SECTION
ABOUTINVESTMENT REVIEW
เมื่อโลกหมดยุคเงินเฟ้อต่ำ
หนึ่งในปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่โลกกำลังเจออยู่ตอนนี้ จนทำเอาโลกการลงทุนปั่นป่วนไปหมด คือ ปัญหาเงินเฟ้อสูง ที่กำลังสร้างปัญหาไปทั่วโลก ในหลายประเทศอัตราเงินเฟ้อพุ่งขึ้นสูงที่สุดในรอบหลายทศวรรษ ไปแตะระดับร้อยละ 8-10 ที่ต้องถือว่าสูงมาก (ลองนึกภาพว่าค่าครองชีพของคนส่วนใหญ่ของประเทศปรับเพิ่มขึ้นทีละเยอะๆ ขนาดนี้สิครับ)
ครั้งสุดท้ายที่เราเห็นเงินเฟ้อสูงแบบนี้อาจต้องย้อนกลับไปยุคที่เรียกว่า stagflation หรือยุคข้าวยากหมากแพงในช่วงทศวรรษที่ 1970s-1980s ในยุคนั้นเงินเฟ้อปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง จากปัญหาราคาน้ำมันปรับสูงขึ้นหลายเท่าจากความขัดแย้งในตะวันออกกลาง และนโยบายการเงินที่ไม่ได้เอาจริงกับการแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อ จนทำให้เงินเฟ้อค้างสูงเป็นเวลานาน ส่งผลให้การคาดการณ์เงินเฟ้อปรับสูงขึ้นและไม่มีจุดยึดโยง จนนำไปสู่สิ่งที่เรียกว่า wage price spiral พอทุกคนคาดว่าเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับสูง การตั้งราคาสินค้าบริการ และการกำหนดค่าจ้าง ก็ต้องบวกเงินเฟ้อเข้าไปด้วย ยิ่งทำให้ต้นทุนการผลิต และราคาสินค้าติดลมบน ปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
เงินเฟ้อในยุคนั้นสูงกว่าร้อยละ 7 ต่อเนื่องหลายปี และปรับขึ้นไปสูงสุดเกินร้อยละ 13
กว่าจะคุมเงินเฟ้อได้ ธนาคารกลางสหรัฐฯต้องเปลี่ยนตัวประธานไปหลายคน และต้องปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นไปเกือบร้อยละ 20 ทำให้ภาวะเศรษฐกิจถดถอยถึงสามครั้งในระยะเวลาไม่ถึงสิบปี คือในปี 1973, 1980,และปี 1982 ขณะเดียวกันธนาคารกลางสหรัฐฯยังคงต้องเก็บดอกเบี้ยนโยบายในระดับสูงแม้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยแล้วก็ตาม
แต่หลังจากนั้นเป็นต้นมา เงินเฟ้อโลกได้ปรับลดลงมาอย่างต่อเนื่อง จนทำให้อัตราดอกเบี้ยเป็นขาลงตลอดสี่สิบปีที่ผ่านมา ยิ่งเศรษฐกิจโลกโตช้าหลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลในปี 2008 ทั้งเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยยิ่งต่ำเตี้ยติดดิน
ในช่วงที่ผ่านมา มีหลายปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้ออยู่ในขาลง ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินนโยบายการเงิน ที่ให้ความสำคัญกับความน่าเชื่อถือ และการควบคุมเงินเฟ้อเพิ่มมากขึ้น กระแสโลกาภิวัตน์ที่การค้าโลกและการปรับห่วงโซ่อุปทานของโลกช่วยลดต้นทุนการผลิตสินค้าอย่างมหาศาล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเข้าเป็นมหาอำนาจด้านการผลิตของจีน ที่นำแรงงานส่วนเกินจำนวนมหาศาลมาช่วยลดต้นทุนการผลิตสินค้า จนมีคนบอกว่าจีนเป็นคนส่งออกเงินฝืดตัวยง เพราะผลิตสินค้าที่ไหนก็ถูกสู้จีนไม่ได้
การเปิดเมือง ที่สร้างอุปสงค์ชั่วคราวขึ้นมา ในขณะที่การผลิตสินค้าและบริการยังคงอยู่ในภาวะชะงักงัน ทำให้ราคาสินค้าพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น ราคารถยนต์ใช้แล้วที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 30-40 เพราะคนไม่ได้ขับรถกันมาหนึ่งปี พอจะกลับมาขับพร้อมกัน แต่ปริมาณการผลิตรถยนต์ยังกลับมาได้ไม่เต็มที่ทำให้ราคาพุ่งขึ้น
นอกจากนี้ โครงสร้างประชากรของประเทศที่พัฒนาแล้วที่เริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และเศรษฐกิจโลกที่ผ่านภาวะชะลอตัว ทำให้อุปสงค์เริ่มโตช้าลง
แต่ดูเหมือนว่าตั้งแต่โลกเราเริ่มกลับมาฟื้นตัวได้ หลังจากที่แทบจะปิดเมืองพร้อมกันทั้งโลกไปเป็นปี ปัญหาเงินเฟ้อเริ่มกลับมาอีกครั้ง อาจจะมองได้ว่าแรงกดดันเงินเฟ้อมาจากสี่ด้านใหญ่ๆ ด้วยกัน
หนึ่ง คือ การเปิดเมือง ที่สร้างอุปสงค์ชั่วคราวขึ้นมา ในขณะที่การผลิตสินค้าและบริการยังคงอยู่ในภาวะชะงักงัน ทำให้ราคาสินค้าพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น ราคารถยนต์ใช้แล้วที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 30-40 เพราะคนไม่ได้ขับรถกันมาหนึ่งปี พอจะกลับมาขับพร้อมกัน แต่ปริมาณการผลิตรถยนต์ยังกลับมาได้ไม่เต็มที่ทำให้ราคาพุ่งขึ้น
สอง คือ ราคาน้ำมันและพลังงานอื่นๆ ที่พุ่งขึ้นสูงจากทั้งอุปสงค์ที่ปรับสูงขึ้น กับปริมาณการผลิตที่ไม่ตอบสนองต่อราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากความพยายามในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่เรารณรงค์กันมานานหลายปี จนทำให้ผู้ผลิตพลังงานฟอสซิลเริ่มชะลอการลงทุนใหม่ๆ ในขณะที่เทคโนโลยีการผลิตพลังงานทางเลือกยังไม่พร้อมที่จะทดแทนพลังงานฟอสซิล
ปัญหาสงครามรัสเซีย ยูเครน ยิ่งทำให้ราคาน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว และไม่มีใครรู้ว่าราคาจะปรับขึ้นไปได้อีกมากขนาดไหน และราคาไหนจะเริ่มทำให้อุปสงค์เริ่มปรับตัวลดลง หรือเศรษฐกิจที่ชะลอลงจะทำให้ราคาน้ำมันปรับลดลงได้แค่ไหน
สาม คือ ปัญหาข้อจำกัดด้านอุปทานอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการขาดแคลนชิปคอมพิวเตอร์ ต้นทุนการขนส่งสินค้า การขาดแคลนแรงงาน และต้นทุนการผลิตสินค้าหลายๆ ชนิดที่สูงขึ้นและของไม่พออีก ที่ใช้เวลาพอสมควรกว่าจะปรับตัวกลับมาได้
และสุดท้ายคือ แรงกดดันเงินเฟ้อที่เกิดจากฝั่งอุปสงค์ ไม่ว่าจะเกิดจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาที่ทำให้เศรษฐกิจร้อนแรงเกินจริง หรือเงินเฟ้อที่ค้างสูงเป็นเวลานานที่ทำให้ธุรกิจเริ่มส่งผ่าน และสะท้อนต้นทุนที่สูงขึ้นในราคาสินค้า ค่าเช่าบ้าน และค่าจ้าง
สังเกตว่า แม้ว่านโยบายการเงินจะทำอะไรกับเงินเฟ้อที่เกิดจากสามแหล่งแรกข้างบนไม่ได้เลย (ขึ้นดอกเบี้ยไปก็ไม่ได้ทำให้รัสเซียเลิกรบกับยูเครนหรือทำให้ปริมาณน้ำมันเพิ่มขึ้น) และอาจจะช่วยควบคุมเงินเฟ้อที่เกิดจากฝั่งอุปสงค์ได้บ้าง แต่ก็ใช้เวลากว่าจะเห็นผล แต่ดูเหมือนว่าภาระในการดูแลเงินเฟ้อถูกโยนให้ธนาคารกลางเต็มๆ ที่ต้องถอนคันเร่งของนโยบายการเงินกันอย่างเร่งด่วน และเริ่มเข้าโซนแตะเบรกกันอย่างจัง
การลงทุนในยุคนี้ต้องใช้ความระมัดระวังอย่างยิ่ง หลีกเลี่ยงการลงทุนที่เพ้อฝัน ไม่มีปัจจัยพื้นฐานมีลักษณะเหมือนฟองสบู่ ขณะที่การลงทุนที่ใช้หนี้ในระดับสูง และมีต้นทุนทางการเงินมาก ต้องกลับสู่พื้นฐาน หาการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสม่ำเสมอ หลบจากคลื่นลมต่างๆ ได้ และเตรียมหาที่หลบในยามที่ความเสี่ยงของเศรษฐกิจมีมากขึ้นเรื่อยๆ
ส่วนหนึ่งเพราะบทเรียนที่ได้จากยุคก่อนที่สอนเราว่า ถ้าเราไม่จริงจังกับเงินเฟ้อ ปล่อยให้ธนาคารกลางสูญเสียการควบคุม 'narrative' ของการคาดการณ์เงินเฟ้อ และทิศทางนโยบายการเงิน เศรษฐกิจจะหลุดเข้าไปสู่ยุคเงินเฟ้อสูง และจะทำให้ดึงเอาเงินเฟ้อลงมาได้ยากจริงๆ
ธนาคารกลางจึงต้องออกมายืนยันว่าจะให้ความสำคัญกับการควบคุมเงินเฟ้อ และออกมายอมรับกันกลายๆ ว่า การถอนคันเร่งและแตะเบรกครั้งนี้ อาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ การจ้างงานจะลดลง คนจะตกงานเพิ่มขึ้น แต่ก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เพื่อควบคุมเงินเฟ้อไม่ให้ค้างสูง
เรียกว่า รู้ว่าเสี่ยงแต่ยังต้องขอลอง
และตลาดกำลังคิดว่าเศรษฐกิจโลกมีโอกาสเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยมากขึ้นเรื่อยๆ
หวังไว้แค่ว่า เศรษฐกิจที่จะชะลอตัว จะไม่ทำให้อะไรแตกหักเสียหายรุนแรง จนนำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ แต่เราก็เริ่มเห็นรอยแตกของฟองสบู่ของสินทรัพย์ที่ได้รับประโยชน์จากภาวะสภาพคล่องสูงและดอกเบี้ยถูกกันแล้ว เช่น สินทรัพย์ดิจิทัลหลากหลายชนิด และฟองสบู่สินทรัพย์อื่นๆ
อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นยิ่งจะทำให้ต้นทุนทางการเงินของครัวเรือน ธุรกิจ และประเทศที่พึ่งพิงการกู้ยืมเงินสูงขึ้น จนอาจจะเกิดการผิดนัดชำระหนี้เพิ่มขึ้นได้
เราจึงเห็นราคาหุ้น ราคาหุ้นกู้ พันธบัตร และค่าเงินประเทศต่างๆ ปั่นป่วนกันไปทั่วโลก
จากแรงกระเพื่อมที่เกิดจากเงินเฟ้อ ได้กลายไปเป็นแรงกระเพื่อมต่ออัตราดอกเบี้ย และกำลังสร้างแรงกระเพื่อมไปสู่การเติบโตของเศรษฐกิจ ที่จะมีผลต่อกำไรของบริษัทจดทะเบียน และมีความเสี่ยงที่จะกลายเป็นแรงกระเพื่อมต่อเสถียรภาพของระบบการเงิน
การลงทุนในยุคนี้ จึงต้องใช้ความระมัดระวังอย่างยิ่ง หลีกเลี่ยงการลงทุนที่เพ้อฝัน ไม่มีปัจจัยพื้นฐาน มีลักษณะเหมือนฟองสบู่ ขณะที่การลงทุนที่ใช้หนี้ในระดับสูง และมีต้นทุนทางการเงินมาก ต้องกลับสู่พื้นฐานหาการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสม่ำเสมอ หลบจากคลื่นลมต่างๆ ได้ และเตรียมหาที่หลบในยามที่ความเสี่ยงของเศรษฐกิจมีมากขึ้นเรื่อยๆ ■