SECTION
ABOUTOPTIMUM VIEW
A Sea Change of Attitude
ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล เผยความเข้าใจอันพลิกความคาดหมาย เกี่ยวกับธรรมชาติ สังคม หรือแม้กระทั่งชีวิต จากมุมคนทำงานมากว่า 4 ทศวรรษและดำดิ่งใต้ทะเลไทยมาแล้วกว่า 4,000 ครั้ง
30 มิถุนายน 2566
ไม่แน่ใจว่าทุกคนจินตนาการถึงความเดือดร้อนในยุคของ Climate Crisis หรือ ‘วิกฤตสภาพภูมิอากาศ’ ไว้อย่างไร แต่เป็นไปได้มากว่า หายนภัยเหล่านั้น ไม่ได้รวมถึง ‘ค่าไฟ’ เมื่อสิ้นเดือน
จากการสำรวจของหนังสือพิมพ์วอร์ชิงตันโพสต์ ภาพยนตร์เกี่ยวกับภูมิอากาศนับร้อยเรื่องของฮอลลีวูดนับตั้งแต่ปี 1966 จำลองให้เห็นอนาคตของสิ่งแวดล้อมที่พังทลายในสารพัดรูปแบบไม่ว่าไซโคลน แผ่นดินไหว ลาวา น้ำท่วม พายุสายฟ้า ทะเลทราย หรือแม้กระทั่งหิมะและอากาศเยือกแข็งเฉียบพลัน แต่แทบไม่มีเรื่องใดที่แสดงให้เห็นว่าความทุรนทุรายในช่วงกลียุค บางทีไม่ได้ไปเริ่มเอาเมื่อมีการสู้รบเพื่อกักตุนเสบียง ขับรถหนีมหันตภัย หรือแย่งชิงแดนเพาะปลูกหลังภัยพิบัติเท่านั้น แต่อาจอุบัติขึ้นในการดำเนินชีวิตปกติ ที่นี่และเดี๋ยวนี้
เช่น การต้องจำกัดเรื่องกินเที่ยวเพราะเสียเงินไปกับค่าไฟเหยียบหมื่น หรือแม้กระทั่งการที่กิจการและโรงงานต้องอ่วมหนักหรือล่มสลายเพราะค่าไฟท่วมกำไรในแต่ละเดือน
อย่างไรก็ตาม สำหรับดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล ผู้มีจำนวนผู้ติดตามโซเชียลมีเดียหลายแสนไม่ผิดกับดารา และลำพังข้อความเฟซบุ๊กสำนวนคม ง่าย ขนาดกระทัดรัดของเขาบ่อยครั้งสามารถสร้างแรงกระเพื่อมในสังคมจนนำไปสู่การออกนโยบายที่เคยดูเหมือนเป็นไปไม่ได้มาช้านานอย่างการปิดอ่าว ซ่อมเกาะ และขึ้นทะเบียนสัตว์หายาก จนไม่ผิดหากจะบอกว่าเขาคือหนึ่งใน ‘ผู้ทรงอิทธิพล’ ของวงการสิ่งแวดล้อมไทย ดร.ธรณ์ เห็นว่าค่าไฟอาจเป็นหายนะทางสิ่งแวดล้อมที่เป็นรูปธรรมและสมจริงที่สุดประการหนึ่งสำหรับคนร่วมสมัย
“ยืนยันได้เลยว่าทุกคนตายหมดเพราะค่าไฟ ปีนี้ร้อนขนาดนี้ ปีหน้าร้อนกว่าปีนี้ เอลนีโญจะเริ่มจริงปีหน้า ปีนี้เรียกออเดิร์ฟ สิ่งที่เราต้องทำคือศึกษาการใช้ชีวิตอยู่ในห้างให้นานที่สุด หรือไม่ก็อยู่ในบริษัทให้นานที่สุด อย่าอยู่บ้าน อยู่บ้านคุณตายแน่ ค่าไฟจะไม่มีวันลด จริงๆ ค่าไฟต้องพุ่งไปห้าบาทกว่าตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่เราใช้วิธีดีเลย์เพราะสี่บาทเจ็ดสิบคนก็จะตายแล้ว กฟผ. (การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย) จึงต้องแบกภาระอยู่แสนสองหมื่นแปดพันล้านบาท ต่อไปถ้า กฟผ.บอกกูไม่มีสตางค์ ทำยังไง เขาก็ปิดโรงไฟฟ้าเลย”
เช่นเดียวกับอีกหลายคำตอบที่จะติดตามมาคำพูดของดร.ธรณ์อาจแรกฟังดูเหมือนการอำมากกว่าความจริง แต่โชคร้ายที่เขาไม่ได้อำ เพราะด้วยดีกรีปริญญาเอกวิทยาศาสตร์ทางทะเลจากมหาวิทยาลัยเจมส์คุก ประเทศออสเตรเลีย และตำแหน่งรองคณบดีคณะประมง แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บทความของเขาจะอ่านง่าย ได้อารมณ์ขนาดไหนก็ตาม สิ่งที่เขาเขียนไม่ได้เป็นไปเพียงเพื่อยอด ‘ไลก์’ แต่เป็นการยืนยันสิ่งที่เขารู้และเข้าใจในฐานะนักวิทยาศาสตร์
สอดคล้องกับสิ่งที่เขาพูด หลังการสัมภาษณ์ดร. ธรณ์ไม่นาน มีงานวิจัยจากสหรัฐฯ ที่ตีพิมพ์ออกมาบ่งชี้ความเสี่ยงของอัตราการตายและป่วยเจ็บที่จะสูงขึ้น เพราะความต้องการใช้ไฟฟ้าที่พุ่งพรวดพร้อมกันในยามที่อากาศร้อนอาจทำให้ไฟดับและคนที่ร่างกายรับสภาพความร้อนไม่ไหวจะต้องเข้าโรงพยาบาลแบบฉุกเฉินจนล้นศักยภาพการดูแลและนำไปสู่ความสูญเสีย หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ก็กล่าวถึงผลสำรวจว่าคนเนปาลที่ไปทำงานก่อสร้างกลางแจ้งที่ตะวันออกกลางมีอาการป่วยเฉียบพลันด้วยโรคไตนับพันคน หรือแนวโน้มที่ต่อไปอากาศกลางแจ้งอาจร้อนเกินไปจนการจัดแข่งกีฬาระดับโลกอาจเป็นไปได้เฉพาะในประเทศที่มีงบประมาณสร้างสนามกีฬาติดเครื่องปรับอากาศเท่านั้น ฯลฯ
หลายสิ่งหลายอย่างเกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อมก็เป็นเช่นนี้
มันอาจฟังคล้ายเรื่องอำหรือเรื่อง “ไม่น่าเป็นไปได้ขนาดนั้น” เสมอ
จวบจนบิลค่าไฟส่งมาถึงประตู
“มันจะไปถูกลงได้ยังไง ค่าไฟต้องโป่งอีกเพราะตอนนี้เงินที่กฟผ. แบกอยู่คือแสนสองหมื่นล้าน ให้ตายเงินก็คือเงิน มันต้องมีคนใช้เงิน แล้วมันก็ต้องมาเอากับเรา เพราะฉะนั้น ปีหน้าร้อนขึ้น ค่าไฟก็ไม่มีทางลดมีแต่เพิ่มขึ้นเป็นห้าบาทกว่าด้วย อีกสิบปีข้างหน้า ค่าไฟจะเป็นปัจจัยค่าใช้จ่ายเกิน 50% ของชีวิต
…นี่แหละโลกร้อน เห็นกลัวกันนักว่าน้ำจะท่วมโลก กลัวทำไม กลัวบิลค่าไฟดีกว่า คนชอบคิดว่าธรรมชาติจะเป็นก็อตซิลล่า มาเหยียบทีเดียวแบน เราแกล้งธรรมชาติมากี่ปีแล้ว รังแกเขามากี่ปี เพราะฉะนั้น เวลาเขาเอาคืน ลองไปอ่าน ‘คนขี่เสือ’ พี่จิตต์ ภูมิศักดิ์ แปล เรื่องนั้นมีคำพูดที่ชัดเจนที่สุดแล้ว ในเรื่องมีคนชั้นจัณฑาลที่ปลอมเป็นพราหมณ์เพื่อจะไปหลอกพวกเศรษฐีที่ไปไหว้พระศิวะ คำที่ดีที่สุดของเรื่องมีอยู่สั้นๆ เท่านั้นเอง คือ ‘มันทำเรามานาน เวลาที่เราจะแก้แค้นมัน เราจะชกมันตรงจุดที่เจ็บที่สุด’ พ่อลูกจัณฑาลคู่นั้นปลอมเป็นชนชั้นพราหมณ์เพื่อให้ชนชั้นเศรษฐีมากราบ นั่นคือจุดที่เจ็บที่สุด ไม่ใช่การตะโกนด่า หรือชกเศรษฐี
…นี่แหละการเอาคืนของธรรมชาติ เวลาธรรมชาติกำลังจะล้างแค้นที่ทำลายกูมา มันไม่มาเหยียบตุบเดียว หรือมาเป็นคลื่นยักษ์ มันตายเร็วไป เขาเริ่มจากค่าไฟก่อน กร่อนกำลังใจไปเรื่อยๆ ไม่ฆ่าคุณง่ายๆ แต่แกล้งตลอดชีวิต และแกล้งตรงจุดที่เจ็บที่สุด คือมึงทำกูเพราะมึงอยากได้เงิน ตอนกูเอาคืนมึง กูก็ต้องเล่นมึงด้วยเรื่องนี้ สัตว์น้ำก็หายไป คนไทยนั่งมองดูคนจีนกินกุ้งแชบ๊วย เราได้กินแต่กุ้งแห้ง ทั้งที่นั่นกุ้งของแผ่นดินไทย แต่คนจีนดันได้กิน แล้วเราจะเกิดมาเป็นคนไทยทำไม”
สมัยนั้นโลกยังปิดกั้น ไปญี่ปุ่นแต่ละทีไม่ใช่ง่าย ทุกวันนี้คนไปญี่ปุ่นปีละ 3-4 หน มันอาจจะทำให้เกิดความคิดง่ายๆ ว่าต่อให้ประเทศนี้ย่ำแย่ก็หนีไปเที่ยวญี่ปุ่นก็ได้ ถ้าทะเลไทยแย่ๆ กูก็ไปทะเลมัลดีฟส์
ลูกหม้อนอกกระทรวง
เพียงเริ่มต้นก็เห็นได้ไม่ยากถึงจุดเด่นของดร.ธรณ์ในการเชื่อมโยงประเด็นสิ่งแวดล้อมให้แนบแน่นกับวิถีชีวิตคนเมืองอย่างเมนูกุ้งแชบ๊วยหรือบิลค่าไฟ ดร.ธรณ์ ยอมรับว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะตนเองไม่ได้โตมาอย่างเด็กชนบทที่ห้อมล้อมอยู่เฉพาะด้วยธรรมชาติ หากเป็น ‘เด็กเมือง’ ที่ได้เห็นการคลี่คลายขยับขยายของเมืองและเหตุผลของมันมาโดยตลอด เขานัดสัมภาษณ์ที่บ้านเก่าของพ่อกลางเอกมัย ในวันนี้ ท้องร่องหน้าบ้านที่เคยเต็มไปด้วยปลากัดและพื้นที่ใต้เงาไม้ใหญ่ในวัยเยาว์ของดร.ธรณ์ กลายเป็นถนนและฟุตปาธที่มีร่มจากต้นไม้เพียงหรอมแหรมสลับกับร่มจากป้ายหาเสียงการเลือกตั้ง ดังนั้น เมื่อกาลเวลาผันเปลี่ยน ไม่ต้องพูดถึงธรรมชาติป่าเขาอันบริสุทธิ์ห่างไกล กระทั่งสิ่งปลูกสร้างกลางเมืองอย่างบ้านทรงโมเดิร์นที่มีลีลาหน้ากากช่องปูนฉลุขนาบเสาปูนหักมุมฉากเท่เด็ดขาดของดร.ธรณ์ ก็เป็นของที่กำลังจะหายไปเช่นกัน “บ้านทรงโมเดิร์นแบบนี้แทบไม่มีแล้วครับ ตอนนี้เหลืออยู่แค่ 3-4 หลัง ซึ่งเดี๋ยวเขาก็คงขาย” ดร.ธรณ์เล่า
อย่างไรก็ตาม หากมีสิ่งหนึ่งที่แตกต่างก็คือ ในขณะที่เด็กเมืองคนอื่นในยุคนั้นอาจรู้จักทะเลแค่ชายหาดบางแสน และรู้จักป่าเขาแค่จากน้ำตกไทรโยค เด็กเมืองอย่างดร.ธรณ์กลับได้พบเจอกับภูเขาทะเลที่พิเศษระดับอุทยานแห่งชาติตั้งแต่ในวันที่อาจยังไม่ได้มีการประกาศ เพราะดร.ธรณ์ คือบุตรของเถลิง ธำรงนาวาสวัสดิ์ อดีตปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้เป็นประธานคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติเป็นเวลา 15 ปี และมีส่วนผลักดันจัดตั้งอุทยานแห่งชาติกว่า 80 แห่ง ภารกิจของผู้เป็นบิดาในการตระเวนไปทั่วทุกพื้นที่ที่ “มีความโดดเด่นสวยงามทางธรรมชาติเป็นพิเศษ หรือมีความหลากหลายทางชีวภาพ ระบบนิเวศ ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และสัตว์ป่าหรือพืชป่าประจำถิ่นที่หายากหรือใกล้สูญพันธุ์ หรือโดดเด่นด้านธรณีวิทยา หรือมรดกทางวัฒนธรรม” (นิยามของอุทยานแห่งชาติตามกฎหมาย) เพื่อประชุมและทำงาน ได้เปิดโอกาสให้ดร.ธรณ์ได้ติดตามพบเห็นและชุบย้อมโดยเสน่ห์ของพื้นที่ธรรมชาติของประเทศไม่ว่าทางบกหรือทะเลที่ยังสมบูรณ์เต็มพิกัด เช่น เกาะแก่งซึ่งสวยระดับที่ “แค่เอาหน้าจุ่มน้ำปลาก็ว่ายมาแทะ”
ไม่เพียงเท่านั้น เนื่องจากการไปอุทยานเหล่านี้ไม่ใช่การไปเที่ยวเล่น แต่คือการติดตามปลัดกระทรวงไปลงพื้นที่พร้อมกับเจ้าหน้าที่ข้าราชการอื่นๆ บ่อยครั้งเด็กชายธรณ์จึงได้มีโอกาสได้นั่งอยู่ท่ามกลางการประชุมและเรียนรู้เกี่ยวกับกระบวนการทำงานของข้าราชการที่จะกลับมาเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการขับเคลื่อนนโยบายสิ่งแวดล้อมของเขาในอนาคต กฎระเบียบตลอดจนโครงสร้างแผนและยุทธศาสตร์ระดับต่างๆ ที่สำหรับคนนอกเกี่ยวโยงทับซ้อนยากต่อการจับทิศทางพอๆ กับป่ารกชัฏของอุทยาน กลายเป็นสิ่งที่ดร.ธรณ์คุ้นเคยมาตั้งแต่เด็ก อย่างไรก็ตาม จากการสังเกตการณ์ของเขา ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา กฎระเบียบของราชการดูจะเพิ่มขึ้น พอๆ กับการหายไปของสิ่งที่เขาเรียกว่า ‘เกียรติ’
“อิทธิพลจากคุณพ่อก็คืออย่าโกง ผมไม่เคยเห็นพ่อโกงใคร พ่อผมตายไปกี่ปีๆ ลูกน้องพ่อผมก็ยังยกมือไหว้รูปปั้นคุณพ่อในห้องพระที่กระทรวงเกษตรฯ ต้องเข้าใจว่าคนโกงมีในทุกยุค ในวันนี้ระบบเข้มงวดมากขึ้น เราลดความเชื่อใจในตัวคน และไปเชื่อในระบบตรวจสอบ กติกา และระเบียบต่างๆ เยอะแยะมหาศาล ซึ่งจะดีมันก็ดี จะไม่ดีก็ไม่ดี เพราะมันทำให้คนที่อยากทำงาน ติดระเบียบต่างๆ และรู้สึกขี้เกียจแล้วโว้ย---กูไม่ทำ ในขณะที่คนอยากโกงจริงๆ ก็หาทางโกงได้ แต่คำว่าไม่โกงของผม ไม่ใช่เรื่องของคุณธรรมความดีอะไร การโกงคือการเสียเกียรติ กระจอก เพราะการโกงคือไพ่ใบสุดท้ายของมนุษย์ที่ไม่มีความสามารถใดๆ ในการทำมาหากินด้วยวิธีอื่นจึงต้องโกง ที่ผมไม่โกงจึงไม่ได้หมายความว่าผมเป็นคนดี แต่มันเสียเกียรติ ถ้าถึงขั้นต้องโกงแล้วจะเรียนมาทำไม จะกราบไหว้พ่อแม่ ไหว้พระ ไหว้ผีมาทำไม ในเมื่อทุกอย่างที่ทำไปจบลงในจุดเดียวคือการโกง
…เรื่องของระบบราชการ สมัยนี้คนมองเห็นตัวเองเป็นหลัก ขณะที่คนในสมัยก่อนมององค์กรเป็นหลัก อย่างยุคอาเหนาะ (ดร.เสนาะ อูนากูล) ยุคคุณพ่อ ยุคอานวย (ดร.อำนวย วีรวรรณ) คนจะคิดว่าอยากให้ประเทศไปแข่งขันกับคนอื่นได้ ขณะที่คนยุคเราจะรู้สึกว่าไม่รู้ล่ะ---ฉันแฮปปี้ ส่วนประเทศก็ ‘สู้ๆ นะ’ สมัยนั้นโลกยังปิดกั้น ไปญี่ปุ่นแต่ละทีไม่ใช่ง่าย ทุกวันนี้คนไปญี่ปุ่นปีละ 3-4 หน มันอาจจะทำให้เกิดความคิดง่ายๆ ว่าต่อให้ประเทศนี้ย่ำแย่ก็หนีไปเที่ยวญี่ปุ่นก็ได้ ถ้าทะเลไทยแย่ๆ กูก็ไปทะเลมัลดีฟส์ มันง่ายที่จะหนีไปจากสถานะตรงนั้น แต่สมัยก่อนการเดินทางลำบากลำบน ประเทศมันก็มีอยู่เท่านี้ ความผูกพันของคนกับแผ่นดินก็เลยเยอะเพราะมันหนีไม่ได้ ทุกอย่างต้องมีเหตุและมีผล ไม่ใช่อยู่ดีๆ คนจะเปลี่ยนไปมีสำนึกต่อแผ่นดินลดน้อยลง ผมเชื่อว่ามันคือสภาพแวดล้อม ซึ่งสภาพแวดล้อมที่เห็นชัดที่สุดก็คือเรามีโอกาสที่จะหนีไป”
‘บลู โอเชี่ยน’ ของตัวเอง
ปัญหาของประเทศจะทำให้คนอื่นเห็นโอกาสหนีอย่างไรก็ตามที แต่สำหรับดร.ธรณ์ ดูเหมือนเขากลับเห็นเป็นโอกาสของการทำงาน ดังนั้น เมื่อเรียนจบปริญญาเอกด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเลจากออสเตรเลีย เขาจึงตัดสินใจกลับมาทำงานที่ไทยทั้งๆ ที่ความพร้อมด้านการอนุรักษ์ของประเทศไทยในวันนั้นแทบจะไม่มี เขาเคยให้สัมภาษณ์กับเพจเดอะคลาวด์อธิบายเหตุผลไว้ว่า “จะไปอยู่ทำบ้าอะไรที่ออสเตรเลีย เขารักษาได้ดีหมดทุกอย่าง อยู่ที่นั่นจะให้ผมทำอะไร...ผมพูดกับนักอนุรักษ์ทุกคนไม่รู้กี่ครั้งว่า ถ้าคุณอยากเป็นนักอนุรักษ์ นี่ (ประเทศไทย) คือประเทศที่คุณควรจะอยู่ที่สุด”
แต่หากใครคิดว่านี่คือจิตวิญญาณความเสียสละ ดร.ธรณ์จะปฏิเสธเสียงแข็ง
อาชีพนี้ถูกมองข้าม กลายเป็นความเสียสละอยู่ตลอดเวลา และผมไม่ต้องการตรงนั้น ผมต้องการให้มันเป็นอาชีพเพราะความเสียสละมีหมด พนักงานอนุรักษ์ป่าเสียสละเรื่อยๆ มันก็หมดแรง แล้วคุณไม่รู้สึกว่าไปกินแรงเขาเหรอ ‘พี่เสียสละจัง ขอบคุณมากค่ะ ให้กำลังใจนะคะ’
“สาเหตุที่ผมเลือกเรียนวิทยาศาสตร์ทางทะเล คือเพื่อนผมเก่งแต่ผมไม่เก่ง เพื่อนผมตั้งแต่เรียนสาธิตจุฬาฯ ป. 1 มีตั้งแต่ผู้ว่าชัชชาติ แฝดของชัชชาติที่เป็นผอ. โรงพยาบาลจุฬาฯ หรือบอย-ถกลเกียรติ มีนักธุรกิจนามสกุลดังเกือบครบ พรประภา เตชะไพบูลย์ ล่ำซำ มีแม้กระทั่งสถาปนิกปากกล้าที่ด่าทุกคนทันทีคือดวงฤทธิ์ บุนนาค ถ้าผมไม่มาสาขานี้ผมก็เดี้ยง อย่างด้านวิศวะผมจะไปสู้ชัชชาติได้ยังไง หมอรุ่นผมมีไม่รู้ตั้งกี่คน สายนักธุรกิจแต่ละคนก็มีกงสีกันหมด พอมองไป ‘เสร็จแล้วกู’ เป้าหมายหลักของผมจึงเป็นการมุ่งหน้าไปในเส้นทางที่ไม่มีคนอยู่ ไม่มีคนแข่ง เพราะไม่มีใครเลือกสายธรรมชาติเลย มีผมคนเดียว
…ผมรู้ตั้งแต่ ม.3 แล้ว ผมจะเรียน Marine Science เรื่องอะไรผมจะไปแข่งกับคนอื่น บ้านผมไม่ได้เป็นหมอ ผมจะไปมีความรู้เรื่องหมอได้ยังไง บ้านผมไม่ได้เป็นกงสีก่อสร้าง ผมจะไปทำมาหากินกับการก่อสร้างได้ยังไง อย่างเดียวที่บ้านผมเป็นคือคุณพ่อเป็นคนเปิดอุทยาน อีกส่วนหนึ่งคือคุณแม่ผมเกษียณตั้งแต่อายุ 45 แล้วก็อยู่มาอีกสี่สิบปีโดยเล่นหุ้นอย่างเดียว ไม่ต้องทำงาน ผมก็อยากเกษียณเร็วๆ อยากอยู่สบายๆ แบบคุณแม่ ผมถึงไม่เลือกการแข่งขัน โดยสรุปคุณพ่อทำให้รู้ว่าเรามีจุดแข็งที่คนอื่นคงไม่มี คุณแม่ทำให้รู้สึกว่านี่คือชีวิตที่ฉันต้องการ เอาสองอย่างมาผสมก็จะได้การตัดสินใจที่มั่นคงของเด็ก ม.3 คนหนึ่ง
…ตลาดมีอยู่แล้ว ก็คือทะเล มันก็มีรุ่นพี่แล้ว มีภาควิชาแล้ว อาจารย์ผมคืออาจารย์สุรพล สุดารา ก็มีชื่อเสียงอยู่ ไม่ใช่ไม่มีอะไรเลย เพียงแต่คนมองไม่เห็นตลาดเท่านั้น เราก็มาเปิดตลาดใหม่ ถ้าผมจะเป็นหมอที่เก่ง ผมคงเหนื่อยมาก เพราะมีหมอมหาศาล แต่เป็นนักวิทยาศาสตร์ทางทะเลที่เก่ง ไม่ต้องเหนื่อยขนาดนั้นเลย เพราะคุณหาไม่ได้ ทำไมคนอื่นต้องไปเลียนแบบแล้วไปแข่งกับคนเก่งๆ ทำไมไม่อยู่โดยสงบ ผมอยากเลี้ยงแมวสักตัวแล้วก็กลิ้งไปกลิ้งมา อยากทำงานก็ทำ แล้วก็ดังโดยที่ไม่ต้องแข่ง นั่นคือเป้าหมาย
...คนเราอายุตายเท่ากัน อายุเฉลี่ยมนุษย์ 70 กว่าปี กว่าคุณจะค้นเจอตัวเองอายุยี่สิบหก ผมเจอตัวเองตอนอายุสิบหก ผมก็ได้เปรียบไปแล้วสิบปี ผมยอมเสียเวลาในชีวิตขนาดนั้นไม่ได้ เนื่องจากผมต้องการใช้พลังงานในการกลิ้งไปกลิ้งมา จึงรีบทำ รีบกลิ้ง เขาเรียกอิสรภาพทางการเงิน อิสรภาพทางทุกอย่าง ใครมีอิสรภาพทางการเงินแต่ต้องคอยดูแลพี่น้องก็ยังไม่ใช่ เป้าหมายในชีวิตผมคืออิสรภาพในทุกอย่าง เป็นแบบนี้มาตั้งแต่เด็ก ไม่เห็นแปลก สิ่งที่พูดคือ common sense ซึ่งคนที่นั่งอยู่ตรงนี้ก็มี ผมเชื่อ แต่เราโดนระบบ โดนสิ่งชักจูงว่านี่คือกระแสสังคม คือกระแสที่ใช่ ดึงดูดไปจนเราไม่สามารถจะกลับมาหาจุดนั้นได้ พอดีผมทำได้”
อาสา-อาชีพ
แม้จะฟังดูผิดคาด แต่เหตุผลจาก ‘common sense’ หรือสามัญสำนึกของดร.ธรณ์นับว่ายากแก่การโต้แย้งหักล้าง อันที่จริง สามัญสำนึกที่ไม่สามัญของเขาได้ช่วยพลิกมุมให้เกิดความรู้ความเข้าใจอะไรหลายอย่างเกี่ยวความเป็นไปของวงการสิ่งแวดล้อมและสังคมในปัจจุบัน
“เราเข้าใจผิดกันตั้งแต่ต้น ผมเคยไปพูดให้พวกตลาดหลักทรัพย์ฯ ฟังหลายครั้ง คนอื่นจะเดือดร้อนยังไงก็ตาม แต่สำหรับนักสิ่งแวดล้อมอย่างผม ยิ่งโลกร้อน งานยิ่งเยอะ มันไม่ใช่ลอจิก 1+1 = 2 เหรอ ทำไมผมต้องเดือดร้อน โลกยิ่งร้อนผมยิ่งเขียนเชียร์ใหญ่ บอกว่าโลกร้อนแล้วน่ากลัว จริงๆ ผมกลัวแทนพวกคนอยู่เอสซีจี อยู่จีซี อยู่ปตท. เพราะพวกนั้นต้องโดนภาษี ส่งออกก็ลำบาก ส่งปูน ส่งแก้ว ส่งอลูมิเนียมลำบาก ซื้อน้ำมันก็แพงขึ้น เขาคือคนเดือดร้อน โลกยิ่งร้อน เขายิ่งเดือดร้อน ต้องเจอภาษี เจอคาร์บอนเครดิต ในขณะที่โลกยิ่งร้อน อาจารย์ธรณ์ยิ่งงานเยอะ แล้วคุณคิดว่าใครควรจะเดือดร้อนเรื่องโลกร้อน
…ผมสงสัยมานานว่าทำไมคนไม่เข้าใจจุดง่ายๆ แค่นี้ ทุกคนมาบอกว่า ‘ผมจะช่วยอาจารย์เอง’ ผมก็บอกไม่ต้องช่วยผม ช่วยตัวเองเถอะ ผมอยากให้โลกมันร้อนเลย ร้อนๆ วันนี้งานดับเบิ้ล ตอนนี้งานมีเยอะทำไม่ทันถึงขั้นไม่รับทำแล้ว ล่าสุดเพิ่งบอกไม่ทำ---ขี้เกียจ ดูถูกนักสิ่งแวดล้อมมากเกินไป นักสิ่งแวดล้อมต้องการเงินมากกว่านี้ มันเป็นอาชีพ ผมบอกแล้วนะว่าผมไม่ได้เป็นอาสาสมัคร มีคนที่เขาเป็นนักธุรกิจมากมายที่เขาอาสา แต่ผมไม่เคยพูดสักคำว่าอาจารย์ธรณ์อาสามาช่วยทะเล เพราะมันเป็นอาชีพผม คุณอาสาไปทำงานที่ออฟฟิศเกียรตินาคินภัทรไหมล่ะ---ไม่ใช่ ผมเรียนด้านนี้ ทำงานด้านนี้ เพราะฉะนั้นผมไม่ใช่อาสา
…ผมเคยบอกหลายคนที่มาถามคำถามแบบ ‘อาจารย์ท้อไหม’ ถ้าท้อก็อดตายสิวะ นี่คืออาชีพ ผมจะพยายามเน้นย้ำว่ามันมีอาชีพนี้อยู่ในโลก เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องธรรมชาติ ไม่ใช่เป็นหน้าที่ของอาสาสมัคร หรือคนรักธรรมชาติ แต่เป็นคนกลุ่มหนึ่งที่เขาต้องการทำอาชีพด้านการปกป้องดูแลธรรมชาติ ซึ่งอาชีพนี้ถูกมองข้าม กลายเป็นความเสียสละอยู่ตลอดเวลา และผมไม่ต้องการตรงนั้น ผมต้องการให้มันเป็นอาชีพเพราะความเสียสละมีหมด พนักงานอนุรักษ์ป่าเสียสละเรื่อยๆ มันก็หมดแรง แล้วคุณไม่รู้สึกว่าไปกินแรงเขาเหรอ ‘พี่เสียสละจัง ขอบคุณมากค่ะ ให้กำลังใจนะคะ’ ทำไมวะ กูทำอาชีพแล้วกูต้องเสียสละด้วยเหรอ นั่นคือระบบที่ผมอยากเห็น อาชีพทางสิ่งแวดล้อมมีได้จากคณะเยอะแยะเลย คณะสิ่งแวดล้อม คณะวนศาสตร์ คณะประมง คณะวิทยาศาสตร์ ช่างภาพหลายคนก็ถ่ายรูปแต่ธรรมชาติ ก็ถือว่าทำงานให้ธรรมชาติ พวกพนักงานพิทักษ์ป่า พิทักษ์ทะเล เจ้าหน้าที่กรมประมงที่วิ่งไล่จับเรือ อาชีพที่ทำงานเพื่อดูแลทรัพยากรทางธรรมชาติคืออาชีพซึ่งมีหลากหลายสาขา
ข้อสองคือคุณยิ่งไม่ทำแต่ผมทำอยู่แล้วเป็นนิสัย ผมยิ่งโดดเด่น ผมจึงสอนนิสิตอยู่เสมอ ประเทศนี้ถ้าเกิดมองในระบบภาพรวม คุณอาจจะเหนื่อยหน่อย แต่ถ้าพูดถึงระดับปัจเจกชน หมายถึงคนต่อคน นี่คือประเทศที่คุณควรจะอยู่
...บอกเป๊ะๆ ไม่ได้ว่าจะต้องทำอะไรคนถึงเข้าใจว่ามันเป็นอาชีพ ระบบก็เป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว แต่มันเป็นความเชื่อ ถ้าเกิดซีอีโอเพื่อนผมไปพูด เขาได้สองหมื่น แต่ถ้าอาจารย์ธรณ์ไปพูด เราจะได้ขันน้ำ ได้โล่ คล้ายกับว่าถ้ากูไปพูดเรื่องสิ่งแวดล้อม กูต้องเสียสละเพื่อสังคม ในขณะที่ถ้าเกิดซีอีโอไปพูดเรื่องเทคนิคในการทำมาหากิน เขาจะต้องได้สตางค์เยอะๆ แต่ตอนที่คุณโดนปรับคาร์บอนเครดิตหรือเสียเงินค่าภาษี ทำไมไม่คิดบ้างว่าเรื่องที่ผมพูดมันเกี่ยวกับสตางค์คุณเหมือนกัน ถ้าเข้าใจตรงนั้นก็จะเข้าใจทุกอย่าง ถามว่าแก้ยังไงก็พยายามแก้อยู่ แก้สำเร็จสำหรับตัวเองแล้ว สำหรับวงการก็ช่วยเต็มที่เท่าที่ทำได้ แต่ก็คงไม่ได้มีความฝันสูงสุดว่าจะแก้อันนี้ให้สำเร็จจนทั้งหมด ทำเท่าที่ทำได้เมื่อมีโอกาส”
ไกลเกินเป้า
ในนวนิยายเรื่อง ‘โชกุน’ ของเจมส์ คลาเวลล์อันโด่งดัง ไดเมียวโทรานากะผู้ฉลาดเป็นกรดกล่าวโต้ตอบหัวหน้านักบวชชาวต่างชาติที่พยายามมาหว่านล้อมว่าตนจะพยายามช่วยไดเมียวเต็มที่ด้วยประโยคว่า “คำว่า ‘พยายาม’ นั้น ทั้งเป็นนามธรรม และไม่เพียงพอ” ซึ่งน่าจะฟังแล้วสอดคล้องกับสิ่งที่หลายคนอาจคิดอยู่ในหัวยามได้ยินมติเรื่องสิ่งแวดล้อมจากที่ประชุมระดับโลกต่างๆ เพราะในขณะที่ระดับคาร์บอนของโลกไม่ลดลง นานาประเทศดูจะต้องการแค่ ‘พยายาม’ เต็มที่ แต่ไม่ยินดีผูกมัดตัวเองกับเป้าใดๆ อย่างไรก็ตาม แนวคิดแบบนี้อาจใช้ไม่ได้กับดร.ธรณ์ เพราะสำหรับเขา การพยายามอย่างเต็มที่ตามโอกาสนั้น บ่อยครั้งมีพลังอย่างที่ ‘เป้า’ ให้ไม่ได้
“เราจะตั้งเป้าเพื่ออะไร ตั้งเป้าเพื่อเพิ่มแรงฮึดให้เราไปถึงเป้า แต่ส่วนตัว ผมไม่ต้องการเป้าเพื่อสร้างแรงฮึด ผมต้องการโอกาส ผมเป็นอย่างนี้อยู่แล้ว แม้กระทั่งอาจารย์ที่สอนผมมาตั้งแต่เด็กก็บอก อย่าบ้าพลังมากเดี๋ยวตายเร็ว ผมบอกผมไม่ได้บ้า เพียงแต่สิ่งที่ผมยอมไม่ได้คือการมีโอกาสแล้วไม่ทำอะไร ทำงานด้านนี้มา 30-40 ปี ผมเห็นโอกาสแทบทุกวัน เพราะฉะนั้นผมก็แค่ดึงโอกาสมาทำโครงการต่างๆ อย่างมาหยา ผมก็ดูโอกาสแล้วก็ทำมา 5 ปี มันก็โอเคแล้ว ตอนนี้ทำเรื่องบลูคาร์บอนก็ทำมา 3-4 ปีแล้ว เพราะฉะนั้น เป้ามีไว้สำหรับคนที่ฮึดไม่พอ สำหรับคนที่รู้สึกว่าไม่สามารถจะสูญเสียโอกาสใดๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตได้ ไม่จำเป็นจะต้องมีเป้า
…ผมเป็นคนที่ใช้ผลตอบแทนและแรงจูงใจสูงมากในชีวิต ผมจบสาธิตจุฬาฯ ด้วยเกรด 2.01 แต่เข้าวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ติดท็อป 5 เพราะพ่อบอกว่าถ้าติดท็อป 5 จะได้รถ จะเรียกเป้าไม่เป้าไม่รู้ แต่ถ้ากูฮึด กูสอบได้ แล้วผมก็เอารถไปจีบสาว ผมทำงานตั้งแต่อยู่ปีสอง อาจารย์จ้างเป็นผู้ช่วยนักวิจัย ก็เอาเงินไปซื้อรถ แต่งรถ กินเหล้า อัดรถ รถพัง แต่งรถใหม่ สนุกสุดๆ สมัยนั้นต้องไปบรื๊นๆ หน้าพาเลซ แข่งรถตรงวิภาวดี ขับรถแล้วก็กระชากให้มันกลับหลังให้ได้ ตีโค้งตรงสุทธิสาร วิ่งกลับมาที่ดินแดง นี่คือเคล็ดลับว่าทำไมผมถึงสามารถอยู่รอดจากวงการต่างๆ ไม่ท้อไม่ถอยเพราะผมเข้าใจความใจแตก กว่านี้กูก็ทำมาแล้ว
...สมัยก่อนแต่งรถสนุก มันคือความท้าทาย ต้องมานั่งทำทีละอย่าง ต้องหาเงิน พ่อไม่ให้เงินแต่งรถ รถที่พ่อเอามาให้ผม พ่อยังต้องซื้อมาจากแม่ ตอนแรกผมก็งง รถมันต้องออกมาจากโชว์รูมไม่ใช่เหรอ ทำไมคันนี้มันรถแม่วะ แถมแม่ก็ไม่ได้ให้พ่อฟรี พ่อต้องซื้อจากแม่ ครอบครัวผมเป็นอย่างนี้ อยากได้อะไรต้องพยายาม กว่าจะใส่เฮดเดอร์ได้ ผมต้องทำงานเก็บเงินตั้ง 4-5 เดือน แล้วมานั่งดูว่าอันไหนเหมาะ ใช้เวลาเลือกบริษัทติดเฮดเดอร์เป็นอาทิตย์ รีเสิร์ชข้อมูล อันนั้นก็อีกส่วนหนึ่งที่ทำให้ผมรู้วิธีเสิร์ชข้อมูล สำหรับมาเขียนหนังสือ ผมไม่ได้รู้จากการเขียนเปเปอร์ ซึ่งมันมีระบบของมัน เสิร์ชข้อมูลทั่วไปนี่ผมรู้จากการแต่งรถ”
บ่มน้ำหมึก
ข้อมูลประกอบการเขียนเป็นทักษะที่ดร.ธรณ์ได้มาจากการค้นคว้าเพื่อแต่งรถ แต่ผู้ที่ได้ติดตามเพจหรือหนังสือของดร.ธรณ์ รู้ดีว่าสิ่งที่ได้จากเพจไม่ใช่เพียงแค่ข้อมูล หากเป็นสำนวนการเขียนที่ทุ้มนุ่มหรือกรีดลึกเข้าไปไปในใจ หลายคนมาถามเรื่องเทคนิคของการถ่ายทอดเรื่องราวสารพันให้เปี่ยมชีวิตและชิดใกล้ความรู้สึก แต่ในขณะที่เทคนิคบางอย่างอธิบายได้ บางอย่างกลับเป็นผลประกอบการจากเส้นทางชีวิตเฉพาะตัว
“คำถามว่าเทคนิคคืออะไร เทคนิคก็คือเริ่มเขียนหนังสือตั้งแต่ม.3 ทำหนังสือทำมือ ไปงานคอมิเกะ โดนปาทิ้งไปสิบห้าปี ผมออกงานหนังสือเล่มแรกขายได้เจ็ดเล่ม เพราะเดินไปขายเองสิบวัน ถ้าทำอย่างงี้ให้ได้แล้วค่อยมาถามเทคนิค ตอนผมเขียนลงนิตยสารอันแรก ผมไปแอบอยู่หลังแผงหนังสือหน้าบ้าน ยืนยิ้มรอขึ้นรถเมล์ ทั้งที่ไม่ได้อยากขึ้น เพื่อดูว่าเมื่อไหร่จะมีคนมาหยิบนิตยสารเล่มนั้นแล้วเปิดบ้าง ยืนอยู่สามชั่วโมงสมัยนั้นตั้งแต่ ‘อสท.’ แล้วก็มี ‘ท่องโลกธรรมชาติ’ เก่ามากแล้ว สามสิบปีแล้ว
…ถ้าพูดจริงๆ ผมได้จากหนังสือค่อนข้างเยอะ ผมเป็นลูกคนเดียวมานานมากก่อนมีน้องชาย แล้วผมไม่มีเกม ไม่มีทีวี ต่อให้เปิดทีวีได้ก็ไม่รู้จะดูอะไร หนังเด็กมีให้ดูแค่ครึ่งชั่วโมงต่อวัน เชื่อว่าผมอ่านเยอะมากกว่ามาตรฐานของคนทั่วไป ต่อให้เป็นยุคนั้น ปิดเทอมก็ไปอยู่กับคุณปู่คุณย่า คุณป้ามี 7-8 คน ทุกคนสะสมหนังสือเป็นตู้ ก็อ่านหมดเลยตั้งแต่ ก. สุรางคนางค์ ทมยันตี ไล่มาเรื่อยๆ ‘เสือดำ’ ‘เสือใบ’ ‘พล นิกร กิมหงวน’ ของป.อินทรปาลิต ของครูมาลัย ชูพินิจ อ่านไม่รู้กี่เล่ม นิยายคนเขียนที่รองๆ ลงมาผมก็อ่าน นิยายจีนผมก็อ่าน หนังสือที่ชอบจริงๆ ไม่มี มันก็ผสมกันไปผสมกันมา ของฝรั่งที่ชอบคือ ‘บ้านเล็กในป่าใหญ่’ ของลอร่า อิงกัลส์ ไวเดอร์ นั่นคือหนังสือที่สมถะที่สุดในการใช้ภาษาแล้ว บรรยายจนอ่านแล้วรู้ แต่ไม่ต้องบรรยายฟุ่มเฟือย ถ้าแนวปรัชญาเพื่อชีวิตก็ ‘ผลพวงแห่งความคับแค้น’ ของจอห์น สไตน์เบ็ค
เราเกลียดเราด่าระบบนั้นในโซเชียลมีเดีย แต่ตอนทำงานเราก็ตกอยู่ในระบบนั้น คิดอะไรง่ายๆ คิดสู่เป้าหมายที่เราต้องการอย่างแท้จริงและเราจะตอบคำถามที่ดูเหมือนจะปรัชญาได้ สำหรับผมไม่มีปรัชญา มันเป็นแค่ 1+1=2 เพียงแต่ว่าถ้าเราปั่นป่วนด้วยอย่างอื่นเราก็จะคิดไม่ได้
...ผมอ่านหนังสือแปล ภาษาอังกฤษผมไม่ได้เก่งมากขนาดนั้น ทุกคนจะคิดว่าเก่ง คนบอกทำไมไปเมืองนอกได้ ก็ผมไม่ได้ไปจีบเขานี่ ผมไม่รู้จักแม้กระทั่งคำทักทายสวัสดีภาษาเยอรมัน อยากได้อะไรก็ยกแบงก์ยูโรขึ้นมาแล้วก็วาง แล้วก็ได้สิ่งนั้นมา มันควรต้องพูดด้วยเหรอ ผมไม่ได้อยากจะมีเพื่อน ไม่อยากไปค้นหาชีวิต กูไป-กูเที่ยว-กูกลับ เพราะฉะนั้นผมอ่านภาษาไทยหมด และมันเป็นข้อดีมากเลยเพราะตอนนี้คนไทยเก่งภาษาอังกฤษมากกว่าภาษาไทย ทำให้ผมสามารถใช้ภาษาไทยของผมเป็นอาวุธ คนใช้ย่อหน้าเก่งๆ ตัดย่อหน้าดีๆ ก็คือท่านคึกฤทธิ์ ปราโมช เพราะใครอ่านสยามรัฐสมัยก่อน จะเห็นว่าท่านเขียนแค่ 3 บรรทัดแล้วตัดย่อหน้า ตอนนั้นคนไม่ค่อยชอบเพราะว่าตามที่เรียน เวลาเขียนหนังสือต้องเขียนย่อหน้ายาวหน่อย แต่ถ้าเกิดเอามาลงในเฟซบุ๊กหรือในโซเชียลมีเดียตอนนี้ตอบโจทย์เลย
...แต่เอาจริงๆ การเขียนมันสอนไม่ได้ มันเป็นอะไรที่ต้องซึม คุณต้องอ่าน แล้วก็อ่าน แล้วก็อ่าน มันถึงจะซึม ถ้าเกิดมันสอนได้ คนอื่นเขาก็สอนกันไปนานแล้ว”
อินฟลูเอน(ไม่)เซ่อ
ด้วยจำนวนผู้ติดตามเพจเฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat นับแสนและยอดเอ็นเกจเมนต์นับพันนับหมื่นสำหรับหลายๆ โพสต์ เห็นได้ชัดว่าดร.ธรณ์สามารถเคลื่อนจากบรรณพิภพอันเป็นกระดาษ ที่เขาเคยฝากผลงานหนังสือไว้กว่ายี่สิบเล่ม ตั้งแต่ ‘101 ปลาทะเลไทย’ ‘สมุทร...บันทึกอันดามัน’ ‘พาหวานใจไปปักกิ่ง’ ไปจนกระทั่ง ‘ใต้ทะเลมีความรัก’ หรือ ‘มาเรียมกับถุงพลาสติกพันใบ’ มาสู่แพลตฟอร์มดิจิทัลได้อย่างลื่นไหล พิเศษไปกว่านั้น เขาดูจะอยู่บนโลกโซเชียลได้โดยไม่ตกเป็นเบี้ยล่างของอัลกอริธึ่ม ชัดเจนว่าเขาไม่ยอมถูกผลักดันให้เขียนหรือโพสต์ในสิ่งที่ไม่ตอบโจทย์ชีวิตและงาน แม้ว่ายอดไลก์จะดีเพียงใดก็ตาม
“ผมชอบเขียนหนังสือ เดิมทีผมก็เคยเขียนหนังสือเพื่อหาสตางค์ ถึงยุคนี้ผมไม่จำเป็นต้องพึ่งการตีพิมพ์หนังสือ ผมก็เลยเขียนในสิ่งที่ผมอยากเขียนบนเฟซบุ๊ก มันเป็นอิสระกว่าเยอะ จะให้กลับไปเขียนบทความ มันอึดอัด การเขียนสมัยก่อนเหมือนเป็นโปรเจกต์ ต้องดูนู่นนี่มากไปหมด จนสุดท้ายทำให้สิ่งสำคัญที่สุดของการเขียนหายไป คืออารมณ์ แต่ตอนหลังเป็นอิสระ เขียนเท่าที่อยากเขียน ด่ามากกูก็บล็อคมึง เงินก็ไม่ได้อยู่แล้ว เรื่องเล็กก็ได้ เรื่องใหญ่ก็ได้ เวลาคนอื่นเขียนสั้น ผมก็จะเขียนยาว เวลาคอนเทนต์เฟซบุ๊กมุ่งหน้าสู่เรื่องดาราเลิกกัน ผมก็จะเขียนเรื่องวิชาการให้มันหนักขึ้น
…ผมใช้วิธีเดียวกับที่ผมเลือกเรียนวิทยาศาสตร์ ในเมื่อธรรมชาติ 90% ของคอนเทนต์ที่คนกดไลก์ คือดราม่า ผมก็จะไปอยู่ในคอนเทนต์ 10% ที่มีความสุขดี ผมไม่สนใจไลก์ ผมไม่ได้ทำเพจ ไม่มีการสปอนเซอร์ และผมก็มั่นใจว่ายังมีคนที่อยากอ่านคอนเทนต์ที่คุณจะอยู่ส้ม อยู่เหลืองก็สามารถอ่านได้โดยไม่รู้สึกตะหงิดๆ งานด้านธรรมชาติสิ่งแวดล้อมต้องเป็นกลาง เพราะไม่ว่าจะพรรคไหน ขึ้นมา ธรรมชาติก็เป็นของทุกคน ฝุ่นโดนกันทุกคน ทะเลเน่าก็เจ๊งกันทุกคน ง่ายที่สุดก็คือเขียนเป็นดราม่า เขียนจิ๊ดเดียวดราม่าก็ยาวแล้ว แต่ผมไม่ค่อยชอบ รู้สึกว่ามันไม่ใช่หน้าที่ของนักวิทยาศาสตร์ มันน่าจะมีคอนเทนต์ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อระบบมากกว่า และเรื่องดราม่าก็มีคนทำอยู่แล้ว ผมก็แผ่วด้านนี้ลง
…คำถามคือผมจะเอาไลก์มาทำไม มันเป็นเฟสส่วนตัว ไม่ใช่เพจด้วยซ้ำ ผมอยากได้ไลก์น้อยๆ แต่สตางค์เยอะๆ ซึ่งตอนนี้ก็ประสบความสำเร็จอยู่ เรื่องดังผมพอแล้ว ยิ่งดังยิ่งซวย มีแต่คนใช้งานฟรี อย่าลืมว่านักสิ่งแวดล้อมดังเมื่อไหร่ซวยเมื่อนั้น เราไม่ใช่โค้ชชิ่ง โค้ชชิ่งต้องดัง แต่นักสิ่งแวดล้อม ยิ่งดัง คุณจะได้ขันเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้นเสียเวลาชีวิต ผมไม่มีกงสี ไม่มีบริษัท ไม่เคยทำการท่องเที่ยว ลูกก็ไม่ได้จะมุ่งหน้าวงการประกวด ไม่งั้นดังแล้วยังหน้าด้านขอไลก์ให้ลูกได้ เป้าของผมมีแค่ทำให้คนรู้ว่าถ้าอยากได้อาจารย์ธรณ์ คุณจะไม่มีตัวเลือกอื่น ถ้าอยากจ้างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ให้ทำงานด้านนี้ๆ คุณจะไม่มีตัวเลือก เพราะโครงการของผม เอาเข้ามหาวิทยาลัยทุกอัน เวลาคุณจะมีอีเวนต์เปิดตัวสินค้า คุณก็ยังเชิญเพจนู้นเพจนี้ได้ แต่ถ้าอย่างงานที่ผมทำ ทำเรื่องบลูคาร์บอน คุณจะไปจ้างใคร”
มาสเตอร์คลาส
สำหรับคนภายนอก บทบาทความเป็นอาจารย์ของดร.ธรณ์ อาจไม่ปรากฏชัดเท่าภาพของ ‘อินฟลูเอนเซอร์’ หรือนักสิ่งแวดล้อมผู้เปี่ยมพลังแต่แท้ที่จริง ทำนองเดียวกับคลาสความยุติธรรม (Justice) ของไมเคิล แซนเดลที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ที่เป็นคลาสยอดนิยมกว่าสองทศวรรษที่มีคนลงเรียนมากกว่าหนึ่งพันคนทุกภาคเรียน อาจารย์ธรณ์คือผู้ก่อตั้งวิชาที่ได้รับความนิยมสูงสุดของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ชื่อ Man & Sea ที่มีนิสิตลงทะเบียนปีละกว่าหกพันคน
“เราไปยึดติดกับเครื่องมากไป ประเทศเรามีเงินน้อย แต่เราก็จะไปซื้อเครื่อง สร้างอาคาร ยึดติดกับสิ่งก่อสร้าง คนของเราไปอบรมกลับมาก็ลืมหมด ไม่ได้ฟัง ไม่เข้าใจ หรือศักยภาพไม่ถึง หรืออบรมมาก็ไม่มีอุปกรณ์ให้ใช้ตามที่อบรม วนอยู่แค่นี้ ตอนที่ผมทำ Floating Solar ให้คณะ ผมพูดชัดเจนว่าประเทศนี้นิสิตนักศึกษาน้อยลง จะสร้างตึกทำไม สร้างตึกก็ต้องจ้าง จากนั้นก็ต้องจ้างแม่บ้าน จ้างยาม มีแต่เรื่องเสียสตางค์ เสร็จแล้วก็บ่นว่าสตางค์ไม่พอ แต่พอทำโฟลตติ้งโซลาร์ ตอนนี้ประหยัดเงินได้เจ็ดแสนแล้ว หรือผมทำ ‘ชอบปลาชุมคาเฟ่’ ของคณะประมง เป็น net-zero cafe แห่งแรก ไม่ต้องสร้างตึก ใช้ไฟฟ้าจากโฟลตติ้งโซลาร์ทั้งหมด วัสดุทั้งหมดเป็นรีไซเคิลหรืออัพไซเคิล รถผมก็ใช้ ZEV (zero-emission vehicle) ผมก็พาเด็กมาดู
มันกลับมาเหมือนเรื่องงานที่ทำ เพราะเราไม่ได้ตั้งเป้าตู้มเดียวให้รถเราแรงขึ้นเท่าไหร่ แต่เราค่อยๆ เก็บไปทีละอย่าง ทีละนิด ทีละหน่อย ใช้เวลา ตอนจบมันก็จะทำให้เราเข้าใจกับระบบนั้น การกำเงินไปทำ กับการค่อยๆ แต่ง ค่อยๆ ชื่นชมทีละเล็กทีละน้อย มันเป็นการสร้างงานที่ต่างกัน แต่ตอนจบระบบอย่างนี้มันจะโค่นยากกว่า ความเสี่ยงน้อยกว่า เนื่องจากคุณรู้หมดแล้ว
...เด็กรุ่นใหม่เขาไม่ได้สนใจตึก เด็กที่นี่เวลาสอนเขาเบื่อมากเลย กับการนั่งดูสไลด์ หรือเอาผู้เชี่ยวชาญมาพูดให้ฟัง แต่ถ้าพาไปดูของจริงแล้วตะโกนบอกว่า อยากให้พ่อแม่เหลือเงินมาเติมเกมให้พวกคุณมากกว่านี้ไหม นี่คือโซลาร์ เรามาศึกษากัน แค่นี้ก็จบแล้วเพราะมันตอบโจทย์เด็ก เราชอบสอนเด็กโดยเอาสิ่งที่เราคิดว่าดีให้เด็กดู แต่ถ้าเกิดสอนในสิ่งที่เด็กอยากดูมันได้ผลดีกว่า พูดใครก็พูดได้ แต่พอดีผมสอนวิชา Man & Sea ปีละหกพันคน วิชาเลือกเสรีที่มีนักเรียนลงทะเบียนมากที่สุดในมหาวิทยาลัยเกษตรฯ ณ ตอนนี้ ตั้งใจไว้ว่าสักวันจะเข้ากินเนสส์บุ๊กว่านี่คือวิชาเกี่ยวกับทะเลที่ใหญ่ที่สุดในโลก
…ผมแหกปากบอกคณบดีฯ ว่านี่ไม่ใช่วิชาบูรณาการ นี่คือวิชาผม ห้ามทุกคนเสนอความคิดเห็น ไม่งั้นผมจะปิด ผมเชื่อว่ามีเรื่องราวมากมายที่คนอยากรู้ที่เกี่ยวข้องกับท้องทะเลและเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน ไม่ใช่ไปพยายามสอนให้คนรู้จักชื่อแมงดาเป็นภาษาลาติน ผมจึงเปิดวิชา Man & Sea ขึ้นมาเพื่อสอนเรื่องโลกร้อน หรือสอนสาวๆ เรื่องครีมกันแดดว่า PA+ PA++ PA+++ แตกต่างกันยังไง ต้องซื้อแบบไหนให้แมตช์กับตัวเองต้องการผิวแทนต้องซื้อแบบไหน ผิวขาวแบบบล็อคจริงต้องซื้อแบบไหน หรือสอนเรื่องปลาดิบว่าซาชิมิโอโทโร่ ชูทาโร่ ต่างกันยังไง ถ้าแฟนเลี้ยงโอมากาเสะ จะสั่งอะไรให้คนที่ออกเดตกับเรามันทิ้งเราไปเลย สอนว่าไปเที่ยวประเทศไหน ฯลฯ สอนสิ่งที่เขาอยากรู้สิเว้ย เด็กถึงได้อยากเรียน แต่ก็ต้องใส่เรื่องโลจิสติกส์ One Belt, One Road เรื่องแหลมฉบัง เรื่องรถไฟความเร็วสูง เรื่องการพัฒนาต่างๆ เข้าไปด้วย
...งานหลักของผมคือเป็นอาจารย์ สิ่งที่อาจารย์ต้องทำมีอยู่สองกรณีก็คือ กรณีแรกคือสอนนิสิตจนมาเป็นอาจารย์ได้ ซึ่งลูกศิษย์ในภาคผมก็เป็นอาจารย์กันเกือบทุกคนแล้ว กรณีที่สองคือทำอะไรที่จารึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ในฐานะอาจารย์ อันนี้ก็คือการเปิดวิชาเลือกเสรีที่ชื่อ ‘Man & Sea’ วิชานี้มันได้สตางค์ ค่าหน่วยกิตต้องแบ่งมาให้ภาควิชา ในเมื่อวิชานี้มีนักเรียนหกพันคน รายได้ค่อนหนึ่งของภาควิชาจึงมาจากวิชานี้วิชาเดียว ผมไม่อยู่ลูกศิษย์ก็สอนแทนได้ ดังนั้น รายได้ของภาควิชาก็จะมั่นคงไปอย่างน้อยอีก 10-20 ปี เพราะเกษตรฯ คงจะมีนิสิตน้อยลงช้าที่สุด เพราะเราเก็บค่าเทอมถูกสุด ทั้งเทอมเสียแค่ 14,000 บาท สู้ด้วยความถูก ซึ่งคนที่สู้ด้วยความถูกก็คือคนที่เจ๊งคนสุดท้าย ต่อให้มหาวิทยาลัยอื่นเจ๊ง แต่เราก็จะยังไม่เจ๊ง เพราะเราถูกกว่า
... เรื่องของคนอื่นจะทำหน้าที่อย่างไร ผมไม่ได้สนใจ ใครไม่ทำหน้าที่ก็โง่เอง ผมไม่ได้เป็นซีอีโอ ไม่ได้เป็นเอชอาร์ ถ้าเกิดผมเป็นเอชอาร์ ผมอาจจะเดือดร้อน เพราะนั่นคือหน้าที่ แต่ผมไม่ใช่ ข้อสองคือคุณยิ่งไม่ทำ แต่ผมทำอยู่แล้วเป็นนิสัย ผมยิ่งโดดเด่น ผมจึงสอนนิสิตอยู่เสมอ ประเทศนี้ถ้าเกิดมองในระบบภาพรวม คุณอาจจะเหนื่อยหน่อย แต่ถ้าพูดถึงระดับปัจเจกชน หมายถึงคนต่อคน นี่คือประเทศที่คุณควรจะอยู่ ตอนผมจบปริญญาเอก ที่ออสเตรเลียเขาก็อยากให้ผมอยู่ ผมบอกผมจะอยู่ทำบ้าอะไร กูเห็นพวกมึงทำงานกันแล้วกูตายแน่ มันผิดวัตถุประสงค์แรกในชีวิตกูแล้วคือต้องแข่งขัน เราไม่อยากแข่งขัน อยากนอนกลิ้งไปกลิ้งมา
...เพราะฉะนั้นกลับมาเมืองไทย พยายามเล็กๆ ก็ได้แล้ว ผมผ่านมาหมด ตั้งแต่อเมริกา ทั้งออสเตรเลีย ฟัดกับพวกนั้นรายได้ดี ทุกอย่างสุดยอด แต่เหนื่อยมาก แต่ในประเทศนี้ พยายามหน่อยเดียวก็พอแล้ว เพราะว่า เรามุ่งหน้าด้วยความพยายามหาตัวเลขในวันที่ 1 กับ 16 ของเดือนเป็นความหวังเดียว หรือการติดตามข่าวดารา ความพยายามด้านงานน้อยมาก ขอให้เราใส่ความพยายามเพิ่มเข้าไปนิดเดียว เราชนะแล้ว นี่คือสิ่งที่ผมสอนนิสิตแล้วนิสิตชอบมาก ไม่จริงเหรอ น้องผมอยู่เมืองนอกบอกว่าเหนื่อยมาก เงินเดือนมันเดือนละล้านกว่า เพียงแต่ว่าตอนทำงานไม่ต้องพูดถึงเลย พอเวลางานเข้าปุ๊บ---ตายเลย”
เสียชาติ(ต้องให้)เกิด
ดร.ธรณ์อาจไม่ให้เครดิตตัวเองในประการใดๆ นอกเสียจากว่าตนหิวเงิน และต้องการชีวิตที่สมอยากในเส้นทางที่ลัดสั้นที่สุด กระนั้น มุมมองแบบจุลภาคสุดขั้วแบบนี้ กลับให้ผลเป็นการเปลี่ยนแปลงนโยบายในระดับมหภาคในแบบที่มีประสิทธิผลอย่างน่าประหลาด อย่างที่ได้กล่าวแล้ว คำตอบของดร.ธรณ์มักพลิกความคาดหมายจนคล้ายคำพูดอำ แต่ขณะเดียวกันหากคิดตามก็จะพบว่าเหตุผลของเขานั้นยากจะโต้เถียง
“ผมจะเป็นปัจเจกก่อน ที่สัมภาษณ์มาทั้งหมดผมเคยพูดเหรอว่าผมใฝ่ฝันจะเห็นประเทศชาติที่ดีขึ้น ผมไม่เคยพูด พูดแต่ว่าผมขี้เกียจเหนื่อย ไม่ใช่แค่อยากได้สตางค์ ผมอยากเหนื่อยน้อยๆ แต่ได้สตางค์เยอะๆ ถ้าเกิดได้สตางค์เยอะๆ แล้วเหนื่อยเยอะๆ ก็ไม่เอา---จบ ดังนั้น ผมชอบการทำงานที่เหนื่อยน้อยๆ แต่ได้ผลเยอะๆ และผมค่อนข้างมั่นใจว่าประเทศนี้เราทุ่มเทกับอะไรที่ไม่ค่อยเกิดมรรคผล แต่เรารู้สึกว่ามันเป็นงาน
...อย่างการประชุม ประชุมทำไมก็ไม่รู้ ประชุมๆ ทั้งที่จริงๆ หัวหน้าสั่งลูกน้องเลยก็ได้ ไม่รู้จะขอความคิดเห็นทำไม ในเมื่อทุกคนก็นั่งเงียบ ท้ายสุดก็เป็นหัวหน้าที่สั่งลูกน้อง 5 นาทีก็เสร็จ เพียงแต่หัวหน้ากลัวว่า KPI จะไม่ผ่าน เพราะถ้าเกิดสั่งลูกน้อง มันใช้เวลาแค่ 5 นาที ประชุมใช้เวลาท 4 ชั่วโมง เราเลยต้องมีการประชุมไม่ใช่เพื่อผลผลิต แต่เพื่อให้ผ่าน KPI ในการทำงานของหัวหน้าและลูกน้อง ถามจริงๆ เถอะ ประชุมแล้วได้อะไรที่รู้สึกว่าคุ้มกับที่ต้องเสียเวลาชีวิต 4 ชั่วโมง ไปดูหนังดีกว่า เราควรประชุม เมื่อเราต้องการกลไกการประชุม ผมไม่ได้ปฏิเสธ แต่การประชุมเพื่อระดมความคิดไปวันๆ เอะอะประชุมตลอด ผมว่ามันเสียเวลาในชีวิต
…ถ้าแค่ประชุมแล้วสั่งการไป ผมรู้ว่ามันเจ๊ง มันไม่มีผล เพราะว่าคนทำเขาไม่อยู่ในห้องประชุม มีแต่หัวหน้ามัน ซึ่งต้องประชุมวันละ 4 อัน เขาก็จะแค่ตะโกนสั่งคนที่เดินตามหน้าห้องหนึ่งคำ แล้วก็ประชุมไป ไอ้หน้าห้องก็จดยิกๆ กว่าจะสั่งการลงไปถึงลูกน้อง ทุกอย่างก็จางหายหมด บางทีสั่งให้ลูกน้องเตรียมระบบ ให้เตรียมใช้ระบบเอไอ เพื่อจดจำหน้านักท่องเที่ยว ลูกน้องก็เ_ี้ยอะไรวะ ---เข้าใจไหม เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า เงินเดือน 7,200 เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผมทำสำเร็จเนี่ย ผมทำเป็นเส้นตรงแนวดิ่ง ทุกอันเหมือนกันหมด
. . .ผมเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นสปช. (สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ) ผมเป็นคนเสนอในห้องประชุมแล้วก็หอบบันทึกการประชุมวิ่งมาจนถึงหาดทราย แล้วก็ใช้อำนาจของการเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ว่าผมมาแล้วนะ แล้วก็ตอกๆ ป้ายเอง ประเทศไทยเราส่วนใหญ่จะใช้คำว่าสั่งการแล้ว แต่นี่ผู้ทรงคุณวุฒิใส่กางเกงขาสั้นมานั่งตอกป้ายป๊อกๆ ว่า ‘อย่าจับฉลามนะคะ’ ไม่อย่างนั้นมันจะสำเร็จได้ยังไง กูนี่แหละคนเชื่อม เพราะผมไม่สนใจคนอื่น เป็นประธานที่ประชุม เป็นคนเสนอ เป็นคนปิดประชุมสรุป บันทึกการประชุมผมก็เป็นคนสั่งให้เขียน แล้วก็หอบบันทึกประชุมอันนั้นวิ่งลงมาข้างล่างเอง ต้องไปกินเหล้านั่งคุยกับคนในพื้นที่ จึงประสบความสำเร็จ ถ้าไม่สำเร็จก็ไม่มีอ่าวมาหยา ไม่มีเกาะตาชัย ไม่มีสัตว์สงวนทั้งสี่ เต่ามะเฟืองก็ไม่มาไข่
…ผมไม่ได้เหนื่อยนะ ผมแค่รู้สึกว่าผมเสียดายเวลาในชีวิต ประชุม 4 ชั่วโมงไม่ได้อะไร มีแต่ ‘เรามาตรวจสอบบันทึกการประชุมกันก่อนว่าผิดพลาดไหม’ คล้ายกับว่าบันทึกเป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ที่จะอยู่ต่อไปชั่วลูกชั่วหลาน ทั้งที่จริงๆ เดี๋ยวก็โยนทิ้งขยะไปเรียบร้อยแล้ว นั่นแหละคือสิ่งที่ผมเสียดาย เพราะฉะนั้นผมจะไม่ถือว่าผมเหนื่อย ผมรู้สึกผมเสียดายเวลาในชีวิต ตอนผมเป็นสปช. ผมประชุมทุกวัน เข้าสภาทุกวัน เสียเวลาไปเยอะมาก สุดท้ายผมไม่ได้อยากได้บันทึกการประชุม หรือต่อให้กฎหมายมันผ่านแต่ไม่มีผลก็ไม่เอา เพราะฉะนั้นอย่างน้อย ผมจะเอาอะไรที่ผมทำตอนนั้น มาทำจนสำเร็จ ซึ่งก็เสร็จหมดแล้ว จบ---ถือว่าผมไม่เสียดายเวลาในชีวิต
…ผมดันโง่เข้าประชุม เป็นคณะกรรมการระดับชาติต่างๆ แล้วคิดไปว่ามันจะมีอำนาจ แล้วสุดท้ายมันดีนิดเดียวแค่มันทำให้เรามีอำนาจในตัวเรามาเปลี่ยนแปลง คือถ้าอยากเปลี่ยนแปลง ก็ต้องลงมาเปลี่ยนเอง เทคนิคของผมคือเป็นประธานที่ประชุม คนไหนมีปัญหาก็ไม่ต้องเชิญ เพราะจริงๆ แล้วผมไม่ต้องการการประชุมอะไรเลย ผมอยู่มาร่วมสี่สิบปีแล้ว เกาะลิบงคุณพ่อผมก็เป็นคนเปิด พะยูนผมก็นั่งดูมันมาตั้งแต่ปักป้ายเกาะลิบงแล้ว แล้วผมอยู่ในหลายสถานะ ผมเป็นกรรมการชาติ 7-8 คณะ เป็นกรรมการปตท. เป็นกรรมการองค์กรต่างๆ ในเอกชน เป็นผู้ทรงฯ ของศาล พูดให้ตลาดหลักทรัพย์ไม่รู้กี่ปีแล้ว อบรมให้สภาพระปกเกล้าฯ ไม่รู้กี่ครั้ง คำถามของผมก็คือแล้วทำไมผมต้องเชื่อคนอื่นที่ไม่เคยรู้อะไรเลย ถ้าเป็นเรื่องเฉพาะตัวว่าปลาตัวนี้สปีชีส์อะไรผมไม่เคยเถียง เพราะผมไม่ได้สนใจอะไรตรงนั้น แต่ในเรื่องของการประสานงานผลักดันให้เกิดขึ้น ผมทำมาตลอด”
ดวงตาของเราที่เบิกโพลงเหมือนเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่งยามได้รับฟังวิธีการทำงานของดร.ธรณ์ ดูเหมือนจะทำให้เขายิ่งเห็นประเด็น
“ยิ่งผมพูดแล้วคุณตกใจมากเท่าไหร่ ผมยิ่งยินดี พูดตามตรงพวกเราเองยังติดอยู่ใต้ค่านิยมและความเชื่อของประเทศนี้ สิ่งที่ผมพูดไม่ได้เป็นการค้นพบที่ใหม่อะไรเลย เพียงแต่บางครั้งเราอยู่ในกรอบ เราเห็นหน้าเจ้านายมากเกินไป เราโดนสั่งมากเกินไป จนเราฝังเข้าไปอยู่ในระบบนั้นโดยไม่รู้ตัว เราเกลียดเราด่าระบบนั้นในโซเชียลมีเดีย แต่ตอนทำงานเราก็ตกอยู่ในระบบนั้น อย่างนิสิตไม่ชอบระบบการสอน แต่ก็ติดค่านิยมแบบนั้น เช่น มาถามว่าทำไมอาจารย์อ่านไม่เหมือนกับในแผ่นสไลด์ งั้นมึงเอาแผ่นสไลด์กลับบ้านไปอ่านเลย คิดอะไรง่ายๆ คิดสู่เป้าหมายที่เราต้องการอย่างแท้จริงและเราจะตอบคำถามที่ดูเหมือนจะปรัชญาได้ สำหรับผมไม่มีปรัชญา มันเป็นแค่ 1+1 = 2 เพียงแต่ว่าถ้าเราปั่นป่วนด้วยอย่างอื่นเราก็จะคิดไม่ได้
...ทำงานให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ใช้เวลาให้น้อยที่สุด ใช้เงินน้อยที่สุด สรุปคือฟังกูคนเดียว ต่อให้มึงเป็นดร. เพราะลูกศิษย์ผมเป็นดร.หมด ผมขนออกจากโครงการทีละสิบกว่าคน ถ้ากูสั่งให้มึงเดินไปสี่ก้าว ก็จงเดินไปสี่ก้าว ผมเผด็จการขนาดนั้น เพราะผมเป็นหัวหน้าโครงการ ถ้าผมไม่เผด็จการเราอยู่ต่ออีกหนึ่งวัน ต้องใช้เงินเพิ่มอีกแสนหนึ่ง ใครเป็นหัวหน้าโครงการของเขาเอง ก็เชิญสั่งเองได้ แต่ผมไม่ไปทำโครงการคนอื่น มันกลับมาที่เป้าหมายแรกของผม ต้องการทำงานให้น้อยที่สุด อะไรที่ขัดต่อสโลแกนนี้ถือว่าผิดหมด มันมีเส้นบางๆ บางอย่างก็ช่วยกันได้ บางอย่างก็พอทน บางอย่างก็เพื่อนกัน แต่เมื่อไหร่ที่เริ่มเกินเส้นนั้น กูไม่ไป---จบ
...ถามว่าวันแรกที่ยังไม่มีตัวตนผมทำอย่างไร วิธีแสดงตัวตนง่ายที่สุดก็คือผมซื้อรถสปอร์ตเลย ติดหนี้สิบปี แล้วขับไปภาคตั้งแต่วันแรก โห---เกิดเลย ไม่มีใครแตะ ไม่รู้เหรอคนไทยกลัวคนรวย ผมก็ถือว่ามันเป็นความเก่งอย่างหนึ่ง ผ่อนบีเอ็มสปอร์ต 10 ปีเกือบตายไม่เรียกว่าเป็นความเก่งเหรอ อันนี้แหละโคตรเก่ง เพื่อรักษาภาพของความเป็นคนรวยตามเป้าหมายของการรู้ว่าคนไทยกลัวคนรวย ถือเป็นการทุ่มเทสูงสุด ไม่ต้องมีอะไรแล้ว”
แต่งรถ-แต่งรัก
ไม่น่าเชื่อว่าในขณะที่ความ ‘ไฮเปอร์’ ในการทำงานให้บรรลุผลของดร.ธรณ์เข้มข้นขนาดนี้ ชีวิตครอบครัวของเขากลับหวานชื่น ถึงขนาดมีสื่อสิ่งพิมพ์หลายเล่มขอสัมภาษณ์เกี่ยวกับชีวิตคู่และความรักของผู้ที่หลายคนเข้าใจว่ามีแต่ทะเลครอบครองหัวใจเช่นเดียวกับเรื่องการทำงาน ดร.ธรณ์ชัดเจนว่าเขาต้องการอะไรจากความสัมพันธ์และไม่ยอมสิ้นเปลืองทรัพยากรหรือความรู้สึกไปกับสิ่งที่ไม่ตอบโจทย์ ในขณะที่ตรรกะแบบนักวิทยาศาสตร์ดูคล้ายจะกินพื้นที่ความโรแมนติกแบบนักเขียนของดร.ธรณ์ไปหมด มันได้กลายเป็นเสน่ห์เฉพาะตัวในอีกรูปแบบหนึ่ง
“ผมไม่ต้องการคนเติมเต็มผม ผมเต็มแล้วเก่งแล้วตั้งแต่เกิด ไม่ต้องเติม อย่างที่สองก็คือ ไม่ต้องเอากูไปเติมด้วย นั่นสำคัญกว่า ตัวใครตัวมันนะ อยากมีเมีย ไม่ได้อยากหาภาระ ผมมองหาอย่างเดียวคืออวบ ภรรยาผมอายุ 50 แล้วยังไม่แก่เลยหน้าตา ใช้ลาแมร์โปะ นั่นคือประโยชน์ของทุนนิยม ผมรู้ความต้องการของตัวเอง และผมก็มั่นใจว่า สำหรับสาวๆ ถ้าต้องร่วมสร้างครอบครัวสร้างชีวิตกับสามี เขาก็คงภูมิใจ แต่ถ้าเลือกสามีแล้วมีบ้านเสร็จเลย มีรถให้ด้วยก็น่าจะดี แล้วนิสัยผมไม่ได้เลวร้าย ผมไม่เป็นคนเจ้าชู้ตั้งแต่ต้น ไม่เล่นการพนันตั้งแต่ต้น เหล้าก็กินแต่ไม่เคยเดือดร้อน ไม่ได้กินทุกวัน ‘ศุกร์กินเหล้า เสาร์ดูบอล’ คือสโลแกนในชีวิตผมตั้งแต่ไหนๆ
...ลูกก็ไม่ใช่ความหวังของผม ผมมีความหวังของผม และผมทำเองโว้ย ไม่ต้องไปหวังกับเขา ลูกเกิดมา ลูกก็มีชีวิตของลูก เป้าหมายกับลูกแรกสุดก็คือพยายามให้ลูกอยู่ในเมืองไทย อย่าแรดไปเมืองนอก เพราะตอนผมแก่แล้ว ผมต้องการคนพาผมไปโรงพยาบาล ไปคุยกับคุณหมอ ผมไม่ต้องการนอนคุยกับคุณหมอตอนที่ผมอายุ 85 และจำอะไรไม่ได้แล้ว ผมไม่ต้องการให้คนมาเฝ้าไข้เป็นใครก็ไม่รู้ ดังนั้น ผมต้องการลูกผมมาดูแล ถ้าลูกผมเจริญก้าวหน้ากลายเป็นบิล เกตส์ หรือเป็นลูกน้องเฮียมาร์ก แต่อยู่เมืองนอก ผมถือว่าล้มเหลวตั้งแต่จุดเริ่มต้น เพราะจุดเริ่มต้นคือลูกดูแลพ่อตอนแก่เฒ่า ผมไม่ต้องการเงินเดือนลูก ไม่ต้องการเลยแม้แต่บาทเดียว
...วิธีคือให้เขาเรียนภาษาไทย ถ้าเรียนอินเตอร์ก็ไปเมืองนอกหมด ให้เรียนสาธิตเกษตร เก่งภาษาไทย แต่เขาก็ดันเก่งภาษาอังกฤษด้วยตัวเอง ผมรู้สึกว่าลูกทำตามเจตนารมย์ของผม คนอื่นเขาบอกว่ารีบๆ เลี้ยงนะ เดี๋ยวลูกโตหน่อย เขาก็ไปเที่ยว ไปกับเพื่อนหมดแล้ว แต่นี่ธรรธจะสอบอยู่วันที่ 24 ก็ยังไปเที่ยวกับพ่อตลอด ธราก็ไปอยู่แล้ว โตเท่าไหร่ ลูกผมไม่เห็นจะไม่ไปกับพ่อแม่เลย ด้วยหลักการง่ายๆ ว่าผมจ่ายสตางค์ ถ้ามึงไปเที่ยวกับเพื่อนแล้วมึงเอาเงินจากไหน เพราะผมไม่ได้ให้เงินลูก ไม่ได้ให้เบี้ยเลี้ยง ไม่ได้ให้ค่าขนม ธรรธก็ต้องสอนพิเศษเอง แล้วก็ต้องทำคะแนนให้ติดเกียรตินิยมจะได้สามหมื่นบาทต่อหกเดือน ถ้าตกเมื่อไหร่ก็อดหมดเลย แถมต้องใช้หนี้ แล้วก็เอาดอกเบี้ยที่จ่ายคราวก่อนคืนมาด้วย หลักการเดียวกันกับบริษัทหลักทรัพย์
...พอดีผมไม่มั่นใจว่าชาติหน้าจะเกิดเป็นมนุษย์หรือเปล่าก็รีบใช้ชีวิต ถ้ามันไม่ได้ผิดครรลองคลองธรรม ถ้ารอแก่มันจะเริ่มเดือดร้อนน้ำตาลชักสูง เพราะฉะนั้น คำแนะนำคือเหล้าถ้ากินได้ให้ยัดเงินกินไปให้หมด เพราะว่าถึงช่วงหนึ่งมีเงินก็กินเหล้าไม่ได้แล้ว
...ผมเรียนรู้จากลูกว่าคนรุ่นผมเติบโตมากับการหาเงินเยอะ ใช้เงินเยอะ ขณะที่รุ่นลูกผมแทบจะไม่ใช้เงินอะไรเลย เพราะเล่นแต่เกมในบ้านแล้วก็ออกไปเรียน กลับมาก็เล่นเกมในบ้าน เกมก็ไม่ใช่เกมเติมเงินอะไร แล้วมันจะเอาเงินไปทำไม เขาหาเงินแค่พอใช้ชีวิต ไม่สะสม เพราะไม่รู้จะสะสมไปทำบ้าอะไร มันคนละมุมมองกัน คุณสมบัติและศักยภาพของคนรุ่นใหม่ที่สำคัญมากคือใช้เงินให้น้อยลง ไม่ต้องหาเงินให้มากขึ้น
...ชีวิตหลายอย่างมันเปลี่ยนไป แต่ก่อนแต่งรถนี่คุณเหมือนช่าง คุณต้องก้มไปดู แกะคาร์บูฯ ทีละตัวสองตัว ค่อยๆ สะสมเงินซื้อ เดี๋ยวนี้มันเปลี่ยนชิป รุ่นผมมันไม่มีชิป ใช้คาร์บูฯ ต้องเปลี่ยนแม็กซ์ เปลี่ยนท่อ โหลดเตี้ย เปลี่ยนสปริงทีละส่วน สปริงก็มีให้เลือก ต้องตัด แคมก็ต้องไปคว้านแคม คว้านลูกสูบ แต่งรถคันหนึ่งใช้เวลาได้ 5 ปีในการเก็บสะสมแล้วก็เปลี่ยนทีละอย่าง ชื่นชมกับสิ่งที่เราเปลี่ยนมาทีละนิดทีละหน่อย ถ้าเกิดสมัยนี้กำเงินเยอะๆ เข้าร้านไปรอเปลี่ยนสามชั่วโมงก็เสร็จหมด แต่สมัยก่อนไม่ได้ สมัยก่อนคุณต้องใช้พลังงานในการสะสม
...มันกลับมาเหมือนเรื่องงานที่ทำ เพราะเราไม่ได้ตั้งเป้าตู้มเดียวให้รถเราแรงขึ้นเท่าไหร่ แต่เราค่อยๆ เก็บไปทีละอย่าง ทีละนิดทีละหน่อย ใช้เวลา ตอนจบมันก็จะทำให้เราเข้าใจกับระบบนั้น การกำเงินไปทำ กับการค่อยๆ แต่ง ค่อยๆ ชื่นชมทีละเล็กทีละน้อย มันเป็นการสร้างงานที่ต่างกัน แต่ตอนจบระบบอย่างนี้มันจะโค่นยากกว่า ความเสี่ยงน้อยกว่า เนื่องจากคุณรู้หมดแล้ว”
หมัดต่อไป
เนื่องจากขณะสัมภาษณ์ดร.ธรณ์เป็นระยะเวลาสุกดิบใกล้การเลือกตั้ง ในสังคมจึงมีกระแสความรู้สึกโดยทั่วไปว่า ‘ความเปลี่ยนแปลง’ กำลังจะมาถึง แต่สำหรับดร.ธรณ์ที่ทำงานกับที่สุดของความเปลี่ยนแปลงอย่างคลื่นและทะเลมาสี่สิบปี และผ่านรัฐบาลมาแล้วร่วมยี่สิบรัฐบาล เขาอาจมองเห็นสิ่งที่จะ ‘ไม่เปลี่ยนแปลง’ ได้ชัดเจนยิ่งกว่า สำคัญไปกว่านั้น ในเรื่องของสิ่งแวดล้อม ทางรอดของทุกคนอาจไม่สามารถเพียงฝากอยู่ที่การเมือง
“ผมผ่านมาหลายสิบรัฐมนตรี ใครมาใครไปผมก็ทำงานเหมือนเดิม ระบบที่ผมทำอยู่ไม่ได้โยงกับราชการอยู่แล้ว เป็นเอกเทศ ใครจะมาเป็นรัฐมนตรีก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรมาก ระบบมันแข็งแกร่ง ถ้าใครจะเปิดอ่าวมาหยาให้เรือเข้าไปจอดอย่างเดียวอีกที ผมเขียนตู้มเดียวก็ตาย ผมใช้กระแสค้ำดุลกันหมด จู่ๆ จะไปปลดวาฬบลูด้าจากการเป็นสัตว์สงวนมันก็ทำไม่ได้อยู่แล้ว ไม่ได้บอกว่านักการเมืองไม่สำคัญ แต่โลกร้อนขึ้น ถ้าใครเข้ามาแล้วสามารถทำให้ไทยมีความพร้อมกับโลกร้อนมากกว่านี้ ทำให้บริษัทใหญ่ๆ เข้าถึง net zero ทำให้คาร์บอนเครดิตในเมืองไทย กลายมาเป็นคาร์บอนที่ตลาดยุโรปยอมรับก็ดี แต่มันมีที่ไหน ไม่เห็นมีใครเขียนเรื่องนี้สักคน
...สำหรับคนทั่วไป ผมขอให้คุณตระหนักและเข้าใจความเสี่ยงของสิ่งแวดล้อม เช่น คุณต้องเข้าใจเองว่าฝนโลกร้อนเป็นหนึ่งในสิ่งที่กระทบแรงที่สุด และนักวิทยาศาสตร์ยืนยันมากที่สุดว่าเกิดขึ้นเรียบร้อยแล้ว น้ำจืดตกลงมาท่วมในพริบตาเดียว บ้านคุณที่กำลังจะเริ่มผ่อนวันนี้ น้ำกำลังจะท่วม ดังนั้น มันเกี่ยวกับชีวิตคุณ เงินคุณ ค่าใช้จ่ายคุณ และคุณจะพยายามช่วยโลกร้อนเองโดยอัตโนมัติ ถ้าคุณตระหนักตรงนี้ คุณจะไม่หลง ไปติดแหงกกับการผ่อนมาแล้วยี่สิบวัน แต่อีก 4-5 ปีน้ำท่วมบ้านปีหนึ่งห้าสิบวันแล้ว จะเอายังไงดีวะ พออีกสิบปี ตายห่า---ฝนตกน้ำท่วมซ้ำซากมาร้อยวันแล้ว กูขายดีกว่า แล้วหมาที่ไหนจะซื้อ
...ถ้ารู้แล้วยังไม่เปลี่ยน คุณตายแล้วตั้งแต่ต้น เพราะคุณไปผ่อนสินทรัพย์ที่กำลังจมน้ำไปเรื่อยๆ แต่ถ้าคุณตระหนัก คุณก็จะพยายามช่วยลดโลกร้อน เพราะคุณรู้ว่าต่อให้คุณมาอยู่ที่พร้อมพงษ์ น้ำก็จะท่วมรถปอร์เช่ของคุณที่มันจอดอยู่เบสเมนต์ ผมรณรงค์ให้คนสงสารธรรมชาติมาสี่สิบปีแล้ว มันไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร รณรงค์ให้สงสารตัวเองและลูกตัวเองดีกว่าว่า กูจะส่งมึงไปอินเตอร์ทำไม ในเมื่อโลกร้อนเหมือนกัน อันนั้นแหละคือการรณรงค์ที่ดีที่สุด กลับมาที่คำพูดเดิม เมื่อจุดที่เจ็บปวดที่สุดของคุณกำลังโดนชก คุณก็จะต้องตั้งการ์ด แล้วก็ต้องยกมือไหว้ขอโทษกับสิ่งที่คุณเคยทำเอาไว้”
แน่นอน ในโลกแห่ง ‘โศกนาฏกรรมของทรัพยากรร่วม (Tragedy of the Commons)’ ที่ใครก็จับมือบังคับใครไม่ได้ แม้กระทั่งเมื่อค่าไฟบานปลายและน้ำท่วมเฉียบพลันไม่เกี่ยงฤดู หลายคนอาจยังไม่คิดกลับใจกับการกระทำต่อสิ่งแวดล้อมของตัวเองในวันนี้
แต่จากรอยยิ้มกระหยิ่มมากความหมายของดร.ธรณ์ ผู้ทำหน้าที่ทั้งดับภัยและเตือนภัยมากว่าสี่สิบปี ชวนให้แน่ใจเหลือเกินว่า
การชกกลับของธรรมชาติ ยังไม่ได้มีแค่หมัดนี้หมัดเดียวแน่นอน ■