SECTION
ABOUTTHINKING BIG
Finding Relief
การนำสัตว์หิมพานต์มาตีความใหม่ในปี 2563 ตอกย้ำถึงสมดุลอันละเอียดอ่อนแห่งโลกศิลปะ ระหว่างการอนุรักษ์ศิลปะอันทรงคุณค่า และการปรับตัวให้สอดคล้องกับยุคสมัย
ในช่วงวันหยุดยาวต้นเดือนธันวาคม 2563 นั้น แฮชแท็ก #หิมพานต์มาร์ชเมลโล ได้กลายเป็นกระแสครึกโครมบนโซเชียลมีเดีย โดยจุดประกายมาจากภาพถ่ายตามวัดในภาคเหนือและอีสาน ซึ่งเผยให้เห็นประติมากรรมสัตว์หิมพานต์ตามความเชื่อชาวพุทธ อาทิ มอม สิงห์ และนาค ในรูปลักษณ์อ้วนกลมบ้องแบ๊วคล้ายตัวการ์ตูน ต่างจากงานประติมากรรมสัตว์หิมพานต์ลวดลายอ่อนช้อยที่เราเคยพบเห็นตามวัดใหญ่ๆ อย่างวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์) หรือวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ทั้งที่งานประติมากรรมตามวัดในแถบภาคอีสานที่กลายเป็นปรากฏการณ์ชั่วข้ามคืนนี้ ไม่ใช่ของที่ถูกสร้างขึ้นใหม่แต่อย่างใด วัดบางแห่งนั้นมีอายุมากกว่า 100 ปี
สืบเนื่องจากกระแสที่เกิดขึ้นนี้เอง บรรดานักวาดภาพประกอบและศิลปินชาวไทยจำนวนไม่น้อย อาทิ Giant Smiles และ KumsStudio ได้หยิบเอาสัตว์หิมพานต์มาสร้างสรรค์เป็นผลงานศิลปะในรูปแบบต่างๆ เช่น การนำสัตว์เหล่านี้ไปสอดแทรกในฉากการ์ตูนดังอย่างโปเกมอน หรือแม้กระทั่งนำไปปั้นเป็นคุกกี้น่ารักน่าเอ็นดู
คมกฤษ เทพเทียน ศิลปินผู้ซึ่งเป็นที่รู้จักจากประติมากรรมพระพุทธรูปเศียรเลโก้ ตกหลุมรักเสน่ห์ของสัตว์หิมพานต์ในทันที เจ้าของสตูดิโอ Motmo และอาจารย์พิเศษที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังรายนี้ ใช้เวลาศึกษาสัตว์ผู้พิทักษ์เชิงบันไดของวัดวาอารามต่างๆ และช่างศิลป์ผู้อยู่เบื้องหลังมาอย่างยาวนาน เขามองว่าศิลปินท้องถิ่นที่สร้างสรรค์สัตว์หิมพานต์อย่างที่เราพบเห็นตามวัดในภาคเหนือและอีสานส่วนใหญ่มักถูกมองข้าม จนกระทั่งกรมศิลปากรได้เริ่มต้นกระแสอนุรักษ์ประติมากรรมสัตว์หิมพานต์ขึ้นเมื่อไม่นานมานี้เอง กระนั้น ศิลปะเหล่านี้ก็มักถูกถือว่าเป็น ‘งานศิลปะไร้เดียงสา (naïve art)’ จากฝีมือชาวบ้านที่ไม่มีความรู้ทางด้านศิลปะ ต่างกับฝีมือแบบช่างหลวงซึ่งอยู่เบื้องหลังผลงานชิ้นเอกตามวัดวาอารามสำคัญๆ ในกรุงเทพฯ
ศิลปะเหล่านี้ก็มักถูกถือว่าเป็น ’งานศิลปะไร้เดียงสา (naïve art)’ จากฝีมือชาวบ้านที่ไม่มีความรู้ทางด้านศิลปะ ต่างกับฝีมือแบบช่างหลวงซึ่งอยู่เบื้องหลังผลงานชิ้นเอกตามวัดวาอารามสำคัญๆ ในกรุงเทพฯ
ปรากฏการณ์ #หิมพานต์มาร์ชเมลโล สร้างแรงบันดาลใจเป็นอย่างยิ่งให้คมกฤษ จนเขาตัดสินใจออกโมเดลสัตว์หิมพานต์เนื่องในโอกาสวันตรุษจีน จำนวน 5 แบบ ในสไตล์บ้องแบ๊วคล้ายภาพวาดของศิลปินบนโลกออนไลน์ เขาตื่นเต้นกับไอเดียที่แล่นเข้ามาในหัวยามดึกเสียจนบอกให้ผู้เป็นภรรยาเข้านอนก่อน แล้วจึงลงมือปั้นดินในทันที “ไอเดียในหัวมันสดและชัดเจนมาก ผมใช้เวลาสองวันเท่านั้นในการออกแบบ และอีกสามวันในการผลิตโมเดลต้นแบบ” เขาเล่า
โมเดลสัตว์หิมพานต์ของเขาขายดีราวกับของขลัง ตามคำบอกเล่าของคมกฤษ การทำให้สัญลักษณ์แห่งความศรัทธาเข้าถึงได้ง่ายสำหรับคนรุ่นใหม่นั้นเป็นสิ่งจำเป็น “ทุกวันนี้ คนสามารถเข้าถึงข้อมูลจำนวนมหาศาล ผลงานของผม หรือของศิลปะหิมพานต์มาร์ชเมลโลอื่นๆ อาจเป็นแค่อีกจุดเล็กๆ ที่ช่วยเชื่อมโยงองค์ความรู้ในอดีตกับผู้คนในยุคปัจจุบัน นี่คือความรักต่อรากเหง้าของคนไทย ของที่เก่าแล้วไม่จำเป็นต้องตกยุคไป ความสนใจของผู้คนเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา มันเป็นเรื่องของวัฏจักร” เขากล่าว
ความ ‘ร่วมสมัย’ ไม่เพียงปรากฏในวัดโบราณของอีสาน แต่ยังอยู่งานประติมากรรมสมัยใหม่บนผนัง หลังคา และราวบันไดของวัดในเมือง หนึ่งในตัวอย่างที่โดดเด่น คือประติมากรรมบนผนังอุโบสถและวิหารของวัดปริวาสราชสงคราม หรือที่รู้จักในหมู่นักท่องเที่ยวต่างชาติว่าวัด ‘เดวิด เบ็คแฮม’ โดยมีที่มาจากรูปปั้นซึ่งสร้างขึ้นในปี 2541 ของอดีตกัปตันทีมชาติอังกฤษในอริยาบถขณะแบกฐานพระประธานในวัด ทุกวันนี้ ประติมากรรมทั้งภายในวัดทั้งหมดนั้นบอกเล่าวัฒนธรรมป๊อปคัลเจอร์ เช่น ตัวการ์ตูนปิกาจูที่ประดับด้วยพลอย วงพังก์ร็อกจากเกาะอังกฤษกำลังตัดโซ่จากยักษ์ และเทพฮอรัสของอียิปต์ ซูเปอร์แมน วูลฟ์เวอรีน และกระทั่งรูปปั้นของบารัค โอบามา อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ขณะกำลังถ่ายเซลฟี ศิลปะปูนปั้นนั้นยาวต่อเนื่องเข้าไปภายในวิหาร ล้อมรอบองค์พระประธาน ตรงด้านขวาขององค์ประธานมีภาพประติมากรรมนูนต่ำของบุคคลสำคัญและตัวการ์ตูนมากมาย รวมทั้งอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ นักวิทยาศาสตร์ชื่อดัง
เหตุผลที่คนรุ่นใหม่ชื่นชอบผลงานของศิลปินชาวบ้านเหล่านี้ เป็นเพราะภาษาที่ถ่ายทอดออกมานั้นไม่ใช่ ‘วาทกรรมหลัก (grand narrative)’ ของสังคม และไม่ใช่ศิลปะที่ไม่สามารถแตะต้องได้
การหยิบเอาตำนาน ไม่ว่าจะเป็นสัตว์หิมพานต์ รามเกียรติ์หรือคติพุทธศาสนามาตีความใหม่นั้น มองได้ว่าเป็นการปฏิเสธลำดับชั้นทางอำนาจในโลกศิลปะ ตามคำบอกเล่าของกฤติยา กาวีวงศ์ ผู้อำนวยการหอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน กระแสบนโลกออนไลน์เกี่ยวกับประติมากรรมสัตว์หิมพานต์ตามวัดในภาคอีสานนั้น ไม่ใช่การแสดงความเห็นต่ออัตลักษณ์ความเป็นไทย มากเท่ากับความเป็นไทยที่ถูกบัญญัติและควบคุมโดยส่วนกลาง “มันเหมือนการต่อต้านบรรทัดฐานความงามของศิลปะไทยของกรุงเทพและจังหวัดอื่นๆ ในภาคกลาง เมื่อพุทธศิลป์เริ่มกระจายตัวไปตามภาคต่างๆ เราจึงได้เห็นประติมากรรมที่สวยงามทว่าซื่อตรงเรียบง่ายซึ่งสร้างขึ้นโดยศิลปินชาวบ้าน พวกเขาทำไปเพราะต้องการทำอะไรดีๆ สักอย่างให้กับวัด ประเด็นเรื่องความสวยงามตามขนบไม่ได้สำคัญเท่า” เธอกล่าว
“เหตุผลที่คนรุ่นใหม่ชื่นชอบผลงานของศิลปินชาวบ้านเหล่านี้ เป็นเพราะภาษาที่ถ่ายทอดออกมานั้นไม่ใช่ ‘วาทกรรมหลัก (grand narrative)’ ของสังคม และไม่ใช่ศิลปะที่ไม่สามารถแตะต้องได้ คุณสามารถนำงานที่เห็นมาเปลี่ยนเป็นสติกเกอร์ การ์ตูน เกมต่างๆ มันเป็นสิ่งที่เราสามารถใช้ในชีวิตประจำวันและปรับให้เข้ากับตัวคุณในฐานะปัจเจกได้ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคุณมาจากอีสานหรือขอนแก่น ที่นั่นมีวัดที่สวยและมีชื่อเสียงด้านจิตรกรรมฝาผนัง ซึ่งคนมักใช้เป็นฉากหลังเวลาถ่ายภาพมาโพสต์ลงโซเชียลมีเดีย เช่นเดียวกับวัดอื่นๆ ในบ้านสาวะถี จังหวัดขอนแก่น ความนิยมในสัตว์หิมพานต์เหล่านี้ ไม่จำเป็นต้องมาพร้อมกับศาสนาและตำนานๆ เสมอไป มันคือสัตว์บ้องแบ๊วน่ารัก ที่คนเข้าถึงและจับต้องได้มากขึ้น”
แน่นอน งานที่คนคุ้นตามากกว่าอย่างงานประติมากรรมของช่างหลวงตามวัดอรุณฯ และวัดโพธิ์ ยังถือเป็นงานชั้นครู ซึ่งมีชื่อเสียงในระดับโลกและเป็นความงามที่ดึงดูดผู้ศรัทธาและนักท่องเที่ยวมาปีแล้วปีเล่า ในอีกมุมหนึ่ง งานศิลปะเก่าแก่เหล่านี้ครั้งหนึ่งก็เคยมีสถานะไม่ต่างจากศิลปะป๊อปอาร์ตในยุคปัจจุบัน เพราะต้องไม่ลืมว่าตำนานที่หยิบยกมาถ่ายทอดผ่านงานศิลป์ของวัดหลวงเหล่านี้ ไม่ว่าจะหิมพานต์ รามเกียรติ์ หรือชาดก ล้วนแต่เก่าแก่กว่าตัววัดไปอีกหลายพันปี ดังนั้น มากน้อยก็ตาม ศิลปะที่เกิดขึ้นล้วนแต่สะท้อนขนบธรรมเนียม ความเชื่อ กระแสทางวัฒนธรรม และแนวทางงานของสมัยตัวเอง ไม่ต่างไปจากประติมากรรมป๊อปอาร์ตบนผนังวัดปริวาส และปรากฏการณ์ #หิมพานต์มาร์ชเมลโล ของทุกวันนี้
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด ก็เช่นพุทธศิลป์สมัยสุโขทัย ที่ช่างศิลป์ถ่ายทอดตำนานและพุทธประวัติด้วยงานศิลปะในลักษณะเหนือจริง เพื่อชูความเหนือมนุษย์ งานพุทธศิลป์นี้ที่ต่อยอดมาถึงสมัยอยุธยา จึงเป็นสิ่งสะท้อนสไตล์และการตีความของศิลปินมากกว่าเพียงเนื้อหาทางศาสนา สิ่งที่เหล่านี้ เกิดขึ้นกับอีกหลายงานประติมากรรม รวมถึงบรรดายักษ์ทวารบาลผู้พิทักษ์วัดพระแก้ว ที่มีใบหน้าที่ดุร้าย นัยน์ตาโปน และปากแสยะยิ้มแยกเขี้ยว ซึ่งก็เป็นสไตล์งานที่มีช่วงกำเนิดในสมัยสุโขทัยและอยุธยา
ตัวอย่างที่ร่วมสมัยที่สุดในวันนี้ อาจเป็น ‘สองเกลอ’ ผลงานประติมากรรมนักรบจีนและยักษ์ทวารบาลซึ่งคมกฤษสร้างสรรค์ขึ้นในปี 2561 นี่เอง รูปปั้นทั้งสองยืนเคียงคู่กันราวกับแฝดสยาม ตรงประตูวัดอรุณฯ ในอากัปกริยาเดียวกับยักษ์วัดโพธิ์ ประติมากรรมดังกล่าวได้รับแรงบันดาลใจจากอิทธิพลศิลปะไทยและจีนแห่งยุคสมัย เช่นเดียวกับโมเดลสัตว์หิมพานต์ที่เขาสร้างขึ้น
เมื่อพูดถึงการเปิดตัวงานประติมากรรมดังกล่าวที่งาน Bangkok Art Biennale ในปี 2561 แล้ว ศาสตราจารย์ ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ ประธานอำนวยการและผู้อำนวยการศิลป์ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ กล่าวว่า “คมกฤษนำรูปปั้นทั้งสองมาวางเคียงคู่กันเหมือนแฝดสยาม เพื่อเป็นตัวแทนของความสัมพันธ์ไทย-จีน ที่ย้อนไปไกลถึงสมัยรัชกาลที่ 3 งานในลักษณะชวนให้เราตั้งคำถามเกี่ยวกับมรดกทางศิลปะ เพราะคนจะเริ่มถามว่าอะไรคืองานร่วมสมัย และอะไรคือของเก่าจริงๆ”
เป็นเรื่องปกติที่ศิลปินและนักเขียนจะมองย้อนกลับไปยังโลกเมื่อหลายร้อยปีก่อน และหยิบยืมตำนานเก่าแก่มาเป็นเครื่องทดลองถ่ายทอดแนวคิดของตน อย่างตำนานเทพปกรณัมกรีกซึ่งถูกหยิบยกมาใช้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า และกระทั่ง ‘ยำ’ ใหม่จนแทบจำไม่ได้ ในบางแง่ อาจกล่าวได้ว่าตำนานต่างๆ ของไทยนั้น อาจต้องเดินมาในเส้นทางเดียวกันเมื่อถูกนำมาถ่ายทอดซ้ำแล้วซ้ำเล่าโดยศิลปินรุ่นใหม่ๆ กระนั้น การได้รับความสนใจจากคนรุ่นใหม่นี่เอง ดูจะเป็นหนทางที่ดีที่สุดในการรักษามรดกล้ำค่าจากอดีต เป็นไปได้ว่าในยามที่คนวัยยี่สิบต้นๆ หันมาเก็บสะสมโมเดลหิมพานต์มาร์ชเมลโล่ของคมกฤษเพียงเพราะความน่ารัก พวกเขาอาจตั้งคำถามไปพร้อมกันว่าสัตว์เหล่านี้ชื่ออะไร หรือมีที่มาที่ไปอย่างไร
ซึ่งแค่นั้นก็ดูจะเพียงพอแล้วสำหรับความมีชีวิตของวัฒนธรรม ■