HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

CLIENT VALUES


The Pursuit of Happiness

สามทหารเสือแห่ง ‘เปี่ยมสุข กรุ๊ป’ กับประสบการณ์ฝ่าอุปสรรคล้างหนี้กว่า 700 ล้านบาท ก่อนผงาดขึ้นมาเป็นหนึ่งในผู้เล่นรายสำคัญของวงการอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำของเมืองไทย และลูกค้าคนสำคัญของเกียรตินาคินภัทร

     ย้อนกลับไปเมื่อปี 2540 วิกฤตการเงินเอเชีย หรือที่เรียกกันคุ้นปากว่า ‘วิกฤตต้มยำ กุ้ง’ ทำให้ธุรกิจจำนวนมากต้องล้มระเนระนาด โดยเฉพาะกับรายเล็กที่สายป่านไม่ยาวพอ ธุรกิจดังกล่าวรวมถึง ‘เปี่ยมสุข กรุ๊ป’ ที่ต้องชะงักงันเมื่อประสบกับยอดหนี้ท่วมท้นกว่า 700 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม หลังวิกฤตผ่านพ้น การวางมือของ บัญชา กุลไพศาลธรรม ผู้บุกเบิกรุ่นแรกได้เปิดทางให้ลูกชายทั้งสามคน โล่ห์-กิติพงษ์ กร-ภูภกร และอ๋อง-ปรีชา กุลไพศาลธรรม ก้าวขึ้นมาแสดงฝีมือพลิกฟื้นธุรกิจโดยในช่วงเวลาเพียงหนึ่งทศวรรษ ได้เปลี่ยนยอดหนี้ 700 ล้านบาท ให้เป็นยอดขายปีละเกือบ 1 พันล้านบาท มาร่วมพูดคุยกับสามพี่น้องผู้ใช้พลังของ ‘ครอบครัว’ ฟันฝ่าอุปสรรค และเติบโตมาได้อย่างสง่างาม

ผิดแผนแต่ไม่ผิดพลาด

     โล่ห์: ผมเป็นคนชอบพวกต้นไม้ เพาะปลูกมาตั้งแต่เด็กเลยฝันว่าอยากเรียนด้านการเกษตร จะเข้าวิทยาลัยเกษตรเลยแต่พอได้คุยกับผู้ใหญ่หลายคนที่บ้าน ก็แนะนำว่าทำไมไม่ไปเรียนกว้างๆ อย่างพวกบริหารธุรกิจก่อน ก็เลยเรียนสายวิทย์ต่อบริหารที่ม.กรุงเทพ จบแล้วก็ไป MBA ด้านการบริหารที่ซีแอตเทิล ชอบพวกไฟแนนซ์บัญชี กลับบ้านมาก็ช่วงฟองสบู่แตกพอดี ก่อนหน้านั้นระบบธนาคาร และการปล่อยสินเชื่อง่ายมากพ่อก็เหมือนคนอื่นๆ ไม่ได้สำรองเงินในการทำธุรกิจ พอมีปัญหาก็หมดสภาพคล่อง ผมทำ cash flow ดูแล้วก็บอกกับพ่อแม่ว่าครั้งนี้ไม่รอดแน่ๆ แต่พ่อกับแม่ไม่ตื่นเต้น แล้วก็อยู่กับมันมาก็ปรากฎว่าทำจนรอด ก็เลยได้รู้ว่าบางทีทฤษฎีดูเหมือนจะไปไม่ได้ แต่ก็ไปได้

     กร: ตอนจะเข้าเรียนมหาวิทยาลัย ผมฝันอยากทำงานธนาคาร ใส่สูท ผูกไทเท่ๆ ได้ไปเรียนต่อด้านการเงินกับพี่ที่ซีแอตเทิล จบการเงินทั้งตรี และโท ก็คิดว่ากลับมายังไงก็ต้องทำงานด้านการเงินแน่ๆ แต่กลับมาก็วิกฤตพอดี ทำอะไรไม่ได้แต่พอได้เข้าไปดูไซต์งาน เห็นกระบวนการเริ่มต้นถมดิน ทำบ้านตัวอย่าง ทำสำนักงานขาย โอนนิติบุคคล ก็เริ่มชอบ ชอบพัฒนาชอบเห็นความเปลี่ยนแปลง ตั้งแต่ต้นจนเห็นความสวยงามถึงมือลูกค้า จนจบกระบวนการ

     อ๋อง: ผมจะแตกต่างจากพี่ชาย เนื่องจากพี่เขาเกิดไล่ๆ กันเลยไปคู่กันตลอดตั้งแต่ประถมจนมหาวิทยาลัย แต่ผมอยู่คนเดียวตลอด เข้าเตรียมอุดมฯ แล้วก็ต่อวิศวะฯ ธรรมศาสตร์ซึ่งไม่ได้เลือกเพราะเกี่ยวกับธุรกิจที่บ้านเลย แค่มองว่ามันเท่ดี ตอนแรกเกือบจะได้ไปเรียนเมืองนอกเหมือนกัน แต่เจอวิกฤตก่อน ทำให้ไม่มีเงินไป ขนาดตอนเรียน 2 เทอมสุดท้ายยังต้องกู้เงินมาจ่ายเลย พอเรียนจบก็ไม่ได้คิดว่าจะมาช่วยที่บ้าน เพราะหนี้สินเยอะ ยังไงก็ไปไม่รอดแน่นอน ลำพังแค่หนี้นอกระบบที่เกิดจากการที่เพื่อนฝูงให้หยิบยืมก็ 100 ล้านเข้าไปแล้ว ส่วนหนี้ของธนาคารก็มีอีกเกือบ 600 ล้านบาท ดอกเบี้ยเดือนหนึ่งก็ 2 ล้าน


ช่วยกันเริ่มใหม่

     อ๋อง: พอดีช่วงนั้น ปี 2541-2542 ภาวะวิกฤตมันเริ่มคลายตัว เจ้าหนี้รายใหญ่คนหนึ่งของเรา ซึ่งเป็นเจ้าหนี้นอกระบบดูโปรไฟล์พวกเราแล้วเห็นว่าถ้าไม่เข้ามาช่วยเราก็คงไม่มีความสามารถใช้หนี้คืนได้แน่ แต่ถ้าจะเริ่มใหม่ก็ต้องใส่เงินเข้ามาอีกด้วยความที่เขาเชื่อเรื่องโชคชะตา เลยเอาดวงพวกเราไปให้พระอาจารย์ที่นับถือดูว่าถ้าจะเริ่มธุรกิจใหม่กับเราจะสำเร็จไหมพระอาจารย์ก็ฟันธงว่าให้เริ่มต้นทำงานกับสามคนนี้ได้เลย เขาก็เลยเชื่อ ให้เราสามคนทำ ในบ้านเราก็คุยกันเองว่าลูกๆ ต้องช่วยเพราะธุรกิจจะ recover ได้ยาก ต้องมาบริหารแทนคุณพ่อ

     โล่ห์: พวกเราก็เลยแยกย้ายกันไปรับผิดชอบ ผมไปดูแลสวนเกษตรของพ่อที่กาญจนบุรี ส่วนน้องๆ ก็แยกกันไปกับหุ้นส่วนคนละกลุ่ม กรไปทำงานกับกลุ่มหนึ่ง อ๋องไปทำกับอีกกลุ่มหนึ่งต่างคนต่างไปทำงานใช้หนี้กันหมด แต่เจ้าหนี้รายนี้ถือว่ามีความสำคัญ เพราะเขาเป็นคนวางแผนระเบียบวินัยทางการเงินให้เรา ให้ทำเท่าที่เราทำไหว ไม่ต้องอาศัยเงินกู้ธนาคารแล้วทำบัญชีแบบสั้น เคลียร์บัญชีให้เร็ว ไม่หนีปัญหา

     กร: พ่อแม่เราเป็นคนมีความรับผิดชอบ ทำให้เราทิ้งไม่ได้ ประสบการณ์เราไม่มีหรอก เรารู้แต่ว่าเราต้องทำ อนาคตเป็นยังไงค่อยไปว่ากันข้างหน้าเราก็ไม่คิดว่าเราจะเดินมาถึงทุกวันนี้ เพียงแต่ตอนนั้นมันจำเป็นต้องทำจะยังไงก็ได้เพื่อชำระหนี้

     โล่ห์: แม่เป็นคนซีเรียส เรื่องวินัยชำระหนี้มากพ่ออาจจะไม่เป็นอะไร เป็นนักธุรกิจ ไม่มีก็คุยกัน แต่แม่ไม่ใช่ เป็นคนที่มีความรับผิดชอบสูง เขาทำใจไม่ได้ ตอนที่เกิดวิกฤต แม่สั่งพ่อว่าให้เอาแหวนเพชรนาฬิกาไปขายใช้หนี้ให้หมด ทุกวันนี้ผมเลยกล้าซื้อนาฬิกา กล้าซื้อเพชร เพราะมันเอาไปใช้ชำระหนี้ได้แต่ตอนนั้นต้องขายทุกอย่าง เอาเงินไปซื้อรถถูกๆ ไว้ขับทำงาน จากที่เคยมีกลุ่มหุ้นส่วน 6-7 กลุ่ม สุดท้ายก็เหลือทำด้วยกันจริงๆ แค่ 2 กลุ่ม

ตอนแรกที่เรากลับมารวมกัน เราตกลงกันว่าทุกอย่างต้องเป็นมติที่ประชุมแบบ 3 คน เรื่องสำคัญทุกอย่างต้องได้เสียง 3 ใน 3 ไม่ใช่ 2 ใน 3 เคสสำคัญต้อง yes ทุกคน ไม่งั้นถ้ามีคนหนึ่ง no ผลลัพธ์ออกมาไม่ดี ก็จะทำให้ไม่ดี แล้วเวลาทำงานเราก็จะเชื่อใจกันลงมติที่ประชุมแล้วก็ปล่อยให้เขาทำงานกันไปเลย

ที่ปรึกษา

     อ๋อง: เรามีที่ปรึกษาสองกลุ่มหลัก กลุ่มแรกคือพ่อแม่ แรกๆ จะเข้ามาประชุมด้วย วางแผนให้ ถ้าจะทำเรื่องนี้ ให้ติดต่อกลุ่มนี้กลุ่มนั้น ส่วนกลุ่มที่สอง คือ หุ้นส่วนที่เป็นเพื่อนพ่อ พวกท่านมีประสบการณ์ อายุ 50 กว่าปีกันหมดแล้ว เข้ามาช่วยจัดระเบียบเรื่องการเงิน งานก่อสร้างการขาย ก็มีวินัยมากขึ้นกว่าแต่ก่อนเราเองก็เริ่มพัฒนาตัวเอง ไปหาความรู้อบรม สัมมนาเริ่มเรียนปริญญาโทด้านอสังหาริมทรัพย์โดยตรงส่วนพี่ชายก็ไปเรียนเพิ่มด้านเคหะการ หลังจากที่เริ่มมีรายได้เชิงบวก ธุรกิจเริ่มมีกำไร ก็เลยตามพี่โล่ห์เข้ามาช่วย และรวมเป็นก้อนเดียว เป็น ‘เปี่ยมสุข กรุ๊ป’ และได้ทำงานร่วมกันมาตลอดตั้งแต่ปี 2547 โดยพี่โล่ห์จะดูด้านบัญชี ส่วนผมกับพี่กรจะออกไปลุยดูไซต์งานกันสองคน

หลักง่ายๆในการทำงาน

     โล่ห์: ตอนแรกที่เรากลับมารวมกัน เราตกลงกันว่าทุกอย่างต้องเป็นมติที่ประชุมแบบ 3 คน เรื่องสำคัญทุกอย่างต้องได้เสียง 3 ใน 3 ไม่ใช่ 2 ใน 3 เคสสำคัญต้อง yes ทุกคน ไม่งั้นถ้ามีคนหนึ่ง no ผลลัพธ์ออกมาไม่ดี ก็จะทำให้ไม่ดี แล้วเวลาทำงานเราก็จะเชื่อใจกัน ลงมติที่ประชุมแล้วก็ปล่อยให้เขาทำงานกันไปเลย

     อ๋อง: อีกอย่างคือเอาคำสอนจากพ่อแม่และกลุ่มผู้ถือหุ้นมารวมกันนั่นคือ ‘ทำสิ่งที่ชำนาญตรวจงานให้รอบคอบ อย่าทะนงว่าประสบความสำเร็จแล้วจะประสบความสำเร็จอีก ต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา อย่าเวอร์ ไม่ลงทุนเกินตัว ซื่อสัตย์ ขยัน อดทน’ ทุกวันนี้กระดาษที่พิมพ์หลักการนี้ไว้ตั้งแต่ต้นก็ยังอยู่ในห้องทำงานตลอดแล้วก็พยายามแสวงหาความรู้เอา ตอนแรกไปอบรมเป็นช็อตๆ ยังรู้ไม่รอบ ก็เลยตัดสินใจเรียนโท แล้วก็วางแนวธุรกิจผสมจากสิ่งที่รู้มาเองกับสิ่งที่เรียนเริ่มมีโมเดลธุรกิจของตัวเอง ซึ่งสามารถแข่งขันได้ช่วงระยะเวลาหนึ่ง อาจเป็นเพราะการแข่งขันในช่วงแรกๆ ยังไม่รุนแรงด้วย รายใหญ่เพิ่งล้ม ต่างคนก็ต่างเริ่มลุกกันมา แต่มาเริ่มแข่งขันรุนแรงจริงๆ คือช่วงปี 50 เป็นต้นมา ซึ่งแต่ละรายเขาก็แข็งแกร่งกว่าเรา


ใช้ประโยชน์จากจุดแข็ง

     อ๋อง:พื้นที่เป้าหมายของเราคือนนทบุรี เพราะมีพื้นที่น่าอยู่ ผมว่าเป็นจังหวัดที่ 2 ก็ว่าได้ที่เหมาะกับการอยู่อาศัย ความที่เราเป็นคนนนท์มาแต่เกิด ทำให้เราเข้าใจพื้นที่เมืองนนท์ได้ดีกว่าคนทั่วไป อย่างคนเชียงใหม่มา คนหน้าใหม่มาในพื้นที่ ก็ไม่รู้ว่าพื้นที่ตรงไหน คือพื้นที่น่าอยู่ของนนท์ ทีนี้ พอเรามีความชำนาญพื้นที่เราก็เริ่มพัฒนาโปรดักท์ต่อเนื่อง ก็เริ่มเกิดความน่าเชื่อถือ เกิดจากคุณภาพที่เราทำซํ้าๆ ในพื้นที่เดิม คนท้องถิ่นเห็น ญาติคนนั้นซื้อบ้านเรายังไม่พังเลย เทียบกับเจ้าอื่น บ้านโทรมเร็ว แต่ถ้าพูดเรื่องแข่งกับแบรนด์ใหญ่แล้ว แค่นี้มันไม่พอ ตอนแบรนด์ใหญ่เข้ามาในพื้นที่ เราก็นั่งคิดกันว่า เราจะหนีออก หรือเราจะปรับตัวเองสู้กับรายใหญ่ ถ้าเราหนีออกไป เราก็ต้องหนีไปเรื่อยๆ แต่สุดท้าย เราก็ตัดสินใจไม่หนี ปักหลักสู้ ก็เปลี่ยน business model มา 2-3 ครั้ง

รับมือยักษ์ใหญ่

     อ๋อง: ตอนแรกๆพร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟคมาก่อนคนอื่นยังไม่มา ก็ใช้โมเดลที่เท่าที่มีแข่ง ช่วงที่สองแสนสิริมา แลนด์ แอนด์ เฮาส์มา พฤกษามา ทำให้ตลาดเราหายไป 60-70% เราเลยต้องเปลี่ยนโมเดลจากเดิมที่แค่สร้างบ้าน ก็เริ่มมาศึกษาจริงจังเกี่ยวกับลูกค้าและการตลาดว่าลูกค้าใช้ปัจจัยอะไรในการซื้อบ้าน ถึงขนาดทำทีเป็นลูกค้าขับรถไปวิเคราะห์คู่แข่งแบบเชิงมิลลิเมตรเลย แต่ละหลังใช้พื้นที่เท่าไหร่วัสดุอะไร คลับเฮาส์บริการยังไง เซลส์พูดจายังไงพอเห็นแล้วเรารู้เลยว่า เฮ้ย--ถ้าเราทำแบบเดิมเหนื่อยแน่ๆ จึงได้เปลี่ยน คุณภาพสินค้าบริการและเอกสารที่ลูกค้ารับไป ทุกอย่างต้องเป็นอย่างมืออาชีพ คอนเซ็ปต์โครงการเมื่อก่อนไม่มีก็เริ่มมี แต่หลังจากนั้นมาอีก คู่แข่ง Top 10 มาครบ มาทุกโปรดักท์ เซกเมนต์ ราคา ทำให้ช่องว่างการตลาดไม่พอ ไม่มีช่องให้เสียบเลย เราก็ต้องแข่งโปรดักท์เดียวกัน ทำยังไง ก็ขับรถไปดูมันอีกรอบ อะไรคือสิ่งที่เราต้องปรับ เราได้เปลี่ยนโลโก้ รีแบรนดิ้ง ทำทีมรีแบรนด์ขึ้นมาใหม่

กลยุทธ์ธุรกิจ

     กร: เลือกดูที่ดินก่อน อ๋องสกรีนก่อน ว่าจะเอาที่ดินแปลงนี้มั้ย ทำอะไรได้บ้าง ตัดสินใจร่วมกัน แล้วก็จะ assign ว่าใครไปทำโปรดักท์อะไรเมื่อก่อนทาวน์เฮาส์ เปี่ยมสุข ดีไซน์ไม่เหมือนใครแน่นอน งานสถาปัตย์ภายนอกเราไม่เหมือนใครมีทั้งแบบ ‘ทรอปิคัล’ ‘โมเดิร์น’ ‘ทัสคานี’ ไม่มีใครทำในตลาด ไปเดินดูได้เลย ปัจจุบัน เทรนด์อะไรมาก็จะนำมาปรับใช้ในเรื่องการตลาดเหมือนกัน

     อ๋อง: เรื่องการออกแบบ เราพยายามดูเทรนด์Top 5 หรือ Top 10 เขาจะเป็นคนกำหนดเทรนด์เช่นถ้าแสนสิริบอกว่า บ้านเทรนด์โมเดิร์นดีเขาก็โหมว่าเทรนด์นี้ดีในแมส เราก็ไม่ทำโดดจากเทรนด์เท่าไหร่ เทรนด์คือโมเดิร์น เราก็จะทำโมเดิร์นเพียงแต่ถ้าเขาโมเดิร์นแบบ A เราก็จะโมเดิร์นแบบB ให้ทีมสถาปนิกออกแบบให้ดีกว่าเขา เพราะเราเป็นแบรนด์เล็ก ถ้าทำเท่าเขา เราก็แพ้ ต้องทำให้ดีกว่าเขา


โครงการแห่งความสำเร็จ

     อ๋อง: จะเรียกว่าโม้นิดๆ ก็ได้ เราทำมา 30 กว่าโครงการ ไม่มีโครงการไหน ไม่ประสบความสำเร็จกำไรอาจไม่ถึงตามเป้าหมาย แต่ขายหมดไม่เหลือโครงการบ้านเปี่ยมสุข ติวานนท์ 56 เป็นจุดเปลี่ยนที่พิสูจน์ว่าโมเดลธุรกิจใหม่ของเรามันได้ผล มันเวิร์คแข่งรายใหญ่ได้ ในพื้นที่เท่ากัน คู่แข่งเขาขาย 1.6 ล้าน เราขาย 2.2-2.3 ล้าน เราขายแพงกว่าแต่ด้วยความที่ดีไซน์เราแตกต่าง facilities ดีกว่า มันทำให้เราขายหมดก่อนคู่แข่งอีก

     กร: ถ้าถามผม ขายหมดถือว่าประสบความสำเร็จทั้งนั้น แต่ถ้าถามเรื่องความภูมิใจ เรื่องการออกแบบสถาปัตยกรรม ผมชอบโครงการติวานนท์ 22 เป็นทัสคานี ทาวน์เฮาส์ สวยดี คนอื่นรายละเอียดไม่เท่าเรา ยิ่งไปดูในบ้าน บันได ผมใช้เหล็กอิตาลีตัววงกบพีวีซีมีโค้ง งานเป็นก่อฉาบปูน

     โล่ห์: โครงการติวานนท์ 56 เป็นโครงการใหญ่ที่ขายดี แข่งขันได้ แต่ส่วนตัวผมชอบโครงการติวานนท์ 22 เล็กแต่มีสไตล์ สไตล์นี้ไม่มีใครทำเป็นทาวน์เฮาส์ ขนาดเพื่อนที่ทำธุรกิจด้วยกันยังตามมาชม เฮ้ย--ทำโครงการแบบนี้ในเมืองด้วย มันสวยแล้วมันก็เกิดแบบนี้ อีก 2-3 โครงการ

     อ๋อง: ต้องนึกว่าเดิมทีเราไม่มีสาธารณูปโภคมากมาย เป็นหมู่บ้านที่ถูกพัฒนาจาก local brand ผิดกับรายใหญ่ๆ ที่แค่ทางเข้าก็อลังการมากแล้ว คนที่เคยรู้จักเราจะเห็นเลยว่าเปี่ยมสุขเปลี่ยนไป นี่คือภาพที่ได้ ตอนที่เราเปลี่ยนจากสิ่งหนึ่ง ไปอีกสิ่งหนึ่งไม่ใช่แค่ตัวเราบอกนะ คนรอบข้างก็พูดกันหลายคนทั้งหุ้นส่วน สถาบันการเงิน ทีมงาน ว่าเราสร้างจุดเปลี่ยนได้


นำองค์กรแบบครอบครัว

     โล่ห์: เรื่องพนักงาน เราดูแลกันสไตล์พี่น้องเราเปิดโอกาสให้เขาร้องเรียนได้ในทุกเรื่อง มีอะไรก็จะถึงตัวผู้บริหารได้ทุกคนพยายามไม่ให้เกิดความเหลื่อมลํ้า ถ้าเรายอมทำให้กับคนหนึ่งแล้ว คนอื่นก็ได้สิทธินี้เดียวกัน ถ้าใครได้อะไร ก็ได้ทุกคนองค์กรเราปรับตัวบ่อย ตั้งแต่โบนัส สวัสดิการปรับค่อนข้างถี่ แต่ละปี จะให้พนักงานรายงานปัญหาโดยตรงกับผู้บริหาร อยากรู้ว่าเขาอยู่กันยังไงเช่นอยากจะมีสวัสดิการแบบบริษัทมหาชน กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เรื่องนี้พนักงานทำมา ปีแรกไม่ผ่านปีที่สองก็มีลิสต์มาอีก ก็ทำให้ ทุกวันนี้เปี่ยมสุขเราเลยมีกองทุนคล้ายกับสำรองเลี้ยงชีพเหมือนบริษัทมหาชน ซึ่งจริงๆ เป็นสิ่งที่ทำไม่ได้หรอกสำหรับบริษัทเล็กๆ มีพนักงานแค่ 70 คนแบบนี้ เราจัดให้หมด คลอดลูก เลี้ยงบุตร ถ้ามันเป็นปัญหาที่เขาลิสต์ขึ้นมา ก็ทำให้

     กร: เราให้ความสำคัญกับสิทธิ เรื่องของพนักงาน บางทีมองว่าเล็กน้อย แต่ถ้าปล่อยไว้นานก็เป็นเรื่องใหญ่ได้ ก็มาแก้เลยดีกว่า


ไลฟ์สไตล์ในการพักผ่อน

     โล่ห์: ผมจะเน้น 2 เรื่องคือการประกันชีวิตกับเที่ยว เรื่องประกันบังคับให้เราเก็บเงิน มีวินัยในการออมเงินไปในตัว ส่วนการเที่ยว บางคนมองว่าผมใช้เงินเยอะ แต่ผมเป็นคนชอบถ่ายภาพ ชอบเปิดหูเปิดตา ผมก็สะสมไมล์เป็นการหลอกตัวเองให้ไปเที่ยวบ่อยๆ เป็นวิธีเก็บเกี่ยวประสบการณ์พร้อมกับครอบครัว เช่นอยากรู้เรื่องเครื่องบิน ก็เสิร์ชดูสายการบินเลยว่าสายการบินไหนบินเครื่องอะไรสายการบินไหนเอาเครื่องใหม่มาบิน เช่น ANA เป็นสายการบินแรกที่ได้รับเครื่อง 787 Dreamliner ก็ไปญี่ปุ่น ไปลองนั่งดู แล้วเวลาจะไปเที่ยวไหน ผมจะซื้อหนังสือให้ลูกอ่านให้เขาศึกษาว่าสถานที่ๆ จะไปสำคัญยังไง หมุดทอง Golden Gate อยู่ตรงไหนเวลาเที่ยวก็เป็นโอกาสให้ใกล้ชิดกับลูกมากขึ้นด้วยได้เห็นพฤติกรรมเขาตลอด 24 ชม. ได้มีโอกาสได้สอนลูก ทำ ให้การเที่ยวเป็นเวลาที่มีคุณค่า

เล่นกอล์ฟ

     อ๋อง: จริงๆ คล้ายๆ กัน มีเที่ยว ทริป ผมจะเยอะกว่าคนกลาง น้อยกว่าคนโต แล้วก็เล่นกอล์ฟ แต่ไปเล่นกับก๊วนเพื่อนมากกว่า คนละก๊วนกัน

     โล่ห์: เวลาไปเที่ยวต่างประเทศ หรือให้พนักงานไปต่างประเทศ เราก็ต้องแยกเที่ยวบินเพื่อความปลอดภัย ไม่ใช่แค่ไปลำเดียวกันหมด มันก็ต้องมีคนคอยดูแลคนข้างหลัง


ครอบครัวใกล้ชิด

     โล่ห์: ลูกๆ พวกเราเรียนที่เดียวกันหมด ก็จะจัดเวรขับรถไปส่งลูกใช้รถคันเดียว 3 บ้าน 6 คนเด็กๆก็เจอกันทุกวัน สนิทกันอยู่แล้ว แล้วเราก็มีไลน์กลุ่มครอบครัวเปี่ยมสุขไว้คุยกันด้วย

เราสามคนอาจโชคดีที่ฟันฝ่ามาด้วยกันผ่านอะไรมาเยอะ ทําให้เรามีความซื่อสัตย์มีความรับผิดชอบ ตอนนั้นไม่มีเงิน มีแต่หนี้มีอะไรก็ช่วยกันทํา ทุกคนมีความเข้าใจกันและกัน เสียสละ เราก็คุยกันเสมอว่า เปี่ยมสุขมีวันนี้ก็เพราะครอบครัว ถ้าครอบครัวทะเลาะกันเมื่อไหร่ก็มีปัญหากันหมด

ไร้ปัญหาทำ ธุรกิจกับพี่น้อง

     โล่ห์: เราแคร์เรื่องความรู้สึกกันและกัน บางครั้งได้ข้อตกลงแบบ 2 ใน 3 เราก็รู้สึกว่า เฮ้ย---เขาไม่เห็นด้วย เขาคงจะ upset ก็ต้องจะมีวิธีการปลอบโยนกันและกัน ให้รู้สึกว่ามันเป็นความสำเร็จของทั้งสามคน

     อ๋อง: เราสามคนอาจโชคดีที่ฟันฝ่ามาด้วยกันผ่านอะไรมาเยอะ ทำ ให้เรามีความซื่อสัตย์ มีความรับผิดชอบ ตอนนั้นไม่มีเงิน มีแต่หนี้ มีอะไรก็ช่วยกันทำ ทุกคนมีความเข้าใจกันและกัน เสียสละ เราก็คุยกันเสมอว่า เปี่ยมสุขมีวันนี้ ก็เพราะครอบครัวถ้าครอบครัวทะเลาะกันเมื่อไหร่ ก็มีปัญหากันหมดบางทีเห็นครอบครัวอื่นตามหน้าหนังสือพิมพ์เขาเข้ากันยาก มีปัญหากงสี แต่เราไม่ค่อยทะเลาะกันเลยพวกเรารู้ว่าแต่ละคนมีครอบครัว มีภรรยา มีลูกมีบุคคลที่สามเข้ามาเยอะ อยู่บ้านรั้วเดียวกันก็วุ่นวายหมด ฉะนั้น ถ้าพี่น้องสามคนไม่แข็ง ก็จะแย่

     โล่ห์: ตั้งแต่เริ่มทำ ธุรกิจ มีครอบครัวแรกๆจะคุยเลยว่า เราจะทำ ธุรกิจกันสามคน ตัดสินใจกันสามคนเท่านั้น ภรรยาที่บ้านไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อไม่ให้มีบุคคลที่สาม งานเราสามคนไม่เหมือนกันความรับผิดชอบไม่เหมือนกัน แต่เราให้ความสำคัญทุกคนเท่าๆ กัน เราเป็นหนึ่งเดียวกัน เราเหมือนกันไม่มีการเหลื่อมลํ้า ไม่มีการทำน้อยกว่า มากกว่าเพราะทำคนละแบบ เปรียบเทียบกันไม่ได้


อนาคตของเปี่ยมสุข

     อ๋อง: ตอนนี้เรายังไม่มีแนวคิดเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ แต่ยังตั้งเป้าเติบโตเหมือนเดิมโดยพัฒนาโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ในอีก 5 ปีข้างหน้าจะมีโปรดักท์หลากหลายขึ้น เช่นปีที่ผ่านมาเราเปิดขายโปรดักท์จับตลาดระดับสูงชื่อ The Masterปีหน้าเราจะเปิดแบรนด์ตัวใหม่ S Gate เป็น fighting brand ในตลาดล่าง เป็นการกระจายตัวแนวราบให้ครอบคลุมทุกระดับสินค้า อนาคตเราอาจจะมีคอนโดมีเนียมเข้ามาด้วย ส่วนพื้นที่เป้าหมาย ตอนนี้เราขยายพื้นที่เข้าไปทำโครงการในกรุงเทพฯ และปริมณฑลบ้างแล้วเช่นที่สมุทรปราการเราต้องการพิสูจน์ว่าโมเดลธุรกิจของเราแข็งแกร่งวันที่รายใหญ่เข้ามา เราก็สู้ได้ แล้วทำ ไม เราจะออกไปสู้พื้นที่อื่นไม่ได้ เราตั้งเป้าประมาณ 1 พันล้านแต่ยังไม่ถึง ได้ประมาณ 700 ล้าน โตมาปีละ20-30% จริงๆ อยากโตสัก 50% ภายใน 5 ปี 3 พันล้าน ซึ่งเราเชื่อว่า เวลาวางโปรดักท์ใหม่จะทำให้ไปถึง 3 พันล้านได้

รู้ทันคู่แข่ง

     อ๋อง: ตอนนี้เราร่วมกับทีมของบริษัทใหญ่ที่ทำการตลาดให้บริษัทอสังหาฯ ระดับ Top 5 ของประเทศเพื่อทำ Market Fit สมัยก่อนไม่มี เราอยากได้โปรดักท์ก็ทำเลย แต่พอได้ฟังคนเหล่านี้พรีเซนต์ก็ทำให้เห็นว่า เราสามารถทำโปรดักท์ที่ดีกว่าเดิมได้ ทั้งๆ ที่เป็นที่ดินแปลงเดิม โจทย์เดียวกัน ทุนก่อสร้างเท่ากัน ตอนนี้เราให้ฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์เราทำงานแข่งกับเขาหมดเลย ทุนก่อสร้างเท่านี้ให้ไปให้คิดโปรดักท์มาแข่งกับเขา คนในพอเห็นคนนอกเก่งกว่าก็ต้องพยายามพัฒนา ทีมงานเราก็ได้ความรู้ ต่อยอดไปเรื่อย เราก็ได้โปรดักท์ที่ดีขึ้นได้ผลตอบแทนที่ดีขึ้น ที่ผ่านมา สิ่งที่คุณทำ อาจจะสำเร็จ แต่คุณไม่ได้เก่งสุด มีวิธีอื่นเหมือนกันแต่คุณไม่รู้ เพราะคุณไม่รู้ด้วยซํ้าว่าคุณไม่รู้อะไรยกตัวอย่าง ซื้อที่ตารางเมตรละ 2 หมื่นบาทมาขายเป็นคอนโดตารางเมตรละ 3 แสนบาทถ้าคนเก่าคุณไม่กล้าทำแบบนี้หรอก แต่จริงๆ แล้วมันทำได้ แต่คุณไม่รู้ว่ามันทำให้ดีขึ้นได้

เคล็ดลับกงสี

     อ๋อง: จริงๆ เรื่องกงสี หลายๆ ครอบครัวมีโจทย์ยากที่เราไม่เจอ คือพ่อแม่ไม่เชื่อว่าลูกทำได้และอยากให้ทำแบบเดิมๆ อยากแนะนำให้คนรุ่นใหม่ยึดหลักว่า หนึ่ง ต้องเข้าใจพ่อแม่ก่อนจะรบให้ชนะ ต้องเข้าใจอีกฝ่าย และทำให้เขาเชื่อว่าคุณทำได้ พอเขาเชื่อคุณแล้ว ก็ต้องตั้งใจทำงานให้เต็มที่ สอง ในกงสี การทำงานต้องมีความรักเป็นพื้นฐาน พี่น้องข้างในเกลียดกัน ก็ไปไม่ได้แล้วทำถูกก็กลายเป็นผิด รักอย่างเดียวไม่พอ ต้องเข้าใจเขาด้วย บางที การทำงานในกลุ่มญาติด้วยกัน มันไม่มีความแฟร์ 100% ฉะนั้น บางสิ่งคุณต้องเสียสละ สาม นักธุรกิจรุ่นใหม่ อสังหาฯ ต้องมีความรู้ ถ้าคุณมาแบบไม่รู้อะไร จะเหนื่อยมาก เพราะแข่งขันสูงกว่าในอดีตมาก ปัญหาอุปสรรคมีอยู่แล้ว โจทย์ยากกว่าเมื่อก่อน ปรึกษาคนอื่นเยอะๆ เช่นสถาบันการเงิน ช้าบ้าง เร็วบ้างยังไงก็เดินได้ พอเดินได้ ก็สร้างประสบการณ์ได้และต้องขยันเรียนรู้นะ ไม่ใช่ทำได้แล้วเหลิงยิ่งอสังหาฯ มันไม่ได้ มันไม่ใช่ขายด้วยตัวเองได้มันต้องหาข้อมูล คุณลองออกโปรดักท์เชยๆ สิ รับรองงานเข้า

ต้องพัฒนาตัวเองตลอดเวลา

     โล่ห์: จริงๆ ผมว่า เราทำงานด้วยความซื่อสัตย์ ขยัน อดทน ใช้เหตุผล เอาใจเขามาใส่ใจเรา เวลาความเห็นไม่ตรงกัน ถ้าใช้เหตุผล จะรู้ว่าไม่มีอะไรสู้เหตุผลได้หรอก

รู้จักสามหนุ่มกุลไพศาลธรรม



     กิติพงษ์ จบการศึกษาบริหารธุรกิจสาขาการจัดการมหาวิทยาลัยกรุงเทพก่อนไปศึกษาต่อปริญญาโท ด้านบริหารธุรกิจจากมหาวิทยาลัย City University ในสหรัฐอเมริกาและต่อปริญญาโทอีกใบในสาขา Housing Development จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

     ภูภกร หลังจบการศึกษาด้านการเงินจากมหาวิทยาลัยกรุงเทพก็เดินทางไปศึกษาปริญญาโทด้าน Finance Management จาก City University ก่อนเดินทางกลับมาช่วยธุรกิจของครอบครัว

     ปรีชา หลังจบปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็ศึกษาปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เช่นกัน

     ปัจจุบันกิติพงษ์ดูแลด้านการเงิน ขณะที่ภูภกรและปรีชา รับหน้าที่ดูแลโครงการใหม่ของเปี่ยมสุขทั้งหมด