HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

STATE OF THE ARTS


Fresh Perspective

กตัญญู วุฒิชัยธนากร ช่างภาพผู้หวังจะสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดการเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อมผ่านชิ้นงาน และได้คว้าหนึ่งในรางวัลอันทรงเกียรติแห่งวงการช่างภาพในวัยเพียงสิบหกปี

30 มิถุนายน 2566

“จังหวัดเพชรบุรี โดยเฉพาะที่แก่งกระจาน มีจำนวนชนิดค่อนข้างหลากหลาย”

กตัญญู วุฒิชัยธนากร พูดเสียงดังขึ้นด้วยความตื่นเต้นเมื่อได้เล่าถึงสถานที่โปรดของเขาในการส่องสัตว์ป่า พร้อมลำดับสปีชีส์ของนกที่สามารถพบได้ในจังหวัดเพชรบุรี ไปจนถึงสัตว์ป่าอีกหลายชนิด

“เราอาจจะเจอสัตว์ใกล้สูญพันธุ์อย่างนกชายเลนปากช้อนได้ที่บ้านปากทะเล อําเภอบ้านแหลม สามารถพบวาฬบรูด้าได้ในบริเวณพื้นที่อ่าวไทย รวมถึงชนิดนกและสัตว์ป่าหลากหลายชนิดที่สามารถพบเห็นได้ในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ไม่ว่าจะเป็นเสือดาว เสือดํา ช้างป่า กระทิง และนกชนิดต่างๆ”

ความรักและ ‘รู้จัก’ ธรรมชาติของกตัญญูนั้นหยั่งรากมายาวนานตั้งแต่เขายังเด็ก เมื่อเริ่มจำความได้ เขาก็ได้หลงใหลในปลาชนิดต่างๆ เสียแล้ว เราได้ทราบว่ากตัญญูพูดคำว่า ‘ปลา’ ได้ก่อนคำว่า ‘แม่’ เสียอีก หลังจากนั้น กตัญญูก็เริ่มสนใจเรื่องแมลง เมื่ออายุราวหกขวบ เขาก็เริ่มสนใจเรื่องนก พ่อกับแม่ของเขาจึงซื้อกล้องส่องทางไกลให้เขาได้สํารวจนกอย่างใกล้ชิด และเมื่อเจ็ดขวบ กตัญญูก็เริ่มเก็บภาพความงามของธรรมชาติผ่านกล้องคอมแพค ซึ่งปูทางไปสู่ความรักในการถ่ายภาพของเขา นอกจากนี้ ความหลงใหลที่เขามีต่อธรรมชาติยังเปิดโลกของเขาไปสู่การเรียนรู้ด้านชีววิทยาและปักษีวิทยา ก่อนจะขยายไปสู่เรื่องระบบนิเวศ ซึ่งเป็นเรื่องที่เขาใส่ใจอย่างยิ่ง

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทำให้เขากลายเป็นที่รู้จักระดับโลกก็คือทักษะในการถ่ายภาพ แม้จะมีอายุเพียงสิบกว่าปีเท่านั้น เริ่มจากกล้องคอมแพคตัวแรกในชีวิตของเขา สู่การใช้กล้องดีเอสแอลอาร์รุ่นใหญ่อย่าง Canon EOS 90D กล้องมิลเลอร์เลสอย่าง Canon EOS R7 และเลนส์เทเลโฟโต้ Sigma 150-600mm F5-6.3 ที่ทำให้เขาเก็บรายละเอียดของสัตว์ป่าผ่านภาพถ่ายได้อย่างน่าทึ่ง

กตัญญูหวังว่า การกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็นจะทำให้ผู้คนหันมาสนใจเรื่องระบบนิเวศมากขึ้น และความเชื่อนี้ยังเป็นสิ่งที่คอยเติมพลังให้กับภาพถ่ายอื่นๆของนักธรรมชาตินิยมรุ่นเยาว์คนนี้

เมื่อปี 2022 กตัญญูได้รับรางวัล Young Wildlife Photographer of the Year ซึ่งจัดโดย Natural History Museum แห่งสหราชอาณาจักร และรางวัลนี้ทำให้เขาได้รับความสนใจจากสื่อเจ้าใหญ่จำนวนไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็น The Huffington Post และ NPR ไปจนถึง Deutsche Welle

ภาพที่ทำให้เขาได้รับรางวัลนี้เป็นภาพของวาฬบรูด้าแห่งอ่าวไทยซึ่งกําลังอ้าปากกว้างเพื่อกินปลากะตักจํานวนมากที่อยู่ในปากของมัน พร้อมหยาดน้ำทะเลที่รายเรียงรอบขอบปาก ภาพถ่ายของเขาเผยทุกรายละเอียดอย่างคมชัด และโดดเด่นทั้งด้านความบริสุทธิ์ของเรื่องราวและมุมมองที่ไม่ซ้ำใคร โดยเขาไม่ได้โฟกัสเพียงแค่วาฬ แต่มุ่งความสนใจไปยัง ‘ซี่กรองวาฬ’ หรือ ‘บาลีน’ (baleen) ซึ่งช่วยกรองน้ำทะเลออกจากอาหาร จึงเป็นที่มาของชื่อภาพถ่าย The Beauty of Baleen

ขณะที่กตัญญูกำลังถ่ายภาพนี้ เรือที่เขานั่งมาสู่ใจกลางทะเลได้เบาเครื่องยนต์ลงเมื่อวาฬปรากฏกาย เรือโคลงเคลงไปตามแรงคลื่นจนเขาต้องรวบรวมสมาธิและสอดประสานระหว่างความนิ่งของลมหายใจและการใช้สองมือ พร้อมใช้สายตาวินิจฉัยถึงวินาทีแห่งการจับภาพ สีสันและผิวพรรณของวาฬที่ตัดกับผืนน้ำขณะทะยานตัวขึ้นสะกดจิตใจของเขาและภาพเป็นความเย้ายวนที่อาจทำให้กตัญญูพลาดการถ่ายภาพไปได้หากเขาตัดสินใจกดชัตเตอร์ช้าไปอีกเพียงเสี้ยวนาที

บ่อยครั้งที่ผมเห็นขวดพลาสติกและห่อขนมกรุบกรอบถูกทิ้งอยู่ในป่า ดังนั้นหากคุณอยากช่วยโลกก็ควรเลิกใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากสไตโรโฟม ใช้ถุงพลาสติกให้น้อยลง และทิ้งขยะให้ถูกที่ สิ่งเล็กๆ เหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องสำคัญกว่าที่คิด

หนึ่งในคณะกรรรมการอย่างสุกันธี คทธาร ยกย่ององค์ประกอบเฉพาะตัวของภาพและความสามารถในการดึงดูดความสนใจได้แม้จากรายละเอียดที่เล็กน้อยที่สุด ทั้งเธอยังประทับใจที่ได้เห็นว่าช่างภาพวัยเยาว์อย่างกตัญญูไม่ได้เพียงแค่มองผ่านโลกรอบตัว แต่กลับสังเกตอย่างพินิจพิเคราะห์

“เวลาผมถ่ายภาพ ผมจะคิดว่าเราจะเล่าเรื่องอย่างไร ผมอยากแบ่งปันความรู้และทำให้ผู้คนได้ลองคิดอะไรที่ต่างไปจากเดิม” กตัญญูหวังว่า การกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็นจะทำให้ผู้คนหันมาสนใจเรื่องระบบนิเวศมากขึ้น และความเชื่อนี้ยังเป็นสิ่งที่คอยเติมพลังให้กับภาพถ่ายอื่นๆ ของนักธรรมชาตินิยมรุ่นเยาว์คนนี้ ไม่ว่าจะเป็นภาพโลมากระโดด ภาพงูเขียวพระอินทร์กำลังกินกิ้งก่าแก้ว และภาพของนกนางนวลแกลบที่โฉบเอาจะงอยปากลงน้ำที่เพชรบุรี

ปัจจุบัน กตัญญูยังศึกษาอยู่ในระดับมัธยมปลาย แต่เขาก็เริ่มมองการณ์ไกล เขาคิดว่างานภาพถ่ายของเขาจะเป็นประตูไปสู่เป้าหมายอื่นๆ ได้ โดยแม้ในวันนี้เขาจะยังไม่ได้ตัดการเป็นช่างภาพสัตว์ป่าอย่างเต็มตัวออกไปจากแผน แต่เขาก็สนใจพัฒนาทักษะการถ่ายภาพเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่องานลักษณะอื่นๆ ในอนาคต ซึ่งอาจเป็นนักวิจัยหรือนักชีววิทยาก็ได้

วิถีที่กตัญญูเติบโตมาก็มีส่วนผลักดันให้เขาหลงใหลในธรรมชาติ เขาร่ำเรียนแบบโฮมสคูลตั้งแต่อายุราวสิบสองขวบ ซึ่งเปิดโอกาสให้เขาได้ลงลึกในเรื่องที่สนใจ ประกอบกับพ่อและแม่ที่สนับสนุนเขาอย่างเต็มที่ เมื่อเขาเริ่มสนใจเรื่องนก แม่ของเขาก็ได้พาไปร่วมกิจกรรมของสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย และมูลนิธิธรรมชาติศึกษา ทำให้เขาสามารถไล่ชื่อสปีชีส์ของนกและรายละเอียดปลีกย่อยของสัตว์ปีกได้อย่างคล่องแคล่ว ไปจนถึงข้อมูลที่ว่าประเทศไทยมีนกที่ได้รับการบันทึกไว้มากกว่า 1,080 สปีชีส์ นอกจากนี้ กตัญญูยังได้มีโอกาสลงพื้นที่เพื่อทำการวิจัยภาคสนามพร้อมกับนักอนุรักษ์คนอื่นๆ อีกด้วย

เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา กตัญญูได้ไปเยือนเกาะมันในร่วมกับสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติ เพื่อบันทึกเรื่องราวและข้อมูลของนกอพยพหลากหลายชนิดอย่างเช่นนกแต้วแล้วนางฟ้า นกแซวสวรรค์หางดํา และนกจับแมลงชนิดต่างๆ เกาะมันในเป็นเกาะที่มีพื้นที่ขนาดเล็กก็จริง แต่บนพื้นที่นั้นโอบรับนกที่อพยพย้ายถิ่นมากกว่า 70 สปีชีส์ในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคมของทุกปี ซึ่งสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติได้บันทึก ศึกษา และติดตามนกเหล่านี้ อันเป็นงานที่สำคัญยิ่งต่อการอนุรักษ์นกเหล่านี้ในระยะยาว

“ผมเดินไปรอบเกาะและบันทึกข้อมูลจํานวนชนิดนกที่พบในแต่ละวันทุกเช้าและเย็น” กตัญญูเล่าให้ฟังถึงช่วงเวลาบนเกาะมันใน ซึ่งเขาได้มาเยี่ยมเยือนเหล่านกอพยพเป็นปีที่ห้าแล้ว โดยประสบการณ์ลงพื้นที่จริงบนเกาะอนุรักษ์พร้อมกลุ่มอาสาสมัครที่เป็นผู้ใหญ่นี้ถือเป็นโอกาสฝึกฝนอันล้ำค่าที่เด็กรุ่นราวคราวเดียวกันได้แต่ฝันถึง

ความเป็นเด็กโฮมสคูลยังทำให้กตัญญูมีอิสระที่จะไล่ตามความหลงใหลของตัวเองได้เต็มที่ ตอนนี้เขากำลังเริ่มศึกษาเกี่ยวกับสัตว์ชนิดต่างๆ เพิ่มขึ้นและลงลึกมากขึ้น เพื่อเป็นการเตรียมตัวศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย โดยเขาหวังว่าจะได้เข้าเรียนในสาขาสัตววิทยา สังเกตได้ว่าในการสัมภาษณ์กตัญญูมักแสดงออกถึงความซึ้งใจในการสนับสนุนของพ่อแม่อยู่เสมอ ซึ่งถือว่าเต็มที่ไม่น้อย โดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงว่าทั้งคู่ไม่ได้เป็นช่างภาพสัตว์ป่าหรือทำงานใดๆ ที่เกี่ยวข้องเลยก็ตาม

กตัญญูอึ้งไปเล็กน้อยเมื่อถูกถามถึงรายละเอียดเกี่ยวกับอาชีพของพ่อแม่ของเขา ซึ่งบ่งบอกว่าแม้จะมีความสามารถในบางเรื่องเกินวัย แต่กตัญญูก็ยังเป็นเด็กน้อยคนหนึ่ง “แม่ของผมทำงานด้านบัญชี ส่วนพ่อนี่ผมไม่ค่อยแน่ใจเลย จริงๆ พ่อก็บอกผมหลายครั้งแล้วนะ ถ้าเท่าที่ผมรู้ก็คือเป็นงานที่เกี่ยวกับวิศวกรรมเครือข่ายทำนองนั้น”

นอกเหนือจากการศึกษาด้วยตัวเองแล้ว เนื่องจากกตัญญูเป็นสมาชิกของกลุ่มถ่ายภาพหลายกลุ่ม จึงมีผู้ใหญ่ที่ช่วยติชม และให้คำแนะนำในการถ่ายภาพของเขาอยู่เสมอ เช่น การปรับมุมมอง การจัดแสง การตั้งค่าเลนส์ การครอปรูปอย่างเหมาะสม และอื่นๆ อีกหลายเรื่อง ซึ่งมีส่วนช่วยให้กตัญญูพัฒนาอย่างยิ่ง

ส่วนกตัญญูเอง นับตั้งแต่ได้รับรางวัลอันทรงเกียรติ เขาก็มีก้าวหน้าในเส้นทางการถ่ายรูปไม่น้อย ในปีที่ผ่านมา เขามีโอกาสได้เดินทางไปถ่ายภาพยังเกาะแทสมาเนีย แม้ว่าช่วงที่เขาไปนั้นฝนตกเกือบทุกวัน แต่แทสมาเนียก็ทําสามารถทําให้เขารู้สึกทึ่งไปกับความหลากหลายของพันธุ์สัตว์ที่เขาได้บันทึกภาพด้วยกล้องคู่ใจ ไม่ว่าจะเป็นวอมแบต ตุ่นปากเป็ด นกชนิดต่างๆ และอีกมากมาย จนเขาตั้งใจว่าจะต้องกลับไปเยือนแทสมาเนียอีกครั้งในวันที่ฟ้าเป็นใจกว่านี้ เรียกได้ว่าเขาเริ่มมีโอกาสมากมายที่จะได้สำรวจโลกและสิ่งมีชีวิตในป่าตามใจชอบ ซึ่งครั้งหนึ่งเป็นเรื่องที่ดูไกลจากความเป็นจริง โดยเป้าหมายต่อไปก็คือการไปถ่ายภาพสัตว์ป่าในพื้นที่มาไซมารา ประเทศเคนยา

ในขณะนี้ที่กตัญญูกำลังเดินทางบนเส้นทางสายนี้ต่อไป เขาหวังว่างานของเขาจะสื่อให้ผู้คนมองเห็นสิ่งที่มากกว่าองค์ประกอบภาพที่สวยงาม “ผมอยากให้ทุกคนได้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงเล็กๆ สามารถนำไปสู่ผลกระทบที่ยิ่งใหญ่ได้ คุณไม่ควรปลูกป่าเพื่อช่วยโลก เพราะเป็นวิธีที่ผิด และการปลูกป่าก็ถือเป็นการทําลายธรรมชาติทางอ้อมในรูปแบบหนึ่ง บ่อยครั้งที่ผมเห็นขวดพลาสติกและห่อขนมกรุบกรอบถูกทิ้งอยู่ในป่า ดังนั้นหากคุณอยากช่วยโลก ก็ควรเลิกใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากสไตโรโฟม ใช้ถุงพลาสติกให้น้อยลง และทิ้งขยะให้ถูกที่ สิ่งเล็กๆ เหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องสำคัญกว่าที่คิด”

ความหลงใหลและใส่ใจในธรรมชาติอย่างลึกซึ้งทำให้ผลงานของกตัญญูจับใจและจุดประกายความรู้สึกตกตะลึงของผู้ชม แต่สำคัญไปกว่านั้น เขายังสามารถดลบันดาลใจให้ผู้ชมรู้สึกถึงความรับผิดชอบในการปกป้องและรักษาสิ่งแวดล้อม การถ่ายทอดความงดงามอันแสนเปราะบางของธรรมชาติที่ได้พานพบ น่าจะทำให้เจตนารมย์และอิทธิพลของนักถ่ายภาพรุ่นเยาว์นี้เป็นที่ประจักษ์ไปอีกยาวนาน