HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

BEYOND BOUNDARIES


Fuel to the Fire

ประเทศไอซ์แลนด์กำลังก้าวไปสู่การเป็นผู้นำด้านพลังงานหมุนเวียนและการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ด้วยความได้เปรียบทางธรณีวิทยาและความมุ่งมั่นในเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม อันเป็นแหล่งขุมทรัพย์อันยากจะหาประเทศใดเปรียบ

30 มิถุนายน 2566

เมื่อเดินทางจากเมืองหลวงเรคยาวิกราว 20 กิโลเมตร จะพบภูเขาไฟเฮนกิลล์ (Hengill) ตั้งตระหง่านบนพื้นที่กว่า 100 ตารางกิโลเมตร ณ ฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของไอซ์แลนด์ ประเทศหมู่เกาะแห่งมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือซึ่งมีสถานที่ท่องเที่ยวอันโด่งดังระดับโลกอย่างบ่อน้ำพุร้อนธรรมชาติบลูลากูนและน้ำตกสโคคาร์ฟอสส์ (Skógafoss)

ด้วยพื้นที่กว้างใหญ่แต่เงียบสงบ ภูเขาไฟเฮนกิลล์คือหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของนักผจญภัยและผู้รักกิจกรรมกลางแจ้งที่อยากสัมผัสความงามของไอซ์แลนด์ผ่านการเดินไปตามเส้นทางชมธรรมชาติซึ่งแซมสลับด้วยเขาสูง หุบเขาลึกอันคดเคี้ยว และทะเลสาบน้ำนิ่งจากการละลายของธารน้ำแข็ง

นอกจากความสงบและความตระการตาของธรรมชาติ เสน่ห์อีกด้านของเกาะแห่งนี้คือ กระบวนการทางธรณีวิทยาอันน่าอัศจรรย์ ชาวไวกิงผู้ค้นพบไอซ์แลนด์เมื่อนับพันปีก่อนเชื่อว่าเกาะแห่งนี้คือพิภพของเหล่าทวยเทพ ตำนานปกรณัมนอร์สหลายเรื่องราวของชาวไวกิงได้แรงบันดาลใจจากปรากฏการณ์ทางธรรมชาติบนเกาะ ไม่ว่าจะเป็นควันจากบ่อน้ำพุร้อน ธารน้ำแข็งอันหนาวเหน็บ หรือเปลวลาวาจากปากปล่องภูเขาไฟ ซึ่งชนเผ่านักรบโบราณเชื่อว่าทั้งหมดนี้คือปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติที่มาจากพลังของเทพเจ้า กระบวนการทางธรณีวิทยาอันน่าเหลือเชื่อนี่เองที่ได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเปลี่ยนเกาะแห่งไฟและน้ำแข็งให้ก้าวขึ้นเป็นผู้นำพลังงานทางเลือกแห่งอนาคตในยุคปัจจุบัน

กระบวนการทางธรณีวิทยาอันน่าเหลือเชื่อนี่เองที่ได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเปลี่ยนเกาะแห่งไฟและน้ำแข็งให้ก้าวขึ้นเป็นผู้นำพลังงานทางเลือกแห่งอนาคตในยุคปัจจุบัน

บริเวณใจกลางเขตเทือกภูเขาไฟเฮนกิลล์คือที่ตั้งของโรงงานไฟฟ้าพลังความร้อนใต้พิภพ ‘เฮตลิสเฮย์ธี’ (Hellisheiði) เมื่อเดินเข้าใกล้โรงไฟฟ้าจะมองเห็นไอน้ำสีขาวพวยพุ่งจากปล่องควันของโรงไฟฟ้าส่งเสียงดังไปทั่วบริเวณผสานกับเสียงทำงานของเครื่องจักรผลิตกระแสไฟเพื่อส่งไฟฟ้าไปหล่อเลี้ยงเมืองน้อยใหญ่รอบเกาะ

ใต้โรงงานไฟฟ้าแห่งนี้คืออ่างเก็บน้ำ ที่รับพลังงานความร้อนจากใต้พิภพซึ่งเร่งเร้าอุณหภูมิของน้ำให้สูงถึงกว่า 300 องศาเซลเซียส เมื่อเดือดถึงขีดสุด น้ำก็จะแปรสภาพกลายเป็นไอ ก่อนพวยพุ่งจากอ่างเก็บน้ำขึ้นไปขับเคลื่อนกังหันปั่นไฟบางส่วนของโรงงานให้หมุนรอบจนเกิดกระแสไฟฟ้า ยิ่งน้ำระเหยออกไปมากเท่าไหร่ อุณหภูมิของน้ำที่เหลืออยู่ก็ยิ่งร้อนขึ้นจนมีไอน้ำออกมามากยิ่งขึ้นและเข้าไปขับเคลื่อนกังหันที่เหลือ ด้วยกระบวนการนี้ โรงงานไฟฟ้าเฮตลิสเฮย์ธีสามารถผลิตกระแสไฟได้สูงสุดถึง 303 เมกะวัตต์ นับเป็นหนึ่งในสามโรงงานไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก

โรงไฟฟ้าเฮตลิสเฮย์ธีนับเป็นหมุดหมายหนึ่งในเส้นทางของไอซ์แลนด์สู่ความเป็นกลางทางสภาพภูมิอากาศ (climate neutrality) ไปพร้อมกับการขึ้นเป็นหนึ่งในผู้นำด้านพลังงานทางเลือกด้วยภูมิประเทศและสภาพทางธรณีวิทยาแบบเฉพาะตัว ไอซ์แลนด์จึงสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนได้อย่างเต็มที่จนเอ่ยอ้างได้ว่า พลังงานไฟฟ้าและความร้อนในบ้านทุกหลังของไอซ์แลนด์ล้วนมีแหล่งที่มาจากพลังงานหมุนเวียนร้อยเปอร์เซ็นต์

ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและต้นทุนพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นจนกระทบค่าครองชีพ ตั้งแต่ของในร้านสะดวกซื้อจนถึงตั๋วเครื่องบิน การลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิลของไอซ์แลนด์ดูเหมือนชัยชนะที่น่าภูมิใจ

อุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียนยังได้กลายเป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของไอซ์แลนด์ดังเช่นโรงงานไฟฟ้าเฮตลิสเฮย์ธี ด้วยทำเลที่ตั้งอันงดงามซึ่งดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาเยี่ยมชมโรงงานไปพร้อมๆ กับเรียนรู้เรื่องการผลิตพลังงานไฟฟ้าด้วยความร้อนใต้พิภพผ่านนิทรรศการเรื่องพลังงานความร้อนใต้โลก ซึ่งให้ข้อมูลรวมถึงวิธีการออกแบบโรงงาน และใช้เทคโนโลยีมัลติมีเดียสื่อสารให้ผู้มาเยือนเข้าใจได้ง่าย โดยก่อนหน้าการระบาดของโรคโควิด-19 นั้นมีนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชมโรงงานนี้กว่า 100,00 คนต่อปี และตัวเลขนี้กำลังฟื้นคืนกลับมาอย่างช้าๆ หลังโลกพ้นจากวิกฤตโรคระบาด ซึ่งในภาพรวม รายได้จากภาคการท่องเที่ยวนั้นนับได้เป็นสัดส่วน 8.1 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีรวมของประเทศในปี 2019 ก่อนเกิดโรคระบาดครั้งใหญ่ และดิ่งลงไปเป็นสัดส่วน 3.6 เปอร์เซ็นต์ในปี 2020

นอกจากเฮตลิสเฮย์ธี ไอซ์แลนด์ยังมีโรงงานไฟฟ้าแห่งอื่นๆ ที่เปิดประตูต้อนรับนักท่องเที่ยวการมาเที่ยวชมโรงงานไฟฟ้ายังเปิดโอกาสให้ผู้เยี่ยมชมได้ชิมอาหารท้องถิ่นของไอซ์แลนด์ เช่น hverabrauð ขนมปังข้าวไรย์ที่อบด้วยทรายภูเขาไฟสีดำนาน 24 ชั่วโมง หรือลิ้มรสผักซึ่งปลูกในโรงเรือนกระจกที่รับความร้อนจากพลังงานใต้พิภพเพื่อทดแทนสภาพอากาศที่ไม่ปรานีใครและค่ำคืนอันยาวนานในช่วงฤดูหนาว

ที่ไอซ์แลนด์เองก็มีปัญหาเหมือนทุกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสกุลเงิน การเมือง ภาษี สภาพอากาศ ทุกอย่างเป็นเรื่องที่เราต้องรับมือทั้งนั้น แต่ถ้าว่าโดยภาพรวม พวกเรารู้สึกโชคดีที่ได้อยู่ในประเทศที่ธรรมชาติดูแลผู้อยู่อาศัยได้อย่างดีเยี่ยม

ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและต้นทุนพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นจนกระทบค่าครองชีพตั้งแต่ของในร้านสะดวกซื้อจนถึงตั๋วเครื่องบินการลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิลของไอซ์แลนด์ดูเหมือนจะเป็นชัยชนะที่น่าภูมิใจ กล่าวได้ว่าการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานสะอาดและความมุ่งมั่นสู่ความยั่งยืนของไอซ์แลนด์ได้สร้างความหวังให้แก่ใครหลายคนว่าวันหนึ่งโลกจะหันมาใช้พลังงานหมุนเวียนเป็นแหล่งพลังงานหลักแทนการเป็นพลังงานทางเลือกอย่างทุกวันนี้

“การได้เห็นพลังงานความร้อนใต้พิภพกับพลังงานน้ำร่วมกันผลิตกระแสไฟเพื่อหล่อเลี้ยงวิถีชีวิตประจำวันของผู้คนในไอซ์แลนด์เป็นเรื่องที่น่าทึ่งมาก ทำให้อดฝันไม่ได้ว่าคนไทยควรจะได้มีการใช้พลังงานไฟฟ้าหมุนเวียนมากกว่านี้” อรรถชัย สูงสิริ ทนายความวัย 42 ปีจากเชียงใหม่ผู้มาเยือนไอซ์แลนด์หลายครั้งแล้ว กล่าว

แม้หลายประเทศในโลกนั้นมีเทคโนโลยีและทำเลที่ตั้งดีพอจะเปลี่ยนจากการพึ่งพาพลังงานฟอสซิลไปเป็นพลังงานทางเลือกแบบไอซ์แลนด์แต่สำหรับประเทศไทย (และประเทศส่วนใหญ่ในโลก) นั้นไม่ได้โชคดีมีทำเลเหมาะสมเหมือนแดนดินแห่งไฟและน้ำแข็งนี้

ประเทศไอซ์แลนด์ตั้งอยู่บริเวณเทือกเขากลางสมุทร (Mid-Atlantic Ridge) ทางมหาสมุทรแอตแลนติกตอนเหนือ ตรงจุดที่แผ่นเปลือกโลกอเมริกาเหนือและยูเรเชียบรรจบกัน การบรรจบกันของแผ่นเปลือกโลกจากใต้สมุทรส่งผลให้เกิดภูมิประเทศที่มีลักษณะเฉพาะ ทั้งแนวลาวาภูเขาไฟที่กระจัดกระจาย เทือกเขาสูงปกคลุมด้วยหิมะ ธารน้ำแข็ง ภูเขาไฟที่ยังคุกรุ่น และบ่อน้ำพุร้อนธรรมชาติ เกาะแห่งนี้ยังมีปฏิกิริยาหรือกระบวนการทางธรณีวิทยาเกิดขึ้นบ่อยครั้งมากที่สุดในโลก ทั้งการปะทุของภูเขาไฟ หรือการพวยพุ่งของความร้อนจากใต้ผืนโลก ทั้งหมดนี้คือแหล่งพลังงานธรรมชาติอันทรงพลัง ให้ชาวไอซ์แลนด์ได้ตักตวงใช้ประโยชน์โดยเหนื่อยน้อยกว่าประเทศอื่นๆ

อย่างไรก็ดี เมื่อถามถึงที่มาของโครงการพลังงานใต้พิภพ ผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมพลังงานของไอซ์แลนด์ส่วนใหญ่ต่างพูดไปในทางเดียวกันว่าจุดเริ่มต้นของโครงการพลังงานสะอาดที่กำลังนำไอซ์แลนด์ไปสู่ความเป็นกลางทางสภาพอากาศไม่ได้มาจากนักวิทยาศาสตร์ แต่เป็นชาวบ้านท้องถิ่นที่รู้จักใช้ประโยชน์จากพลังงานเหล่านี้เพื่อการยังชีพ

“ในกรณีของพลังงานความร้อนใต้พิภพจุดเริ่มต้นมาจากเกษตรกรคนหนึ่งค้นพบวิธีเชื่อมฟาร์มของเขาเข้ากับบ่อน้ำพุร้อนที่อยู่ใกล้ๆ ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 หลังจากนั้น เทศบาลเมืองของเขาและเกษตรกรคนอื่นก็เริ่มทำแบบเดียวกัน ต่อมาเรื่องก็เข้าสู่พื้นที่การเมือง จนกลายเป็นยุทธศาสตร์หนึ่งของรัฐบาลที่ต้องการสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้แก่ไอซ์แลนด์” ฮัลลา ลัวกาดอตติร์ ผู้อำนวยการแห่ง Iceland’s National Energy Authority (INEA) เล่าเรื่องนี้กับนิตยสารฟอร์บส์เมื่อปี 2022

“ส่วนที่เราชอบที่สุดในเรื่องพลังงานหมุนเวียนของไอซ์แลนด์ก็คือ การเริ่มต้นแบบเล็กๆ เริ่มด้วยการใช้นวัตกรรมและแนวคิดแบบผู้ประกอบการก่อนจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลด้วยการสร้างนโยบายและเงินทุน ซึ่งสำคัญมากสำหรับการพัฒนาในทุกๆ เรื่อง”

การเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานหมุนเวียนเต็มรูปแบบของไอซ์แลนด์เริ่มขึ้นในช่วงปี 1970 ส่วนหนึ่งเกิดจากความต้องการลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิลซึ่งมีต้นทุนสูง จากจุดเริ่มต้นในระดับอุตสาหกรรมขนาดเล็ก พลังงานหมุนเวียนของไอซ์แลนด์นั้นก้าวหน้าจนกลายเป็นแหล่งพลังสำคัญของประเทศด้วยอัตราการผลิตพลังงานไฟฟ้าทั่วประเทศทุกวันนี้ซึ่งมาจากพลังน้ำมากถึง 80 เปอร์เซ็นต์ และอีก 20 เปอร์เซ็นต์จากความร้อนใต้พิภพ และในปัจจุบัน ไอซ์แลนด์ได้กลายเป็นผู้ผลิตพลังงานสะอาดและพลังงานไฟฟ้าต่อหัวประชากรได้มากสุดในโลก นับเป็น 55,000 กิโลวัตต์ต่อคนต่อปีโดยค่าเฉลี่ยให้กลุ่มประเทศสหภาพยุโรปนั้นยังน้อยกว่า 6,000 กิโลวัตต์ต่อคนต่อปีเสียอีก

เนื่องจากที่นี่ไม่มีโครงข่ายไฟฟ้าแห่งชาติ (National Grid) การจ่ายและควบคุมพลังงานไฟฟ้าจึงมาจากการขุดเจาะพื้นดินแถวบ่อน้ำพุร้อนแล้วใช้ประโยชน์จากไอน้ำเพื่อนำมาหมุนเครื่องปั่นไฟและสูบน้ำร้อนขึ้นมาแจกจ่ายไปยังเมืองใกล้เคียงโดยไอซ์แลนด์ใช้ความร้อนจากน้ำพุร้อนธรรมชาติสร้างความอบอุ่นให้แก่ครัวเรือนกว่าร้อยละ 90 ของประเทศ และช่วยให้ทางเดินเท้าและลานจอดรถอุ่นพอจะปราศจากหิมะในฤดูหนาว นอกจากนี้ น้ำจากบ่อน้ำพุร้อนธรรมชาติส่วนหนึ่งยังผ่านกระบวนการกรองและลดอุณหภูมิให้เย็นลงเพื่อเปลี่ยนเป็นน้ำประปาดื่มได้ส่งไปตามท่อประปาเข้าบ้านเรือนโดยตรง ช่วยลดความจำเป็นในการต้มน้ำไว้ใช้บริโภคของประชาชนลงได้อย่างชะงัด

“ตอนผมยังเด็ก ความที่เราเป็นเกาะห่างไกลชวนให้รู้สึกว่าพวกเราต้องพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลราคาแพงตลอดไป ตอนนั้นเราไม่ตระหนักเลยว่าวิธีแก้ปัญหามันซ่อนอยู่ใต้เท้าของเรานี่เอง” วิกินกูร์ ยอนดอตติร์ เจ้าของบาร์คราฟต์เบียร์ในเมืองหลวงเรคยาวิกได้เล่าให้ฟังถึงวันวาน

วิกินกูร์กับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมคราฟต์เบียร์รายอื่นๆ ของไอซ์แลนด์เชื่อว่าน้ำบริสุทธิ์จากธารน้ำแข็งบนไอซ์แลนด์คือวัตถุดิบชั้นเลิศในการผลิตเบียร์ และในปัจจุบัน เกาะแห่งนี้มีโรงผลิตคราฟต์เบียร์มากถึง 16 แห่ง ซึ่งส่วนใหญ่ตั้งอยู่ที่ฟาร์มเล็กๆ ในพื้นที่ชนบทของประเทศ

ในส่วนของเมืองหลวงเรคยาวิก นอกจากการตั้งเป้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2040 แล้ว เรคยาวิกยังได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกที่ต้องการเดินทางมาสัมผัสดินแดนอันงดงามแห่งนี้ในหลากหลายแง่มุม อย่างถ้าต้องการเรียนรู้เรื่องธรรมชาติอันน่าอัศจรรย์ของไอซ์แลนด์ก็ควรไป Perlan Museum ซึ่งจัดแสดงนิทรรศการแบบอินเทอร์แอคทีฟ ซึ่งรวมไปถึงถ้ำน้ำแข็งประดิษฐ์ลึก 100 เมตร และมีหิมะภายในมากถึง 350 ตัน

นอกจากนี้ เรคยาวิกยังมีพิพิธภัณฑ์น่าสนใจอยู่อีกหลายสิบแห่ง มีตั้งแต่พิพิธภัณฑ์ทางวัฒนธรรมไปจนถึงพิพิธภัณฑ์ของแปลก เช่น พิพิธภัณฑ์แห่งชาติไอซ์แลนด์ (National Museum of Iceland) ซึ่งจัดแสดงนิทรรศการประวัติศาสตร์ชาวนอร์สและวิถีชีวิตแบบนอร์ดิกโบราณ ผ่านการจัดแสดงวัตถุโบราณมากกว่า 2,000 ชิ้น รวมถึงประตูต้นสนโบราณสร้างตั้งแต่ปี 1150 ส่วนงานศิลปะร่วมสมัยของไอซ์แลนด์นั้นมีการจัดแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะเรคยาวิก (Reykjavík Art Museum Hafnarhús) ที่แบ่งโซนพิพิธภัณฑ์ออกเป็นสามส่วน ได้แก่ฮาฟนาร์อุส (Hafnarhus) เคเวลสไตด์ (Kjarvalsstadir) และเอาชมุนเดสฟิน (Asmundarsafn)

อีกหนึ่งประสบการณ์ที่ไม่ควรพลาดคือการเดินเที่ยวบาร์บนถนนเลากาเวเกอร์ (Laugavegar) อันคึกครื้นในเขตดาวน์ทาวน์ของเรคยาวิก ซึ่งมีร้านอาหารน่าลองมากมาย เช่น ร้านดิลล์ (Dill) ผู้บุกเบิกสูตรอาหารนอร์ดิกระดับดาวมิชลิน จนถึงศูนย์อาหารเฮลมมูร์ (Hlemmur Food Hall) สุดฮิปศูนย์รวมอาหารหลากหลายสัญชาติ ทั้งทาโก้ พิซซ่าและเมนูเนื้อแกะฉบับไอซ์แลนด์

ภายในศูนย์อาหารเฮลมมูร์นี่เองที่วิกินกูร์กับเพื่อนๆ มักรวมกลุ่มกันพูดคุยถึงชีวิตพร้อมจิบเบียร์และลิ้มรสเบอร์เกอร์ที่เสิร์ฟพร้อมขนมปังอบจากความร้อนของกีเซอร์ (Geyser) หรือแอ่งน้ำพุร้อนธรรมชาติ

“ที่ไอซ์แลนด์เองก็มีปัญหาเหมือนทุกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสกุลเงิน การเมือง ภาษี สภาพอากาศ ทุกอย่างเป็นเรื่องที่เราต้องรับมือทั้งนั้น แต่ถ้าว่าโดยภาพรวม พวกเรารู้สึกโชคดีที่ได้อยู่ในประเทศที่ธรรมชาติดูแลผู้อยู่อาศัยได้อย่างดีเยี่ยม” วิกินกูร์กล่าว

ไม่ว่าจะเป็นธรรมชาติอันสวยงาม ผู้คนที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ความหลากหลายทางวัฒนธรรม รสชาติอาหารแปลกใหม่ หรือเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นเสน่ห์ของไอซ์แลนด์ที่ประทับในจิตใจนักท่องเที่ยว แต่เรื่องราวของการเอาชนะศัตรูตัวฉกาจแห่งยุคโลกร้อนอย่างพลังงานเชื้อเพลิงได้สำเร็จนั้น นับได้ว่าเป็นสิ่งที่ทำให้ไอซ์แลนด์มีเสน่ห์ลึกไปกว่าความงามตาที่นับวันมีแต่จะยิ่งพิสูจน์ว่ามีคุณค่ามากขึ้นเรื่อยๆ ในยุคสมัยของสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง