HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

ECONOMIC REVIEW


สงครามยูเครนมีโอกาสยืดเยื้อสูง

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ
ที่ปรึกษา
กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร


เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2022 ที่ผ่านมา เซเลนสกี ประธานาธิบดีของยูเครนได้กล่าวสุนทรพจน์ต่อรัฐสภาสหรัฐซึ่งเป็นข่าวไปทั่วโลก โดยมีวลีสำคัญว่าเงินช่วยเหลือที่สหรัฐฯ ให้กับยูเครนนั้นไม่ใช่เงินบริจาค (“Your money is not charity”) และการไปเยือนสหรัฐฯ โดยไม่ได้มีการคาดการณ์มาก่อนของผู้นำยูเครนครั้งนี้ ทำให้ได้รับเงินช่วยเหลือจากสหรัฐฯ เพิ่มเติมอีก 1,850 ล้านเหรียญสหรัฐ พร้อมกับการอนุมัติให้ยูเครนได้รับระบบป้องกันขีปนาวุธที่เรียกว่า Patriot ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากที่สุดระบบหนึ่งของสหรัฐฯ ในการช่วยป้องกันการโจมตีของรัสเซียอีกด้วย

สำหรับเศรษฐกิจโลกนั้น ต้องยอมรับว่าได้รับผลกระทบอย่างมากจากความพยายามใช้กำลังทหารของรัสเซียเพื่อยึดครองยูเครนตั้งแต่ต้นปี 2022 ที่ผ่านมา ทั้งในเชิงของการเพิ่มความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ ผลกระทบของสงครามต่อเศรษฐกิจของยุโรป (ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญของหลายประเทศในโลก) และการทำให้ราคาพลังงานและอาหารปรับตัวสูงขึ้นอย่างฉับพลันในช่วง 6 เดือนแรกของสงคราม ดังนั้น ความยืดเยื้อของสงครามในยูเครนจึงจะเป็นตัวแปรที่สำคัญสำหรับเศรษฐกิจของโลกในปี 2023 นี้ ทั้งในเชิงของเศรษฐกิจโดยรวมและส่วนของการควบคุมให้เงินเฟ้อปรับลดลงอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ดอกเบี้ยนโยบายสามารถปรับลดลงได้

ตรงนี้จะต้องประเมินอย่างตรงไปตรงมาว่าการที่สงครามที่ยูเครนจะยุติลงได้นั้น จะเกิดขึ้นได้โดยเร็วหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทำสงครามต่อไปไม่ไหว กล่าวคือ ยูเครนหรือรัสเซียฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายขอเจรจายุติศึกก่อน

บางคนอาจเข้าข้างรัสเซียและมองว่าประธานาธิบดีปูตินอยู่ในช่วงเสริมกำลังทหาร โดยได้เกณฑ์ทหารเพิ่มอีก 300,000 นาย ซึ่งจะสามารถเริ่มปฏิบัติการได้เมื่อผ่านพ้นฤดูหนาวไปแล้ว และอาจสามารถนำเอาประเทศเบลารุสเข้ามาร่วมสนับสนุนเพิ่มเติมอีกด้วย ในขณะเดียวกัน การยิงจรวดและส่งโดรนหลายร้อยลำเข้าไปโจมตีระบบน้ำประปาและระบบไฟฟ้าของยูเครนในช่วงฤดูหนาวจะทำให้ชาวยูเครนอ่อนแรงและอ่อนใจจนยอมจำนนให้กับรัสเซียในที่สุด นอกเหนือจากนี้ ในสหรัฐฯ เอง เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร (House of Representatives) ก็ตกไปอยู่กับพรรคริพับลิกัน ซึ่งมีเสียงส่วนหนึ่งที่สนับสนุนประธานาธิบดีทรัมพ์และเข้าข้างประธานาธิบดีปูตินอย่างเต็มประตู ดังนั้นการที่สหรัฐฯ จะอนุมัติเงินและอาวุธให้กับยูเครนน่าจะทำได้ยากขึ้นมากในปี 2023 (เป็นเหตุให้ประธานาธิบดีเซเลนสกีต้องรีบเร่งบินไปขอเสียงสนับสนุนจากรัฐสภาสหรัฐในวันที่ 21 ธันวาคม 2022 ตามที่กล่าวถึงในข้างต้น)

ความยืดเยื้อของสงครามในยูเครนจึงจะเป็นตัวแปรที่สำคัญสำหรับเศรษฐกิจของโลกในปี 2023 นี้ ทั้งในเชิงของเศรษฐกิจโดยรวมและส่วนของการควบคุมให้เงินเฟ้อปรับลดลงอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ดอกเบี้ยนโยบายสามารถปรับลดลงได้

อย่างไรก็ตาม ผมมองว่าสหรัฐฯ น่าจะมีความมุ่งมั่นอย่างมากที่จะให้การสนับสนุนยูเครนอย่างต่อเนื่องและยาวนานตราบเท่าที่ทหารยูเครนยังมีผลงานในการรบที่ดีเกินคาด และประชาชนคนยูเครนยังให้การสนับสนุนประธานาธิบดีเซเลนสกีอย่างท่วมท้นดังเช่นปัจจุบัน เห็นได้จากการที่รัฐสภาสหรัฐได้อนุมัติเงินช่วยเหลือให้กับยูเครนในปี 2023 เป็นจำนวนทั้งหมด 45,000 ล้านเหรียญ ซึ่งมากกว่าที่ฝ่ายบริหารของประธานาธิบดีโจ ไบเดนขอไปคือ 37,000 ล้านเหรียญและมากกว่าที่สหรัฐฯ ได้มอบให้ยูเครนในปี 2022 ที่ 40,000 ล้านเหรียญ (ประธานาธิบดีของยูเครนไม่เคยกล่าวถึงจำนวนเงินว่ายังขาดแคลนมากน้อยเพียงใด แต่มักจะขออาวุธที่มีศักยภาพมากขึ้น เช่น เครื่องบินขับไล่ F-16 และรถถัง Abrams เป็นต้น)

แต่ประเด็นสำคัญคือ การสนับสนุนยูเครนให้ทำสงครามกับรัสเซียอย่างยืดเยื้อ โดยการที่สหรัฐฯ ต้องจ่ายเงิน 40,000-50,000 ล้านเหรียญต่อปีนั้น ‘คุ้มค่า’ สำหรับสหรัฐฯ หรือไม่ คำตอบคือการช่วยให้ยูเครนรบกับรัสเซียนั้นคุ้มค่าอย่างยิ่งสำหรับสหรัฐฯ ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ในเชิงเศรษฐศาสตร์โดยนายทิโมธี แอช (เมื่อ 16 พฤศจิกายน 2022) นักเศรษฐศาสตร์ตำแหน่ง Sovereign Strategist ที่ BlueBay Asset Management มีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้

1. ความคุ้มค่า (cost-benefit analysis) ของการให้ความช่วยเหลือยูเครน

ประเทศที่เป็นคู่ปรปักษ์ของสหรัฐฯ ในเชิงของภูมิรัฐศาสตร์ที่สำคัญคือรัสเซียและจีน (ที่ตอนนี้เป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดกัน) ปัจจุบันกระทรวงกลาโหมสหรัฐใช้งบประมาณราว 750,000 ล้านเหรียญต่อปี ซึ่งแปลว่าเงินช่วยเหลือยูเครนนั้นคิดเป็นสัดส่วนเพียง 5.6% ของงบประมาณทั้งหมด หากจัดสรรงบประมาณในเชิงของการเตรียมพร้อมเผชิญหน้ากับคู่ปรปักษ์สำคัญนั้น ก็ควรต้องจัดสรรงบประมาณสัก 150,000 ล้านเหรียญต่อปี (20%) ในการขับเคี่ยวกับรัสเซีย หรือเกือบ 3 เท่าของเงินที่ให้กับยูเครนในการรบกับรัสเซีย ซึ่งได้ส่งผลให้กองทัพของรัสเซียเสียหายอย่างมากเกินคาดในปี 2022 โดยมีทหาร (รวมทั้งระดับนายพล) ของรัสเซียบาดเจ็บหรือเสียชีวิตกว่า 100,000 นาย และมีรถถัง ปืนใหญ่ เครื่องบิน เรือรบ ฯลฯ ถูกทำลายไปแล้วราว 8,000 ชิ้น (degrade Russia's conventional defense capacity)

แต่ประเด็นสำคัญคือ การสนับสนุนยูเครนให้ทำสงครามกับรัสเซียอย่างยืดเยื้อ โดยการที่สหรัฐฯ ต้องจ่ายเงิน 40,000-50,000 ล้านเหรียญต่อปีนั้น ‘คุ้มค่า’ สำหรับสหรัฐฯ หรือไม่ คำตอบคือการช่วยให้ยูเครนรบกับรัสเซียนั้นคุ้มค่าอย่างยิ่งสำหรับสหรัฐฯ

2. บั่นทอนชื่อเสียงด้านศักยภาพและอาวุธของรัสเซีย

สงครามกับยูเครนทำให้เห็นได้ในสมรภูมิของการสู้รบว่าอาวุธของสหรัฐฯ ‘ดีจริง’ และสามารถรับมือกับอาวุธของรัสเซียได้ ซึ่งเป็นเสมือนกับการโฆษณาและการทำการตลาดให้สหรัฐฯ สามารถขายอาวุธได้อย่างดียิ่ง

3. กระตุ้นให้มีการแข่งขันกันสะสมอาวุธ (arms race)

ในแง่มุมนี้ รัสเซียยังไม่สามารถเอาชนะได้เพราะจีดีพีของรัสเซียนั้นมีขนาดเพียง 1.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่นาโต้ (ยุโรปกับสหรัฐฯ) มีจีดีพีรวมกันประมาณ 40 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งสงครามยูเครนทำให้ประเทศในยุโรป (โดยเฉพาะประเทศใหญ่ๆ เช่น เยอรมนีและฝรั่งเศส) เร่งการใช้จ่ายทางการทหารให้ได้ 2% ของจีดีพีหรือมากกว่า โดยจะเป็นเม็ดเงินกว่า 1 ล้านล้านเหรียญต่อปีหากรวมงบประมาณของสหรัฐฯ เข้าไปด้วย ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 55% ของจีดีพีของรัสเซีย

4. ส่งสัญญาณให้จีนชั่งใจ

ฝ่ายนาโต้ (ยุโรปกับสหรัฐฯ) ที่มุ่งมั่นปกป้องคุ้มครองประเทศพันธมิตรและมีศักยภาพทางการทหารที่เหนือกว่ารัสเซีย จะทำให้จีนต้อง ‘คิดหน้าคิดหลัง’ ให้ดีหากต้องการเข้าไปยึดครองไต้หวันโดยการใช้กำลังทางทหารของกองทัพปลดปล่อยประชาชนของประเทศจีน

ข้อสรุปของนายแอช คือ “A Russia continually mired in a war it cannot win is a huge strategic win for the US” ครับ

*ทิโมธี แอช เป็น Senior Emerging Markets Sovereign Strategist ที่ RBC BlueBay Asset Management และเป็น Associate Fellow ในโปรแกรมรัสเซียและยูเรเซียที่สถาบัน Chatham House เขาเป็นนักเศรษฐศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญมายาวนานกว่า 30 ปี ซึ่งในระหว่างนั้น เขาได้ทำงานในสายการเงินการธนาคารราว 20 ปี ทั้งที่ธนาคาร RBS ธนาคาร Bear Stearns บริษัทหลักทรัพย์ Nomura และ ICBC Standard Bank โดยเขาเชี่ยวชาญด้านตราสารหนี้ตลาดเกิดใหม่ในทวีปยุโรป