SECTION
ABOUTTHINKING BIG
Branching Out
ความกังวลที่ก่อตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เกี่ยวกับผลกระทบของอุตสาหกรรมการปลูกป่าในประเทศไทยและประสิทธิภาพของตลาดคาร์บอนในไทยส่งผลให้ผู้เชี่ยวชาญตั้งข้อสงสัยว่า การริเริ่มเรื่องต่างๆ เหล่านี้จะสามารถสร้างอนาคตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของประเทศได้มากขึ้นจริงหรือไม่
30 มิถุนายน 2566
ใบสีเขียวของต้นมะพร้าวพลิ้วไหวไปตามสายลม คลอด้วยเสียงจักจั่นที่ร้องประสานกัน บรรยากาศแบบนี้ชวนให้นึกถึงยามบ่ายน่านอนที่มีเสียงระงมมาจากกลุ่มเด็กๆ กำลังสนุกกับการเล่นฟุตบอล ถัดลงไปเป็นบริเวณทางปั่นจักรยานที่มีสุนัขขี้เซานอนกระจายกันอยู่บนนั้น ขณะที่ตัวตะกวดค่อยๆ ตะกายขึ้นมาจากป่าชายเลน
ภาพธรรมชาติที่ดูร่มรื่นนี้มิใช่ภาพจากบริเวณชายฝั่งทางใต้ของไทย หรือริมแม่น้ำตามต่างจังหวัด แต่คือ ‘บางกระเจ้า’ เกาะสีเขียวที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นปอดของกรุงเทพฯ ณ ใจกลางมหานครนั่นเอง
โอเอซิสแห่งเมืองกรุงที่คุ้งแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งนี้เป็นบ้านของระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์ ซึ่งสามารถรักษาความสมบูรณ์ไว้ได้ แม้จะห้อมล้อมไปด้วยสิ่งปลูกสร้างที่มาพร้อมกับการเติบโตของเมืองหลวง นอกจากนี้ ความเป็นพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ ประกอบกับที่ตั้งใกล้เมือง บางกระเจ้าจึงกลายเป็นพิกัดยอดนิยมสำหรับโครงการปลูกต้นไม้ต่างๆ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
“เมื่อไม่กี่ปีก่อนก็มีโครงการปลูกต้นไม้ขนาดใหญ่ที่เกาะแห่งนี้ ซึ่งนำโดยบริษัทขนาดใหญ่หลายรายและเกิดเป็นความร่วมมือระหว่างกัน แต่ท้ายที่สุดแล้ว ต้นไม้ที่ปลูกในตอนนั้น บางส่วนอาจจะตายไปแล้ว” อรยา สูตะบุตร ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม Big Trees หรือ ‘มูลนิธิรักษ์ไม้ใหญ่’ ได้เล่าถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
“เราเห็นต้นไม้หลากหลายสายพันธุ์ ที่ไม่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของบางกระเจ้าซึ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นป่าชายเลน และการฟื้นฟูป่าให้สำเร็จได้นั้นจำเป็นต้องอาศัยพันธุ์ไม้ท้องถิ่นด้วย”
การปลูกต้นไม้ที่ไม่ใช่พันธุ์ไม้ท้องถิ่นเป็นปัญหาอย่างหนึ่งในทุกโครงการปลูกต้นไม้ที่ดูเผินๆ เหมือนเหมาะสมดี ซึ่งโครงการในลักษณะนี้เป็นที่นิยมไปทั่วโลกว่าเป็นวิธีการที่จะลดก๊าซเรือนกระจกลงได้ ในความเป็นจริงแล้ว การที่ต้นไม้จะดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ดีนั้นขึ้นอยู่กับหลายองค์ประกอบ ทั้งวิธีการปลูก บริเวณที่ปลูก รวมไปถึงเหตุผลในการปลูกด้วย ตามที่อรยาได้กล่าวไว้ว่า การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศนั้น ไม่สามารถทำได้ด้วยการเพาะต้นกล้าแล้วเดินจากไป มันไม่ได้ง่ายขนาดนั้น
การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศนั้น ไม่สามารถทำได้ด้วยการเพาะต้นกล้าแล้วเดินจากไป มันไม่ได้ง่ายขนาดนั้น
แนวคิดในการใช้วิธีปลูกต้นไม้เป็นทางแก้ปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศนั้นเริ่มขึ้นช่วงปี 1976 เมื่อฟรีแมน ไดสัน นักฟิสิกส์ชื่อดังแห่งยุคได้นำเสนอแนวคิดนี้ในงานวิจัยว่า การปลูกต้นไม้ให้มากพอและเลือกปลูกต้นไม้ที่โตเร็วจะช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ส่วนเกินและช่วยหยุดยั้งการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิในแต่ละปีได้ แต่การพึ่งพาต้นไม้เพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะรับมือกับปัญหานี้ ในมุมมองของเขา วิธีแก้ปัญหาในระยะยาวที่เป็นไปได้เพียงวิธีเดียวคือการค่อยๆ เลิกใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล แล้วเปลี่ยนไปพึ่งพาแหล่งพลังงานนิวเคลียร์หรือพลังงานจากแสงอาทิตย์แทน
แต่กระนั้นก็ตาม ธุรกิจที่แสวงหากำไรจากบริการปลูกต้นไม้กลับเกิดขึ้นทั่วโลก และมักคาบเกี่ยวกับการชดเชยคาร์บอนเครดิตของบริษัทขนาดใหญ่ ซึ่งหลายคนได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับประสิทธิภาพของอุตสาหกรรมปลูกต้นไม้ ซึ่งมองข้ามเรื่องสำคัญไป อย่างเรื่องการเลือกปลูกพันธุ์ไม้ท้องถิ่นและมีการดำเนินการตั้งแต่การปลูกไปถึงการดูแลรักษาในระยะยาวอย่างไร และอาจนำไปสู่คำถามว่า การปกป้องผืนป่ากลายเป็นวิธีค้ากำไรไปได้อย่างไรกัน?
ในขณะที่บริษัทส่วนใหญ่ที่หาหนทางชดเชยคาร์บอนอยู่จะมองอุตสาหกรรมการปลูกต้นไม้เป็นเครื่องมือสู่การทำตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SGDs) ผู้ที่อยู่ต้นและกลางห่วงโซ่อุปทานก็ได้ค้นพบช่องทางในการสร้างกำไร ด้วยอัตราส่วนกำไรขั้นต้นราว 20% โดยอ้างอิงจากรายงานของ International Journal of Forestry Research ในปี 2020 การปลูกต้นไม้จึงไม่ได้เป็นเพียงงานของเอ็นจีโอต่างๆ อีกต่อไปปัญหาที่ใหญ่ที่สุดก็คือสเกลการปลูกต้นไม้ เนื่องจากหลายพื้นที่ที่เหมาะกับการปลูกป่ากลับมีขนาดใหญ่ไม่พอที่จะตอบโจทย์การชดเชยคาร์บอนของหลายองค์กร จึงเกิดการแก้ปัญหาด้วยการรวบเอาโครงการปลูกป่าขนาดเล็กหลักร้อยโครงการเข้าด้วยกัน เพื่อสร้างเป็นโปรแกรมชดเชยคาร์บอนขนาดใหญ่ ทั้งยังมีโมเดลแบบสมัครสมาชิกระยะยาวที่บรรลุเป้าหมายเดียวกันได้ แต่ใช้วิธีขยายกรอบระยะเวลาการปลูกเป็นหลายเดือนหรือหลายปีแทน ในบางครั้ง โปรเจกต์ขนาดใหญ่ถูกปั้นขึ้นมาลอยๆ เพื่อให้บรรลุสเกลที่ต้องการ ผู้ที่อยู่ช่วงกลางของห่วงโซ่ซึ่งคอยอำนวยความสะดวกในการปลูกป่าสามารถสร้างธุรกิจรองที่เกี่ยวข้องได้ เช่น บริษัทที่ตรวจสอบโครงการให้เป็นไปตามมาตรฐาน และสร้างกำไรจากค่าธรรมเนียมการตรวจสอบ
กลไกตลาดคาร์บอนทำให้บริษัทและประเทศต่างๆ ยังสามารถปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ต่อไปเพียงแค่ชดเชยการปล่อยก๊าซด้วยการซื้อคาร์บอนเครดิต แทนที่จะใช้วิธีลดการปล่อยก๊าซตั้งแต่ต้นทาง และหลายบริษัทก็ได้ใช้กิจกรรมปลูกต้นไม้เป็นเพียงการประชาสัมพันธ์
บริษัทอาจลงทุนในการปลูกต้นไม้ด้วยหลายเหตุผลแต่บริษัทส่วนใหญ่มักลงทุนเรื่องนี้เพื่อเป็นกิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์การ (Corporate Social Responsibility หรือ CSR) หรือทำเพื่อเป้าหมายอื่นๆ ด้านสิ่งแวดล้อมขององค์กร โดยข้อมูลนี้อ้างอิงจากรายงานในปี 2020 ของ World Wildlife Fund (WWF)
ในปัจจุบัน คนในวงกว้างมีความเชื่อที่ว่าการปลูกป่าเป็นวิธีที่ดีและคุ้มค่าที่สุดในการกำจัดและกักเก็บคาร์บอนและคุ้มค่าที่สุด เพราะต้นไม้สามารถลดคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศได้ด้วยการสังเคราะห์แสงและกักเก็บคาร์บอนนั้นในมวลชีวภาพและในดิน โครงการปลูกต้นไม้จึงสามารถเพิ่มคาร์บอนเครดิตได้ด้วยการกักเก็บคาร์บอนเอาไว้ในต้นไม้และดิน ซึ่งสามารถใช้ขายได้ในตลาดคาร์บอน จึงทำให้เกิดแรงจูงใจต่อภาคเอกชนต่างๆ ที่สามารถสร้างทั้งประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อมและในเชิงเศรษฐศาสตร์ได้ อย่างในปี 2022 มูลค่าในการซื้อขายการอนุญาตให้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Tradable Emission Permits) เพิ่มขึ้นถึง 14% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และทำสถิติสูงสุด 9.09 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามข้อมูลจาก Refinitiv บริษัทวิเคราะห์ข้อมูลตลาดการเงินระดับโลก
แต่การแก้ปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยแรงจูงใจด้านนี้ก็มีคนคัดค้านอยู่ไม่น้อย เพราะกลไกตลาดคาร์บอนทำให้บริษัทและประเทศต่างๆ ยังสามารถปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ต่อไป เพียงแค่ชดเชยการปล่อยก๊าซด้วยการซื้อคาร์บอนเครดิต แทนที่จะใช้วิธีลดการปล่อยก๊าซตั้งแต่ต้นทาง ทำให้ความเข้าใจถึงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมของบริษัทต่างๆ นั้นไม่ถูกต้องนัก และหลายบริษัทก็ได้ใช้กิจกรรมปลูกต้นไม้เป็นเพียงการประชาสัมพันธ์
“องค์กรที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมหาศาลบางรายใช้กิจกรรมปลูกป่าเพื่อเสริมภาพลักษณ์ว่ารักษ์โลก ทั้งๆ ที่ยังคงปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณมหาศาลอยู่ เราจำเป็นที่จะต้องควบคุมให้โครงการปลูกป่าต่างๆ ให้เป็นไปเพื่อสิ่งแวดล้อม มากกว่าที่จะใช้เป็นวิธีในการฟอกเขียวเพื่อภาพลักษณ์ขององค์กร” ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการกรีนพีซประเทศไทยได้เล่าถึงเรื่องนี้
ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมบางส่วนยังแสดงความเห็นต่อเรื่องกลไกของตลาดคาร์บอนเครดิตว่า ไม่สามารถลดปริมาณคาร์บอนได้ตามที่อ้างเสมอไป ซึ่งเรื่องนี้ยังเชื่อมโยงกับการฉ้อโกงและคอร์รัปชันที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะในประเทศที่กรอบการทำงานในการกำกับดูแลเรื่องนี้ยังไม่แข็งแรงและตลาดคาร์บอนยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น อย่างเช่นประเทศไทย
ท่ามกลางความกังวลนี้ เมื่อมองกลับมาที่ประเทศไทย จะเห็นว่าตลาดคาร์บอนมีการเติบโตอย่างเห็นได้ชัดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยจำนวนของโครงการที่ลงทะเบียนในตลาดเพิ่มขึ้นจาก 25 โครงการ ในปี 2013 เป็น 273 โครงการ ในปี 2020 โดยเจ้าใหญ่ที่ริเริ่มเรื่องนี้ก็คือ Thailand Voluntary Emission Reduction Program (T-VER) ซึ่งเริ่มดำเนินงานในปี 2014 โดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ Thailand Greenhouse Gas Management Organization (TGO) ซึ่งระบบการทำงานของ T-VER นั้นจะให้ผลตอบแทนแก่ธุรกิจต่างๆ ในรูปแบบของการให้เครดิต เมื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและลงทุนในโครงการภายในประเทศที่เป็นเรื่องของการลดคาร์บอน
ส่วนภาครัฐเองก็ไม่ได้มองข้ามเรื่องนี้เช่นกัน เพราะขณะนี้รัฐบาลอยู่ในระหว่างเตรียมเปิดตัวตลาดคาร์บอนที่มีการควบคุม ซึ่งต่างจากตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจ โดยเงื่อนไขและข้อกำหนดที่ใช้ในตลาดนี้จะเป็นไปตามมาตรฐานที่ใกล้เคียงกับระบบ EU ETS (European Union Emissions Trading System) ที่มีการกำหนดเพดานในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสำหรับแต่ละอุตสาหกรรม และให้มีการขายใบอนุญาตในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้
นอกจากนี้ โครงการปลูกป่าที่ดูแลโดย TGO นั้น ได้รับความร่วมมือจากคนใน 7,000 ชุมชนราว 100,000 คน และได้ปลูกต้นไม้ไปแล้วมากกว่า 12 ล้านต้น กิจกรรรมเหล่านี้สอดคล้องกับกลยุทธ์ในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net-zero) ของประเทศไทย ซึ่งได้เสนอต่อการประชุม COP26 ที่กลาสโกว์ เมื่อ 2 ปีก่อน และเน้นย้ำเรื่องนี้อีกครั้งในการประชุม COP27 ในอียิปต์เมื่อปีที่ผ่านมา
เป้าหมายในการทำงานตามแผนนี้คือ การเพิ่มพื้นที่ป่าในประเทศให้ถึง 11.2 ล้านไร่ เพื่อให้ต้นไม้ทำหน้าที่กำจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากชั้นบรรยากาศให้ได้ 20 ล้านตันภายในปี 2060 ต่อเนื่องไปจนถึงการบรรลุเป้าหมายในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ อย่างไรก็ตาม มีรายงานหลายฉบับระบุถึงประเด็นที่หลายองค์กรได้เจอในการทำงานร่วมกับ TGO และความกังวลเกี่ยวกับเรื่องปริมาณในการซื้อขายอีกด้วย
“เท่าที่ตรวจสอบจากเว็บไซต์ของ TGO เมื่อเร็วๆ นี้ จะเห็นว่าปริมาณการซื้อขายคาร์บอนเครดิตภายในประเทศยังอยู่ในระดับต่ำ นอกจากนี้ ระบบการลงทะเบียนยัง ค่อนข้างซับซ้อน ทั้งยังได้ยินมาว่า ชุมชนที่อยู่ห่างไกลบางแห่งเลือกขายคาร์บอนเครดิตให้กับตลาดต่างประเทศแทน เพราะความยุ่งยากในการทำงาน” อรยาให้ข้อมูลเพิ่มเติม
กิจกรรมหลายๆ งานของ T-VER เองก็สร้างข้อกังขาด้านผลกระทบที่มีต่อชุมชนในชนบทและการใช้พื้นที่ ซึ่งประเด็นนี้ถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เพราะคนท้องถิ่นเองผ่านการถูกบีบบังคับให้ต้องย้ายถิ่นฐานเพื่อเปิดทางให้กับพื้นที่ป่าอนุรักษ์และอุทยานแห่งชาติ ทุกวันนี้ พวกเขาต้องย้ายที่อยู่อาศัยเพื่อรองรับกิจกรรมปลูกป่าของภาคธุรกิจ แม้ว่าที่ผ่านมาคนท้องถิ่นจำนวนไม่น้อยได้บริหารจัดการ ปกป้อง และอนุรักษ์ผืนป่าในชุมชนที่อยู่ โดยอาศัยภูมิปัญญาของตัวเองแล้วก็ตาม
ผู้อำนวยการกรีนพีซ ประเทศไทย ยังได้เล่าถึงกรณีที่มีบริษัทเอกชนเข้าไปติดต่อชาวบ้านในชุมชนหลายแห่งในจังหวัดลำปาง โดยอ้างถึงโปรแกรมการลดคาร์บอนและเสนอให้ชุมชนใช้ป่าเพื่อกิจกรรมปลูกป่าของบริษัท ถึงแม้ว่าผืนป่านั้นจะสมบูรณ์เพราะมีการดูแลรักษาโดยคนในพื้นที่อยู่แล้ว
“บริษัทนี้ได้เข้าร่วมโปรแกรมที่วิเคราะห์ว่าผืนป่าชุมชนแต่ละแห่งจะต้องใช้งบประมาณในการจัดการเท่าไร และยังมีที่ปรึกษาจากนอกบริษัทเข้ามาช่วยวางหลักเกณฑ์ที่ใช้ แต่บางชุมชนปฏิเสธข้อเสนอนี้เพราะไม่อยากให้บริษัทใช้ประโยชน์จากการจัดการป่าชุมชนเพื่อบริษัทเอง แม้จะมีชุมชนที่ต่อต้าน แต่บางชุมชนก็ให้ความร่วมมือ แต่สิ่งสำคัญก็คือ ชุมชนท้องถิ่นจะต้องมีส่วนในการวางแผนกระบวนการจัดการต่างๆ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่างๆ จะต้องรับฟังเสียงของชาวบ้านด้วย” ธารากล่าว
ธาราได้อธิบายเติมว่า กรมป่าไม้ได้จัดการกับปัญหาเหล่านี้โดยการตั้งคณะกรรมการท้องถิ่นให้ดูแลโครงการปลูกป่าในบริเวณที่กำหนดสำหรับหลายโครงการของเอ็นจีโอและธุรกิจภาคสังคมต่างๆ เช่น โครงการพัฒนาดอยตุงของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ซึ่งตั้งขึ้นในปี 1988 เพื่อเปลี่ยนวิธีทำมาหากินของชุมชนชาวเขาที่เดิมมีรายได้จากการปลูกฝิ่น โดยโครงการนี้ได้เข้าร่วมเรื่องการปลูกป่าตั้งแต่ปี 2008 เรียกได้ว่าเป็นโปรแกรมแรกในเมืองไทยที่ทำงานร่วมกันในลักษณะนี้
ส่วนธุรกิจภาคสังคมนั้นทำหน้าที่เป็นเจ้าของโครงการซื้อขายคาร์บอนโดยสมัครใจ โดยเป็นตัวแทนของชุมชนบางแห่งในภาคเหนือของไทย อย่างเช่นโครงการ ‘คุณดูแลป่า เราดูแลคุณ’ ที่เปิดตัวในปี 2021 และมีมูลค่า 43 ล้านบาท อันเป็นความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พร้อมด้วยองค์กรเอกชนหลายแห่ง โดยคาดการณ์ว่าจะครอบคลุม 19,611 ไร่ จากผืนป่าชุนชม 16 แห่ง จะสามารถจัดการกับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 392,220 ตัน ภายในระยะเวลา 20 ปี
ในการจัดทำโครงการปลูกป่าใดๆ สิ่งที่ควรตระหนักถึงอย่างยิ่งคือ การปลูกป่านั้นควรมีวัตถุประสงค์ที่มากไปกว่าการกำจัดคาร์บอนเท่านั้น ดังเช่นงานขององค์กรการกุศลระดับโลกอย่าง One Tree Planted ที่ตั้งแต่ปี 2021 ได้สนับสนุนการฟื้นฟูป่า การอนุรักษ์ป่า และการปลูกป่าในประเทศไทย ผ่านการทำงานขององค์กรท้องถิ่น โดย เบธ ดัลกลีช ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของวัน ทรี แพลนเท็ด ได้ให้ข้อมูลว่า องค์กรได้ปลูกต้นไม้ไปแล้วมากกว่า 750,000 ต้น นับถึงปัจจุบัน แต่ความตั้งใจขององค์กรยังไม่จบลงแค่นั้น เพราะทางองค์กรยังได้ทำงานร่วมกับชาวบ้านในสุราษฎร์ธานี เพื่อผลักดันให้เกษตรกรสวนยางเข้าสู่วิถีวนเกษตร เพิ่มการปกป้องที่อยู่อาศัยริมชายฝั่ง และพัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยความมั่นคงทางอาหารและการกระจายแหล่งรายได้
เนื่องด้วยการเติบโตของตลาดคาร์บอนเครดิตของประเทศไทย การปลูกต้นไม้จึงเป็นหัวใจสำคัญอย่างหนึ่งในการวางกลยุทธ์การจัดการคาร์บอน แต่การเติบโตนี้ก็ไม่ควรตั้งอยู่บนพื้นฐานของการทำลายระบบนิเวศที่มีอยู่เดิม หรือละเมิดสิทธิ์ของคนท้องถิ่นที่ต้องอดทนกับการกดขี่และไม่เคารพสิทธิ์มาอย่างยาวนาน
ทั้งภาคประชาชนและภาคเอกชนต้องตั้งคำถามกับตัวเองว่า สามารถทุ่มเททั้งเวลา แรงกาย และเม็ดเงินเพื่อให้การปลูกต้นไม้เป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่? คำตอบของคำถามนี้จะเป็นตัวตัดสินว่า ประเทศไทยจะสามารถสร้างอนาคตที่ยั่งยืนขึ้น พร้อมสร้างประโยชน์ให้กับทั้งประชาชนและสิ่งแวดล้อมได้หรือเปล่า ■