SECTION
ABOUTCLIENT VALUES
The Circular World
ทศพล ศุภเมธีกูลวัฒน์ หัวเรือใหญ่ของ CirPlas กับภารกิจสร้างโลกที่ดีขึ้นให้ลูกหลานผ่านธุรกิจกำจัดขยะพลาสติก
30 มิถุนายน 2566
“ไม่ได้แล้ว โลกต้องไม่เป็นแบบนี้ เราต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อโลก” คือประโยคที่ทศพล ศุภเมธีกูลวัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท นิว อาไรวา จำกัด พูดกับตัวเองในวันที่เขาตระหนักได้ว่าโลกใบนี้มีขยะพลาสติกมากแค่ไหน
แต่สิ่งนี้ไม่ใช่แค่อีกหนึ่งคำพูด ‘โลกสวย’ ที่ว่างเปล่า เพราะจากเด็กชายที่เริ่มจากการไม่มีความฝันว่าโตขึ้นอยากทำอะไร กลายเป็นเจ้าของธุรกิจโชว์ห่วยในวัยเด็ก ปัจจุบันทศพลได้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้วงการจัดการขยะแล้วกับมือ
เริ่มต้นจากการบริหารกิจการของครอบครัวร่วมกับพี่ชายภายใต้แบรนด์ Qualy แบรนด์เจ้าแรกๆ ของเมืองไทยที่ผลิตสินค้าของใช้ในบ้านด้วยกระบวนการอัพไซเคิล พร้อมสื่อสารเรื่องสิ่งแวดล้อมผ่านการออกแบบชิ้นงาน และใช้ความรู้ความชำนาญมาต่อยอดเป็นบริษัท CirPlas ที่มีเป้าหมายด้านการจัดการขยะพลาสติกอย่างถูกวิธี พร้อมสร้างระบบการจัดการขยะที่เข้าถึงง่าย และเป็นธรรมสำหรับทุกคน
หลายต่อหลายครั้ง คนรอบข้างทศพลไม่เชื่อว่าธุรกิจของเขาจะประสบความสำเร็จ และงานของเขาก็ห่างไกลจากเส้นทางที่โรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่เพื่อโลกในอนาคตที่ดีกว่าสำหรับลูกๆ และคนรุ่นหลัง เขาจึงไม่เคยหวั่นไหว ยังคงตั้งใจที่จะทำให้เซอร์พลาสเป็นบริษัทแห่งอนาคต ที่จะเปลี่ยนโลกให้สะอาดขึ้น
“โลกต้องไม่เป็นแบบนี้” อย่างที่เขาบอก
ครอบครัวนักประดิษฐ์
พ่อของผมเป็นวิศวกรที่ออกแบบและสร้างเครื่องจักรช่วยผลิตชิ้นส่วนผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของเล่นตอนเด็กของผมจะเป็นพวกช้อนยาพลาสติก หัวเกียร์ หัวก๊อกน้ำ เคยมีแบรนด์มาจ้างให้เขาช่วยผลิตเป็ดพลาสติกใส่เยลลี่ ผมก็ต้องไปช่วยทากาว ประกอบหัวเป็ด ติดหางเป็ด พ่อผมเป็นคนดุมาก ผมได้เล่นวิดีโอเกมตอนช่วงปิดเทอมเท่านั้น แต่พักเที่ยงก็ต้องลงมาเปลี่ยนเวรทำงานให้พนักงานไปพักผมโตมาแบบนั้น แล้วก็โดนปลูกฝังตลอดว่าต้องกลับมาทำกิจการที่บ้าน เรามีธุรกิจครอบครัว ในวัยเด็กผมจึงไม่มีความฝันว่าอยากทำงานอะไร ไม่ต้องคิดว่าจะเป็นหมอ ตำรวจ ทหาร หรือนายกรัฐมนตรี เรารู้แค่ว่าทิศทางชีวิตของเราคือทำธุรกิจของที่บ้าน
หลายคนถามว่าทำไมผมต้องมาทำ ผมก็บอกว่าถ้าผมที่มีประสบการณ์จัดการขยะ แล้วเพิ่มมูลค่าให้มันได้ถ้าผมไม่ทำ แล้วใครจะทำคนที่ไม่มีความรู้เรื่องพลาสติกไม่ได้อยู่ในวงการพลาสติกที่เพิ่มมูลค่าได้ ถ้าเขามาทำเขาเสี่ยงตายเลย
เซ็งลี้ฮ้อ
พี่ชายผมจะชอบการออกแบบ ชอบวาดรูปแต่ผมจะเป็นแนวค้าขาย อย่างพนักงานที่บ้านชอบกินเครื่องดื่มชูกำลัง ผมก็ซื้อตู้เย็นมาใส่น้ำขายเลย ตอน ป.4 ผมก็ไปซื้อน้ำอัดลมมาเติมน้ำแข็ง เสียบหลอด ผูกหนังยาง ขายให้คนที่บ้านกับคนที่เดินผ่านไปผ่านมา จากนั้นก็ค่อยขยายเป็นตู้เล็กๆ ขายของใช้ ใครถามหาอะไร ผมก็ไปหามาขาย พอของขายเพิ่มขึ้น ตู้ก็เพิ่มตาม จนสุดท้ายลากมาขายหน้าบ้านไม่ไหว ก็ขายอยู่ในบ้านเลยแล้วกัน สักพักเขาสร้างถนน ฝุ่นเยอะ เราก็ติดแอร์ กลายเป็นซูเปอร์มาร์เก็ต แล้วเรามีของขายเยอะ คือใครเป็นคู่ค้าเรา หรือมาจ้างให้บ้านเราผลิตชิ้นส่วนอะไรให้ เราก็ไปดีลของเขามาขาย ดังนั้น ร้านของผมมีทั้งเครื่องเขียน ลำโพง อาหาร อุปกรณ์การกีฬา เทปคือมีทุกอย่าง ตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบ
ความฝันของพ่อ
พ่อของผมมีความฝันว่าอยากทำธุรกิจที่เป็นผลิตภัณฑ์ของตัวเอง เพราะพ่อรับจ้างทำมาตลอดชีวิต ทุกครั้งที่ทำก็ต้องไปประมูลแข่งขันราคาบางทียื่นซองประมูล ก็เจอปัดตกบ้าง เส้นสายไม่ถึงบ้าง ทีนี้ตอนเด็กๆ พวกเราจะมีโอกาสได้ไปเที่ยวต่างประเทศปีละครั้ง แต่ซื้อของกลับมาพอพลิกดูก็เจอว่าของพวกนี้มัน Made in Thailand พ่อก็เลยทำบ้าง เขาก็ทำพวกหวี กล่องใส่พระ ที่วางแก้วน้ำในรถยนต์ มีดคัตเตอร์ ซึ่งตอนนี้เหลือบาน เพราะพ่อทำเป็น แต่ขายไม่เป็น พี่ชายกับผมก็เลยช่วยกันทำแบรนด์ควอลี่ขึ้นมา ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากพลาสติก จนถึงวันนี้ก็ 18 ปีแล้ว ผมไม่เคยคิดว่าจะทำธุรกิจจัดการขยะ ไม่มีอะไรเชื่อมโยงกันเลย ก่อนหน้านี้ขยะก็คือขยะ ใช้เสร็จแล้วก็ทิ้งไป กระทั่งพี่ชายเรียนจบเรื่องการออกแบบผลิตภัณฑ์กลับมาเปิดบริษัทที่บ้าน
ตัวแบรนด์พยายามใส่ไอเดียและแรงบันดาลใจลงไปในผลิตภัณฑ์ สร้างความตระหนักให้คนรักโลก เช่น ผลิตภัณฑ์พวงกุญแจเป็นตัวเสียบปลั๊ก เวลาคุณออกจากบ้านก็ต้องดึงกุญแจออก เหมือนช่วยเตือนให้คุณต้องถอดปลั๊กในบ้านออกด้วยนะ เพราะถ้าเสียบปลั๊กทิ้งไว้มันจะกินไฟ หรือที่ใส่กระดาษทิชชู่รูปขอนไม้ ทุกครั้งที่เราดึงกระดาษออกมา ต้นไม้กับกระรอกก็จะเตี้ยลง สื่อถึงกระดาษทำจากต้นไม้ ทุกครั้งที่ดึงออกมาก็ต้องคิดหน่อยนะ เพราะต้นไม้จะหายไป สุดท้ายสัตว์ป่าก็จะอยู่ไม่ได้
ธุรกิจเพื่อโลก
ควอลี่เคยได้ทำงานร่วมกับแบรนด์หนึ่ง เขานำขวดพลาสติกที่เขาผลิตแล้วไม่ได้มาตรฐานมาให้เราเป็นสิบตัน ถามว่าพอจะทำอะไรได้บ้างไหม เราก็เลยเอามารีไซเคิลเป็นของใช้ แล้วก็เอาออกงานแฟร์ปี 2019 ที่ฝรั่งเศส ปรากฏว่าคนชอบมาก คนเดินเข้าบูธของเรามากที่สุดในรอบ 10 ปี ผมเลยคิดว่ามันคงจะดี ถ้าเราสามารถบอกได้ว่าเราลดพลาสติกที่จะลงทะเลไปได้กว่าสิบตัน เพราะชาวต่างชาติรู้จักทะเลไทยกันอยู่แล้ว พอดีน้องในทีมก็โทรบอกผมว่ามีเอ็นจีโอติดต่อมาเรื่องขยะแหอวน มันลงไปอยู่ในน้ำไม่ก็ถูกเผาทำลาย เอ็นจีโอเลยไปดีลขอซื้อแหอวนที่ใช้งานไม่ได้แล้วมาจากชาวประมงเพื่อรีไซเคิล แต่เขาติดต่อไปหลายบริษัทแล้ว โดนปฏิเสธหมด จนติดต่อมาที่ผม ผมกำลังอยากได้ ผมก็กระโดดเข้าใส่เลย
ติดร่างแห
ชาวประมงพื้นบ้านจะเอาแหอวนออกไปจับปลาในตอนเช้า พอกลับเข้าฝั่ง เขาก็จะส่งแหอวนเหล่านี้ไปที่โรงตัด ให้พวกผู้หญิงตัดเอาปลาตัวเล็กๆ หรือก้ามปูก้ามกุ้งออกจากอวน จากนั้นก็ซ่อมแซมด้วยการใช้เชือกไนลอนผูก จนสามารถเอากลับไปใช้งานได้อีก ใช้งานแหอวนเหล่านั้นจนพัง ใช้ต่อไม่ได้แล้วก็จะเอาไปทิ้งบ้าง เอาไปเผาบ้าง ผมเคยไปเกาะแห่งหนึ่ง ฝั่งที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวคือสวยงามเลย แต่พอไปหมู่บ้านชาวประมง เราจะเห็นทรายดำๆ คือจุดที่เขาเผาขยะ เหตุผลที่เผาก็เพราะไม่มีคนซื้อ และการเดินทางข้ามเกาะมาเข้าเมืองก็โคตรแพงก็เลยจัดการแบบนี้
และสิ่งที่เราไปเจอโดยบังเอิญอีกหนึ่งอย่างคือตอนที่ไปยืนตรงท่าเรือคือแผ่นพลาสติกใส ด้านหนึ่งจะมันๆ อีกด้านเปียก เราก็ถามเขาว่ามันคืออะไร ชาวประมงก็เล่าว่า สมัยก่อนเวลาเขาจับปลาได้เขาจะเอาปลาใส่ลงไปในลัง แล้วก็เอาใบตองโปะ น้ำแข็งโปะ คือเขาจะไม่เอาน้ำแข็งลงปลาโดยตรง พอใช้เสร็จ เขาก็จะดึงใบตองทิ้งน้ำ แต่ปัจจุบันเขาเปลี่ยนมาใช้พลาสติก พอใช้เสร็จก็ทิ้งลงน้ำ มันเป็นความเคยชินของเขา เลยกลายเป็นที่มาของภาพสัตว์ทะเลที่กินพลาสติก ซึ่งบางส่วนก็มาจากการประมง พอเห็นแบบนี้ เราก็เลยมาคุยกับชาวประมงว่าอันนี้เก็บได้ไหม ล้างให้หน่อย เดี๋ยวเราให้มูลค่าและมันจะกลายเป็นของอีกหนึ่งอย่างที่มีเรื่องราว คือเราก็ไม่รู้ว่าจะขายได้หรือไม่ได้ แต่อย่างน้อยเราได้ช่วยเขา
ผมรู้สึกภูมิใจว่าทุกก้าวที่เราได้สร้างขึ้น มันคือโอกาสที่โลกจะดีขึ้น ผมภูมิใจกับบริษัทนี้มากๆ ทั้งที่มันยังเล็กจิ๋วอยู่เลย แต่ผมเชื่อว่ามันจะไปได้ดี
กำเนิด ‘เซอร์พลาส’
หลายคนถามว่าทำไมผมต้องมาทำ ผมก็บอกว่าถ้าผมที่มีประสบการณ์จัดการขยะ แล้วเพิ่มมูลค่าให้มันได้ ถ้าผมไม่ทำ แล้วใครจะทำ แค่แหอวนอย่างเดียว เมืองไทยใช้ปีละ 1,000 ตัน ถ้าจะเอามาทำชิ้นงาน ชิ้นละ 20-30 กรัม จะช่วยโลกยังไงล่ะคนที่ไม่มีความรู้เรื่องพลาสติก ไม่ได้อยู่ในวงการพลาสติกที่เพิ่มมูลค่าได้ ถ้าเขามาทำ เขาเสี่ยงตายเลย ขนาดผมทำได้ แม่ยังอวยพรว่า “เจ๊งแน่ลูก” ณ วันที่ผมเปิดบริษัท แต่เราคิดว่าเรามาจากอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เราก็ต้องคิดแบบสร้างสรรค์สิ มันก็เลยเป็นที่มาของชื่อ ‘CirPlas’ มาจากคำว่า ‘circular plastic’ เราใช้วิธีการทำให้ขยะกลายเป็นของที่ได้มาตรฐาน แล้วก็เอากลับเข้าไปในตลาดให้คนใช้ได้ง่ายขึ้น อธิบายอีกแบบหนึ่งก็คือคิดแบบทินเดอร์ เราหาขยะมาก่อน ตัดแต่งปรับปรุงให้ได้คุณภาพ คนอื่นมาเห็นก็รู้สึกว่ามันไม่ใช่ขยะ แต่เป็นวัสดุที่ใช้งานได้ และจับคู่ให้กับเขา
ตอนนี้โลกเริ่มบังคับมากขึ้นว่าคุณต้องใช้วัสดุที่เป็นรีไซเคิล แต่เขาไม่บอกว่ารีไซเคิล PCR กับ PIR แตกต่างกันอย่างไร ซึ่ง PIR (Post Industrial Recycle) คือคุณเดินเข้าไปในโรงงานผลิตขวดพลาสติก เหมาซื้อผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้คุณภาพมาในราคาถูก เอามารีไซเคิล แล้วขาย ซึ่งอันนี้มันคือการหลอกลวง แต่ PCR (Post Consumer Recycle) คือไปเก็บขยะจากถังขยะ ไปจ้างคนเก็บขยะ ซาเล้ง หรือซื้อจากชาวประมง เก็บมาก็เอามาแยก เอามาล้างทำความสะอาด เอามาบด เอาไปหลอม ใส่สารปรุงแต่ง เพื่อให้มันได้คุณภาพกลับมาเทียบเท่ากับที่ตลาดใช้ ถามว่าแพงกว่ากันไหมแพงกว่าบาน แต่เซอร์พลาสโฟกัสที่ PCR อย่างเดียว แล้วเราจะมีคิวอาร์โค้ดติดไปกับของทุกชิ้นว่าคุณได้ลดขวดไปกี่ใบ หรือสามารถลดขยะจากเขตไหน คุณก็สแกนเข้าไปดูได้ ดังนั้น จุดเด่นของเซอร์พลาสคือมีที่มาที่ไป เราทำให้เป็นมาตรฐานเลยว่ารีไซเคิลมาจากไหน เมื่อไร มันเลยเป็นที่มาว่าเรามีจุดทิ้งขยะพลาสติกอยู่ทั่วกรุงเทพฯ ซึ่งตอนนี้มีอยู่ 60 จุดแล้ว แล้วก็มีรถวิ่งไปเก็บ เอากลับเข้ามาแยก แล้วก็ทำเป็นวัสดุรีไซเคิล
ชีวิตที่เปลี่ยนไป
สิ่งที่แตกต่างระหว่างควอลี่กับเซอร์พลาสคือ ผมรู้สึกว่า ควอลี่เหมือนโดนบังคับทำ เหมือนโดนสั่งมาว่าเธอต้องกลับมาทำงานที่บ้าน แต่พอทำเซอร์พลาสมันเป็นเหมือนแพชชัน มันสนุกเวลามีไอเทมใหม่ๆ เข้ามา ตอนเด็กเวลาพ่อพาไปเดินงานเครื่องจักร ผมไม่เคยชอบเลยนะ ไม่เคยอยากไป ไม่คิดที่จะไปเดินเฉี่ยว แต่ตอนนี้ไปยืนน้ำลายหก อยากได้เครื่องจัดการขยะแบบนั้นแบบนี้ วันก่อนไปเห็นเครื่องจักรที่โรงงานของรุ่นน้อง ที่ใส่ขยะลงไป มันก็จะออกมาเป็นวัสดุที่มีคุณภาพเลยทันที แต่มันราคาเป็นสิบล้านขอเก็บเงินก่อน แต่วันหนึ่งผมต้องมีเครื่องจักรแบบนี้ให้ได้ มันกลายเป็นความชอบ กลายเป็นความสนุกไปแล้ว
เคยดูดราก้อนบอลกันไหม นางเอกของเรื่องคือบลูม่า ซึ่งเป็นลูกสาวของเจ้าของบริษัทแคปซูล คอร์เปอเรชั่น ผลิตฮอยปอล์ย แคปซูล ที่กดปุ๊บ โยนตู้ม กลายเป็นรถ กลายเป็นเรือ หรือถ้ากดปุ่มอีกครั้งมันจะหดกลายเป็นแคปซูลเล็กๆ เพื่อจะพกพาไปไหนก็ได้ ผมมีความคิดอยากทำอะไรแบบนั้น อาจจะเป็นเครื่องจักรช่วยรีไซเคิล โยนลงไปในน้ำก็จะกลายเป็นเจ็ตสกีเล็กๆ ไปตัดแหอวนใต้น้ำแทนคน หรือวันหนึ่งเราอาจจะมีพาหนะคันหนึ่งที่โยนขยะอะไรลงไปก็ได้ มันจะจัดการแยกทุกอย่างบนรถ แล้วก็ตรงไปสู่โรงงานรีไซเคิลเลย ไม่ต้องมาที่โรงแยกขยะ ผมคิดว่ามันคงจะดี และนั่นคือสิ่งที่ผมอยากให้เป็น แล้วเราก็กำลังพยายามที่จะไปให้ถึงจุดนั้น
โลกที่ดีกว่า
ผมเปลี่ยนไปเยอะตั้งแต่มีลูก ผมอยากสร้างโลกที่ดีกว่านี้ให้เขา อะไรก็ได้ ยังไงก็ได้ อีกอย่างหนึ่งคือผมอาจจะอยู่ในจุดที่ผมรู้สึกว่า ผมเป็นผู้รับมาเยอะแล้ว มีอะไรเราปรึกษาคนอื่น เราถามคนนั้นคนนี้ตลอด เราก็อยากเป็นผู้ให้บ้าง รู้สึกว่าถ้าเราเริ่มทำอะไรให้กับสังคมได้ เป็นสิ่งที่ยั่งยืน แล้วเราก็ได้เงินด้วย ซึ่งผมยังเชื่อว่าธุรกิจนี้จะทำกำไรได้ ทุกคนบอกว่ามันเป็นธุรกิจที่อยู่ในกระแส แต่ผมไม่ได้อยากทำเพื่อกระแส ผมอยากทำให้มันเป็นคอมมูนิตี้ แล้วถ้าวันนั้นมาถึงเมื่อไหร่ โลกมันจะดีขึ้นอีกเยอะเลย
ตั้งแต่ทำเซอร์พลาสมา ผมพยายามสร้างชัยชนะเล็กๆ ให้ตัวเอง ไม่งั้นท้อตาย แต่ผมว่าเราได้สร้างความคิดริเริ่มให้กับหลายคน สร้างแรงบันดาลใจให้กับหลายคน แล้วก็สร้างอาชีพด้วย ผมว่ามันใช้เวลาในการสร้าง ถ้ามีเงินมากกว่านี้ ก็อาจจะเร็วกว่านี้ แต่เราก็มาได้ดี เราสร้างความตระหนักให้คน คนรู้จักเราเยอะขึ้น ผมรู้สึกภูมิใจว่า ทุกก้าวที่เราได้สร้างขึ้น มันคือโอกาสที่โลกจะดีขึ้น ผมภูมิใจกับบริษัทนี้มากๆ ทั้งที่มันยังเล็กจิ๋วอยู่เลย แต่ผมเชื่อว่ามันจะไปได้ดี
เรื่องไม่สำคัญที่สำคัญ
เรื่องค่าใช้จ่ายเป็นปัจจัยแรกที่ทำให้การจัดการขยะไม่สำเร็จ ถามว่าเรารักโลกมากเลย แชมพูยี่ห้อ A ที่ใช้อยู่บอกว่าจะเปลี่ยนมาเป็นแบรนด์ที่รักษ์โลกมากขึ้น จะเปลี่ยนแพ็กเกจจิ้งที่ย่อยสลายได้อย่างจริงจัง แต่ขอขยับราคาขึ้นอีก 30% นะ ถามว่าคนจะสนับสนุนหรือย้ายแบรนด์ ย้ายแบรนด์อยู่แล้ว คนส่วนใหญ่เป็นแบบนั้น ประเทศของเราเป็นประเทศที่ยังคิดว่าพรุ่งนี้จะกินอะไร ไม่รู้จะเอาเงินที่ไหนมากินเรายังไปไม่ถึงตรงนั้น ความเหลื่อมล้ำยังมีเยอะ เรื่องการจัดการขยะจึงไม่ใช่เรื่องสำคัญที่สุดที่คนส่วนใหญ่นึกถึง ปัจจัยสองคือเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม ผมเคยยืนอธิบายเรื่องการรีไซเคิล และในระหว่างที่อธิบายอยู่ ก็มีเด็กมหาวิทยาลัยคนหนึ่ง ทิ้งแก้วที่มีเต็มกาแฟแก้วเลยนะ ลงในถังขยะ พร้อมน้ำแข็งและกระดาษทิชชู่ ผมก็บอกว่านี่คือตัวอย่างของคนที่ไม่สนใจการจัดการขยะ แล้วกฎหมายข้อบังคับของเราก็ไม่แรง ถ้ากฎหมายบังคับ คนจะต้องยอม เราดูแล้วกันว่าประเทศเราให้ความสำคัญกับอะไรจากการแบ่งงบประมาณ ถ้ามันแบ่งงบประมาณมาจัดการด้านนี้เยอะขึ้น แปลว่าเริ่มให้ความสำคัญกับทางด้านนี้มากแล้ว
ประเทศของเราเป็นประเทศที่ยังคิดว่าพรุ่งนี้จะกินอะไร ไม่รู้จะเอาเงินที่ไหนมากิน เรายังไปไม่ถึงตรงนั้นความเหลื่อมล้ำยังมีเยอะ เรื่องการจัดการขยะจึงไม่ใช่เรื่องสำคัญที่สุดที่คนส่วนใหญ่นึกถึง
งานที่ไม่เสร็จ
ถ้าวันหนึ่งขยะหายไป ผมจะมีความสุข ถ้าเราได้ขึ้นชื่อว่าเรากำจัดขยะจนหมดโลกได้ มันโคตรเท่เลย ตายตาหลับแล้ว แต่ผมว่าผมตายก่อน สุดท้ายก็ต้องฝากความหวังไว้กับคนรุ่นถัดไป ผมคุยกับเพื่อนว่าได้แค่ไหนก็แค่นั้น ทำเต็มที่ หมดแล้วก็ส่งต่อ มันก็จะเป็นเรื่องของคนที่อยู่ต่อไป คุณจะไม่ทำต่อหรืออะไรก็แล้วแต่ แต่เราพยายามสร้างแล้ว และมันคงต้องแบ่งเป็นหลายช่วง อย่างช่วงนี้ก็เป็นช่วงการสร้างความตระหนัก สร้างการรับรู้ และสร้างโครงสร้างที่ดี
ผมเองก็พยายามสร้างความตระหนัก ทุกครั้งที่ได้มีโอกาสไปบรรยายหรือสอนหนังสือ ต่อให้ไปฟรีผมก็ไป เพราะอย่างน้อยวันนั้นที่มีคนมาเข้าคลาส 100-200 คนที่ได้รู้เพิ่มขึ้น เขาจะตระหนักหรือเปล่าก็อีกเรื่อง แต่พวกเขาได้รู้แล้วว่าอันนี้รีไซเคิลได้ อันนี้รีไซเคิลไม่ได้ ปัญหาคืออะไร แต่ถ้าถามว่าพลาสติกเป็นตัวร้ายไหม รถยนต์ของคุณเป็นพลาสติกกี่ชิ้น บางคนในร่างกายยังมีพลาสติกเลย มันจึงอยู่ที่เราจัดการ พลาสติกใช้แล้วทิ้ง ถ้าลดได้ก็ลด มันมีที่มาของการที่คนเรียกว่า Reduce-Reuse-Recycle คือให้ Reduce ลดปริมาณการใช้ให้ได้มากที่สุดก่อนแต่ถ้าจำเป็นต้องใช้ ก็ Reuse นะ ใช้ซ้ำได้ไหม จนกว่ามันจะพัง พอพังแล้วคุณก็เอาไป Recycle นั่นคือที่มา สามสิ่งนี้คือเขาเรียงมาแล้ว
ผมว่าเราอยู่โดยไม่มีพลาสติกยาก ผมไม่อยากใช้คำว่าทดแทนไม่ได้ แต่มันทดแทนยาก ทั้งเรื่องความสะดวก ความแข็งแรง และราคา ดังนั้นสิ่งที่เราทำได้ ก็คงเป็นการจัดการกับมันให้ได้เรียบร้อย ไม่เพียงแค่ใช้แล้วทิ้ง พลาสติกอำนวยความสะดวกให้กับมนุษย์ เราก็ต้องรับผิดชอบมันเอง ไม่ใช่ให้สิ่งแวดล้อมรับกรรมไปเสียทั้งหมด ■
รู้จักกับ ทศพล ศุภเมธีกูลวัฒน์
ทศพลจบการศึกษาระดับปริญญาโทด้านมาร์เก็ตติ้งจากมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง CirPlas บริษัทจัดการปัญหาขยะที่มุ่งลดจำนวนขยะพลาสติกจากทั้งครัวเรือนและอุตสาหกรรมใหญ่ที่ถูกกำจัดโดยการฝังกลบให้ได้มากที่สุด