SECTION
ABOUTTHINKING BIG
Sculpting Identities
‘ศูนย์ประติมากรรมกรุงเทพ’ ของเสริมคุณ คุณาวงศ์ กับภารกิจเพื่อวงการประติมากรรมไทย
รูปปั้นน้องหมามีรูพรุนทั้งตัวและเด็กน้อย 3 ตา ในชุดมาสค็อตกระต่ายที่ตั้งตระหง่านอยู่บนสนามหญ้าดูเหมือนจะทำหน้าที่พนักงานต้อนรับได้อย่างน่ารักน่าเอ็นดู สำหรับ ‘ศูนย์ประติมากรรมกรุงเทพ’ องค์กรส่งเสริมด้านศิลปะของเอกชนที่ไม่หวังผลประโยชน์ทางการเงินซึ่งรวบรวมผลงานประติมากรรมไทยตั้งแต่สมัยโบราณถึงปัจจุบันกว่า 200 ชิ้น และอาจจะถือว่าเป็นคลังประติมากรรมไทยใหญ่ที่สุดในประเทศ
สุนัขเซรามิกมีรูพรุนเต็มตัวที่เห็นนั้นมีชื่อว่า ‘ไอ้จุด’ เป็นผลงานของศิลปินร่วมสมัยชื่อดัง วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์ ส่วนน้อง ‘มาร์ดี’ เด็กน้อยสามตาหน้าตาบูดบึ้งในชุดมาสค็อตกระต่ายคือผลงานสร้างชื่อระดับโลกของ พัชรพล แตงรื่น หรือที่รู้จักกันในนาม Alex Face ทั้งสองผลงานถือเป็นแลนด์มาร์กสำคัญที่ผู้มาเยือนศูนย์ศิลปกรรมกรุงเทพ ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน นักศึกษา นักธุรกิจ หรือผู้ที่ชอบเสพงานศิลป์ต้องทำความรู้จักก่อนเข้าชมผลงานอื่น โดยถือเป็นงานที่สะท้อนถึงวิวัฒนาการอันรวดเร็วในระยะที่ผ่านมาของงานประติมากรรมในไทย เช่น ‘ไอ้จุด’ ที่ได้ถูกนำไปจัดแสดงมาแล้วอย่างกว้างขวางทั่วประเทศ ในฐานะงานศิลป์ที่ประกาศชัยชนะของ ‘ฟอร์ม’ เหนือ ‘ฟังก์ชัน’
วศินบุรี เจ้าของผลงาน ‘ไอ้จุด’ เคยให้สัมภาษณ์ในหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์เกี่ยวกับผลงานชิ้นนี้ว่า “ก่อนหน้านี้ มีคนบอกว่าผลงานของผมเป็นเพียงภาชนะอย่างหนึ่ง คือเป็นงานฝีมือไม่ใช่งานศิลปะ ผมจึงตัดสินใจเติมรูเข้าไปให้ทั่วเพื่อลบการใช้งานออกไป”
ขณะที่ผู้ให้กำเนิดน้อง ‘มาร์ดี’ หรือที่บางครั้งเรียกว่า ‘กระต่าย 3 ตา’ ตัวการ์ตูนน่ารักน่าเอ็นดูที่ทำหน้าที่สื่อสะท้อนปัญหาสังคมในพื้นที่แสดงสตรีทอาร์ตทั่วประเทศเล่าว่า “หน้าตาของ มาร์ดี ได้แรงบันดาลใจมาจากลูกสาวผมเอง ผมอยากให้คนทั่วไปหันมาถามตัวเองว่าทำไมเด็กๆ ถึงกำลังหงุดหงิดเพื่อจุดประกายไปถึงประเด็นทางสังคมต่างๆ ที่รายล้อมตัวเด็กอยู่ ผมเลือกที่จะใช้ชุดกระต่ายเพราะผมคิดว่าเด็กเล็กๆ คือเหยื่อเสมอ”
ผลงานทั้งสองชิ้นถือเป็นความสำเร็จในการก้าวข้ามกรอบของศิลปะไทยประเพณีมาสู่การเป็นไอคอนที่คนร่วมสมัยเชื่อมโยงได้ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการเติบโตของงานประติมากรรมตลอดจนสังคมไทยอย่างชัดเจน
ภายในศูนย์ฯ มีการจัดแสดงงานพุทธศิลป์ที่ย้อนไปถึงเมื่อพันปีก่อนตั้งแต่วัตถุโบราณสำริดในสมัยทวารวดี พระพุทธรูปศิลปะบายนจากสมัยลพบุรีและพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยที่ได้ชื่อว่าเป็นต้นแบบของศิลปะไทยแท้ที่แยกตัวออกจากวัฒนธรรมขอมอย่างชัดเจน โดยสังเกตได้จากลักษณะเด่น คือ พระพักตร์รูปไข่ พระขนงโค้ง พระนาสิกเรียวบาง และพระเนตรเปี่ยมไว้ซึ่งความเมตตาอย่างลึกซึ้ง ที่นี่จึงถือเป็นขุมทรัพย์ของประติมากรรมยุคโบราณอันทรงคุณค่าที่ควรค่าแก่การไปเยี่ยมชม อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงส่วนเสี้ยวเดียวของจำนวนชิ้นงานในศูนย์ หรือแม้กระทั่งสิ่งที่ศูนย์ประติมากรรมกรุงเทพกำลังทำเพื่อศิลปินและวงการประติมากรรมไทย
ผลงานทั้งสองชิ้นถือเป็นความสําเร็จในการก้าวข้ามกรอบของศิลปะไทยประเพณีมาสู่การเป็นไอคอนที่คนร่วมสมัยเชื่อมโยงได้
เมื่อก้าวเข้าสู่อาคารกลางของศูนย์ฯ จะพบกับผลงานประติมากรรมโดยศิลปินระดับครูตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา เช่น ชิต เหรียญประชา ศิลปินแห่งชาติ และ เขียน ยิ้มศิริ ซึ่งเคยเป็นลูกศิษย์ของ อ.ศิลป์ พีระศรี บิดาแห่งศิลปะร่วมสมัยของไทยและผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร งานไม้แกะสลักจากฝีมือ อินสนธิ์ วงศ์สาม ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ชาวลำพูนผู้สร้างตำนานด้วยการผจญภัยขี่สกูตเตอร์ลุยเดี่ยวไปถึงอิตาลี และสร้างผลงานในชีวิตมาแล้วกว่า 20,000 ชิ้น นอกจากนั้น ยังมีงานประติมากรรมแนวโมเดิร์นที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะตะวันตก อย่าง ‘Artist’s Colours’ ของ กมล ทัศนาญชลี ศิลปินแห่งชาติ หรือ ‘คชา’ ช้างแกะสลักไม้ขนาดมหึมาที่เป็นคอนเซปชวลอาร์ตจากฝีมือคำอ้าย เดชดวงตา ปรมาจารย์ด้านการแกะสลักไม้
ไม่น่าเชื่อว่าจะมีสถานที่รวบรวมความงดงามของศิลป์อันเป็นเลิศซ่อนตัวอยู่อย่างเงียบเชียบในซอยนวลจันทร์ไม่ไกลจากความวุ่นวายของการจราจรบนถนนลาดพร้าว
“แนวคิดหลักของที่นี่คือการรวบรวมงานประติมากรรมไทยตั้งแต่สมัยทวารวดีเมื่อราวพันปีก่อนเรื่อยมาจนถึงปัจุบัน” เสริมคุณ คุณาวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารแห่ง ซีเอ็มโอกรุ๊ป และผู้ก่อตั้งศูนย์ประติมากรรมกรุงเทพกล่าวถึงที่มาของขุมทรัพย์ทางความคิดสร้างสรรค์และงานศิลป์แห่งนี้
การทำงานของ เสริมคุณ ตลอดเวลาที่ผ่านมา ควรค่าแก่การเรียกขานว่าเป็น ‘ผู้สื่อสารงานศิลปะไทย’ มากกว่าผู้ก่อตั้งศูนย์ฯ เขาเริ่มต้นเส้นทางอาชีพศิลปินในฐานะนักถ่ายภาพอิสระและมีผลงานการแสดงนิทรรศการภาพถ่ายมานับไม่ถ้วน นับตั้งแต่ก่อตั้ง ซีเอ็มโอกรุ๊ป ในปี 2529 เขาถือเป็นผู้บุกเบิกในการนำการบริหารจัดการศิลปะมาผนวกไว้ในธุรกิจการจัดอีเว้นท์และเป็นผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของนิทรรศการศิลปะครั้งใหญ่มากมาย เช่น นิทรรศการหมุนเวียน ‘Passion of Thai Modern Art’ ที่รวบรวมงานประติมากรรมจำนวน 127 ชิ้น มาจัดแสดง ณ สยามพารากอนในปี 2551
เสริมคุณ ก่อตั้งศูนย์ประติมากรรมกรุงเทพขึ้นในปี 2547 ในพื้นที่ Creative Playground ของ ซีเอ็มโอ ความหลงใหลส่วนตัวในงานศิลปะจุดประกายให้เขาคิดจะทำความดีเพื่อสังคมไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งให้กับวงการศิลปะไทย โดยเขาอุทิศที่ดินจำนวน 4 ไร่ ซึ่งเป็นสมบัติส่วนตัวของครอบครัวให้เป็นที่ตั้งของศูนย์ประติมากรรมกรุงเทพ ตัวอาคารได้รับการออกแบบให้มีลักษณะคล้ายโรงเก็บเครื่องบินโดยมีพื้นที่จัดแสดงรวม 4,000 ตารางเมตร เสริมคุณ เชื่อว่าการเปิดโอกาสให้สาธารณชนได้ชื่นชมผลงานประติมากรรมที่เขาเพียรพยายามสรรหามานี้จะทำให้คนไทยเห็นว่าประติมากรชาวไทยสามารถสร้างสรรค์สุดยอดผลงานได้ไม่แพ้ชาติใดในโลก
ประติมากรรมไทยสมัยใหม่เริ่มสร้างอัตลักษณ์เฉพาะตัวอย่างชัดเจน จากประติมากรรมแบบประเพณีที่มักเป็นรูปปั้นเทพปกรณัมหรือรูปปั้นเหมือนจริงของบุคคลชนชั้นสูง กลายมาเป็นการนําเสนอภาพชีวิตของสามัญชน
ศูนย์ประติมากรรมกรุงเทพจึงเป็นทั้งพิพิธภัณฑ์และศูนย์การเรียนรู้ด้านประติมากรรมในเวลาเดียวกันซึ่งเปิดต้อนรับนักเรียนักศึกษาจากทั่วประเทศที่จะเข้ามาหาแรงบันดาลใจจากผลงานของศิลปินระดับปรมาจารย์อย่างอาจารย์ศิลป์ พีระศรีและเหล่าลูกศิษย์ของท่านหลายคนที่กลายเป็นศิลปินของชาติ ทั้งยังเป็นแหล่งศึกษาประวัติศาสตร์ศิลปะไทยผ่านการได้เห็นความเปลี่ยนแปลงอันละเอียดอ่อนจากชิ้นงานสู่ชิ้นงานของศิลปินในแต่ละยุคอีกด้วย
เป็นไปได้ว่าความเปลี่ยนแปลงนี้สังเกตได้ชัดที่สุดในงานของเขียน ยิ้มศิริ ลูกศิษย์ของ อาจารย์ศิลป์ พีระศรี และศิลปินผู้บุกเบิกการสร้างงานแนวสัจนิยม (Realism) ของไทยระหว่างปี 2490 ถึง 2499 ซึ่งเป็นช่วงที่งานประติมากรรมไทยสมัยใหม่เริ่มสร้างอัตลักษณ์เฉพาะตัวอย่างชัดเจน จากประติมากรรมแบบประเพณีที่มักเป็นรูปปั้นเทพปกรณัมหรือรูปปั้นเหมือนจริงของบุคคลชนชั้นสูงกลายมาเป็นการนำเสนอภาพชีวิตของสามัญชนตั้งแต่นักดนตรี นักเต้น เด็ก ฯลฯ แต่ในขณะเดียวยังคงได้รับอิทธิพลจากศิลปะสมัยสุโขทัย โดยผสมผสานให้เข้ากับรูปฟอร์มแบบตะวันตก
อย่างที่ทราบกัน ผลงานโดดเด่นของเขียน ยิ้มศิริ ชื่อว่า ‘เสียงขลุ่ยทิพย์’ (MusicalRhythm) สร้างขึ้นในปี 2492 เป็นประติมากรรมสำริดนักดนตรีกำลังนั่งเป่าขลุ่ย เส้นสายอ่อนช้อยที่ใช้ในตัวงานชวนให้นึกถึงพระพุทธรูปปางลีลาศิลปะสุโขทัยผสานกับความเรียบง่ายอันเป็นเอกลักษณ์ของศิลป์จากอีกซีกโลก
อีกหนึ่งไฮไลต์ของงานประติมากรรมในศูนย์ฯ คือ ‘รำมะนา’ ของ ชิต เหรียญประชา จากปี 2493 โดย ที่ถือเป็นงานที่มีอิทธิพลต่อการสร้างงานของประติมากรชาวไทยรุ่นต่อมาอย่างมาก ไม้มะฮอกกานีถูกนำมาแกะขึ้นรูปเป็นชายนักดนตรีที่กำลังนั่งตีกลองรำมะนาโดยนำเส้นสายโค้งมนของกลองรำมะนามากำหนดรูปฟอร์มโดยรวม สีหน้าของนักดนตรีฉายชัดถึงความสุขของการเล่นดนตรีราวกับมีชีวิต “ตอนทำงานชิ้นนี้ ผมไม่ได้เขียนร่างก่อน ผมสร้างมันออกมาเลยจากความรู้สึกและจินตนาการขณะทำงาน” ศิลปินท่านนี้ได้กล่าวไว้
ในลักษณะแทบไม่ต่างกัน ไม่กี่ชั่วคนถัดมา ศิลปินรุ่นใหม่ชื่อดังอย่าง วศินบุรี พัชรพล ศิลปินร่วมสมัย และ โลเล-ทวีศักดิ์ ศรีทองดี ศิลปิน-นักวาดภาพประกอบ ต่างก็ได้ทลายกรอบของรูปแบบเดิมที่ใช้กันมาหลายทศวรรษ และได้สร้างเอกลักษณ์ใหม่ผ่านอารมณ์และจินตนาการภายในตนผนวกกับสิ่งที่เห็นรอบตัว
ผลงานเหล่านี้พบเห็นได้ในพื้นที่ทุกตารางเมตรของศูนย์ประติมากรรมกรุงเทพที่ถูกใช้อย่างเต็มประสิทธิภาพไม่ว่าจะเป็นโถงทางเดิน หน้าลิฟท์ และโกดังเก็บของ ผลงานต่างสไตล์ ต่างแนวคิด ที่เรียงรายกันทั่วพื้นที่เชื้อเชิญให้ผู้ชมเพลิดเพลินกับการท่องโลกแห่งจินตนาการของศิลปินอย่างไร้รูปแบบเริ่มจากประติมากรรมปูนปลาสเตอร์ชื่อ ‘แม่ลูก’ (2526) ของ เข็มรัตน์ กองสุข ที่นำเสนอความสัมพันธ์ของแม่ลูกผ่านรูปทรงนามธรรมประกอบด้วยโครงสร้างชั้นนอกห่อหุ้มองค์ประกอบด้านในที่เปรียบเสมือนการปกป้องลูกอันเป็นดวงใจของแม่ มาจนถึงผลงานของศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ วิชัย สิทธิรัตน์ ชื่อ ‘Stop’ ประติมากรรมโลหะที่ได้แรงบันดาลใจจากพระพุทธรูปปางห้ามญาติสมัยอยุธยา สื่อความหมายถึงการร้องขอให้หยุดการเบียดเบียนและการทำลายผู้อื่นรวมทั้งสะท้อนถึงมรดกทางศิลปะและจิตวิญญาณความเป็นไทยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาที่ยังคงอยู่แม้จะเหลือเพียงซากปรักหักพัง
นอกจากงานศิลปะโบราณไม่กี่สิบชิ้น ผลงานส่วนใหญ่ของที่นี่เป็นประติมากรรมสมัยใหม่ตั้งแต่ปี 2513 เป็นต้นมาด้วยโดยส่วนใหญ่เป็นสื่อผสมทำจากวัสดุหลากชนิด เช่น ดิน สำริด ไม้ หิน และอื่นๆ จะเห็นได้ชัดว่าเนื้อหาของการสื่อสารนั้นร่วมสมัยมากขึ้นแต่ยังคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของศิลปะไทย ผลงานที่โดดเด่นในยุคนี้คงเป็น ‘รูปคนในภูมิทัศน์’ ของ มานพ สุวรรณปินฑะ ที่สร้างขึ้นเมื่อปี 2543 เป็นงานหล่อสัมฤทธิ์รูปคน 2 คนมีใบหน้าและช่วงตัวเป็นบานพับเปิดปิดได้ โดยศิลปินได้แรงบันดาลใจจากหลักคำสอนในพุทธศาสนาและตั้งใจเสียดสีความละโมบและการขาดความเห็นใจในสังคมทุกวันนี้ นอกจากนั้น ยังมีคอลเล็กชัน ‘มีดของถวัลย์ ดัชนี’ ที่ อ.ถวัลย์ ดัชนี สร้างขึ้นในปี 2547 โดยใช้เขี้ยวฮิปโปโปเตมัส เขี้ยวเสือลายเมฆ และเขาของละมั่งชิกูจากทิเบต สะท้อนให้เห็นถึงสัญชาตญาณดิบของสัตว์ป่าและเจตจำนงค์ของมนุษย์
ผลงานทั้งหมดไม่เพียงบ่งบอกแนวคิดและวิวัฒนาการของประติมากรรมของไทยเท่านั้นแต่ยังแสดงให้เห็นถึงความเชื่อส่วนตัวของ เสริมคุณ ที่ว่างานประติมากรรมไทยแต่ละชิ้นเหมือนเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญที่เมื่อนำมาต่อกันแล้วสามารถบอกเล่าและเชื่อมโยงประวัติศาสตร์ในแต่ละสมัยได้อย่างน่าทึ่งเขามองว่าวัฒนธรรมไทยนั้นก่อเกิดจากการถ่ายเทและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมข้ามชาติตลอดประวัติศาสตร์อันยาวนาน การให้นิยามว่าอะไรคืออัตลักษณ์ความเป็นไทยจึงไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะแท้จริงแล้วความเป็นไทยนั้นปรับตัวเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยตลอดเวลา
เสริมคุณ ยกตัวอย่างผลงานของ พัชรพล (Alex Face) และ ทวีศักดิ์ และอธิบายว่า ภายนอกอาจจะไม่มีอะไรที่แสดงความเป็นไทยเลย หากจะนำเอาหลักศิลปะไทยสมัยใหม่มาจับ แต่งานของพวกเขาสะท้อนบุคลิกรักสนุกที่ทำให้เรารู้สึกได้ถึงความเป็นไทยอย่างไม่ต้องสงสัย เสริมคุณ จึงทำงานอย่างหนักเพื่อสนับสนุนให้ศิลปินรุ่นใหม่ที่มีผลงานโดดเด่นได้มาแสดงผลงานที่ศูนย์ฯ และในนิทรรศการศิลปะที่จัดขึ้นทั้งในและต่างประเทศ โดยเน้นคุณค่าของงานประติมากรรมไทยที่กระทบความรู้สึกและอารมณ์คนเสพมากกว่าการพิจารณาเรื่องฟอร์มหรือรูปแบบ
หลายศตวรรษที่ผ่านมา ประติมากรรมไทยวิวัฒน์อย่างงดงามจนกลายเป็นส่วนหนึ่งศิลปวัฒนธรรมไทยซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่เพียงในวัด เจดีย์ หรือพระราชวัง แต่ยังปรากฏอยู่ในโรงแรม ศูนย์การค้า หรือแม้กระทั่งสถาบันทางการเงิน ดูเหมือนเสริมคุณพยายามจะบอกกล่าวแก่สังคมว่างานประติมากรรมไทยไม่ใช่แค่ของในพิพิธภัณฑ์ แต่คือส่วนหนึ่งของความเป็นไทยที่สอดร้อยในชีวิตพวกเราอย่างเหนียวแน่นเสมอมา ■