SECTION
ABOUTINVESTMENT REVIEW
เมื่อสหรัฐอเมริกาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย...
ธนาคารกลางสหรัฐฯ ยืนยันว่า การปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป และเป็นไปอย่างระมัดระวัง สอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ดังนั้น แม้อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ จะอยู่ในขาปรับขึ้น แต่ตลาดก็คาดว่าการปรับขึ้นน่าจะเป็นไปแบบค่อยๆ ขึ้น
ประเด็นหนึ่งที่มีพูดถึงกันค่อนข้างมาก และน่าจะมีผลสำคัญต่อการลงทุนในระยะข้างหน้าพอสมควร คือเรื่อง 'policy divergence' หรือแนวโน้มที่มีโอกาสที่เศรษฐกิจและนโยบายการเงินของประเทศใหญ่ๆ ในโลกกำลังจะไปคนละทิศคนละทาง
ถ้าเราย้อนดูอดีตที่ผ่านมา ส่วนใหญ่แล้ววงจรเศรษฐกิจของโลกจะอยู่ในระยะใกล้เคียงกัน เวลาที่เศรษฐกิจของโลกดี ประเทศส่วนใหญ่ก็จะมีเศรษฐกิจดีพอสมควร เวลาเศรษฐกิจทั้งโลกอยู่ในภาวะแย่ ประเทศส่วนใหญ่โดยเฉพาะประเทศใหญ่ๆ ก็จะอยู่ในสถานการณ์ใกล้เคียงกัน การตอบสนองของนโยบายอัตราดอกเบี้ยของประเทศใหญ่ๆ ก็มักจะขึ้นลงพร้อมๆ กัน แต่ในช่วงนี้ภาพดังกล่าวอาจจะกำลังเปลี่ยนไป และอาจจะทำให้เกิดผลกระทบต่อภาพการลงทุนพอสมควร
ในปัจจุบัน เราอาจจะแบ่งโลกออกเป็นสามกลุ่มใหญ่ๆ หนึ่งคือกลุ่มที่เริ่มพ้นจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย และเริ่มทยอยลดการกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังจากทำการ 'พิมพ์เงิน' มาสักระยะหนึ่งแล้ว และกำลังจะขึ้นดอกเบี้ยเรื่อยๆ กลุ่มนี้ได้แก่ประเทศสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ
กลุ่มที่สอง คือกลุ่มประเทศที่เศรษฐกิจยังคงต้องการการกระตุ้นอยู่ กลุ่มนี้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมาอยู่ในระดับต่ำมาสักระยะหนึ่งแล้ว และกำลังทำการ 'พิมพ์เงิน' แบบขนานหนัก กลุ่มนี้ได้แก่ กลุ่มประเทศที่ใช้เงินยูโร และประเทศญี่ปุ่น ที่ยังคงการกระตุ้นเศรษฐกิจ และมีแนวโน้มอาจจะทำเพิ่มเติมได้อีก
ส่วนกลุ่มที่สาม ได้แก่ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย ที่เริ่มมีปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว แต่อาจจะมีความพร้อมในการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมได้ต่างกันไป ตามปัจจัยพื้นฐานของแต่ละประเทศ
แนวโน้มของทั้งเศรษฐกิจและแนวโน้มนโยบายการเงินของแต่ละกลุ่มประเทศ อาจจะทำให้เกิดความผันผวนต่อทั้งราคาสินทรัพย์ อัตราแลกเปลี่ยน และการเคลื่อนย้ายของเงินทุนได้
อย่างที่เห็นเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เริ่มปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้น 0.25% หลังจากที่ปรับลดลงเหลือ 0% มาตั้งแต่ปลายปี 2008 และต้องเรียกว่าเป็นการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 9 ปี แม้ว่าตลาดจะมีความกังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ พร้อมรับมือกับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยจริงหรือ การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ จึงเป็นการยืนยันว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้ฟื้นตัวขึ้นมาในระดับที่เพียงพอต่อการปรับนโยบายอัตราดอกเบี้ยเข้าสู่ภาวะปกติ
ธนาคารกลางสหรัฐฯ ยืนยันว่าการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป และเป็นไปอย่างระมัดระวัง สอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ดังนั้น แม้อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ จะอยู่ในขาปรับขึ้น แต่ตลาดก็คาดว่าการปรับขึ้นน่าจะเป็นไปแบบค่อยๆ ขึ้น แต่ก็ยังมีความแตกต่างกันระหว่างการคาดการณ์ของตลาดกับการคาดการณ์ของคณะกรรมการนโยบายการเงินอยู่ เพราะตลาดคาดว่า ดอกเบี้ยคงขึ้นได้แค่ 2 ครั้งใน 1 ปีข้างหน้า ขณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงินยังคงคาดว่าน่าจะขึ้นได้ถึง 4 ครั้ง จึงมีความจำเป็นในการจับตาดูพัฒนาการทางเศรษฐกิจ และการคาดการณ์ของตลาดอย่างใกล้ชิด
อัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ยุโรป และไทย และการคาดการณ์ของตลาด
อาจจะมีความจําเป็นมากยิ่งขึ้น ในการกระจายความเสี่ยงไปลงทุนในต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงที่มีจาก ประเทศไทย ที่เป็นหนึ่งในประเทศกําลังพัฒนา ที่อาจได้รับผลกระทบในทางลบจากการขึ้นดอกเบี้ย ของสหรัฐฯ ประเทศที่พัฒนาแล้ว ดูมีพื้นฐานที่แข็งแกร่งกว่าประเทศกําลังพัฒนาอย่างเห็นได้ชัด
เมื่อดอกเบี้ยขึ้นแล้วจะมีผลอย่างไร?
มีความกังวลว่าเมื่ออัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ถูกปรับสูงขึ้น อาจจะส่งผลต่อตลาดการเงินใน 3 ด้านใหญ่ๆ ได้แก่
1. เมื่ออัตราดอกเบี้ยซึ่งเป็นต้นทุนทางการเงินสูงขึ้น และค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ อาจจะแข็งค่าขึ้น อาจจะเป็นการแตะเบรกให้กับเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังคงมีความเปราะบางทางเศรษฐกิจอยู่แล้ว และแบกรับภาระในการอุ้มเศรษฐกิจโลกไว้ และทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกได้
2. อัตราดอกเบี้ยเป็นปัจจัยสำคัญในการตีมูลค่าสินทรัพย์เสี่ยงต่างๆ อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นเร็วกว่าปัจจัยพื้นฐาน อาจจะส่งผลต่อราคา และความผันผวนของสินทรัพย์ ทั้งหุ้น พันธบัตร ที่ดิน และสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ ได้
แต่อย่างไรก็ดี จากประสบการณ์ในการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ในอดีต ดอกเบี้ยที่ขึ้นไม่ได้หมายความว่าตลาดหุ้นจะอยู่ในขาลงเสมอไป ในทางตรงข้ามตลาดหุ้นอาจจะสามารถปรับตัวสูงขึ้นได้ ถ้าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเกิดขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจมีความแข็งแกร่ง และทำให้กำไรของบริษัทดีขึ้น
3. การปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยสหรัฐ อาจจะส่งผลต่อเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีความแข็งแกร่งขึ้น และการลงทุนได้รับผลตอบแทนที่ดีขึ้น นักลงทุนอาจจะดึงเงินที่ลงทุนในต่างประเทศกลับไปลงทุนในสหรัฐฯ ทำให้ประเทศอื่นๆ ที่มีปัญหาด้านเสถียรภาพ เช่นมีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด มีแนวโน้มเศรษฐกิจอ่อนแอ หรือพึ่งพาเงินทุนจากต่างประเทศมาก ได้รับผลกระทบ รวมไปถึงค่าเงินที่อาจเกิดความผันผวน จนอาจต้องตอบสนองด้วยการขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งจะเป็นการซ้ำเติมสภาพเศรษฐกิจที่ยังค่อนข้างอ่อนแออยู่
มีความเป็นไปได้ที่เงินดอลลาร์สหรัฐ อาจจะแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับประเทศกำลังพัฒนา และประเทศที่กำลังกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างยุโรป ญี่ปุ่น และจีน
นอกจากนี้ เมื่อต้นทุนทางการเงินสูงขึ้น อาจจะทำให้เกิดปัญหาการจ่ายคืนหนี้กับหลายประเทศที่สะสมหนี้มาในช่วงดอกเบี้ยต่ำโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศกำลังพัฒนา ดังที่เริ่มเห็นปัญหาเกิดขึ้นกับบางประเทศ และกองทุนพันธบัตรเอกชนบางแห่งในสหรัฐฯ เมื่อไม่นานมานี้
ผลกระทบต่อการลงทุน
แล้วเราควรจัดการลงทุนอย่างไร เมื่อมี 'policy divergence' โดยเฉพาะจากแนวโน้มดอกเบี้ยที่กำลังจะปรับขึ้นในสหรัฐฯ ผมเชื่อว่าตลาดการเงินน่าจะมีความผันผวนมากขึ้นในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะจากความไม่แน่นอนต่างๆ และความแตกต่างกันในเรื่องของการคาดการณ์
แต่หุ้นยังคงเป็นสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนในระยะยาวดีกว่าสินทรัพย์ประเภทอื่นๆ แม้ความผันผวนจะมีสูงกว่ามาก จากประสบการณ์การขึ้นดอกเบี้ยในอดีต การเลือกประเทศและอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในการเติบโตเป็นเรื่องจำเป็น
จึงอาจจะมีความจำเป็นมากยิ่งขึ้น ในการกระจายความเสี่ยงไปลงทุนในต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงที่มีจากประเทศไทย ที่เป็นหนึ่งในประเทศกำลังพัฒนา ที่อาจได้รับผลกระทบในทางลบจากการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ประเทศที่พัฒนาแล้วดูมีพื้นฐานที่แข็งแกร่งกว่าประเทศกำลังพัฒนาอย่างเห็นได้ชัด
อัตราดอกเบี้ยระยะยาวในสหรัฐฯ ก็อาจจะมีความเสี่ยงที่จะปรับขึ้นตามอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งอาจจะส่งผล กระทบต่ออัตราดอกเบี้ยระยะยาวในไทยด้วยถ้าจะซื้อพันธบัตร ช่วงนี้อาจจะดูพันธบัตรที่อายุไม่ยาวเกินไปนัก นอกจากนี้ คงต้องระมัดระวังเรื่องความเสี่ยงด้านเครดิตเป็นพิเศษ และการลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์อาจจะยังไม่ค่อยน่าสนใจนักในภาวะปัจจุบัน
ช่วงนี้การลงทุนค่อนข้างยาก คงต้องติดตามข้อมูลกันใกล้ชิดหน่อยครับ ■