SECTION
ABOUTOPTIMUM VIEW
Carving Their Own Paths
เส้นทางความเป็นตัวของตัวเองที่นําสามพี่น้องจาติกวณิชไปสู่ความสําเร็จและอิสระของชีวิต
คงไม่ผิดหากจะกล่าวว่าสามพี่น้อง‘จาติกวณิช’ คือ จี๊ป-อธิไกร ดอน-กรณ์ และพิพ-อนุตร ล้วนแล้ว แต่สร้างความสำเร็จที่น่าตื่นเต้นในแบบที่เป็นตัวของ ตัวเองอย่างยิ่ง
เริ่มตั้งแต่จี๊ป พี่ชายคนโต สําเร็จการศึกษา ศิลปศาสตร์บัณฑิตด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่กลับผันตัวมาทำงานในตลาดทุน และในที่สุดก็เป็นผู้ก่อตั้งของ Hunters Investments และ Ton Poh Fund บริษัทออฟชอร์ที่เชี่ยวชาญการลงทุน ในหุ้นของไทยและอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง
พิพ น้องชายคนสุดท้อง เริ่มต้นทำงานใน ตำแหน่งกรรมการผู้จัดการของบริษัท พลังงาน อุตสาหกรรม และบริษัท เอช เพาเวอร์ ในกลุ่มบริษัท เหมราช ซึ่งผลิตไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ด้วยวัยเพียง 26 ปี และเป็นหนึ่งในผู้ผลักดันให้เกิดธุรกิจผลิตไฟฟ้าโดยภาคเอกชนของประเทศ จนเคยได้รับสมญาจากสื่อฯ ว่า ‘หนุ่มไฟแรงสูง’
และแน่นอนที่สุด ดอน หรือที่สังคมนิยมเรียกแต่ ชื่อจริงว่ากรณ์ ก่อตั้งบริษัทหลักทรัพย์ เจเอฟ ธนาคม เป็นของตัวเองตั้งแต่อายุ 24 ปี ก่อนที่จะขายให้กับ JP Morgan Chase และขึ้นเป็นประธานของบริษัท หลักทรัพย์ เจพีมอร์แกน (ประเทศไทย) ภายหลังการ ควบรวม ยิ่งกว่านั้น เมื่อหันมาทำงานการเมือง ก็ได้เป็นถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง และได้รับการยกย่องจากนิตยสาร The Banker ให้เป็น Finance Minister of the Year ทั้งในระดับภูมิภาคเอเชียและในระดับโลก
อย่างไรก็ตาม การได้สัมภาษณ์สามพี่น้องพร้อมกัน ทำให้ได้พบว่าท่ามกลางภาพชีวิตที่ดูเป็นตัวของ ตัวเองแบบ ‘ทางใครทางมัน’ ของทั้งสาม แท้จริงแล้ว ล้วนมี ‘ต้นทาง’ เดียวกัน คือต้นทางที่มาจาก ไกรศรี และ รัมภา จาติกวณิช บุคคลที่ทั้งสามยอมรับว่า เป็นต้นฉบับของความเป็นตัวของตัวเองอย่างแท้จริง
ทางที่พ่อเดิน
กรณ์ : “คุณพ่อและคุณแม่เป็นคนที่มีอิสระทางความคิดสูงมาก โดยเฉพาะคุณพ่อ ไม่ค่อยสนใจกระแสสังคม กระแสไปทางไหน พ่อจะไปอีกข้าง ไม่ใช่เพื่อจะเรียกร้องความสนใจ แต่เป็น DNA ของเขา ไม่จำเป็นต้องอธิบายชี้แจงให้คนอื่นเข้าใจ
...มันมีส่วนในเกือบๆ ทุกการตัดสินใจ ใช้คำว่า ขวางโลกก็ได้ คนอื่นเขามีบ้านพักตากอากาศหัวหิน พ่อจะอยู่ชะอำ สมัยนั้นยังไม่มีใครไปอยู่เลย จะอยู่ที่นั่นต้องมีปืนลูกซองอยู่ที่บ้าน เพราะมันเปลี่ยว พอไปอยู่ที่เชียงใหม่ คนอื่นเขาอยู่แม่ริม พ่อก็ไปอยู่ จอมทอง ตอนที่พวกผมไปเรียนหนังสือที่อังกฤษแล้วคิดว่าจะซื้อแฟลต คนอื่นเขาอยู่ในลอนดอน เราต้องไปอยู่ริชมอนด์ ชานเมือง ถามว่าโดยเจตนาหรือเปล่า ที่เลือกจะไม่อยู่กับคนอื่น ก็ไม่ถึงขนาดนั้น แต่พอเอาการตัดสินใจแต่ละครั้งๆ มารวมกัน มันเห็น แพทเทิร์นบางอย่าง”
จี๊ป : “ที่เห็นแน่ๆ เราไม่เคยไหว้พ่อแม่เลย ไม่เคยโดนสอนให้ไหว้พ่อแม่ ไม่เคยเรียก ‘คุณพ่อ คุณแม่’ เรียก ‘พ่อแม่’ ไม่พูด ‘ครับ’ พูด ‘จ๊ะจ๋า’ คุณพ่อนี่ เลี้ยงลูกแบบฮาร์ดมาก ความอบอุ่นวัยเด็กจากพ่อ แทบไม่มี ไม่ได้หมายความว่าไม่รักนะ แต่แกมีสไตล์ แสดงออกความรักที่เป็นเอกลักษณ์ของแกเอง เป็นแบบคนสมัยนั้น ไม่มีแบบพ่อสมัยนี้ ลูกเก่งลูกดี อย่างนั้นอย่างนี้”
กรณ์ : “เป็นแบบข้าราชการยุคนั้น แข็งๆ พ่อจะ เล่าเรื่องคุณปู่ เรื่องสงคราม ชีวิตสมัยสงคราม เราโตขึ้นถึงรู้ว่าเรื่องจริงบ้างไม่จริงบ้าง แล้วคุณพ่อ จะเปรียบเทียบว่าสมัยคุณปู่เลี้ยงพ่อยังไง เพื่อจะให้ เราเห็นว่าความจริงที่พ่อทำกับเรานี่ค่อนข้างอบอุ่น แล้วนะ (หัวเราะ) พ่อเคยเล่าให้ฟังว่าทั้งชีวิตของพ่อ เคยกินข้าวร่วมโต๊ะกับคุณปู่แค่สองหน นอกนั้นก็ คือกินหลังบ้าน ถ้ามาดูจริงๆ น่าจะเป็นนิสัยประจำตระกูล ลุงป้าเป็นอย่างนั้นหมด independent
ผมจำได้ลุงกษาน (ศ.นพ.กษาน จาติกวณิช) ขับรถ จะไปงานสังคมอะไรสักอย่าง แล้วไปถึงหน้างาน ปรากฏว่าคนเยอะ ลุงก็บอก ‘เฮ้ย---ไม่มีที่จอดรถ กลับบ้าน’ คือจะไม่จอดเลย ทั้งๆ ที่ท่านผู้หญิงสุมาลี ภรรยาของท่านนี่เป็นคนโซเชียลมาก อีกอย่างน้อง สาวกับพี่ชายคุณพ่อผมแต่งงานกับตระกูลล่ำซำ นานๆ ทีเวลามีงานรวมญาติ พวกล่ำซำเขาจะมา แพ็กใหญ่มาก ในขณะที่ฝั่งเรา ทั้งๆ ที่บ้านก็อยู่ติดๆ กันในซอยนี้หมด แต่คุณย่าต้องส่งสาส์นมาเกณฑ์ ว่าให้ไปร่วมงานกันหน่อย เพราะรู้ว่า ถ้าไม่ตาม ก็จะหายหมด (หัวเราะ)”
จี๊ป : “นานๆ ไปสิ่งเหล่านี้มันทำให้เรามี confidence ในการใช้ชีวิตแบบของเรา พวกเรา ภูมิใจในการมีความคิดที่เป็นอิสระ เป็นตัวของตัวเอง เหมือนที่ฝรั่งพูด ‘It’s never wrong to do the right thing.’ พ่อทำให้รู้สึกว่าอยากทำอะไรก็ได้ ไม่ต้องตาม คนอื่น พ่อไม่เคยมานั่งพูด แต่พวกเราเอาแบบอย่าง คุณพ่อมาตลอด เพราะคุณพ่อไม่เคยต้องขอใคร มีก็มี ไม่มีก็ไม่ว่าอะไร เงินที่ได้คือได้จากการลงทุน หรือความคิดของตัวเอง แล้วไม่ได้ตั้งใจด้วยว่าจะ ต้องไม่เหมือนคนอื่น แต่มันเป็นปกติของเขา ทัศนคติ ของพ่อต่อการชวนไปโน่นไปนี่ คือ ‘ไปทำไมวะ? ทำทำไมวะ?’ เป็นคำถามที่ยากต่อการหาคำตอบ (หัวเราะ)”
พิพ : “เขาคิดว่าอะไรควรทำ อะไรถูกต้อง เขาก็จะทํา ไม่สนคนอื่นคิดยังไง และที่สําคัญ ไม่ชอบ พึ่งคนอื่น”
กรณ์ : “แต่ไม่ได้เป็นประโยชน์กับเราเสมอไป เช่น ถ้าเทียบกับคนอื่นๆ ในรุ่นต้องถือว่าเป็นเรื่อง แปลกที่เราสามคนไม่เคยเรียนหลักสูตร วปอ. วตท. บยส. หรือหลักสูตร ‘สร้างรุ่น’ ประเภทต่างๆทั้งสิ้น”
จี๊ป : “มันกลับไปที่คำถามของพ่อ ‘เรียนทําไมวะ?’ ถ้าตอบไม่ได้มันก็จบ มันฟังง่ายๆ นะแต่เป็น benchmark ที่ดี”
พิพ : “ถ้าเป็นคําตอบที่ว่า ใครๆ ก็เรียนกัน นั่นไม่ใช่คําตอบของพวกเราแล้ว”
กรณ์ : “อย่างน้อยมัน ไม่ใช่คําตอบที่ดีพอ เรามักจะมีความรู้สึกเหมือนคุณพ่อว่า ทําอะไรก็ควรทําด้วยตัวเอง เพราะคุณต้องยอมรับว่าแรงจูงใจส่วน หนึ่งของการเข้าไปเรียนหลักสูตรพวกนี้ก็คือการหาพวก หาเน็ตเวิร์ก เราไม่ได้ปฏิเสธคนอื่น แต่เรามี ความรู้สึกว่า ปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่งในความสําเร็จของเราคือ การเป็นตัวของตัวเอง พอมีพวก มีรุ่น มันเป็นตัวของตัวเองยากขึ้น”
เกียรติข้าราชการ
แม้การทําตามหลักการมากกว่ากระแสจะฟังดู เป็นอุดมคติที่ดี แต่น่าสงสัยว่าโดยทั่วไป ข้าราชการ มักจะมีภาพลักษณ์ของการต้องดําเนินตามกฎ ระเบียบ ผู้บังคับบัญชา หรือครรลองอื่นๆ อะไร คือสาเหตุที่ทําให้ข้าราชการอย่างไกรศรีสามารถ คงความเป็นตัวของตัวเองได้ อีกทั้งยังดูเหมือนจะเจริญก้าวหน้าเป็นอย่างดี เพราะสุดท้าย เขาเคยรับ ตําแหน่งเป็นถึงอธิบดีกรมศุลกากร กรมธนารักษ์ และผู้อํานวยการสํานักงานเศรษฐกิจการคลัง
กรณ์ : “ข้าราชการสมัยนั้นกับสมัยนี้ไม่เหมือนกันนะ คุณต้องนึกภาพว่าข้าราชการยุคนั้นนี่คือคนอย่าง อานันท์ ปัณยารชุน ศิววงศ์ จังคศิริ พวกนี้ไม่เคยวิ่งตําแหน่ง ไม่ว่าจะด้วยเชื้อสายวงศ์ตระกูลเอย การศึกษาเอย ข้าราชการยุคนั้นนี่คืออํามาตย์แท้จริงเลย แล้วเราโตมาในบ้านราชการ เราจะได้เห็นได้ยิน ทัศนคติของข้าราชการที่มีต่อฝ่ายการเมืองผ่านคุณพ่อ มันชัดเจนว่าเขามองสถานะเขายังไง มันไม่เหมือนสมัยนี้”
จี๊ป : “ข้าราชการสมัยนั้น integrity (คุณธรรม) สูงมาก มีความคิดในหัว กูแน่ กูเรียนสูง กูรู้ best practice เอาอย่างนี้ดีกว่า ตอนยืนกับรัฐมนตรีสมัยนั้น พ่อไม่เคยต้องกุมกระเป๋ง ยืนเท้าสะเอว มือซุกกระเป๋า มีความเป็นตัวของตัวเองสูงมาก มันถ่ายทอดมาถึงเราว่าในช่วงชีวิตของเรา ตําแหน่งอาจจะไม่เท่ากัน แต่ไม่ได้หมายความว่าเราไม่เท่าเทียม พวกเราถึงโตขึ้นมาโดยที่ไม่เคยรู้สึกว่าด้อยกว่าใครเลย มีความมั่นใจในตัวเอง เขามีก็มีของเขาไป ไม่เคยต้องเปรียบเทียบ เรามั่นใจในสิ่งที่เราเป็นอยู่ ไม่ว่าจะเป็นวิธีคิด วิธีการทำงาน”
กรณ์ : “ทําให้นึกถึงคุณชาตรี (โสภณพนิช) บ้านเก่าของเราเล็กๆ 2 ชั้น 3 ห้องนอน คุณชาตรี เขาสนิทกับบ้านเรา วันดีคืนดีเขาก็เดินมาบ้าน แม่ก็ออกไปต้อนรับ แล้วก็พาเดินดูบ้าน เดินดูบ้านนี่คือ ประมาณ 30 วินาทีก็จบแล้ว แล้วประโยคของคุณชาตรีที่ทักตอนดูบ้านเสร็จ พวกเรารู้สึกว่าเป็นสิ่งที่น่ารักมาก ‘โห บ้านคุณไกรศรี ดีนะ เล็กดี ได้ใช้ทุกห้อง’ เขาพูดด้วยความจริงใจ ทั้งๆ ที่ความจริง คอนเซ็ปต์ ‘ได้ใช้ทุกห้อง’ นี่มันเป็นคอนเซ็ปต์ปกติ ของคนทั่วไปทั้งนั้น แต่บ้านแกคงใหญ่โต พวกเรา ห้องรับแขก ห้องกินข้าว ห้องนั่งเล่น ห้องเดียวกัน (หัวเราะ)”
จี๊ป : “ผมว่าสมัยนั้นการเมืองยังไม่แข็ง คนจบนอกเข้ามารับราชการเพราะศักดิ์ศรี เพราะต้องการ สร้างผลประโยชน์ให้กับประเทศชาติ คนสมัยนั้น เหมือนกับโดน mold มาว่าต้องกลับมาทําประโยชน์”
กรณ์ : “สมัยนั้น ข้าราชการมีบทบาททำอะไรได้เยอะ เพราะบทบาทรัฐทางเศรษฐกิจมีมากกว่า ตอนนี้ อะไรๆ ก็รัฐ ไม่มีรัฐเรื่องก็เดินไม่ได้ ข้าราชการเลยได้จับต้องงานบริหารมากกว่าปัจจุบัน สมัยนี้อาจมีข้าราชการเข้าไปนั่งเป็นบอร์ด แต่ก็แค่ นั่งเฉยๆ ในขณะที่สมัยนั้น ข้าราชการเข้าไปดันงาน จริงๆ คุณพ่อท่านเข้าไปดันหลายเรื่อง มีทั้งสําเร็จ และไม่สําเร็จ ทั้งเรื่องปุ๋ยแห่งชาติ เรื่องวิกฤตราชาเงินทุน เรื่องตั้งบริษัทผาแดง เรื่องตั้งตลาดหลักทรัพย์ สิ่งเหล่านี้ทําให้เรารู้สึกว่างานสมัยนั้นมันหลากหลาย และต้องรับผิดชอบสูง สมัยนี้เวลาถามคนว่ามาเป็น ข้าราชการทําไมโดยเฉพาะข้าราชการผู้น้อย ก็มักจะ ได้รับคําตอบว่าเพราะสิทธิประโยชน์ โดยเฉพาะสิทธิ การรักษาพยาบาลสำหรับตัวเอง และครอบครัว ใน ขณะที่สมัยนั้น เราอยู่ที่บ้านไม่เคยได้ยินคุณพ่อพูด เรื่องประโยชน์ที่ได้รับ จําได้อย่างเดียวเลย คือพ่อได้ เบี้ยดูแลบุตรคนละ 50 บาท ต่อเดือน เพราะพ่อจะโจ๊กว่า ‘ได้เงินมาดูแลพวกลื๊อ 50 บาทต่อเดือน’”
จี๊ป : “เรื่องพวกนี้เป็นสิ่งที่กรณ์ค่อนข้างต่างจาก เราทั้งสองคน คือกรณ์จะรู้ แต่พวกเราไม่เคยรู้เลย (หัวเราะ)”
เราโตมาในบ้านราชการ เราจะได้เห็น ได้ยินทัศนคติ ของข้าราชการที่มีต่อฝ่ายการเมือง ผ่านคุณพ่อ มันชัดเจนว่าเขามองสถานะเขายังไง มันไม่เหมือนสมัยนี้
นามของคน เงาของไม้
ในอีกแง่หนึ่ง ในเมื่อสถาบันข้าราชการมีความเข้มแข็งอย่างนี้ ชวนให้คิดว่าตําแหน่งระดับสูงของ บิดาจะส่งผลกระทบให้พี่น้องจาติกวณิชเติบโตมาในภาวะที่พิเศษกว่าปกติ โดยเฉพาะในเมื่อไม่เพียงแต่ตัวไกรศรีเองที่มีตําแหน่งสูง พี่น้องของเขาหลายคน ก็เป็นข้าราชการระดับสูงทั้งสิ้น เช่นเกษม จาติกวณิช ผู้ก่อตั้งและผู้ว่าการคนแรกของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต แห่งประเทศไทย ผู้ได้รับการขนานนามว่า ‘ซูเปอร์เค’ หรือ Energy Tzar ของประเทศ หรือศ.นพ.กษาน จาติกวณิช อธิการบดีของมหาวิทยาลัยมหิดล
กรณ์: “ความจริงตอนที่เราโตมา คุณพ่อก็ไม่ได้ร่ำรวย หรือใหญ่โตอะไร ตอนนั้นเด็กอยู่ก็ไม่ได้สนหรอกว่าใครเป็นใคร แต่นานๆ ครั้งก็จะเจออะไรบางอย่างที่ทำให้เรารู้สึกว่าญาติผู้ใหญ่เรามีสถานะในสังคม จำได้เคยไปบ้านเพื่อน พ่อของเพื่อนทำงาน กฟผ. ตอนนั้นเราแค่ 8-9 ขวบเอง แต่เรารู้ท่าทีพ่อแม่เพื่อนมันผิดปกติ เราไม่ชอบ อึดอัดมาก แล้วก็รับรู้ทันทีว่าเป็นเพราะพ่อเขาอยู่ กฟผ. และลุงผมเป็นผู้ว่าฯ ผมจำได้ว่ารีบพยายามปลีกตัวออกมา เพราะอึดอัดมาก ลูกๆ เราเหมือนกัน สมัยผมเป็นรัฐมนตรี เวลาลูกผมซึ่งเรียนเมืองนอก ปิดเทอมจะกลับบ้าน ลูกผมจะส่งข้อความมาว่า ‘พ่ออย่าบอกใครเลยนะว่าลูกกลับบ้าน อย่าส่งใครมารับที่สนามบิน’ ลูกพี่ลูกน้องก็เหมือนกัน”
จี๊ป : “ไม่รู้ พ่อลูกพวกเราไม่เคยใหญ่ (หัวเราะ)”
พิพ : “ของผมมีช่วงที่เข้าไปเรื่องการผลิตไฟฟ้า โดยเอกชน ตอนนั้นเข้าไปติดต่อกับกฟภ. กฟผ. ลุงเกษมเกษียณไปแล้ว คงจะช่วยไม่ได้ แต่สิ่งที่ช่วยก็คือทุกคนที่อยู่ก็ลูกน้องเก่าลุงทั้งนั้น เราเข้าไปติดต่อ นี่ครึ่งชั่วโมงแรกเขาก็จะต้องเล่าเรื่องราวของตัวเอง เกี่ยวกับคุณลุง สมัยก่อนอยู่บางปะกง เคยสร้างเขื่อนกันมายังไง เป็นสิ่งที่น่ารัก แต่ด้านลบก็มี เช่นเขาจะบอกว่าลุงสร้างมาแล้วทําไมเราจะมาแยก เพราะการไฟฟ้าเอง ก็ไม่ยอมรับว่าเอกชนจะทำไฟฟ้าได้ ใหม่ๆ คุยกับลุงเกษม ลุงยังบอก ‘เอกชนทําไม่ได้หรอก เรื่องใหญ่ต้องรัฐทํา’ ผมก็เข้าใจนะเพราะกฟผ. ทํามาตลอด อีกอย่างถ้ารัฐไม่ทําเอาไว้ ก็ต่อยอด เป็นเอกชนไม่ได้ อย่างไรก็แล้วแต่ กฟผ.เป็นองค์กรที่ผมรักมาก สัมผัสได้ว่ามาตรฐานของคนที่นั่นไม่เหมือนกับรัฐวิสาหกิจบางที่ เวลาเข้าไปติดต่อกฟผ. ทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอน ทำทุกอย่างเพื่อผล ประโยชน์ของประเทศ ไม่มีนอกมีใน คนมีความรู้ ความสามารถ มีความภูมิใจในงานที่ตัวเองทํา แต่ตอนนี้เข้าไปแล้วมีความรู้สึกว่าไม่เหมือนเดิม องค์กรเปลี่ยนไปมาก ถูกการเมืองเข้ามาแทรกแซงเยอะมาก
ครอบครัว ‘อัลฟา’
ความเป็นตัวของตัวเองทำให้ไกรศรีเลี้ยงลูกทั้งสามโดยแนวทางที่ตัวเองเห็นว่าสมควร ซึ่งกรณ์ เรียกว่าเป็นแนวทางแบบ ‘อัลฟา’ (Alpha) หรือภาวะ ที่จ่าฝูงกําหนดทุกอย่าง โดยอย่างหนึ่งที่ไกรศรีเห็นว่าดีต่อลูกๆ และพยายามผลักดันเป็นอย่างมากก็คือกีฬา
กรณ์ : “เรื่องกีฬาพ่อให้เราเต็มที่ คือไม่ได้มุ่ง มั่นว่าจะต้องปั้นให้เราเป็นอะไร แต่แค่อยากให้เราได้เล่นในสิ่งที่พ่อได้เล่น ตอนนั้นพ่อให้เราไปเล่นเทนนิสตอนเช้าก่อนเข้าเรียน นึกภาพดู 6 โมงเช้า เช้ามาก ไปตีเทนนิส โดยเราก็ไม่ได้ enjoy เลย คืออะไรที่ทํา กับคุณพ่อนี่มันทรมานมาก ไม่มีการตีไป หัวเราะไป”
จี๊ป : “ยิ่งตีกอล์ฟกับพ่อนี่คือฝันร้ายสําหรับพวกเรา (หัวเราะ)”
พิพ : “จริงๆ พ่อเป็นคนที่ทําให้ทีแรกผมไม่เล่น กอล์ฟเลย เพราะพ่อชอบกีฬานี้มาก แต่เขาเครียดมาก วิธีการสอนจะทำให้เครียด อย่างเวลาซ้อมเทนนิส เราน็อคลูกกับกําแพงอยู่ เขาก็จะเดินมายืน สักพักแล้วก็ส่ายหน้า แล้วก็เดินไป นี่คือการสอนของเขา(หัวเราะ)”
กรณ์ : “ตีกอล์ฟทั้งวันก็จะได้ยินเสียง (จิ๊กปาก) ตลอดทั้งวัน พวกเราก็แบบ...อืม”
พิพ : “เคยโดนไปครั้งหนึ่ง แชงค์เลย (หัวเราะ) และนั่นทําให้เวลาผมสอนลูกเล่นกีฬา ผมจะให้คนอื่นสอน เวลาลูกเล่นเราต้องพยายามปิดปากไม่พูด ให้เขาเล่นสนุกๆ ดีกว่า จะได้รักกีฬา แต่ตอนแรกๆ ก็ต้องคอยดันนะ ให้เขาไปเรียน ไปซ้อม เพราะกีฬา มันเป็นสิ่งที่เริ่มยาก อย่างเทนนิสนี่กว่าจะตีเป็นก็นาน ต้องเดินเก็บลูกเป็นเดือน แต่พอมันติดตัวเขา แล้วก็โอเค”
กรณ์ : “บทเรียนทั้งหมดนี้ คือมีบางเรื่องที่ต้องฝืนใจลูกในระดับหนึ่ง แล้วความจริงมันเป็นการเสียสละ อย่างวันนั้นเราไม่ได้สํานึกว่าพ่อต้องเสียสละเวลาของพ่อแค่ไหน ทั้งเช้าทั้งมืดแต่ก็ยังพาไป พ่อไม่เคยพูด ไม่เคยลําเลิก เราก็ไม่ได้คิดอะไรมาก เล่นเสร็จก็เปลี่ยนชุดเดินข้ามไปเรียนหนังสือ แค่คิดว่าทําไปเพราะพ่ออยากให้ทํา แต่สุดท้าย มันกลับเป็นสิ่งที่มีคุณค่ากับชีวิตเรามาก ดังนั้น บางอย่างเราต้องฝืนทํา แต่ฝืนในระดับไหน นั่นคือศิลปะ ฝืนถึงจุดที่ไปไม่ได้ก็ต้องหยุด แต่พ่อจะมีอคติ เพราะบางเรื่องหยุดเร็วมาก เช่นเรื่องที่ เกี่ยวกับการดนตรี พวกเราเรียนเปียโนคนละครั้งแล้วเลิก ไม่เคยได้มากกว่านั้นเพราะพ่อจะถาม ‘เรียนไปทําไมวะ เปิดแผ่นเสียงเอาเพราะกว่า’ พวกเราก็จบเลย ผมก็ไม่เคยคิดเรื่องเปียโนอีกเลย เพราะดูตรรกะของพ่อแล้ว ไม่มีทางเถียงได้ มันเป็น logic ที่ไม่ใช่ logic (หัวเราะ)”
ทั้งนี้ ความเป็นครอบครัวอัลฟาของไกรศรี ย่อมรวมถึงการปล่อยให้ลูกๆ ทั้งสาม ได้แย่งชิงพี้นที่ภายในฝูงกันเอง โดยไม่มีการประคบประหงมใครเป็นพิเศษ ซึ่งทั้งสามคน บอกว่าไม่รู้สึกผิดปกติอะไร จนเติบโตขึ้นแล้วมีครอบครัวถึงได้เห็นว่ามารดารู้สึกดีมากที่มีผู้หญิง เพิ่มเข้ามาในบ้านหลังจากต้องอยู่กับครอบครัว ชายล้วนมานาน
จี๊ป : “ถ้ามีปัญหาทะเลาะกัน พ่อจะไม่ชอบให้ลูกๆ มาฟ้อง แต่จะซื้อนวมให้จัดการเล่นกันเองเลย”
พิพ : “ซึ่งมันเป็นสิ่งที่แย่มากสําหรับผม เพราะตัวเล็กสุด แล้วคิดดูนวมมีแค่ 2 คู่ แต่ต่อยกัน 3 คน ผมก็ซวยไปเลย อีกทีหนึ่งเพื่อนพ่อไปญี่ปุ่นแล้วซื้อชุดเคนโด้มาให้ พี่จี๊ปก็ใช้ให้ผมใส่ชุดเคนโด้ แล้วก็เอาไม้ตี (หัวเราะ) ยังดีที่เขาให้ใส่ชุด อันที่จริงชุดนั้นมันเหมือนเขาซื้อมาให้แค่ ตั้งโชว์ด้วย”
จี๊ป : “แล้วสมัยก่อนจะมีแค่กรณ์คนเดียว ที่เรียนเก่ง ลุงเกษมจะให้ 100 บาททุกครั้งที่ลูกหลานสอบได้ที่หนึ่ง กรณ์ได้ทุกเทอม ปีละ 3 ครั้ง ตั้งแต่ป.1 จนก่อนไปนอกเข้า Oxford เพราะฉะนั้น กรณ์จะรวยกว่าพี่น้องมาตั้งแต่เด็ก ส่วนผมนี่ช่างมันเลย super average”
พิพ : “ผมก็เหมือนกัน ถ้าเป็นสมัยนี้คง ต้องกินยา ADD - Attention Deficit Disorder เพราะไม่เคยสนใจ ไม่มีสมาธิในการเรียน ชอบไปเล่นกีฬา ไปสนุกกับอะไรก็ตามที่ไม่ใช่เรียน แค่พยายามตอนสอบให้พอผ่าน”
จี๊ป : “มีกรณ์คนเดียวที่โดดเด่น มันเป็นพวก goody goody คืออยู่วินเชสเตอร์ก็เป็นหัวหน้า นักเรียน แล้วก็เข้าออกซ์ฟอร์ดได้อะไรพวกนี้ ผมว่าเหตุผลที่กรณ์โดดเด่น เพราะมันเป็นคนที่มี เป้าหมายในชีวิตมากกว่าคนอื่น ambitious มาก (เน้นเสียง) ผมก็รําคาญมันตอนเด็กๆ เพราะมันชอบทําให้เราดูไม่ดีในสายตาพ่อแม่ (หัวเราะ)”
กรณ์ : “โดยเจตนาด้วย (หัวเราะ) สมัยนั้น ก่อนไปทำงานกระทรวง พ่อก็จะขับรถไปส่งเราที่ โรงเรียน ตอนนั้นพวกผมอยู่โรงเรียนสมถวิลตรงซอยมหาดเล็ก ส่วนพีจี๊ปอยู่สาธิตปทุมวัน ช่วงเวลาที่ทรมานที่สุดก็คือช่วงเวลาที่อยู่บนรถในตอนเช้า เพราะพ่อจะมีชุดความคิดของตัวเอง ว่าการทําหน้าที่เป็นพ่อที่ดีต้องทำยังไง ซึ่งความจริงมันไม่ใช่ เพราะพ่อจะใช้เวลาที่อยู่ในรถในการทดสอบลูก ด้วยการท่องศัพท์ภาษาอังกฤษ แต่ผมก็ไม่เคยมีปัญหา คนที่มีปัญหามากคือพี่จี๊ป ผมจําได้เลย คําว่า Europe นี่พี่จี๊ปไม่เคยสะกดได้ ผมก็นั่งหัวเราะคิกๆ”
พิพ : “พี่จี๊ปขึ้นมาก็ ‘ยู...’ ทุกวัน (หัวเราะ)”
จี๊ป : “มีอยู่รอบหนึ่งที่ผมหมั่นไส้มันมาก เพราะพ่ออ่านนิตยสาร Time แล้วไอ้กรณ์มันก็พูดขึ้นมาว่า ‘เอ๊---พ่อ นี่มันขึ้นราคานี่’ มันสังเกต กระทั่งราคา! พ่อก็แบบ ‘โอ้โห---เก่งมากลูก ช่างสังเกต’ แล้วก็ตบกบาลผม ทรมานมาก นี่ขนาดรถไม่ติดนะ”
พิพ : “ข้อดีก็คือพวกเราจะเป็นเด็กที่ดีใจมาก เมื่อรถถึงโรงเรียน”
ข้าราชการสมัยนั้นมี integrity (คุณธรรม) สูงมาก ...เอาอย่างนี้ดีกว่า ตอนยืนกับรัฐมนตรี พ่อไม่เคยต้องกุมกระเป๋ง ...มันถ่ายทอดมาถึงเราว่า ในช่วงชีวิตเรา ตําแหน่งอาจจะไม่เท่ากัน แต่ไม่ได้หมายความว่าเราไม่เท่าเทียม พวกเราถึงโตขึ้นมาโดยที่ไม่ เคยรู้สึกว่าด้อยกว่าใครเลย
เรียนรู้โลกกว้าง
อย่างไรก็ตาม การเลี้ยงดูแบบอัลฟาของ ไกรศรีไม่ได้เกิดขึ้นนานนัก เพราะด้วยปัญหาสุขภาพของจี๊ป ทําให้ไกรศรี และภรรยาตัดสินใจส่งลูกคนโตไปเรียนเมืองนอก ตามด้วยคนรองอีกสองคน โดยส่งจี๊ปไปอยู่โรงเรียน Milton Abbey กรณ์ไป Winchester College และพิพอยู่ Canford School
จี๊ป : “เป็นเพราะเรื่องสุขภาพ ผมขี้โรคมาก เกิดมาเป็นโรคหอบหืด ขาดเรียนตลอด แม่อยากให้ไปอยู่ชนบทอังกฤษเพราะอากาศดีกว่า แล้วอาการก็ดีขึ้นจริงๆ แต่เราไม่ได้เป็นคนเลือกนะ เด็กสมัยนั้นไม่ได้มีทางเลือกในชีวิต พ่อแม่รู้ดีที่สุดก็จัดการให้ ตอนผมไปเรียนผมยังไม่รู้ตัวเลย คิดว่าไปเที่ยว ไม่ได้ลาเพื่อน ไม่ได้เตรียมอะไร 13 ขวบเข้าโรงเรียนประจําที่นู่นเลย พูดภาษาอังกฤษไม่ได้สักคํา ถึงเตรียมก็ไม่ได้ เมืองไทยมันมีที่ไหนสมัยนั้น ใช้เวลาปรับตัวประมาณปีหนึ่ง”
กรณ์ : “ไม่ได้อยู่ด้วยกัน คนละโรงเรียน แม่เป็นคนเลือกหมด ท่านตั้งใจให้เป็นอย่างนั้น”
จี๊ป : “จริงๆ แล้วนี่เป็นข้ออ้างของกรณ์ที่ บอกให้สาธารณะชนรับรู้ สิ่งที่ทุกคนไม่รู้คือ กรณ์เข้าโรงเรียนผมไม่ได้ เลยต้องไปเข้าโรงเรียนอีก โรงเรียนหนึ่ง (หัวเราะ)”
พิพ : “ในอีกด้านหนึ่ง นี่แสดงให้เห็นว่าพ่อ แม่หาวิธีให้เราดูแลตัวเองในแบบของตัวเอง”
กรณ์ : “ตอนปิดเทอมค่อยมาอยู่ด้วยกัน ปกติถ้าเป็นครอบครัวอื่น เวลาส่งลูกไปเรียนเมืองนอกอย่างนี้ ก็จะต้องแจ้งกพ. แล้วก็จ่ายเบี้ยให้เขาช่วยดูแล ปิดเทอมเขาก็จะให้เด็กไทยมาอยู่รวมกันในลอนดอน แต่พ่อไม่เอาเลย พวกผมไม่ได้เข้ากพ. ช่วงสุดสัปดาห์ โรงเรียนให้ออกไปอยู่บ้าน พ่อแม่ก็ให้ไปอยู่กับฝรั่งที่พ่อรู้จักสมัยอยู่ลอนดอน ซึ่งมีข้อดีข้อเสีย ข้อดีชัดเจนคือได้ฝึกภาษาเข้มข้นกว่า ได้ซึมซับเรียนรู้วัฒนธรรมฝรั่งจริงๆ แต่สมัยนั้น ฝรั่งอังกฤษอยู่กันอย่างกันดารมาก ไม่ได้เหมือนกับอังกฤษสมัยนี้”
ด้วยเหตุที่ยุคสมัยดังกล่าวตรงกับช่วงปี 70’s ซึ่งถือกันว่าเป็นช่วงที่เศรษฐกิจของอังกฤษตกต่ำ ที่สุดนับแต่ Great Depression ประกอบกับชาวอังกฤษในยุคดังกล่าวมักคุ้นเคยแต่กับการใช้ชีวิตอย่างกระเบียดกระเสียนเนื่องจากเติบโตมาในภาวะขาดแคลนหลังสงครามโลกครั้งที่สอง สามพี่น้องจึงเท่ากับได้ไปฝึกใช้ชีวิตแบบอังกฤษในช่วงเวลาที่อัตคัตที่สุดช่วงหนึ่ง
กรณ์ : “บางทีเรานึกย้อนกลับไปแล้วอยากร้องไห้ พูดตรงๆ ว่านึกภาพลูกเราต้องอยู่อย่างนั้นไม่ค่อยออก หนาวๆ เย็นๆ แล้วต้องเดินไปเข้าส้วมนอกบ้าน หนาวขนาดน้ำในโถส้วมแข็ง ผมจําได้วันหนึ่ง เราเดินไปดูละครกับแม่บ้าน เดินไปเดินกลับรวม 6 กิโล แล้วแม่บ้านแกซื้อเฟรนช์ฟรายด์ให้เราคนละถุง แค่นั้นเรารู้สึกว่ามันพิเศษมาก ยังจําได้จนทุกวันนี้ คือชีวิตไม่ได้แย่นะ แต่มันกันดาร ก่อนเข้ามัธยม ผมกับน้องต้องไป อยู่โรงเรียนเด็ก แล้วต้องอาบน้ำถังสังกะสี แบบที่ใช้เสร็จแล้วต้องคว่ำเทน้ำทิ้ง เขาจะเติมน้ำแล้ว เราต้องอาบพร้อมกันทีละคู่ นั่งหันหน้าหากัน แต่บังเอิญช่วงที่ไป อังกฤษแล้งแบบเป็นประวัติการณ์ เขาเลยต้องให้เด็กอาบน้ำครบ 3 คู่ก่อนถึงจะเปลี่ยนน้ำทีหนึ่ง”
พิพ : “เทน้ำส้มใส่แก้วแล้วดื่มก็โดนดุ ‘ทําไมกินเปลืองขนาดนี้’ ต้องกินน้ำส้มครึ่งหนึ่ง แล้วเติมน้ำครึ่งหนึ่ง”
กรณ์ : “แล้วมันก็ติดมาถึงทุกวันนี้ ทุกวันนี้ เวลาผมเข้าครัว จะหยิบอุปกรณ์อะไรมาใช้ผมจะคิดอย่างดี เพราะมีอยู่วันหนึ่ง ผมช่วยแม่บ้านทํากับข้าวแล้วผมก็หยิบตะหลิวอีกอันมาใช้ เขาก็บอก ‘หยิบมาทําไม มีใช้อยู่อันหนึ่งแล้ว ทําให้ต้องล้างสองอัน’ ดังนั้นมันสอนเราว่าจะใช้อะไร ต้องคิดให้ดีๆ ในรายละเอียดทั้งหมด อย่างมีดนี่ (หยิบ มีดหั่นขนม) เดี๋ยวผมใช้แล้วก็ใช้อีก”
จี๊ป : “ตอนผมอยู่เมืองนอก ผมถึงกินข้าวผัดในกะทะเลย ทําไมต้องใช้จาน (หัวเราะ)”
กรณ์ : “หรืออีกอย่าง เราล้างแก้วเสร็จก็จะวางคว่ำไว้ที่คว่ำข้างอ่างก่อนใช่ไหม ลูกผมเดินเข้ามาในครัวไปหยิบแก้วจากตู้ ผมก็ถามว่าจะหยิบจากตู้ทําไม ให้หยิบจากที่คว่ำสิ มันจะได้ไม่สร้างงาน สิ่งเหล่านี้มันติดมาจากวิธีการเลี้ยงดู เกือบจะเรียกว่าช่วยไม่ได้ มันเป็นเอง มันคิดเอง หรืออย่างเรื่องกินขนม ลูกๆ กับภรรยาก็จะแซวผมตลอด ถ้ามีขนม 2 ถุง ผมจะให้แกะแค่ อันเดียวก่อน คือถึงแม้มันจะไม่ใช่ขนมที่เหมือน กันสักทีเดียวก็ตาม แต่ถ้าเป็น category ขนมปั๊บ ต้องกินอันแรกให้หมดก่อน ผมไม่ชอบเวลาเห็นเปิดสองถุงพร้อมกัน เพราะมันจะขาดความสด ความ อร่อย ถ้าทิ้งไว้
สิ่งเหล่านี้มันมาจากสมัยเราเด็ก”
พิพ : “ระหว่างอยู่ที่นู่นไม่มีการติดต่ออะไร ทําได้แค่เขียนจดหมายถึงกัน แต่มีอยู่ครั้งหนึ่งเป็นข้อยกเว้น คือพี่ดอนเขาสอบเข้าวินเชสเตอร์ได้ไปก่อน อีกสักพักผมก็สอบเข้าแคนฟอร์ดได้ ก็ดีใจไม่รู้จะโทรหาใคร โทรหาบ้านก็แพง แต่ดีใจอยากบอกใคร ก็เลยโทรหาโรงเรียนพี่ดอน ขอคุยกับดอน ครูเขาก็บอกว่า ‘นี่โรงเรียน ไม่ใช่ที่ให้น้องเล็กโทรหาพี่’ ผมก็ ‘โอเค--- อย่างนั้นฝากบอกพี่ด้วยว่าผมสอบเข้าแคนฟอร์ดได้แล้ว’ ทีนี้เขารู้สึกสมเพชมั้ง เลยไปตามพี่ดอนมาคุยด้วย (หัวเราะ)”
จี๊ป : “เขาคงสมเพชว่าแค่เข้าแคนฟอร์ดได้ก็ตื่นเต้น (หัวเราะ)”
กรณ์: “สมัยแรกๆ ผมยังอยู่โรงเรียนเด็ก พี่จี๊ปอยู่มิลตัน แอบบีย์ ผมบังเอิญมีเพื่อนที่พ่อเขาเป็นครูที่โรงเรียนพี่จี๊ป ดังนั้นเวลาโรงเรียนให้กลับบ้าน เราก็จะติดรถครูคนนี้ไปนอนที่โรงเรียนพี่ แล้วโรงเรียนพี่จี๊ปก็กันดารมาก หนาวก็หนาว นึกภาพว่าชื่อแอบบีย์ ก็คือต้องเป็นโบสถ์ อยู่บนเนินเขา สวยมากถ้าเป็นโปสต์การ์ด แต่อยู่แล้วกันดาร ผมจําได้แม่นเลยกติกาโรงเรียนพี่จี๊ป คือ ห้ามเด็กออกไปไกลเกินรัศมี 5 ไมล์ แต่ร้านขนมที่ใกล้ที่สุดมันห่างออกไป 5.1 ไมล์ แล้ว ทุกวันอาทิตย์ก็จะมีรถขนมของร้านขับเข้ามาขาย สมัยนี้คงเรียก food truck แต่อารมณ์มันไม่ใช่ มันคือรถที่เอาขนมจะหมดอายุมาขายมากกว่า เด็กทุกคนก็จะเก็บเงินมาต่อคิวซื้อ ก็จะอยู่กันอย่างนี้ (หัวเราะ)”
พิพ : “ชีวิตโรงเรียนประจําพวกเราน่าเบื่อมาก นึกถึงชีวิตลูกตอนนี้ที่ไปเรียน มีเวลาว่างแป๊ปเดียวก็บอกว่าเบื่อแล้ว แต่ของเราไม่มีอะไรนี่คือไม่มีอะไรจริงๆ ที่อังกฤษตอนนั้น วันอาทิตย์ทุกอย่างปิดหมด”
กรณ์ : “ไม่ใช่น่าเบื่อ มันแค่ไม่มีอะไรทํา คือวันอาทิตย์เข้าโบสถ์ตอนเช้าจากนั้นก็ว่างทั้งวัน เขาไม่มีกิจกรรม และครูจะหยุดพัก ร้านค้าก็ปิดหมด การบ้านสมัยนั้นไม่ต้องพูดถึง ไม่มีหรอก จะให้เด็กทําอะไร ก็นั่งคิดกันเอง โรงเรียนพวกเราอยู่ในชนบท กิจกรรมก็คือการไปวิ่งเล่นในป่า ตอนนั้นมีตํานานว่าเครื่องบินรบเยอรมันตกในป่า พวกเราก็พยายามไปหา หรือไปเก็บพวกผลไม้ป่า สตรอว์เบอร์รี่ป่า”
พิพ : “ที่อังกฤษเขามีชื่อเสียงว่าไม่มีงูมีพิษ มีแต่ตัวเล็กๆ เรียกว่าแอ็ดเดอร์ (adder) อะไรอย่างนี้ เพื่อนๆ ก็จะออกไปหางูกัน ตอนวันหยุด ไปอยู่บ้านเพื่อน เป็นฟาร์ม จําได้เลย คืนแรกไปอยู่ โดนปลุกตอน ตี 3 ให้ไปช่วยหน่อย วัวออกลูก (หัวเราะ)”
กรณ์ : “เชื่อไหม ตอนผมไปอยู่ dorm นอนกัน 6-7 คน เพื่อนทุกคนจะมีโปสเตอร์ติดที่ริมผนังเป็นแทรคเตอร์ยี่ห้อต่างๆ คือเขาเป็นฟาร์มเมอร์จริงๆ ผมก็เลยจะรู้จักรถแทรคเตอร์พวกนี้หมด Massey Ferguson, John Deere, Ford อะไรพวกนี้ คือเขาอินกับรุ่นแทรคเตอร์เหมือนเด็กสมัยนี้อินกับ ซูเปอร์คาร์ เพราะนั่นคือชีวิตของพวกเขา สมัยโรงเรียนประถม พอวันอาทิตย์ ไม่มีอะไรทํา ครูคนหนึ่งจะเข้าเมืองที่อยู่ใกล้สุดซึ่งอยู่ห่างไป 3 ไมล์ ก็มีประเพณี ว่าเราสามารถฝากให้ครูซื้ออะไรเล็กๆ น้อยๆ ได้ เช่น หนังสติ๊ก ลูกปิงปอง เราก็จะได้เอามาต่อมาเล่นอะไรของเรา อารมณ์มันคล้ายๆ กับหนังเรื่อง Shawshank Redemption ที่มีตัวละครชื่อ Red (Morgan Freeman) ที่มีความสามารถในการจัดหาของเข้ามาในคุกได้ ครูคนนี้ก็จะเป็นแบบนั้น ทั้งหมดนี้มันสอนให้พวกเราเห็นว่าเรื่องเล็กๆ สําคัญและให้เรา enjoy ชีวิต จากของที่มันเบสิก”
เส้นทางที่หักเห
ภายหลังทั้งสามคนสําเร็จการศึกษาในต่างประเทศ กล่าวคือจี๊ปจาก Miami University กรณ์จาก Oxford University และพิพจาก Lehigh University หนึ่งในทางเลือกอาชีพที่เหมาะสมก็คือการกลับมารับราชการ เพราะภาครัฐในสมัยนั้นมีขนาดและบทบาท ในระบบเศรษฐกิจที่ไม่แพ้ภาคเอกชน อย่างไรก็ตาม ในเวลาไล่เลี่ยกันนั้น ชีวิตราชการของไกรศรีก็ต้องประสบเหตุไม่คาดฝัน โดยเขาถูกกล่าวหาในฐานะอธิบดีกรมศุลกากรว่าได้กระทำผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ในการหลีกเลี่ยงภาษีอากรนําเข้ารถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า ซอเรอร์ หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘คดีโตโยต้า ซอเรอร์’ จนคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยมีมติให้พักราชการ แม้ในที่สุด ไกรศรีจะพ้นมลทิน เนื่องจากอัยการไม่สั่งฟ้องในคดีอาญา ศาลยกฟ้องในคดีแพ่ง และสํานักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ได้มีหนังสือให้เขาสามารถกลับเข้ารับราชการได้ แต่เหตุการณ์นี้ก็ดูเหมือนส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจของลูกๆ ทั้งสามคน
จี๊ป : “ความคิดต่างๆ ที่อยากเข้าราชการ มันจบตั้งแต่พ่อเกิดอุบัติเหตุทางการเมือง เพราะตอนนั้นผมเป็นคนแรกที่กลับมา เห็นผลกระทบกระเทือนทางด้านจิตใจกับครอบครัวโดยเฉพาะกับคุณพ่อซึ่งเป็นคนมีศักดิ์ศรีในตัวเองสูงมากแล้วมาโดนตั้งคำถามในสิ่งที่ตัวเองให้ความสำคัญสูงสุดนั่นคือ integrity (คุณธรรม) มันเป็นสิ่งที่กระทบกระเทือนจิตใจมาก เห็นคุณแม่ต้องทุกข์แล้วมันก็ bring reality home ว่านี่ไม่ใช่สิ่งที่อยากทำ ไม่อยากจะเข้าไปยุ่ง แล้วบังเอิญช่วงนั้นผมฝึกงานอยู่ที่ผาแดง ก็เริ่มรู้สึกชอบภาคเอกชนอยู่แล้ว พอเกิดเรื่อง เรื่องความคิดรับราชการก็เลยจบไป”
กรณ์ : “ผมก็รู้กลายๆ จําได้ว่าวันที่พ่อรู้ว่าเกิดเรื่อง ผมอยู่กับพ่อที่ฝรั่งเศส แต่พ่อไม่เคยเอามาเป็นภาระกับเรา ผมรู้ว่ามันเรื่องใหญ่ แต่พ่อไม่ได้มีความรู้สึกว่าเราต้องมาร่วมรับรู้ด้วย พ่อก็แก้ปัญหาของพ่อไป ผมก็เริ่มต้นชีวิตการทำงานที่อังกฤษ กว่าผมจะกลับมา เรื่องก็ใกล้จบแล้ว จําได้ลางๆ ว่าช่วงที่ผมกลับมาศาลมีคําพิพากษาออกมาเคลียร์ข้อครหาทั้งหมด มีคําสั่งให้พ่อสามารถเข้าไปรับราชการเหมือนเดิมได้ ซึ่งพวกเราก็รู้สึกว่าอยากให้พ่อกลับ เพื่อเป็นการยืนยันความบริสุทธ์ และลึกๆ ก็คืออยากให้พ่อเข้าไปชําระแค้นพวกที่แกล้งพ่อซึ่งก็เป็นที่รู้กันว่ามีใครบ้าง แต่พ่อไม่เอาเลย พ่อปล่อยวาง ไม่กลับไป ตอนนั้นผมก็ข้องใจในประเด็นนี้อยู่พอควร แต่พอเวลาผ่านไป ผมถึงได้เข้าใจว่าพ่อแมนกว่าพวกเราทุกคน เด็ดขาด เด็ดเดี่ยว เป็นตัวของตัวเอง เป็น benchmark ที่สูงมากสําหรับผม คือเมื่อมีการตัดสินใจสําคัญๆ แล้ว ยังตัดสินใจได้อย่างเป็นตัวของตัวเองขนาดนั้น ผมว่ามันสุดยอด คือสําหรับพ่อ สิ่งที่จะได้รับจากการกลับเข้าไปรับราชการ ไม่ใช่สิ่งที่พ่อต้องการเลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องผลประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโอกาสใน การเหยียบหน้าคนที่เคยทําไม่ดีกับคุณพ่อ วันนั้นผมมีความรู้สึกว่าคุณพ่อนิ่งแล้ว และเพียงอยากเห็นลูกๆ ได้เริ่มต้นในชีวิตการงานของพวกเรา”
ก็ธรรมดา อุปสรรคก็ต้องเจออยู่แล้ว การทํางานก็คือการแก้ปัญหา ไอเดียมันเรื่องเล็ก แค่ 5% อีก 95% มันคือการแก้ปัญหา แก้ได้ก็ผ่าน แก้ไม่ได้ก็พัง ...มันก็เป็นสิ่งที่ผมคอยสอนลูกนะ ว่าความล้มเหลวไม่ใช่สิ่งที่เลวร้าย
บุกเบิกหนทางใหม่
เมื่อการรับราชการไม่ใช่คําตอบ ความเป็นตัวของ ตัวเองที่ทั้งสามได้ค่อยๆ สั่งสมมาตั้งแต่เด็ก ได้ทําให้พวกเขาเลือกที่จะแยกย้ายกันไปประกอบอาชีพของตัวเอง โดยจี๊ปเริ่มงานที่บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร ก่อนจะออกมาตั้งบริษัท ฮันเตอร์ส อินเวสเมนต์สและบริษัท ต้นโพธิ์ ฟันด์ของตนเอง พิพ ขอเงินจากบิดามาร่วมทุนกับสวัสดิ์ หอรุ่งเรืองและดํารงตําแหน่ง กรรมการผู้จัดการของบริษัท พลังงานอุตสาหกรรม และบริษัท เอช เพาเวอร์ ในกลุ่มบริษัท เหมราช ในขณะที่กรณ์ หลังจากเป็นผู้จัดการกองทุนระยะเวลาสั้นๆ ที่บริษัท เอส จี วอร์เบิร์ก ก็กลับมาเมืองไทยเพื่อเปิดบริษัทหลักทรัพย์เจเอฟ ธนาคม เป็นของตัวเอง
จี๊ป : “ผมเป็นพี่คนโต แต่เป็นคนพัฒนาช้าที่สุด ผมมาเจอสิ่งที่ผมชอบค่อนข้างช้า อย่างไรก็แล้วแต่ ชีวิตการทำงานของผมตอกเสาเข็มที่ภัทร เริ่มทำงานกับพี่เผือก (สุวิทย์ มาไพศาลสิน) ทั้งด้าน best practice ทั้งด้าน ethics ทั้งด้านการแข่งขันในขอบเขตกติกา ผมอยู่ภัทรแค่ 3 ปี แต่มีความเป็นภัทรสูงมาก ถือเป็นช่วงเวลาของชีวิตที่ภูมิใจ แล้วที่ภัทรรับผมก็ไม่ใช่เพราะผมดีเด่นอะไร พี่เตา (บรรยง พงษ์พานิช) เป็นคนสัมภาษณ์ แกไม่ต้องการอะไรมาก แกแค่ต้องการคนที่ GPA ต่ำกว่าแก GPA ของแก 2.03 แล้วผมได้ 2.00 (หัวเราะ) แต่เข้ามาวงการนี้แล้ว ก็พัฒนาไปเรื่อยๆ จนมาตั้งบริษัทของตัวเอง”
พิพ : “ของผมตอนที่เริ่มทําก็ทําโครงการไฟฟ้า ไปเสนอคุณสวัสดิ์ หอรุ่งเรือง ซึ่งก็ต้องถือว่าแกใจถึงมาก ให้โอกาสผมอายุแค่ 26 เอง ไม่มีประสบการณ์อะไร แล้วพอทำไปสักพักเริ่มมีวี่แววจะตั้งบริษัท ผมก็ไปหาพ่อเล่าให้ฟังว่ามีธุรกิจไฟฟ้าให้เอกชนเข้ามา แล้วก็บอกว่าอยากลงทุนในบริษัท ถือหุ้นเท่านี้ ใช้เงินเท่านี้ จําได้เลยถามพ่อว่ามรดกส่วนของพิพ ในพินัยกรรมเท่าไหร่ ขอเอามาใช้ก่อน คุยกันเป็น ชั่วโมงเลย พ่อก็ยอม แต่ไม่ให้บอกพี่จี๊ป ถือเป็นการตัดสินใจที่แน่มาก เพราะตอนนั้นมันไม่เคยมีอะไรอย่างนั้นในเมืองไทยเลย เราก็เอามาลง และอีกสองสามปีก็ได้คืน สองคนนี้ก็เลยไม่รู้”
จี๊ป : “อ้อเหรอ---ไม่เคยรู้”
กรณ์ : “ถ้ารู้ก็จะขอต่อรอง profit share (หัวเราะ)”
เรื่องราวความสําเร็จเหล่านี้อาจฟังดูง่ายดาย รวบรัดเมื่อมาเล่าย้อนหลัง แต่น่าสงสัยว่า ณ ขณะตัดสินใจลงทุน อะไรคือสิ่งที่ทําให้สามพี่น้องกล้าเสี่ยง เชื่อความสามารถของตัวเอง หรือสามพี่น้องรับมือปัญหาที่เกิดขึ้นหลังจากตัดสินใจไปแล้วแต่ยังไม่ประสบผลสําเร็จอย่างไร
พิพ : “ก็ธรรมดา อุปสรรคก็ต้องเจออยู่แล้ว การทำงานคอืการแก้ปัญหา ไอเดียมันเรื่องเล็ก แค่ 5% อีก 95% มันคือการแก้ปัญหา แก้ได้ก็ผ่าน แก้ไม่ได้ก็พัง”
จี๊ป : “ผมว่าจริงๆ แล้ว อีกสิ่งที่ได้มาจากพ่อและเป็นจุดแข็งของเราก็คือเราไม่เคย overthink อะไร ‘Just do it’ แบบไนกี้ ถ้าคิดว่ามันเป็นไอเดียที่ดีก็ทำไปเลย”
กรณ์ : “ใช่ ตอนผมเขียนไอเดียไปเสนอโบรกเกอร์ฝรั่งเพื่อตั้งเจเอฟก็แค่หน้าครึ่ง นั่งเขียนเอง เพราะการเขียนประเด็นหลัก เหตุผลหลักว่าธุรกิจนี้น่าทำหรือไม่มันไม่ต้องใช้พื้นที่มากกว่านั้น”
จี๊ป : “เพราะแย่ที่สุดก็แค่ล้มเหลว ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหญ่ ไม่ใช่ big deal เริ่มต้นใหม่ได้”
พิพ : “มันก็เป็นสิ่งที่ผมคอยสอนลูกนะว่าความ ล้มเหลวไม่ใช่สิ่งที่เลวร้าย”
กรณ์ : “คือมันอาจจะแฝงด้วยอัตตา แล้วแต่ว่าเราเลือกจะมองยังไง เราอาจจะมองเป็นเรื่องของความเชื่อมั่นในตัวเอง แต่คนอื่นเขาอาจจะมองว่าหยิ่ง เป็นสองด้านของเหรียญเดียวกัน แต่ในการตัดสินใจแบบนี้ สิ่งที่เราคิดก็คือเราทำได้ ทำไมเราต้องไปทำกับคนอื่น ทำไมเราต้องไปพึ่งคนอื่น เขาไม่ได้มีอะไรเหนือเราอย่างตอนที่ผมกลับมา ทางเลือกชัดเจน หนึ่ง ก็คือเข้าบริษัทใหญ่ หรือสอง เปิดเอง แต่ด้วยความที่ตอนนั้นผมเพิ่งทำจากต่างประเทศมา มันเหมือนผมมีของ คนอื่นเขายังไม่มี ผมก็คิดทำไมผมต้องทำกับเขา คือคนอื่นอาจจะคิดว่าไปลองเข้าบริษัทดูก่อนเพื่อดูว่าเขาทำอะไรกันอย่างไง แต่ผมแค่รู้สึกว่าไม่อยากทำอย่างนั้น คิดแค่นั้น”
จุดหมายของชีวิต
สําหรับกรณ์ การตัดสินใจสําคัญของเขาไม่ได้มีแต่เพียงการเปิดบริษัท แต่ยังรวมถึงการก้าวเข้ามาเล่นการเมือง ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาไม่อาจทําได้ด้วยตัวคนเดียวอีกต่อไป การตัดสินใจครั้งนี้เป็นสิ่งที่พี่น้องไม่รู้มาก่อน ซึ่งทั้งสามยอมรับว่าเป็นเรื่องปกติ เพราะต่างเชื่อว่าพี่น้องมีความเชี่ยวชาญในเรื่องที่ทํา และมีวิจารณญาณที่ดีอยู่แล้ว
จี๊ป : “ตอนนั้นยังโวตให้ทักษิณอยู่เลย กรณ์ไม่ได้มาถามด้วย (หัวเราะ)”
พิพ : “ความจริงผมไม่ได้คิดว่าเป็นเรื่องที่เขา จะมาถามด้วย ไม่แปลกใจที่เขาเข้าการเมือง จริงๆ ก็ ภูมิใจมากที่พี่ชายเข้าไป”
จี๊ป : “แต่กังวลนิดหนึ่งที่เข้าประชาธิปัตย์” (หัวเราะ)
กรณ์ : “จริงๆ คือผมเข้าพรรคนี้ เพราะรู้ว่าพรรค นี้แพ้แน่ ในการเลือกตั้งปี 48 แพ้เท่าไหร่เท่านั้นเอง คือตอนนั้นคุณอภิสิทธิ์เป็นรองหัวหน้าพรรคและคาดว่าไม่นานหลังเลือกตั้งคงได้เป็นหัวหน้าพรรค เราก็คิดว่าไปช่วยเพื่อน แต่ที่สำคัญที่สุดเลยคือตอนนั้น ไทยรักไทยแข็งมาก ผมก็คิดว่าถ้าผมเข้าไทยรักไทย บทบาทที่จะเข้าไปทำอะไรได้ไม่มาก เพราะคนเก่งๆ เยอะอยู่แล้ว แต่ผมจะทำอะไรได้มากกว่า ถ้าผมทำให้คู่แข่งเป็นคู่แข่งที่แท้จริงได้ ผมเชื่อในการแข่งขัน เหมือนกับธุรกิจ ถ้าไม่มีคู่แข่ง การค้าก็เสื่อม ด้วยความเชื่อว่าไทยรักไทยต้องเป็นรัฐบาลแน่ ผมก็ตัดสินใจเข้าพรรคประชาธิปัตย์เพราะคิดว่าตัวเอง จะช่วยให้ประชาธิปัตย์เป็นคู่แข่งที่ดีขึ้นได้ มันน่าจะเป็นการใช้ทรัพยากรที่คุ้มค่ากว่า”
พิพ : “การที่พี่ดอนได้เป็นรัฐมนตรี มีผลกับผม 2 ทาง คือ หนึ่ง ไปไหนมีคนทักผิด จนช่วงที่เขาได้ตำแหน่ง ผมต้องไว้หนวด ใส่ขาสั้น รองเท้าแตะ เพื่อไม่ให้ดูเป็นรัฐมนตรีคลัง สอง ตอนนั้นผมกำลังทำโปรเจกต์ไฟฟ้าใหญ่ ช่วงประชาธิปัตย์เข้ามามีข้อดีคือ เป็นการช่วยเปิดประตูให้เราได้เจอคนได้ง่าย แต่ขณะเดียวกันก็เป็นข้อเสีย เพราะคนจะมองว่าเราเป็นพวกนั้นพวกนี้ นี่เป็นเหตุผลที่ในที่สุดผมถอยออก มาจากธุรกิจไฟฟ้า เพราะหนึ่ง บรรยากาศการทำงานมันไม่เหมือนเดิม สองก็คือผมเอาความสุขเป็นที่ตั้ง ความสุขไม่ใช่แค่เรื่องเงิน อาจเป็นทั้งเรื่อง ครอบครัว ความภูมิใจ ถ้าเป็นสิ่งที่คนอื่นให้ความสำคัญ แต่สำหรับเรามันไม่ใช่แล้ว เราก็ไม่ต้องไปเสียเวลาสะสมมัน ผมว่าเหมือนกับตอนที่พ่อตัดสินใจไม่กลับเข้ารับราชการ”
จี๊ป : “คนสับสนกับคำ 2 คำ คือคำว่า ‘rich’ กับคำว่า ‘wealthy’ คำว่า rich เป็นตัวเลข เอาหลักทรัพย์ทุกอย่างมารวมกันก็จะเป็น rich แต่สิ่งที่เรากำลังพูดถึงกันอยู่คือคำว่า wealthy จะ wealthy ได้นี่ต้องมี rich ระดับหนึ่ง ระดับไหนก็ต้องแล้วแต่คน หลังจากนั้น wealthy คือ การมีสมดุลในชีวิต สามารถทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ มีอิสระที่จะทำในสิ่งที่ อยากทำ ใช้ชีวิตกับครอบครัวในแบบที่อยากใช้ ใช้ชีวิตกับเพื่อนในแบบที่ต้องการ นี่คือ wealth ซึ่งผมว่าเราสามคนไม่แพ้ใครในเรื่องนี้ เราไม่รู้สึกว่า เราขาดอะไรเลย ในเรื่อง rich เราอาจจะห่างไกลกับคนอื่นเยอะ แต่ความ wealthy ของชีวิต ไม่น่าจะมีได้ดีกว่านี้อีก เรามีเพื่อนที่สุดยอด มีพี่น้องที่ไม่ต้องทะเลาะกัน และเจอกันโดยสมัครใจแม้ไม่ได้มีกงสี”
พิพ : “อีกอันคือ เราไม่เป็นหนี้บุญคุณใคร มีอิสระ เราอยากทำอะไรทำ ไม่ใช่ทำเพราะเป็นหนี้บุญคุณเขา”
จี๊ป : “ปรัชญาชีวิตของผมตอนที่มาตั้งบริษัท ลงทุนของตัวเอง ผมมีกฎที่ง่ายมากเรียกว่า Non- Dickhead Rule คือ ผมจะทำธุรกิจกับคนที่ผมชอบ ไม่ทนกับเรื่องไร้สาระ”
กรณ์ : “wealth คือคนอื่นเขาอาจมีอะไรที่เราไม่มี แต่เราก็ไม่เคยรู้สึกว่าเราอยากจะมี ไม่ได้มีเยอะ แต่รู้สึกว่าไม่ขาดอะไร”
จี๊ป : “แต่คนอื่นอาจจะคิด มึงมีแค่นี้ก็พอแล้วเหรอ (หัวเราะ)”
กรณ์ : “และต้องมีคนคิดว่า ก็พวกมึงมีเยอะอย่างนี้ แล้วยังจะต้องอยากได้อะไรอีก”
wealthy คือ การมีสมดุลในชีวิต ...มีอิสระที่จะทําในสิ่ง ที่อยากทํา ...ซึ่งผมว่าเราสามคนไม่แพ้ใครในเรื่องนี้ ใน เรื่อง rich เราอาจจะห่างไกลกับคนอื่นเยอะ แต่ความ wealthy ของชีวิต ไม่น่าจะมีได้ดีกว่านี้อีก เรามีเพื่อนที่สุดยอด มีพี่น้องที่ไม่ต้องทะเลาะกัน และเจอกันโดย สมัครใจแม้ไม่ได้มีกงสี
วิถีแห่งกอล์ฟ
แม้จะแยกทางกันเดิน แต่สิ่งหนึ่งที่ดึงให้สามพี่น้องกลับมาเจอกันเสมอก็คือกีฬากอล์ฟ เป็นที่รู้กันในหมู่คนรู้จักว่าสามพี่น้องจะแข่งขันสูงมาก ในยามเล่นกอล์ฟ ไม่ว่าจะระหว่างกันเองหรือกับคนอื่น (แฮนดิแคพของกรณ์ และพิพอยู่ที่ 5-6 และ จี๊ปอยู่ที่ 8-9) โดยสามคนมักมีกอล์ฟทริปร่วมกัน ไปแข่งกอล์ฟการกุศลร่วมกัน หรือแม้กระทั่งทํา เสื้อทีม และหนังสือบันทึกทริปการไปตีกอล์ฟที่ ตั้งชื่อว่า ‘Bros & Buds’ (พี่น้องและผองเพื่อน)
จี๊ป : “ถ้าไม่มีกอล์ฟ เราอาจจะไม่เจอกันเลย (หัวเราะ) แต่ความจริงคือทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวกับ กอล์ฟมันนำมาใช้ในชีวิตได้ คือคนอื่นทำอะไรไม่สำคัญ สำคัญคือการทำของเราให้ดี มันเหมือนการนั่งสมาธิชนิดหนึ่ง อยู่กับปัจจุบัน ไม่คิดถึงอดีต ไม่คิดถึงอนาคต นั่นก็คือกอล์ฟ one shot at a time ทำไม่ดีก็ไม่เป็นไร อย่าไปมัวคิดถึงผล”
กรณ์: “เราไม่ดีก็ไม่เป็นไร เพราะคนอื่นอาจจะแย่กว่าเรา”
พิพ : “ทำของเราให้ดีที่สุดก็จบแล้ว เราอาจจะตีตกนํ้า ก็ทำต่อไป เพราะคนอื่นอาจจะตกนํ้าสองหน ตกช็อตสอง พลาดกว่าเราก็ได้ (หัวเราะ) ไม่ต้องสนใจ”
กรณ์ : “แต่ต้องดู ต้องดูของคนอื่นเพื่อปรับตัวเองด้วย เพราะเช่นถ้าเขาตีตกน้ำไปก่อน เราก็ต้องมาลดอัตตาในตัวเรา เช่นแทนที่จะตีไม้หนึ่ง ก็เอาเหล็กหรือไม้สามมาตีแทน ซึ่งอาจลดโอกาสที่จะทำให้เราตีได้ดีที่สุด แต่จะเพิ่มโอกาสให้เราตีได้ดีพอ”
จี๊ป : “กอล์ฟสอนให้เราเห็นว่าข้อจํากัดของ แต่ละคนไม่เหมือนกัน พรสวรรค์ของแต่ละคนไม่เท่ากัน เพราะฉะนั้น เราต้องอยู่ใน comfort zone ของเรา คนอื่นเขาอาจจะตีเร็วกว่า แรงกว่า เราไปแข่งกับเขาตรงนั้น เราแพ้แน่นอน”
สองแพร่งของประเทศไทย
ด้วยความที่ทั้งสามอยู่ในฐานะที่ต้องจับตาความ เคลื่อนไหวของสิ่งรอบตัวโดยปกติ ไม่ว่าจะในฐานะนักลงทุน นักธุรกิจ หรือนักการเมือง จึงเป็นเรื่อง น่าสนใจว่าทั้งสามมองสภาวการณ์ของบ้านเมือง ในขณะนี้เป็นอย่างไร
กรณ์ : “ตอนนี้มันถือเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อเหมือนกันนะว่าเราอยากไปทางไหน แบบ ‘พี่รู้ดีกว่า’ แล้วพาไปหรือจะไปแบบร่วมกันช่วยกันไม่ว่าจะบกพร่องอย่างไรผมว่าคนยังไม่ตลกผลึก ส่วนตัวผมเลือกทางที่สองแล้วก็ยึดทางนั้น คนชอบถามว่าผมหวังสูงแค่ไหนทางการเมือง ผมบอกได้แค่ว่าสูงแค่ไหน ก็ต้องเป็นรูปแบบของเรา ตัวตนของเรา ไม่งั้นทำไปก็ไม่สนุกและไม่น่าประสบความสำเร็จ ถ้าเรามีโอกาสในรูปแบบของเรา เราก็ทำเต็มที่ แล้วก็คิดว่าจะทำได้ดีด้วย แต่ถ้าแบบของเราแล้วคนอื่นไม่ต้องการ ก็สุดแล้วแต่”
พิพ : “ผมอาจจะห่างๆ มากว่าพี่ดอน ผมแค่มองว่าสถานการณ์เป็นไง แล้วก็พยายามปรับตัว คิดว่าเรื่องสำคัญที่ต้องทำก็คือเรื่องการศึกษาและ คอร์รัปชัน เรื่องคอร์รัปชันก็คิดว่าถ้าเอาจริงก็ดี ส่วนเรื่องการศึกษา ยังไม่เห็นพัฒนาการเท่าไหร่ อาจจะเป็นเรื่องระยะยาวเกินไปสำหรับการเมือง”
กรณ์ : “อันนั้น ผมคิดว่าผมรู้ว่าจะต้องทำยังไง”
จี๊ป : “ผมเหมือนพิพ คือกรณ์ว่าไง เอางั้น มันกลับมาเรื่องเดิม เราไม่ผิดเมื่อเราทำสิ่งที่ถูก สิ่งที่ถูกนี้คือถูกสำหรับเรา ถูกสำหรับประเทศชาติ และที่แน่ๆ คือต้องยั่งยืน ไม่ใช่ต้องมาเริ่มใหม่ทุก 5 ปี 10 ปี ผมไม่ฉลาดพอที่จะรู้ว่าสิ่งนั้นคืออะไร แล้วคนจะตกผลึกเมื่อไหร่แต่ก็หวังว่าที่สุดแล้วเราจะตัดสินได้ว่าเราจะไปทางไหน ประเทศไทยที่ผ่านมาเหมือนกับ Alice in Wonderland คืออลิซเดินมาถึงทางสามแพร่งแล้วก็ตะโกนถามแมวว่า ‘ไปทางไหนดี’ แมวถามว่า ‘อยากไปไหนล่ะ’ อลิซตอบว่า ‘ไม่รู้’ แมวบอก ‘อย่างนั้นไปทางไหนก็เหมือนกันหมด’ ผมว่ามันสรุปทุกอย่าง”
สําหรับพี่น้องที่โตมากับคำถามที่ว่า ‘ทำทำไม? ไปทำไม?’ ไม่แปลกที่พวกเขาจะรู้สึกว่าประเทศไทย ยังไร้ทิศทาง แต่ไม่ว่าสถานการณ์ข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ดูเหมือนสามพี่น้องได้เลือกมานานแล้วว่า อะไรคือเส้นทางที่พวกเขาต้องการเดิน และสิ่งนี้น่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้พวกเขาได้พบกับหนึ่งใน ‘wealth’ ที่ดีที่สุดของชีวิตมนุษย์
คือความสำเร็จที่มาพร้อมกับความอิสระ นั่นเอง ■