SECTION
ABOUTTHINKING BIG
The Mother Tongue
ถอดรหัสความแข็งแกร่งภายใต้บุคลิกนิ่มนวลของ นพรัตน์ กุลหิรัญ เจ้าของฉายา ‘มาดามรถถัง’ ลูกสาวชาวจีนอพยพผู้อาจได้ส่งออกรถถังไทยไปยัง 40 กว่าประเทศทั่วโลก โดยอาศัยเพียงไหวพริบของนักเจรจาและเสน่ห์ปลายจวัก
สมัยแรกๆ ที่ นพรัตน์ กุลหิรัญ เรียนรู้ที่จะใช้ทักษะการเจรจาเพื่อโน้มน้าวใจผู้อื่นนั้น เธอมีอายุเพียงสิบขวบ นพรัตน์เติบโตขึ้นในย่านเซียงกง ใกล้กับวงเวียนโอเดียนในเยาวราช ซึ่งในอดีตเป็นแหล่งค้าอะไหล่รถยนต์ที่สำคัญของกรุงเทพฯ ภายในละแวกนั้นรายล้อมไปด้วยอะไหล่เก่าที่กองสูงระเกะระกะ ไม่ไกลกันนั้น ชาวจีนโพ้นทะเลเจ้าของธุรกิจซ่อมอะไหล่ กำลังแข่งกันตะโกนเสนอราคาเพื่อประมูลกองเศษเหล็กตรงเบื้องหน้า ซึ่งหนึ่งในนั้นคือหงิ่งโห้ แซ่ตั้ง พ่อของนพรัตน์ ผู้ซึ่งอพยพมายังประเทศไทยพร้อมกับครอบครัวในปี 2443 และเติบโตมาในย่านเซียงกงเหมือนกันกับลูกสาว
หงิ่งโห้เป็นเจ้าของกิจการค้าเหล็กเล็กๆ ชื่อตั้งจุ้นฮวดบนถนนทรงวาด เขาต้องการเศษเหล็ก โซ่ และอะไหล่จำนวนมากเพื่อใช้ในสารพัดงานซ่อม แต่สำหรับชายผู้ซึ่งพูดเสียงเบาและติดอ่าง การเข้าประมูลกลายเป็นปัญหาใหญ่ ยามที่การประมูลดำเนินมาถึงจุดสำคัญ เสียงของเขาจะถูกกลบด้วยเสียงโลหะกระทบกัน และเสียงพูดคุยเซ็งแซ่ของผู้เข้าร่วมประมูลรายอื่นๆ “พ่อไม่เคยได้ของที่ต้องการ ฉันเลยคิดว่าต้องช่วยพ่อแต่ตอนนั้นฉันเพิ่งสิบขวบ แล้วตรงนั้นก็มีแต่เด็กผู้ชาย ไม่มีเด็กผู้หญิงสักคน” นพรัตน์ ในวัย 66 ปี เล่า
นพรัตน์จะแวะไปที่ลานประมูลทุกๆ บ่ายหลังโรงเรียนเลิก จนเจ้าของอู่ในตลาดเซียงกงต่างคุ้นหน้าเธอ เด็กหญิงรายนี้เฝ้ากุลีกุจอเสิร์ฟน้ำชา โบกพัดอันใหญ่เพื่อคลายร้อน และเป็นธุระวิ่งซื้อของเล็กๆ น้อยๆ ให้กับบรรดาผู้ใหญ่ที่ลานประมูลจนทุกคนรู้สึกเอ็นดูเธอ “ตอนนั้นเราฉุกคิดได้ว่าทำไมไม่ลองคุยกับพวกเขาดู เผื่อจะเกลี้ยกล่อมให้เขาเปิดโอกาสให้พ่อได้พูดบ้าง” เธอเล่าต่อ
แม้จะเป็นความคิดใสซื่อของเด็กไร้เดียงสาแต่มันก็ได้ผล เพราะนพรัตน์เป็นเด็กน่ารักมีน้ำใจ อีกทั้งยังสามารถสื่อสารภาษาจีนกลางและแต้จิ๋วได้อย่างคล่องแคล่ว (อันเป็นทักษะที่ได้รับการถ่ายทอดจากผู้เป็นพ่อ) เมื่อเจอชิ้นส่วนที่หมายตา หงิ่งโห้จะกระซิบบอกราคาที่ต้องการกับลูกสาว ก่อนที่นพรัตน์จะวิ่งไปขอให้ฝูงชนช่วยหยุดการประมูลในราคาดังกล่าว ซึ่งพวกเขาก็ยอมทำตามที่เธอขอ เรื่องนี้สอนบทเรียนอันล้ำค่าให้แก่นพรัตน์ในวัยเด็ก ว่าการเอาชนะใจคนนั้นเป็นใบเบิกทางชั้นดีไปสู่ความสำเร็จทางธุรกิจ
หกทศวรรษต่อมา นพรัตน์ยังคงใช้บุคลิกนิ่มนวลเป็นมิตรในการสร้างสัมพันธ์ทางธุรกิจ ปัจจุบันเธอดำรงตำแหน่งหัวเรือใหญ่ของบริษัทชัยเสรีเม็ททอลแอนด์รับเบอร์ จำกัด ธุรกิจประกอบรถถังซึ่งสร้างชื่อเสียงให้เธอไปทั่วโลก บริษัทชัยเสรีฯ นั้นก่อตั้งโดยครอบครัวของสามีนพรัตน์ในปี 2482 และมีรายได้เล็กๆ น้อยๆ จากการรับจ้างซ่อมบำรุงให้กองทัพไทย ทุกวันนี้ ชัยเสรีส่งออกรถหุ้มเกราะและตีนตะขาบรถถังไปยัง 43 ประเทศทั่วโลก อีกทั้งยังมีโรงงานหลายแห่งในประเทศ โดยโรงงานที่ใหญ่ที่สุดคือนิคมขนาด 84 ไร่ในอำเภอลาดหลุมแก้วจังหวัดปทุมธานี ซึ่งประกอบด้วยโรงงานย่อย 26 แห่ง และคนงานอีกกว่า 400 ชีวิต นอกจากนี้ บริษัทยังมีสินค้าสิทธิบัตรเป็นของตัวเองอีกหลายรายการ อาทิ รถหุ้มเกราะล้อยางตระกูล First Win ราคา 15 ล้านบาท ซึ่งมีคุณสมบัติกันกระสุน AK-47 และการติดตั้งระบบ ‘รันแฟลต’ ที่ช่วยให้รถแล่นได้ไกลถึง 150 กิโลเมตรแม้ยางแบน บริษัทยังรับผลิตสินค้าตามคำสั่งให้กับประเทศต่างๆ ซึ่งอาจมีความต้องการเฉพาะด้านหรือมีกฎข้อบังคับด้านเครื่องจักรกลที่เข้มงวดอีกด้วย
นพรัตน์เป็นที่รู้จักในฉายา ‘มาดามรถถัง’ ผู้เป็นเจ้าของบริษัทประกอบรถถังซึ่งจำหน่ายยุทโธปกรณ์ให้กองทัพทั่วโลก หญิงร่างท้วมสูง 155 เซนติเมตรรายนี้มีบุคลิกช่างเจรจา เธอเป็นคนเดินช้าแต่พูดเร็ว ยามที่บอกเล่าเรื่องราวในวงสนทนา น้ำเสียงของเธอนั้นดังกังวาน และอาจพูดติดขัดบ้างยามที่ความคิดแล่นไวกว่าคำพูด ต่างจากผู้บริหารระดับสูงที่มักเตรียมสคริปต์ยาวเหยียดยามต้องให้สัมภาษณ์เพื่อรักษาภาพลักษณ์ไว้ไม่ให้บกพร่อง นพรัตน์กลับพูดคุยด้วยท่าทางจริงใจเป็นกันเอง และไม่รู้สึกเคอะเขินที่จะเล่าเกี่ยวกับความผิดพลาดของตัวเอง เธอหัวเราะและหยุดพูดเป็นระยะเพื่อคะยั้นคะยอให้เรารับประทานอาหารที่แม่บ้านยกมาเสิร์ฟ ซึ่งแน่นอนว่าปรุงด้วยสูตรของเธอเอง
นพรัตน์กลายเป็นที่กล่าวขานในแวดวงสื่อมวลชนไทย เกี่ยวกับความสำเร็จในอุตสาหกรรมผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยีความมั่นคงที่ชายเป็นใหญ่ ทุกคนต่างสงสัยว่าอะไรคือกุญแจสู่ความสำเร็จของหญิงแกร่งรายนี้ เธอสามารถเจรจาข้อเสนอทางการค้าจนลุล่วงกับเหล่าผู้นำชายและนายทหารระดับสูงจากประเทศที่บทบาทสตรียังถูกกีดกันทั้งในโลกธุรกิจและการเมือง ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ รัสเซีย หรือจอร์แดน เธอไม่มีความรู้ทางการทหารหรือปริญญาในสาขาบริหารธุรกิจ มีเพียงวุฒิการศึกษาด้านครุศาสตร์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และในอดีตเคยเป็นอาสาสมัครสอนหนังสือให้กับผู้ลี้ภัยชาวเวียดนามหลังสิ้นสุดสงคราม “การจะเอาชนะใจคู่ค้าในธุรกิจนี้ เราต้องฟังสิ่งที่เขาต้องการจะพูด แล้วต้องจริงใจ ฉันรับฟังความคิดเห็นของผู้ใช้งานจริงและช่วยเสนอทางแก้ปัญหา นั่นเป็นสาเหตุที่ลูกค้าเชื่อใจเรา” นพรัตน์เล่า
ทุกวันนี้ ชัยเสรีส่งออกรถหุ้มเกราะและตีนตะขาบรถถังไปยัง 43 ประเทศทั่วโลก อีกทั้งยังมีโรงงานหลายแห่งในประเทศ
นพรัตน์เริ่มงานที่บริษัทชัยเสรีฯ เมื่อหลายสิบปีก่อนหน้าตามคำสั่งของแม่สามี ด้วยประสบการณ์ในธุรกิจยุทโธปกรณ์ที่เป็นศูนย์ เธอจึงต้องอาศัยพรสวรรค์ของเธอในการพูดโน้มน้าว และมักตั้งคำถามมากมายจนอีกฝ่ายตามไม่ทัน ทำให้บางครั้งเธอดูเหมือนเป็นนักข่าวหรือนักวิจัยที่กำลังออกภาคสนามมากกว่า
ในยุคแรกๆ ที่บริษัทชัยเสรีฯ เริ่มรับจ้างซ่อมยานพาหนะให้กับกองทัพ นพรัตน์มักเดินทางไปยังสหรัฐฯ เพื่อเสาะหาอะไหล่สำรองตามโรงงานต่างๆ ครั้งหนึ่งเธอมีโอกาสไปเยือนบริษัท Standard Products ในพอร์ตคลินตัน รัฐโอไฮโอ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ผลิตรายใหญ่ของเธอ เพื่อขอเยี่ยมชมโรงงาน มิสเตอร์โรช ชาวอเมริกันเชื้อสายเยอรมัน ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้อำนวยการบริษัทตอบตกลง ระหว่างที่ทั้งคู่เดินชมโรงงาน นพรัตน์ก็ยิงคำถามใส่มิสเตอร์โรชไม่ยั้ง “ฉันถามเขาว่า นี่คืออะไร มันทำงานยังไง เขาซ่อมข้อต่อกับล้อสายพาน ซึ่งเป็นสิ่งที่เรายังทำไม่ได้ในตอนนั้น ฉันอยากรู้ว่าเขาทำได้ยังไง” เธอเล่า
มิสเตอร์โรชพยายามตอบคำถามทั้งหมดของนพรัตน์ และเผยความลับในขั้นตอนการผลิตให้เธอฟัง นพรัตน์ปลีกตัวไปเข้าห้องน้ำเป็นระยะ และรีบจดทุกอย่างที่จำได้ลงในสมุดบันทึก หลายปีต่อมา เมื่อมิสเตอร์โรชเดินทางมาเยี่ยมชมโรงงานของเธอในประเทศไทย เขาก็รู้สึกทึ่งที่บริษัทชัยเสรีฯ ใช้กระบวนการผลิตแบบเดียวกันเป๊ะๆ แม้ประสิทธิภาพจะยังไม่เทียบเท่าก็ตาม มิสเตอร์โรชประทับใจในความปราดเปรื่องของนพรัตน์มาก จนทั้งคู่เริ่มสานสัมพันธ์ทางธุรกิจแน่นแฟ้นนับแต่นั้น ภายหลังเมื่อบริษัทสแตนดาร์ดโปรดักส์ตัดสินใจเลิกกิจการ เขาก็ขายเครื่องจักรทั้งหมดให้กับนพรัตน์ในราคาหนึ่งล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งช่วยเพิ่มกำลังการผลิตให้ชัยเสรีถึง 640% และเพื่อเป็นการแสดงความขอบคุณ นพรัตน์ได้ส่งเงินจำนวนหนึ่งแสนดอลลาร์สหรัฐไปให้เขา “เขาโทรมาหาฉันด้วยน้ำเสียงตื่นตระหนกว่า ‘มาดาม คุณทำแบบนี้ไม่ได้ ผมไม่ได้ส่งใบแจ้งหนี้ไปให้คุณ คุณไม่มีใบเสร็จรับเงิน ประเทศผมไม่เหมือนประเทศคุณ ผมต้องติดคุกแน่ๆ ถ้ารับเงินนี้ไว้ สุดท้ายเขาเลยส่งช่างเทคนิคมาช่วยเราอีก 6 เดือนเป็นการตอบแทน” เธอกล่าวพลางหัวเราะ
ดูเหมือนว่า ‘ความกล้า’ นี่เองจะเป็นนิยามตัวตนที่ชัดเจนที่สุดของมาดามรถถัง ซึ่งในที่นี้ไม่ได้หมายถึงความกล้าแบบโผงผางหรือบ้าบิ่น แต่เป็นความเชื่อมั่นในสัญชาตญาณและทักษะเฉพาะตัวของเธอเอง เธอไม่กลัวที่จะถามคำถามที่คนมองว่าเธอน่าจะรู้คำตอบอยู่แล้ว และยังเล่าไปขำไปถึงตอนที่มีคนด่าเธอว่า “โง่” นพรัตน์ทำในสิ่งที่คนอื่นไม่กล้าแม้แต่จะฝัน มีอยู่ครั้งหนึ่ง เธอเดินเข้าไปในสถานทูตจีนที่กรุงเทพฯ เพื่อถามว่าประเทศจีนขายรถหุ้มเกราะ 369-Tatrapan ไปกี่คันแล้ว และขายให้กับประเทศใดบ้าง เธอเดินออกจากสถานทูตพร้อมข้อมูลวงในชิ้นสำคัญ และเป็นความกล้าอีกเช่นกัน ที่ครั้งหนึ่งเคยช่วยให้เธอรอดพ้นจากการสอบสวนของเอฟบีไอ
ระหว่างการไปเยือนสหรัฐอเมริกาของเธอ เอฟบีไอได้รับแจ้งว่ามีชาวไทยรายหนึ่งตระเวนไปตามค่ายทหารหลายแห่งทั่วประเทศในเวลาไล่เลี่ยกัน และที่น่าสงสัยคือ พวกเขาไม่พบประวัติว่าบุคคลสัญชาติไทยรายนี้เข้าพักที่โรงแรมใดเลยสักแห่งเดียว ข้อมูลเหล่านี้ทำให้ทางการเชื่อว่าเธอเป็นสายลับ โดยหารู้ไม่ว่านี่คือสไตล์การทำธุรกิจแบบมาดามรถถัง นพรัตน์ซื้อตั๋วเครื่องบินแบบไม่ระบุวันเดินทางเพื่อบินข้ามไปยังเมืองต่างๆ ในสหรัฐฯ เธอไม่ได้เข้าพักในโรงแรมเพราะต้องการประหยัดเวลาด้วยการกินนอนบนเครื่องบิน เรื่องราวเหลือเชื่อนี้มีหลักฐานยืนยันครบ จนเอฟบีไอต้องปล่อยตัวเธอไป
การเดินทางคนเดียวเป็นหัวใจที่ทำให้นพรัตน์สามารถเจรจาทางธุรกิจได้ลุล่วงกับกองทัพในต่างแดน โดยการเซ็นสัญญาธุรกิจที่เกิดขึ้นนั้น ส่วนใหญ่เป็นเพราะนพรัตน์รู้จักฉกฉวยประโยชน์จากข่าวลือหรือโอกาสทางธุรกิจที่เธอล่วงรู้ด้วยความบังเอิญ อย่างข้อมูลที่เธอได้รับจากสถานทูตจีน ซึ่งทำให้เธอตัดสินใจเดินทางไปยังบังคลาเทศ และใช้เสน่ห์ปลายจวักปิดดีลขายรถหุ้มเกราะ 20 คันได้สำเร็จ ที่นั่นเธอได้สอนวิธีทำกล้วยแขกให้กับภรรยาของนายทหารระดับสูง ในทีแรก เหล่านายทหารในกองทัพแสดงท่าทีเย็นชาต่อนพรัตน์ แต่ก็ยอมจำนนเมื่อถูกภรรยารบเร้าให้พานพรัตน์กลับมาสอนทำอาหารต่อ พวกเขาเริ่มถูกชะตากับนพรัตน์ และยอมตกลงซื้อสินค้าของเธอในที่สุด “ถ้าจะให้ได้ผล ฉันต้องไปคนเดียว ถ้าสามีหรือลูกชายไปด้วย เขาจะถามว่า ‘จะไปสอนภรรยาทหารทำกับข้าวทำไม ไม่ใช่เรื่องเลย’ สามีและลูกๆ เขาไม่ค่อยเข้าใจวิธีการของฉันเท่าไร ฉันเลยชอบไปติดต่อธุรกิจคนเดียวมากกว่า” เธอกล่าว
ดูเหมือนว่า ‘ความกล้า’ นี่เองจะเป็นนิยามตัวตนที่ชัดเจนที่สุดของมาดามรถถัง ซึ่งในที่นี้ไม่ได้หมายถึงความกล้าแบบโผงผางหรือบ้าบิ่น แต่เป็นความเชื่อมั่นในสัญชาตญาณและทักษะเฉพาะตัวของเธอเอง
เหตุการณ์การสั่งซื้อเศษเหล็กจำนวนมหาศาลจากรัฐอลาบามา น่าจะสะท้อนวิธีทำธุรกิจที่ไม่ธรรมดาของเธอได้ดีที่สุด หลังได้ทำสัญญาร่วมผลิตตีนตะขาบรถถังให้กองทัพบกสหรัฐฯ นพรัตน์ก็ได้รับเชิญให้ไปฟังรายละเอียดงานร่วมกับบริษัทข้ามชาติอื่นๆ ที่ฐานทัพแห่งหนึ่งในสหรัฐฯ เจ้าหน้าที่กองทัพบอกให้ผู้เข้าร่วมประชุมนำ “โน๊ตบุ๊ค” มาด้วย แต่นพรัตน์กลับมาพร้อมสมุดหนึ่งเล่มและปากกา ซึ่งสร้างความหงุดหงิดระคนประหลาดใจให้กับเจ้าหน้าที่กองทัพอย่างมาก พวกเขาต้องขอให้เธอจับคู่กับผู้เข้าประชุมรายอื่นๆ คนละหนึ่งชั่วโมง เพื่ออ่านบรีฟจากไฟล์งานบนคอมพิวเตอร์ของแต่ละคน “ทุกคนคิดว่าฉันโง่ ฉันบอกเขาว่า เครื่องแบบนี้ที่ประเทศฉันเรียกว่าคอมพิวเตอร์ ไม่ใช่โน๊ตบุ๊ค แต่มันเป็นโอกาสให้ฉันได้พูดคุยและทำความรู้จักกับทุกคนในห้อง” เธอกล่าว
ระหว่างที่สนทนากับเพื่อนใหม่ เธอก็ได้ทราบข่าวว่ากองทัพบกสหรัฐฯ กำลังจะเลิกผลิตรถหุ้มเกราะสองรุ่น ซึ่งเป็นรุ่นเดียวกับที่กองทัพไทยยังคงใช้งานอยู่ และจะนำอะไหล่สำรองออกขายในราคาถูก นพรัตน์เล็งเห็นโอกาสทอง เนื่องจากประเทศไทยไม่มีกำลังพอจะซื้อรถถังใหม่ได้อย่างสหรัฐฯ เธอจึงกว้านซื้ออะไหล่ทั้งหมดโดยไม่รู้ด้วยซ้ำว่าข้างในคอนเทนเนอร์มีอะไร เมื่อถึงคราวที่เธอต้องกรอกแบบฟอร์มศุลกากรเพื่อขนตู้คอนเทนเนอร์กลับเมืองไทย เธอจึงขอให้เจ้าหน้าที่อธิบายว่าสิ่งที่เธอซื้อมาคืออะไรบ้าง “พวกเขาพูดกันว่า มาดามนี่โง่จริงๆ ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเสียเงินซื้ออะไรไปบ้าง แต่มันไม่สำคัญว่าข้างในนั้นมีอะไร ฉันรู้ว่ากองทัพไทยต้องซ่อมรถถังที่ซื้อมาจากสหรัฐฯ เข้าสักวัน และของที่พวกเขาต้องการก็อยู่ในคอนเทนเนอร์พวกนี้แล้ว”
อะไหล่ที่ซื้อมานอนแช่อยู่ในตู้คอนเทนเนอร์เกือบสิบปี นพรัตน์ต้องทนฟังคำพูดค่อนแคะของสามี ลูกชาย และบรรดาหุ้นส่วนที่ว่าเธอ “เสียเงินซื้อขยะ” แถมยังต้องซื้อที่ดินเพิ่มเพื่อหาที่เก็บคอนเทนเนอร์ทั้งหมด เป็นระยะเวลาหลายปีที่คนรอบตัวเคลือบแคลงกับการตัดสินใจของเธอ แต่หลังผ่านไปสิบปี กองทัพบกไทยก็ติดต่อเข้ามาขอซื้ออะไหล่รถถังจริงๆ จนบริษัทชัยเสรีฯ สามารถทำกำไรเป็นสิบเท่าจากเศษเหล็กที่ซื้อมา ท้ายที่สุดแล้ว ประเทศอื่นๆ ที่ต้องการซ่อมรถถังรุ่นเดียวกันนี้ ก็เริ่มติดต่อเข้ามาเพราะได้ยินข่าวลือว่าหลายปีก่อน มีสุภาพสตรีชาวไทยกว้านซื้ออะไหล่ทั้งหมดไปจากกองทัพสหรัฐฯ “เราทำเงินได้เยอะมาก จนเราแจกอะไหล่บางส่วนไปเลยฟรีๆ” เธอกล่าว
ในอดีตที่ผ่านมา ความต้องการหาเลี้ยงครอบครัวนั้นเป็นแรงผลักดันสำคัญ ที่ทำให้เธอก้าวไปสู่ความสำเร็จ และในมุมมองของเธอ นั่นถือเป็นหน้าที่สูงสุดในฐานะลูกผู้หญิง ปัจจุบัน อนาคตของชัยเสรีฯ นั้นมั่นคงอยู่ในกำมือของลูกชายทั้งสองของนพรัตน์ เป้าหมายอีกประการของเธอในเวลานี้ จึงเป็นการช่วยสร้างชาติให้แข็งแกร่ง “ประเทศไทยจะแข็งแกร่งยิ่งขึ้นถ้าเราสามารถสร้างสิ่งต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง ไม่ใช่แค่กับรถถัง แต่เราพึ่งพาการนำเข้ามากเกินไปในทุกภาคส่วน เราต้องเรียนรู้ที่จะผลิตสินค้าของเราเอง นั่นคือสิ่งที่ฉันหวังจะได้เห็นในอนาคต”
เรื่องราวความสำเร็จของมาดามรถถังนั้นฟังดูเหลือเชื่อ จนถึงทุกวันนี้ ครอบครัวและหุ้นส่วนธุรกิจก็ยังไม่เข้าใจวิธีการทำงานของเธอนัก แต่ความกล้าหาญในลักษณะนี้เองที่สะท้อนถึงจิตวิญญาณของนักบุกเบิก ผู้ไม่หวั่นเกรงต่อการผจญภัยเพื่อออกค้นหาเส้นทางใหม่ๆ นพรัตน์เริ่มสัมผัสโลกธุรกิจเป็นครั้งแรกบนลานประมูลเศษเหล็กในย่านเซียงกง ก่อนจะก้าวมาก่อร่างสร้างอาณาจักรรถถังที่ชื่อชัยเสรีให้ก้าวไกลไประดับโลก วิธีการคิดและทำแบบนอกกรอบของเธอนั้น เป็นบทเรียนที่ไม่มีปรากฏอยู่ในตำราหรือหนังสือฮาวทูเล่มใด
แต่ล้วนเป็นสิ่งที่เธอเขียนขึ้นเองจากประสบการณ์หลายสิบปีในธุรกิจที่คนส่วนใหญ่มองว่าเป็นโลกที่สงวนไว้สำหรับผู้ชายเท่านั้น ■