HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

ECONOMIC REVIEW


ทิศทางในอนาคตของค่าเงินบาทไทย

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ
ที่ปรึกษา
กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร


ค่าเงินบาทที่เหมาะสมนั้นไม่มีใครสามารถจะทราบได้ อย่างดีคือพยายามคาดการณ์ไปในอนาคตว่ามีแนวโน้มจะแข็งค่าขึ้นหรืออ่อนค่าลงเมื่อเปรียบเทียบกับเงินสกุลหลัก เช่น เงินเหรียญสหรัฐฯ

ณ ปัจจุบัน มีความเป็นไปได้สูงว่าเงินบาทจะอ่อนตัวลงไปอีกเมื่อเปรียบเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐฯ เพราะมีความเป็นไปได้สูงว่าดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ตอนปลายปีนี้จะอยู่ที่ 4.25-4.50% (ตามการคาดการณ์เฉลี่ยของคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐฯ) เปรียบเทียบกับดอกเบี้ยของไทยที่น่าจะขยับขึ้นมาที่ 1.25% ตอนปลายปีเช่นกัน แปลว่า จากที่ต้นปีนี้ดอกเบี้ยนโยบายของไทยสูงกว่าดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ ตอนปลายปี ดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ จะสูงกว่าดอกเบี้ยนโยบายของไทยกว่า 3.0%

เราเห็นมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ก่อนที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะเริ่มการปรับดอกเบี้ยนโยบายอย่างเร่งรีบว่าเงินบาทอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องจาก 32 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ มาเป็น 37-38 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา คำถามคือแนวโน้มนี้จะเป็นไปอย่างต่อเนื่องได้มากน้อยเพียงใด

การที่ดอกเบี้ยสหรัฐฯ สูงกว่าที่ไทยอย่างมากและเงินเหรียญสหรัฐฯ มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้เงินทุนน่าจะมีแนวโน้มไหลออกจากไทย แต่หากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงอย่างมากในปี 2023 ก็อาจทำให้เงินเฟ้อที่สหรัฐฯ ลดลงส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ รีบลดดอกเบี้ยนโยบายลงอย่างรวดเร็วและช่วยให้เงินดอลลาร์อ่อนตัวลงตามไปด้วย ค่าเงินบาทก็จะมีเสถียรภาพมากขึ้น

การที่ดอกเบี้ยสหรัฐฯ สูงกว่าที่ประเทศไทยอย่างมากและเงินเหรียญสหรัฐฯ มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้เงินทุนน่าจะมีแนวโน้มไหลออกจากประเทศไทย เพราะผลตอบแทนจากการฝากเงินเป็นสกุลดอลลาร์สูงกว่าผลตอบแทนจากการฝากเงินสกุลบาทอย่างมาก แต่หากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงอย่างมากในปี 2023 หรือเข้าสู่สภาวะถดถอย ก็อาจทำให้เงินเฟ้อของสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ รีบลดดอกเบี้ยนโยบายลงอย่างรวดเร็วและช่วยให้เงินดอลลาร์อ่อนตัวลงตามไปด้วย ในกรณีดังกล่าวค่าเงินบาทก็จะมีเสถียรภาพมากขึ้น

อีกกรณีหนึ่งคือธนาคารกลางของไทยเข้าแทรกแซงในตลาดอัตราแลกเปลี่ยน คือขายทุนสำรองที่เป็นเงินดอลลาร์ออกมาซื้อเงินบาท ทำให้เงินบาทแข็งค่า แต่การกระทำดังกล่าวจะทำให้ปริมาณเงินบาทในระบบมีจำนวนลดลง ทำให้ดอกเบี้ยในตลาดเงินต้องปรับตัวสูงขึ้น แต่หากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องการควบคุมไม่ให้ดอกเบี้ยภายในประเทศสูงมากก็จะต้องเพิ่มปริมาณเงินบาทในระบบ โดยการซื้อพันธบัตรรัฐบาลจากการพิมพ์เงินขึ้นมาใหม่ (แปลว่าธปท.จะมีสินทรัพย์ที่เป็นทุนสำรองลดลง แลกกับการเป็นเจ้าของตราสารหนี้สกุลเงินบาทเพิ่มขึ้น) แต่จะเห็นได้ทันทีว่าเป็นพฤติกรรมที่ย้อนแย้งกันคือในตอนแรกพยายามลดปริมาณเงินบาท แต่ต่อมาหันมาเพิ่มปริมาณเงินบาท แปลว่าแนวทาง ‘ป้องกัน’ ค่าเงินบาทนี้จะเสี่ยงสูงที่จะสูญเสียทุนสำรองเป็นจำนวนมาก แต่ไม่สามารถตรึงค่าเงินบาทได้ในระยะยาว ดังนั้นจึงอาจเป็นเพียงมาตรการระยะสั้น เช่น ที่ธนาคารกลางของญี่ปุ่นได้ใช้ในการเข้าไปแทรกแซงในตลาดแลกเปลี่ยนเพื่ออุ้มค่าเงินเยนตอนปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา

ในระยะยาวเงินบาทจะแข็งค่าหรือไม่ย่อมขึ้นอยู่กับการมีวินัยทางการเงิน โดยการควบคุมเงินเฟ้อให้อยู่ที่ระดับต่ำ กล่าวคือหากธนาคารกลางสหรัฐฯสามารถควบคุมอัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ให้อยู่ที่ 2% ต่อปี และธนาคารของไทยสามารถควบคุมอัตราเงินเฟ้อในไทยให้อยู่ที่ 3% ต่อปี ในระยะยาวเงินบาทจะอ่อนค่าลงเทียบกับเงินดอลลาร์ประมาณ 1% ต่อปี

ในอีกด้านหนึ่งคือภาวะของดุลบัญชีเดินสะพัดหรือการซื้อสินค้าและบริการจากต่างประเทศ (imports of goods and services) เปรียบเทียบกับการขายสินค้าและบริการไปยังต่างประเทศ (exports of goods and services) ว่าจะมีการเกินดุลตอนปลายปีนี้และปีหน้าในปริมาณที่มากเพียงพอที่จะทดแทนการไหลออกของเงินทุนดังที่กล่าวถึงข้างต้นได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งตรงนี้ต้องยอมรับว่าแนวโน้มการส่งออกสินค้าเมื่อเทียบกับการนำเข้าสินค้าของไทยดูไม่สู้จะดีเลย เพราะในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ การส่งออกของไทยขยายตัวประมาณ 10% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า (เมื่อคิดเป็นเงินเหรียญสหรัฐฯ) แต่การนำเข้าขยายตัวประมาณ 20% ในช่วงเดียวกัน ทำให้ประเทศไทยขาดดุลการค้าไปแล้วประมาณ 18,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปีนี้ (เทียบเท่า 4% ของจีดีพีทั้งปี) แปลว่า การเกินดุลบัญชีบริการจากการท่องเที่ยวของชาวต่างประเทศจะต้องเป็นตัวแปรหลักในการช่วยให้เงินบาทไม่อ่อนตัวไปมากกว่านี้เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ กล่าวคือไทยจะต้องการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในปลายปีนี้ โดยต้องหวังให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศไทยเดือนละ 1.2-1.5 ล้านคนในช่วงฤดูการท่องเที่ยวคือไตรมาส 4 ของปีนี้และไตรมาส 1 ของปีหน้า (จากที่ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศไทยเดือนละประมาณ 1 ล้านคน)

มีการพูดกันว่าเงินบาทที่อ่อนค่าเป็นประโยชน์กับการส่งออก ซึ่งเป็นความจริง แต่การอ่อนตัวลงของค่าเงินบาทจะทำให้ราคาสินค้าทั้งที่ส่งออกและนำเข้ามีราคาสูงขึ้นเมื่อคิดเป็นเงินบาท สินค้าทั้งส่งออก (ช่น ข้าว รถยนต์) และนำเข้า (เช่น พลังงาน) นั้น เป็นสิ่งที่คนไทยต้องกินต้องใช้ ดังนั้นจึงจะทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น ไม่ใช่ลดลงในปีหน้า หากเงินบาทต้องอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง

ในระยะยาวนั้นเงินบาทจะแข็งค่าหรือไม่ย่อมจะต้องขึ้นอยู่กับการมีวินัยทางการเงิน โดยการควบคุมเงินเฟ้อให้อยู่ที่ระดับต่ำ เพราะการอ่อนค่าของเงินบาทเทียบกับเงินดอลลาร์ก็คือการเสื่อมค่าของเงิน เสมือนกับการมีเงินเฟ้อที่ 3% ต่อปีก็แปลว่าเงินกำลังเสื่อมค่าปีละ 3% กล่าวคือหากในระยะยาวธนาคารกลางสหรัฐฯ สามารถควบคุมอัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ให้อยู่ที่ 2% ต่อปี และธนาคารกลางของไทยสามารถควบคุมอัตราเงินเฟ้อในไทยให้อยู่ที่ 3% ต่อปี ก็จะแปลว่าในระยะยาวเงินบาทจะอ่อนค่าลงเทียบกับเงินดอลลาร์ประมาณ 1% ต่อปีครับ