเศรษฐกิจจะต่ำกว่าในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมาครับ ■