SECTION
ABOUTTHINKING BIG
Artificial Assistance
การพัฒนาเทคโนโลยี AI ของไทยเพื่อพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคนพิการให้ยืนหยัดอย่างเท่าเทียมในสังคม
หลังกดปุ่มเปิดเครื่องคอมพิวเตอร์ วิน-ปุณพจน์ เอื้อพลิศาน์ ก็ได้ยินเสียงพูดดังฟังชัดจากคอมพิวเตอร์ว่า
“การตั้งค่าระบบ การเข้าถึง แถบเครื่องมือ”
เสียงพิมพ์คีย์บอร์ดดังขึ้นเมื่อวินเปิดโปรแกรมที่เขาเป็นคนพัฒนาบนหน้าจอ จากนั้นเขาก็เริ่มสาธิตให้เห็นประโยชน์ของมัน โปรแกรมสามารถอ่านออกเสียงชุดข้อมูลที่วินป้อนผ่านคีย์บอร์ด พอป้อนเสร็จเขาก็ค่อยๆ เพิ่มระดับเสียงและความเร็วในการอ่านออกเสียงข้อมูลของคอมพิวเตอร์ จนเสียงที่ได้ยินชวนให้นึกถึงเทปคาสเซ็ตสมัยก่อนที่กำลังถูกกดกรอไปข้างหน้า
ความมุ่งมั่นและทุ่มเทของวินในการทำงานกับคอมพิวเตอร์แรงกล้าจนคนรอบข้างสัมผัสได้ ในสายตาของคนอื่น งานของเขาอาจดูไม่ต่างจากการคลำทางฝ่าความมืดมิดเพื่อพัฒนาสิ่งใหม่ๆ ที่ยังไม่มีใครเคยเห็น แต่มันไม่ใช่ปัญหาสำหรับวิน เพราะความมืดมิดคือส่วนหนึ่งในชีวิตของเขาอยู่แล้ว
วินเกิดมาพร้อมความบกพร่องทางการมองเห็น ในวัยเด็กสายตาของเขายังพอเห็นภาพเลือนรางได้บ้าง แต่พอโตขึ้นเขาก็สูญเสียมันไปอย่างสมบูรณ์
ถึงวันนี้จะมองไม่เห็น แต่วินในฐานะนักพัฒนาซอฟต์แวร์สามารถผลิตงานเขียนชุดคำสั่งคอมพิวเตอร์ (coding) ได้มากถึง 70% ของงานทั้งหมดที่ผลิตโดยบริษัท Vulcan Coalition (วัลแคน โคอะลิชั่น) บริษัทสตาร์ทอัพด้านปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ในกรุงเทพฯ ที่มุ่งมั่นกับการพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อช่วยเหลือและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้มีความบกพร่องทางร่างกาย เช่น ผู้เป็นโรคอัมพาตส่วนล่าง ผู้มีความบกพร่องทางการมองเห็นหรือการได้ยิน ผู้ป่วยโรคแอสเพอร์เกอร์ซึ่งเกี่ยวข้องกับพัฒนาการด้านสังคม ไปจนถึงผู้มีความบกพร่องทางพัฒนาการรูปแบบอื่นๆ ที่อยู่ในกลุ่มเดียวกับโรคออทิสติก
กรณีของคนที่เกิดมาพร้อมความพิการทางสายตา หรือมีความบกพร่องทางการมองเห็นในวัยเด็กนั้น นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา ได้ศึกษาสมองของคนกลุ่มนี้ผ่านเครื่องสร้างภาพด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้า หรือ MRI และเพิ่งค้นพบว่า คนกลุ่มนี้มักมีทักษะการได้ยินที่เฉียบคมกว่าคนทั่วไปซึ่งอาจเป็นเหตุผลว่าทำไมนักเทคโนโลยีที่มีความบกพร่องด้านการมองเห็น เช่น วิน ทำงานกับชุดข้อมูลได้เร็วกว่า และอาจถึงขั้นดีกว่าคนทั่วไป
งานศึกษาดังกล่าวไม่ได้กำลังจะบอกว่าผู้พิการทางสายตาคือยอดมนุษย์ เพราะในหลายกรณีการปรับทักษะอื่นของร่างกายขึ้นทดแทนทักษะที่เสียไปไม่ได้ชี้ถึงสิ่งใดเลยนอกจากพลังใจล้นเหลือที่จะสู้ชีวิต ซึ่งในกรณีของวิน หรืออีกหลายคนที่มีความบกพร่องคล้ายกัน สิ่งที่พวกเขาต้องการจริงๆ ก็ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าโอกาสที่เท่าเทียมในชีวิต ทั้งความเท่าเทียมในการทำงาน การมีสิทธิมีเสียง และการมีอิสรภาพในการใช้ชีวิตโดยไม่ถูกมองเป็นวัตถุแห่งความเวทนาน่าสงสาร
โชคดีว่าสังคมปัจจุบันเริ่มเปลี่ยนทัศนคติและตระหนักถึงคุณค่าที่ผู้พิการได้สร้างสรรค์ให้แก่โลกมากขึ้น วินคือตัวอย่างของผู้มีความบกพร่องทางร่างกายที่ไม่เพียงช่วยสร้างประโยชน์ให้แก่สังคม แต่ยังช่วยให้โลกนี้น่าอยู่ขึ้นอีกด้วย
“AI ช่วยปฏิวัติให้คนพิการสามารถเข้าถึงโอกาสต่างๆ ได้มากขึ้น” วินกล่าว
การที่วินซึ่งเป็นผู้พิการทางสายตาออกแบบซอฟต์แวร์ให้แก่วัลแคน ทำให้กล่าวได้ว่าซอฟต์แวร์ของที่นี่ออกแบบโดยผู้พิการเพื่อคนพิการโดยเฉพาะ จนถึงตอนนี้มีผู้พิการทางร่างกายกว่า 600 คนทั่วประเทศกำลังใช้ซอฟต์แวร์ของวัลแคนเพื่อสร้างชุดข้อมูลที่จะเป็นประโยชน์ต่อบริษัทชั้นนำของประเทศต่อไปและแนวโน้มของผู้ใช้ซอฟต์แวร์ก็มีแต่จะเพิ่มขึ้นทุกปีด้วย
“เราคงมาได้ไม่ไกลถึงจุดนี้ ถ้าไม่มีวิน และถ้าไม่มีผู้พิการเหล่านี้เลย เราก็คงไม่สามารถพัฒนาเทคโนโลยี AI ของเราเองได้” จูน-เมธาวี ทัศนาเสถียรกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทวัลแคน โคอะลิชั่น กล่าว
กรณีของวิน หรือหลายคนที่มีความบกพร่องคล้ายกันสิ่งที่พวกเขาต้องการจริงๆ ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าโอกาสที่เท่าเทียมในชีวิต ทั้งความเท่าเทียมในการทำงาน การมีสิทธิมีเสียงและการมีอิสระภาพในการใช้ชีวิตโดยไม่ถูกมองเป็นวัตถุแห่งความเวทนาน่าสงสาร
ทั่วโลกมีประชากรผู้พิการทางร่างกายมากกว่า 1.5 พันล้านคน ขณะที่ผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติเมื่อปี 2560 ระบุว่าประเทศไทยมีผู้พิการมากถึง 3.7 ล้านคนในจำนวนนี้ 1 ล้านคนคือประชากรที่อยู่ในวัยทำงาน โดยผู้พิการส่วนใหญ่ในไทยต้องพึ่งพาสวัสดิการจากรัฐ หรือทำงานประเภทที่ไม่ต้องใช้ทักษะขั้นสูง เช่น ขายล็อตเตอรี่ หรือเป็นพนักงานนวด
แต่การมาของบริษัทเอกชน เช่น วัลแคน กำลังช่วยให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในความคิดของสังคมที่มีต่อผู้พิการ จากเดิมที่มีคนมองว่าคนพิการเป็นเพียงผู้คอยรับผลจากการทำบุญของคนอื่น หรือคนน่าเวทนาสงสารจากความบกพร่องของร่างกาย ทางวัลแคนได้เข้ามาผลักดันให้สังคมเล็งเห็นถึงความรู้และความสามารถที่คนพิการสามารถตอบสนองต่อภาคธุรกิจและสังคมได้ ซึ่งสอดคล้องกับหลักการส่งเสริมและรับรองสิทธิของผู้พิการตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ (CRPD) ซึ่งเป็นข้อตกลงด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศภายใต้สหประชาชาติที่มุ่งคุ้มครองสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้พิการที่รัฐสมาชิกของสหประชาชาติเกือบทุกประเทศ รวมถึงไทย ได้ให้สัตยาบันตั้งแต่ที่มีการประกาศอนุสัญญาฯ ฉบับดังกล่าวในปี 2549
“ปัญหามันไม่ได้อยู่ที่ทรัพยากร แต่อยู่ที่ทัศนคติของผู้จ้างงานมากกว่า” จูนเสริมถึงปัญหาที่ผู้พิการมักประสบจากการทำงานในสังคม
จูน และนิรันดร์ ประวิทย์ธนา ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายธุรกิจของวัลแคน ย้ำอยู่เสมอว่าวัลแคนไม่ได้ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อแสวงหาผลกำไร สตาร์ทอัพแห่งนี้ร่วมงานกับผู้พิการเพราะศักยภาพและความสามารถของพวกเขาเหมาะสมกับเป้าประสงค์ของเนื้องาน
“เราพบว่าผู้พิการทางสายตาสามารถทำงานกับชุดข้อมูลเสียงได้ดีกว่าคนทั่วไปที่ไม่ได้มีความบกพร่องทางการมองเห็น” นิรันดร์อธิบาย
ด้วยเหตุนี้ ทางบริษัทจึงใช้ข้อได้เปรียบด้านทักษะของผู้พิการเป็นพลังในการเอาชนะอุปสรรคที่กำลังกระทบการเติบโตของเทคโนโลยีทั่วโลก นั่นคือสภาวะขาดแคลนแรงงานไว้ป้อนชุดข้อมูลลงระบบเพื่อพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ การมาของวัลแคนช่วยให้บริษัทขนาดใหญ่ของไทยเลือกจ้างผู้พิการมาทำงานร่วมกับแพลตฟอร์มที่วัลแคนสร้างสรรค์เพื่อตอบสนองต่อการดำเนินธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการระบุและจัดจำแนกรูปภาพกับข้อมูล (image and data labelling) ไปจนถึงการแปลงเสียงพูดเป็นข้อความ และการแปลงข้อความเป็นไฟล์เสียงโดยอัตโนมัติ
บริษัทอย่างอโกด้า กลุ่มเซ็นทรัล คิงเพาเวอร์และไมโครซอฟต์ คือหนึ่งในตัวอย่างแบรนด์ชั้นนำที่ได้ร่วมงานกับวัลแคนแล้ว ซึ่งจูนและนิรันดร์ยืนยันว่ายิ่งวัลแคนสร้างชุดข้อมูลให้บริษัทและองค์กรเหล่านี้มากขึ้นเท่าใด เทคโนโลยี AI ของประเทศไทยก็จะยิ่งมีคุณภาพมากขึ้นเท่านั้น
ไม่ใช่แค่ในไทยเท่านั้น ประเทศอื่นๆ ทั่วโลกต่างก็เริ่มใช้ประโยชน์จากศักยภาพของ AI ในการช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตของผู้พิการไปพร้อมๆ กับการสร้างโอกาสในการมีงานทำของคนเหล่านี้ ยกตัวอย่างเช่น ไมโครซอฟต์ใช้ระบบ AI ในการปรับปรุงระบบการจ้างงานบนพื้นฐานความหลากหลายทางระบบประสาท (Neurodiversity Hiring Program) โดยการเพิ่มประสิทธิภาพขั้นตอนการประเมินคุณสมบัติ ของผู้สมัครงานเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดกรณีผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมถูกปฏิเสธหรือไม่ผ่านการทดสอบอันเนื่องมาจากความพิการหรือความบกพร่องของร่างกาย
Zammo.ai ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทที่ไมโครซอฟต์ให้ทุนสนับสนุน ใช้เทคโนโลยี AI เพื่อพัฒนาระบบจดจำและสั่งงานด้วยเสียงเพื่อช่วยเหลือผู้มีความบกพร่องทางร่างกายด้านต่างๆ ให้สามารถใช้เว็บไซต์จัดหางานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะที่บริษัท Evelity ก็ใช้เทคโนโลยี AI ในการสร้างแอปพลิเคชั่นนำทางเพื่อช่วยบอกทิศทางแก่ผู้มีความบกพร่องทางการมองเห็นทั้งในบ้านและนอกบ้าน
แม้บริษัทของไทยที่ทำงานด้าน AI จะมีความมุ่งมั่นไม่แพ้บริษัทต่างชาติที่กล่าวมา ทว่าโครงสร้างพื้นฐานของประเทศอาจเป็นหนึ่งในอุปสรรคที่ส่งผลกระทบต่อความเร็วในการพัฒนาเทคโนโลยี
“กระบวนการพัฒนาเทคโนโลยี AI เพิ่งเริ่มขึ้นในประเทศไทย ซึ่งคุณภาพของชุดข้อมูลที่ผลิตได้ยังถือว่าล้าหลังกว่าผู้พัฒนาเจ้าอื่นๆ ในตลาดโลก เราตั้งเป้าว่าจะขยายทีมงานของเราให้ถึง 2,000 คนให้ได้ภายในปีสองปีนี้ ส่วนระบบเฉพาะอย่างแพลตฟอร์มการแปลงเสียงอัตโนมัติ เราเชื่อมั่นในศักยภาพของทีมว่าจะสามารถพัฒนามาตรฐานให้อยู่ในระดับเดียวกับเจ้าอื่นๆ ในระดับโลกได้” นิรันดร์อธิบาย
นอกจากการพัฒนา AI ของตนเอง วัลแคนยังผลิตหนังสือเสียงภาษาไทยให้สำนักหอสมุดเบญญาลัย ซึ่งเป็นห้องสมุดออนไลน์สำหรับผู้มีความบกพร่องทางการมองเห็น ร่วมงานกับเอสซี แอสเสท ในการจ้างผู้พิการที่มีความเชี่ยวชาญมาช่วยฝึกและพัฒนา AI ของแอปพลิเคชัน ‘รู้ใจ’ ซึ่งเชื่อมโยงกับระบบบ้านอัตโนมัติ (home automation) ผ่านการสั่งการด้วยเสียงคล้ายกับระบบ Google Home ของกูเกิล และภายในช่วงปลายปี 2565 นี้ทางวัลแคนยังเตรียมเปิดตัวบริการ AI คัดกรองปัญหาสุขภาพจิตให้แก่ภาคธุรกิจไว้ดูแลพนักงานด้วย
“เห็นได้ชัดว่าวัลแคนมีส่วนสำคัญในการแก้ปัญหาพื้นฐานของผู้พิการในประเทศไทย” รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฏฐนียา โตรักษาหรือดร.แอน จากมหาวิทยาลัยมหิดล ผู้เป็นแนวหน้าในการผลักดันและสนับสนุนการขับเคลื่อนด้านสิทธิผู้พิการในประเทศไทย กล่าวถึงความก้าวหน้าของวัลแคนในการช่วยเหลือผู้พิการ แม้เห็นว่าปัญหาในภาพรวมยังไม่ถูกปลดล็อก
“ในไทย ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายคนพิการทำหน้าที่ดีแล้วในการนำเสนอนโยบายต่างๆ ขณะที่กฎหมายเกี่ยวกับคนพิการก็เขียนไว้ดูดีมากๆ แต่เรายังติดปัญหาเรื่องการบังคับใช้เพราะประเทศเรายังไม่มีคนที่นำกฎหมายไปบังคับใช้ให้ได้ผลจริงๆ” ดร.แอน กล่าวเสริม
ก่อนหน้านี้ ประเทศไทยประกาศใช้พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 ซึ่งกำหนดให้นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการหรือธุรกิจที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 100 คนขึ้นไป ต้องมีพนักงานที่เป็นผู้พิการอย่างน้อย 1 คน แต่กฎหมายยังมีข้อยกเว้นให้สถานประกอบการเหล่านี้เลือกว่าจะส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแทนการรับผู้พิการเข้าทำงานก็ได้ ซึ่งดร.แอน เห็นว่าข้อยกเว้นนี้กลายเป็นแนวทางที่นายจ้างส่วนใหญ่เลือกปฏิบัติ ไม่ใช่เพราะนายจ้างมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อผู้พิการ แต่เป็นเพราะสถานประกอบการของนายจ้างอาจไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่สามารถรองรับลูกจ้างที่เป็นผู้พิการได้ หรือลูกจ้างคนอื่นๆ ไม่เคยผ่านการฝึกอบรมวิธีการสื่อสารในกรณีที่ผู้ร่วมงานเป็นผู้พิการทางสายตาหรือทางการได้ยินมาก่อน
ในเรื่องนี้ ทางจูนกับนิรันดร์เชื่อว่าบริษัทต่างๆ รวมถึงวัลแคน สามารถเข้ามาช่วยเติมเต็มช่องว่างที่ขาดหายไประหว่างตัวนโยบายกับการปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม ซึ่งสุดท้ายจะส่งผลให้คุณภาพชีวิตและโอกาสในการทำงานของผู้พิการในไทยดีขึ้น
“ผู้พิการสามารถทำงานกับแพลตฟอร์มของเราได้ตลอดทั้งวัน จะทำผ่านโทรศัพท์มือถือของพวกเขาก็ได้ แต่ทางเรากำหนดให้แต่ละคนทำงานบนแพลตฟอร์มไม่เกิน 4 ชั่วโมงต่อวันเพราะงานป้อนข้อมูลเข้าระบบถือเป็นงานหนักไม่น้อย โดยค่าตอบแทนยังถือว่าสูงกว่างานทั่วไปเมื่อคิดตามจำนวนชั่วโมงที่ทำคนจ่ายหลักๆ คือบริษัทที่ว่าจ้างให้พวกเขาป้อนข้อมูลให้ ส่วนวัลแคนเราจะแบ่งรายได้ 30% จากชุดข้อมูลที่ผู้พิการผลิตขึ้นให้สมทบด้วย” จูนอธิบาย
ด้านนิรันดร์กล่าวเสริมว่า “ชุดข้อมูลเหล่านี้คือทรัพย์สินทางปัญญา ผู้ที่สร้างสรรค์ขึ้นมาย่อมมีสิทธิเป็นเจ้าของ”
ขณะที่ภาคธุรกิจเริ่มปรับตัวและปรับปรุงสถานประกอบการให้ผู้พิการเข้าถึงได้สะดวกขึ้น ดร.แอน ก็พยายามเสนอแนวทางแก้ปัญหาที่จะช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงจากระดับจุลภาคไปจนถึงสังคมโดยรวมเช่นกัน เธอกล่าวว่าจากประสบการณ์ที่พบเห็นมา ปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาผู้พิการก็คือชุดทักษะ (skillset) เธอกล่าวว่า แม้แต่ที่วิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเธอเป็นหนึ่งในคณาจารย์ผู้บรรยายประจำหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ ที่เปิดสอนเพียงไม่กี่แห่งในประเทศไทย โดยปัญหาแรกที่เธอเห็นก็คือถนนที่กั้นระหว่างที่ตั้งของวิทยาลัยฯ กับมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเปรียบเสมือนกำแพงที่แยกโลกของคนพิการออกจากพื้นที่ของคนที่มีร่างกายปกติอย่างชัดเจน
ขณะเดียวกันหลักสูตรสำหรับนักศึกษาปริญญาตรีเองก็มีปัญหาเนื่องจากมีวิชาเอกให้เลือกเพียง 2 สาขาเท่านั้น นั่นคือการออกแบบเชิงพาณิชย์และล่ามภาษามือ โดยวิชาเอกล่ามภาษามือนั้นจัดการเรียนการสอนโดยผู้สอนที่มีความรู้ทางด้านนี้โดยเฉพาะ แต่ดร.แอนมองว่าการศึกษาแบบนี้ดูจะสร้างปัญหาเมื่อนักศึกษาเรียนจบและก้าวเข้าสู่โลกการทำงาน
“สถานที่ทำงานส่วนใหญ่ไม่ได้ต้องการล่ามภาษามือ พอหลักสูตรการศึกษาถูกออกแบบให้มีความเฉพาะทางมากเกินไป นักศึกษาที่จบออกไปก็จะมีทักษะไม่มากพอสำหรับโลกการทำงานจริง” ดร.แอนอธิบาย
เวลานี้ดร.แอนพยายามแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดลแล้ว โดยทางมหาวิทยาลัยเตรียมเปิดตัวสถาบันอุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ พื้นที่วิจัยทางสังคมที่จะทำหน้าที่เป็น ‘แซนด์บ็อกซ์’ (sandbox) เพื่อทดลองนำหลักการออกแบบเพื่อทุกคนหรือที่เรียกว่า ‘อารยสถาปัตย์’ (universal design) และธรรมชาติมาประยุกต์เป็นเครื่องมือในการพัฒนาผัสสะของร่างกายก่อนจะนำไปปรับใช้จริงในอนาคตเพื่อลดช่องว่างทางการสื่อสารระหว่างนักศึกษาผู้พิการกับนักศึกษาทั่วไปในพื้นที่มหาวิทยาลัย ซึ่งทางมหาวิทยาลัยมหิดลวางแผนไว้ว่าพื้นที่ดังกล่าวต่อไปจะกลายเป็นศูนย์รวมความคิดสร้างสรรค์และการแลกเปลี่ยนนวัตกรรม (hackathon) ก่อนต่อยอดเป็นพื้นที่ไว้แลกเปลี่ยนความคิดระหว่างนักพัฒนานโยบายต่างๆ ในที่สุด
นอกจากนี้ ดร.แอนยังร่วมงานกับวัลแคนเพื่อออกแบบคอร์สฝึกอบรมเฉพาะทางต่างๆ ซึ่งจะนับเป็นหน่วยกิตในหลักสูตรตลอด 3 ปีของวิทยาลัยราชสุดา
“หลักสูตรที่ออกแบบจะมีความยืดหยุ่นในการเรียน ผู้เรียนสามารถเลือกเรียนทีละคอร์สได้” ดร.แอนกล่าว
ขณะที่ภาคเอกชนตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในโลกธุรกิจหรือสังคมได้อย่างรวดเร็ว รัฐบาลในฐานะผู้กำหนดกฎระเบียบต่างๆ กลับปรับตัวได้ช้ากว่า ซึ่งประเทศไทยเองก็ไม่มีความต่างในจุดนี้
“ก็เหมือนเราตัดสินปลาด้วยความสามารถในการปีนต้นไม้ แบบนั้นปลาก็โตไปโดยที่คิดว่าตัวเองยังโง่อยู่” นิรันดร์กล่าว
แต่เมื่อบริษัท เช่น วัลแคน หรือสถานศึกษา เช่น มหาวิทยาลัยมหิดล ยังคงเชื่อมั่นว่าพวกเขาสามารถโน้มน้าวให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในนโยบายของรัฐ ไปจนถึงแก้ไขความเชื่อผิดๆ ที่สังคมมีต่อผู้พิการผ่านการทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย โอกาสที่สังคมโดยรวมจะเกิดความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นย่อมเป็นไปได้เสมอ ■