HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

THINKING BIG


Under the Influence

เมื่ออินฟลูเอนเซอร์จากโลกเสมือนกำลังเปลี่ยนแปลงปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ที่มีเนื้อหนังไปเป็นความสัมพันธ์ซับซ้อนกับคนในโลกสมมติ

ในยุคที่โซเชียลมีเดียเต็มไปด้วยอินฟลูเอนเซอร์มากหน้าหลายตา ‘ไอ-ไอรีน’ (Ai-Ailynn) ได้ก้าวขึ้นมาเป็นอินฟลูเอนเซอร์หน้าใหม่ที่โพสต์เรื่องราวหลากหลายชวนติดตามในโลกโซเชียล

ย้อนกลับไปในเดือนตุลาคม เธอโพสต์ภาพฉลองวันเกิดด้วยการเป่าเค้กที่แต่งแต้มด้วยเกล็ดน้ำตาลสีสันสดใส ตามด้วยภาพอาหารมื้อค่ำจานหรูกลางกรุง หรือการแต่งกายเป็นแม่มดในเทศกาลฮาโลวีน ยังไม่นับกิจกรรมอื่นที่โพสต์ลงโซเชียลมีเดียอยู่เสมอ อย่างการลองเสื้อผ้าคอลเลคชั่นชุดใหม่ การทำกิจกรรมกับเพื่อนๆ หรือกระทั่งอิริยาบถผ่อนคลายในบ้าน

เมื่อรวมผมทรงบ็อบที่เข้ากับใบหน้า เสื้อผ้าหลากชุดไม่มีซ้ำ และการเกาะกระแสบริโภคนิยมไม่เคยขาดคงพอพูดได้ว่าไอ-ไอรีน คือตัวแทนของหญิงสาววัย 20 ปีต้นๆ ที่นำเทรนด์แฟชั่น และด้วยคาแรกเตอร์หลากสไตล์หลากสไตล์ชวนมองนี่เอง เธอจึงได้เสียงตอบรับจากแฟนๆ เป็นยอดไลก์นับพันและคอมเมนต์ให้กำลังใจในทุกโพสต์

เรื่องราวของเธอยิ่งน่าสนใจขี้นอีกเมื่อรู้ว่า แท้จริงแล้วไอ-ไอรีนคือมนุษย์เสมือนจริงจากระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งบริษัทเอเจนซี่แห่งหนึ่งประกอบขึ้นจากพิกเซล โดยไร้ตัวตนจริง

แม้จะรู้ว่าตัวตนของไอ-ไอรีนเป็นเรื่องสมมติเหมือนนางฟ้าในนิทานของเด็กๆ แต่ขณะเดียวกัน ความนิยมในตัวเธอคือเครื่องชี้วัดว่ากระแสอินฟลูเอนเซอร์เสมือนจริง (Virtual Influence) กำลังเติบโตไม่ใช่แค่ในไทย แต่เป็นทั้งโลก

“การเชื่อมต่อกับอินฟลูเอนเซอร์เสมือนจริงไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ถ้าคุณมองอินฟลูเอนเซอร์เหล่านี้เหมือนตัวการ์ตูนที่มีอยู่ในโลกออนไลน์ ปกติเราก็เห็นคนคลั่งไคล้การ์ตูนมากมายนับไม่ถ้วน ตั้งแต่กลุ่มซูเปอร์ฮีโร่จากค่ายมาร์เวลไปจนถึงเหล่าเจ้าหญิงดิสนีย์ ผู้คนปรารถนาที่จะเป็นในสิ่งที่ตัวละครเหล่านี้แสดงภาพออกมา อินฟลูเอนเซอร์เสมือนจริงก็เป็นเหมือนภาพสะท้อนวิวัฒนาการในยุคที่โซเชียลมีเดียมีอิทธิพลต่อชีวิตของมนุษย์” นิโรธ ฉวีวรรณากร ผู้อำนวยการประจำประเทศไทยของบริษัทกัชคลาวด์ (Gushcloud) ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดอินฟลูเอนเซอร์ อธิบาย

เคยมีการคิดกันว่าคนจะสื่อสารได้ดีที่สุดกับคนที่มีตัวตนจริงเท่านั้น ต่อให้คนที่สื่อสารด้วยจะไม่เคยรู้จักเป็นการส่วนตัวมาก่อนก็ตาม แต่ความสำเร็จของอินฟลูเอนเซอร์เสมือนจริงทั้งในไทยและที่อื่นๆ ในโลกกลับชวนให้เกิดคำถามว่าบางทีมนุษย์เราอาจให้ความสำคัญกับความผูกพันระหว่างมนุษย์ด้วยกันมากเกินไปก็ได้

SIA Bangkok เอเจนซี่ผู้ให้บริการด้านอินฟลูเอนเซอร์เสมือนจริง คือผู้ให้กำเนิด ไอ-ไอรีน ‘มนุษย์โลกเมตาเวิร์ส (Metaverse) คนแรกของประเทศไทย’ และเปิดตัวเธอสู่สาธารณชนเมื่อช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยระบุว่าหญิงสาวคนนี้มี ‘รูปลักษณ์และบุคลิกที่โดดเด่น’ ซึ่งมาพร้อมกับ ‘ความเชื่อที่ว่าโลกจะสามารถพัฒนาต่อไปได้หากทุกคนกล้าที่จะตั้งคำถาม’

แม้จะเปิดตัวด้วยการชวนให้คนตั้งคำถาม แต่ภาพลักษณ์ของไอ-ไอรีนจนถึงตอนนี้ยังห่างไกลจากการปลุกเร้าความกล้าให้ผู้คน เพราะเรื่องที่เธอโพสต์ลงโซเชียลมีเดียส่วนใหญ่หนีไม่พ้นเรื่องบริโภคนิยมอย่างอาหารหรูๆ หรือแฟชั่นสวยๆ ตามกระแส แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้คนกำลังให้ความสนใจเธออย่างรวดเร็ว ในอินสตาแกรมมีผู้กดติดตามเธอแล้วมากกว่า 11,000 แอ็คเคานต์ทั้งที่เปิดตัวมาเพียงไม่กี่เดือน และเธอก็เพิ่งมีผลงานในฐานะพรีเซนเตอร์ให้กับเอไอเอส บริษัทเครือข่ายโทรศัพท์มือถือที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

วิกฤตโรคโควิด-19 มีส่วนช่วยเร่งชื่อเสียงของไอ-ไอรีนให้เพิ่มขึ้น เพราะอินฟลูเอนเซอร์คนจริงรายอื่นๆ ล้วนได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์กรุงเทพฯ การเว้นระยะห่างทางสังคม หรือความซบเซาทางเศรษฐกิจที่เป็นผลจากโควิด-19 จนห้างร้านปิดตัวลงไปหลายแห่ง ทำให้อินฟลูเอนเซอร์คนเป็นๆ ไม่สามารถเดินทางไปมาเพื่อสร้างคอนเทนต์ทางโซเชียลมีเดียได้

“อินฟลูเอนเซอร์เสมือนจริงได้เปรียบมากในช่วงนี้ เพราะสามารถทำงานต่อได้ในยุคที่โลกปรับตัวเข้าสู่วิถีชีวิตแบบ ‘นิวนอร์มอล’ (new normal) หรือก็คืออินฟลูเอนเซอร์เสมือนจริงเหล่านี้สามารถเอาชนะข้อจำกัดที่อินฟลูเอนเซอร์ในโลกจริงต้องเจอจากมาตรการการเว้นระยะห่างทางสังคม” โฆษกของเซีย แบงค็อก กล่าว

อินฟลูเอนเซอร์เสมือนจริงเปรียบเสมือนบทแรกที่แนะนำทุกคนเข้าสู่โลกเมตาเวิร์ส สิ่งที่เราพูดถึงเมตาเวิร์สในตอนนี้ก็เหมือนตอนที่เราพูดถึงอินเทอร์เน็ตในช่วงยุค 90s เราทุกคนรู้ว่ามันกำลังจะเกิดขึ้นและน่าจะมีบทบาทสำคัญต่อชีวิตของพวกเรา

นอกจากไอ-ไอรีนแล้ว ยังมีอินฟลูเอนเซอร์เสมือนจริงรายอื่นๆ ในไทยอีกที่ได้อานิสงส์จากสถานการณ์ เช่น เอเจนซี่ BDA World Service ซึ่งบริหารโดยแฟชั่นดีไซเนอร์ อดิศักดิ์ จิราศักดิ์เกษม และเพื่อนๆ ที่เรียกความสนใจจากวงการได้ทันทีหลังเปิดตัวอินฟลูเอนเซอร์เสมือนจริง 2 ราย คือ BangkokNaughtyBoo ซึ่งปรากฏตัวในแคมเปญของศูนย์การค้าสยามเซ็นเตอร์ ศูนย์รวมแฟชั่นนำสมัยใจกลางกรุงเทพฯ กับ Fire Lotus ที่ร่วมงานกับ Bangkok CityCity แกลเลอรีและพื้นที่จัดแสดงงานศิลปะร่วมสมัยในเขตสาธร เพื่อบันทึกวิดีโอการแสดงที่จะนำออกฉายในงานแสดงศิลปะมัลติมีเดียงานหนึ่งในสิงคโปร์

กล่าวได้ว่าความสำเร็จของอินฟลูเอนเซอร์เสมือนจริงในไทยกำลังเดินตามความสำเร็จของธุรกิจอินฟลูเอนเซอร์เสมือนจริงในต่างประเทศที่เริ่มเมื่อราวทศวรรษก่อนจนกลายเป็นธุรกิจที่มั่นคงและทำเงินได้มหาศาล โดยบริษัท Statista ซึ่งเชี่ยวชาญด้านข้อมูลการตลาดและผู้บริโภค คาดการณ์ว่าการตลาดแบบอินฟลูเอนเซอร์เสมือนจริงจะมีมูลค่าสูงถึง 1.38 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2564

ในประเทศบราซิล Lu of Magalu คืออินฟลูเอนเซอร์เสมือนจริงที่กลายเป็นไอคอนคนสำคัญหลังเปิดตัวต่อสาธารณะเมื่อปี 2552 ด้วยฝีมือของบริษัทค้าปลีกท้องถิ่นอย่าง Magazine Luiza คลิปวิดีโอที่ลูแกะกล่องและรีวิวผลิตภัณฑ์ต่างๆ ดึงดูดคนในอินสตาแกรมและติ๊กต๊อกให้มากดติดตามเธอรวมกันได้มากกว่า 10 ล้านแอ็กเคานต์ ด้าน Miquela Sousa หรือที่รู้จักในอีกชื่อว่า Lil Miquela สร้างขึ้นโดย Brud บริษัทสตาร์ตอัพในลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา ก็ได้รับความนิยมไม่แพ้กันจากการปล่อยมิวสิควิดีโอเพลง และการสนับสนุนประเด็นทางสังคมต่างๆ ไปจนถึงการร่วมงานในแคมเปญโฆษณาของผลิตภัณฑ์ชื่อดังทั้งคาลวิน ไคลน์ ซัมซุง และพราด้า อีกทั้งยังได้รับการคัดเลือกจากนิตยสารไทม์ให้เป็น 1 ใน ‘25 ผู้ทรงอิทธิพลบนโลกอินเทอร์เน็ต’ ประจำปี 2561 ด้วย

ข้ามมาทวีปเอเชีย ตัวละครสมมติที่มีชื่อเสียงจากระบบคอมพิวเตอร์อย่าง Hatsune Miku จากประเทศญี่ปุ่น และ Luo Tianyi จากประเทศจีน รวมถึงเกิร์ลกรุ๊ปเคป๊อปเสมือนจริงอย่างวง Eternity และ K/DA ก็กำลังช่วยบุกเบิกวงการนี้เพื่อเตรียมต้อนรับดาวดวงใหม่ๆ ที่จะตามมาในวันที่เทคโนโลยีมีความทันสมัยยิ่งกว่าปัจจุบัน

ในส่วนของประเทศอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นรัสเซีย เม็กซิโก หรือฟิลิปปินส์ ต่างก็มีการสร้างสรรค์ตัวละครเสมือนจริงขึ้นมาเช่นกัน เช่นเดียวกับไทยที่เวลานี้เอเจนซี่ต่างๆ กำลังพัฒนาเทคโนโลยีเสมือนจริงให้เป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมในวงกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ โดยมุ่งเป้าไปที่กลุ่มวัยรุ่นซึ่งเติบโตมาพร้อมเทคโนโลยีแห่งยุค

“คนไทยเปิดรับเทคโนโลยีใหม่ๆ อยู่เสมอ จึงมั่นใจได้เลยว่าเทคโนโลยีเสมือนจริงจะมาแรงในอนาคตอันใกล้แน่นอน” ผู้ช่วยศาสตราจารย์สกุลศรี ศรีสารคาม ผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อดิจิทัลประจำสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ กล่าว

“ถึงอย่างนั้น แบรนด์และเอเจนซี่ต่างๆ ก็ไม่ควรทึกทักไปเองว่าผู้บริโภคจะเปิดใจรับทุกอย่างที่จะเข้ามา เพราะคนไทยมักคิดวิธีใหม่ๆ ในการเล่าเรื่องราวของตัวเองและสร้างสรรค์กิจกรรมใหม่ๆ บนโลกออนไลน์อยู่เสมอ ดังนั้นแบรนด์ควรประยุกต์เอาจินตนาการเข้ามาช่วยนำเสนอความเป็นไทยที่สามารถตอบโจทย์วัฒนธรรมของชาวดิจิทัลด้วย” ผู้ช่วยศาสตราจารย์สกุลศรี เสริม

‘ชาวดิจิทัลยุคโพสต์มิลเลนเนียล’ (post-millennial digital native) คือคำเรียกกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่กำลังกลายเป็นประชากรที่มีอิทธิพลต่อโลกในไม่ช้า มาร์ค เพรนสกี นักเขียนชาวอเมริกัน เป็นคนคิดคำนี้ขึ้นเมื่อปี 2544 และให้นิยามว่าหมายถึงผู้ที่เกิดใน ‘วัฒนธรรมใหม่’ ตั้งแต่เกิด ส่วนผู้อพยพสู่โลกดิจิทัล (digital immigrant) คือคนโลกเก่าที่ใช้ชีวิตในยุคอนาลอกมาก่อนจะย้ายเข้าสู่โลกดิจิทัล

ผู้เกี่ยวข้องในวงการการตลาดอินฟลูเอนเซอร์กล่าวว่า ความน่าดึงดูดใจของอินฟลูเอนเซอร์เสมือนจริงคือความหลากหลายตั้งแต่การสร้างโลกเสมือนที่สามารถเชื่อมโยงหรือสร้างปฏิสัมพันธ์กับตัวละครซึ่งถูกสร้างสรรค์ขึ้นในพื้นที่สมมติเพื่อตอบสนองผู้ที่ต้องการหลีกหนีจากโลกแห่งความจริง ไปจนถึงการออกแบบอินฟลูเอนเซอร์เสมือนจริงเพื่อตอบโจทย์แบรนด์ใดแบรนด์หนึ่งโดยเฉพาะ

ในยุคก่อนหน้าโลกดิจิทัล เคยมีการคิดกันว่าคนจะสื่อสารได้ดีที่สุดกับคนที่มีตัวตนจริงเท่านั้น ต่อให้คนที่สื่อสารด้วยจะไม่เคยรู้จักเป็นการส่วนตัวมาก่อนก็ตาม แต่ความสำเร็จของอินฟลูเอนเซอร์เสมือนจริงทั้งในไทยและที่อื่นๆ ในโลกกลับชวนให้เกิดคำถามว่าบางทีมนุษย์เราอาจให้ความสำคัญกับความผูกพันระหว่างมนุษย์ด้วยกันมากเกินไปก็ได้ เพราะเอาเข้าจริงๆ แล้วมีหลายคนที่เริ่มเชื่อว่าตัวละครสมมติในโลกเสมือนอาจเข้าถึงความต้องการและจิตใจของพวกเขาได้มากพอๆ กับอินฟลูเอนเซอร์ที่มีเนื้อหนังจริง

“เราคิดว่าไอ-ไอรีนช่วยให้ผู้ติดตามของเธอเกิดความสบายใจเมื่อพวกเขาต้องการหลีกหนีจากโลกแห่งความจริงสักพัก ถึงแม้จะเป็นแค่ช่วงเวลาสั้นๆ ก็ตาม พวกเขาสามารถพูดคุยกับเธอได้ทุกเรื่องโดยไม่ต้องเขินอายเพราะพวกเขาและเธอไม่มีวันพบกันในโลกแห่งความจริง เธอเป็นเพื่อนที่สามารถคลายทุกข์และให้กำลังใจได้” ตัวแทนของเซีย แบงค็อก อธิบาย

ผู้เชี่ยวชาญในธุรกิจนี้ยังเสริมด้วยว่าอินฟลูเอนเซอร์เสมือนจริงอาจช่วยสร้างความคาดหวังที่รู้สึกว่าเป็นไปได้ในหมู่คนติดตาม และอาจทำได้ดีกว่าอินฟลูเอนเซอร์คนเป็นๆ ด้วยซ้ำ ทั้งที่อินฟลูเอนเซอร์เสมือนจริงเป็นเพียงตัวละครที่ถูกสมมติขึ้นมา

“อินฟลูเอนเซอร์เสมือนจริงส่วนใหญ่ถูกสร้างขึ้นจากความไม่สมบูรณ์แบบ พวกเขาไม่ได้หล่อ ไม่ได้สวยเป๊ะตามมาตรฐาน และพวกเขาก็ไม่จำเป็นต้องฝืนคิดว่าตัวเองสามารถทำได้ทุกอย่าง นี่คือความตั้งใจที่ฉลาดมากของทางฝั่งเอเจนซี่ผู้ให้กำเนิดอินฟลูเอนเซอร์เสมือนจริงเหล่านี้ ด้วยการสร้างเรื่องราวของคนธรรมดาที่สามารถเป็นอะไรก็ได้อย่างที่ตัวเองต้องการ และนั่นก็นำไปสู่การสร้างความรู้สึกร่วมในหมู่ผู้ติดตาม” ผู้ช่วยศาสตราจารย์สกุลศรี กล่าว

“อินฟลูเอนเซอร์เสมือนจริงถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นผู้นำไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ และภาพลักษณ์ของพวกเขาก็สะท้อนภาพสังคมในอุดมคติ ดังนั้น ผลกระทบในเชิงลบของเนื้อหา เช่น การทำให้ผู้ติดตามเปรียบเทียบกับตัวเองแล้วรู้สึกด้อยอาจน้อยกว่าการใช้คนจริงๆ” นิโรธ ผู้อำนวยการกัชคลาวด์ กล่าวเสริม

เมื่อมองดูโลกที่เต็มไปด้วยปัญหารุมเร้า บางทีการสร้างมิตรภาพใหม่ๆ อาจเป็นเรื่องดีสำหรับใครหลายคน ต่อให้บางคนอาจรู้สึกว่า การที่คนเป็นๆ หาความสบายใจจากการบอกเล่าเรื่องส่วนตัว หรือความลับให้สิ่งที่ไม่มีตัวตนฟังเป็นเรื่องน่าตะขิดตะขวงใจไม่น้อย

แต่จะอย่างไรก็ตาม เบื้องหลังการสร้างความสัมพันธ์ทางอารมณ์ระหว่างคนเป็นกับตัวละครสมมติก็คือ ‘เม็ดเงิน’ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่คอยขับเคลื่อนตลาดอินฟลูเอนเซอร์เสมือนจริง แบรนด์ต่างๆ สามารถใช้ตัวละครเสมือนจริงที่อยู่ในกำกับตลอดเวลาให้สื่อสารข้อความตามต้องการได้ในทุกสถานการณ์ ขณะเดียวกันบริษัทเอเจนซี่ผู้สร้างก็ได้เงินเป็นรางวัลตอบแทนซึ่งอาจมีมูลค่าไม่น้อย อย่างกรณีของ Lil Miquela อิทเกิร์ลเสมือนจริงในลอสแอนเจลิส ที่ทำเงินได้ราว 7,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อหนึ่งโพสต์

ความจริงแล้วมีหลายเหตุผลที่แบรนด์หนึ่งๆ เลือกใช้อินฟลูเอนเซอร์เสมือนจริงแทนอินฟลูเอนเซอร์ที่เป็นมนุษย์ เพราะเป็นที่รู้กันว่าอินฟลูเอนเซอร์ไม่สามารถคิดหรือแสดงความเห็นได้อย่างอิสระ ในการทำงานจริง อินฟลูเอนเซอร์ทุกคนล้วนต้องอยู่ในกรอบ นั่นคือแสดงความเห็นส่วนตัวเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย หรือต้องพูดชื่นชมแบรนด์หรือผู้สนับสนุนรายอื่นๆ อย่างเปิดเผย กระนั้น ความผิดพลาดหรือความเป็นมนุษย์ที่มีความรู้สึกเป็นของตัวเองก็อาจทำให้สารที่แบรนด์ต้องการสื่อคลาดเคลื่อนได้

นอกจากนี้ อินฟลูเอนเซอร์มนุษย์ยังเสี่ยงต่อการ ‘โป๊ะ’ ในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะด้วยการคอมเมนต์ในประเด็นอ่อนไหวโดยไม่คิด หรือทำอะไรที่ชาวเน็ตไม่เห็นดีเห็นงาม

ตรงข้ามกับมนุษย์เสมือนจริงที่แบรนด์สามารถดูแลให้ไม่มีเรื่องด่างพร้อยและควบคุมภาพลักษณ์ต่อสาธารณะได้แบบร้อยเปอร์เซ็นต์

“ในมุมมองของแบรนด์นั้น อินฟลูเอนเซอร์เสมือนจริงมีข้อดีมากมายและสร้างความเสี่ยงน้อยกว่าเพราะรับประกันได้ว่าอินฟลูเอนเซอร์เสมือนจริงจะไม่ทำสิ่งผิดกฎหมายหรือพูดเรื่องที่กำลังอ่อนไหวในสังคม” นิโรธอธิบาย

“นอกจากนี้อินฟลูเอนเซอร์เสมือนจริงสามารถปรากฏตัว ณ ที่ใดและเวลาใดในโลกก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นยอดหอไอเฟล ขับรถรุ่นเก่าย้อนยุคบนถนนในลอนดอนช่วงยุค 50s หรือบินออกไปนอกโลกด้วยชุดนักบินอวกาศ ซึ่งสถานการณ์เหล่านี้เป็นไปได้ยาก (หรือเป็นไปไม่ได้เลย) ที่จะให้อินฟลูเอนเซอร์ที่เป็นมนุษย์จริงๆ ทำ” นิโรธเสริม

ผู้เชี่ยวชาญในวงการอินฟลูเอนเซอร์ตั้งข้อสังเกตว่าพลังและอิทธิพลของอินฟลูเอนเซอร์เสมือนจริงจะเพิ่มมากขึ้นก็ต่อเมื่อผู้คนให้ความสนใจต่อ ‘เมตาเวิร์ส’ (Metaverse) ซึ่งอธิบายความหมายได้ง่ายๆ ว่าเป็นโลกเสมือนจริงที่ทุกคนสามารถเข้าไปทำงานหรือเล่นกิจกรรมต่างๆ ได้ เมตาเวิร์สเพิ่งเป็นข่าวใหญ่ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งบางคนมองว่าอาจนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ในวงการเทคโนโลยี แต่บางคนก็มองว่าอาจเป็นฝันร้ายที่นำไปสู่การล่มสลายทางเทคโนโลยีก็ได้ แต่ไม่ว่าสังคมจะถกเถียงประเด็นนี้กันอย่างไร บริษัทยักษ์ใหญ่ในวงการเทคโนโลยีต่างก็ถูกดึงดูดให้มาสนใจโลกเมตาเวิร์สแล้ว

ในงาน Facebook Connect 2021 เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์กและทีมงานของเขาได้แสดงวิสัยทัศน์ขององค์กรเกี่ยวกับโลกเมตาเวิร์ส และประกาศว่าจะลงทุนกับเทคโนโลยีประเภทนี้ด้วยงบประมาณหนึ่งหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และเข้าซื้อกิจการของสตาร์ตอัพด้านเทคโนโลยีความเป็นจริงเสมือน (virtual reality) อย่างต่อเนื่อง ด้านคู่แข่งทางการค้าอย่างไมโครซอฟต์ รวมถึงเจ้าอื่นๆ ก็วางเดิมพันและคาดหวังว่าอาณาจักรเสมือนจริงที่ถูกสร้างขึ้นจะช่วยปลดล็อกปัญหาเกี่ยวกับระบบการเงินในโลกแห่งความเป็นจริง ส่วนเอเจนซี่ต่างๆ เองก็ใช้โอกาสนี้เก็บเกี่ยวผลประโยชน์ด้วยการสร้างตัวละครเสมือนจริงเพื่อให้คนตามเข้าไปในโลกเมตาเวิร์ส

“อินฟลูเอนเซอร์เสมือนจริงเปรียบเสมือนบทแรกที่แนะนำทุกคนเข้าสู่โลกเมตาเวิร์ส สิ่งที่เราพูดถึงเมตาเวิร์สในตอนนี้ก็เหมือนตอนที่เราพูดถึงอินเทอร์เน็ตในช่วงยุค 90s เราทุกคนรู้ว่ามันกำลังจะเกิดขึ้นและน่าจะมีบทบาทสำคัญต่อชีวิตของพวกเรา และสำหรับแบรนด์ต่างๆ อินฟลูเอนเซอร์เสมือนจริงคือประตูที่จะช่วยให้เข้าถึงคนยุคใหม่ ซึ่งเป็นคนยุคเมตาเวิร์ส” อดิศักดิ์ จิราศักดิ์เกษม จากบีดีเอ เวิร์ลเซอวิส กล่าว

ย้อนกลับมาที่ไอ-ไอรีน หลังเดือนตุลาคมที่วุ่นวาย เธอก็โพสต์ภาพนั่งหลับตาอย่างสบายอารมณ์ในบ้านรับลมหนาวอ่อนๆ ของเดือนพฤศจิกายน เมื่อนึกถึงวันคืนข้างหน้าอีกไม่ไกลที่กระแสเมตาเวิร์ส และโลกเสมือนจะถาโถมโลกแห่งความจริงจนเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมอินฟลูเอนเซอร์และวิถีชีวิตของเราทุกคน บางทีการนั่งหลับตาพักผ่อนในวันนี้อาจเป็นความคิดที่ดีอย่างยิ่งเลยทีเดียว