SECTION
ABOUTSTATE OF THE ARTS
Big Little Stages
วงการศิลปะการแสดงร่วมสมัยของกรุงเทพฯ อาจตื่นตัวอย่างมากในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา แต่ความยั่งยืนของวงการนี้ยังเป็นเรื่องน่ากังขา โดยเฉพาะเมื่อมันดูเหมือนจะเดินสวนทางกับอุดมการณ์ และความเห็นทางการเมืองของศิลปิน
การแสดงในสเกลขนาดนี้ แทบไม่มีโอกาสเกิดขึ้นได้เลยในช่วง 2-3 ปีที่แล้ว เมื่อคณะละครอิสระยังคงอยู่เพียงตามหลังคาเฟ่ย่านบางลําพู แต่ในปัจจุบัน การแสดงลักษณะนี้ได้กลายมาเป็นสื่อทางเลือกใหม่ที่มีความเป็นพลวัตสูงที่สุด
ในคํ่าคืนของวันจันทร์หนึ่งแถวย่านทองหล่อหนุ่มสาวชาวกรุงกลุ่มหนึ่งมารวมตัวโดยมือหนึ่งถือขวดเบียร์ และอีกข้างคีบประคองมวนบุหรี่ น่าแปลกที่พวกเขาไม่ได้กำลังรอดูวงร็อคอินดี้ขึ้นแสดงบนเวที หากแต่มาเพื่อชมการแสดงล่าสุดของ คาเงะ-ธีระวัฒน์ มุลวิไล ผู้กำกับแห่งคณะ ละคร B-Floor ผู้ซึ่งในการแสดงเดี่ยวครั้งก่อนหน้าได้เจาะน็อตโชกเลือดลงไปในก้อนนํ้าแข็งใช้เครื่องมือช่างทุบทำลายมัน และขนลากกระสอบนํ้าแข็งไปทั่วเวที
ในครั้งนี้ ผู้ชมต่างทยอยเข้าสู่แถวที่นั่งของโรงละครชั่วคราว แสงไฟหรี่สลัวขณะที่ชายหนุ่มคนหนึ่งปรากฏกายบนเวที เขาพุ่งแขนไปด้านหน้าครั้งแล้วครั้งเล่าด้วยท่าทางอันเก้กังแต่ชวนพิศวง “เขากำลังเศร้าสะเทือนใจจากการสูญเสีย” นักแสดงคนหนึ่งโพล่งออกมาจากข้างเวที “เขาเชี่ยวชาญในการทำซูชิปลาไหล!” อีกคนว่า “มันเป็นภัยสังคม! มันเป็นเพนกวินจักรพรรดิ!” คนอื่นๆ พูดแทรกขึ้นมา ไม่นานนัก ผู้ชมก็ต่างหัวเราะร่วน ความสนุกสนานไหลเวียนอยู่ในหมู่ผู้ชมอย่างสัมผัสได้
การแสดงในสเกลขนาดนี้แทบไม่มีโอกาสเกิดขึ้นได้เลยในช่วง 2-3 ปีที่แล้ว เมื่อคณะละครอิสระยังคงอยู่เพียงตามหลังคาเฟ่ย่านบางลำพู แต่ในปัจจุบัน การแสดงลักษณะนี้ได้กลายมาเป็นสื่อทางเลือกใหม่ที่มีความเป็นพลวัตสูงที่สุด การมีรอบแสดงประจำ การมีพื้นที่แสดงโดยเฉพาะ และการมีฐานผู้ชมที่เพิ่มขึ้น ทำให้คณะละครอย่าง B-Floor ‘พระจันทร์เสี้ยว’ และ Democrazy สามารถพิสูจน์ให้เห็นว่า ผู้ชมไทยไม่น้อยกำลังกระหายสื่อสร้างสรรค์ที่มากกว่าหนังผีหรือละครเพลงย้อนยุค
พื้นที่
ความเปลี่ยนแปลงสำคัญอย่างหนึ่งสำหรับวงการนี้ ก็คือการที่คณะละครอิสระได้มีโอกาสเปิดการแสดงในพื้นที่ใจกลางเมืองที่จัดไว้ให้โดยเฉพาะ ที่ผ่านมา คณะละครอิสระ ‘ลํ้าๆ’ มักถูกจัดให้อยู่แต่ชายขอบพื้นที่ทางวัฒนธรรม ของกรุงเทพฯ และมีโอกาสแสดงแต่เฉพาะในที่ลับหูลับตาคน คณะละครเล็กๆ เหล่านี้ มักถูกบดบังโดยการแสดงที่ทุนหนักอย่างโขนในศูนย์วัฒนธรรมฯ หรือละครเพลงอันเต็มไปด้วยดาราของเมืองไทยรัชดาลัย เธียร์เตอร์ จนดูเหมือนว่าพวกเขาถูกชะตาบังคับให้เป็นเจ้าไม่มีศาล ต้องวิ่งหาพื้นที่แสดงเป็นครั้งๆ เรื่อยไป จนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้
นับเป็นเรื่องเข้าใจยากว่าเหตุใดคณะละครอิสระจึงต้องประสบกับปัญหาขาดแคลนพื้นที่แสดง เพราะประเทศไทยจัดว่ามีสถานที่ในด้านนี้อยู่เป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นโรงละครในตึกเก่าทรงอาร์ตเดโค เช่น โรงละครแห่งชาติ หรือศาลาเฉลิมกรุง โรงละครในห้างหรู เช่น เมืองไทยรัชดาลัย โรงละครอักษรา และรอยัลพารากอน ฮอลล์ โรงละครในมหาวิทยาลัย เช่น มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งมีอุปกรณ์ครบครันเป็นพิเศษ ตลอดจนศูนย์ประชุมต่างๆ เช่น ไบเทคบางนา อิมแพ็คเมืองทองธานี และศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กระนั้น ในช่วงเทศกาลละครกรุงเทพ (Bangkok Theatre Festival) เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา กลับไม่มีสถานที่เหล่านี้สักแห่งที่เปิดรับการแสดงแม้แต่สักชุด (จากทั้งหมด 66 ชุด) ของคณะละครอิสระ ท้ายที่สุด การแสดงทั้งหมดต้องมาเปิดรอบที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (Bangkok Art and Culture Centre) และพื้นที่ขนาดเล็กอื่นๆ เช่น ทองหล่อ อาร์ต สเปซ หรือโรงมหรสพทองหล่อ ตลอดจนโรงละครของ Democrazy Studio และพระจันทร์เสี้ยวการละคร แม้หลายต่อหลายครั้ง ‘โรงละคร’ เหล่านี้แทบจะเป็นเพียงห้องที่มีชุดไฟติดเพดานเท่านั้น
“ประเทศเราอาจมีสถาบันที่ส่งเสริมศิลปะการแสดง แต่ถ้าคุณไม่ได้แสดงตามของเก่า คุณก็ไม่มีตัวตนสำหรับเขา การแสดงอย่างนี้ที่เมืองนอกเขามีเงินช่วย แต่ที่นี่เราเคยลองติดต่อภาครัฐแล้ว เขาไม่สนใจ เขาบอกว่าไม่มีนโยบายถ้าคุณทำการแสดงที่เข้ากับภาพลักษณ์ที่รัฐบาลต้องการนำเสนอ เขาก็อาจจะสนับสนุนคุณบ้างแต่ส่วนใหญ่เขามักจะเห็นว่าเรา controversial เกินไป” ธนพล วิรุฬหกุล ผู้อำนวยการฝ่ายครีเอทีฟของคณะเดโมเครซี่กล่าว
เดโมเครซี่แก้ปัญหาโดยการสร้างโรงละครของตัวเอง ซึ่งแล้วเสร็จในปี 2551 โดยหากมุ่งหน้าไปซอยสะพานคู่ มองหาร้านกาแฟตีไม้กระดานสีฟ้า แล้วเดินเข้าไปในตึกแถวที่หน้าตาเหมือนโรงเรียนกวดวิชา ด้านหลังจะพบเวทีหน้ากว้างขนาดสองห้องแถว ทาสีดำสนิท และดูง่อนแง่นราวกับจะถล่มลงมาทับที่นั่งแถวหน้าได้ทั้งแถบ อย่างไรก็ตาม แม้โรงละครแห่งนี้จะห่างไกลกับที่นั่งบุกำมะหยี่สีแดงในโรงละครแห่งชาติแต่ก็จุผู้ชมได้ถึง 60 คน
“พื้นที่แคบๆ เหมาะกับการแสดงแนวทดลองซึ่งมีการเล่นปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนดูกับนักแสดงแต่จะไม่ค่อยเหมาะกับการแสดงที่ต้องมี visualeffect ” ธนพลกล่าว ในการแสดง 2 ชุดล่าสุดของเขาได้แก่ Transaction และ Hipster the King เขาได้ผสมผสานการเต้นร่วมสมัย เข้ากับการฉายภาพวีดิทัศน์ และการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ชม
ในละครเวที บางละเมิด ของคณะบี-ฟลอร์ อรอนงค์ ไทยศรีวงศ์ ซึ่งเป็นผู้แสดงเดี่ยว ยิ่งสามารถใช้พื้นที่อันแคบนั้นได้อย่างทรงพลัง การแสดงของเธอจัดขึ้นภายในห้องปิดทึบที่สถาบันปรีดี พนมยงค์โดยผู้แสดงอยู่ห่างจากผู้ชม (ราว 12 คน) เพียงเอื้อมซึ่งช่วยสร้างบรรยากาศของความใกล้ชิดที่ชวนกระอักกระอ่วนได้เป็นอย่างดี ยิ่งกว่านั้น เมื่อ บี-ฟลอร์เปิดรอบการแสดงนี้ครั้งล่าสุดในปี 2015 ที่โรงมหรสพทองหล่อ ความกระอักกระอ่วนที่ว่าก็ได้พุ่งทะยานถึงขีดสุด เพราะมีทหารนอกเครื่องแบบมานั่งสังเกตการณ์การแสดงแทบทุกรอบ (โดยทหารเหล่านี้เองก็ถูกเฝ้าสังเกตโดยองค์การสหประชาชาติอยู่อีกต่อหนึ่ง) ไม่เท่านั้น ทุกๆ ครั้ง อรอนงค์จะแนะนำนายทหารแก่ผู้ชม ก่อนจะร้อยเรียงเรื่องราวการปรากฏตัวของทหารเหล่านั้นเข้าไว้ในการแสดงของเธอ ซึ่งยิ่งสร้างภาวะการณ์ตึงเครียดให้ทุกคนได้อึดอัดเต็มที่เข้าไปอีก
อย่างไรก็ตาม ไม่ได้มีแต่เพียงเดโมเครซี่ และบี-ฟลอร์เท่านั้นที่กำลังพยายามแสวงหาพื้นที่ใหม่ๆ เพื่อแสดงศิลปะของตน ขณะนี้ พระจันทร์เสี้ยวการละครก็เปิดการแสดง 4 ชุดทุกๆ ปี รับเชิญไปแสดงต่างประเทศเป็นประจำ พร้อมกับเลี้ยงคนสิบคนไว้เป็นทีมงาน คณะละครแห่งนี้ก่อตั้งมาแล้วกว่า 4 ทศวรรษ แต่ สินีนาฏ เกษประไพ ผู้กำกับฝ่ายศิลป์ ซึ่งอยู่กับพระจันทร์เสี้ยวมาตั้งแต่ปี 2538 ยังระลึกอยู่เสมอว่าการหาพื้นที่แสดงเคยเป็นเรื่องต้องดิ้นรนอย่างมาก ก่อนที่ในปี 2549 พระจันทร์เสี้ยวจะได้รับอนุญาตให้ใช้สถาบันปรีดี พนมยงค์ เป็นที่ฝึกซ้อมและเปิดการแสดง ซึ่งช่วยให้คณะสั่งสมชื่อเสียงขึ้นมาได้จนวันนี้ ทั้งนี้ ในช่วงปีต่อจากนี้ พระจันทร์เสี้ยวจะเปิดการแสดง 4 ชุด และร่วมงานกับคณะละครเกาหลีใน ‘ไม่เป็นไร โปรเจ็กต์ 2016’ และจัด ‘เทศกาลละคร 24 ชั่วโมง’ สมกับกิตติศัพท์ความเป็น ‘คณะละครซีเรียส’ ที่แม้แต่พระจันทร์เสี้ยวเองก็ยอมรับว่าจริง
ศิลปะมันเปิดให้ตีความอยู่แล้ว แค่คนออกไปคุยกันหลังการแสดง แลกเปลี่ยนความคิดกัน เอาความคิดมาปะทะสังสรรค์กัน แค่นั้นก็พอแล้วสำหรับผม ผมไม่ได้ต้องการให้คนมาคิดแบบผม ผมแค่อยากให้ผู้ชมรับรู้ว่าตัวเองกำลังมีชีวิตอยู่เป็นส่วนหนึ่งของสังคม
ที่มา: Crescent Moon Theatre
เติบโตแต่ไม่เปลี่ยนแปลง
ในทัศนะของอมิธา อัมระนันท์ นักวิจารณ์ละครเวทีแห่งคอลัมน์ Life ของ Bangkok Post และรองประธานชมรมวิจารณ์ศิลปะการแสดง ประเทศไทย (International Association of Theatre Critics, Thailand Chapter) พื้นที่ใหม่ๆ เหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญต่อการเติบโตของแวดวงการละครนอกกระแส “เราเริ่มเขียนเกี่ยวกับวงการนี้ตั้งแต่ปี 2549 ตอนนั้นเขาจะเล่นกันที่ชั้นบนของร้านอาหารแถวถนนพระอาทิตย์หรือไม่ก็ในสวนสาธารณะ ซึ่งอาจไม่ได้เข้ากับไลฟ์ไตล์ของกลุ่มผู้ชมกลุ่มใหม่ที่จะบากบั่นไปดูละครเวทีถึงบางลำพู การได้มีพื้นที่แสดงติดรถไฟฟ้า BTS จะทำให้คนวัยหนุ่มสาวเข้ามาพบกับวงการนี้ได้ง่ายกว่าเดิมมาก”
ถึงตรงนี้ อาจกล่าวได้ว่าโรงละครอิสระได้เข้าถึงผู้ชมมากพอสมควรแล้ว แต่เรื่องนี้ก็ทำให้สินีนาฏแห่งพระจันทร์เสี้ยวการละครเป็นห่วงเหมือนกัน เธอกล่าวว่า “ถ้าคุณมีพื้นที่มากขึ้น คุณก็ต้องเอาใจคนจำนวนมากขึ้นด้วย หมายความว่าคุณต้องทำอะไรที่มันเบาสมองขึ้น สนุกขึ้น ซึ่งมันไม่ใช่เป้าหมายของเรา”
เดโมเครซี่ก็ไม่ต้องการผลิตละครเวทีเพื่อการค้าเช่นกัน ธนพลกล่าวว่า “ผมโอเคถ้าคนจะว่าเราเห็นแก่ตัว บางคนอยากจะทำงานเพื่อตอบตลาดมากๆ ก็งานของเขาคือความบันเทิง แต่งานของผมคือการทำงานศิลปะ ถึงเราจะรู้ว่าการแสดงมันทำได้ยากเราก็ทำอยู่ดี เราตัดคนได้ ตัดงบได้ แต่เราจะไม่พยายามทำการแสดงเพื่อเอาใจผู้ชม”
แต่ถึงบี-ฟลอร์ พระจันทร์เสี้ยว และเดโมเครซี่จะมีจุดยืนคนละด้านกับสื่อบันเทิงพาณิชย์ คณะละครเหล่านี้ก็ไม่ปล่อยปละละเลยเรื่องการจัดการการเงินอย่างเป็นระบบ เดโมเครซี่ชี้ว่าละครเรื่องหนึ่งอาจใช้งบ 3 แสนบาท และเก็บเงินค่าตั๋วได้เพียงแสนเดียว ดังนั้น การจะประคับประคองตัวเองให้อยู่ต่อไปได้ก็ต้องอาศัยเงินสนับสนุนจากสถาบันเกอเธ่ และคำเชิญไปจัดการแสดงที่ต่างประเทศ อีกทั้งความพยายามสร้างประสบการณ์ที่จะทำให้ผู้ชมติดใจและกลับมาดูอีกครั้งแล้วครั้งเล่า
ตั๋วเทศกาลและรอบการแสดงประจำ ซึ่งแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับรอบแสดงอันเอาแน่เอานอนไม่ได้ในอดีต ล้วนแต่ถูกออกแบบมาเพื่อเชื้อชวนให้ผู้ชมใหม่กลายเป็นขาประจำ ในขณะที่ตั๋วหนึ่งใบอาจมีราคาตั้งแต่ 480 – 600 บาท ตั๋วเทศกาลของเดโมเครซี่ มีราคาเพียง 1,245 บาท และสามารถใช้เข้าชมการแสดงของทั้งบี-ฟลอร์และเดโมเครซี่ได้ถึง 3 รอบ
ความสมํ่าเสมอไม่ได้เป็นปัจจัยสำหรับสร้างผู้ชมเท่านั้นหากเป็นกุญแจสำคัญสำหรับสร้างทีมงานด้วย “เรากำลังพยายามทำให้มันเป็นวิชาชีพจริงๆ เราเสียคนเก่งๆ ไปเยอะทั้งนักแสดง ช่างไฟ เราต้องทำให้งานนี้กลายเป็นอาชีพเสียที” ธนพลกล่าว
ธีระวัฒน์ แห่งบี-ฟลอร์ชี้ว่า “เวลาเราจัดการแสดง เราจะเอาเงินที่ได้มาจ่ายค่าตัวนักแสดงก่อนเลย ถึงจะขาดทุนเราก็ต้องจ่ายเขา”
การเมืองในศิลปะ
โดยทั่วไป โรงละครชายขอบมักชวนให้คนนึกถึงรูปแบบการแสดงแปลกๆ คอสตูมพิสดาร และภาษากายอันบิดเบี้ยว แต่เหนือกว่านี้ ละครชายขอบยังมีเนื้อหาที่ต้องการสื่อต่อสังคมด้วย ในการแสดง ‘มโนแลนด์’ ของบี-ฟลอร์ ผู้ชำนาญเรื่องการเมืองคลื่นใต้นํ้าอาจได้เห็นใบหน้าที่คุ้นเคยอยู่ในหมู่ผู้ชม เช่น สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ ‘บ.ก.ลายจุด’ หรือ ‘แชมป์ 1984’ นักศึกษานักกิจกรรมผู้โดนจับ ขณะกินแซนด์วิชพลางอ่านนิยายเล่มดังของจอร์จ ออร์เวลเพื่อต่อต้านรัฐบาลทหาร การแสดง 'บางละเมิด' เองก็ประกาศจุดยืนของบี-ฟลอร์อย่างชัดเจนอยู่แล้ว ในขณะที่ธีระวัฒน์ก็ไม่ลังเลที่จะบอกว่าเขาต้องการปฏิรูปสังคมผ่านงานศิลปะ
“เราใช้ชีวิตท่ามกลางบรรยากาศของความกลัว ถูกคุมทุกอย่าง งานศิลปะ และวัฒนธรรมจึงเป็นเหมือนทางออกสำหรับเรา เราพยายามสร้างพื้นที่ปลอดภัยขึ้นมา เราจะไม่เซ็นเซอร์เพราะละครโดยตัวของมันเองก็เป็นรหัสอยู่แล้ว มันเป็นการพูดผ่านภาษาภาพ” ในฉากหนึ่งของมโนแลนด์ตัวละครตัวหนึ่งพยายามจะสื่อสารความคิดของตัวเอง แต่ทุกครั้งก็จะถูกตัวละครอื่นผลักให้ล้มลงอยู่เรื่อยไป และทุกครั้งที่ตัวละครนั้นตั้งหลักจะยืนขึ้นพูด ตัวละครอื่นๆ ก็ขัดขึ้นด้วยเสียงรับว่า “จ้า!” ซํ้าแล้วซํ้าเล่า ทำให้ผู้ชมทั้งขำรำคาญ และอึดอัดไปในคราเดียวกัน
ภาวิณี สมรรคบุตร ผู้ก่อตั้งเดโมเครซี่ อธิบายที่มาที่ไปของชื่อคณะว่า “คนที่พูดความจริงในสังคมนี้ คุณอาจเรียกเขาว่าบ้า” อย่างไรก็ตาม การมองคณะละครเหล่านี้เป็นเพียง กลุ่มการเมือง ย่อมเป็นการมองข้ามเสน่ห์อันเป็นสากลของพวกเขา อันที่จริง การแสดงเรื่องเอกอย่าง Survival Games ของบี-ฟลอร์ ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากสถาบัน Wellcome Trust นั้น เป็นการเอาเรื่องเกี่ยวกับโรคเขตร้อนมาแสดงออกเป็นภาษากาย โดยการแสดงชุดนี้มีคำโปรยว่าเป็น‘การแสดงแนววิทยาศาสตร์’ (A science performance)ซึ่งดูเผินๆ ไม่น่านำมาแสดงบนเวทีได้ แต่สุดท้ายเซอร์ไววัลเกมส์ก็ถูกนำเสนออออกมาได้อย่างสนุก น่าดึงดูด หรือแม้กระทั่งสั่นสะเทือนใจ
“ศิลปินไม่เหมือนนักเคลื่อนไหว ผู้ชมควรจะได้ประจักษ์กับความคิดของตัวเขาเอง ศิลปะมันเปิดให้ตีความอยู่แล้วแค่คนออกไปคุยกันหลังการแสดง แลกเปลี่ยนความคิดกันเอาความคิดมาปะทะสังสรรค์กัน แค่นั้นก็พอแล้วสำหรับผม ผมไม่ได้ต้องการให้คนมาคิดแบบผม ผมแค่อยากให้ผู้ชม รับรู้ว่าตัวเองกำลังมีชีวิตอยู่เป็นส่วนหนึ่งของสังคม” ธนพลกล่าว
ภาวิณี หนึ่งในทีมงานเดโมเครซี่ เสริมว่า “พื้นที่เปิดให้สนทนาถกเถียงกันในสังคมไทยมีอยู่น้อยมาก และเราคือ พื้นที่นั้น” ■
Essentials
■
พระจันทร์เสี้ยว การละคร
65/1 ซอยสุขุมวิท 55(ทองหล่อ) ถนนสุขุมวิท กรุงเทพฯ
โทร.081-929-4246
www.crescentmoontheatre.org
■
โรงมหรสพทองหล่อ
33/2 ซอยสุขุมวิท 57 ถนนสุขุมวิท กรุงเทพฯ
โทร. 095-542-4555
www.facebook.com/Thonglorartspace
■
สถาบันปรีดี พนมยงค์
65/1 ซอยสุขุมวิท 55(ทองหล่อ) ถนนสุขุมวิท กรุงเทพฯ
โทร. 02-381-3860
www.pridiinstitute.com
■
B-Floor Theatre
65/1 ซอยสุขุมวิท 55 (ทองหล่อ) ถนนสุขุมวิท กรุงเทพฯ
โทร. 089-167-4039
www.bfloortheatre.com
■
Democrazy Studio
ซอยสะพานคู่ ถนนพระราม 4กรุงเทพฯ
โทร. 081-441-5718
www.facebook.com/democrazystudio