SECTION
ABOUTTHINKING BIG
The Liberation Lab
ท่านพุทธทาสภิกขุกับกระบวนการทดลองเพื่อการตื่นรู้ที่ข้ามพ้นยุคสมัย
พระภิกษุที่มีชื่อเสียงที่สุดรูปหนึ่งของโลกนั้นมีกิจวัตรประจำวันที่ค่อนข้างแปลก
ตลอดระยะเวลาหลายเดือน ท่านพุทธทาสภิกขุนั้นปิดวาจา และง่วนอยู่กับการจดสิ่งต่างๆ ทั้งความคิด การกระทำ ความดี บาป และความฝันในคืนที่ผ่านมาลงในสุดบันทึกขนาดใหญ่ “ตอนเช้าเผลอง่วงจนเกือบหลับสนิท” บันทึกดังกล่าวลงวันที่ 27 กรกฎาคม 2477 และมีข้อความเกี่ยวกับความฝันในคืนก่อนสั้นๆ ด้วยว่า “มีอาการเป็นวรรณโรคอย่างแรง และทำลายสัจจะในการไม่พูดติดต่อกับผู้อื่น”
ภิกษุรูปนี้คือพระธรรมโกศาจารย์ หรือที่รู้จักกันในนามท่านพุทธทาสภิกขุ พระนักคิดและนักเขียนชื่อดังในศตวรรษที่ 20 คนจำนวนหนึ่งอาจมองว่า การหมดเวลาไปกับการเฝ้าสังเกตและบันทึกรายละเอียดยิบย่อยของชีวิตประจำวันนั้นฟังดูผิดสมณะวิสัย แต่กิจวัตรดังกล่าวก็มีที่มาที่ไปลึกซึ้งกว่านั้น
“ท่านชอบทำการทดลองและสังเกตตัวเอง” กิตติศักดิ์ รุ่งเรืองวัฒนชัย อธิบาย ปัจจุบันเขาดำรงตำแหน่งผู้จัดการหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ ที่ซึ่งสมุดบันทึกและข้อเขียนต่างๆ ของท่านพุทธทาส ถูกเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดีทั้งในฉบับจริงและรูปแบบดิจิทัล
การทดลองดังกล่าวเป็นได้ตั้งแต่ อาหารชนิดไหนรับประทานแล้วส่งผลต่ออารมณ์อย่างไร ไปจนถึงตัวแปรที่ทำให้เกิดสภาวะอารมณ์แบบต่างๆ ซึ่งเป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงกระบวนการคิดอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ของท่านพุทธทาส รวมทั้งความสนใจด้านโบราณคดี การถ่ายภาพ และการตั้งคำถามต่อคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างไม่ลดละ แม้จะเป็นเรื่องพื้นฐานที่สุดก็ตาม
ท่านพุทธทาสถึงแก่มรณภาพในปี 2536 หรือราว 2 ทศวรรษก่อนหน้า กระนั้น รูปแบบการเทศนาที่คมคายและการตีความพระไตรปิฎกแบบนอกกรอบของท่าน ก็ยังเป็นที่จดจำอย่างกว้างขวาง อย่างไรก็ดี นอกจากอัจฉริยภาพในข้างต้น ท่านพุทธทาสยังอุทิศชีวิตในการดึงเอาประโยชน์สูงสุดจากทั้งวิทยาศาสตร์และพุทธศาสนามาใช้ควบคู่กันด้วย “ท่านให้ความสำคัญกับสิ่งที่เราเห็นและสัมผัสได้” สุรพศ ทวีศักดิ์ กล่าว เขาคือนักวิชาการด้านพุทธศาสนา ผู้ซึ่งผลิตข้อเขียนมากมายเกี่ยวกับคำสอนของท่านพุทธทาสภิกขุ “ท่านไม่ได้พูดเรื่องชาติภพ หรือการกลับชาติมาเกิด”
พุทธทาสภิกขุนั้นเกิดเมื่อปี 2449 ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในครอบครัวพ่อค้าชาวจีน และมีชื่อเดิมว่า เงื่อม พานิช บิดาของท่านเป็นชาวจีนอพยพรุ่นที่สองจากฝูเจี้ยน ผู้ซึ่งเปิดร้านขายของชำอยู่ในอำเภอไชยา และมักมีเหล่าข้าราชการและคนทำงานแวะเวียนมาเป็นลูกค้าประจำ ทำให้ท่านพุทธทาสในวัยเด็กได้มีโอกาสฟังบทสนทนาและรับรู้ข่าวสารความเป็นไปทั้งในและต่างประเทศอยู่โดยตลอด
เมื่ออายุได้ 20 ปี ท่านพุทธทาสก็ตัดสินใจบวชเรียน และได้รับฉายาว่า ‘อินทปัญโญ’ อันหมายถึงผู้มีปัญญาอันยิ่งใหญ่ จนในที่สุด ท่านก็ตัดสินใจจะไม่ลาสิกขาตลอดชีวิต ส่วนฉายา ‘พุทธทาสภิกขุ’ ที่ท่านเลือกใช้ในภายหลังนั้น แปลได้ตรงตัวว่าผู้รับใช้ของพระพุทธเจ้า
แม้จะจบการศึกษาเพียงชั้นมัธยมปลาย แต่เมื่อเข้าสู่เพศบรรพชิตแล้ว ท่านพุทธทาสก็สามารถสอบไล่ได้เปรียญธรรมชั้นสูง และได้รับการยกย่องในฐานะพระภิกษุผู้มีความคิดสร้างสรรค์เปี่ยมด้วยไหวพริบปฏิภาณ ในสถาบันพุทธศาสนาซึ่งขนบธรรมเนียมและประเพณีนั้นหยั่งรากลึก
ท่านพุทธทาสมองเห็นความเชื่อมโยงระหว่างความเป็นสากลของวิทยาศาสตร์ และแนวคิดเรื่องอกาลิโกในพุทธศาสนา ที่ว่าแก่นแท้ของธรรมะสามารถปฏิบัติได้โดยทุกคน ทุกที่ และทุกยุคสมัย
ในช่วงที่ท่านพุทธทาสยังมีชีวิต ธรรมเนียมปฏิบัติกำหนดให้พระภิกษุเทศนาด้วยการอ่านบทบาลีจากพระไตรปิฎก แต่ท่านพุทธทาสไม่เห็นประโยชน์จากการอ่านถ้อยคำที่ไม่มีใครรู้ความหมาย จึงเลือกบอกเล่าเรื่องราวสอดแทรกเกร็ดประวัติศาสตร์ ให้ผู้ฟังเข้าใจถึงบริบทของคำสอนได้ดียิ่งขึ้นแทน สิ่งนี้สร้างความประหลาดใจอย่างยิ่งแก่เหล่าพุทธศาสนิกชนที่เดินทางมาฟังธรรมเทศนา “ท่านไม่เห็นด้วยกับวิธีปฏิบัติแบบเดิมก็จริง แต่ก็ไม่ได้ยกเลิกของเก่าออกไปทั้งหมด แค่ปรับเปลี่ยนรูปแบบและสอดแทรกสิ่งใหม่ๆ เข้าไป” กิตติศักดิ์เล่า
อีกตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความสนใจด้านวิทยาศาสตร์ของท่านพุทธทาส คือการนำเอาวิธีการทางโบราณคดีมาใช้กับพุทธศาสนา เป็นเวลานับพันปีที่เหล่าพุทธศาสนิกชนใช้ภาพสลักนูนต่ำถ่ายทอดเรื่องราวพุทธประวัติต่างๆ แต่ท่านพุทธทาสนั้นไม่พอใจกับงานศิลป์ที่สร้างขึ้นจากเพียงจินตนาการและคำบอกเล่าในตำราคร่ำครึ จึงเดินทางไปเยือนสถานที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิตของพระพุทธเจ้าด้วยตนเองถึงประเทศอินเดีย ที่นั่น ท่านพุทธทาสได้จดบันทึกและถ่ายภาพ พลางจินตนาการว่าสถานที่นั้นๆ มีหน้าตาเป็นเช่นไรเมื่อ 2,500 ปีก่อน อีกทั้งยังเขียนจดหมายไปถึงหอสมุดแห่งชาติอังกฤษ เพื่อขอรูปถ่ายเก่าของสถานที่ต่างๆ มาใช้ประกอบด้วย โดยท่านอธิบายถึงเหตุผลที่หันมาสนใจในเรื่องโบราณคดี ไว้ในบันทึกเล่มหนึ่งจากเอกสารจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เรื่องโบราณคดี ศรีวิชัย ว่า “ทำไมจึงอุตริเป็นนักโบราณคดี [สมัครเล่น]? เนื่องจากได้สังเกตเห็นวิธีการณ์ของนักวิชาการโบราณคดี เป็นการคิดซอกแซกละเอียดละออ ใช้เหตุผลถี่ยิบ เพื่อวางสมมติฐานและค้นหาอันติมมติ อาจนำมาใช้ในการคิดธรรมะให้แตกฉานได้”
นอกจากการทำความเข้าใจบริบททางประวัติศาสตร์แล้ว ท่านพุทธทาสยังเล็งเห็นประโยชน์ของเทคโนโลยีที่ปรากฏในสมัยนั้นอย่างโรงภาพยนตร์ และได้ตัดสินใจสร้าง ‘โรงมหรสพทางวิญญาณ’ ขึ้นภายในสวนโมกข์ที่อำเภอไชยา เพื่อฉายภาพยนตร์เกี่ยวกับคำสอนทางพุทธศาสนาและความรู้ทั่วไป รวมทั้งเปิดให้ใช้เป็นสาธารณประโยชน์แก่ชุมชน
จากคำบอกเล่าของสุรพศ ท่านพุทธทาสไม่ใช่นักคิดคนแรกที่เล็งเห็นความเชื่อมโยงระหว่างวิทยาศาสตร์และพุทธศาสนา แนวคิดดังกล่าวนั้นอย่างน้อยๆ ก็ปรากฏให้เห็นตั้งแต่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 (2437 – 2407) โดยพระองค์ทรงแสดงจุดยืนชัดว่าแนวคิดทางพุทธศาสนานั้นสอดคล้องกับหลักการทางวิทยาศาสตร์และมนุษยธรรม เพื่อทัดทานอิทธิพลจักรวรรดินิยมตะวันตกที่มองว่าอารยธรรมของตนนั้นเหนือกว่า
ท่านพุทธทาสได้นำเอากระบวนการคิดแบบเป็นวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้กับศาสนาเก่าแก่หลักพันปี จนก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์หนักหน่วง ในมุมมองของท่าน คำสอนของพระพุทธเจ้าที่สำคัญที่สุดคืออริยสัจ 4 ซึ่งพูดถึงการหาต้นเหตุแห่งทุกข์ และหนทางดับทุกข์ ไม่ใช่ความเชื่อเหนือธรรมชาติอย่างนรก สวรรค์ หรือภพชาติ นอกจากนี้ท่านยังต่อต้านความเชื่อด้านไสยศาสตร์ของชาวพุทธจำนวนมาก โดยท่านเคยกล่าวไว้ในระหว่างแสดงธรรมเทศนาครั้งหนึ่งว่า “ไสยศาสตร์เป็นศาสนาของคนปัญญาอ่อน” ขณะที่ในอีกบทสัมภาษณ์หนึ่ง ท่านเล่าว่าเคยรับสุนัขมาเลี้ยงและตั้งชื่อให้ว่า ‘สมพาล’ และบอกคนที่มาขอเลขเด็ดที่วัดว่าให้ไปปรึกษา ‘ท่านสมภาร’ แทน
วิทยาศาสตร์ทางจิต มันก็ต้องหมายถึงที่ประจักษ์แก่ความรู้สึก โดยไม่ต้องเชื่อตามผู้อื่น
“ท่านพุทธทาสมองเห็นความเชื่อมโยงระหว่างความเป็นสากลของวิทยาศาสตร์ และแนวคิดเรื่องอะกาลิโกในพุทธศาสนา ที่ว่าแก่นแท้ของธรรมะสามารถปฏิบัติได้โดยทุกคน ทุกที่ และทุกยุคสมัย” กิตติศักดิ์อธิบาย
ท่านพุทธทาสภิกขุยังนำกระบวนการคิดอย่างวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้ แม้กระทั่งกับการถ่ายภาพ ท่านหัดถ่ายภาพเพื่อเรียนรู้แนวคิดเรื่องการลองผิดลองถูก (trial and error) โดยมักทดลองถ่ายวัตถุชิ้นเดียวกันครั้งละหลายสิบภาพ ภายใต้ตัวแปรที่ต่างกัน เช่น ช่วงเวลา ความเร็วชัตเตอร์ ชนิดฟิล์มที่ใช้ และมุมกล้อง พร้อมทั้งบันทึกผลลัพธ์ที่คาดหวังและผลลัพธ์จริงที่ได้จากการทดลอง
นอกจากนั้น พุทธทาสภิกขุในวัย 28 ปี ยังจดบันทึกรายวันขณะฝึกฝนตนอย่างเข้มข้น โดยสมุดบันทึกดังกล่าวนั้นเป็นที่รู้จักในชื่อ ‘อนุทินปฏิบัติธรรม’ ซึ่งท่านกล่าวว่าเป็นการศึกษาชีวิตอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ บันทึกของแต่ละวันในอนุทินปฏิบัติธรรมนั้น ประกอบด้วยรายการสิ่งที่ต้องทำ และแบบประเมินคล้ายกับที่แพทย์ใช้ซักประวัติผู้ป่วย ซึ่งแสดงรายละเอียดกิจวัตรประจำวันต่างๆ ของท่านพุทธทาส ความคิดอกุศลที่เกิดขึ้นในจิตใจ อารมณ์โกรธหรือพยาบาท ความฝัน คุณภาพการนอนหลับ สุขภาพอนามัยส่วนตัว ไปจนถึงสิ่งที่ต้องทำในวันถัดไป พร้อมทั้งมีช่องให้คะแนนตนเองในส่วนต่างๆ ด้วย
จากแบบประเมิน บางวันท่านพุทธทาสก็ทำได้สมบูรณ์แบบ (“ปราศจากอกุสลวิตก”) ขณะที่บางวันท่านก็ทำได้ไม่ค่อยดีนัก (“ราคะและโทสะปรากฏเล็กน้อย”) โดยท่านจะย้ำเตือนตนเองให้ทดลองวิธีการใหม่ๆ เมื่อไม่สามารถเจริญกรรมฐานโดยปราศจากสิ่งรบกวน หรือใช้ชีวิตจนจบหนึ่งวันโดยปราศจากความคิดอกุศลได้ “ข้อสำคัญของการเจริญกัมมัฏฐาน อยู่ที่การพยายาม อย่าเบื่อหน่าย เมื่อไม่สำเร็จ พยายามปลอบใจตัวเองให้ทดลองซ้ำแล้วซ้ำอีก เป็นการ ‘ลองอีกที’ ให้มากที่สุด ก็จะสำเร็จ หรือพบวิธีแก้ไขเองได้อย่างถูกต้อง เป็นผลดีถึงที่สุด” ท่านพุทธทาสเขียนไว้ในหน้าหนึ่งของบันทึกซึ่งถูกรวบรวมไว้ในหนังสืออนุทินปฏิบัติธรรม
นอกจากนี้ ในบันทึกยังมีที่ว่างซึ่งท่านพุทธทาสใช้จดสิ่งที่สังเกตเห็น ทั้งเกี่ยวกับตัวท่านเองและโลกรอบๆ ตัวในแต่ละวัน โดยในช่วงตอนหนึ่ง ท่านสงสัยว่าการงดฉันเนื้อสัตว์จะส่งผลอย่างไรต่อร่างกาย ซึ่งหลังจากทำการทดลองไปเพียงไม่กี่วันก็พบว่า การฉันแต่ผักสดและผลไม้อย่างกล้วยและมันแกว ทำให้สุขภาพของท่านดีขึ้นอย่างมาก แม้จะต้องต่อสู้กับความหิวโหยในช่วงแรก “มันเป็นกิจวัตรที่ท่านออกแบบขึ้นเพื่อให้ตัวเองได้จดจ่ออยู่กับความคิด ท่านมักเน้นย้ำความสำคัญของการตระหนักรู้ในตนเอง” กิตติศักดิ์อธิบาย
เมื่ออ่านบันทึกหน้าแล้วหน้าเล่าในอนุทินปฏิบัติธรรม เราก็จะเข้าใจความหมายของประโยคที่ท่านเขียนไว้ในหนังสือ ‘เหนือวิทยาศาสตร์ : ศึกษาพุทธศาสนาอย่างวิทยาศาสตร์’ ว่า “พุทธศาสนาเป็นวิทยาศาสตร์ทางจิต” ได้กระจ่างยิ่งขึ้น เนื่องด้วยแก่นของพุทธศาสนาและวิทยาศาสตร์นั้น มีความคล้ายคลึงกัน คือเป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถสัมผัสรับรู้ พินิจพิจารณา และสังเกตได้ด้วยตัวเอง โดยท่านพุทธทาสได้อธิบายไว้ว่า “วิทยาศาสตร์ในที่นี้ก็หมายถึงเรื่องที่มันประจักษ์แก่ใจ, วิทยาศาสตร์ทางวัตถุมันก็ประจักษ์แก่เครื่องทดลองทางวัตถุ นี่วิทยาศาสตร์ทางจิต มันก็ต้องหมายถึงที่ประจักษ์แก่ความรู้สึก โดยไม่ต้องเชื่อตามผู้อื่น”
สุรพศยังเปรียบเทียบท่านพุทธทาสภิกขุกับซิกมันด์ ฟรอย นักจิตวิทยาและบิดาแห่งทฤษฎีจิตวิเคราะห์ ซึ่งเป็นทฤษฎีที่เน้นการตั้งคำถามและมองหาที่มา แม้จะมีแรงจูงใจและวิธีการที่ต่างกัน นักคิดทั้งสองก็มีเป้าหมายร่วมกัน คือการหาว่าอัตตาและจิตใต้สำนึกนั้นส่งอิทธิพลต่อความคิดและการกระทำของเราในลักษณะใดบ้าง แต่ความเหมือนระหว่างพุทธศาสนาและวิทยาศาสตร์อาจหยุดอยู่แค่นั้น ตามคำกล่าวของสุรพศ “มันคือนิยามที่ท่านอาจารย์ให้ไว้ ท่านกล่าวว่าวิทยาศาสตร์คือสิ่งที่สามารถปฏิบัติและพิสูจน์ได้จริง แต่การไปถึงสภาวะนิพพานนั้นเป็นประสบการณ์เฉพาะบุคคล ไม่ใช่ปรากฏการณ์ที่ใครก็สามารถพิสูจน์ได้” เขาอธิบาย ก่อนจะเสริมว่า “วิทยาศาสตร์คือการพิสูจน์ข้อเท็จจริง อย่างเรื่องมวลสารหรือพลังงาน ขณะที่การค้นพบในพุทธศาสนานั้นเป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับเฉพาะบุคคล”
น่าคิดว่าท่านพุทธทาสภิกขุจะมีความคิดเห็นอย่างไร ต่อการเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดดทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในโลกปัจจุบัน หรือกระทั่งประเด็นเรื่องปัญญาประดิษฐ์ ภาวะโลกร้อน พันธุวิศวกรรม และโซเชียลมีเดีย ท่านจะใช้เฟสบุ๊คหรือทวิตเตอร์เพื่อเผยแผ่แนวคิดของท่านไปในวงกว้าง แบบที่ท่านทำกับโรงมหรสพทางวิญญาณ หรือมองว่าเครื่องมือดังกล่าวเป็นสิ่งที่ทำให้จิตใจเราไขว้เขว เมื่อตั้งคำถามนี้กับกิตติศักดิ์ เขาก็หยิบปฎิทินเก่าปึกหนึ่งออกมาจากตู้ในห้องจดหมายเหตุ ซึ่งท่านพุทธทาสภิกขุใช้หน้าว่างจดบันทึกประจำวันและความคิดต่างๆ ลงไป เขาพลิกไปที่วันที่ 23 พฤษภาคม 2536 อันเป็นบันทึกสุดท้ายที่ท่านพุทธทาสเขียนขึ้นเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์เพียง 4 วันก่อนละสังขาร “คอมปิวเต้อร์คือยักษ์หลับแห่งยุคปรมาณู เมื่อไรคอมปิวเต้อร์จะสร้างสันติภาพ ยิ่งมีคอมปิวเตอร์ ยิ่งเป็นโลกหลับแห่งยุค” ข้อความนั้นเขียนด้วยลายมือหวัด อันเป็นผลจากอาการโรคหลอดเลือดในสมองที่กำเริบขึ้นบ่อยครั้งในช่วงบั้นปลายชีวิตของท่านพุทธทาส โดยท่านปิดท้ายบันทึกดังกล่าวไว้ด้วยประโยคที่ว่า “ยิ่งคอมปิวเตอร์ ยิ่งไม่โพชฌงค์” อันเป็นภาษาบาลีที่มีความหมายว่า ‘การรู้ตื่น’
กิตติศักดิ์กล่าวว่าสิ่งที่ท่านพุทธทาสเขียนเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์นั้น บ่อยครั้งกลายเป็นประเด็นถกเถียง และถูกใช้เป็นหลักฐานบ่งชี้ว่าท่านพุทธทาสกลายเป็นพวกต่อต้านเทคโนโลยีในช่วงบั้นปลายชีวิต แต่ความจริงอาจมีนัยลึกซึ้งกว่านั้น หัวหน้าหอจดหมายเหตุผู้ซึ่งคลุกคลีอยู่กับงานของท่านพุทธทาสรายนี้ เชื่อว่าในมุมมองของท่านพุทธทาส คอมพิวเตอร์ทำให้ชีวิตของเราสะดวกสบายขึ้นก็จริง แต่ก็ทำให้คนรู้จักพึ่งพาตัวเองน้อยลง “ก่อนจะมีคอมพิวเตอร์ใช้ เราต้องสะกดคำเอง ต้องจำเบอร์โทรศัพท์ของคนใกล้ชิด ต้องมีสติอยู่เสมอ แต่ตอนนี้เรามีคอมพิวเตอร์แล้ว ความผิดพลาดอะไรก็ตามที่เกิดขึ้นสามารถแก้ไขได้ทันที เราไม่ต้องใช้สติกันต่อไปแล้ว”
ในความเห็นของกิตติศักดิ์ หากท่านพุทธทาสภิกขุยังมีชีวิตจวบจนปัจจุบัน ท่านจะยังคงเดินหน้าค้นหาหนทางใหม่ๆ ในการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อให้มนุษย์เข้าใจแนวคิดทางพุทธศาสนาได้ดียิ่งขึ้น และปิดกั้นแต่สิ่งที่ไม่ดีเท่านั้น “ท่านเข้าใจดีว่าโลกที่ท่านอาศัยอยู่เป็นโลกแห่งวิทยาศาสตร์”
สุรพศเองก็มีมุมมองคล้ายๆ กัน คือท่านพุทธทาสน่าจะเปิดรับเทคโนโลยีในยุคปัจจุบันด้วยท่าทีระแวดระวัง “ท่านไม่น่าจะสนับสนุนเทคโนโลยีที่ส่งเสริมให้คนทำบาปหรือเพิ่มอัตตา แต่มองวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือชิ้นหนึ่งมากกว่า” เขากล่าว
ในโลกที่ความคิดเห็นในสารพัดประเด็นแตกออกเป็นหลายขั้ว และมนุษย์นั้นวนเวียนอยู่กับการใช้โซเชียลมีเดียจนเกินพอดี การค้นหาทางสายกลางและศึกษาตนเองอย่างจริงจังแบบท่านพุทธทาส อาจเป็นวิธีคิดและปฏิบัติที่สอดคล้องกับยุคสมัยที่สุดก็เป็นได้ ■