HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

THINKING BIG


Give It Another Shot

การเดินหน้าวิจัยเพื่อผลิตวัคซีนโควิด-19 ในประเทศ โดยบริษัทยา สถาบันการศึกษา และองค์กรภาครัฐ อาจเป็นโอกาสของประเทศที่จะฟื้นตัวจากโรคระบาด และภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา

ภาพของต้นใบยาสูบหลายสิบต้นถูกลูบไล้โดยแสงไฟจากหลอดฟลูออเรสเซนต์ในห้องทดลองชวนให้คิดถึงการวิจัยเพื่อผลิตบุหรี่ชั้นเลิศสำหรับนักสูบผู้ช่ำชอง แต่กับห้องทดลองของบริษัทใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด การทดลองกับต้นใบยาสูบของที่นี่มุ่งหมายจะผลิตสารซึ่งอาจช่วยชีวิตคนมากกว่าทำลายปอดของใคร

บริษัทแห่งนี้เพิ่งก่อตั้งเมื่อปี 2019 โดย ดร.วรัญญู พูลเจริญ นักวิทยาศาสตร์ผู้มีตำแหน่งทางวิชาการถึงระดับรองศาสตราจารย์จากภาควิชาเภสัชเวทและเภสัชพฤกษศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนับแต่เริ่มต้นงาน ใบยา ไฟโตฟาร์มก็ผลิตส่วนผสมทางเคมีที่มีต้นทางจากพืชให้กับผลิตภัณฑ์หลายประเภท ทั้งเครื่องสำอาง และยารักษาโรค แต่เพิ่งไม่นานนี้เองที่ ดร.วรัญญู ได้หันมาทุ่มเทให้กับการวิจัยเพื่อผลิตวัคซีน

“พอเกิดการระบาดของโควิด-19 ดร.วรัญญู ก็เริ่มศึกษาการผลิตโปรตีนตัดต่อพันธุกรรม (recombinant protein) จากส่วนหนาม (spike) ของเชื้อไวรัส โปรตีนต้นแบบ (prototype) ที่เราสร้างขึ้นช่วยให้เราโคลนเชื้อไวรัสได้ แต่กว่าจะสำเร็จเราต้องทดลองอยู่หลายครั้ง คราวนี้ พอเรานำโปรตีนที่ได้มาผลิตชุดตรวจหาภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสสำเร็จ เราก็มาคิดกันว่าน่าจะถึงเวลาก้าวไปผลิตวัคซีนได้แล้ว” ภัสร์สร สุวัฒน์ศรีสกุล ผู้จัดการโครงการวัคซีนของใบยา ไฟโตฟาร์ม กล่าว

เมื่อพูดถึงวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ประเทศไทยเริ่มการระดมฉีดวัคซีนให้ประชาชนอย่างเป็นทางการในช่วงเดือนมิถุนายนปี 2021 ซึ่งออกจะช้าเกินไปในการรับมือวิกฤตที่เกิดขึ้น เพราะการระบาดระลอก 3 เกิดขึ้นก่อนหน้านั้นแล้วในเดือนเมษายน โดยรอบนี้มีจำนวนผู้ติดเชื้อสูงกว่าปีก่อน จนรัฐบาลต้องประกาศล็อกดาวน์หลายพื้นที่เพื่อสกัดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสร้างความไม่พอใจ หลายคนรวมตัวกันประท้วงรัฐบาลจากการบริหารวิกฤตที่ผิดพลาด โดยเฉพาะการจัดหาวัคซีนที่ล่าช้าและไม่เพียงพอ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่รัฐบาลเลือกเซ็นสัญญากับบริษัท สยาม ไบโอไซเอนส์ ผู้ผลิตยาในประเทศให้เป็นผู้ผลิตวัคซีนโควิด-19 เพียงรายเดียวในไทย

“เนื่องจากความต้องการวัคซีนในเวลานี้มีสูงมาก ทำให้ปริมาณของวัคซีนในคลังลดจำนวนลง” นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเมื่อเดือนมิถุนายนขณะที่ประเทศเริ่มการระดมฉีดวัคซีนครั้งใหญ่

การไม่สามารถจัดหาวัคซีนให้ทันท่วงที ตามมาด้วยความเสียหายทางเศรษฐกิจ สะท้อนให้เห็นความจริงว่า การต้องพึ่งพาการนำเข้าวัคซีนท่ามกลางความต้องการที่เพิ่มขึ้นสูงทั่วโลกเป็นเรื่องสุ่มเสี่ยงเพียงใด

การไม่สามารถจัดหาวัคซีนให้ทันท่วงที ตามมาด้วยความเสียหายทางเศรษฐกิจ สะท้อนให้เห็นความจริงว่า การต้องพึ่งพาการนำเข้าวัคซีนท่ามกลางความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นทั่วโลกเป็นเรื่องสุ่มเสี่ยงเพียงใด ยิ่งกว่านั้น เมื่อพิจารณาการจัดการโรคระบาดของหลายประเทศทางตะวันตกจะพบว่า ขณะที่ประเทศอย่างสหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และอีกหลายส่วนของยุโรป เริ่มมาตรการระดมฉีดวัคซีนให้ประชาชนของตัวเองอย่างทั่วถึงโดยอาศัยความร่วมมือจากผู้ผลิตยาภายในประเทศตั้งแต่ช่วงต้นปี 2021 ประเทศไทยกลับยังไม่มีมาตรการเรื่องนี้อย่างจริงจังในช่วงเวลาเดียวกัน

ในความเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์หรือระบาดวิทยา ประเทศไทยต้องมีวัคซีนในคลังมากกว่านี้ นั่นหมายความว่าประเทศต้องผลิตวัคซีนให้ต่อเนื่องเพียงพอกับความต้องการ โดยระบบราชการไม่สร้างความยุ่งยากในการผลิตหรือจัดหา และการนำเข้าวัคซีนก็ไม่ควรล่าช้าหรือมีต้นทุนสูงเกินไป จุดนี้เองที่สถาบันวิจัยชั้นนำด้านวิทยาศาสตร์หลายแห่งในประเทศพยายามเข้ามาช่วยแก้ปัญหาเรื่องการจัดหาวัคซีน ดังเช่นบริษัทใบยา ไฟโตฟาร์ม ที่ค้นคว้าการผลิตวัคซีนโควิด-19 ประเภทโปรตีนซับยูนิต (Subunit Protein) จากต้นใบยาสูบมีนิโคตินต่ำ ซึ่งเป็นสายพันธุ์เฉพาะจากประเทศออสเตรเลีย

เมื่อต้นใบยาสูบมีอายุได้ 5 สัปดาห์ ทีมวิจัยของใบยา ไฟโตฟาร์ม จะฉีดแบคทีเรียที่มีดีเอ็นเอของเชื้อโคโรนาไวรัสเข้าไปในลำต้นเพื่อกระตุ้นให้ต้นไม้สร้างภูมิคุ้มกัน ภูมิคุ้มกันของต้นใบยาสูบจะมีโปรตีนซึ่งตอบสนองต่อเชื้อโคโรนาไวรัสโดยเฉพาะ จากนั้นทีมวิจัยจะสกัดโปรตีนออกมาและใช้เป็นองค์ประกอบพื้นฐานในการผลิตวัคซีน

วัคซีนประเภทโปรตีนซับยูนิตของใบยา ไฟโตฟาร์ม อาจเป็นทางเลือกใหม่ๆ ให้กับอีกหลายคนที่มีความกังวลเรื่องผลข้างเคียงของวัคซีนโรคโควิด-19 ตัวอื่นที่มีการใช้อย่างแพร่หลายขณะนี้ เช่น วัคซีนจากเทคโนโลยีเอ็มอาร์เอ็นเอ (mRNA) ที่อาจมีความเชื่อมโยงกับอาการหัวใจอักเสบชนิดเฉียบพลัน แม้จำนวนผู้ป่วยจากภาวะนี้ยังมีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับอัตราผู้รับวัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอ แต่จากรายงานข่าวที่ออกมาในช่วงครึ่งหลังของปี 2021 ก็ชวนให้คนกังวลกับการรับวัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอมากขึ้น ทำให้องค์การระหว่างประเทศ เช่น องค์การอนามัยโลก หรือสหภาพยุโรป ต้องเข้ามาตรวจสอบว่าวัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอมีผลข้างเคียงอย่างไรกับมนุษย์ กระนั้น องค์การทั้งสองแห่งก็ยังพยายามย้ำเตือนให้คนทั่วไปตระหนักถึงข้อดีของการรับวัคซีนเมื่อเทียบกับอาการป่วยที่อาจเกิดจากโรคโควิด-19

นอกจากนี้แล้ว ความเชื่อในเรื่องทฤษฎีสมคบคิดยังทำให้คนอีกจำนวนมากปฏิเสธการฉีดวัคซีนประเภทเอ็มอาร์เอ็นเอด้วย เช่น ทฤษฎีที่ว่าวัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอจะเข้าไปเปลี่ยนดีเอ็นเอในร่างกายของมนุษย์ แม้ฟังดูเป็นเรื่องเหลวไหลเกินจริง แต่ทฤษฎีนี้ก็แพร่สะพัดในโซเชียลมีเดียของกลุ่มคนที่ต่อต้านวัคซีน

ความก้าวหน้าในการผลิตวัคซีนอาจช่วยเพิ่มชื่อเสียงให้กับไทยในฐานะผู้นำด้านการแพทย์และการดูแลสุขภาพมากกว่าขึ้นกว่าเดิม เพราะก่อนหน้าจะเกิดการระบาดครั้งนี้ ประเทศไทยก็สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวด้านการแพทย์ในแต่ละปีได้มากถึงหลายล้านคนอยู่แล้ว

“โปรตีนที่อยู่ในวัคซีนของเราไม่เป็นอันตรายกับคน ความจริงแล้ว วัคซีนของเรามีส่วนผสมของโปรตีนแบบเดียวกับที่วัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอกระตุ้นให้เซลล์ของเราผลิตขึ้นมาเมื่อฉีดเข้าไปในร่างกาย และโปรตีนนี้เองคือสิ่งที่จะกระตุ้นการทำงานของร่างกายให้สร้างภูมิคุ้มกัน” ภัสร์สร อธิบายถึงวัคซีนซับยูนิตโปรตีนของใบยา ไฟโตฟาร์ม เทียบกับวัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอ

ภัสร์สรกล่าวเสริมว่า ก่อนหน้านี้ ผลการทดลองวัคซีนของใบยา ไฟโตฟาร์ม กับสัตว์ทดลอง เช่น หนูกับลิง ให้ผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจ เพราะข้อมูลที่เก็บได้จากการทดลองบ่งชี้ว่าวัคซีนของบริษัทมีประสิทธิภาพมากพอๆ กับวัคซีนตัวอื่น ไม่ว่าจะเป็นซิโนแวค ซิโนฟาร์ม ไฟเซอร์ และแอสตราเซเนกา บริษัทจึงเริ่มทำการทดลองในมนุษย์เมื่อเดือนกันยายนปี 2021 และหากการทดลองครั้งนี้ประสบความสำเร็จ วัคซีนรุ่นสองของใบยา ไฟโตฟาร์ม อาจเป็นหนึ่งในวัคซีนทางเลือกที่ผลิตภายในประเทศสำหรับคนไทยในอนาคตอันใกล้

นอกจากใบยา ไฟโตฟาร์ม แล้ว การวิจัยที่สร้างความหวังเรื่องวัคซีนในไทยยังมีอีกหลายแห่ง เช่น การวิจัยวัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอของศาสตราจารย์นายแพทย์เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ตั้งห้องทดลองเพื่อทำงานวิจัยด้านวัคซีนโดยเฉพาะตั้งแต่เมื่อราวสิบปีก่อน และได้พัฒนาวัคซีนชนิดต่างๆ เพื่อต่อสู้กับโรคร้ายด้วยห้องทดลองนี้ ไม่ว่าจะเป็นโรคไข้เลือดออก โรคฉี่หนู หรือโรคมะเร็ง พอถึงปี 2017 นายแพทย์เกียรติ ได้เชิญ ดรู ไวส์แมน นักวิจัยผู้บุกเบิกเทคโนโลยีเอ็มอาร์เอ็นเอ ให้มาบรรยายในการประชุมทางวิชาการประจำปีรายการหนึ่ง และหลังจากนั้นไม่นาน ทั้งคู่ก็ได้มาร่วมงานวิจัยกันเพื่อพัฒนาวัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอสำหรับรักษาโรคภูมิแพ้

“พอโรคโควิด-19 เริ่มระบาด พวกเราก็เลยหันมาให้ความสำคัญกับการผลิตวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 แทน ข้อดีของวัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอก็คือ เราสามารถใช้ข้อมูลเรื่องลำดับจีโนม (genomic sequence) ของไวรัสในการพัฒนาวัคซีนได้เลย โดยไม่ต้องรอให้มีการระบาดของเชื้อสายกลายพันธุ์ในประเทศไทยก่อนเพื่อเก็บตัวอย่าง” นายแพทย์เกียรติ กล่าว

วัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอของนายแพทย์เกียรติมีชื่อเรียกว่า ChulaCov19 แม้จะยังไม่ได้ตีพิมพ์ผลการวิจัยในวารสารวิชาการ แต่ผลการทดลองกับหนูและสัตว์ตระกูลไพรเมต เช่น ลิง ในช่วงที่ผ่านมาก็นับว่าสร้างความหวังให้กับทีมงานทุกคนในการนำไปใช้จริงเป็นอย่างมาก และในช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา นายแพทย์เกียรติกับทีมงานก็เริ่มการทดลองระยะที่ 1 ในมนุษย์ไปแล้วและอยู่ระหว่างรอผลการทดลอง ซึ่งนายแพทย์เกียรติก็ไม่ได้ชักช้าที่จะเริ่มพัฒนาวัคซีนรุ่นสองเพื่อไว้รับมือกับสายพันธุ์กลายพันธุ์ของโควิด-19

ขณะที่รัฐบาลไทยเองก็มีโครงการผลิตวัคซีนเช่นกัน โดยองค์การเภสัชกรรมซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมหิดล และองค์กรไม่แสวงหากำไรจากสหรัฐอเมริกาในการผลิตและทดลองวัคซีนประเภทเชื้อตาย (inactivated virus) โดยเริ่มการทดลองในคนไปแล้วเมื่อเดือนมีนาคมปี 2021 และเริ่มการทดลองในคนระยะที่ 2 กับอาสาสมัครจำนวน 250 คนในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ทางองค์การเภสัชกรรมตั้งความหวังว่าจะสามารถผลิตวัคซีนเชื้อตายนี้ได้ราว 30 ล้านโดสต่อปี ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2022 เป็นต้นไป

ความหวังในการพลิกสถานการณ์โควิด-19 ในไทยอาจขึ้นอยู่กับการอนุมัติวัคซีนตัวใดตัวหนึ่งที่กล่าวมาให้สามารถใช้ในภาวะฉุกเฉินได้ เพราะต้องยอมรับว่าจนถึงตอนนี้ประเทศยังไม่ผ่านพ้นการระบาดระลอกใหญ่จากเดือนเมษายนที่มีจำนวนผู้เสียชีวิตสูงกว่าปีก่อน ขณะที่ภาคเศรษฐกิจก็ยังสาหัสจากความซบเซาในธุรกิจการท่องเที่ยวและอัตราการว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้น สภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย คาดการณ์ว่าอัตราการว่างงานของไทยจะเพิ่มขึ้นราว 0.54% – 2.5% ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2022 ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ลดตัวเลขประมาณการณ์การเติบโตของจีดีพีประจำปี 2021 จาก 1.8% ในเดือนกรกฎาคมมาเหลือเพียง 0.7% ในเดือนสิงหาคม

และแม้รัฐบาลไทยจะเพิ่มกำลังในการฉีดวัคซีนมากขึ้น โดยสามารถฉีดไปได้มากกว่า 50 ล้านโดสแล้วนับจากเดือนมิถุนายนที่เริ่มการระดมฉีดครั้งใหญ่ แต่ความท้าทายต่อไปก็คือการจัดหาวัคซีนเข็มกระตุ้นให้มากเพียงพอแม้คนส่วนใหญ่จะได้วัคซีนครบสองเข็มซึ่งเชื่อว่าจะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในประเทศได้แล้ว ทั้งนี้ก็เพื่อให้มั่นใจว่าประเทศจะกลับมาเป็นปกติโดยไม่ต้องสะดุดเพราะโควิด-19 อีก

“มีหลักฐานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ว่า เราอาจต้องมีวัคซีนเข็มกระตุ้นในอีกไม่ช้า ไม่ว่าจะเป็นเข็มสาม สี่ หรือห้า ดังนั้น ในระยะยาว เราจำเป็นต้องมีวัคซีนในคลังของประเทศมากเพียงพออย่างต่อเนื่อง” นายแพทย์ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรคพูดถึงสถานการณ์ของโควิด-19 ในอนาคตอันใกล้

อย่างไรก็ดี ยังมีปัญหาอีกหลายประการที่ต้องแก้ไขก่อนประเทศจะสามารถพึ่งพาวัคซีนจากการผลิตภายในประเทศได้ ในกรณีของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัทใบยา ไฟโตฟาร์ม ทั้งสองแห่งต้องเจออุปสรรคเรื่องเงินทุนสนับสนุนการวิจัยคล้ายๆ กัน และได้ร้องขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลไปแล้วทั้งคู่ ขณะเดียวกัน กฎหมายก็เป็นอุปสรรคได้ เพราะมีการเขียนกฎไว้ว่าห้ามหน่วยงานของรัฐซื้อวัคซีนที่ยังไม่ผ่านการทดลองในมนุษย์โดยสมบูรณ์ นายแพทย์เกียรติ จึงได้ทำเรื่องไปยังหน่วยงานรัฐในเดือนสิงหาคม เพื่อเรียกร้องให้ช่วยผ่อนผันกฎเกณฑ์การอนุมัติใช้วัคซีน ด้วยความหวังว่าจะสามารถนำวัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาฉีดให้ประชาชนทั่วไปได้อย่างเร็วที่สุดก่อนเดือนเมษายนปี 2022

“ถ้าเราเริ่มการทดลองในระยะ 2b ได้แล้ว เราก็ควรจะฉีดวัคซีนให้คนทั่วไปได้ก่อนเทศกาลสงกรานต์ในเดือนเมษายนปีหน้า” นายแพทย์เกียรติกล่าวด้วยความหวัง

ในกรณีของใบยา ไฟโตฟาร์ม บริษัทสามารถระดมทุนมาได้เพียง 1 ใน 5 เท่านั้นจากเป้าหมาย 500 ล้านบาท และแม้ว่ารัฐบาลจะช่วยสนับสนุน 160 ล้านบาทซึ่งเพียงพอจะทำการทดลองวัคซีนระยะแรกในมนุษย์ แต่เพื่อให้สามารถทำการทดลองในระยะสองและสามได้ต่อไป บริษัทจึงได้ทำเรื่องขอเงินทุนสนับสนุนเพิ่มเติมจากสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ไม่เพียงแค่นั้น วัคซีนของบริษัทยังต้องผ่านการอนุมัติจากองค์การอาหารและยาซึ่งมีขั้นตอนและกระบวนยาวเหยียดเหมือนผู้ผลิตวัคซีนเจ้าอื่นๆ กระบวนที่ยืดยาวนี้ทำให้บริษัทต้องเลื่อนการเปิดตัววัคซีนออกไปอีกถึงกลางปี 2022 เป็นอย่างน้อย

ภัสร์สร ยอมรับว่ากระบวนการขออนุมัติวัคซีนกับทางการไทยทำให้ใบยา ไฟโตฟาร์ม คิดหาทางออกด้วยการนำวัคซีนไปลงทะเบียนกับทางการออสเตรเลียที่มีขั้นตอนยุ่งยากน้อยกว่าแทน พอผ่านการอนุมัติจากออสเตรเลียแล้วจึงค่อยนำเข้ามาในประเทศไทย

“บริษัทของเรามั่นใจว่าจะได้เงินสนับสนุนตามที่ขอไปเมื่อดูจากความสำเร็จในการทดลองเท่าที่ผ่านมา และเรายังหวังว่าจะได้เห็นกระบวนการผลิตวัคซีนที่มากขึ้นและง่ายขึ้นด้วยเมื่อประเทศไทยมีประสบการณ์ในเรื่องนี้มากขึ้น” ภัสร์สร กล่าว

ความก้าวหน้าในการผลิตวัคซีนอาจช่วยเพิ่มชื่อเสียงให้กับไทยในฐานะผู้นำด้านการแพทย์และการดูแลสุขภาพมากขึ้นกว่าเดิม เพราะก่อนหน้าจะเกิดการระบาดครั้งนี้ ประเทศไทยก็สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวด้านการแพทย์ (medical tourism) ในแต่ละปีได้มากถึงหลายล้านคนอยู่แล้ว ขณะที่สื่อตีพิมพ์อย่าง CEOWORLD ก็เคยยกให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายของการเดินทางเพื่อดูแลสุขภาพที่ดีที่สุดลำดับที่หกของโลกในปี 2019

นอกจากนี้แล้ว การผลิตวัคซีนได้อย่างเพียงพอของไทยจะช่วยให้รัฐบาลสามารถทำตามสัญญาส่งวัคซีนให้กับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ หลังจากก่อนหน้านี้สยาม ไบโอไซเอนส์ ที่รัฐบาลเคยหวังให้เป็นศูนย์กลางการผลิตของภูมิภาคไม่อาจส่งมอบวัคซีนตามกำหนดเวลา จนถูกวิจารณ์ทั้งขึ้นทั้งล่อง โดยคนในประเทศวิจารณ์บริษัทที่นำวัคซีนส่งให้แก่ประเทศอื่นขณะที่ปริมาณวัคซีนในคลังของประเทศกำลังร่อยหรอลง ส่วนรัฐบาลประเทศเพื่อนบ้านก็ตำหนิทางการไทยที่จำกัดการส่งออกเพื่อนำวัคซีนไปจัดการสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศ

ยิ่งกว่านั้น เมื่อประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค เช่น เวียดนามกับอินโดนีเซีย สามารถเพิ่มอัตราการผลิตวัคซีนในประเทศได้เองแล้ว ประเทศไทยก็จำเป็นต้องเร่งรีบผลิตวัคซีนให้ได้หากต้องการครองส่วนแบ่งการตลาดวัคซีนนี้

“ทั่วโลกมีการฉีดวัคซีนอยู่ที่ราว 42 ล้านโดสต่อวัน ถ้าอัตราการฉีดยังคงเป็นไปตามนี้ จะมีคนได้รับวัคซีนครบโดสอีกราว 2 พันล้านคนภายในสิ้นปีนี้ ตัวเลขนี้ครอบคลุมประชากรในประเทศที่มีรายได้ต่ำด้วย นั่นหมายความว่าถ้ามีวัคซีนใหม่จากประเทศไทยซึ่งผ่านการทดสอบระยะที่สามในมนุษย์ออกมาภายในสิ้นปีนี้ ก็จะเหลือตลาดให้ฉีดคนที่ยังไม่ได้รับวัคซีนอีกเพียงแค่เล็กน้อยเท่านั้น” อเล็ก คุก รองศาสตราจารย์จากสำนักวิชาสาธารณสุขศาสตร์ Saw Swee Hock ประเทศสิงคโปร์ คาดการณ์

“อีกปัญหาหนึ่งก็คือสำหรับประเทศอื่นที่ต้องการใช้วัคซีน ประเทศเหล่านั้นจะมีหน่วยงานแบบเดียวกับองค์กรอาหารและยาของสหรัฐอเมริกามารับรองและอนุมัติการใช้ในประเทศโดยคำนึงถึงความปลอดภัยและประสิทธิภาพของวัคซีนด้วย และจะมีหน่วยงานภาครัฐที่คล้ายกับโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (Hitap) ของไทยมาประเมินถึงความคุ้มค่าด้านต้นทุนโดยเทียบกับวัคซีนตัวอื่นๆ ที่ได้รับการอนุมัติไปแล้วก่อนหน้านี้ด้วย เพื่อดูว่าวัคซีนจากไทยเป็นตัวเลือกที่คุ้มค่ากว่าวัคซีนตัวอื่นๆ” อเล็กกล่าวเสริม

แต่ก่อนที่ไทยจะสามารถส่งออกวัคซีนให้โลกได้ สิ่งที่ประเทศไทยต้องการที่สุดในเวลานี้คือการให้ความช่วยเหลือประชาชนไทยให้รอดพ้นจากภัยคุกคามของโควิด-19 และความเสียหายทางเศรษฐกิจเสียก่อน ซึ่งอาจต้องฝากความหวังไว้ที่การผลิตวัคซีนในประเทศรุ่นที่สองให้มากเพียงพอต่อความต้องการ

หากว่าทำได้จริง คนไทยก็คงจะได้โอกาสลืมตาอ้าปากอย่างโล่งใจทั้งเรื่องสุขภาพกาย สุขภาพจิต และเงินในกระเป๋าอีกครั้ง