HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

CLIENT VALUES


Forging a New Path

ก้าวผ่านทุกความท้าทายด้วยศักยภาพและความเชื่อมั่นในแบบฉบับของจันทนิดา สาริกะภูติ ผู้บริหารหญิงแกร่งแห่ง SCG

เป็นเวลากว่า 20 ปีแล้ว ที่ จันทนิดา สาริกะภูติ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ - การเงินและการลงทุน และ CFO เอสซีจี ได้เป็นพลังขับเคลื่อนบริษัทที่เป็นเสมือนหนึ่งในสถาบันหลักของภาคธุรกิจไทยอย่าง SCG แน่นอนว่าการทำงานในบริษัทที่ยิ่งใหญ่ทั้งโดยขนาดและประวัติศาสตร์ย่อมมีความท้าทายมากมาย แต่จันทนิดามองว่าทุกอย่างที่เข้ามาคือบททดสอบที่ทำให้เธอได้เรียนรู้และเติบโตบนเส้นทางสายนี้ได้อย่างมั่นคง

จากเด็กที่ชอบการคำนวณสู่การทำงานในธนาคารระดับโลก ก่อนจะถูกทาบทามให้มาร่วมงานกับ SCG ในที่สุดจันทนิดาได้เปิดความเป็นไปได้ใหม่ในพื้นที่ที่สังคมอาจมองว่าเป็นโลกของวิศวกรและผู้ชาย ด้วยการเป็นผู้บริหารระดับ C-Suite คนแรกที่เป็นผู้หญิงของ SCG

จันทนิดาเชื่อมั่นในศักยภาพและความสามารถของผู้หญิงทุกคน โดยเฉพาะศักยภาพการช่วยเหลือและสนับสนุนซึ่งกันและกัน เพื่อให้ทุกงานประสบผลสำเร็จ

เด็กสายคำนวณ

สมัยเราเป็นเด็ก คุณพ่อจะเอาหนังสือของพล นิกร กิมหงวน มาให้อ่าน เราก็จะชอบอ่านมากเพราะสนุก ขณะเดียวกันเราก็ชอบเรื่องเลข ชอบการคำนวณ ไม่ชอบการท่องจำ ไม่ชอบวิชาสังคม ไม่ชอบวิชาประวัติศาสตร์ ครอบครัวของเราเป็นครอบครัวหมอ ทุกคนก็คาดหวังว่าเราน่าจะเรียนหมอ ตอนนั้นเรียนที่สาธิตจุฬาฯ เราก็เลือกเรียนสายวิทย์ เรียนไปได้หนึ่งปี รู้สึกว่าไม่ใช่แนว เลยย้ายมาเรียนศิลป์คำนวณ ซึ่งคุณพ่อก็สนับสนุนเรามาตลอด จากนั้นเราก็สอบเอนทรานซ์มาเรียนการเงิน คิดว่าไม่ต้องท่องอะไร และเกี่ยวกับตัวเลขที่เราชอบ พอเรียนปริญญาตรี เรารู้ตัวเลยว่าไม่ชอบบัญชีเลย แต่การเงินยังรู้สึกว่าน่าสนใจ พอขึ้นปี 3 จึงเลือกเรียนเอกการเงิน และก็ยาวจนต่อโท

ผู้หญิงทุกคนมีศักยภาพไม่แพ้ผู้ชาย เพียงแต่เราอาจจะมีความท้าทายมากกว่าผู้ชายเพราะเราต้องก้าวผ่านความท้าทายและบริบททางสังคม เราต้องเชื่อในตัวเราเองก่อนว่า ‘เราทำได้’ ทุกอย่างอยู่ที่ทัศนคติ พยายามคิดบวกเข้าไว้

โอกาสย่อมไม่รั้งรอ

หลังเรียนจบ เราทำงานธนาคาร โดยเริ่มที่ Bank of America ตามด้วย Standard Chartered ส่วนใหญ่ทำแค่วิเคราะห์งบการเงิน แล้วก็เปลี่ยนไปเป็น Marketing Manager ทีแรกตั้งใจว่าจะทำงานธนาคารสัก 15 ปี เพื่อเก็บประสบการณ์ก่อน แต่พอทำงานได้ 8 ปี คุณผดุงเดช (อินทรลักษณ์) ก็ชวนมาทำงานที่ SCG แกบอกว่าโอกาสไม่ได้ผ่านมาบ่อยๆ นะ เราก็เห็นด้วย เลยตัดสินใจคว้าเอาไว้ แต่ตอนไปลาออก เจ้านายที่ธนาคารบอกว่าเราตัดสินใจผิด เราก็บอกว่าฉันตัดสินใจแล้ว ขอให้ฉันไปลองก่อนนะ หลังจากเราย้ายมาทำงานที่ SCG ได้หนึ่งปี เขาก็โทรมาบอกว่า “You made the right decision” เราก็หัวเราะ แล้วบอกว่า “The grass is always greener on THIS side” เพราะตรงนี้มีอะไรให้เราเรียนรู้เยอะ

เรียนรู้ได้ทุกที่

เราเข้า SCG มาตอนแรกก็อยู่สำนักงานการเงิน ทำอยู่ 5 ปีกว่าๆ ก็ย้ายไปอยู่บริษัทเทรดดิ้ง (Siam Cement Trading) ไปดูระบบหลังบ้าน ตอนนั้นถึงขั้นจะลาออก เราบอกคุณผดุงเดชว่า เราทำงานสายการเงิน แต่ให้เราไปดูแลระบบหลังบ้าน พวก International Trade ซึ่งไม่ใช่ไฟแนนซ์ตรงๆ แต่คุณผดุงเดชก็บอกให้เราลองดูก่อน พออยู่ไปสักพัก เราก็ได้เห็นว่าทุกๆ ที่ก็มีจุดให้เราเรียนรู้ได้แตกต่างกันไป ตอนที่อยู่เทรดดิ้งมีลูกน้องประมาณ 100 คน เป็นผู้หญิง 90% แล้วก็มีตั้งแต่รุ่นพี่ที่อายุจะ 60 ไล่มาจนเด็กเพิ่งเริ่มทำงาน เราเลยได้เรียนรู้เรื่องการบริหารคน เราได้รู้จักคนมากขึ้น จนวันนี้ยังดีใจอยู่เลยว่าเราได้คอนเน็กชั่น ได้รู้จักน้องๆ ที่แม้ไม่ได้ขึ้นตรงกับเรา แต่ก็ช่วยเราได้มากในการทำงานหลังจากนั้นมาเรื่อยๆ

การอยู่ด้วยกันและทำงานร่วมกันอย่างมีความสุขต้องช่วยกัน เรื่องช่องว่างระหว่างวัยเป็นเรื่องใหญ่ ความคิดอะไรต่างๆ ที่แตกต่างกันจูนกันไม่ง่าย ถ้าให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเข้าหาเพียงฝ่ายเดียว ความเข้าใจไม่มีทางเกิด ต้องทั้งสองฝ่ายร่วมมือกัน

เราคิดว่ารู้แค่เรื่องใดเรื่องหนึ่งเพียงอย่างเดียว คงไม่ใช่ ต้องปรับให้หลากหลาย เราทำเทรดดิ้งสัก 2 ปี 9 เดือน ก็ย้ายไปอยู่ที่บริษัทไทยพลาสติก เราดูระบบหลังบ้าน ระบบการเงิน ทีนี้มันกว้างขึ้น ต้องดูทั้งบัญชี ดูเลขานุการบริษัท ซึ่งก็ได้เรียนรู้อีกแบบหนึ่งนะ ย้ายไป 2 ที่รวมกัน 4 ปี เราก็ได้วนกลับมาที่สำนักงานการเงิน ก็มาอยู่การเงินตั้งแต่ปี 2012 - 2017 เขาก็รวมงานวางแผนและการเงิน ให้เราดูควบสองหน่วยงาน ก็อยู่มาจนถึงวันนี้

ผู้หญิงทำได้ทุกอย่าง

ด้วยบริษัทของเราเป็นโรงงาน จึงไม่แปลกที่จะมีผู้ชายเยอะ อย่างพวกพี่ๆ ที่เป็น C level ก็เป็นผู้ชายทั้งนั้น เพราะมันเป็นโลกของวิศวกร แต่พอภาพมันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ จนถึงวันนี้ ก็ต้องบอกว่า SCG ให้โอกาสผู้ชายกับผู้หญิงเท่ากัน ไม่ได้มีการแบ่งแยกว่าคุณเป็นผู้หญิง เพราะสุดท้ายทุกอย่างพิสูจน์กันที่ผลงานมากกว่า ดูกันที่ความสามารถ แล้วก็ช่วยเหลือสนับสนุนซึ่งกันและกัน

แต่ผู้หญิงก็อาจจะมีข้อจำกัด โดยเฉพาะเมื่อแต่งงาน คนมักมองว่าความรับผิดชอบในครอบครัวเป็นเรื่องของผู้หญิง สังคมไทยเป็นแบบนั้น แต่เราเป็นคนทำงานมาตลอด เราก็ต้องอาศัยแรงคนอื่นในการช่วยบริหารจัดการส่วนงานบ้าน ซึ่งอันนี้ก็เป็นศาสตร์ของการจัดการคน แต่สุดท้ายทุกคนมีข้อจำกัดที่ไม่เหมือนกัน บางคนอาจจะไม่สามารถออกมาทำงานเป็น working woman ได้ 100% เพราะไม่มีคนอยู่บ้านคอยดูแลลูกให้เขา เราก็ต้องเข้าใจ ไม่ได้คาดหวังว่าทุกคนต้องเหมือนเรา แต่ที่เราอยากจะบอกคือ ผู้หญิงทุกคนมีศักยภาพไม่แพ้ผู้ชาย เพียงแต่เราอาจจะมีความท้าทายมากกว่าผู้ชายเพราะเราต้องก้าวผ่านความท้าทายและบริบททางสังคม เราต้องเชื่อในตัวเราเองก่อนว่า ‘เราทำได้’ ฉะนั้นต้องอาศัยทั้งแรงกายแรงใจเพื่อที่จะก้าวข้ามสิ่งที่เราคิดว่าเป็นอุปสรรคไป ทุกอย่างอยู่ที่ทัศนคติ พยายามคิดบวกเข้าไว้

ลมใต้ปีก

อย่างแรกที่แตกต่างของการเป็นผู้บริหารหญิงในที่ทำงานกับการเป็นแม่ของลูกคือ ‘ความคาดหวัง’ เราจะมีความคาดหวังกับน้องๆ กับคนในทีมในระดับหนึ่ง แต่กับลูกนั้นอีกระดับหนึ่งเลย ลูกน้องทำอะไรผิด เราจะใจเย็น ไม่ค่อยโกรธ แต่ถ้าลูกทำผิดนิดหนึ่ง เราปรี๊ดเร็วมากเลย ซึ่งมาจากพื้นฐานของความคาดหวังที่แตกต่างกัน เพราะฉะนั้นเราต้องคอยเตือนตัวเองตลอดเวลา เราต้องคอยดึงตัวเองว่าความคาดหวังที่มีกับลูกอาจจะมากเกินไป แต่นั่นเป็นตอนที่เขาอาจจะยังไม่โต ยังรับผิดชอบตัวเองไม่ได้ขนาดนี้ ตอนนี้เราเริ่มปล่อยเขาได้มากขึ้นแล้ว

จุดที่เราอยู่ในวันนี้ในที่ทำงานกับหน้าที่ของแม่ คือการ ‘ซัพพอร์ต’ ลูกอยากทำอะไร เราก็ต้องซัพพอร์ตเต็มที่ในสิ่งที่เราทำให้ได้ ส่วนในที่ทำงานน้องๆ ในทีมขาดเหลืออะไร เราจะซัพพอร์ตให้เขาเดินไปถึงจุดหมายที่เขาอยากเป็น ไม่ว่าจะเรื่องของการพัฒนาตัวเอง หรือทำงานแล้วติดปัญหาอะไรแล้วอยากให้เราช่วยก็ตาม นี่คือจุดที่บทบาทของงานและแม่ไม่ต่างกันเลย เราต้องคอยเป็น ‘ลมใต้ปีก’ คอยช่วยเหลือเขา ผลักพาเขาไปให้ถึงฝั่งที่เขาอยากไปให้ได้ และเราต้องเป็นคนสอนเขาตกปลา ดีกว่ายื่นปลาให้เขาเลย ซึ่งนั่นจะทำให้เขาดูแลตัวเองได้และทำให้ชีวิตของเขามีคุณค่า

ปรับตัวและยืดหยุ่น

สถานการณ์ในช่วงนี้คือวิกฤตซ้อนวิกฤต เราเจอเรื่องเงินเฟ้อ เรื่องดอกเบี้ย เรื่องราคาต้นทุนพลังงาน เรื่องภาวะภูมิศาสตร์การเมืองโลกที่ยังไม่รู้จะจบเมื่อไร แต่พี่รุ่งโรจน์ (รังสิโยภาส) ซีอีโอของเราจะพูดเสมอว่า การจะรอดจากวิกฤตเหล่านี้ได้ เราต้อง ‘ปรับตัว’ ถ้าไม่ปรับตัว เราตายแน่นอน ล้มแน่ๆ ยิ่งเป็นบริษัทใหญ่แบบ SCG ที่ตั้งมาร้อยกว่าปี ถ้าเราทำเหมือนที่เราเคยทำมาตลอด ไม่รอด ตอนนี้เรื่องของ Resilience เรื่องของ Flexibility และ Adaptability ต่างๆ เป็นสิ่งที่เราต้องสร้างให้คนของเรามี แล้วเราก็เชื่อว่าคนของเรามี ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะนำพาองค์กรของเราออกจากวิกฤตได้อย่างเข้มแข็ง

โลกทุกวันนี้คือดิจิทัล งานบัญชี หรือแม้แต่งานตรวจสอบ ใช้เรื่องดิจิทัลเยอะมาก การเงินก็เหมือนกัน วันนี้เราเริ่มเห็นสกุลเงินดิจิทัล เราเห็นการทำบล็อกเชน (Blockchain) การเอา RPA (Robotic Process Automation) และ AI (Artificial Intelligence) มาใช้ เรียกว่ามันคือการเงินยุคใหม่ เราเองก็ต้องปรับตัว ต้องเอาสิ่งเหล่านี้เข้ามาปรับปรุงกระบวนการทำงานของเราให้ทันสมัยขึ้น ตอนนี้งานบัญชีหลังบ้านของเราก็เอาบล็อกเชนเข้ามาใช้ทำเรื่องของ P2P (Purchase to Pay) นอกจากนั้นเรื่องของการเงินต้องดูรายงานตัวเลขเยอะ ตอนนี้เราก็ใช้แดชบอร์ด (Dashboard) เป็นเรื่องปกติ จะให้ผู้บริหารดูอะไรก็ง่าย เมื่อก่อนอยากรู้ว่ามีเงินสดคงเหลือในเครือเท่าไร ดูยากมากเพราะมีเป็นสองร้อยบริษัท แต่ตอนนี้ดูได้อย่างเรียลไทม์ ทุกอย่างมันเปลี่ยน เพราะฉะนั้นเราต้องปรับปรุงวิธีการทำงาน อย่าไปยึดอัตตาว่าฉันเจ๋ง ฉันเก่งมาก่อน มันต้องปล่อยวางเรื่องพวกนั้นลง แล้วก็ต้องทำสิ่งใหม่ๆ ต้องมีการเปลี่ยนแปลงเสมอ

โจทย์ที่ท้าทาย

วันนี้กลุ่มธุรกิจที่เป็นน้องเล็กของเราคือ SCG Packaging เพิ่งออกไปสร้างครอบครัว พี่กลางอย่าง SCG Chemicals ก็เตรียมตัวที่จะไปสร้างครอบครัวของตัวเอง ในส่วนของโลจิสติกส์ก็ประกาศแล้วว่าจะไปรวมกับ JWD คำถามคือ แล้ว SCC ซึ่งเป็นบริษัทแม่เหลืออะไร เพราะฉะนั้น โจทย์ใหญ่ที่ท้าทายก็คือว่า เราจะทำให้ SCC เป็นที่น่าสนใจของนักลงทุนได้อย่างไร พอลูกๆ เริ่มออกไปมีครอบครัวของตัวเอง เราจะทำบ้านของเราให้เป็นบ้านที่มีคนสนใจได้อย่างไร และเราก็ต้องมองธุรกิจใหม่ๆ ที่ต้องให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของโลก อย่างปีที่แล้วเราเริ่มทำ SCG Clenergy มาจาก Clean + Energy เป็นอีกจุดหนึ่งที่เราจะไปเน้น เรื่องการทำพลังงานหมุนเวียน ซึ่งเราทำมาพักหนึ่งแล้ว และมันก็เป็นสิ่งใหม่ๆ ที่เราต้องทำต่อ แต่เราจะทำยังไงให้ SCC ยังเป็นที่สนใจของนักลงทุนและมีเรื่องราวที่น่าสนใจ อันนี้ก็เป็นโจทย์ใหญ่ของเรา

เรื่องช่องว่างระหว่างวัยก็เป็นโจทย์สำคัญ เราเพิ่งเจอหน่วยงานหนึ่งที่มีทั้งผู้ใหญ่และเด็ก เราเลยบอกว่า ถ้าตั้งสเกล 1-10 ให้คนที่เป็นเมเนเจอร์ (Manager) อยู่ตรง 10 เขาจะต้องเดินมาหาน้องๆ ที่ 6-7 ส่วนน้องที่เป็นเด็กรุ่นใหม่ที่อยู่ตรง 1 ก็ต้องเดินมาสัก 3-4 การอยู่ด้วยกันและทำงานร่วมกันอย่างมีความสุขต้องช่วยกัน เรื่องช่องว่างระหว่างวัยเป็นเรื่องใหญ่ ความคิดอะไรต่างๆ ที่แตกต่างกันจูนกันไม่ง่าย ถ้าให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเข้าหาเพียงฝ่ายเดียว ความเข้าใจไม่มีทางเกิด ทั้งสองฝ่ายต้องร่วมมือกัน

รู้จักกับจันทนิดา สาริกะภูติ

จันทนิดา สาริกะภูติ จบการศึกษาจากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี สาขาการเงิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และต่อปริญญาโท สาขาการเงิน ที่มหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ สหรัฐอเมริกา ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ - การเงินและการลงทุน และ CFO เอสซีจี