HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

THINKING BIG


Thaipology 101

ความร่วมสมัยของไทยที่ถูกถ่ายทอดด้วยตัวหนังสือหัวตัดจากยุคเก่าของ ‘แม่น’ จิรวัฒน์ ศรีเลื่อนสร้อยแห่ง The Only Market

เป็นเวลานานมาแล้วที่หากเดินผ่านอาคารห้างร้านตามย่านเมืองเก่า หนึ่งสิ่งที่ย่อมผ่านสายตาคือป้ายร้านหรือสถานที่อักษรไทย ที่เริ่มซีดจางจากแดดจ้าตลอดหลายสิบปี บ่อยครั้งร้านรวงเหล่านี้มักถูกมองข้ามไปสู่จุดหมายปลายทาง ไม่ว่าคาเฟ่ แกลเลอรี หรือบูติกชอปหน้าตาเหมือนยกมาจากโซลหรือโคเปนเฮเกนที่เตะตามากกว่า อย่างไรก็ตาม ในไม่กี่ปีให้หลังมานี้ หากสังเกตจะพบว่าความงามแบบสมัยเก่าของไทย ฉับพลันกลับถูกดันขึ้นมาอยู่ในหลากหลายการออกแบบหน้าตาของร้านค้าและผลิตภัณฑ์

จิรวัฒน์ ศรีเลื่อนสร้อย หรือรู้จักกันในชื่อเล่นว่า ‘แม่น’ คือหนึ่งในดีไซเนอร์ที่เรียกได้ว่าบุกเบิกและนำเอาความงามของยุคสมัยหนึ่งของไทยกลับมาอยู่ในสปอตไลท์อีกครั้ง โดยเฉพาะในตัวอักษรหัวตัดกรุ่นกลิ่นอดีต ไม่ว่าที่ปรากฏในลายมือเขียนหมึกบนรถเมล์ ป้ายไม้แกะหน้าร้าน โปสเตอร์หนังโบราณ หรือแม้กระทั่งอักษรอาลักษณ์บนกระดานในวัด ในที่ที่ทุกคนมองข้าม จิรวัฒน์ผู้มีสายตาที่ฝึกมาในสายงานกราฟฟิกดีไซน์เนอร์ สไตล์ลิสต์ และแฟชั่นเอดิเตอร์ของนิตยสารในยุคทองได้บันทึกและเก็บรวบรวมอักษรมากเสน่ห์เหล่านี้ไว้ อีกทั้งยังนำมาผสมผสานจัดวางจนกลายเป็นงานอักษรซิกเนเจอร์ของจิรวัฒน์ ที่โด่งดังไปทั่วโลกในครั้งแรกจากคอลเล็กชัน ‘กรุงเทพมหานคร’

ก่อนวันที่ความ ‘เชย’ จะกลายมาเป็นความ ‘ชิค’ เรื่องราวของจิรวัฒน์บ่งบอกถึงความกล้าที่จะหลงใหลกับสิ่งที่ตัวเองรักและผลักดันให้คนอื่นได้ชื่นชมในสิ่งเดียวกัน

“ตอนมัธยม เราเป็นเด็กเขียนตัวหนังสือหน้ากระดาน เขียนไปเพราะชอบโดยไม่คิดอะไร ต่อมาพี่ที่อยู่หลังบ้านเขาเรียนเพาะช่าง เขียนตัวหนังสือด้วยปากกาหัวตัดก็แอบไปเรียนกับเขา แต่พอเข้าศิลปากร เราเริ่มต่อต้านอะไรที่สำเร็จรูป ต้องการสร้างสิ่งใหม่ พอถึงคลาสเขียนตัวหนังสือไทย เราเลยไม่เรียนเลย เป็นวิชาเดียวที่ไม่ส่งงาน ด้วยความอยากโดดเด่น อยากประชด หรืออะไรก็ตาม แต่ปรากฎตอนโตเรามาทำงานดีไซน์ มีคอลเล็กชันหนึ่งที่ทำกับ Dry Clean Only ไปโชว์ที่ปารีสปี 2017 ซึ่งเป็นปีที่ประเทศที่ไม่ใช่เมืองหลวงแฟชั่น เริ่มไปโดดเด่นใน Fashion Week เราต้องการถ่ายทอดวัฒนธรรมร่วมสมัยของกรุงเทพฯ และของประเทศ จึงสมมติตัวเองเป็นเอเลียนว่าถ้ามาเจอประเทศไทย จะให้รู้จักประเทศไทยจากอะไร

เราไม่กล้าแตะวัฒนธรรมสูงๆ เราต้องการนำเสนอวัฒนธรรมร่วมสมัยของไทย ที่เป็นแดนของอาหาร เป็นเซเว่น เป็นรถเข็น เป็นกันสาด เป็นถังพลาสติกใส่ผักที่มีตัวหนังสือสีทองๆ อยากถ่ายทอดสิ่งที่เราเห็นบนถนนในปัจจุบันของกรุงเทพ

…เวลาเราเห็นตัวหนังสือภาษาประเทศอื่น ภาษาจีน ภาษารัสเซีย ภาษาอาหรับอยู่บนเสื้อ มันดูเท่ ดูคูล โดยไม่ต้องเข้าใจ เหมือนเสื้อยืดภาษาญี่ปุ่น ที่เขียนว่า ‘ฉันไม่รู้ภาษาญี่ปุ่น’ ก็อยากรู้ความรู้สึกคนต่างชาติที่มาเห็นเสื้อที่เป็นตัวหนังสือไทยบ้าง เลยทดลองทำลายเสื้อเป็นคำว่า ‘กรุงเทพมหานคร’ ที่เขียนขึ้น มีดีเจคนฝรั่งเศสคนหนึ่งเอาไปใส่ในงานปาร์ตี้ของอีเวนต์ ทุกคนเข้ามาชมว่าเสื้อเธอสวยจัง อยากรู้ว่าเขียนว่าอะไร เราเลยเริ่มเห็นความเป็นไปได้ของสิ่งนี้”

ความเป็นไปได้ของสิ่งนี้ นำไปสู่ร้าน The Only Market ของจิรวัฒน์ที่ได้ถือกำเนิดขึ้นหลังจากช่วงเวลานั้นไม่นาน โดยในร้านจำหน่ายข้าวของเครื่องใช้อย่างกระเป๋า เสื้อผ้า แก้วน้ำ และสิ่งอันพันละน้อยที่ชวนให้นึกถึงย่านเมืองเก่าในกรุงเทพฯ และแน่นอนทุกชิ้นถูกแต่งแต้มด้วยอักขระหัวตัดเป็นลายเซ็นอันเฉพาะตัว

“เราไม่กล้าแตะวัฒนธรรมสูงๆ ไม่ได้ไปถึงวัดโพธิ์ วัดพระแก้ว เราต้องการนำเสนอวัฒนธรรมร่วมสมัยของไทย ที่เป็นแดนของอาหาร เป็นเซเว่น เป็นรถเข็น เป็นกันสาด เป็นถังพลาสติกใส่ผักที่มีตัวหนังสือสีทองๆ อยากถ่ายทอดสิ่งที่เราเห็นบนถนนในปัจจุบันของกรุงเทพ ก็เลยเกิดเป็นแบรนด์ ‘ดิ โอนลี่ มาร์เก็ต’ ขึ้น ตอนที่ทำโปรเจกต์เสื้อกรุงเทพมหานคร ตอนนั้นบ้านเรา ยังไม่ค่อยมีตัวหนังสือไทยเกิดขึ้นในงานดีไซน์ ดังนั้น พอเสื้อล็อตแรกของกรุงเทพมหานครออกมา สยามพารากอนก็เชิญไปเขียนตัวหนังสือลงดิสเพลย์ของห้าง Adidas เชิญไปทำกางเกงกับ Dry Clean Only เขียนคำว่า ‘อาดิดาส’ เป็นภาษาไทย อยู่บนกางเกงชกมวยขายทั่วโลก เราก็ภูมิใจที่เป็นคนหนึ่งที่ทำให้ตัวหนังสือภาษาไทยกลับเข้ามาในวงการออกแบบของบ้านเรา”

อย่างไรก็ตาม ไม่นานหลังจากนั้นก็เกิดวิกฤตการณ์โรคระบาด ทุกการแข่งขันที่กำลังเข้มข้นกลายเป็นต้องหยุดชะงักลง จิรวัฒน์เองได้ใช้ช่วงเวลานี้ต่อยอดความหลงไหลของเขา

สิ่งนี้กลายเป็นวิธีคิดของเรา คือมองหาสิ่งที่โมเดิร์นที่สุดในสิ่งที่เก่า ไม่ใช่สิ่งที่เชยที่สุด และถ้าเราเจอแปลว่าสิ่งนั้นได้พิสูจน์ตัวเองแล้ว มันผ่านกาลเวลามาแล้ว ความเปรี้ยวมันซ่อนอยู่ในอะไรแบบนี้

“เราเป็นคนที่สะสมหนังสืออยู่แล้ว และก็ชอบสะสมฟอนต์ ตั้งแต่ฟอนต์โบราณสมัยเลอกอบูซีเยร์ ฟอนต์สวิสโบราณสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง สะสมฟอนต์ไทย เวลาไปเที่ยวอินเดีย เจอตรายางที่เป็นตัวหนังสือ ตัวเลข ก็ซื้อกลับมา ไปอิสตันบูลแล้วเจอคนที่เขียนอักขระตามวัดก็ไปนั่งดูเค้า ไปอังกฤษเจอคนที่เขียนคาลิกราฟฟีก็ชื่นชอบจนซื้ออุปกรณ์เขียนมาเต็มที่ แต่ก็ไม่ได้ตั้งใจทำสักที พอมาทำดิ โอนลี่ มาร์เก็ต รู้สึกแล้วว่ามีคนให้ความสำคัญ ต้องเริ่มเอาจริง

…สำคัญคือได้ไปเจออาจารย์จินดาที่แปดริ้ว ท่านเขียนตัวหนังสือไทยได้เทพมาก สวยแบบไม่ต้องพยายาม ลื่นไหล ลงตัว เลยไปเรียนกับท่าน และเนื่องจากท่านมีแค็ตตาล็อกตัวหนังสือไทยเยอะมาก ก็เลยรวบแค็ตตาล็อกนั้นมานั่งเรียน ช่วงโควิดก็นั่งเขียนไปเรื่อยๆ เริ่มจากเขียน ก. ไก่ ถึง ฮ. นกฮูก แล้วก็ผสมคำไปเรื่อยๆ จนนึกไม่ออกแล้วว่าจะเขียนอะไร ก็นึกไปถึงว่าวันนี้วันเกิดเพื่อน เลยเริ่มเขียนชื่อเพื่อนในวันเกิด จนกลายมาเป็นนิทรรศการออนไลน์ Thaipologic บนอินสตาแกรม และก็โพสต์ตัวหนังสือที่เราทำทั้งหมด 44 ตัวลงในอินสตาแกรมนี้ ก็เรียกว่าเป็นคอลเล็กชันของตัวหนังสือไทยที่เรารีดีไซน์

…สิ่งที่เรานั่งทำได้ 4-5 ชั่วโมงแล้วอยากทำต่อไปเรื่อยๆ คือตัววัดว่าตัวตนเราคือแบบไหน มันคือสิ่งที่เราสามารถนั่งดีไซน์ไปได้ทั้งคืนได้โดยไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อย และพรุ่งนี้ตื่นมาก็จะทำอีก เป็นภาวะที่เรียกว่า ‘การกัดเล็บ’ เพราะวินาทีที่สนุกที่สุดของเราคือ ตอนที่งานมันใกล้จะเสร็จแล้วเราค่อยๆ เล็ม ค่อยๆ เกลา จนมันกลายเป็นรูปที่ชัดเจนในที่สุด เหมือนช่างแต่งหน้า หรือทำรูป ที่ค่อยๆ เก็บงาน ตอนแรกแกะหินสี่เหลี่ยมก็จะเหนื่อยใจ ไม่รู้จะออกมาเป็นรูปอะไร แต่พอมันเริ่มออกมาเป็นรูปทรง เริ่มเห็นภาพ มันก็จะสนุก”

ในบรรดาอักษรไทยหลากหลายรูปลักษณ์และกลวิธีการเขียน จิรวัฒน์ดูจะปันหัวใจให้กับอักษรที่เขียนด้วยปากกาหมึกหัวตัดเป็นพิเศษ นี่ไม่ใช่การสุ่มเลือกที่บังเอิญได้รับความนิยม แต่เป็นการกลั่นกรองของประสบการณ์ในฐานะกราฟฟิกดีไซเนอร์และแฟชั่นเอดิเตอร์ของจิรวัฒน์ ที่ได้เห็นงานอาร์ตและแฟชั่นหลากหลาย อีกทั้งยังต้องเป็นผู้วางอาร์ตไดเรกชันให้กับนิตยสารลิปส์เป็นภาษาไทย ทั้งๆ ที่มีฟอนต์ไทยให้เลือกใช้จำกัด

“อักษรที่เกิดขึ้นบนโลกมนุษย์แรกๆ คืออักษรรูปลิ่ม เกิดจากการเอาไม้จิ้ม สำหรับเรา ตัวหนังสือที่เขียนด้วยปากกาหัวตัดจึงเชื่อมโยงไปถึงการเขียนตัวหนังสือที่เบสิคที่สุด เราชื่นชอบผลงานของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ริเริ่มการคิดค้นตัวหนังสือไทยประดิษฐ์ โลโก้ประจำตัวของท่าน เขียนเป็นรอยแต้มสี่ก้อน แต่มองแล้วเป็นตัว น.หนู เรารู้สึกว่าเยี่ยมมาก สิ่งนี้กลายเป็นวิธีคิดของเรา คือมองหาสิ่งที่โมเดิร์นที่สุดในสิ่งที่เก่า ไม่ใช่สิ่งที่เชยที่สุด และถ้าเราเจอแปลว่าสิ่งนั้นได้พิสูจน์ตัวเองแล้ว มันผ่านกาลเวลามาแล้ว ความเปรี้ยวมันซ่อนอยู่ในอะไรแบบนี้

…ตอนที่เริ่มเขียนปากกาหัวตัด เราพยายามจะหาฟอนต์ปากกาหัวตัดที่เป็นคอมพิวเตอร์เหมือนกัน แต่มันมีแต่แบบลายกนกคดเคี้ยวไปหมด ไม่มีความเป็นกราฟฟิกที่จะเอามาทำงานต่อได้ เราเลยต้องไปลอกกระดานที่สัปปะเหร่อเขียนและต่อยอดจากตรงนั้น สมัยก่อนศิลปะมันเป็นของสูง หลายคนก็อยากจะเอื้อมไปทางนั้น แต่เราอยากจะทำให้มันเป็นความร่วมสมัย เป็นอะไรที่อยู่บนเสื้อ หรือในชีวิตประจำวันมากกว่า เรารู้สึกว่าคนไทยทำอะไรก็ไทยอยู่แล้ว ดังนั้นความเป็นไทยไม่จำเป็นต้องอยู่กับแค่ลายกนก วัฒนธรรมร่วมสมัยที่เราเห็นอยู่ตามถนน ตัวหนังสือในจดหมาย ตึกราชการ หมูกระทะ ก็เป็นไทยทั้งนั้น”

เสน่ห์เฉพาะตัวและแก่นความเป็นไทยแบบร่วมสมัยแบบ Thaipologic ของจิรวัฒน์ได้ดึงดูดความสนใจของผู้คนจนเป็นที่รู้จักในวงกว้างขึ้น เขาได้รับการติดต่อให้ร่วมทำโปรเจกต์หลากหลายรูปแบบที่เกี่ยวข้องกับงานดีไซน์ที่มีตัวหนังสือ หนึ่งในนั้นคือการทำงานออกแบบลาย ‘อักษรรังสรรค์’ ให้กับของขวัญปี 2565 ของกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร

“เราเป็นสไตลิสต์ ซึ่งมีความเฉพาะเจาะจงกับการเลือกใช้สิ่งของ ดังนั้น เราจึงพยายามเลือกสิ่งของแบบที่มีตัวหนังสือวางอยู่แล้วน่าจะสวยได้เอง ตอนแรกที่ทางเกียรตินาคินภัทรติดต่อมายังกลัวๆ เพราะบริษัทใหญ่มักจะมีโครงสร้างการทำงานที่เป็นขั้นตอนชัดเจน แล้วสุดท้ายผลงานเราจะออกมาเป็นยังไง เราเป็นศิลปินแต่เขาอาจจะไม่เอาตามเราเสนอก็ได้ แต่สุดท้ายเขาปล่อยเราเต็มที่ ทำให้รู้สึกไม่ได้ต้องการแค่เอาชื่อเราไปใส่ แต่เขายอมรับเรา และอยากได้ผลงานเราไปอยู่ในของจริงๆ”

วันนี้ผลงานของขวัญในชุด ‘อักษรรังสรรค์’ ได้สำเร็จออกมาอย่างลงตัวสมใจศิลปินแล้ว แต่มันไม่ใช่สิ่งเดียวที่บรรจุความงามของอักษรไทย เพราะในปัจจุบัน ร้านและแบรนด์จำนวนมากได้เลือกใช้ชื่อไทยและอักษรไทยเป็นสิ่งสื่อตัวตนต่างจากสมัยก่อนที่ความคูล ความชิค ดูจะเป็นสมบัติเฉพาะของภาษาต่างประเทศ ไม่เท่านั้น อัตลักษณ์ความไทยแบบติดถนน หรือยุคเก่า ก็พลอยได้รับความสนใจครั้งใหม่ขึ้นอีกด้วย เห็นได้จากความเคลื่อนไหวของแบรนด์อย่างห่านคู่ นันยาง ช้างดาว ฯลฯ สำหรับจิรวัฒน์แล้ว การสร้างผลงานที่สร้างผลกระทบได้มากกว่าการเป็นของหน้าตาสวยงามหนึ่งชิ้น ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าการรู้จักตัวเองอย่างลึกซึ้ง

“เมื่อก่อนงานดีไซน์ งานความคิดสร้างสรรค์จำกัดอยู่แค่คนทำอาชีพงานโฆษณา อย่างสามหน่อ เกรย์ฮาวด์ พร็อพพาแกนด้า จนอินเทอร์เน็ตแพร่หลายเป็นวงกว้าง คนถึงเข้าถึงงานดีไซน์ได้มากขึ้น วันนี้เราเขียนรูปแล้วโพสต์ลงในอินเทอร์เน็ตก็มีคนเห็น ไม่ต้องพึ่งหนังสือ แกลเลอรี หรือผู้ใหญ่ มีองค์กรที่มาส่งเสริมให้ถูกต้อง เช่นมี TCDC มี Bangkok Design Week กระทั่งห้างร้านต่างๆ ที่ขายของกับคนทั่วๆ ไปก็ยังเลือกที่จะเอาดีไซน์เนอร์หรือนักวาดภาพประกอบมาทำงานดีไซน์วาดถุงให้เขาแทนที่จะใช้ภาพดอกไม้จากไหนก็ได้ วงการดีไซน์ก็งอกงามไปกว่าเมื่อก่อนมาก

…แต่เมื่อมันไวจนกระทั่งใครๆ ก็เป็นศิลปินได้ ต่อไปเราคิดว่าจะต้องมีการฟิลเตอร์แบบยิ่งใหญ่ ระหว่างงานที่ทำจากตัวตนจริงๆ กับงานที่เป็นเพียงการเสพอินเทอร์เน็ตเยอะๆ แล้วประมวลผลแล้วออกมาเป็นงาน สำหรับคนทำงานดีไซน์วันนี้ที่พอตื่นเช้ามาทุกวัน น้ำก็ท่วมถึงหน้าบ้านเป็นงานศิลปะเยอะแยะมากมาย เราต้องตอบตัวเองได้ว่านี่คือสิ่งที่เราชอบจริงๆ ไม่งั้นเราก็จะถูกดึงไป สมมติวันนี้ทุกคนถ่ายภาพอาหารเป็นแบบเกรย์ๆ ไปหมด ถ้าวันหนึ่ง กระแสกลายเป็นอาหารสีสด แล้วตัวตนเราอยู่ตรงไหน”

สำหรับจิรวัฒน์ เขาดูจะตอบได้แล้วว่าตัวตนของเขาอยู่ตรงไหน ไม่ใช่แต่เพียงแค่ที่อักษรไทย แต่คือความกล้าที่จะยืนยันสิ่งที่ตัวเองชอบและกลั่นกรองแล้วมาเป็นอย่างดี

“ต่อให้เราจะเสียงสั่น เราก็ต้องพูด ต่อให้เราจะไม่มั่นใจ เหมือนบางครั้งเราทำงานกับพวกรุ่นใหญ่ แล้วเขาขอความคิดเห็นเรา เราก็จะต้องมีความคิดเห็นของเรา แม้ในยามอยู่ต่อหน้าเสือสิงห์ทั้งหลายให้ได้ เราเคยเป็นสไตลิสต์จิ๋วคนหนึ่งที่บอกให้รุ่นใหญ่เอาโบว์ออกจากชุดที่โชว์ในคอลเล็กชัน พูดไปก็กลัว แต่ถ้าจะให้เราทำโชว์นี้เราก็ต้องพูด เพราะฉะนั้น ถามว่าดีไซเนอร์ควรมีความกล้าในเรื่องไหน ดีไซเนอร์ต้องขัดเกลาตัวเองให้มีเสียง แม้เสียงจะสั่นก็ตาม ก็ต้องพูด”

วันนี้จิรวัฒน์ได้ ‘พูด’ แล้ว ผ่านหมึกบ้างหนักแน่นบ้างพลิ้วไหวของอักษรหัวตัดที่ ‘ตะโกน’ ความเป็นกรุงเทพฯ และความเป็นไทยให้โลกได้เห็นแบบที่ไม่ต้องแปล