HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

ECONOMIC REVIEW


แก่ชรา เป็นหนี้และกำลังซื้อถดถอย

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ
กรรมการผู้จัดการและหัวหน้าสายงานวิจัย
บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน)


นักกลยุทธ์ของแบงก์ ออฟ อเมริกา เมอร์ริล ลินช์ พันธมิตรของภัทรกล่าวโดย สรุปว่า โลกปัจจุบันเป็นโลกของความแก่ชรา (old) การเป็นหนี้ (indebted) และกําลังซื้อของ ประชาชนส่วนใหญ่ถดถอย เพราะช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนมีแต่จะขยายเพิ่มขึ้น (unequal)

     ต้องยอมรับกันตั้งแต่ต้นปีเลยครับว่าการลงทุนในปี 2559 นี้ยากลำบาก และท้าทายอย่างมาก ไม่แตกต่างจากปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะสำหรับการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง (เช่น หุ้น)ในประเทศไทย และประเทศตลาดเกิดใหม่โดยรวม ซึ่งนักกลยุทธ์ของแบงก์ ออฟ อเมริกาเมอร์ริล ลินช์ พันธมิตรของภัทรกล่าวโดยสรุปว่าโลกปัจจุบันเป็นโลกของความแก่ชรา (old) การเป็นหนี้ (indebted) และกำลังซื้อของประชาชนส่วนใหญ่ถดถอย เพราะช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนมีแต่จะขยายเพิ่มขึ้น (unequal) โลกในปี 2559 นี้ จึงจะหาการขยายตัว (growth) ได้ยาก ดังนั้น แม้ว่านักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ก็ยังคาดการณ์ว่ากำไรของบริษัทในตลาดหุ้นทั่วโลกจะขยายตัว 10% แต่หากไม่ขยายตัวเลย (ดังที่เกิดขึ้นในปี 2558) ก็จะไม่น่าแปลกใจมากนัก จึงสรุปได้ว่าการลงทุนในปี 2559 นั้นต้องเพิ่มความระมัดระวังมากยิ่งขึ้นและที่สำคัญคือ จะต้องกระจายความเสี่ยงของการลงทุนออกจากประเทศตลาดเกิดใหม่ เพราะมีแนวโน้มว่าตลาดประเทศพัฒนาแล้ว (สหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น) จะให้ผลตอบแทนสูงกว่าตลาดประเทศตลาดเกิดใหม่

     'old' นั้นหมายความว่าประชากรของโลกกำลังเข้าสู่วัยสูงอายุ ทั้งนี้ไม่เว้นแม้กระทั่งประเทศจีน และประเทศในเอเชียเอง ปัญหานี้ก็จะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น เพราะนอกจากจีนแล้ว ประชากรญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และแม้กระทั่งประเทศไทย ก็อยู่ในข่ายของประเทศที่จะขาดแคลนทั้งแรงงาน และอุปสงค์ในไม่ช้า ทำให้ต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของแรงงาน ซึ่งเป็นเรื่องที่พูดง่ายแต่ทำได้ยาก สำหรับหนี้สินหรือ 'indebted' นั้นตัวเลขก็ฟ้องว่าทั้งโลกได้เพิ่มการกู้หนี้ยืมสินอย่างเมามัน โดยเฉพาะประเทศตลาดเกิดใหม่นั้น หนี้ภาคเอกชนเพิ่มจาก 72% ของจีดีพีมาเป็น 130% ของจีดีพีระหว่างปี 2552-2558 และสำหรับประเทศตลาดเกิดใหม่ในเอเชียก็เพิ่มขึ้นจาก 100% ของจีดีพีมาเป็น 160% ของจีดีพีในช่วงเดียวกัน การเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นเพราะนโยบายดอกเบี้ยตํ่า และคิวอีของสหรัฐฯ กำลังเป็นภาระที่จะเหนี่ยวรั้งการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศตลาดเกิดใหม่ใน 2-3 ปีข้างหน้า ซึ่งไอเอ็มเอฟได้เตือนว่า ความเสี่ยงหลักในปี 2559 คือการที่บริษัทต่างๆ ในประเทศตลาดเกิดใหม่จะเผชิญกับปัญหาการจ่ายคืนหนี้ ทั้งนี้ อาจรวมถึงรัฐบาลของประเทศที่พึ่งพาการส่งออกนํ้ามัน และสินค้าโภคภัณฑ์เป็นหลักอีกด้วย สำหรับนักลงทุนนั้นคงจะต้องจับตามองความเคลื่อนไหวของดอกเบี้ยพันธบัตรของบริษัทที่มีความเสี่ยงสูง เพราะหากปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจะสะท้อนว่านักลงทุนกลัวความเสี่ยง และจะนำเงินลงทุนออกจากประเทศตลาดเกิดใหม่ต่อไปอีกในปี 2559 ประเด็นที่จะต้องจับตาเป็นพิเศษอีกเรื่องหนึ่งคือ ค่าเงินหยวนของจีน ซึ่งธนาคารกลางของจีนส่งสัญญาณว่าอยากให้อ่อนค่าลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปเพื่อไม่ให้ตลาดตื่นตระหนก โดยแบงก์ ออฟ อเมริกา เมอร์ริล ลินช์ มองว่าเงินหยวนจะอ่อนค่าลงจาก 6.4 หยวนต่อ 1 ดอลลาร์ในขณะนี้ มาปิดที่ 6.9 หยวนต่อ 1 ดอลลาร์ในปลายปี 2559 ซึ่งจะส่งผลให้การลงทุนในประเทศตลาดเกิดใหม่ในเอเชียมีความน่าสนใจลดน้อยลงไปอีกเพราะเงินสกุลต่างๆ ในเอเชียก็คงจะอ่อนค่าลงตามเงินหยวน

     แต่ในด้านบวกนั้นประเทศในเอเชียจะได้ประโยชน์สูงสุดในกรณีที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองโลกในแง่ร้ายเกินจริง และเศรษฐกิจโลกขยายตัวดีเกินคาด ในกรณีดังกล่าว หุ้นเอเชียอาจปรับตัวสูงขึ้นถึง 30% ในความเห็นของนักกลยุทธ์ของแบงก์ ออฟ อเมริกา เมอร์ริล ลินช์ เพราะนักลงทุนได้ขายหุ้นประเทศตลาดเกิดใหม่ในเอเชียลงไปมากแล้วและมีหุ้นเหลืออยู่ตํ่ากว่าเกณฑ์ปกติอย่างมาก

     สำหรับผู้ที่ต้องการลงทุนในภาคเศรษฐกิจที่ห่างเหินจากวัฏจักรของเศรษฐกิจ (เศรษฐกิจจะดีหรือไม่ดี ภาคเศรษฐกิจที่กล่าวถึงก็จะยังขยายตัวอยู่ดี) นั้นมีดังนี้ ธุรกิจที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุการศึกษา การเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน ความมั่นคงของอาหาร ความต้องการของวัยที่เกิดในศตวรรษนี้ การลดความอ้วน และการเสริมสวย/เสริมสุขภาพ หุ่นยนต์ นํ้าประปา และการกำจัดขยะ เป็นต้น

     ในส่วนของประเด็นสุดท้ายคือ 'unequal' หรือช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนนั้นก็เป็นผลมาจากการที่คนรวยเป็นผู้ที่รํ่ารวยมากขึ้นไปอีกในช่วงดอกเบี้ยตํ่าใกล้ศูนย์ และคิวอีซึ่งกระตุ้นให้ราคาสินทรัพย์ปรับตัวสูงขึ้น (แต่รายได้ของมนุษย์เงินเดือนอยู่ที่เดิม) ทั้งนี้ “มหาเศรษฐี” ที่มีจำนวนประมาณ 0.1% เป็นเจ้าของทรัพย์สินคิดเป็นมูลค่า 23% ของทรัพย์สินของประเทศ “ชนชั้นกลาง” ของประเทศนั้นมีทรัพย์สินอีก 54% ส่วนคน “จน” ที่เหลือ 90% นั้นมีทรัพย์สินเพียง 23% เมื่อดอกเบี้ยกลับมาปรับตัวขึ้นและราคาสินทรัพย์ไม่เพิ่มขึ้น กำลังซื้อของคนรวยก็แย่ลงเช่นกัน