SECTION
ABOUTSTATE OF THE ARTS
The Creation Myth
งานศิลปะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไปด้วยเทคโนโลยี AI ที่แปลงข้อความเป็นภาพได้เพียงเสี้ยววินาที โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับศิลปินหน้าใหม่ที่ผลประโยชน์ตอบแทนอาจคุ้มค่ากับความเสี่ยงในอนาคต
มีคำกล่าวว่ารูปภาพหนึ่งภาพสามารถถ่ายทอดความหมายและความรู้สึกได้ลึกซึ้งเท่ากับใช้ถ้อยคำบรรยาย 1,000 คำ แต่ในปัจจุบันอาจไม่ต้องใช้คำมากมายถึงหลักพันคำแล้ว เพราะเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ผู้กำกับภาพวิดีโอชื่อว่า Karen X. Cheng ใช้เพียง 29 คำในภาษาอังกฤษเท่านั้นในการสร้างสรรค์ภาพหน้าปกนิตยสาร Cosmopolitan โดยข้อความที่เธอใช้แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า
“ภาพสไตล์ซินธ์เวฟดิจิทัลอาร์ตในมุมกว้างที่ถ่ายช้อนจากด้านล่างของนักบินอวกาศหญิงที่มีทรวดทรงแบบสาวนักกีฬา ซึ่งกำลังเดินอย่างมั่นๆ เข้าหากล้องบนดาวอังคารท่ามกลางจักรวาลอันกว้างใหญ่ไพศาล”
เพียง 20 วินาทีเท่านั้น เฉิงก็ได้ภาพที่มีเอกลักษณ์อันทรงพลังจนทำให้หน้าปก Cosmopolitan ฉบับนี้โดดเด่นเป็นที่จดจำบนแผงนิตยสารทั่วโลกผ่านนักบินอวกาศในชุดสีชมพูนีออนที่เดินพุ่งตรงสู่สายตาผู้อ่าน ผลงานสร้างสรรค์สุดมหัศจรรย์นี้เกิดขึ้นได้ด้วย ‘DALL-E’ โปรแกรมสร้างสรรค์รูปภาพจากเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ซึ่งกูเกิลเป็นหนึ่งในเจ้าของและผู้พัฒนา
ก้าวเล็กๆ ของมนุษยชาติสามารถสร้างแรงกระเพื่อมครั้งยิ่งใหญ่ต่อการพัฒนาในวงการปัญญาประดิษฐ์ได้อย่างก้าวกระโดดเลยทีเดียว
การเติบโตของกระแสการรังสรรค์ผลงานศิลปะผ่าน AI สั่นสะเทือนวงการงานสร้างสรรค์อย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะงานทัศนศิลป์ Midjourney, Stable Diffusion และ DALL-E เป็น 3 โปรแกรมที่พาทุกคนเข้าสู่โลกใหม่ของการผลิตงานศิลป์ ด้วยการให้ระบบคอมพิวเตอร์สร้างสรรค์งานภาพดิจิทัลผ่านการเรียนรู้ด้วยตัวเองจากภาษาธรรมชาติ หรือภาษาที่มนุษย์ใช้กันทั่วไปในชีวิตประจำวัน
อธิบายให้เข้าใจง่ายกว่านั้นก็คือทั้ง 3 โปรแกรมแปลงข้อความออกมาเป็นรูปภาพ โดยจดจำและรวบรวมผลงานศิลปะต่างๆ ที่ถูกเผยแพร่หรือจัดเก็บไว้ตามแหล่งข้อมูลต่างๆ บนโลกอินเทอร์เน็ตแล้วประมวลผลออกมาเป็นงานชิ้นใหม่ตามคำสั่งเสียงหรือข้อความที่พิมพ์เข้าสู่ระบบ ตัวอย่างงานที่รังสรรค์ผ่านโปรแกรมดังกล่าวคือ ภาพไดโนเสาร์ที่ลอยเคว้งคว้างกลางอวกาศซึ่งสร้างสรรค์ออกมาผ่านสไตล์งานของแวนโก๊ะ ภาพของเบอร์นี แซนเดอร์ส (Bernie Sanders) นักการเมืองชาวอเมริกันกับฉากหลังยุคโลกาวินาศในภาพยนตร์เรื่อง Mad Max และภาพมิกกี้เมาส์บนโปสเตอร์โฆษณาชวนเชื่อในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
กระนั้นความนิยมอย่างล้นหลามที่มีต่อโปรแกรมเหล่านี้กลับสร้างข้อสงสัยให้แก่ใครหลายคนเช่นกันว่าเทคโนโลยี AI จะเข้ามาแทนที่จินตนาการของมนุษย์ในวงการศิลปะหรือไม่ และหากเป็นเช่นนั้น ใครจะเป็นผู้ได้ประโยชน์ สำหรับพัทน์ ภัทรนุธาพร เขาเชื่อว่าโอกาสนั้นย่อมเป็นของทุกคน
เทคโนโลยี AI ในปัจจุบันเองก็ช่วยขยายขอบเขตวิธีการและจินตนาการในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะได้ คุณไม่จำเป็นต้องสั่งสมฝีมือทางศิลปะให้แข็งแกร่งเพื่อรังสรรค์งานศิลปะที่สวยงามอีกต่อไป ตราบใดที่คุณสามารถอธิบายองค์ประกอบของผลงานที่คุณต้องการออกมาได้ เท่านั้นก็เพียงพอแล้ว
“เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตอนนี้ไม่ต่างอะไรไปจากตอนที่กล้องถ่ายรูปได้ถูกคิดค้นขึ้น ตอนนั้นเหล่าจิตรกรก็กลัวกันว่าเมื่อเราสามารถบันทึกความเป็นจริงทุกๆ อย่างที่เกิดขึ้นตรงหน้าได้ผ่านภาพถ่าย ศิลปะและงานจิตรกรรมก็คงถึงจุดจบ แต่ตอนนี้เราต่างก็รู้กันแล้วว่าการวาดรูปกลับกลายเป็นศาสตร์ที่น่าสนใจมากยิ่งขึ้นไปอีก เพราะกล้องถ่ายรูปที่สามารถเก็บบรรยากาศและเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงได้นั้น ช่วยผลักดันให้จิตรกรและผู้วาดภาพปลดปล่อยจินตนาการของตัวเองให้สร้างสรรค์ผลงานออกมาได้เหนือจริงยิ่งขึ้น” พัทน์อธิบาย
“เทคโนโลยี AI ในปัจจุบันเองก็ช่วยขยายขอบเขตวิธีการและจินตนาการในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะได้ในทำนองเดียวกัน โดยแยกการเชื่อมโยงกันระหว่างขั้นตอนและผลลัพธ์ของการทำงานออกจากกัน กล่าวคือคุณไม่จำเป็นต้องสั่งสมฝีมือทางศิลปะให้แข็งแกร่งเพื่อรังสรรค์งานศิลปะที่สวยงามอีกต่อไป ตราบใดที่คุณสามารถอธิบายองค์ประกอบของผลงานที่คุณต้องการออกมาได้ เท่านั้นก็เพียงพอแล้ว” พัทน์กล่าวเสริม
ในฐานะนักศึกษาปริญญาเอก ซึ่งทำงานให้กับ MIT Media Lab ศูนย์วิจัยที่รวบรวมผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขาอาชีพและแขนงความรู้ที่มีชื่อเสียงระดับโลกและส่งเสริมการวิจัยแบบบูรณาการระหว่างศาสตร์วิชาที่แตกต่างกันอย่างนอกกรอบ พัทธ์ไม่เพียงแต่ยินดีกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากเทคโนโลยี AI เท่านั้น แต่ยังช่วยขับเคลื่อนอย่างเต็มที่ในการเพิ่มขีดศักยภาพของ AI เพื่อนำไปสู่การพัฒนาในทิศทางบวก
เขาเล่าให้ฟังว่างานของเขายากที่จะอธิบายให้เข้าใจ แต่สรุปแบบง่ายๆ ก็คือเป็นงานที่เชื่อมชีววิทยาและศาสตร์แห่งเทคโนโลยีเข้าด้วยกัน โดยมักจะเกี่ยวกับ ‘เทคโนโลยีสวมใส่อัจฉริยะ’ (wearable technology) เป็นส่วนใหญ่ ยกตัวอย่างเช่นการคิดค้นชุดอวกาศที่สามารถผลิตยาได้จากร่างกายมนุษย์ในอวกาศ ซึ่งเป็นการร่วมงานกันระหว่างตัวเขากับทีมงานและองค์กรนาซากับบริษัท SpaceX
นอกจากนี้เขายังทำการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับแอปพลิเคชันต่างๆ ที่ใช้ในชีวิตประจำวันเพื่อสำรวจว่าสามารถนำมาส่งเสริมการสร้างสรรค์รูปภาพผ่าน AI ได้หรือไม่ ซึ่งงานวิจัยบางชิ้นของเขาอาจเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและวิธีการเรียนรู้เดิมๆ ของมนุษย์เราได้เลย
เมื่อปีที่แล้ว พัทน์และเพื่อนนักวิจัยค้นพบประโยชน์ของ deepfakes เทคโนโลยีชั้นสูงที่สามารถนำหน้าของคนคนหนึ่งในภาพภาพหนึ่งไปซ้อนทับบนรูปภาพหรือวิดีโออื่นๆ ที่เตรียมไว้ได้ โดยทีมของเขาร่วมกันพัฒนาให้ระบบ AI สร้างตัวตนเสมือนจริงบนโลกอินเทอร์เน็ต หรือ ‘อวาตาร์’ ของบุคคลที่มีชื่อเสียง รวมไปถึงภาพแทนในอดีตและอนาคตของตัวพวกเขาเองด้วย เพื่อศึกษาผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการทดลองนี้
AI ไม่ได้เป็นเพียงเครื่องมืออำนวยสะดวกสำหรับศิลปินและนักวิชาการเท่านั้น ‘เราต้องไม่หยุดอยู่ที่ประโยชน์ของ AI เพียงอย่างเดียว’ แต่ต้องให้ความรู้และรายละเอียดเกี่ยวกับข้อดีของเทคโนโลยีนี้ทุกๆ ด้านแก่คนในทุกวงการ โดยสนับสนุนให้พวกเขา ‘เป็นผู้สร้างสรรค์ ไม่ใช่เป็นเพียงผู้ใช้งาน’
“ผลที่ได้คือคุณจะสามารถเรียนฟิสิกส์จากไอน์สไตน์ หรืออาจศึกษาวิธีการวาดภาพจากแวนโก๊ะได้เลย” พัทน์กล่าว
“การทดลองของเราแสดงให้เห็นว่าแรงจูงใจในการเรียนรู้มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเมื่อคุณได้ศึกษาเรื่องราวเหล่านั้นจากบุคคลที่คุณชื่นชอบ เป็นเรื่องเยี่ยมมากเลยนะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคโควิด-19 ที่หลายๆ คนต้องเรียนออนไลน์ ถ้าได้ AI ที่มีรูปลักษณ์เหมือนกับคนที่คุณอยากเรียนด้วยมาอยู่ตรงหน้า ก็จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการเรียนการสอนให้มากยิ่งขึ้น” พัทน์อธิบายเสริม
ยิ่งไปกว่านั้นทีมวิจัยของพัทน์ยังค้นพบอีกว่าการเชื่อมต่อกับตัวเองในอดีตและอนาคตจะช่วยให้การรักษาสุขภาพจิตมีผลดีมากยิ่งขึ้นด้วย อย่างไรก็ตามแม้เทคโนโลยี AI จะมีประโยชน์อย่างน่าอัศจรรย์ แต่หลายคนก็ยังคลางแคลงถึงความเสี่ยงที่เกิดขึ้นได้เช่นกัน
“แน่นอนว่าศิลปินจะได้รับผลกระทบจาก AI มากที่สุด เพราะว่าเทคโนโลยีนี้สามารถบันดาลสิ่งต่างๆ ได้รวดเร็วกว่ามนุษย์ มันเป็นเรื่องน่ากังวลจริงๆ หากพูดถึงเรื่องการถูกตัดราคาหรือการถูกแทนที่ในวงการของศิลปิน” สกาวเดือน งามศิริอุดม แอดมินกลุ่มเฟซบุ๊ก Midjourney Thailand ซึ่งเปิดพื้นที่ให้เหล่าสมาชิกแชร์ผลงานของตัวเองที่สร้างสรรค์จาก AI ของโปรแกรมดังกล่าว แสดงความคิดเห็น
ในขณะที่นิตยสาร Cosmopolitan ได้รับความสนใจจากการขานรับเทคโนโลยีใหม่นี้อย่างเต็มที่ ศิลปินต่างๆ ที่รู้สึกไม่สบายใจกับการบุกรุกวงการศิลปะของ AI กลับต้องการอนาคตที่ปราศจากเทคโนโลยีดังกล่าวดังเช่นในอดีต เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ศิลปินชาวอเมริกันนามว่า Jason M. Allen ได้รับรางวัลชนะเลิศจากการประกวดงานศิลปะดิจิทัลในงาน Colorado State Fair ปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นคืองานของเขาใช้โปรแกรม Midjourney ช่วยสร้างสรรค์
ศิลปินคนอื่นๆ ที่เข้าร่วมการประกวดตอบรับต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้แตกต่างกันไปทั้งไม่สบายใจ เข้าใจ และต่อต้านอย่างเต็มที่
“มันเหมือนเรากำลังมองศิลปะค่อยๆ ตายไปต่อหน้าต่อตาเรา” แอ็กเคานต์ OmniMorpho โพสต์บนทวิตเตอร์ ซึ่งมีคนกดถูกใจกว่า 2,000 ครั้ง ในขณะที่ศิลปินแนวดิจิทัลอาร์ตชื่อ RJ Palmer ทวีตว่า “สิ่งที่ทำให้ AI แตกต่างก็คือมันถูกฝึกมาให้แข่งกับศิลปินที่ยังคงผลิตงานอยู่ในปัจจุบันอย่างชัดเจน มันต้องการแย่งงานของเรา นี่มันเป็นระบบที่ต่อต้านศิลปินชัดๆ”
ในช่วงเวลาที่การโต้เถียงเกี่ยวกับประเด็นนี้กำลังร้อนแรง PurplePort เว็บไซต์เก็บสะสมผลงานภาพถ่ายก็ได้ประกาศแบนผลงานภาพที่สร้างสรรค์จากเทคโนโลยี AI
“จุดประสงค์ของเราคือการรวบรวมผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์จากที่ต่างๆ ให้เข้ามาอยู่ในชุมชนที่ปลอดภัย มีความจริงใจต่อกัน และเปี่ยมไปด้วยพลังงานใหม่ๆ เพื่อสร้างสรรค์ผลงานชั้นยอด ดังนั้นแม้งานภาพที่สร้างสรรค์จากโปรแกรมคอมพิวเตอร์ 100 เปอร์เซ็นต์จะสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ให้แก่วงการศิลปะ แต่นั่นก็ไม่น่าจะตอบโจทย์วัตถุประสงค์และสนับสนุนการพัฒนาของชุมชนของเรา” Russ Freeman ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ PurplePort เขียนอธิบายเหตุผลในการตัดสินใจประกาศแบนดังกล่าว
ถึงแม้ว่าผู้ที่ไม่ได้มีความกังวลหรือมีส่วนได้ส่วนเสียใดๆ จะยกประเด็นความต้องการและความจำเป็นของ AI และระบบการเรียนรู้ด้วยตัวเองของโปรแกรมคอมพิวเตอร์ขึ้นมากล่าวอ้าง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเทคโนโลยีดังกล่าวที่สามารถผลิตผลงานศิลปะอันคุ้มค่าเงินนั้นอาจเป็นภัยคุกคามต่อศิลปินนักออกแบบได้เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความคลุมเครือทางกฎหมายในประเด็นทรัพย์สินทางปัญญาและลิขสิทธิ์ของผู้สร้างสรรค์ผลงาน
ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา ศิลปินนักออกแบบชาวอเมริกันคนหนึ่งสามารถจดลิขสิทธิ์ผลงานที่สร้างสรรค์จากระบบ AI ของตัวเองได้เป็นคนแรกของสหรัฐอเมริกา แต่สำหรับในประเทศไทยนั้นยังไม่มีแนวโน้มที่จะเกิดกรณีในแบบเดียวกันได้ แม้ประเทศไทยจะมีการกำหนดแนวปฏิบัติจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์แล้วก็ตาม แต่ก็ยังขาดประเด็นการคุ้มครองลิขสิทธิ์ของผลงานที่สร้างสรรค์จาก AI ซึ่งตามกฎหมายลิขสิทธิ์นั้นระบุไว้ว่า ‘ผู้สร้างสรรค์’ ผลงานต้องเป็นมนุษย์
บทความชิ้นหนึ่งใน ‘วารสารนิติ รัฐกิจ และสังคมศาสตร์ สำนักวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย’ โดยอาจารย์ด้านกฎหมาย ณัฐพงศ์ สุวรรณอินทร์ ได้เสนอแนวทางแก้ไขโดยสังเขปเพื่อให้รัฐบาลได้พิจารณาดังต่อไปนี้
“ในการแก้ไขปัญหาลิขสิทธิ์ท่ามกลางกระแสการเติบโตอย่างรวดเร็วของการใช้เทคโนโลยี AI ในหลากหลายอุตสาหกรรมนั้น ประเทศไทยจำเป็นต้องปรับปรุงกฎหมายลิขสิทธิ์ให้สามารถคุ้มครองผลงานที่สร้างสรรค์จาก AI ได้อย่างครอบคลุม วิธีการหนึ่งก็คือการนำทฤษฎี Fictional Human Author และหลัก Work Made for Hire มาปรับใช้”
ด้านพัทน์จาก MIT Media Lab เสนอว่าควรนำสัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์มาปรับใช้กับงานที่สร้างสรรค์จากโปรแกรม AI ที่ได้รับการคุ้มครองภายใต้สัญญาดังกล่าว
แต่ไม่ว่าแนวทางแก้ไขปัญหานี้จะออกมาในรูปแบบใดก็ตาม ดูเหมือนว่าความท้าทายหลักต่อเรื่องนี้จริงๆ จะเป็นความล่าช้าของระบบราชการที่ไม่สามารถขับเคลื่อนได้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกเทคโนโลยี และศิลปินในประเทศไทยเองก็เลือกที่จะเดินหน้า โดยไม่กังวลต่อความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตเท่าใดนัก ยืนยันได้จากยอดสมาชิกของกลุ่มเฟซบุ๊ก Midjourney Thailand ที่พุ่งสูงจนเกือบถึง 80,000 คนแล้ว
“เราต้องการให้กลุ่มเฟซบุ๊กนี้เป็นประตูให้ศิลปินไทยก้าวเข้าสู่โลกแห่งเทคโนโลยี AI จนเกิดความคุ้นเคยกับมันและรวมตัวกันเป็นชุมชนที่สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูล ค้นหาคำตอบเกี่ยวกับข้อสงสัยต่างๆ และช่วยเหลือ ซึ่งกันและกันได้ พื้นที่แห่งนี้จะทำให้ AI เป็นเรื่องง่าย สนุก และเข้าถึงทุกคน” สกาวเดือนกล่าว
ยิ่งกว่านั้น ศิลปินไทยบางคนก็ได้ค้นพบประตูที่พาตัวเองก้าวเข้าสู่วงการนี้มาตั้งแต่หลายปีที่แล้ว ยกตัวอย่างเช่น น้ำปาย-อานาปาน ปิ่นประดับ ศิลปินผู้มีความสามารถหลากหลายแขนง ซึ่งตอนนี้กำลังสนใจด้านการแต่งดนตรี ค้นพบความพิเศษของ ‘Generative Art’ หรืองานศิลปะที่รังสรรค์ขึ้นจากระบบอัตโนมัติที่สร้างขึ้นจากโค้ดของโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ในระหว่างที่ทำงานให้กับบริษัทสื่อเจ้าใหญ่อย่าง Pico ในปี 2560 โดยเธอใช้โปรแกรม TouchDesigner และ Houdini ในการออกแบบงานแสงไฟให้ทำงานได้ด้วยตัวเองเพื่อติดตั้งในงานอิเวนต์ต่างๆ ของลูกค้า
“เราอยากจะหาเอกลักษณ์และตัวตนที่เราอยากจะเป็นในฐานะศิลปิน” น้ำปายกล่าว ซึ่งแน่นอนว่าประสบการณ์ในการสร้างงานแสงไฟจากโปรแกรมคอมพิวเตอร์นี้เองก็ช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ตัวตนของเธอในวงการงานสร้างสรรค์
ปัจจุบันน้ำปายสอดแทรกเอกลักษณ์ทุกๆ ด้านที่มีอย่างละนิดอย่างละหน่อยไว้ในผลงานสร้างสรรค์แนวผสมผสานของตัวเอง โดยเน้นไปที่เทคโนโลยีและดนตรีเป็นหลัก เธอออกแบบงานเสียงและแต่งเพลงให้ศิลปินด้านทัศนศิลป์แขนงต่างๆ และเพื่อใช้ในโปรเจกต์ NFT ของเธอเอง นอกจากนี้น้ำปายยังนำระบบอัตโนมัติที่สร้างขึ้นจากโค้ดของโปรแกรมคอมพิวเตอร์มาใช้สร้างงานภาพเพื่อประกอบการแสดงเต้นด้วย
สำหรับน้ำปายแล้ว AI ไม่ใช่เรื่องน่ากลัว แต่เป็นเครื่องมือที่ช่วยผลักดันให้เธอกล้าทลายกรอบและก้าวข้ามขีดจำกัดของการเป็นศิลปินต่างหาก
“การเป็นศิลปินไม่ได้มีแค่เรื่องของการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะเท่านั้น แต่ยังต้องคำนึงถึงเรื่อง ‘อัตลักษณ์’ ของตัวเองด้วย AI ไม่สามารถทำสิ่งที่มนุษย์ทำได้ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ไม่สามารถถ่ายทอดความรู้สึกในแบบเดียวกันกับที่มนุษย์แสดงออกมาได้ AI เป็นเพียงแค่เครื่องมือที่ช่วยให้มนุษย์สามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ได้เท่านั้นเอง” น้ำปายแสดงความคิดเห็น
เพื่อให้เข้าใจและเห็นภาพมากขึ้น น้ำปายเล่าว่าเธอใช้โปรแกรม Midjourney ในการช่วยสำรวจความคิดต่างๆ ที่ฟุ้งอยู่ในหัวของเธอหลังจากนั้นก็สร้างสรรค์บีทดนตรีด้วยการต่อยอดไอเดียจากภาพที่โปรแกรมนั้นวาดออกมา แต่ไม่ว่าเทคโนโลยี AI จะมีส่วนช่วยในงานมากน้อยเพียงใดก็ตาม แต่ท้ายที่สุดแล้วผลงานที่ออกมาล้วนเกิดจากพิจารณาตัดสินใจของเธอเอง สิ่งที่ AI สร้างสรรค์ออกมานั้นเป็นเพียงเสี้ยวเล็กๆ ที่เข้ามาเติมเต็มภาพใหญ่ของผลงานของเธอเท่านั้น เปรียบเสมือนส่วนประกอบเล็กๆ เพียงส่วนเดียวของกระบวนการทำงานศิลปะในภาพรวม
“ในฐานะศิลปิน คุณต้องถามตัวเองอยู่เสมอว่า คุณอยากจะสร้างอะไรให้โลกใบนี้ คุณอยากจะทำความเข้าใจเรื่องอะไรของตัวเอง การผลิตผลงานที่สวยงามเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ คุณต้องพยายามเสนอมุมมองใหม่ๆ ให้แก่ผู้ติดตาม หรือสร้างแรงบันดาลใจ หรือแม้กระทั่งสร้างสรรค์บางสิ่งบางอย่างเพื่อตอบแทนพวกเขา” น้ำปายกล่าว
การเป็นศิลปินพำนักในโปรแกรม Pop-Kultur ที่เบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ตอบโจทย์พลังงานอันแรงกล้านั้นของเธอ หลังจากได้ร่วมงานกับศิลปินและนักดนตรีที่คลุกคลีอยู่ในวงการ Generative Art น้ำปายก็เหมือนได้เติมพลังและพร้อมแล้วที่จะนำไอเดียใหม่ๆ มาสร้างสรรค์ผลงานในประเทศไทย
“Generative Art ไม่ใช่เรื่องใหม่ในเบอร์ลิน ศิลปินทุกคนรู้จักวิธีการนำเทคโนโลยีล่าสุดนี้มาประยุกต์ใช้ในผลงานของตัวเองกันอยู่แล้ว ในประเทศไทยมีศิลปินที่มีพรสวรรค์และความสามารถมากมาย แต่พวกเขากลับไม่รู้วิธีการต่อยอดไอเดียใหม่ๆ เพื่อนำมาใช้ในงานของพวกเขาเอง เราคิดว่า AI ก็น่าจะมาช่วยในส่วนนี้ได้” น้ำปายกล่าว
พัทน์เห็นด้วยกับประเด็นดังกล่าว นอกเหนือไปจากงานวิจัยเทคโนโลยีที่มีความซับซ้อนต่างๆ แล้ว เขายังร่วมงานกับศิลปินไทยมากมาย เช่น อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ผู้กำกับฝีมือระดับโลก กวิตา วัฒนะชยังกูร ศิลปินแนวเพอร์ฟอร์แมนซ์อาร์ต และพิเชษฐ กลั่นชื่น นักเต้นและผู้ออกแบบท่าเต้น เขาเล่าให้ฟังว่าหลายๆ โปรเจกต์ที่เขาทำกับศิลปินเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนจาก MIT Media Lab ในการใช้เทคโนโลยีต่างๆ เพื่อให้ศิลปินได้ใช้จินตนาการของตัวเองได้อย่างเต็มที่เพื่อเพิ่มไอเดียใหม่ๆ ให้แก่ผลงาน
“มนุษย์ใช้ถ้อยคำในการสร้างสรรค์ผลงานเพื่อเผยแพร่สู่สายตาชาวโลก โดยสอดแทรกความหมายอันลึกซึ้งไว้ในชิ้นงานนั้นด้วย” พัทน์กล่าว
นอกจากนี้พัทน์ได้กล่าวเสริมไว้ด้วยว่า AI ไม่ได้เป็นเพียงเครื่องมืออำนวยสะดวกสำหรับศิลปินและนักวิชาการเท่านั้น ‘เราต้องไม่หยุดอยู่ที่ประโยชน์ของ AI เพียงอย่างเดียว’ แต่ต้องให้ความรู้และรายละเอียดเกี่ยวกับข้อดีของเทคโนโลยีนี้ทุกๆ ด้านแก่คนในทุกวงการ โดยสนับสนุนให้พวกเขา ‘เป็นผู้สร้างสรรค์ ไม่ใช่เป็นเพียงผู้ใช้งาน’
ในช่วงที่วงการคริปโตฯ และ NFT กำลังเป็นกระแสและได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม ผู้ที่เริ่มลงทุนหรือแสดงตนว่าเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ตั้งแต่ช่วงแรกๆ ย่อมได้รับผลประโยชน์ตอบแทนมากมายมหาศาล เช่นเดียวกับการสร้างสรรค์ผลงานจาก AI แม้ในช่วงเริ่มแรกจะยังไม่ราบรื่น เนื่องจากผู้คนยังคงคลางแคลงสงสัยในเทคโนโลยีดังกล่าว แต่เมื่อเวลาผ่านไปจนทุกคนมั่นใจและเชื่อมั่นมากขึ้น AI ก็จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการช่วยเปิดโลกใบใหม่ที่ขยายกรอบจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ของคุณให้กว้างยิ่งกว่าเดิม ■