HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

THINKING BIG


Soap Opera, Rinsed

ละครไทยสายเลือดใหม่กำลังดึงดูดความสนใจของผู้ชมด้วยรูปแบบการนำเสนอที่ไม่เคยปรากฏ

ภายในออฟฟิศซึ่งดัดแปลงจากบ้านเก่าของผู้ผลิตและจัดจำหน่ายภาพยนตร์ไทย GDH 559 หรือ ‘จีดีเอช’ นั้นไม่ผิดไปจากภาพสถานที่ทำงานของชาวครีเอทีฟในจินตนาการของคนส่วนมาก โต๊ะต้อนรับถูกออกแบบให้เหมือนเคาน์เตอร์จำหน่ายตั๋วภาพยนตร์ พนักงานที่นี่สวมเสื้อยืดกางเกงขาสั้นสบายตัว ขณะที่กำแพงนั้นมีโปสเตอร์หนังดังของค่ายแขวนอยู่ แม้หลายเรื่องถูกสร้างขึ้นในสมัยที่ค่ายยังเป็น GTH อาทิ ‘แฟนฉัน’ ‘รถไฟฟ้ามาหานะเธอ’ ตลอดจน ‘ฉลาดเกมส์โกง’ ซึ่งคว้ารางวัลสุพรรณหงส์ปี 2560 มาครองถึง 12 จาก 16 สาขา และล่าสุดได้ถูกฮอลลีวู้ดซื้อลิขสิทธิ์ไปผลิตใหม่ ตอกย้ำผู้มาเยือนถึงความสำเร็จของค่ายในฐานะผู้สร้างภาพยนตร์

แต่นอกจากความสำเร็จในอุตสาหกรรมภาพยนตร์แล้ว ค่ายจีดีเอชยังเป็นผู้จัดละครที่ได้รับเสียงตอบรับอย่างดีจากสังคมอีกด้วย ละครส่วนใหญ่ของค่ายนั้นได้รับการสร้างสรรค์โดยนาดาว บางกอก บริษัทในเครือจีดีเอชที่ก่อตั้งโดยผู้กำกับชื่อดัง ย้ง-ทรงยศ สุขมากอนันต์ ผลงานของค่ายนั้นรวมไปถึงละครรุ่นใหม่อย่าง ‘เลือดข้นคนจาง’ ‘ฮอร์โมน เดอะซีรีส์’ และ ‘โปรเจกต์เอส เดอะซีรีส์’ ซึ่งล้วนได้รับคำชมว่ามีชั้นเชิงการนำเสนอเหนือละครไทยยุคเก่า

เช่นเดียวกับผลงานละครจากผู้จัดอื่น อย่าง ‘วัยแสบสาแหรกขาด’ หรือ ‘กรงกรรม’ ละครกระแสใหม่เหล่านี้ได้ดึงดูดความสนใจของผู้ชมจำนวนมาก ด้วยเนื้อหาที่ไม่ได้วนเวียนอยู่กับเพียงเรื่องชิงรักหักสวาทหรือการแย่งมรดกที่ทำให้ละครไทยถูกมองว่า ‘น้ำเน่า’ หรือ ‘ซ้ำซาก’ อีกทั้งยังนำเสนอประเด็นซึ่งละครไทยเรื่องอื่นๆ มองข้าม อาทิ เพศสัมพันธ์ในวัยรุ่น อาการจิตเวช การแสดงออกทางเพศ ไปจนถึงภาวะเศรษฐกิจและสังคม เพื่อเติมมิติความสมจริงให้กับตัวละครหลัก ต่างจากละครระดับตำนานอย่าง ‘ดาวพระศุกร์’ หรือ ‘บ้านทรายทอง’ ที่พระเอกต้องหล่อเลิศ ฐานะดี ในขณะที่นางเอกต้องใสซื่อดุจแม่พระ “ผู้ชมส่วนใหญ่ยังคาดหวังว่าละครไทยต้องเข้าใจง่าย” กัน-ศุภฤกษ์ นิงสานนท์ หนึ่งในทีมผู้เขียนบทละครเลือดข้นคนจาง กล่าวถึงละครจอแก้วยอดนิยมหลายๆ เรื่อง “แต่ผู้ทำละครหลายๆ คนก็กำลังพยายามสอดแทรกอะไรใหม่ๆ ลงไปในละครรูปแบบเดิม และปรับรายละเอียดในเรื่องให้ดูร่วมสมัยมากขึ้น คอนเทนต์ออนไลน์ทำให้วงการละครไทยเปลี่ยนไปมาก”

‘เลือดข้นคนจาง’ ละครแนวสืบสวนสอบสวนซึ่งมีย้ง-ทรงยศนั่งแท่นผู้กำกับนั้นออกฉายไปเมื่อปีที่ผ่านมา ละครความยาว 18 ตอนนี้บอกเล่าเรื่องราวความร้าวฉานระหว่างสมาชิกครอบครัวชาวไทยเชื้อสายจีน 3 รุ่น หลังลูกชายคนโตและหัวเรือใหญ่ของธุรกิจครอบครัวถูกยิงเสียชีวิตในห้องนอน และความบาดหมางในอดีตที่ค่อยๆ ผุดขึ้นมาขณะที่สมาชิกครอบครัวแต่ละคนต่างพยายามสืบหาฆาตกรตัวจริงเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวเอง เลือดข้นคนจางเป็นละครไทยเพียงหยิบมือที่เล่าเรื่องในแบบฉบับซีรีส์สืบสวนสอบสวน และได้กลายเป็นกระแสไปทั่วโลกออนไลน์ โดยผู้ชมต่างคาดเดากันสารพัดว่าใครเป็นฆาตกรตัวจริง จนเกิดเป็นวลียอดฮิต “ใครฆ่าประเสริฐ” เพียงไม่กี่ปีก่อนหน้า ละครในลักษณะเดียวกับเลือดข้นคนจางอย่าง ฮอร์โมนส์ และ I Hate You, I Love You ที่ไม่ได้ดำเนินเรื่องตามพล็อตสำเร็จรูปของละครไทยนั้นแทบไม่มีปรากฏให้เห็น

นอกจากนั้น แม้ในอดีตผู้ผลิตละครเจ้าใหญ่จะเคยสร้างละครเกี่ยวกับครอบครัวไทยเชื้อสายจีนมานับครั้งไม่ถ้วน แต่เลือดข้นคนจางได้ปลุกกระแสของหมู่คนไทยเชื้อสายจีนเป็นประวัติการณ์ ด้วยการนำเสนอเรื่องราวชีวิตของชาวไทยเชื้อสายจีนในปัจจุบันอย่างสมจริงแทนที่จะเป็นเพียงแค่เรื่องราวพีเรียด เห็นได้จากลูกหลานชาวไทยเชื้อสายจีนที่ ‘อิน’ จนพากันโพสต์เรื่องราวของตัวเองลงบนโซเชียลมีเดีย พร้อมแฮชแท็กที่เชื่อมโยงกับละครดังกล่าว จนอาจกล่าวได้ว่าการเชื่อมละครให้แนบเนียนกับวิถีชีวิตปัจจุบันของคนดู คือหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้ความนิยมของละครเรื่องนี้พุ่งทะยาน

ละครกระแสใหม่เหล่านี้ได้ดึงดูดความสนใจของผู้ชมจำนวนมาก ด้วยเนื้อหาที่ไม่ได้วนเวียนอยู่กับเพียงเรื่องชิงรักหักสวาทหรือการแย่งมรดก

ขณะเดียวกัน นิธิภัทร์ เอื้อวัฒนสกุล ผู้จัดละคร ‘วัยแสบสาแหรกขาด’ ละครสะท้อนสังคมของสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ซึ่งออกฉายภาคแรกเมื่อปี 2559 และมีภาคต่อในปีนี้ ได้เลือกที่จะทิ้งสูตรสำเร็จของละครแบบเดิมๆ และตั้งเป้าหมายยิ่งใหญ่กว่าเรตติ้งอย่างการเปลี่ยนทัศนคติของคนในสังคมต่อเด็กมีปัญหาและภาวะบ้านแตกสาแหรกขาด โดยยกสิ่งที่เด็กเหล่านี้ต้องเผชิญในชีวิตประจำวันมาเป็นตัวดำเนินเรื่อง เขาให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ว่าละครเรื่องนี้สะท้อนปัญหา 5 ประเด็นผ่านตัวละคร 5 ตัว นับตั้งแต่ความพยายามไขว่คว้าความสมบูรณ์แบบในทุกด้านจนเกิดเป็นความกดดัน อาการโมโหร้ายในเด็ก โรคออทิสติก โรคติดเกม ไปจนถึงเรื่องความหลากหลายทางเพศ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เกิดการพูดคุยเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวในสังคมไทยมากขึ้น ซึ่งกระบวนการผลิตละครเรื่องนี้นั้นประกอบด้วยการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญในวงการแพทย์ นักวิชาการ และองค์กรวิจัย เพื่อให้ละครออกมาสมจริงที่สุด ถึงขั้นที่นิธิภัทร์เล่าว่าเขาได้รับเสียงวิจารณ์จากคนดูในภาคแรกว่าละครบางช่วงนั้นเครียดเกินไป กระนั้น ละครเรื่องดังกล่าวก็สามารถคว้ารางวัลโทรทัศน์ทองคำมาครองถึง 3 สาขาและมีเรตติ้งที่น่าพึงพอใจ นอกจากนี้แล้ว นิธิภัทร์และทีมงานยังได้รับจดหมายบอกเล่าประสบการณ์ส่วนตัวจากผู้ชมละคร แสดงให้เห็นว่าเจตนาตั้งต้นที่จะทำให้เกิดการพูดคุยเกี่ยวกับปัญหาเหล่านี้นั้นประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี

อย่างไรก็ดี ละครไทยรูปแบบเก่าที่ฉายอยู่บนสถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ ก็ยังได้รับความนิยมล้นหลาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ต่างจังหวัด จนเกิดการตั้งคำถามว่าทำไมละครไทยจึงแทบไม่เปลี่ยนแปลงเลยในช่วง 30-40 ปีที่ผ่านมา ทฤษฎีหนึ่งเชื่อว่าแฟนละครโทรทัศน์หลังข่าวในต่างจังหวัดนั้นมีวิถีชีวิตเรียบง่าย เรื่องราวความรักที่จบอย่างสมหวังและพระนางซึ่งมีบุคลิกไม่ซับซ้อนจึงเข้าใจง่ายและให้ความรู้สึกคุ้นเคยทุกครั้งที่ได้รับชม ในขณะที่อีกทฤษฎีหนึ่งบอกว่าละครไทยดั้งเดิมนั้น เน้นให้คนดูเกิดความสนุกจากอารมณ์ร่วม ในขณะที่ละครแนวใหม่ๆ เช่น แนวสืบสวนสอบสวน หรือละครการเมือง นั้นสร้างความสนุกจากการขบคิดตามเหตุผล ดังนั้น สำหรับชาวบ้านต่างจังหวัดที่การทำมาหากินก็กินแรงพอดูแล้ว เนื้อหาเหล่านี้จัดว่าหนักเกินกว่าจะดูให้สนุก

“ผู้ชมละครกลุ่มนี้แทบไม่เปลี่ยนไปจากเมื่อ 30 ปีก่อน ช่วงที่นวนิยายต้นฉบับละครส่วนใหญ่ได้รับการเขียนขึ้นเลย พอทำแล้วมันประสบความสำเร็จ เขาก็เลยผลิตซ้ำกันอยู่อย่างนั้น” ปิ๊ง-อดิสรณ์ ตรีสิริเกษม อธิบาย เขาคือผู้กำกับภาพยนตร์ ‘รถไฟฟ้ามาหานะเธอ’ และ ‘น้ำตากามเทพ’ ละครที่ยกเอาพล็อตเรื่องยอดนิยมของละครไทยมาถ่ายทอดในลักษณะเสียดสี “คนส่วนใหญ่ดูละครเพื่อผ่อนคลาย พวกเขาอยากได้อะไรที่เข้าใจง่าย ซึ่งละครก็ตอบโจทย์ตรงจุดนั้น”

แต่ถึงจะเปลี่ยนอย่างช้าๆ โลกของละครก็กำลังเปลี่ยน “เราใช้สูตรสำเร็จเดิมๆ ไม่ได้อีกแล้ว” ศุภฤกษ์กล่าว “เมื่อ 5 หรือ 6 ปีก่อน ละครแบบนี้ยังเรียกเรตติ้งได้ดีอยู่ แต่เดี๋ยวนี้การแข่งขันมันไม่ได้จำกัดอยู่แค่ละครในประเทศอีกต่อไป คนดูมีทางเลือกมากขึ้นและไม่ต้องการเสียเวลาดูสิ่งที่ไม่อยากดู” แม้กระทั่งละครเรื่องเก่าเล่าใหม่อย่าง ‘เมีย 2018’ ก็ได้เลือกที่จะหักมุมตอนจบให้ตัวละครหลักฝ่ายหญิงเลือกไปเริ่มต้นชีวิตใหม่แทนที่จะกลับไปหาสามีของเธอตามแบบฉบับละครดั้งเดิม

เดี๋ยวนี้การแข่งขันมันไม่ได้จำกัดอยู่แค่ละครในประเทศอีกต่อไป คนดูมีทางเลือกมากขึ้นและไม่ต้องการเสียเวลาดูสิ่งที่ไม่อยากดู

หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในแวดวงละครไทยคงหนีไม่พ้นระบบสตรีมมิ่งและแอปพลิเคชันต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Youtube, Netflix หรือ Line TV ซึ่งทำให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทุกคนสามารถเข้าถึงรายการทีวีต่างประเทศได้ การเปิดตัวของซีรีส์ Netflix Originals ซึ่งผลิตโดยเน็ตฟลิกซ์เองเมื่อปี 2555 ก็ได้สั่นสะเทือนธุรกิจเคเบิลทีวีทั่วโลก และได้นำกระแสให้ผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ทั่วโลกเปิดให้บริการระบบสตรีมมิ่งหรือช่องยูทูบของตัวเอง ทั้งหมดนี้ทำให้ผู้ชมไม่ต้องเสียเวลารอชมรายการโทรทัศน์ที่ตัวเองชอบหรือทนดูรายการที่พวกเขาไม่อยากดูอีกต่อไป ซีรีส์อเมริกันและเกาหลีที่มีให้เลือกหลากหลายบนแพลตฟอร์มเหล่านี้ดึงความสนใจจากผู้ชมชาวไทย โดยเฉพาะชาวกรุงจำนวนมาก รวมทั้งเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้กำกับละครไทยทดลองทำสิ่งใหม่ๆ เช่น นิธิภัทร์นั้นยอมรับว่าเขาไม่ดูละครไทยเลย และโปรดปรานซีรีส์อเมริกันอย่าง Criminal Minds, CSI, ER และ Grey’s Anatomy มากกว่า

กลุ่มผู้ชมที่เลิกรับเสพรายการโทรทัศน์แบบเดิมในช่วงปีที่ผ่านมาและหันไปใช้บริการแพล็ตฟอร์มและระบบสตรีมมิ่งต่างๆ นั้นโดยมากมีอายุต่ำกว่า 35 ปี 90% ของคนกลุ่มนี้รับชมคอนเทนต์ออนไลน์อย่างน้อยหนึ่งชั่วโมงต่อวัน และเสพเนื้อหาจากทั่วทุกมุมโลก พวกเขาจัดได้ว่าเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญของเหล่านักโฆษณา ส่งผลให้ผู้จัดละครต้องเร่งปรับเนื้อหาละครเพื่อรองรับรสนิยมที่กว้างขึ้นและเรียกผู้ชมกลับมา “คนส่วนใหญ่ชอบดูละครเพราะมันเข้าใจง่าย แต่พฤติกรรมคนดูกำลังเปลี่ยนไป” อดิสรณ์กล่าวเสริม “เราเห็นแล้วว่ามีกลุ่มผู้ชมที่อยากดูอะไรที่ต่างไปจากละครไทยแบบเดิมหลังจากที่ซีรีส์เกาหลีและแพล็ตฟอร์มอย่างเน็ตฟลิกซ์เป็นที่แพร่หลาย มันผลักดันให้ช่องต่างๆ และผู้จัดละครสร้างสรรค์เนื้อหาที่สดใหม่ขึ้น”

ซีรีส์เกาหลีได้ชิงฐานผู้ชมชาวไทยจำนวนมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จนทำให้เกิดกระแสการนำซีรีส์เหล่านี้มา ‘รีเมก’ ซีรีส์เกาหลียุคบุกเบิกอย่าง Full House ไปจนถึง My Girl และ Oh My Ghost นั้นได้ถูกนำมาสร้างใหม่โดยมีผู้กำกับและนักแสดงชาวไทย กระทั่งในปีนี้ ทีมผู้จัดละครผู้อยู่เบื้องหลัง ‘บุพเพสันนิวาส’ ละครย้อนยุคของสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ที่บอกเล่าเรื่องราวของหญิงสาวที่ย้อนเวลากลับไปยังสมัยกรุงศรี-อยุธยา และสอดแทรกเกร็ดประวัติศาสตร์และมุกตลกสมัยใหม่ไว้ตลอดเรื่อง จนทำให้ละครโด่งดังเป็นพลุแตกเมื่อปีที่ผ่านมานั้น ก็ได้ซื้อลิขสิทธิ์ซีรีส์เกาหลี My Love From The Star ที่ออกฉายในปี 2556 มาทำใหม่ โดยได้นักแสดงนำอย่างณเดชน์ คูกิมิยะ และแมท-ภีรณีย์ คงไทย มาประกบคู่พระนาง แม้ว่าเนื้อหาส่วนใหญ่ของละครเหล่านี้จะถูกปรับให้เข้ากับบริบทสังคมไทย แต่ทีมผู้จัดก็ยังคงพยายามรักษาคุณภาพการผลิตและอรรถรสอย่างในต้นฉบับเกาหลี ซึ่งเดี๋ยวนี้กลายเป็นเบนช์มาร์กของละครที่สนุกเอาไว้ไปแล้ว

ท่ามกลางกระแสการปรับเปลี่ยนในวงการละครนี้ สาวกของการนำละครมาทำซ้ำยืนยันว่า แม้จะฟังดูเหมือนของเก่า แต่แท้จริงการรีเมกละครคือการนำเรื่องเก่ามาเล่าใหม่ในบริบทที่เข้ากับยุคสมัย และนั่นคือสาเหตุที่ละครรีเมกมีเสน่ห์อมตะของความคุ้นเคยผสมผสานกับความแปลกใหม่ที่ทำให้คนดูติดงอมแงมอยู่เสมอ สังเกตได้จากกระทั่งฮอลลีวู้ดเองก็ยังใช้ข้ออ้างว่า “คนดูชอบเรื่องที่เขารู้จักอยู่แล้ว” กับการนำภาพยนตร์ดังในอดีตมารีเมกซ้ำแล้วซ้ำอีก

กระนั้น ในขณะที่สัจธรรมที่ว่า “คนดูชอบเรื่องที่เขารู้จักอยู่แล้ว” อาจจะยังไม่เปลี่ยนแปลงในเร็ววัน ด้วยเทคโนโลยีที่ทำให้ผู้ชมชาวไทยเสพสื่อหลากหลายจากทุกสารทิศ “เรื่องที่คนดูรู้จักดีอยู่แล้ว” กลับกำลังเปลี่ยนแปลงและทวีจำนวนอย่างไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งนั่นเองคือฟันเฟืองชิ้นใหญ่ที่หมุนเร็วขึ้นเรื่อยๆ ในโลกของละครไทยที่แลดูหยุดนิ่งมาเกือบ 30 ปี ดังที่ปรากฏแล้วในรายการโทรทัศน์ปัจจุบัน