HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

THINKING BIG


Climate Combatant

วิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั่วโลกดูเหมือนจะเกิดขึ้นเร็วเกินคาดและยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นทุกขณะ แต่ ดร.อ้อย สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ มองว่าหนทางแก้ปัญหาอยู่ตรงหน้าเรานี่เอง

ณ กรุงเทพฯ ในวันฝนตก เมฆดำทะมึนลอยปกคลุมเหนือมหานคร จู่ๆ เสียงคำรามของสายฟ้าก็ดังขึ้นขณะที่ ดร.อ้อย กำลังเตรียมจะสรุปให้เราทราบว่าอะไรคือวิกฤตครั้งใหญ่ของคนยุคนี้ คำพูดของเธอว่า “เราแย่แล้ว” ถูกตอกย้ำด้วยเสียงฟ้าผ่าราวกับเสียงเตือนจากธรรมชาติ

ดร.อ้อย ใช้เวลาเป็นชั่วโมงวิพากษ์วิจารณ์แผนพัฒนาที่ดูเหมือนจะไปในทิศทางตรงกันข้ามของคำว่า ‘พัฒนา’ รวมทั้งประนามนักการเมืองที่โกงกินอย่างเผ็ดร้อน ในขณะเดียวกันก็อธิบายให้เราทราบถึง ‘ขีดจำกัดของความปลอดภัยโลก’ และวิเคราะห์รายละเอียดเกี่ยวกับปัญหาใหญ่ของสภาพภูมิอากาศโลก โดยไม่ลืมที่จะโชว์รูปภาพประกอบต่างๆ ที่แสดงให้เห็นถึงปัญหาเร่งด่วนโดยอ้างอิงหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน เช่น ความสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ มลพิษด้านสารเคมี และการเปลี่ยนแปลงสภาพของธาตุไนโตรเจนหรือที่เรียกว่า ‘วัฏจักรไนโตรเจน’ และอีกหลายๆ เรื่อง แต่เมื่อพายุฝนที่กระหน่ำด้านนอกผ่านพ้นไป อารมณ์ของ ดร.อ้อย ก็ดูเหมือนจะบรรเทาความเกรี้ยวกราดลงเช่นกัน เธอจึงบรรยายต่อว่า

“วิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งนี้มีต้นเหตุมาจากพฤติกรรมมนุษย์และเทคโนโลยี มันอาจฟังดูเกินไป แต่จริงๆ แล้ว เรื่องสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องที่เราสามารถแก้ไขได้ เพราะมนุษย์เราเองคือต้นเหตุ มันจึงไม่เหมือนแรงโน้มถ่วงของโลกที่เราจำเป็นต้องยอมรับ การแก้ไขอาจจะยากแต่เป็นไปได้”

ดร.อ้อย มีบทบาทหลากหลายไม่ว่าจะเป็นนักเคลื่อนไหว นักวิชาการ นักการศึกษา ผู้ประสานงานภาคสนาม และนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เธออุทิศเวลาส่วนใหญ่ให้กับการสำรวจธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องเกี่ยวกับพฤติกรรมมนุษย์ที่ทำลายธรรมชาติและเป็นตัวเร่งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งวิถีทางที่จะทำให้มนุษย์กลับมาอยู่กับธรรมชาติและมีสำนึกความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อรักษาโลกนี้ไว้นานๆ นอกจากนี้ เธอยังทำหน้าที่ในฐานะประธานมูลนิธิโลกสีเขียวซึ่งกำลังจะอำลาตำแหน่งอีกไม่นานเพื่อไปสานต่อโปรเจคต์อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของตนเองที่ อ.เชียงดาว

ก่อนหน้านี้ หลายคนอาจเคยได้ยินได้เห็นผลงานด้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของ ดร.อ้อย มาบ้างไม่มากก็น้อย ไม่ว่าจะเป็นการวางหลักสูตรการอบรมการศึกษา การเคลื่อนไหวต่อต้านการก่อสร้างทางเดินริมแม่น้ำเจ้าพระยาและการสร้างเขื่อนไซยะบุรี ตลอดจนการสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพบริเวณคุ้งบางกะเจ้าในโครงการไบโอบลิทซ์ (BioBlitz) หรือ ‘ชีวะตะลุมบอน’ ที่จัดขึ้นในปี 2557 ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกในเมืองไทย แต่ไม่ว่าเธอจะทำงานมาหลากหลายแค่ไหน งานสำคัญที่สุดของเธอคงหนีไม่พ้นงานด้านพัฒนาศักยภาพคนที่ต้องวนกลับมาทำอยู่เสมอ

ยิ่งไปกว่านั้น ดร.อ้อยยังถือเป็นคนสำคัญในการรวบรวมเครือข่ายด้านสิ่งแวดล้อมในประเทศเข้าไว้ด้วยกันซึ่งประกอบด้วยเครือข่ายของมูลนิธิโลกสีเขียว รวมทั้งสื่อด้านสิ่งแวดล้อมทั้งสิ่งพิมพ์และออนไลน์ โดยในช่วงปี 2539-2546 มูลนิธิโลกสีเขียวริเริ่มโครงการ ‘นักสืบสายน้ำ’ และได้ทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญและชุมชนที่มีทั้งโรงเรียน หน่วยงานภาครัฐ และภาคประชาชน เพื่อส่งเสริมให้คนในชุมชนทุกเพศทุกวัยสามารถประเมินสภาพแวดล้อมของชุมชนด้วยตนเอง ทำให้คนในชุมชนตื่นตัวและรู้สึกมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ตลอดจนหันมาให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น และสิ่งนี้เองที่ ดร.อ้อยเชื่อว่าเป็นก้าวแรกในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก่อนที่จะสายเกินไป

“ขณะนี้สังคมเราตัดขาดจากธรรมชาติ ก้าวแรกที่สำคัญในการแก้ปัญหานี้จึงเป็นการดึงให้คนกลับมาฟื้นสัมพันธ์ใกล้ชิดกับธรรมชาติอีกครั้ง ถ้าคุณเกิดความรักและเคารพต่อธรรมชาติ คุณจะอยากทำความเข้าใจธรรมชาติให้ดีขึ้น”

ดร.อ้อยนั่งคุยกับเราที่โต๊ะกินข้าวภายในบ้านดีไซน์เท่ก่อด้วยอิฐแบบเก่าย่านสุขุมวิท เธอเล่าให้ฟังว่าบ้านหลังนี้เป็นมรดกตกทอดจากครอบครัวและผ่านการปรับปรุงให้สอดคล้องกับธรรมชาติมากที่สุดด้วยฝีมือเธอเอง การถ่ายเทอากาศที่ดีทำให้ไม่ต้องพึ่งเครื่องปรับอากาศ การใช้เปิดรับแสงธรรมชาติทำให้ลดค่าไฟได้มาก ในขณะที่ต้นไม้ที่ปลูกไว้รอบบ้านก็ทำให้รู้สึกใกล้ชิดธรรมชาติมากยิ่งขึ้น

มันไม่เหมือนแรงโน้มถ่วงของโลกที่เราต้องยอมรับ เพราะฉะนั้นมนุษย์ทุกคนคือต้นเหตุ การแก้ไขอาจจะยากแต่เป็นไปได้

“ร่างกายคนเรามีเครื่องมือตามธรรมชาติที่จะตรวจจับอันตราย ร่วมมือกับผู้อื่น และเอาชีวิตรอด แต่ทุกวันนี้เราอยู่ในสิ่งแวดล้อมแบบอนามัยและยังพึ่งพาเทคโนโลยีไปเสียทุกอย่าง ปัญหาของความสะดวกสบายก็คือคุณได้ผลลัพธ์แต่ไม่ผ่านกระบวนการ ซึ่งก็เท่ากับคุณข้ามการเรียนรู้”

ความคิดนี้จึงเป็นที่มาของโครงการ Nature Connection ฟื้นสัมพันธ์คืนดีกับธรรมชาติ แม้ว่าตารางงานในปีนี้จำเป็นต้องยกเลิกไป เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาด โควิด-19 ดร.อ้อยให้รายละเอียดของโครงการนี้ว่าเป็นคอร์สการเรียนรู้ทั้งด้านวิทยาศาสตร์ ศิลปะ และจิตวิญญาณที่เปิดให้ผู้สนใจทั่วไป โดยจะเปิดสอนตั้งแต่ความรู้และทักษะเบื้องต้นในการเปิดผัสสะฟื้นฟูสายสัมพันธ์กับธรรมชาติที่โยงใยและเยียวยาเรา ไปจนถึงความรู้ระดับสูงเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพและการพัฒนายั่งยืน

“คอร์สในโปรแกรมนี้จะจัดสำหรับกลุ่มเล็กๆ เท่านั้น เราไม่ค่อยจะสมาทานการจัดกลุ่มใหญ่อย่างที่เห็นกันในกิจกรรม CSR เขาอาจมองว่าได้ทำความดี แต่บ่อยครั้งเป็นทำลายธรรมชาติมากกว่า คนอื่นอาจมองว่างานที่เราทำอาจต้องไปต่อสู้กับนักการเมือง แต่จริงๆ แล้วเรารู้สึกโชคดีที่ได้ทำงานกับสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติ”

ดร.อ้อยยังกล่าวว่าทุกคนควรกำหนดเวลาในแต่ละวันให้ตัวเองได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นที่สวนริมระเบียง สวนหลังบ้าน หรือสวนข้างหน้าต่าง ใช้เวลาสำรวจตัวเอง ซึมซับความรู้สึกจากธรรมชาติ และค้นพบสิ่งใหม่ในตัวเอง

ในฐานะที่เธอเป็นนักปั่นตัวยงและมีส่วนสำคัญในการรณรงค์ให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองจักรยาน เธออยากให้ทุกคนหันกลับมาปั่นจักรยานหรือเดินให้มากขึ้น ซึ่งมูลนิธิโลกสีเขียวถือว่าเป็นกิจกรรมง่ายๆ ที่ใช้แก้ปัญหายากๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหามลพิษหรือการทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างได้ผล

ทว่าการจะให้คนกลับไปหาธรรมชาติหรือนำธรรมชาติกลับมาไว้ในเมืองนั้นจำเป็นต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ระดับฐานรากและบางครั้งก็ต้องเสียสละความสุขส่วนตัว แต่ดร.อ้อยก็ไม่อยากจะให้สรุปว่าเป็นอย่างนั้น

“เราไม่คิดว่าการละทิ้งความสะดวกสบายคือการต้องเสียสละนะ มันเป็นแค่การปรับตัว แน่นอนว่าบางคนก็สามารถปรับตัวได้ดีกว่าคนอื่นเพราะมีความพร้อมด้านฐานะมากกว่า แต่ก็จะมีอีกหลายคนที่ไม่สามารถปรับตัวได้ ดังนั้นต้องมีการแยกแยะว่าคนไหนที่ต้องการความช่วยเหลือ หรือกำหนดว่าจะต้องทำอะไรบ้างเพื่อให้ทุกคนสามารถปรับตัวได้ ยกตัวอย่างในแคนาดา รัฐบาลประกาศเก็บภาษีคาร์บอนและรายได้จากตรงนี้ก็นำไปช่วยเหลือคนที่มีรายได้ต่ำ เป็นต้น”

แนวทางสำคัญแนวหนึ่งที่จะช่วยให้เราเปลี่ยนผ่านไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ คือใช้การฟื้นฟูธรรมชาติเป็นแนวทางแก้ปัญหา หรือที่เรียกว่า Nature-based Solutions

“พวกเราจำเป็นต้องเปลี่ยนวิธีคิด แทนที่จะเอาชนะธรรมชาติเหมือนที่ต้องใช้เครื่องปรับอากาศดับความร้อนหรือการป้องกันน้ำท่วมทุกวิถีทางทั้งที่รู้ว่ากรุงเทพฯ เป็นที่ลุ่มต่ำ ก็ควรจะน้อมรับพลังธรรมชาติซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนลักษณะภูมินิเวศท้องถิ่น ถ้าเราฉลาดพอที่จะไม่ไปต่อสู้กับธรรมชาติ เราจะเรียนรู้ว่าเรารับบริการอะไรจากธรรมชาติได้บ้าง นี่คือแนวคิดหลักของการออกแบบเพื่อประหยัดพลังงานอย่างชาญฉลาด”

ทางออกที่สำคัญอีกอย่าง คือศาสตร์ที่เรียกว่า ชีวลอกเลียน (biomimicry) หรือนวัตกรรมเลียนแบบธรรมชาติ ซึ่งเป็นการหาไอเดียดีๆ จากชีวิตร่วมโลกชนิดอื่นๆ แล้วนำมาประยุกต์ใช้แก้ปัญหา โดย ดร.อ้อยกล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงแนวคิดในการออกแบบสิ่งต่างๆ ดังกล่าวเป็นบันไดขั้นที่ 2 ที่จะช่วยให้เราพ้นจากหายนะด้านสิ่งแวดล้อมได้

เพื่อให้เข้าใจและเห็นภาพชัดขึ้น ดร.อ้อยจัดแจงเปิดพรีเซนเทชั่นที่เธอทำขึ้นเพื่อนำเสนอเกี่ยวกับการออกแบบรถไฟชินคันเซนของญี่ปุ่น โดยโครงสร้างรถไฟหัวกระสุนนี้ใช้หลักการการเลียนแบบพฤติกรรมของนกกระเต็นกินปลาที่สามารถดำน้ำลงไปจับปลาโดยไม่ทำให้ผิวน้ำเคลื่อนไหวแม้แต่น้อย จากนั้นก็ชวนให้เราจินตนาการตามว่า ถ้าเกิดเราเลียนแบบใบไม้ในการจับพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับผลิตไฟฟ้าได้จะเป็นอย่างไร

ก้าวแรกที่สำคัญในการแก้ปัญหานี้คือการดึงให้คนกลับมาใกล้ชิดกับธรรมชาติอีกครั้ง ถ้าคุณเกิดความรักและเคารพต่อธรรมชาติ คุณจะอยากทำความเข้าใจธรรมชาติให้ดีขึ้น

“การสังเคราะห์แสงถือเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่มหัศจรรย์และสำคัญต่อโลกมาก เพราะฉะนั้น เราจึงต้องการดีไซน์ที่สนับสนุนธรรมชาติ โดยการเรียนรู้จากธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นการสร้างบ้านปูนของปะการังโดยการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ภายใต้อุณหภูมิปกติ แทนการระเบิดภูเขาและใช้พลังงานสูงมากเพื่อผลิตปูนซีเมนต์มาสร้างอาคารของมนุษย์ หรือดูตัวอย่างจากต้นไม้ในการผลิตและกักเก็บพลังงานจากแสงอาทิตย์”

เหนือสิ่งอื่นใด ดร.อ้อยเชื่อว่าธรรมชาติจะปรับตัวเพื่อรักษาตัวเองจากพลังทำลายล้างของมนุษย์ เธอเล่าว่ากว่า 30 ปีที่เธอทำงานรณรงค์ปลุกจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมนั้น ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเลย เหมือนกับว่าเธอกำลังวิ่งชนกำแพงซึ่งมีทั้งเกมการเมือง คอรัปชั่น และอิทธิพลมืดขวางทางอยู่ แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงต้องอาศัยการร่วมมืออย่างจริงจังของทุกคนแต่ทุกวันนี้ สิ่งที่เธอต้องการมากที่สุดคือการเปลี่ยนแปลงระบบในระดับนโยบาย

“จนทุกวันนี้ เมืองไทยก็ยังไม่ใช้ระบบไฟฟ้าสมาร์ทกริด ซ้ำยังคิดคำนวณอะไรผิดทิศผิดทางไปหมด เช่น พลาสติกควรจะเป็นของล้ำค่า เพราะเราต้องขุดเอาน้ำมันขึ้นมาเพื่อผลิตพลาสติก แต่ทำไมพลาสติกถึงราคาถูกมาก”

การเริ่มที่ตนเองและการร่วมมือกันจากทุกภาคส่วนย่อมทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้จริง แต่คงต้องรอจนกว่าการใช้ชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมนั้นจะสะดวกสบาย เข้าถึงได้ง่าย และมีราคาถูกกว่ามาตรฐานที่เป็นอยู่ปัจจุบัน ซึ่งดร.อ้อยระบุว่า “ประเด็นนี้ต้องอาศัยการปฏิรูประบบการเงินการคลังของประเทศด้วย และการปฏิรูปที่ควรทำอย่างเร่งด่วนที่สุดก็คือการหยุดทำลายธรรมชาติ เปิดโอกาสให้ธรรมชาติฟื้นตัวในทุกพื้นที่แม้แต่ในเมือง แน่นอนว่าเราคงไม่อยากให้เสือมาเดินเล่นในเมือง แต่เมืองก็เปรียบเหมือนป่าของคน เพราะฉะนั้นก็ควรสร้างเมืองให้เป็นที่อาศัยตามธรรมชาติของคน เพราะความหลากหลายทางชีวภาพจะช่วยเกื้อกูลระบบนิเวศและชีวิตมนุษย์”

ด้วยความปรารถนาดีต่อธรรมชาติและมนุษย์ ดร.อ้อยจึงเตือนว่า “การส่งเสริมให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพจะต้องลดจำนวนโปรเจกต์ใหม่ที่บุกรุกธรรมชาติลง อย่างเช่น บางโครงการในแผนพัฒนาอุตสาหกรรมที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ ธรรมชาติของเราเหลือไม่มากแล้ว เพราะฉะนั้นอย่าพัฒนาโครงการใดๆ ที่ทำลายมันลงอีกเลย เรามักเห็นตัวเงินสำคัญกว่า จริงๆ เราไม่ควรแม้แต่ต้องเถียงกันเรื่องนี้ด้วยซ้ำ แต่ก็ยังต้องเถียง นี่ก็เป็นปัญหาในตัวอยู่แล้ว”

คำตอบของ ดร.อ้อย สะท้อนถึงความสงสัยในสิ่งไม่ถูกไม่ควรสำหรับสถาบันหรือหน่วยงานบางแห่งที่อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเงินหรือการเมือง ทั้งยังแสดงให้เห็นถึงการทุ่มสุดตัวให้กับการขับเคลื่อนและผลักดันนโยบายต่างๆ เพื่อสนับสนุนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม แม้จะต้องคลุกฝุ่นจนเนื้อตัวถลอกบ้างก็ตาม

“โดยส่วนตัวคิดว่าเราทำให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้” เธอกล่าว

แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า ดร.อ้อยจะรู้สึกว่าตัวเองพ่ายแพ้ ไม่นานมานี้ เธอได้สร้างทุ่งน้ำนูนีนอยไว้ที่ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ซึ่งเธอตั้งใจว่าจะใช้เป็นพื้นที่อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและเป็นแหล่งผลิตอาหารในนาข้าว และพิสูจน์ให้เห็นว่านี่คือสิ่งที่สามารถลงมือทำด้วยตนเองโดยไม่ต้องรอนโยบายใดๆ จากรัฐ

เมื่อถูกถามถึงความเคลื่อนไหวของเยาวชนในปัจจุบันว่าพอจะเป็นความหวังของอนาคตประเทศได้หรือไม่ เธอตอบว่า “แน่นอน พวกเขาคือความหวังสำคัญ ถึงเวลาแล้วที่คนวัยเราจะถอยออกมาและเปิดโอกาสให้พวกเขานำสังคม คนสมัยนี้มีศักยภาพกว่าเมื่อก่อน และวิกฤตด้านสภาพภูมิอากาศก็อาจได้รับการแก้ไขก่อนจะกลายเป็นหายนะครั้งใหญ่ก็ได้ การปรับกระบวนทัศน์ครั้งใหญ่ในสังคมก็อาจเกิดขึ้นด้วย”

ดร.อ้อย เข้าใจดีว่าการเปลี่ยนแปลงความคิดของคนทั้งประเทศต้องใช้เวลาไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อมหรือการเมืองก็ตาม ความเปลี่ยนแปลงที่ดีก็ใช้เวลา และต้องค่อยเป็นค่อยไปทีละเรื่อง ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา แม้อาชีพของเธอจะสร้างการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยแต่เธอก็ไม่เคยคิดจะหยุดเปลี่ยน เธอใช้ชีวิตในแบบที่ตัวเองคิด และคนอื่นก็ไม่สามารถห้ามไม่ให้เธอคิดต่างได้

ดูออกได้ไม่ยากว่าในหลายสถานการณ์ที่การเจรจาอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัยอาจได้ผลลัพธ์ที่จำกัด และการใช้ไม้แข็งอย่างตรงไปตรงมาเป็นเรื่องจำเป็น ดร.อ้อย จะเป็นคนหนึ่งที่กล้าใช้ไม้แข็งโดยไม่ลังเล