HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

OPTIMUM VIEW


The Present Value

พระไพศาล วิสาโล กับภารกิจ ‘ทำจิต และทำกิจ’ เพื่อโลกและตนที่ร่มเย็นได้มากกว่าเดิม

ธนกร จ๋วงพานิช

ชื่อ ‘วัดป่าสุคะโต’ นั้นตั้งไว้อย่างดียิ่ง

เพราะวัดที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ห้าร้อยไร่ ของตำบลท่ามะไฟหวาน อำเภอแก้งคร้อ กลางเทือกเขาภูแลนคา หรือกว่าห้าสิบกิโลเมตรจากตัวเมืองชัยภูมินี้ ร่มรื่นด้วยแนวไม้น้อยใหญ่อย่างตะเคียน ตะแบก ตะโก พะยูง ยางนาจนถนนหนทางภายในวัดพร้อยไปด้วยเงาจากแสงลอดคาคบไม้ ไผ่นานาพันธุ์ ทั้งไผ่เหลือง ไผ่ตง ไผ่บง ไผ่รวก ไผ่กาบแดงเบียดลำกันแน่นขนัดจนปลายไผ่สอดประสานกันเป็นซุ้มและส่งเสียงออดๆ ยามลมพัดให้ปล้องไผ่บดสีกัน บึงน้ำใจกลางวัดยิ่งช่วยให้ลมรำเพยอยู่ตลอดเวลาและสะท้อนฟ้าเหนือยอดไม้ที่เป็นสีน้ำเงินสุกใส ‘สุคะโต’ เป็นภาษาบาลีแปลว่า ‘ผู้ไปดีแล้ว’ ตามองค์คุณหนึ่งของพระพุทธเจ้าบ่งบอกว่าท่านคือผู้ที่ไม่กลับมาให้กิเลสรบกวนได้อีก ไม่ยากที่จะเห็นว่าผู้ได้มาเยือนวัดแห่งนี้จะไม่อยากกลับกรุงไปให้ฝุ่นและกิเลสกวนด้วยเหตุอันใด

อย่างไรก็ตาม สำหรับอดีต ‘คนเดือนตุลา’ ผู้หนึ่งที่เคยบ่ายหน้าออกจากกรุงเทพฯ มาด้วยความเหนื่อยหน่ายและความเครียดของชีวิตทางโลกเพื่อมาบวชขัดเกลาตัวเองอยู่ที่วัดนี้ จนบัดนี้ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสและย่างเข้าสู่ ‘พรรษา’ หรือฤดูฝนที่ 40 ในร่มกาสาวพัสตร์ และกลายเป็นพระที่สังคมรู้จักดีในชื่อ ‘พระไพศาล วิสาโล’ นั้น แม้จะยังยืนยันว่าชีวิตในทางธรรมชุ่มเย็นและน่าเดือดเนื้อร้อนใจน้อยกว่าการทำมาหากินในทางโลกมากมายจนไม่เห็นเหตุที่จะสึก แต่ในทุกๆ เดือน ไม่ใช่เรื่องแปลกที่พระไพศาลจะจับรถตู้โดยสารลงไปกรุงเทพฯ เพื่อกล่าวปาฐกถา ร่วมงานเสวนา ประชุมกรรมการมูลนิธิ อัดพอดแคสต์ หรือออกรายการโทรทัศน์ในประเด็นหลากหลายตั้งแต่สิ่งแวดล้อม การศึกษา ศาสนา ประชาธิปไตย ความยากจน กระบวนการยุติธรรม ฯลฯ จนได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในพระที่ถูกสัมภาษณ์มากและหลากหลายที่สุดของยุคสมัยปัจจุบัน ลำพังบทสัมภาษณ์ของพระไพศาลที่ให้แก่สื่อและช่องทางต่างๆ อย่างเดียวก็ตีพิมพ์เป็นกระดาษเอสี่ได้นับพันหน้า ยังไม่ต้องกล่าวถึงงานเขียนและงานเขียนร่วมอีกร่วมสามร้อยเล่ม

‘ผู้ไปดีแล้ว’ เหตุไฉนจึงวกกลับมา?

จากเดิมที่สนใจแนวทางแบบมาร์กซิสต์ แบบจีน แบบรัสเซียก็เปลี่ยนใจ ไม่สมาทานอุดมการณ์แบบนั้น เพราะการที่จะบรรลุถึงความสำเร็จต้องใช้ความรุนแรง ถ้าไม่ได้สมาทานอหิงสา หลังจากเกิดเหตุ 6 ตุลา 2519 อาตมาก็อาจจะเข้าป่าไปแล้ว

แต่ไหนแต่ไร การเป็นพระที่ฝักใฝ่งานปฏิรูปนั้นมักถูกมองอย่างตั้งคำถามจากทุกฝ่าย สำหรับฝ่ายอนุรักษ์นิยม การบวชนั้นคือการสละทางโลก เพื่อมุ่งความหลุดพ้นแห่งจิตใจ ดังนั้น การที่พระไพศาลยังเป็นกรรมการมูลนิธิ องค์ปาฐก หรือพูดถึงเรื่องสังคมบ้านเมือง บ่อยครั้งมักถูกตำหนิด้วยถ้อยคำรวบยอดว่า “ไม่ใช่กิจของสงฆ์” สำหรับฝ่ายเสรีนิยมเอง ก็ตั้งคำถามว่าคนเป็นพระจะเปลี่ยนแปลงสังคมได้เพียงไหน ในเมื่อศาสนาบอกว่าทุกอย่างขึ้นอยู่กับใจ และตัวท่านเองก็อยู่ในสถาบันที่เก่าแก่พอๆ กับชาติและสถาบัน พูดไปแล้ว สำหรับฝ่ายขวา ท่านคือ ‘คนเดือนตุลา’ ที่ยังไม่ทิ้งอุดมการณ์ของฝ่ายซ้าย และสำหรับฝ่ายซ้าย ท่านคือ ‘ฝิ่นของมวลชน’ (opiate of the masses) ที่ดีแต่กล่อมจิตให้คนลืมเลือนปัญหาของสังคม อย่างที่นักปฏิวัติสังคมนิยมคาร์ล มาร์กซ์กล่าวโทษศาสนาเอาไว้

กระนั้น ในขณะที่สายตาผู้อื่นอาจปรากฏเป็นความย้อนแย้ง พระไพศาลกลับมองเห็นการบรรจบที่สร้างสมดุล ชีวิตพระทำให้งานขับเคลื่อนเพื่อความเปลี่ยนแปลงของท่านที่เกือบจะต้องจบไปด้วยความตั้งแต่เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 กลับเดินหน้าต่อมาได้ถึงสี่สิบปี ในทางกลับกัน การข้องเกี่ยวกับงานขับเคลื่อนสังคมไม่ว่าเรื่องสันติวิธี การอนุรักษ์ธรรมชาติ การเผชิญความตายอย่างสงบ ฯลฯ ได้ทำให้การภาวนาของท่านมีชีวิต และไม่จำกัดอยู่แต่ในกุฏิ

‘ทำจิต และทำกิจ’ คือบทสรุปภารกิจของโลกภายในและโลกภายนอกที่พระไพศาลค้นพบ

กลับกันกับความเข้าใจ การทำทั้งสองภารกิจไปพร้อมกันง่ายยิ่งกว่าทำเพียงอย่างเดียว

โลกอุดมคติ

สังเกตได้ว่าในโปสเตอร์โปรโมทงานปาฐกถา งานเสวนา หรืองานสัมมนาต่างๆ ที่พระไพศาลไปมีส่วนร่วม มักขึ้นคำบรรยายต่อท้ายชื่อของพระไพศาลว่า ‘พระนักคิด’ ‘พระนักปฏิรูป’ ‘พระนักเคลื่อนไหว’ ฯลฯ ถ้าถือเสียว่าคำว่าพระอธิบายตัวเองอยู่ในตัวแล้ว คำคุณศัพท์ต่อท้ายได้บ่งบอกถึงบทบาทที่ปกติสังคมไทยไม่ได้คาดหวังจากพระได้เป็นอย่างดี เนื่องจากวันที่เข้าไปสัมภาษณ์พระไพศาลที่วัดป่าสุคะโตตรงกับวันแรมสิบสี่ค่ำ หรือ ‘วันโกน’ ที่พระสงฆ์จะปลงหนวดเคราและผมให้เรียบร้อยสำหรับวันพระในวันรุ่งขึ้น พระไพศาลจึงดูผ่องใสเป็นพิเศษ หากไม่ได้อ่านประวัติมาก่อน ยากจะทราบว่าพระสงฆ์ทรงสมณสารูปที่มักให้มุมมองเพื่อการปรับปรุงมากกว่าโค่นล้มสังคม จนบางครั้งได้รับการแปะป้ายว่าเป็นพระชนชั้นกลางหรือแม้แต่ ‘พระสลิ่ม’ ที่ประนีประนอมกับสถานะเดิม (status quo) เกินไปรูปนี้ ครั้งหนึ่งคือคนเดือนตุลาที่เชื่อในการจับอาวุธเพื่อยึดอำนาจรัฐที่อยู่ใต้อิทธิพลของทุนนิยมและจักรวรรดินิยมอเมริกา และมี ‘เช เกวารา’ นักปฏิวัติมาร์กซิสต์และผู้นำนักรบกองโจรแห่งคิวบาเป็นวีรบุรุษในหัวใจ ต่างก็แต่ว่า กวีมักบรรยายถึงใบหน้าและดวงตาที่เปี่ยมความมุ่งมั่นของเช เกวาราว่าเป็นดั่งเสียงเรียกให้ประชาชนพร้อมเข้าต่อสู้กับรัฐเพื่อปลดแอก ใบหน้าที่หมดจดผ่องใสและลีลาการเดินแบบตัวเบาของพระไพศาลกลับเหมือนคนที่วางแอกมาแล้วนานนมเนมากกว่า

“เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 เกิดเพราะกระแสต่อต้านรัฐบาลเผด็จการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในหมู่นักศึกษา ตอนนั้นอาตมาเริ่มเกิดความตื่นตัวทางการเมืองแล้ว ถึงแม้ยังเป็นนักเรียนอยู่ จึงไปร่วมชุมนุมประท้วงที่ธรรมศาสตร์ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เปลี่ยนทางเดินในชีวิต จากเดิมอยากจะเป็นวิศวกร อยากจะเป็นหมอ ก็เปลี่ยนมาเรียนสังคมศาสตร์ แล้วบ่ายหน้าไปเรียนธรรมศาสตร์แทนที่จะเข้าวิศวะ จุฬาฯ หรือว่าหมอที่มหิดล จากนั้นอาตมาก็หันมาทำงานเคลื่อนไหวเต็มตัวมากขึ้น ต้องการให้สังคมมีความเปลี่ยนแปลง แต่บังเอิญได้รับอิทธิพลของมหาตมะ คานธีและพุทธศาสนาจากการชักนำของอาจารย์สุลักษณ์ (ศิวรักษ์) ดังนั้น จากเดิมที่สนใจแนวทางแบบมาร์กซิสต์ เห็นว่าประเทศต้องเปลี่ยนเป็นสังคมนิยมแบบคอมมิวนิสต์ แบบจีน แบบรัสเซียก็เปลี่ยนใจ ไม่สมาทานอุดมการณ์แบบนั้น เพราะการที่จะบรรลุถึงความสำเร็จต้องใช้ความรุนแรง ต้องทำสงครามประชาชน อย่างในเวียดนาม จีน หรือเขมร อาตมาหันมาเชื่อเรื่องอหิงสา ถ้าไม่ได้สมาทานอหิงสา หลังจากเกิดเหตุ 6 ตุลา 2519 อาตมาก็อาจจะเข้าป่าไปแล้ว

…หลักการอหิงสามีลักษณะเป็นประชาธิปไตยมากกว่าสังคมนิยมแบบคอมมิวนิสต์ เพราะว่าสังคมนิยมแบบคอมมิวนิสต์อยู่ได้ด้วยการคุมโดยใช้อำนาจรัฐ ปราบปรามเสียงที่ขัดแย้ง เป็นโครงสร้างที่อยู่ได้ด้วยความรุนแรง ซึ่งขัดกับหลักการอหิงสา ในสมัยนั้นก็ถกเถียงกันว่า The end justifies the means จริงหรือ ถ้าเป้าหมายดีใช้วิธีการอะไรก็ได้จริงหรือ ฝ่ายซ้ายบอกว่าถ้าเราทำเพื่อประชาชนแล้วจะใช้วิธีการอะไรก็ได้ ซึ่งตรงนี้พวกอหิงสาไม่เห็นด้วย เราคิดว่าวิธีการกับเป้าหมายต้องไปด้วยกัน ถ้าเป้าหมายดี วิธีการต้องดี หมายถึงว่าต้องบริสุทธิ์ยุติธรรม ทุกวันนี้ ความคิดที่ว่า The end justifies the means แพร่หลายไปเยอะ เราเห็นการต่อสู้ทางการเมืองที่ใช้ทุกรูปแบบ โดยอ้างว่าทำเพื่อประเทศชาติ เพื่อประชาชนหรือเพื่อสังคม ซึ่งอาตมาคิดว่ามันไม่ถูก

…อาตมาเริ่มต้นเคลื่อนไหวทางการเมืองจากการตระหนักถึงความสำคัญของคุณธรรมและการมีอุดมคติของชีวิต โดยเฉพาะตอนนั้นโกมล คีมทองเพิ่งเสียชีวิต โกมล คีมทอง เป็นครูที่แม้จะจบครุศาสตร์ จุฬาฯ ได้คะแนนดี แต่เลือกที่จะไปเป็นครูในชนบท แล้วก็เสียชีวิตเมื่ออายุ 25 โกมล คีมทอง มีอุดมคติและความคิดแจ่มชัดในเรื่องของชีวิตที่พึงปรารถนา ข้อเขียนของโกมล คีมทอง มีพลังกับพวกเรามาก เพราะฉะนั้นก่อนที่จะมาตื่นตัวทางการเมือง เราเกิดความตระหนักรู้เรื่องอุดมคติของชีวิต ซึ่งมันเชื่อมโยงกับการมีคุณธรรมและความซื่อตรง การไม่ยึดติดกับลาภยศ สรรเสริญ นี่เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เมื่อมาสนใจเรื่องการเมือง เรามีวิจารณญาณว่าการต่อสู้ทางการเมืองแบบใดที่โอเค การต่อสู้ทางการเมืองแบบใดที่ไม่โอเค

ปีกทำให้เกิดอิสระ ความรู้ ความสามารถในการตัดสินใจ ความเป็นตัวของตัวเอง แต่เราให้ปีกแก่นักเรียนไม่พอ ต้องมีรากด้วย หากเรามีอิสระเสรีแต่ถ้าไม่มีความรู้สึกมั่นคงในทางคุณธรรมหรือในทางจิตใจ ก็อาจจะหวั่นไหวหรือว่าเสียศูนย์ได้ง่ายในยามที่เจอพายุ

…ตรงนี้เป็นพื้นฐานที่สำคัญ ก่อนที่เราจะตื่นตัวทางการเมือง หรือตื่นตัวทางด้านไหนก็ตาม ต้องมีพื้นฐานทางด้านคุณธรรมหรืออุดมคติของชีวิต อุดมคติของชีวิตก็คือชีวิตที่พึงปรารถนาชีวิตที่เรียบง่าย ชีวิตที่ไม่ได้มักใหญ่ใฝ่สูง ไม่ได้จะไต่เต้าเอาดี ชีวิตที่ถูกกำกับด้วยคุณธรรม ไม่เอาเปรียบ ไม่เบียดเบียน ไม่โกหก แล้วก็เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีความเป็นธรรม แต่ตรงนี้เป็นสิ่งที่คนสมัยนี้อาจจะให้ความสำคัญน้อย ทำให้พอมีอะไรมากระทบก็เสียศูนย์ง่าย มีสิ่งล่อเร้าเย้ายวนก็อาจจะพ่ายแพ้ต่อสิ่งล่อเร้าเย้ายวนง่าย”

ความจากจดหมายของโกมล คีมทอง ฉบับหนึ่งพอจะแสดงภาพของชีวิตอุดมคติในแบบของโกมลที่พระไพศาลพูดถึงได้เป็นอย่างดี “สร้างบ้านจะสร้างหลังเล็กๆ เท่าที่เงินจะมีให้ เหลือที่ไว้มากๆ จะปลูกต้นไม้ให้ร่มรื่นให้ครึ้มไปหมด ผลหมากรากไม้ พันธุ์ไม้ดอกและเถาวัลย์ จะให้ร่มเย็นด้วยธรรมชาติ จนพัดลมและเครื่องทำความเย็นไร้ความหมาย...มีบ้านของตนเอง ทุกอย่างเราจัดแจงและบงการได้สารพัด การประดับประดาตกแต่งที่รกรุงรังเห็นจะไม่ยอมให้มี ความเรียบ ความง่ายและความประณีตโปร่งตาโปร่งใจเป็นเรื่องสำคัญ ความเงียบ ความร่มรื่น และความสงบคือความสุข ลมเย็นๆ โชยพัดอยู่ใต้ถุนบ้าน ใต้ร่มไม้ ขอบสระ บนเสื่อผืนเล็ก หนังสือเล่มโตเป็นหมอนหนุน กับกวีนิพนธ์กับบทร้อยกรอง ปรัชญาชีวิตและความสงบแห่งจิตใจ อะไรเล่าที่จะน่าพิสมัยยิ่งไปกว่านี้”

รากของคุณธรรม

ปัญหาก็คือ ในสังคมพหุลักษณ์ที่คนแตกออกเป็นหลายกลุ่ม และแต่ละกลุ่มก็อยู่ภายใต้สถานการณ์และค่านิยมที่แตกต่างกันอย่างเมืองไทยในปัจจุบันนั้น คำว่า ‘คุณธรรม’ ‘ความดี’ ‘คนดี’ มักถูกมองด้วยความไม่ไว้ใจหรือเอ่ยอ้างขึ้นมาแบบแฝงไว้ด้วยน้ำเสียงประชด (อย่างที่บางทีโลกโซเชียลแสดงออกโดยการใส่เครื่องหมายอัญประกาศแบบ ‘คนดี’ หรือสะกดการันต์แบบผิดสังเกตแบบ ‘คนดีจ์’ ‘คนดีย์’) เพราะโดยธรรมชาติที่คลุมเครือต่อการนิยามความหมายของถ้อยคำเหล่านี้บ่อยครั้งได้ถูกกำหนดตามความสะดวกทางการเมืองและผลประโยชน์ของผู้พูด มากกว่าหลักการหรือปรัชญาใดๆ

อย่างไรก็ตาม ในยุคสมัยที่พระไพศาลเติบโตมา คำว่าคุณธรรม-ความดีไม่มีเงื่อนงำเท่านั้นท่านอาจเป็น ‘พระนักคิด’ ที่เสพงานอย่าง ‘โสเกรตีส’ และ ‘สังคมศาสตร์ปริทรรศน์’ มาตั้งแต่ยังเรียนชั้นมัธยมอยู่ที่โรงเรียนอัสสัมชัญ ถกเถียงแลกเปลี่ยนกับค่ายความคิดหลากหลาย เช่นมาร์กซิสต์ อนาคิสต์ เอกซิสเตนเชียลลิสต์ หรือพุทธ มาตั้งแต่ครั้งเข้าค่ายยุวชนสยามสมัยเข้าเรียนที่ธรรมศาสตร์ หรือคลุกคลีกับประเด็นปรัชญา และปัญหาสังคมในงานบรรณกิจหลากหลายที่ทำเมื่อเรียนจบเช่น ‘ปาจารยสาร’ กระนั้น หากให้พูดถึงหมุดหมายทางคุณธรรม-จริยธรรมในชีวิต พระไพศาลกลับชี้ไปที่ประสบการณ์และแนวความคิดเรียบง่ายอย่างการอบรมบ่มนิสัยของมารดา (“โยมแม่จะคอยดูแลและเคี่ยวเข็ญให้ลูกๆ กินข้าวและนอนเป็นเวลา ไม่ว่าจะไปเล่นที่ไหน หากเลยเวลาก็จะได้ยินเสียงโยมแม่เรียกให้กินข้าว อาบน้ำและเข้านอน”) หรือครูบาบราเดอร์ ที่อัสสัมชัญ

“อาตมาเรียนอัสสัมชัญมาสิบสองปี รู้สึกว่าชีวิตในวัยเด็กได้รับการฟูมฟักหล่อหลอมค่อนข้างมากจากโรงเรียน มีแบบอย่างที่ดีหลายท่าน อัสสัมชัญเวลานั้นมีบราเดอร์ชาวต่างประเทศหลายท่าน และทุกท่านเรียกได้ว่าเสียสละ ไม่ใช่เพื่อพระเจ้าอย่างเดียว แต่เสียสละเพื่อโรงเรียน เพื่อการศึกษาของเยาวชน พูดง่ายๆ ว่าท่านเหล่านี้ส่วนใหญ่มาตายที่เมืองไทย โดยเฉพาะบราเดอร์ฮีแลร์ ซึ่งเป็นผู้ที่มีความรู้ทางภาษาไทยสูงมาก จนสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพก็ให้ความเคารพ อัสสัมชัญให้ความสำคัญมากกับความซื่อสัตย์สุจริต และการมีระเบียบวินัย เพราะฉะนั้นตอนเด็กๆ ก็ซึมซับรับเอาคุณธรรมเหล่านี้มาไม่น้อย เช่น ห้ามลอกการบ้าน ห้ามทุจริตในห้องสอบ ถือเป็นโทษหนัก อาจจะถูกตีประจานในห้องประชุม เรียกว่าได้คะแนนคุณธรรมต่ำหรือ bad note ทุกคนจะมีสมุดพก ปกติได้คะแนนเต็มสิบ แต่ถ้าใครทำทุจริต หรือมีพฤติกรรมที่ไม่ดีก็จะลดเหลือเก้า เหลือแปด เหลือเจ็ด ถึงจุดหนึ่งก็จะถูกไล่ออก

…เรื่องตีเป็นเรื่องธรรมดามากของเด็กสมัยนั้น โดยเฉพาะเด็กอัสสัมชัญ ถูกตีประจำแทบทุกวิชา ไม่ใช่ตีเป็นพิธี ตีแบบเจ็บเลย ถ้าไม่มีระเบียบวินัยก็ถูกตี คุยในห้องหรือกินขนมในห้องก็ถูกตี บางทีถ้าสะเพร่าเลินเล่อตอบคำถามผิด วิชาภาษาอังกฤษ หรือวิชาเลขคณิตก็ถูกตี ถือว่าเลินเล่อ ไม่ใช่ถือว่าโง่ ระเบียบวินัยที่ขึ้นชื่อที่สุดก็คือการเข้าแถว ถึงเวลาเข้าเรียนต้องเข้าแถวทันที ไม่มีการวิ่งมาเข้าแถว ใกล้ๆ เวลาต้องมายืนเป็นแถวแล้ว พอตีระฆังปุ๊บก็เป็นแถวเลย อันนี้เป็นความภาคภูมิใจของโรงเรียน ซึ่งอาจจะมากไป แต่ก็กลายเป็นเอกลักษณ์ ประเด็นสำคัญคือ อธิการจะพยายามเชิญศิษย์เก่ามาพูดให้นักเรียนฟัง เช่น อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ พระยาอนุมานราชธน หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช เน้นเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต และคุณธรรม ทำให้เรามีแบบอย่างด้านคุณธรรม ภูมิใจว่าโรงเรียนของเรามีศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียง

…สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดรากที่หยั่งลึก รากในที่นี้ก็คือ ความสัมพันธ์เชื่อมโยงจากอดีต เพราะเราได้รู้เรื่องราวเกี่ยวกับอดีตของอัสสัมชัญจากสิ่งที่ครูหรือศิษย์เก่ามาเล่า อาตมาคิดว่าการศึกษาควรจะทำให้เรามีสองอย่าง หนึ่ง คือปีกที่จะบิน และสอง รากที่หยั่งลึก ปีกทำให้เกิดอิสระ ความรู้ ความสามารถในการตัดสินใจ ความเป็นตัวของตัวเอง แต่เราให้ปีกแก่นักเรียนไม่พอ ต้องมีรากด้วย หากเรามีอิสระเสรีแต่ถ้าไม่มีความรู้สึกมั่นคงในทางคุณธรรมหรือในทางจิตใจ ก็อาจจะหวั่นไหวหรือว่าเสียศูนย์ได้ง่ายในยามที่เจอพายุ อุปสรรคหรือสิ่งล่อเร้าเย้ายวน ต้องมีรากที่จะทำให้เราเกาะแน่น รากในแง่คุณธรรมและประวัติศาสตร์มาคู่กัน เพราะประวัติศาสตร์ของอัสสัมชัญที่เราได้รับถ่ายทอดมามันเชื่อมโยงกับคุณธรรม ซึ่งตรงนี้อาจจะเป็นสิ่งที่ขาดหายไปในการศึกษาหรือในการเลี้ยงดูสมัยใหม่”

การที่คุณได้ทุกอย่างแล้วไม่รู้จะทำอะไรต่อ มันเคว้ง ไม่รู้จะอยู่ไปทำไม สุดท้ายเขาฆ่าตัวตาย ไม่ใช่เพราะว่าเขาล้มเหลวแต่เพราะเขาได้ทุกอย่าง...เฮนรี เดวิด ธอโร นักปราชญ์ชาวอเมริกัน บอกว่าโศกนาฏกรรมชีวิตคือการที่คุณทุ่มเททั้งชีวิตเพื่อจะได้ปลามาแล้วพบว่ามันไม่ใช่ปลาที่ต้องการ

การมีศีลธรรมในยุคนี้อาจไม่ใช่คุณสมบัติที่น่าตื่นเต้นเท่ากับความสามารถในการระดมทุนซีรีส์เอ แต่พระไพศาลได้ยืนยันในบทความ ‘จุดเปลี่ยนและบทเรียนชีวิต’ ว่าคุณค่าจากโลกยุคก่อนนี้ยังมีที่ใช้ และไม่ใช่เพียงเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อคนอื่น แต่เพื่อเกื้อกูลตัวผู้ปฏิบัติเอง

“คุณธรรมเหล่านี้ (รวมทั้งความมีวินัย และความขยันหมั่นเพียร) แม้คนยุคนี้จะมองว่าเป็นสิ่งพื้นๆ คร่ำครึ หรือ ‘เชย’ ไม่แปลกใหม่ทันสมัย เท่ากับความเป็นตัวของตัวเอง การมีความคิดสร้างสรรค์ ความกล้าแสดงออก หรือความรักเสรีภาพ แต่ก็เป็นคุณค่าสากล ที่ใช้ได้ทุกยุคทุกสมัย ไม่ว่าโลกจะก้าวสู่ยุคโลกาภิวัตน์ หรือยุคดิจิทัล เพราะเป็นสิ่งที่ช่วยประคับประคองให้ชีวิตสามารถเดินหน้าไปได้อย่างมั่นคง ไม่ว่าอุปสรรคมากมายเพียงใด อีกทั้งยังช่วยกำกับให้เดินไปในทิศทางที่ถูกต้องไม่ก่อความทุกข์แก่ตนเองและผู้อื่น ไม่ว่าจะเลือกเส้นทางชีวิตสายใดก็ตาม จะมุ่งความสำเร็จทางโลก หรือหวังความก้าวหน้าทางธรรม คุณธรรมเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งจำเป็นเสมอ”

ชาตินิยมเพื่อสังคม

น่าสังเกตว่าในปัจจุบัน ความคิดแบบอนุรักษ์นิยม มักไม่ได้รับการพูดถึงในฐานะพลังที่ขับเคลื่อนการปฏิรูปสังคม เพราะแนวคิดที่ยึดโยงอยู่กับสถาบันแต่เก่าก่อน อย่าง ‘ชาติ-ศาสน์-กษัตริย์’ และจารีตประเพณีนี้ ถูกมองว่ามุ่งแต่รักษาระบบความสัมพันธ์ทางสังคม วัฒนธรรม การเมืองหรือเศรษฐกิจที่เป็นมา จนไม่เหลือพื้นที่ให้กับความเป็นไปได้ใหม่และไม่เห็นใจกลุ่มคนที่เสียเปรียบจากโครงสร้างเดิม อย่างไรก็ตาม เรื่องราวของพระไพศาลแสดงแง่มุมที่ต่างออกไป

พระไพศาลเป็น ‘ลูกจีน’ ที่เกิดมาพร้อมกับแซ่ แต่โตมาโดยความรู้สึกว่าเป็นคนไทย ถึงขนาดปฏิเสธไม่ยอมเรียนหรือพูดภาษาจีน และบางครั้งก็ซาบซึ้งกับเรื่องราววีรกรรมของบรรพชนไทยอย่างพระเจ้าตากสิน พระยาพิชัยดาบหัก ตามที่ได้อ่านมาจากหนังสือของหลวงวิจิตรวาทการ “จนบางครั้งอดนึกไม่ได้ว่าตนเองก็เป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของท่านเหล่านั้น” (ขัดกันกับความเห็นของญาติผู้ใหญ่ในครอบครัวที่เห็นว่าคนไทยขี้เกียจ และมักใช้คำว่า “เหมือนคนไทย” เวลาต้องการตำหนิลูกหลาน) อย่างไรก็ตาม สำนึกในความเป็นคนไทยอย่างแรงกล้านี่เองทำให้พระไพศาลเกิดความรู้สึกเป็นเดือดเป็นร้อนแทนเพื่อนร่วมชาติในยามที่โตมาได้รับรู้ปัญหาสังคม ยิ่งกว่านั้น ความรักชาติรูปแบบนี้ไม่ใช่ความรู้สึกเฉพาะบุคคล แต่อาจเรียกได้ว่าเป็นความรู้สึกของยุคสมัย อย่างที่พระไพศาลเขียนไว้ว่า “นี่ไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับบรรยากาศบ้านเมืองเวลานั้น ที่จริงเป็นความรู้สึกร่วมของหนุ่มสาวจำนวนไม่น้อยซึ่งเป็นผลจากลัทธิสังคมนิยม (ซึ่งเริ่มแพร่หลายในเวลานั้น) พอๆ กับลัทธิชาตินิยมที่ปลูกฝังกันตั้งแต่เล็ก โดยเฉพาะจากงานของหลวงวิจิตรวาทการ” มองในแง่นี้ สิ่งสำคัญต่อการปฏิรูป ไม่ได้ผูกขาดกับเพียงแนวคิดซ้ายหรือขวา แต่เป็นความรู้ร้อนรู้หนาวกับความเป็นไปในสังคมและมุ่งทำให้ดีขึ้น

“อาตมาเรียนมาถึงชั้น ม.ศ. 2 อายุ 14 มันเกิดคำถามขึ้นมาว่าเราเรียนเพื่ออะไร คำตอบที่ได้คือเราเรียนเพื่อความรู้ เป็นคำตอบที่ช่วยทำให้ปลดล็อคบางอย่างในจิตใจตัวเองในเวลานั้น คือแต่ก่อนเรียนเพื่อเอาคะแนน อาตมาเป็นเด็กเรียนดี อาจจะไม่ถึงอันดับหนึ่ง แต่ก็ติดหนึ่งในเจ็ด หนึ่งในสิบ การที่สนใจให้คุณค่ากับเรื่องคะแนนก็ทำให้ทุกข์ ทำให้เครียด แต่พอตระหนักว่าเราเรียนเพื่อความรู้ก็ให้ความสำคัญกับคะแนนน้อยลง และมีความสุขกับการเรียนมากขึ้น เพราะว่าใจพร้อมที่จะเปิดรับสิ่งใหม่ๆ ไปห้องสมุด ไปอ่านหนังสือต่างๆ ที่ไม่เกี่ยวกับวิชาในโรงเรียนแต่ให้ความรู้ ในขณะเดียวกันก็ทำให้ขยันอ่านหนังสือมากขึ้น รวมทั้งหนังสือเรียน เพราะว่าพอเราอ่านแล้วเราได้ความรู้

…การแสวงหาความรู้ทำให้เราเริ่มรู้จักคิด ตอนหลังคำตอบก็ลึกขึ้นว่าเราเรียนไปไม่ใช่เพื่อความรู้อย่างเดียว แต่เรียนไปเพื่อทำประโยชน์ให้กับสังคม ทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติ เลยกระตือรือร้นที่จะทำอะไรให้เกิดประโยชน์กับสังคม นำไปสู่กิจกรรมไปออกค่าย อัสสัมชัญมีค่ายเรียกว่า ‘ค่ายอาสาพัฒนา’ ซึ่งเป็นค่ายของนักเรียนเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย ส่วนใหญ่มีแต่ค่ายของนิสิตนักศึกษา พวกเราก็ไปออกค่ายกันตั้งแต่ตอนที่เป็นนักเรียนและเริ่มสนใจอ่านหนังสือเกี่ยวกับสังคม เกี่ยวกับประเทศชาติ จุดเริ่มอาจเป็นหนังสือของอาจารย์สุลักษณ์ ซึ่งก็เป็นศิษย์เก่าอัสสัมชัญ ข้อเขียนของอาจารย์กระตุ้นให้เราเกิดไฟที่จะทำอะไรเพื่อสังคม กระตุ้นไฟในทางอุดมคติว่าเราไม่ใช่ทำอะไรเพื่อตนเอง อย่าไปติดยึดกับชื่อเสียงเงินทอง เราต้องให้ความสำคัญกับคุณธรรม มันทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับคุณค่าของชีวิต แล้วหนังสืออาจารย์ก็พาไปรู้จักกับ ‘สังคมศาสตร์ปริทรรศน์’ ที่มีสุชาติ สวัสดิ์ศรี เป็นบก. ทำให้หูตากว้างไกล รู้สึกว่าเราเรียนเพื่อตัวเองไม่พอ ต้องเรียนเพื่อประเทศชาติ

…มีหนังสือสังคมศาสตร์ปริทรรศน์เล่มหนึ่ง มีชื่อมาก หน้าปกชื่อว่า ‘ภัยเหลือง’ ช่วงนั้นประมาณ 2515 เป็นเรื่องเกี่ยวกับว่าญี่ปุ่นเข้ามาเอาเปรียบเมืองไทยอย่างไรบ้าง อาตมารู้สึกว่าไม่เคยเห็นเลย ไม่เคยรู้เลยว่าเมืองไทยเราเสียเปรียบญี่ปุ่นยังไง ก็เกิดความรู้สึกรักชาติ เป็นห่วงเป็นใยประเทศชาติขึ้นมา ตอนนั้น ธีรยุทธ บุญมี เป็นเลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.) รณรงค์เรื่องต่อต้านสินค้าญี่ปุ่น เป็นกระแสใหญ่เลย อาตมาก็เหมือนกับเพิ่งมาเปิดตาให้สว่างว่าเมืองไทยเรายังถูกเอาเปรียบมาก กระแสความรักชาตินี้อาจจะถูกปลูกฝังมาจากหนังสือหลวงวิจิตรวาทการที่อ่านมาตั้งแต่สมัยประถม ทำให้รู้สึกว่าเราอยู่เฉยไม่ได้แล้ว ต้องทำอะไรเพื่อประเทศชาติ แต่ก่อนเราไม่เคยรับรู้เรื่องพวกนี้ ตอนหลังมารับรู้เรื่องการที่บ้านเมืองไม่เป็นประชาธิปไตยเพราะอยู่ภายใต้การปกครองของจอมพลถนอม กับจอมพลประภาส ซึ่งเป็นเผด็จการ ก็ทำให้เห็นปัญหามากขึ้นและเกิดความรู้สึกอนาทรร้อนใจกับปัญหาบ้านเมือง ตอนนั้นก็อายุ 15 เอง

ถ้ายึดมั่นถือมั่น แม้ในความถูกต้อง ก็จะลำบาก เพราะความยึดมั่นนำมาซึ่งความทุกข์ หลวงปู่เฟื่อง ผู้เป็นลูกศิษย์หลวงปู่มั่นบอกว่า ‘แม้ความเห็นของเราจะถูก แต่ถ้ายึดเอาไว้มันก็ผิด’ อะไรจะดียังไง ถ้ายึดมั่นถือมั่นแล้วผิดทั้งนั้น

…ไม่ใช่เราคนเดียว อาตมามีก๊วนที่ทำงานอยู่กับกลุ่มอัสสัมชัญอาสาพัฒนา ซึ่งเป็นกลุ่มที่ออกค่ายพัฒนาชนบท พวกนี้จะสนใจเรื่องของสังคม อ่านหนังสือสังคมศาสตร์ปริทรรศน์ อ่านหนังสือของอาจารย์สุลักษณ์ และมีความสัมพันธ์กับนักศึกษาที่ออกค่าย มาถกเถียงกันในเรื่องต่างๆ แต่ก่อนเลิกเรียนอาตมาก็กลับบ้านไปทำการบ้านเลย แต่ตอนหลัง เลิกเรียนแล้วก็มาคุยกับก๊วนที่ชมรม จึงไม่แปลกใจที่เด็กๆ นักศึกษา หรือนักเรียนทุกวันนี้ เขาตื่นตัวเรื่องสังคม เรื่องความไม่เป็นธรรม เพราะว่าสมัยอาตมาก็ออกไปในแนวนี้ ไม่ได้รู้สึกว่าพวกเขาโดนล้างสมอง เพราะว่าตัวเองเคยผ่านช่วงเวลาแบบนี้ ตอนอายุ 15 เราก็คิดถึงเรื่องการเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองแล้ว”

หากความรู้สึกต้องการเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองของวัยรุ่นไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่ ที่มาของความรู้สึกนั้นดูจะต่างไปจากเดิม เหตุใดสถาบันที่เคยมีอิทธิพลอย่างสูงในการชักนำพฤติกรรม ตั้งแต่ชาติ ศาสนา สถาบัน หรือแม้กระทั่งโรงเรียนและครอบครัวอย่างที่พระไพศาลบอกเล่า ดูจะพร่าเลือนไปจากภาพ ความใส่ใจในประเด็นทางสังคมอย่างสิทธิมนุษยชน ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ หรือ เสรีภาพทางการเมืองของคนรุ่นใหม่น้อยครั้งจะมาในนามของความรักชาติ-ศาสน์-กษัตริย์แบบคนรุ่นก่อน หรืออีกทีประเด็นทางสังคมก็กลายเป็นของไม่จำเป็นไปเลย ภายใต้โจทย์เร่งด่วนยิ่งกว่าของการแข่งขันเพื่อความสำเร็จส่วนตน

“ตัวสถาบันที่เคยได้รับการยอมรับในทางคุณธรรมเสื่อมสลาย อันนี้รวมถึงสถาบันศาสนา สถาบันสงฆ์ และสถาบันครูด้วย ไม่ใช่แค่สถาบันอย่างเดียว ตัวบุคคลก็ไม่เป็นที่เคารพนับถือเหมือนเมื่อก่อน พระ ครู หรือผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองไม่ได้ทำตัวให้เป็นที่เคารพ เพราะฉะนั้น เรื่องที่คุณธรรมจะหยั่งลงไปในจิตใจของคนรุ่นใหม่ก็เลยยาก มันจึงไปเสริมอุดมการณ์หรือค่านิยมในปัจจุบันที่เดิมก็มีอยู่แล้วอย่างแน่นหนา คือปัจเจกนิยม หรือ Individualism ผสมโรงกลายเป็นว่า กูจะทำอะไรก็ได้ ขอให้รวย ขอให้สำเร็จ ไม่ต้องสนใจใคร อะไรจะเกิดขึ้นกับสังคมก็ช่างมัน เวลาจะทำอะไร ก็ถามว่าทำแล้วฉันจะได้อะไร ไม่ใช่ทำแล้วสังคมจะได้อะไร คนจะคิดแบบนี้ได้ต้องมีความเชื่อเรื่องปัจเจกบุคคลสูง จนกระทั่งกลายเป็นพวกเห็นแก่ตัว

…แต่สุดท้าย แม้จะได้มาอย่างที่ต้องการ กอบโกยเท่าไหร่ คนก็ไม่มีความสุข คนจะมั่งมี มีชื่อเสียงยังไง สุดท้ายก็ยังเครียด บางคนเป็นโรคซึมเศร้า บางคนฆ่าตัวตาย อาตมาคิดว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะการใช้ชีวิตแบบมีมิติด้านเดียว คือมิติของตัวเอง เมื่อไม่ได้อย่างที่คิดก็ทุกข์ ได้ครบทุกอย่างแล้วก็ทุกข์ เพราะรู้สึกว่าไม่มีอะไรทำต่อ ออสการ์ ไวลด์มั้งพูดว่า โศกนาฏกรรมของชีวิตคือเมื่อคุณได้ทุกอย่างที่ฝันแล้ว คุณไม่รู้ว่าจะทำอะไรต่อ ยกตัวอย่างแอนโทนี บัวร์เดน เป็นพิธีกรรายการอาหาร เขียนเรื่อง Kitchen Confidential ตอนที่เขาดังสุดๆ รวยมากๆ เขาบอกว่าฉันก็ได้ทุกอย่างมาแล้ว ‘แล้วยังไงต่อ?’ การที่คุณได้ทุกอย่างแล้วไม่รู้จะทำอะไรต่อ มันเคว้ง ไม่รู้จะอยู่ไปทำไม สุดท้ายเขาฆ่าตัวตาย ไม่ใช่เพราะว่าเขาล้มเหลวแต่เพราะเขาได้ทุกอย่าง แต่สิ่งที่เขาได้มาไม่ได้ตอบโจทย์หรือสร้างความพึงพอใจให้กับชีวิต เฮนรี เดวิด ธอโร นักปราชญ์ชาวอเมริกัน บอกว่าโศกนาฏกรรมชีวิตคือการที่คุณทุ่มเททั้งชีวิตเพื่อจะได้ปลามาแล้วพบว่ามันไม่ใช่ปลาที่ต้องการ ทำทุกอย่างเพื่อได้ทุกอย่างมาแล้ว แต่มันกลับไม่ใช่สิ่งที่ทำให้คุณมีความสุขอย่างแท้จริง คุณก็ไม่รู้จะอยู่ต่อไปทำไม คนเราพอไม่รู้จะอยู่ไปทำไม ก็ฆ่าตัวตายแค่นั้นเอง”

สุขจากความสงบ

การตักตวงเพื่อตัวเองอาจเป็นหนทางที่นำไปสู่ทางตัน แต่ในทางกลับกัน หากไม่นับผลพลอยได้ต่อชีวิตผู้อื่น ก็ยากจะเห็นว่าเหตุใดเส้นทางสังคมสงเคราะห์อย่างที่พระไพศาลทำจึงมีจะมีประโยชน์ต่อผู้ปฏิบัติมากกว่า โดยเฉพาะเมื่อเส้นทางสายนี้มักทอดผ่านซอกหลืบของสังคมที่ไม่มีสปอตไลท์และส่วนใหญ่ก็ไม่ได้สร้างเงินทอง

หลังเรียนจบจากคณะศิลปศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ในปี 2523 พระไพศาล ถือเป็นสมาชิกของกลุ่ม ‘อหิงสา’ ที่พยายามขับเคลื่อนแนวทางไม่ใช้ความรุนแรงเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม ผ่านงานเขียนอย่างการทำ ‘ปาจารยสาร’ จวบจน 6 ตุลาคม 2519 พระไพศาลที่ขณะนั้นแม้จะไม่ได้สมาทานลัทธิมาร์กซิสต์แล้วแต่ได้ประท้วงรัฐบาลผ่านการอดอาหารอยู่ที่ธรรมศาสตร์ด้วย ได้ถูกจับในเหตุการณ์ล้อมปราบ โชคดีที่พระไพศาลได้รับการปล่อยตัวหลังจากสามวัน ท่านจึงได้ผันตัวมาเป็นเจ้าหน้าที่กลุ่มประสานงานศาสนาเพื่อสังคม (กศส.) เพื่อช่วยเหลือนักโทษการเมืองนับพันที่ยังถูกคุมขังท่ามกลางการหมายหัวของรัฐบาล งานที่ไม่มีทั้งเงิน ไม่มีทั้งกล่อง แต่อาจมีคุก จะสร้างความสุขได้จากสิ่งใด

“อาตมาเป็นเด็กเรียนดีและถือเป็นความหวังของครอบครัว พอมาเป็น activist มาทำกิจกรรมเพื่อสังคม ก็เห็นเพื่อนๆ ร่วมรุ่น จบแล้วก็มีอาชีพการงานที่ดี ส่วนอาตมาเงินเดือนก็ไม่เท่าไหร่ สองพันบาท ใจหนึ่งมันก็รู้สึกเปรียบเทียบว่าเพื่อนๆ เรียนสู้เราไม่ได้กลับหาเงินได้มากกว่า แต่พอมาคิดว่าสิ่งที่ทำมีคุณค่า มันก็มีความสุข มีความพอใจ เป็นความอิ่มเอมที่หล่อเลี้ยงให้เราอยู่ในแบบนั้น พอเราได้ไปช่วยคน เช่นไปช่วยนักโทษแล้วเห็นแม่เขามาเยี่ยม ร้องห่มร้องไห้ ก็รู้สึกว่ารู้สึกว่าคนที่ติดคุกเขาทุกข์มากเลยนะ แม่ พ่อ หรือลูกก็ต้องมาเศร้ากันหมด เรามาช่วยเขาก็ถือว่าได้มีส่วนช่วยในการบรรเทาความทุกข์ อย่างน้อยก็ให้แม่เขาสบายใจว่าลูกยังมีคนดูแล มันก็เป็นภาพที่สัมผัสใจ เกิดแรงผลักดันที่จะทำสิ่งเหล่านี้

ที่จริงไม่ว่าทำกิจส่วนตัวหรือกิจส่วนรวมเพียงแค่การมีสติ มีความรู้สึกตัว มันก็ทำให้เกิดความสุขน้อยๆ ในทุกขณะอยู่แล้ว สติเป็นตัวรักษาใจให้สงบ ให้เป็นสุข ให้เป็นปกติอยู่ได้ ...มันไม่หวือหวา แต่มันมีคุณค่า เหมือนกับน้ำจืด ไม่มีรสชาติเท่ากับน้ำอัดลม แต่เรากินได้ทั้งวัน

...ความสุขมีสองอย่าง หนึ่งคือความสุขที่เกิดจากการเร้าจิต กระตุ้นกาย สองความสุขที่เกิดจากความสงบ พวกความอิ่มเอม ความภาคภูมิใจนี้จัดเป็นความสงบในระดับหนึ่ง ซึ่งไม่ทำให้เกิดการด้านชา และทำเดี๋ยวนี้ก็ได้เดี๋ยวนี้เลย ทำดีเดี๋ยวนี้ก็ได้ความสุข ได้ความภาคภูมิใจ ได้ความสงบ ได้ลดละกิเลส มันได้ขัดเกลาอัตตามานะ ในวันนี้เลย ไม่ต้องรอวันพรุ่งนี้ เพียงแต่จะสังเกตหรือให้ค่ากับมันหรือเปล่า เวลาทำอะไรเพื่อสังคมถึงให้มองว่าเป็นการปฏิบัติธรรมไปด้วย ดาบตำรวจวิชัย (ร้อยตำรวจตรี วิชัย สุริยุทธ) นักปลูกต้นไม้ แกก็ปลูกต้นไม้ของแกไปทุกวันๆ คนบอกว่าแกบ้าเหรอ ทำไปทำไมเพื่อส่วนรวม ขาดทุน แกบอกว่าไม่มีคำว่าขาดทุน มีแต่ได้ ได้ความสุข ได้ความอิ่มเอมใจ ได้เดี๋ยวนั้นเลย ไม่ใช่ต้องรอให้ต้นไม้โตเกิดความสงบร่มรื่นก่อน

… อย่างคนวิ่งมาราธอน เขาวิ่งซ้อมวันละ 6-7 กิโล โอ้โห---มันเหนื่อย แต่ถามว่ามีความสุขไหม---เขามี ไอ้เราเห็นแล้ว สุขยังไง เหนื่อยจะตาย แต่เขามีความสุข วันไหนไม่ได้วิ่งรู้สึกกระสับกระส่าย มันเป็นความสุขจากการที่ได้ก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเอง นักวิ่งเป็นชีวิตจิตใจหลายคนมีความสุขง่าย มีชีวิตเรียบง่าย ไม่พึ่งพิงวัตถุสิ่งเสพมาก เพราะเขามีความสุขกับการวิ่งแล้ว คนเราต้องการความสุข ถ้าไม่ได้ความสุขจากสิ่งอื่น เราก็ต้องการความสุขจากวัตถุ จากสิ่งเสพ ดูหนังฟังเพลง แต่ถ้าคุณเข้าถึงความสุขจากการวิ่ง จากการทำความดี จากการทำสมาธิภาวนาคุณจะมีชีวิตที่เรียบง่าย สมัยอายุ 18-19 อาตมาเคยพิมพ์ดีดต้นฉบับหนังสือเรื่องหนึ่งชื่อว่า ‘ปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ’ ของติช นัท ฮันห์ พระประชา ปสนฺนธมฺโม แปล งานนี้ทำอยู่ข้างหลังฉากเพราะอาตมาพิมพ์ดีดเร็ว ทำอยู่เป็นหลายวัน แต่ทำเสร็จแล้วมีความสุข มีความอิ่มเอมใจ

…ความต่างคือความสุขจากสิ่งเร้ามันไปสนองกิเลส ทำให้กิเลสเฟื่องฟู ได้แล้วอยากได้อีก ได้สิบอยากได้ร้อย ได้ร้อยอยากได้พัน ได้พันอยากได้หมื่น ไม่รู้จักพอสักที มันถึงไม่มีความสุข สุขชั่วคราว แต่สุดท้ายก็อยากได้อีก แต่ความสุขจากความอิ่มเอม ความสุขจากความสงบ ความสุขจากความภาคภูมิใจ ซึ่งเข้าถึงได้ด้วยการทำความดีหรือทำสิ่งยากๆ ให้สำเร็จ ทำให้รู้จักพอได้ง่าย การสูบบุหรี่มันมีความสุข แต่ว่าต่อไปต้องสูบอีกถึงจะมีความสุข เงินหรือความสุขแบบหยาบๆ ก็เป็นสิ่งเสพติด ได้แล้วคุณอยากได้อีก จะมีความสุขเท่าเดิมต้องเพิ่มโดสมากกว่าเดิม กาแฟแต่ก่อนกินครึ่งแก้ว พอไปนานๆ คุณต้องหนึ่งช้อน สองช้อน ถึงจะได้ความสุขเท่าเดิมเพราะมันเป็นสิ่งกระตุ้นเร้า กระตุ้นไปนานๆ จะเริ่มด้าน”

อย่างไรก็ตาม พระไพศาลเตือนว่าแม้การทำเพื่อสังคมจะทำให้สุขง่ายขึ้น แต่ก็ไม่ใช่เรื่องเดียวกับการไม่ทุกข์ การมาบวชของพระไพศาลเอง แท้จริงก็เริ่มจากความรู้สึกเบื่อหน่ายท้อแท้จากการทำงานเป็นเจ้าหน้าที่อยู่ที่กศส. เพื่อช่วยเหลือนักโทษที่พระไพศาลเคยเล่าว่าเป็น ‘ความอิ่มเอมใจ’ นั่นเอง พระไพศาลบันทึกถึงความรู้สึกขณะนั้นที่ผลักดันให้ท่านตัดสินใจบวชไว้อย่างตรงไปตรงมาว่า

“ยิ่งเมื่อเคร่งเครียดเหนื่อยอ่อนมาจากการงานที่ยืดเยื้อด้วยแล้ว มีแต่รสชาติที่หวือหวาร้อนแรงเท่านั้นที่จะเร้าใจให้บันเทิงได้ดนตรีที่ละไม กวีนิพนธ์และความเรียงที่สงบล้ำ ธรรมชาติอันรื่นรมย์แทบไม่มีความหมายเอาเลย แต่เมื่อเสพรสที่หวือหวาร้อนแรงสมอยากแล้ว ก็หาเป็นสุขไม่ กลับต้องการเสพมากขึ้น ยิ่งเสพ จิตก็ยิ่งแส่ส่าย หยาบกระด้าง กายก็อยู่นิ่งไม่ได้ ลุกลี้ลุกลน กระวนกระวายถึงวันหยุด เป็นต้องหาเรื่องออกจากบ้านไปโน่นมานี่ไม่ได้หยุด ที่จะอยู่นิ่งๆจดจ่อกับอะไรนานๆ ทั้งกายและใจนั้น ทำเกือบไม่ได้เอาเลย การพักผ่อนทำนองนี้ แท้ที่จริง หาใช่การผ่อนคลายไม่ หากเป็นการบั่นทอนทั้งกายและใจ โดยเฉพาะก่อให้เกิดความเหนื่อยล้าใจที่จะต้องกระเพื่อมขึ้นลงตลอดเวลา

...ข้าพเจ้ามีความหงุดหงิดบ่อยขึ้น หมายมั่นกับการงานมากขึ้นทุกที กระทั่งความวิตกกังวลขัดเคืองและโทสะ ก็เข้ามารบกวนจิตใจทุกครั้งที่งานไม่เป็นไปตามปรารถนา มุทิตาจิตที่จะพึงมีต่อมิตรสหายและบุคคลที่ประสบความสำเร็จในการงาน มีน้อยมาก ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ผู้ที่ด้อยกว่าตน ก็เริ่มไม่เป็นที่สบอารมณ์มากขึ้นทุกที นานเข้าโลกจะดูคับแคบลง เมื่อความชิงดีชิงเด่นเพื่อพวกของตัวกลุ่มของตัวเข้ามามีความหมาย ยิ่งกว่าการร่วมแรงร่วมใจเพื่อความดีงามในสังคม มีแต่กลุ่มของตัว พวกของตัวเท่านั้นที่สำคัญ คนอื่นนอกนั้นโดยเฉพาะผู้ที่ได้รับการยอมรับสรรเสริญเกินกว่ากลุ่มของตัวจะเริ่มถูกกีดออกจากการรับรู้และความยินดีของข้าพเจ้า ถึงขนาดนี้ ก็นับว่าเลยเถิดเกินไปแล้ว ข้าพเจ้าจึงต้องกลับมาพิจารณาตัวเอง เวลานั้น ข้าพเจ้าก็ไม่ต่างจากคนที่พยายามวิ่งหนีเงากลางทุ่งกว้างในยามเที่ยง แต่วิ่งสักเท่าใดก็ไม่อาจหลบเงาพ้น ยิ่งวิ่ง เงาก็ยิ่งตามติด บังเกิดความเหนื่อยล้าและขัดเคืองใจยิ่งขึ้นทุกที ทางเดียวที่จะหนีเงาได้ก็คือ มานั่งพักใต้ร่มไม้”

การ ‘นั่งพักใต้ร่มไม้’ ของพระไพศาล หมายถึงการบวช ณ วัดทองนพคุณ กรุงเทพฯ ก่อนจะไปศึกษาการปฏิบัติธรรมในสำนักของหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ ที่วัดสนามใน นนทบุรี และหลวงพ่อคำเขียน สุวณฺโณ ที่วัดป่าสุคะโต โดยเดิมทีมีกำหนดเวลาบวชเพียงสามเดือน แต่กำหนดการสึกได้ถูกเลื่อนไปอย่างไม่มีกำหนดจนกลับกลายมาเป็นเวลากว่าสี่สิบปีแล้วในวันนี้ ในร่มเงาของศาสนานี่เองที่พระไพศาลได้พบกับสิ่งอาจช่วยให้สมการความสุขของคนทำงานเพื่อสังคมกลับมาสมดุลกับตัวเอง

“ถ้าคุณยึดถืออะไรบางอย่างแล้วไม่สมหวัง หรือคุณทุ่มเทเพื่อสังคมแล้วสังคมไม่เป็นไปอย่างที่คิด คุณก็แย่นะ อย่างสืบ นาคะเสถียรก็เป็นคนที่มีความสุขคนหนึ่ง และชีวิตก็มีคุณค่า แต่เขาทุ่มเทชีวิตเพื่อห้วยขาแข้งแล้วเขาไม่สามารถรักษามันได้ วิธีเดียวที่เขาจะรักษาห้วยขาแข้งได้ก็คือฆ่าตัวตาย นักศึกษาที่เคลื่อนไหวในเวลานี้หลายคนซึมเศร้า เพราะสิ่งที่พยายามผลักดันขับเคลื่อนมันไม่สำเร็จ พอไม่สำเร็จก็รู้สึกว่าผิดหวัง ทางพุทธบอกว่า ไม่ว่าคุณจะยึดถืออะไร แม้เป็นสิ่งมีคุณค่า แต่อย่ายึดมั่นถือมั่นมากเกินไป ถ้ายึดมั่นถือมั่น แม้ในความถูกต้อง ก็จะลำบาก เพราะความยึดมั่นนำมาซึ่งความทุกข์ หลวงปู่เฟื่อง ผู้เป็นลูกศิษย์หลวงปู่มั่นบอกว่า ‘แม้ความเห็นของเราจะถูก แต่ถ้ายึดเอาไว้มันก็ผิด’ อะไรจะดียังไง ถ้ายึดมั่นถือมั่นแล้วผิดทั้งนั้น ผิดคือทำให้ทุกข์ คือความดีอย่างเดียวไม่พอ ต้องเข้าถึงความจริงด้วย ความจริงคือไม่มีอะไรที่ยึดมั่น ถือมั่นได้ พระพุทธเจ้ายังบอกว่า โอวาทปาฏิโมกข์มีสามข้อ การไม่ทำบาปทั้งปวง การทำกุศลให้ถึงพร้อม และการชำระจิตของตนให้ขาวรอบ พูดง่ายๆ คือทำดีไม่พอ ต้องทำใจให้เข้าถึงความจริงด้วย”

ทำไมต้องธรรม

ในยุคนี้ ปัญหาของ ‘ความจริง’ ก็เป็นเช่นเดียวกับ ‘ความดี’ คือไม่รู้ว่าแปลว่าอะไร และแม้จะถืออย่างพระไพศาลว่าความจริงทำให้เป็นสุขหรือทุกข์น้อยลงได้ คำถามที่ตามมาก็คือ ในเมื่อทุกคนเข้าถึงความจริงและความสุขได้ผ่านการ ‘ทำจิต’ หรือสภาวะภายในของตน เหตุใดจึงยังต้องมีการ ‘ทำกิจ’ หรือรณรงค์เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงสังคมอันเป็นสภาวะภายนอกอีก ลัทธิมาร์กซิสต์ผู้แสวงหาการเปลี่ยนแปลงสังคม เรียกพระและศาสนาว่าเป็น ‘ฝิ่น’ ก็เพราะเป้าหมายทางจิตวิญญาณของศาสนามีผลทำให้คนลืมปัญหารูปธรรมภายนอกอย่างนี้นี่เองไม่ใช่หรือ คำตอบของพระไพศาล ผู้ยังเกี่ยวข้องกับการรณรงค์ในหลายเรื่อง เห็นได้จากบทบาทหลากหลายนอกเหนือจากการเป็นเจ้าอาวาส ไม่ว่าประธานเครือข่ายพุทธิกา กรรมการมูลนิธิโกมลคีมทอง กรรมการมูลนิธิสุขภาพไทย กรรมการมูลนิธิสันติวิถี กรรมการสถาบันสันติศึกษา กรรมการสถาบันวิจัยและพัฒนามหาวิทยาลัยขอนแก่น กรรมการสภาสถาบันอาศรมศิลป์ หรือแม้กระทั่งกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ และกรรมการปฏิรูป ฯลฯ ทำให้รู้ว่าการปรับปรุงโลกภายนอกและโลกภายในนั้นไม่ใช่สิ่งที่ต้องเลือกทางใดทางหนึ่ง และไม่ควรเป็นทางใดทางหนึ่ง

“พระพุทธศาสนาให้คุณค่ากับเรื่องสิ่งแวดล้อมด้วย เพราะว่าสิ่งแวดล้อมที่เกื้อกูล จะทำให้คนมีความเจริญงอกงามในทางจิตใจ มีชีวิตที่ดีงาม กระทั่งพระก็ต้องอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เกื้อกูลคือคณะสงฆ์ ที่ประกอบด้วยกัลยาณมิตร โดยคณะสงฆ์จะเป็นกัลยาณมิตรได้ก็ต้องมีพระธรรมวินัยครอบอีกที กำกับให้บุคคลที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมนี้เป็นบุคคลที่ดี มีคุณธรรม แล้วก็มุ่งปฏิบัติตนเพื่อชีวิตที่ดีงาม และไม่ใช่แค่สิ่งแวดล้อมระดับบุคคลหรือสังคม สิ่งแวดล้อมในเชิงกายภาพก็สำคัญ เช่น วัดจะต้องเป็นถิ่นรมณีย์ คือมีน้ำอุดม ร่มรื่นในพฤกษา เพราะว่ามันช่วยกล่อมเกลาจิตใจให้สงบ ถ้าจะปฏิบัติธรรม ต้องไปแสวงหาถิ่นที่ ‘สัปปายะ’ สัปปายะ แปลว่าเกื้อกูล สถานที่ที่เกื้อกูล บุคคลที่เกื้อกูล อากาศที่เกื้อกูล และมีแหล่งบิณฑบาตที่เกื้อกูล ตั้งใจดีไม่พอ คุณต้องไปในที่ที่เกื้อกูล ถ้าสังคมเต็มไปด้วยความทุกข์ยาก อาชญากรรม มลภาวะ เราจะคาดหวังให้คนมีชีวิตที่ดีงามก็ยาก มีการทดลองในอังกฤษที่ชี้ให้เห็นว่าสถานที่ยากจนสองแห่ง ซึ่งคล้ายๆ กัน สถานที่หนึ่งถูกทำให้เป็นระเบียบมากขึ้น ตกแต่งแก้ไขป้ายจราจรที่ถูกทุบตี กำจัดขยะ ทำสวนให้ดี พบว่าสถานที่ที่ได้รับการดูแล มีอาชญากรรมลดลง เพราะฉะนั้นคุณธรรมหรือความผาสุกในจิตใจของผู้คนต้องอาศัยสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม จะให้ผู้คนมีความสุข มีคุณธรรม มีชีวิตที่ดีงาม ต้องช่วยทำให้สิ่งแวดล้อมดีด้วย มันแยกขาดจากกันไม่ได้

…และการทำเพื่อสังคม ก็เป็นการขัดเกลาตัวบุคคล พระพุทธเจ้าตรัสว่า ‘รักษาตนเท่ากับรักษาผู้อื่น รักษาผู้อื่นเท่ากับรักษาตน’ การที่เราไปช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่นก็เป็นการทำประโยชน์ต่อตนไปด้วยในตัว ช่วยเพิ่มพูนเมตตากรุณาในใจ ช่วยลดละความเห็นแก่ตัว เวลาถูกต่อว่าด่าทอ ก็ได้ฝึกรักษาใจให้มั่นคง มันเป็นสนามสำหรับการฝึกตน อีกอย่างพระเราก็ต้องเป็นแบบอย่างของคุณธรรม เราจะสอนแต่ให้คนมาหลีกเร้น พบความสงบภายในไม่พอ ต้องทำให้คนมีเมตตากรุณา เอื้อเฟื้อ เกื้อกูลผู้อื่น แล้วเราจะทำได้ยังไง สอนอย่างเดียวไม่พอ ต้องปฏิบัติให้เป็นแบบอย่าง เรียกว่า ‘ทำให้ดู อยู่ให้เห็น’ พระพุทธเจ้ามีพุทธคุณอยู่สองประการ คือ ‘กรุณาคุณ’ และ ‘ปัญญาคุณ’ พระเราก็ต้องมีสองอย่างนี้เป็นคุณสมบัติหลัก คือความกรุณาหรือเมตตา และปัญญาที่จะชี้ทางสว่างไสวให้กับผู้คนรวมทั้งให้กับตัวเอง

…ที่จริงไม่ว่าทำกิจส่วนตัวหรือกิจส่วนรวมเพียงแค่การมีสติ มีความรู้สึกตัว มันก็ทำให้เกิดความสุขน้อยๆ ในทุกขณะอยู่แล้ว คนไม่ค่อยตระหนักว่าความรู้สึกตัวสำคัญอย่างไร เพราะเราเชื่อว่าเรามีความรู้สึกตัวอยู่แล้ว แต่ที่จริงไม่ใช่ เพราะว่าแม้ในขณะที่เราลืมตา เราจะอยู่กับความหลง จมอยู่กับความคิด ถลำเข้าไปในอารมณ์ เครียด เศร้า กังวล เพราะว่าเราไม่มีสติ ไม่รู้ทันความคิด ไม่รู้ทันอารมณ์ ถ้าเรามีสติ รู้ทันความคิด รู้ทันอารมณ์ รู้จักวางไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอดีตหรืออนาคต กลับมาอยู่กับปัจจุบัน มีสติอยู่กับสิ่งที่เราทำแล้ว จิตใจของเราก็จะโปร่งโล่ง เย็นสบาย ก็คือความสุขแล้ว เป็นความสุขที่หาได้ง่าย เพราะว่าเกิดขึ้นได้ทุกขณะ เป็นความสุขที่เกิดขึ้นในขณะที่เราทำงาน ไม่ว่าเราจะทำอะไรก็เกิดความสงบ เกิดความโปร่งโล่ง เกิดความผ่อนคลายเบาสบายได้

…อาจจะมีบางช่วงที่เผลอคิดถึงอดีต คิดถึงอนาคต เกิดความวิตกกังวล มีอะไรมากระทบ อาจจะเกิดความไม่พอใจ ความหงุดหงิด ซึ่งก็เกิดขึ้นเป็นธรรมดาในแต่ละวัน แต่ถ้าเรามีสติ สิ่งเหล่านี้ก็มาครอบงำ บีบคั้น เผาลนจิตใจได้ยาก สติเป็นตัวรักษาใจให้สงบ ให้เป็นสุข ให้เป็นปกติอยู่ได้ โดยที่ไม่ต้องอาศัย หรือพึ่งพาสิ่งเร้าทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เราไม่จำเป็นต้องพึ่งพาอาหารที่อร่อย เพลงที่เพราะ หนังที่สนุก เพราะเราพบความสุขที่ประเสริฐกว่า คือความสงบที่เกิดจากสติ ความสงบที่เกิดจากจิตที่โปร่งโล่งเบาสบาย ความสุขที่เกิดจากการปล่อยการวาง มันไม่หวือหวา แต่มันมีคุณค่า เหมือนกับน้ำจืด ไม่มีรสชาติเท่ากับน้ำอัดลม แต่เรากินได้ทั้งวันน้ำอัดลมมันมีรสชาติก็จริงแต่ถ้าเรากินทุกวันหรือกินทั้งวัน โรคภัยถามหา ฟันเสีย เบาหวานเล่นงาน ถ้าเราเกิดความพึงพอใจกับน้ำจืด เราก็ไม่โหยหาความหวานของน้ำอัดลม อาจจะมีบ้าง แต่ว่ามันก็เป็นเพียงสิ่งเล็กน้อยไม่ใช่เป็นปัจจัยหลักของชีวิต”

การมาสัมภาษณ์พระไพศาลครั้งนี้ไม่ได้มุ่งหมายมาที่การเทศน์ แต่เมื่อการสนทนาล่วงถึงลำดับท้าย บรรยากาศ ‘สัปปายะ’ รอบข้าง กับน้ำเสียงราบเรียบของพระไพศาล ทำให้คำตอบที่ตรง ง่าย ไม่ได้ประดิษฐ์ถ้อยคำ ไม่ได้ขึ้นด้วยนโมและจบลงด้วยเอวัง กลับกลายเป็นการเทศน์ไปอย่างน่าประหลาด มีภาษิตบอกว่า “ชนทั้งหลายผู้ยังอ่อนปัญญา เฝ้าแต่ฝันเพ้อถึงสิ่งที่ยังไม่มาถึง และหวนละห้อยถึงความหลังอันล่วงแล้ว จึงซูบซีดหม่นหมองเสมือนต้นอ้อสด ที่เขาถอนทิ้งขึ้นทิ้งไว้ในที่กลางแดด” พระไพศาลยังดูสดชื่นในเงาไม้เหมือนเพิ่งอาบน้ำมาใหม่ๆ กระนั้น พระไพศาลดูจะว่องไวในการบอกปัดคำยกย่องถึงคุณวิเศษใดๆ ในทางธรรม หรือแม้แต่กระทั่งความเป็นพระที่มั่นคง ดังที่ได้เคยเขียนชัดเจนไว้ในบทความ ‘ทำไมข้าพเจ้าจึง(ยัง)ไม่สึก’ (เขียนในพรรษาที่ 25 ของการบวช) ว่า

“บวชมาตั้งแต่ใครต่อใครสำคัญผิดคิดว่าเป็นเณร จนกระทั่ง เดี๋ยวนี้ชาวบ้านเรียกว่าหลวงพ่อแล้ว กระนั้นก็ยังมีบางคราวที่เวลาเผลอลูบหัวตัวเองแล้วก็อดประหลาดใจไม่ได้ว่า เราเป็นพระหรือนี่

...ข้าพเจ้าเป็นปุถุชน มิได้มีคุณวิเศษมากไปกว่าคฤหัสถ์ แม้จะรู้สึกซาบซึ้งในบุญคุณของผ้าเหลืองที่ช่วยคุ้มกายคุ้มจิตของตนมิให้ทุกข์ภัยแผ้วพานมากนัก พอๆ กับที่เหนี่ยวรั้งมิให้ตนเองลุแก่ตัณหาและโทสะ จนเที่ยวก่อปัญหาหรือสร้างความ เดือดเนื้อร้อนใจให้แก่ผู้อื่น กระนั้นก็ตามบางครั้งก็อดลังเลใจ ไม่ได้ว่าตนเองเหมาะกับชีวิตเช่นนี้หรือไม่ เพราะใจมิได้ดื่มด่ำ แน่วแน่ในชีวิตพระเสียทีเดียวนัก แม้จะบวชมานานนับสิบปีแล้วก็ตาม แต่มีวันหนึ่งได้อ่านเถรีคาถาเมื่อถึงบทของพระอัญญตราสามาเถรีแล้ว ก็เกิดกำลังใจขึ้นมา เพราะท่านเล่าว่า ไม่เคยได้รับความสงบใจแม้ขณะเดียว ทั้งๆ ที่บวชมานานถึง 25 ปี ตั้ง 25 ปี แถมยังไม่ประสบความสงบจิตแม้แต่น้อย ข้าพเจ้าต้องอุทานในใจ ที่น่าประหลาดใจ ก็คือท่านหาได้ท้อถอยไม่ หากเพียรพยายามบวชต่อไป จนในที่สุดความเพียรก็ส่งผล ท่านได้บรรลุธรรมในที่สุด

…ถึงตรงนี้ข้าพเจ้าก็พอจะอวดอ้างได้ว่า ชีวิตการบวชของข้าพเจ้าใช่ว่าจะเลวร้ายเสียทีเดียวนัก เพราะอย่างน้อยก็ได้มีโอกาสสัมผัสกับความสงบสุขในจิตใจเนืองๆ ถึงจะดีๆ ชั่วๆ อย่างไร ก็ไม่เคยถูกความทุกข์รุมเร้าทั้งวันทั้งคืนตลอดเจ็ดปี จนถึงกับลงมือฆ่าตัวตายอย่างพระสีหาเถรี ซึ่งเป็นพระเถรีอีกรูปหนึ่งที่มีชื่อจารึกในพระไตรปิฎก แต่ข้าพเจ้าก็คงจะอวดอ้างได้เพียงแค่นั้นกระมัง เพราะในบั้นปลายชีวิตท่านก็ได้บรรลุอรหัตตผลเช่นเดียวกับพระอัญญตราสามาเถรี ปุถุชนอย่างข้าพเจ้า หากสามารถดำรงเพศพรหมจรรย์ ไปจนตลอดชีวิต โดยไม่ถ่วงพระศาสนาให้ทรุดต่ำลงไปกว่านี้ ก็นับว่าเป็นความสำเร็จในชีวิตแล้ว”

อาจเป็นด้วยเหตุนี้ ทั้งๆ ที่ในสามสิบวันของเดือนๆ หนึ่ง พระไพศาลอาจมีภารกิจต้องจัดอบรมการเผชิญความตายซึ่งท่านเป็นผู้เคลื่อนไหวจนกลายวันนี้เป็นสิ่งที่รับรู้ในสังคมวงกว้างอยู่ร่วมสิบวัน แต่พอถามว่า “ในเมื่อไม่กลัวตายแล้ว วันนี้อาจารย์กลัวอะไร” พระไพศาลจึงรีบปฏิเสธทันควัน “ยัง ยังมีอยู่ เผลอเมื่อไหร่ก็กลัวเมื่อนั้น” พระไพศาลกล่าวพลางเล่าถึงอาการหลอดลมตีบที่กระทบการหายใจและสุขภาพของท่านอย่างมีนัยสำคัญ “ตายไม่ค่อยกลัว กลัวความตกใจก่อนตาย”

สำหรับพระไพศาล นี่เป็นการออกตัวเพื่อไม่ให้คนเข้าใจคุณสมบัติของท่านเกินจริง แต่ในทางกลับกัน เป็นไปได้ว่านี่คือสาเหตุให้พระไพศาลคือหนึ่งในพระที่มีผู้คนจากหลากหลายวงการมาสอบถามในสารพัดเรื่องมากที่สุด ตั้งแต่เรื่องกาย เรื่องจิต เรื่องบ้าน เรื่องป่า เรื่องพระ เรื่องโยม ไปจนเรื่องสังคมและการเมือง

คำตอบของพระไพศาลไม่ได้เป็นที่ต้องการเพราะความวิเศษเหนือธรรมชาติ

แต่เป็นเพราะความธรรมดาที่ยังเชื่อมโยงได้กับทุกคนนี่เอง