SECTION
ABOUTINVESTMENT REVIEW
แนวโน้มและปัจจัยเสี่ยงของการลงทุนในปี 2023
เราผ่านปี 2022 มาได้ ซึ่งต้องเรียกว่าเป็นปีที่โหดร้ายที่สุดปีหนึ่งของการลงทุน เพราะการลงทุนเกือบทุกประเภทติดลบกันระเนระนาด จะยกเว้นก็แค่เงินสด สินค้าโภคภัณฑ์และหุ้นที่เกี่ยวข้อง ที่พอจะให้ผลตอบแทนเป็นบวกได้ ส่วนหุ้นเกือบทุกภูมิภาค (ยกเว้นหุ้นไทยที่ปีก่อนหน้าไม่ได้ขยับไปไหนเท่าไร) ติดลบไปถ้วนหน้า ที่น่าสนใจคือการลงทุนในตราสารหนี้ ที่ปกติมีความเสี่ยงต่ำ และเป็นเครื่องป้องกันความเสี่ยงกลับให้ผลตอบแทนที่ต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ สืบเนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่ปรับขึ้นอย่างรวดเร็วจากระดับที่ต่ำมาก เพราะปัญหาเงินเฟ้อ
สำหรับปี 2023 ปัจจัยเสี่ยงยังหายไปไม่หมด แต่ก็ต้องยอมรับว่า มีแนวโน้มที่ดีขึ้น และการลงทุนน่าจะมีโอกาสที่น่าสนใจเพิ่มมากขึ้น จึงอยากลองคุยถึงแนวโน้มที่สำคัญ ที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในปีนี้
1. โลกมีแนวโน้มโตช้าลง ปีนี้เราน่าจะเห็นโลกมีแนวโน้มโตช้าลงเมื่อเทียบกับปีก่อน ทั้งจากแรงส่งจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศต่างๆ เริ่มแผ่วลง ราคาพลังงานและเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงซึ่งไปกัดกินอำนาจการซื้อของผู้บริโภค อัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารกลางทั่วโลกปรับเพิ่มขึ้นเพื่อสู้กับเงินเฟ้อ กำลังกลายเป็นเบรกตัวสำคัญ และเมื่อเมืองเปิด คนหันไปบริโภค ‘บริการ’ อย่างร้านอาหาร โรงแรม และบริการทั่วๆ ไปมากขึ้น ความต้องการบริโภคสินค้าที่เริ่มลดลงก็ทำให้สินค้าคงคลังมีมากขึ้น ฝั่งการผลิตก็ต้องทยอยลดการผลิตลง ซึ่งก็คงกระทบรายได้และการใช้จ่ายกันเป็นทอดๆ
แต่ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่นะครับว่าเราจะเห็นเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะ ‘ถดถอย’ กันหรือไม่ เพราะตอนนี้ตลาดแรงงานในหลายประเทศแข็งแกร่งกันจริงๆ อัตราการว่างงานต่ำสุดในรอบหลายปี ค่าจ้างก็ยังโตดี จำนวนตำแหน่งงานเปิดก็ยังเยอะอยู่ ก็พอจะสบายใจได้ว่า หากเศรษฐกิจจะถดถอย ถ้าไม่มีช็อคแรงๆ มาซ้ำเติมอีก รอบนี้น่าจะ ‘เบา’ และกินเวลาไม่นาน
เศรษฐกิจไทยน่าจะได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการเปิดเมืองที่เร็วกว่าคาดของจีน แต่การฟื้นตัวอาจจะไม่ทั่วถึง
แต่ความกังวลเรื่องภาวะเศรษฐกิจอาจจะทำให้ต้องมีการปรับประมาณการกำไรของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้อีก ทำให้อาจจะยังคงมีความผันผวนของตลาดได้อยู่ แม้ราคาจะปรับลดลงมาค่อนข้างเยอะแล้วก็ตาม
2. เงินเฟ้อทยอยปรับลดลง แต่ยังอยู่ในระดับสูง ปัญหาเงินเฟ้อเป็นปัญหาใหญ่มากเมื่อปีก่อน เมื่อเจอทั้งแรงกดดันจากปัญหาความไม่สมดุลทั้งเรื่อง demand และ supply หลังเมืองเปิด ราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น และภาวะสงคราม มาปีนี้ เงินเฟ้อน่าจะปรับตัวลดลง จากปัญหาทั้งหลายที่ค่อยๆ คลี่คลาย แต่ยังคงน่าจะยังอยู่ในระดับสูงกว่าเป้าหมาย 2% ของธนาคารกลางส่วนใหญ่ และคนส่วนมากจะยังรู้สึกถึงปัญหา ‘ของแพง’ อยู่ และจากปัญหาเชิงโครงสร้างต่างๆ เราอาจจะเห็นอัตราเงินเฟ้อในระยะข้างหน้าสูงกว่าเงินเฟ้อที่เราเห็นในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา และที่น่ากังวลคือ ระหว่างที่เงินเฟ้อกำลังทยอยค่อยๆ ชะลอตัวลง ถ้ามีแรงกระแทกใหม่ๆ มาอีกรอบ เช่น ราคาน้ำมันเด้งแรงๆ จากการเปิดเมืองของจีน อาจจะทำให้เงินเฟ้อพุ่งสูงไปอีกครั้งได้
3. ดอกเบี้ยน่าจะยังคงปรับขึ้นได้อีก และอาจลดไม่ได้เร็ว แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ หรือแม้แต่ดอกเบี้ยนโยบายของไทย อาจจะยังคงปรับขึ้นไปอีกสักระยะ จากอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าเงินเฟ้อในปัจจุบัน คาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะปรับดอกเบี้ยขึ้นไปเกิน 5% ในช่วงไตรมาสสอง แต่ด้วยตัวเลขที่ออกมาในระยะหลัง เราอาจจะเห็นธนาคารกลางสหรัฐฯ ขึ้นดอกเบี้ยช้าลง และเราเริ่มเห็นธนาคารกลางหลายแห่งเริ่มหยุดขึ้นดอกเบี้ยแล้ว แต่ด้วยระดับของเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง ธนาคารกลางส่วนใหญ่อาจจะยังไม่สามารถลดดอกเบี้ยได้จนกว่าจะมั่นใจว่าเงินเฟ้อจะลดลงกลับสู่ระดับ 2%
ในฝั่งของไทย แบงก์ชาติอาจจะยังต้องขึ้นดอกเบี้ยไปอย่างต่อเนื่อง จนเกิน 2% ในช่วงไตรมาสสาม เพราะเราขึ้นดอกเบี้ยช้ากว่าคนอื่น ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายค่อนข้างมาก
ภาพการลงทุนปีนี้อาจจะดีกว่าที่นักลงทุนเผชิญมาเมื่อปีก่อน เมื่ออัตราดอกเบี้ยได้ปรับตัวสูงขึ้นแล้ว และราคาหุ้นก็ปรับลดลงมาพอควรแล้ว การจัดพอร์ตการลงทุนแบบ asset allocation น่าจะทำงานได้ดีขึ้น และมีโอกาสได้รับผลตอบแทนในระยะยาวที่ดีขึ้น
4. เศรษฐกิจไทยฟื้นสวนเศรษฐกิจโลกแต่ไม่ทั่วถึง เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิดมาเป็นเวลานาน และฟื้นตัวช้ากว่าประเทศอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด ด้วยรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่หายไป ในปีนี้ เศรษฐกิจไทยน่าจะได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการเปิดเมืองที่เร็วกว่าคาดของจีน แต่การฟื้นตัวอาจจะไม่ทั่วถึง เพราะในขณะที่ภาคบริการและภาคการท่องเที่ยวน่าจะขยายตัวได้จากการฟื้นตัวในด้านนี้ แต่ภาคการส่งออกอาจจะลำบากจากฐานที่ค่อนข้างสูงในปีก่อน ประกอบกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่อาจจะทำให้เราเห็นการส่งออกติดลบอย่างน้อยในช่วงครึ่งแรกของปี
ดูรวมๆ เหมือนว่าแนวโน้มเศรษฐกิจโลกยังมีความเสี่ยงชะลอตัวอยู่ และอัตราดอกเบี้ยน่าจะใกล้เข้าสู่จุดสูงสุดในเร็วๆ นี้ แต่อาจจะปรับลดดอกเบี้ยเร็วมากไม่ได้ เพราะเงินเฟ้อยังคงเป็นปัญหาต่อเนื่อง
แต่ภาพการลงทุนปีนี้อาจจะดีกว่าที่นักลงทุนเผชิญมาเมื่อปีก่อน เมื่ออัตราดอกเบี้ยได้ปรับตัวสูงขึ้นแล้ว และราคาหุ้นก็ปรับลดลงมาพอควรแล้ว การจัดพอร์ตการลงทุนแบบ asset allocation น่าจะทำงานได้ดีขึ้น และมีโอกาสได้รับผลตอบแทนในระยะยาวที่ดีขึ้น
นักลงทุนอาจจะพิจารณาทยอยเข้าลงทุนเพื่อเป้าหมายระยะยาว โดยเริ่มจากสินทรัพย์พวกตราสารหนี้ก่อน และสะสมตราสารทุนเมื่อมีความผันผวน
การลงทุนมีความเสี่ยงอยู่เสมอ แต่ผมเชื่อว่า ในระยะยาว การลงทุนโดยมีสินทรัพย์หลายๆ ประเภท โดยเฉพาะตราสารหนี้และตราสารทุน ให้มีความเสี่ยงสอดคล้องกับความสามารถในการรับความเสี่ยงของนักลงทุนนั้นเป็นเรื่องสำคัญมาก ■