HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

BEYOND BOUNDARIES


A Brand New Start

หลังเผชิญวิกฤตโรคระบาดใหญ่จนภาคธุรกิจและวิถีชีวิตของผู้คนตกอยู่ในสภาวะซบเซาและบอบช้ำตลอดสองปีที่ผ่านมา นิวยอร์ก มหานครที่หลายคนทั่วโลกต่างรู้จักและตกหลุมรัก ฟื้นกลับมาด้วยภาพลักษณ์ใหม่พร้อมความน่าตื่นเต้นให้ทุกคนได้สำรวจกันอีกครา

เป็นเวลาหลายทศวรรษแล้วที่ในแต่ละวันของนิวยอร์กไม่เคยหลับใหล ตั้งแต่เช้ายาวไปจนถึงค่ำ มหานครแห่งนี้มักเต็มไปด้วยความคึกคักอยู่เสมอ หากต้องการเริ่มต้นวันด้วยขนมปังเบเกิลระหว่างอัปเดตข่าวสารผ่านหนังสือพิมพ์ สามารถไปที่ร้าน Ess-a-Bagel ในย่านเมืองท่า Stuyvesant Town ได้ตั้งแต่ 6 โมงตรง ส่วนร้าน Odeon เหมาะสำหรับมื้อค่ำ ไม่ว่าจะเป็นเมนูหอยนางรม สเต็กทาร์ทาร์ ตบท้ายด้วยค็อกเทลคอสโมโพลิแทน และถ้าเกิดหิวตอนตีสาม พิซซ่าของร้าน Steve’s ก็พร้อมบริการเสมอด้วยรสชาติที่อร่อยไม่แพ้พิซซ่าดังๆ เจ้าอื่น (ร้านมักปิดช่วงสั้นๆ แค่ 30 นาทีต่อวันก่อนรุ่งสาง)

ไม่เพียงเท่านั้น ท้องถนนสายสำคัญๆ ในเมืองใหญ่แห่งนี้ก็คราคร่ำไปด้วยฟู้ดทรัคขายอาหารจานด่วน ตามมาด้วยรถจักรยานส่งของและเอกสารที่เคลื่อนไหวอย่างเร่งรีบ และรถแท็กซี่ที่บีบแตรกันเสียงดังระงมไปทั่ว ส่วนบนทางเท้าก็ขวักไขว่ไปด้วยคนท้องถิ่นและคนต่างชาติ ไปจนถึงโรงละครบรอดเวย์ชื่อดังและสวนสาธารณะที่ตั้งเรียงรายริมสองฝั่งถนน รองรับคนจากทั่วทุกมุมโลกเกือบตลอดทั้งปี นี่คือสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมของนิวยอร์กที่เปี่ยมไปด้วยสีสันและชีวิตชีวาของสหรัฐอเมริกา

กระทั่งการมาถึงของโควิด-19 ชีวิตที่ไม่เคยหลับของนิวยอร์กก็แทบจะล้มฟุบไปต่อหน้าชาวอเมริกัน

“ตลอดสองปีที่ผ่านมาชีวิตในเมืองเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ ถึงแม้ตอนนี้ทุกอย่างจะเริ่มกลับมาแล้วก็ตาม” เจสเปอร์ เฮย์นส์ ช่างภาพมากผลงานที่แบ่งเวลาของชีวิตเดินทางไปมาระหว่างนิวยอร์ก โตเกียว และกรุงเทพฯ กล่าวถึงนิวยอร์กในช่วงที่เผชิญการระบาดหนักของโควิด-19

เมื่อใดก็ตามที่มีสถานบันเทิงหรือห้างร้านน่าสนใจเปิดตัว ผู้คนก็จะแห่กันย้ายเข้าไปจนกลมกลืนไปกับชุมชนนำไปสู่ราคาที่พักอาศัยที่พุ่งสูงขึ้น สุดท้ายคนในย่านต้องมองหาทำเลใหม่ๆ เพื่อสร้างกิจการของตัวเอง เกิดเป็นวัฏจักรของการย้ายออกและตั้งรกรากใหม่วนเวียนไปไม่มีที่สิ้นสุด

ถ้าลองถามชาวนิวยอร์กทั่วไปตอนนี้พวกเขาอาจเห็นตรงกันว่านิวยอร์กเริ่มฟื้นกลับมาแล้ว แต่หากได้พูดคุยกับผู้ประกอบการที่ลงทุนลงแรงไปกับนิวยอร์ก หรือคนที่ใช้ชีวิตหายใจเข้าออกเป็นนิวยอร์กผ่านกิจการที่สืบทอดมาแต่รุ่นปู่ย่าตายาย และผ่านช่วงเวลาอันแสนสาหัสของมหานครแห่งนี้โดยไม่หนีหายแม้ในวันที่เผชิญกับการล็อกดาวน์จนเมืองแทบร้างผู้คน พวกเขาอาจตอบว่านิวยอร์กไม่ได้กำลังจะฟื้นเพราะมันไม่เคยหายไปไหน ที่เห็นอยู่ตอนนี้คือการ ‘ปรับโฉมใหม่’ ของนิวยอร์กต่างหาก

“ที่ผ่านมานิวยอร์กได้รับผลกระทบหนักมาก ถึงอย่างนั้นธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มในเมืองนี้อาจเป็นธุรกิจที่โชคดีที่สุดในโลกก็ว่าได้” เอ้-ธนฤกษ์ เหล่าเราวิโรจน์ ผู้ประกอบการร้านอาหารและผู้ก่อตั้งร้าน ‘ส้มตำเด้อ’ กล่าว

ส้มตำเด้อเปิดตัวในนิวยอร์กครั้งแรกเมื่อปี 2555 และได้รับความนิยมในหมู่ชาวนิวยอร์กอย่างดีจนถึงขั้นได้ดาวมิชลิน ความสำเร็จนี้ทำให้ธนฤกษ์กับหุ้นส่วนของเขาตัดสินใจขยายสาขาไปเปิดในเมืองอื่น ทั้งในกรุงเทพฯ เชียงใหม่ โตเกียว โฮจิมินห์ และไทเป นอกจากนี้ ก่อนการระบาดของโควิด-19 ไม่นาน พวกเขาก็ได้เปิดสาขาสองของส้มตำเด้อในนิวยอร์กอีกด้วย ซึ่งแม้ว่าจะไม่ใช่จังหวะเวลาที่ดีหากมองย้อนกลับไปแต่ร้านก็ได้อานิสงส์จากโอกาสที่เมืองใหญ่แห่งนี้หยิบยื่นให้

ธนฤกษ์กับหุ้นส่วนได้รับความช่วยเหลือเป็นเงินกู้ยืมหลายก้อน ซึ่งรวมถึงเงินกู้ยืมปลอดดอกเบี้ยในโครงการ Paycheck Protection Program หรือ PPP จากรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ซึ่งครอบคลุมทั้งเงินเดือนพนักงานและค่าเช่าที่

“คุณไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินต้นคืนด้วยซ้ำ” ธนฤกษ์กล่าว

นอกจากเงินกู้ยืมจากรัฐบาลกลางแล้ว รัฐบาลของรัฐนิวยอร์กยังออกโครงการเงินกู้ยืมดอกเบี้ยต่ำเพื่อช่วยเหลือธุรกิจขนาดเล็กที่บริหารโดยผู้หญิงและชนกลุ่มน้อยในนิวยอร์กด้วย

ถ้าบรรดาเจ้าของอาคารและที่ดินเห็นว่าการช่วยรักษาแก่นแท้ของชุมชนนิวยอร์กเอาไว้แทนที่จะคว้ากำไรแต่อย่างเดียวมีส่วนดีต่อเมืองมากกว่า อัตราการย้ายออกจะลดลง ซึ่งหมายถึงแหล่งท่องเที่ยวโปรดของนักท่องเที่ยวจะยังอยู่ที่เดิมไม่หายไปไหน

“เงินช่วยเหลือพวกนี้ช่วยให้ธุรกิจของเรามีรายรับและอยู่ต่อไปได้ อีกอย่างคือนิวยอร์กเกอร์ ชอบใช้ชีวิตและออกไปกินข้าวนอกบ้าน เขาอยากกลับไปใช้ชีวิตแบบที่เคยเป็นมาตลอด” ธนฤกษ์ชี้ให้เห็นถึงพลังของชาวนิวยอร์กที่ช่วยให้ธุรกิจร้านอาหารพ้นวิกฤตมาได้

วิถีชีวิตและกิจกรรมต่างๆ ในนิวยอร์กเริ่มกลับมาคึกคักมากขึ้นหลังชะงักไปจากการล็อกดาวน์เช่นกัน Queens Mesuem กลับมาสานต่อโครงการบูรณะพิพิธภัณฑ์ที่ทำต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2556 จนล่าสุดเสร็จเรียบร้อยแล้ว ขณะที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะ Metropolitan Museum of Art ก็เพิ่งกลับมาเปิดส่วนจัดแสดงภาพวาดโดยศิลปินชาวยุโรปหลังการรีโนเวทขนานใหญ่ ส่วน Amercian Museum of Natural History ก็ลงทุนไปเกือบครึ่งพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯเพื่อสร้างพื้นที่โซนใหม่ไว้จัดแสดงงานด้านวิทยาศาสตร์ การศึกษา และนวัตกรรม ความคืบหน้าของโครงการเหล่านี้อาจเป็นผลจากการระบาดของโควิด-19 ที่ช่วยให้พิพิธภัณฑ์มีเวลาพักการให้บริการชั่วคราวเพื่อเดินหน้าโครงการภายในจนแล้วเสร็จ

ในส่วนของศิลปะการแสดงก็ไม่น้อยหน้าหลังการระบาดใหญ่ผ่านพ้นไป ดาราชั้นนำ เช่น ฮิวจ์ แจ็คแมน และแดเนียล เคร็ก ร่วมแสดงละครเวทีที่ย่านบรอดเวย์อีกครั้ง ส่วนนักท่องเที่ยวที่สนใจการแสดงละครเวทีระดับโลกก็มีโอกาสเข้าชมการแสดงสดเหล่านี้ที่มักเต็มอยู่ตลอดเวลาได้ง่ายขึ้น เพราะแม้บรอดเวย์จะกลับมาเปิดการแสดงตามปกติแล้ว แต่ยอดผู้ชมก็ยังไม่ฟื้นกลับมาดีนัก เช่น โรงละคร Met Opera ล่าสุดยังมียอดผู้ชมอยู่เพียงราว 61% เท่านั้น การฟื้นตัวในยอดผู้ชมจึงอาจกินเวลาอีกหลายปีจากนี้ กลายเป็นโอกาสให้ใครก็ตามที่อยากดูการแสดงสดที่คาร์เนกีฮอลล์ (ซึ่งปกติขายตั๋วหมดเกลี้ยงแทบทุกรอบ) ได้หาซื้อตั๋วโดยไม่ต้องแย่งชิงให้เหนื่อย

นอกจากย่านบรอดเวย์แล้ว ร้านอาหารและห้างสรรพสินค้าต่างๆ รวมไปถึงสถานที่กลางแจ้งอย่างทางเดินเท้าและสวนสาธารณะรอบเมืองก็กลับมาคลาคล่ำไปด้วยผู้คนอีกครั้ง ผู้จัดงานคอนเสิร์ตและอิเวนต์ เช่น Live Nation สามารถขายบัตรเข้างานต่างๆ ได้เท่าหรืออาจจะมากกว่าช่วงยุคก่อนการระบาดของโควิด-19 เสียอีก ส่วนคลับสำหรับการแสดงตลกหรือโชว์เดี่ยวไมโครโฟน เช่น Soho Playhouse และ Caveat ในย่านโลเวอร์แมนแฮตตันก็กลับมาครึกครื้นจากบรรดาแฟนๆ ที่เข้ามาชมการแสดงจนเต็มทุกที่นั่ง

อาคารใหม่ๆ เองก็เริ่มเปิดประชันความน่าสนใจกับไอคอนเดิมของนิวยอร์กอย่างตึกเอ็มไพร์สเตทและเทพีเสรีภาพมากขึ้น อย่างพื้นที่ส่วนชั้นบนสุดขนาดใหญ่ของตึก One Vanderbilt ที่ตั้งอยู่ถัดจากสถานีแกรนด์เซ็นทรัล ก็ได้เปิดหอชมวิวกระจกสูงสี่ชั้นชื่อว่า Summit ซึ่งออกแบบโดย เคนโซะ ดิจิทัล (Kenzo Digital) และโดดเด่นด้วยการจัดวางกำแพงกระจกให้ดูซ้อนทับแปลกตาเหมือนอาคารกลับหัวลอยค้างอยู่บนฟ้าในภาพยนตร์เรื่อง Inception ไม่ไกลจากย่านฮัดสันยาร์ดส์มากนัก ก็มี Little Park เกาะเทียมลอยน้ำที่สร้างบนรูปทรงคอนกรีตคล้ายดอกทิวลิปยักษ์นับหลายสิบดอกแปลกตาจนดูเหมือนหลุดมาจากโลกภาพยนตร์ไซไฟในช่วง 1980s โดยบนเกาะลอยน้ำนี้ประกอบไปด้วยอัฒจันทร์สำหรับชมการแสดงกลางแจ้ง ทางเดินชมวิวพักผ่อน และร้านอาหารมากมาย

อีกแห่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ The Vessel อาคารชมวิวสูง 45 เมตรสร้างจากเหล็กทองแดงใจกลางย่านฮัดสันยาร์ดส์ ด้วยโครงสร้างแปลกตาจากบันไดทางเชื่อมขึ้นอาคารที่ได้รับการออกแบบให้วางตัดกันไปมาเหมือนเขาวงกตจนได้รูปร่างคล้ายรวงผึ้งไม่เหมือนใคร จนมีคนเรียกอาคารนี้เล่นๆ ว่า Beehives อาคารแห่งนี้นับเป็นตัวอย่างชั้นดีของการออกแบบสไตล์หลุดโลกประเภทที่ ‘ถ้าไม่ดัง ก็ดับ’ ในแบบฉบับของนิวยอร์ก

นอกจากนี้ยังมีความพยายามฟื้นฟูอุตสาหกรรมภาคบริการ เช่น โรงแรม ให้กลับมาดำเนินกิจการได้อย่างเต็มรูปแบบดังเดิม แม้นิวยอร์กจะได้ชื่อว่าเป็นต้นกำเนิด ‘ยุคทอง’ แห่งอุตสาหกรรมโรงแรมจากการเกิดขึ้นของโรงแรมระดับตำนาน เช่น Waldorf Astora, St. Regis และ The Plaza แต่ก็ใช่ว่าทุกโรงแรมอยากจะเดินตามรอยต้นแบบกิจการในยุคทองเหมือนกันหมด หนึ่งในโรงแรมที่พยายามสร้างเรื่องราวของตนเองในมหานครแห่งนี้คือโรงแรม Aman ที่เปิดตัวครั้งแรกในปี 2531 ที่จังหวัดภูเก็ต ก่อนจะขยายกิจการจนกลายเป็นโรงแรมระดับโลก โดยเพิ่งเปิดสาขาแรกบนถนนฟิฟท์อเวนิวในนิวยอร์กถัดจากสวนสาธารณะเซ็นทรัลพาร์คซึ่งโครงสร้างภายนอกได้แรงบันดาลใจมาจากสถาปัตยกรรมจากยุคคลาสสิกของเมือง ขณะที่การตกแต่งภายในอิงกับความเป็นเอเชียให้พอดิบพอดีกับยุคสมัยใหม่

“คิดว่าไม่มีชาวนิวยอร์กคนไหนที่ติดอยู่ในเมืองช่วงล็อกดาวน์เชื่อบทความที่ชอบอ้างว่า ‘นิวยอร์กจบสิ้นแล้ว’ ตรงกันข้ามเวลานี้ผู้คนกลับรู้สึกมีแรงบันดาลใจจากการเห็นเมืองแห่งนี้พยายามฟื้นคืนชีวิตกลับมาอีกครั้ง” ไดอาน่า ฮับเบลล์ นักข่าวประจำเมืองนิวยอร์ก กล่าว

ที่พิเศษไปกว่านั้นก็คือการฟื้นคืนชีวิตของนิวยอร์กที่ไดอาน่าอ้างถึงไม่ได้เป็นผลจากพลังของบุคคลที่มีชื่อเสียง หรือการลงทุนของมหาเศรษฐีที่ใครต่อใครรู้จักดี

แน่นอนว่าสำหรับเจ้าของธุรกิจขนาดเล็ก พวกเขาไม่สามารถลงทุนเปิดร้านในย่านราคาแพง เช่น Bushwick, Williamsburg หรือ Lower East Side ได้ พวกเขาจึงต้องหาย่านราคาถูกกว่าสำหรับเปิดร้านใหม่ๆ เช่น ย่าน Ridgewood ในแถบควีนส์ กิจการที่เปิดตัวในย่านราคาจับต้องได้นี้มีหลากหลาย เช่น Sundown บาร์ขนาดเล็กที่เปิดการแสดงดนตรีสด หรือ Rolo’s ร้านอาหารแนวบิสโทรยอดนิยมที่บริหารโดยกลุ่มคนที่เคยทำงานกับร้านอาหารชื่อดัง Gramercy Tavern ไปจนถึง Ester บาร์เน้นเสิร์ฟไวน์ที่ธุรกิจกำลังไปได้สวย

“ถ้าเป็นเมื่อ 10 ปีก่อน คงไม่มีใครคิดหรอกว่าย่านราคาถูกๆ จะมีธุรกิจอะไรแบบนี้เกิดขึ้นได้” เฮย์นส์ แสดงความคิดเห็น

ที่จริงแล้วการเกิดย่านธุรกิจใหม่ๆ ก็นับเป็นธรรมชาติของนิวยอร์กมาตั้งแต่ไหนแต่ไร เมื่อใดก็ตามที่มีสถานบันเทิงหรือห้างร้านน่าสนใจเปิดตัว ผู้คนก็จะแห่กันย้ายเข้าไปจนกลมกลืนไปกับชุมชนโดยรอบ นำไปสู่ราคาที่พักอาศัยในละแวกนั้นที่พุ่งสูงขึ้น สุดท้ายก็จะผลักดันให้คนในย่านต้องมองหาทำเลใหม่ๆ เพื่อสร้างกิจการของตัวเอง เกิดเป็นวัฏจักรของการย้ายออกและตั้งรกรากใหม่วนเวียนไปไม่มีที่สิ้นสุด

เฮย์นส์ยังให้ความเห็นที่น่าสนใจว่า บางทีการระบาดของโควิด-19 อาจเป็นตัวเร่งวัฎจักรดังกล่าว สังเกตได้ว่าจู่ๆ ก็เกิดการประกาศปล่อยให้เช่าช่วงห้องพักอาศัยจำนวนมากจากย่านเกาะแมนแฮตตัน ไปจนถึงบรูคลิน และพื้นที่ไกลออกไปของเมืองหลังกลุ่มผู้ร่ำรวยย้ายออกจากเมืองไปในช่วงปี 2563 ทำให้บรรดาเจ้าของห้องและอาคารต่างๆ ต้องหาทางเติมห้องว่างที่เกิดขึ้นและพยายามหมุนเงินสดให้ทันด้วยการปล่อยให้เช่าผ่านการทำสัญญาระยะสั้น ผลที่ตามมาคือค่าเช่าตกลงแม้จะแค่ชั่วคราว ซึ่งเฮย์นส์มองว่าค่าครองชีพที่ลดลงช่วยชีวิตคนทำงานสายครีเอทีฟที่ได้ไม่น้อย

น่าเสียดายว่าเวลาของสัญญาเช่าระยะสั้นๆ เหล่านั้นหมดลงแล้ว และในที่สุด “ก็กลายเป็นเรื่องยากที่จะมองหาที่อยู่ใหม่ๆ ต่อให้คุณมีเงินก็เถอะ แต่ถ้ามองอีกด้าน นั่นก็แสดงว่าเมืองนี้ฟื้นตัวกลับมาจริงๆ แล้วนั่นแหละ” เฮย์นส์กล่าวติดตลก

แน่นอนว่าผู้คนยังเดินหน้าทำงานและดำเนินชีวิตของตนต่อไปตามเดิม ธนฤกษ์กล่าวว่าเพื่อนของเขาหลายคนในธุรกิจร้านอาหารนั่งคิดแผนงานต่างๆ มาตลอดตั้งแต่ปี 2563 ว่าจะทำอะไรดีระหว่างรอคอยอย่างอดทนให้เมืองฟื้นตัวกลับมา เขาคาดว่าเมืองคงจะได้เห็นแบรนด์ แนวคิด และการออกแบบใหม่ๆ ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดนับจากนี้ ถึงแม้อะไรใหม่ๆ จะไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจสำหรับชาวนิวยอร์กแล้วก็ตาม

“นั่นคือคุณลักษณะพิเศษของเมืองนี้ นิวยอร์กเติบโตขึ้นเสมอ ไม่เคยหยุด” ธนฤกษ์กล่าว

อีกหนึ่งคุณลักษณะพิเศษของนิวยอร์กก็คือยิ่งเมืองขยายตัวออกไปมากเท่าไร ศักยภาพใหม่ๆ ที่ซุกซ่อนไว้ก็ยิ่งได้รับการเปิดตัวสู่สายตาชาวโลกมากขึ้นไปอีก เช่น เขต Bed-Stuy ในย่านบรอดเวย์ ซึ่งเป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรมของคนผิวดำแห่งนิวยอร์กมาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 และเป็นบ้านเกิดของศิลปินหลายคน เช่น เจย์ซี จนถึงสไปก์ ลี ล่าสุดก็เพิ่งเปิดตัวไนต์คลับใหม่ๆ ที่กำลังเป็นกระแสมากมาย เช่น Paragon คลับสูงหลายชั้นที่ปฏิเสธทรงอาคารเก็บสินค้าทึบๆ สี่เหลี่ยมตันๆ ด้วยการเลือกดีไซน์ภายในที่มีลูกเล่นมากกว่าเดิม อย่างทางเข้าทรงโค้งคล้ายอุโมงค์ พื้นลายตารางหมากรุกขาวดำ และบูธดีเจเหนือบันไดที่ยกสูงคล้ายธรรมาสน์ของนักเทศน์ในศาสนาคริสต์

การพัฒนาใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นหลังโรคระบาดเหล่านี้จะอยู่ไปได้นานแค่ไหนคือเรื่องที่ต้องตามดูกันต่อไป ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อการพัฒนาเหล่านี้มีหลากหลาย เช่น เทรนด์ค่าเช่าที่พุ่งสูงอาจลามมาจนถึงย่านสุดรักสุดหวงของคนทำธุรกิจและคนอยู่อาศัย เเต่ธนฤกษ์ก็เชื่อลึกๆ ว่าไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ถ้าบรรดาเจ้าของอาคารและที่ดินพิจารณาแล้วเห็นว่าการช่วยรักษาแก่นแท้ของชุมชนนิวยอร์กโดยรอบเอาไว้แทนที่จะคว้ากำไรแต่อย่างเดียวมีส่วนดีต่อเมืองมากกว่า สิ่งหนึ่งที่จะเกิดขึ้นก็คืออัตราการย้ายออกของทั้งผู้คนและธุรกิจจะลดลง ซึ่งหมายถึงแหล่งท่องเที่ยวโปรดของนักท่องเที่ยว เช่น ร้านอาหาร หรือไนต์คลับ จะยังอยู่ที่เดิมไม่หายไปไหน และเมื่อนักท่องเที่ยวย้อนกลับมาในปีต่อๆ ไป พวกเขาก็จะมาแวะที่ชุมชนเดิมนั้นอีกครั้ง

แต่ต่อให้สิ่งที่คาดหวังนั้นจะไม่เกิดขึ้น ต่อให้ภาพของนิวยอร์กที่เห็นในภาพยนตร์ รายการทีวี หรือในหนังสือจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป วิถีชีวิตในนิวยอร์กก็จะยังคงดำเนินต่อไป เพราะนิวยอร์กคือเมืองที่เต็มไปด้วยพลังแห่งการปรับตัวและยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงมากเสียจนยากที่จะล้มครืนไปตามวิกฤตโลก อีกไม่นานผู้คนจะออกมานอกบ้าน ชุมชนจะกลับมาคึกคัก และไอเดียใหม่ๆ จะผุดขึ้นปลุกเร้าเมืองให้เย้ายวนใจให้คนภายนอกกลับมาสำรวจอีกครั้ง

แม้บรรยากาศอาจจะแตกต่างไปจากช่วงเวลาแห่งวันวานและไม่เหลือเค้าเดิมที่คุ้นเคยดังเช่นในอดีต แต่ก็ยังคงแก่นแท้ความเป็นนิวยอร์ก มหานครที่ไม่เคยหลับใหลและมีมนต์ขลังยากที่ใครจะเสมอเหมือนไม่เสื่อมคลาย