SECTION
ABOUTTHINKING BIG
About a Boy
เมื่อความรักระหว่าง ‘ชายหนุ่ม’ กลายเป็นกระแสหลักของการสื่อสารและการตลาดสู่ทั้งชายและหญิง
ประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในดินแดนปลอดภัยของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ กระนั้น พื้นฐานทางวัฒนธรรมและค่านิยมของสังคมบางประการยังทำให้การเปิดเผยอัตลักษณ์ของชาว LGBTQ+ ในไทยไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับใครหลายคน ซึ่งรวมถึง BL Watcher บล็อกเกอร์ผู้มีชื่อเสียงในการเผยแพร่และรีวิวซีรีส์ประเภทชายรักชาย
BL Watcher เป็นนามแฝงของบล็อกเกอร์คนไทยที่ไม่ประสงค์จะเปิดเผยชื่อจริง เขาเล่าว่าเมื่อก่อนชาวเกย์มักเป็นเพียงตัวละครประกอบหรือตัวตลกในรายการโทรทัศน์อยู่เสมอกระทั่งการมาถึงของ ‘วัฒนธรรมวาย’ (Y Culture) หรือที่รู้จักว่าเป็นกระแส ‘ชายรักชาย’ (Boys’ Love) ทำให้ชาวเกย์ในประเทศไทยรู้สึกว่าตัวตนของพวกเขาได้รับการนำเสนอผ่านสื่อกระแสหลักมากขึ้น และช่วยให้สังคมเกิดความเข้าใจในชีวิตและประสบการณ์ของชาวเกย์ดีกว่าบทบาทชายขอบอย่างเดิม
“เนื้อเรื่องที่มีความซับซ้อนแต่มักสร้างความอบอุ่นใจให้ผู้ชมช่วยให้เราสามารถเข้าไปอยู่ในโลกสมมติที่มีเกย์เป็นตัวละครนำของเรื่อง ถ้าละครพวกนี้ฉายทางทีวีตั้งแต่ตอนที่ผมเป็นเด็ก ผมคงจะมีความสุขมาก เสียแต่ว่าความนิยมในกระแสชายรักชายมาไม่ทันช่วงที่ผมเป็นวัยรุ่นไม่อย่างนั้นมันคงช่วยให้ชีวิตผมเปลี่ยนไปในทางบวกแบบเดียวกับที่วัยรุ่น LGBTQ+ ได้รับในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา” บล็อกเกอร์ผู้ทำเว็บไซต์ยอดนิยมในเรื่องวัฒนธรรมวายกล่าว
วัฒนธรรมวายมีจุดกำเนิดจากประเทศญี่ปุ่นดินแดนที่นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นของกระแสวัฒนธรรมสมัยใหม่หลายชุดในประเทศไทย โดยเริ่มต้นจากคำว่า ‘ยาโอย’ (yaoi) ซึ่งเป็นคำเรียกนิยายที่เล่าความสัมพันธ์เชิงโรแมนติกระหว่างตัวละครนำชายในเรื่อง นิยายประเภทนี้เริ่มก้าวขึ้นมาเป็นที่รู้จักในสังคมญี่ปุ่นช่วงทศวรรษที่ 1970s แต่คำว่าชายรักชาย หรือ Boys’ Love เกิดขึ้นหลังจากนั้นในช่วงทศวรรษที่ 1990s ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่สำนักพิมพ์ในญี่ปุ่นเริ่มตีพิมพ์นิยายวายเพื่อตีตลาดผู้อ่านเพศหญิง
ส่วนในประเทศไทย นิยายวายต้องรอหลังจากนั้นอีกราว 20 ปีก่อนจะเริ่มได้รับความนิยม ก่อนหน้านั้น นิยายวายที่วางขายในไทยมักถูกร้านหนังสือจัดวางไว้บนชั้นหนังสือที่ตั้งอยู่ด้านในสุดหรือไม่ก็ในมุมอับของร้าน และการจะหานิยายประเภทนี้ให้เจอ คนซื้อส่วนใหญ่ก็ต้องถามเอาจากคนขายหนังสือในร้านเท่านั้น
ตอนนี้เวลาเลื่อนฟีดอินสตราแกรม จะเห็นดาราซีรีส์วายเป็นพรีเซ็นเตอร์ให้กับสินค้าหลายตัว ดาราเหล่านี้มีแฟนคลับที่เหนียวแน่น ช่วยทำให้เกิดกระแสตามมาจากโฆษณาได้ โดยเฉพาะเวลาที่พวกเขาโปรโมตเป็นคู่ ถ้าเราเป็นนักโฆษณา เราย่อมใช้โอกาสนี้ทำเงิน
แม้จุดเริ่มต้นของกระแสวัฒนธรรมวายในไทยจะไม่มีคนบันทึกไว้ชัดเจนว่าเริ่มต้นขึ้นเมื่อใด แต่คนส่วนใหญ่เชื่อว่าจุดเริ่มต้นของกระแสมาจากละครเรื่อง ‘รักวุ่น วัยรุ่นแสบ’ (Love Sick: The Series) ที่ออกฉายทางช่อง 9 ในปี 2014 ซึ่งนอกจากจะเป็นละครวายเรื่องแรกของไทยที่ออกฉายผ่านสื่อกระแสหลักอย่างโทรทัศน์แล้ว ยังเป็นละครเรื่องแรกที่แกนหลักของเรื่องวางอยู่บนความสัมพันธ์เชิงโรแมนติกระหว่างตัวละครนำชายสองคน รักวุ่น วัยรุ่นแสบจึงนับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้สังคมไทยเริ่มรู้จักวัฒนธรรมวายมากยิ่งขึ้น
“แต่ละยุคก็มีละครโทรทัศน์และภาพยนตร์ที่นำเสนอตัวละคร กระแส และสไตล์ของยุคนั้นๆ ปัจจุบันเรากำลังอยู่ในยุคของวัฒนธรรมวายเพราะว่าช่วงหลังมานี้วัยรุ่นเริ่มมีอิทธิพลต่อสังคมมากขึ้นจากการใช้โซเชียลมีเดีย พวกรายการโทรทัศน์เลยมุ่งเป้าไปตีตลาดวัยรุ่นมากขึ้น ยิ่งกว่านั้น สังคมไทยเองก็เริ่มเปิดกว้างที่จะพูดคุยเรื่องเพศสภาพมากขึ้นด้วย” บอส-นฤเบศ กูโน ผู้กำกับและผู้ผลิตมินิซีรีส์ยอดนิยมเรื่อง ‘แปลรักฉันด้วยใจเธอ’ กล่าว
กล่าวได้ว่าคนรุ่นใหม่มีบทบาทสำคัญต่อการเกิดละครและซีรีส์วายในไทย กณพ ศุภมานพ รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายธุรกิจคอนเทนต์ของไลน์ ประเทศไทย เคยให้สัมภาษณ์กับ Positioning Online ว่าการเติบโตของซีรีส์วายเริ่มต้นขึ้นอย่างจริงจังในช่วงปี 2016 เมื่อทางไลน์สังเกตเห็นว่ายอดเข้าชมซีรีส์ประเภทนี้เพิ่มสูงขึ้นแบบทวีคูณ คือเพิ่มจากราว 2% เป็น 20% (ราว 6 พันล้านวิวต่อปี) บนแพลตฟอร์มของไลน์
หนึ่งในปัจจัยที่ขับเคลื่อนยอดชมซีรีส์วายให้พุ่งสูงคือธุรกิจแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง เช่น ไลน์ทีวี ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งที่มุ่งเจาะตลาดผู้ชมวัย 20-45 ปี และมีผู้รับชมซีรีส์วายมากเกือบ 80% ของประเทศ การแข่งขันที่มีความเข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ ในธุรกิจสตรีมมิ่งเร่งเร้าให้ทุกแพลตฟอร์มพยายามพัฒนาคอนเทนต์ของตนให้หลากหลายมากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้เพื่อดึงดูดผู้ชมให้มากที่สุด เปิดช่องให้ซีรีส์วายได้เข้ามาสู่กระแสและเข้าถึงผู้ชมหน้าใหม่ๆ
การแข่งขันของสตรีมมิ่งและการเติบโตของซีรีส์วายยังส่งผลต่อพฤติกรรมของผู้ชมด้วย กรณีหนึ่งคือแฟนซีรีส์วายที่เป็นคนรุ่นใหม่ได้ช่วยทำการตลาดให้กับซีรีส์ที่ตนชื่นชอบผ่านการบอกเล่าความสนุกของเรื่องและชักจูงเพื่อนๆ หรือคนรอบตัวให้มาดูซีรีส์ร่วมกัน บางคนถึงขั้นสร้างเพจหรือเว็บไซต์เพื่อตามติดซีรีส์วายโดยเฉพาะ เช่น BL Watcher นอกจากนี้ แฟนคลับซีรีส์วายยังชอบเข้าร่วมงานอีเวนต์เกี่ยวกับซีรีส์หรือนิยายวายอยู่เสมอ ดึงดูดสินค้าต่างๆ ให้เข้ามาเป็นสปอนเซอร์อีเวนต์มีตติ้งระหว่างแฟนคลับเพื่อโฆษณาสินค้าแฝง
ยังมีเสียงจากคนหลากหลายทางเพศว่าวัฒนธรรมวายนำเสนอแต่ภาพความรักระหว่างตัวละครเพศชายมากเกินไปจนลืมนึกถึงการต่อสู้เพื่อสิทธิและการเป็นที่ยอมรับของ LGBTQ+ บางคนถึงกับเห็นว่ากระแสวายไม่ได้ช่วยให้ชีวิตของพวกเขาดีขึ้นเลย
ในส่วนของตัวซีรีส์วายเอง ผู้สร้างซีรีส์พยายามดึงดูดผู้ชมคนรุ่นใหม่ด้วยการคัดเลือกนักแสดงหนุ่มหน้าตาดี (ที่ได้รับการจัดอันดับในหมู่แฟนคลับ) หลีกเลี่ยงการใช้บทสนทนาหรือการดำเนินเรื่องแบบเดิมๆ และพยายามเขียนเรื่องราวให้เข้ากับกระแสสังคมล่าสุดเพื่อให้เป็นกระแสในโลกออนไลน์ นอกจากนี้ พล็อตของเรื่องต้องมีความซับซ้อน และมีเนื้อหามากกว่าแค่เรื่องความรัก เพื่อจะได้เข้าถึงผู้ชมทั่วไปด้วย ความพยายามนี้นับว่าประสบความสำเร็จ ดังที่กณพกล่าวว่าทางไลน์ทีวีเห็นตัวเลขผู้ชมซีรีส์วายที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไปเพิ่มมากขึ้น
ยอดผู้ชมที่เพิ่มสูงขึ้นยังเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงทางทัศนคติต่อความรักของคนเพศเดียวกันที่เกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งมักเกิดขึ้นในหมู่ประชากรคนรุ่นใหม่เช่นกัน
“แต่เดิมสังคมค่อนข้างต่อต้านความรักของชายรักชาย แล้วผู้คนเองก็ไม่กล้าพูดเรื่องรสนิยมทางเพศของตนกับพ่อแม่ด้วย แต่ตอนนี้ทุกอย่างดูจะกลายเป็นเรื่องปกติ มีซีรีส์วายหลายเรื่องสะท้อนการเปลี่ยนแปลงของค่านิยมในสังคม และวัยรุ่นเองก็สามารถชักชวนพ่อแม่ให้มาชมซีรีส์พวกนี้ไปด้วยกันได้โดยไม่รู้สึกตะขิดตะขวงใจ ยิ่งพอกลุ่ม LGBTQ+ เห็นไอดอลของตนเองในวัฒนธรรมป๊อปเริ่มเปิดอกเรื่องความรักมากขึ้น เรื่องพวกนี้ก็ยิ่งเป็นปกติ และทำให้พวกเขาพลอยรู้สึกภูมิใจในอัตลักษณ์ของตนเอง” นฤเบศบอกเล่าถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบัน
ผลงานของนฤเบศในฐานะผู้กำกับและผู้ผลิตซีรีส์วายนับว่าเป็นหนึ่งในงานซีรีส์วายที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในสังคมไทยถึงปัจจุบัน ‘แปลรักฉันด้วยใจเธอ’ คือหนึ่งในผลงานที่สร้างชื่อเสียงให้กับเขา ซีรีส์เรื่องนี้สร้างโดยบริษัทนาดาวบางกอก และออกฉายผ่านทางไลน์ทีวีในรูปแบบสตรีมมิ่ง ตัวละครเซ็ตฉากที่จังหวัดภูเก็ต และบอกเล่าเรื่องราวการเติบโตของตัวละครวัยรุ่นผ่านความสัมพันธ์ของตัวละครนำชายสองคน นับตั้งแต่ออกฉายในปี 2020 ละครเรื่องนี้ได้รับรางวัลชั้นนำทั้งในประเทศและต่างประเทศหลายรางวัล ซึ่งรวมถึงรางวัล International Drama of the Year จากงาน Seoul International Drama Awards 2021 นอกจากนี้ มินิซีรีส์เรื่องดังกล่าวยังได้รับเชิญให้ไปฉายในเทศกาลหนังเควียร์แนวหน้าของโลกอย่าง Queer East Film Festival ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ
นักแสดงนำของเรื่องคือ บิวกิ้น-พุฒิพงศ์ อัสสรัตนกุล และ พีพี-กฤษฏ์ อำนวยเดชกร เป็นสองคู่ขวัญที่มีฐานแฟนคลับวัยรุ่นจำนวนมากจากเคมีการแสดงที่เข้าขาของทั้งคู่ ซึ่งช่วยขับเน้นให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนและความดึงดูดทางเพศระหว่างตัวละคร พีพีและบิวกิ้นเริ่มมีชื่อเสียงจากซีรีส์อีกเรื่องหนึ่งของนฤเบศ คือ ‘รักฉุดใจนายฉุกเฉิน’ ที่ออกฉายในปี 2019 ทำให้ทั้งคู่ได้อัดซิงเกิลเพลงยอดฮิตร่วมกันหลายเพลง และยังได้มีโอกาสไปแสดงสดบนเวทีแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งดังของญี่ปุ่นอย่าง Moment House ด้วย
นอกจากนี้แล้ว ทั้งคู่ยังได้เป็นพรีเซ็นเตอร์ให้กับแบรนด์ชื่อดังของไทย เช่น เลย์ และเป็ปซี่ ซึ่งบ่งชี้ว่าวัฒนธรรมวายกำลังได้พื้นที่ในสื่อกระแสหลักมากขึ้น
“ตอนนี้เวลาเลื่อนฟีดของอินสตราแกรมแล้วจะเห็นดาราซีรีส์วายหลายคนเป็นพรีเซ็นเตอร์ให้กับสินค้าหลายตัว ดาราเหล่านี้มีแฟนคลับที่เหนียวแน่น ช่วยทำให้เกิดกระแสตามมาจากโฆษณาได้ โดยเฉพาะเวลาที่พวกเขาโปรโมตสินค้าแบบเป็นคู่ เพราะแฟนๆ ชอบเห็นพวกเขาปรากฏตัวพร้อมกัน แล้วยังสามารถเข้าถึงผู้บริโภคในต่างประเทศ ถ้าเราเป็นนักโฆษณา เราย่อมใช้โอกาสนี้ทำเงิน” BL Watcher กล่าว
การพานักแสดงมาปรากฏตัวต่อหน้าแฟนๆ เป็นอีกหนึ่งวิธีการตลาดที่แบรนด์นิยมใช้จากกระแสวัฒนธรรมวาย นักแสดงอาจปรากฏตัวในฐานะพรีเซ็นเตอร์หรือพิธีกรทั้งงานออนไลน์และออฟไลน์ เช่น อาจปรากฏตัวในงานคอนเสิร์ต หรือรายการแสดงสด หรือแม้แต่งานสปอนเซอร์ให้ทำภาพวิดีโอเบื้องหลังการถ่ายทำซีรีส์ที่มีโฆษณาสินค้าแฝง
แต่จุดที่ชวนพิศวงเห็นจะเป็นการตลาดที่มุ่งเจาะสินค้าเครื่องสำอาง เสื้อผ้า และสมาร์ทโฟนสำหรับผู้หญิง ซึ่งยังไม่มีเหตุผลชัดเจนว่าทำไมนักแสดงชายถึงได้รับเลือกให้มาเป็นพรีเซ็นเตอร์โฆษณาสินค้าเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นในหนังโฆษณา หรือการโชว์ตัวบนเวทีในงานอีเวนต์ของสินค้า ทำให้มองได้ว่าการตลาดลักษณะนี้คือการคว้าโอกาสของแบรนด์ต่างๆ ในการขี่กระแสวัฒนธรรมวายที่กำลังพุ่งแรงเพื่อสร้างรายได้และความประทับใจให้มากที่สุด
นอกจากนี้ แฟนคลับของซีรีส์และนิยายวายก็ไม่ได้อยู่รวมเป็นกลุ่มก้อนที่เหนียวแน่นเหมือนแฟนหนังมาร์เวลล์ เพราะแฟนคลับวายนั้นมีลักษณะแตกออกเป็นกลุ่มเล็กกลุ่มน้อย แฟนคลับเหล่านี้ยังมักโต้เถียงกันเองในโลกออนไลน์ เช่น การเถียงกันว่าดาราชายคนนี้ควรคู่กับดาราชายคนนั้นแทนที่จะเป็นอีกคน แฟนคลับของดาราชายแต่ละคนจึงมักทุ่มเถียงไม่เลิกราเพื่อบอกว่า ‘คู่จิ้น’ ในจินตนาการของตนดีกว่าอีกคู่อย่างไร ผลที่ตามคือความพยายามไม่รู้เหน็ดเหนื่อยของแฟนคลับในการสร้างกระแสจับคู่ดาราในดวงใจของตนให้ขึ้นหน้าหนึ่งบนนิวส์ฟีด
วิธีส่งเสริมคู่จิ้นของแฟนคลับนั้นมีหลายวิธี วิธีหนึ่งคือการสนับสนุนทางการเงินไปเรื่อยๆ เช่น แฟนคลับจะขยันซื้อสินค้าที่เลือกดาราชายในดวงใจมาเป็นพรีเซ็นเตอร์ แฟนคลับไม่ได้ทำสิ่งนี้เพราะชอบสินค้า แต่เพราะเชื่อว่าการทำเช่นนี้จะเป็นการสนับสนุนดาราในดวงใจให้มีงานและความสำเร็จเข้ามาอยู่เสมอ หลายคนยังเชื่อด้วยว่าถ้านักการตลาดมาเห็นตัวเลขยอดขายสินค้าพุ่งสูงขึ้น นักการตลาดก็จะยิ่งเลือกดาราชายคนนั้นให้ไปถ่ายโฆษณากับแบรนด์สินค้าที่ใหญ่ขึ้น และมีอิทธิพลต่อสังคมมากกว่าเดิม และด้วยตัววัฒนธรรมวายที่ไปส่งเสริมการ ‘จิ้น’ หรือจับคู่ดาราชายสองคนให้เป็นเหมือนแฟนกัน ช่วงหลังมานี้เวลามีงานโฆษณาสินค้า พวกเขาจึงมักปรากฏตัวเป็นคู่ในโฆษณา
พูดอีกนัยหนึ่ง การแย่งชิงกันซื้อสินค้าเครื่องสำอางหรือเสื้อผ้าเป็นเสมือนการทำ ‘สงคราม’ ระหว่างแฟนคลับ เพราะแฟนคลับเหล่านี้อยากจะเห็นดาราหรือคู่จิ้นในดวงใจของตนเป็นคู่ที่ยืนหนึ่งในวงการ
กระแสวัฒนธรรมวายไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับรายการทีวี แต่รวมถึงวงการหนังสือ นอกจากหนังสือการ์ตูนจากญี่ปุ่นแล้ว ร้านหนังสือชั้นนำทั่วประเทศไทยขยายชั้นหนังสือสำหรับนิยายวายโดยเฉพาะมากขึ้น สำนักพิมพ์หลายแห่งยังเข้ามาเกาะกระแส เช่น สถาพรบุ๊คส์ซึ่งอยู่ในวงการหนังสือมานานหลายสิบปีได้เปิดตัว ดีพ พับลิชชิ่ง สำนักพิมพ์น้องใหม่ที่เน้นการตีพิมพ์นิยายวายโดยเฉพาะในปี 2018 จนถึงตอนนี้สำนักพิมพ์ดีพตีพิมพ์นิยายวายมาแล้วมากกว่า 70 เรื่อง และมีถึง 20 เรื่องที่ได้รับการดัดแปลงไปทำเป็นละครโทรทัศน์
แซมมอน (Sammon) คือหนึ่งในนักเขียนนิยายวายที่มีชื่อเสียง เธอเป็นแฟนตัวยงของวัฒนธรรมญี่ปุ่น โดยเฉพาะการ์ตูนที่เรียกว่ามังงะ และรายการโทรทัศน์ของญี่ปุ่น การติดตามวัฒนธรรมของญี่ปุ่นนำพาเธอให้มารู้จักกับยาโอยเมื่อตอนเป็นวัยรุ่น ในช่วงวัยนั้นแซมมอนกับเพื่อนจะใช้เวลานานหลายชั่วโมงเพื่อวาดภาพการ์ตูน ‘โดจิน’ (การ์ตูนเลียนแบบที่นำตัวละครมาจากเรื่องต้นฉบับ) เพื่อจับคู่ตัวละครเอกเพศชายเข้าด้วยกันในซีนโรแมนติกและเมื่อเติบโตขึ้นเป็นหมอ แซมมอนก็ได้หวนกลับไปทำสิ่งที่ตนเองชื่นชอบสมัยเป็นเด็กอีกครั้ง
“เราเป็นคนมีจินตนาการเรื่องวายในหัวอยู่เสมอ” เธอกล่าว
แม้นักเขียน เช่น แซมมอน จะมีคุณสมบัติเหมาะสมกับการเขียนความรักระหว่างเพศชายเพื่อผู้อ่านเพศหญิง แต่หากมองจากมุมของคนที่เป็น LGBTQ+ แล้ว หลายคนในกลุ่มไม่ได้รู้สึกดีกับกระแสการตลาดที่เกิดขึ้น เพราะเห็นว่าอุตสาหกรรมบันเทิง รวมถึงคอนเทนต์ครีเอเตอร์มุ่งให้ความสำคัญกับคนเสพนิยายวายที่เป็นผู้หญิงมากเกินไป พวกเขายกตัวอย่างองค์ประกอบบางอย่างที่เป็นการหลีกเลี่ยงจะแตะต้องประเด็นสำคัญในเรื่องของคนหลากหลายทางเพศ เช่น ในนิยายหลายเรื่องจะเอ่ยถึงคนกลุ่มนี้ด้วยคำว่า ‘คนไร้เพศ’ (genderless) แทนที่จะใช้คำเรียกอย่างตรงไปตรงมา เช่น เกย์ ทรานส์ หรือไบเซ็กชวล นอกจากนี้ การเติบโตของกระแสวัฒนธรรมวายในสังคมไทยยุคแรกๆ เองก็ไม่ได้มุ่งเน้นไปที่ความสัมพันธ์ระหว่างชายกับชายอย่างจริงจัง แต่เลือกจะแตะอย่างผิวเผินเพื่อให้ผู้อ่านรู้สึกจินตนาการไปเอง
“เราเข้าใจว่าคนอาจยังไม่พอใจกับภาพของวัฒนธรรมวายที่นำเสนออกไปผ่านสื่อ แต่เรื่องความรักของคนเพศเดียวกันเริ่มมีขึ้นในช่วงที่การเปิดเผยตัวตนทางเพศยังไม่เปิดกว้างสำหรับคนในสังคม นักเขียนอย่างเราเลยต้องพยายามหลีกเลี่ยงการใช้คำนิยามตรงๆ อย่างคำว่าเกย์ เลสเบี้ยน ทรานส์ แล้วก็คำอื่นๆ” แซมมอนกล่าว
นอกจากการโต้เถียงกันระหว่างแฟนคลับเรื่องใครควรคู่กับใครแล้ว อีกประเด็นหนึ่งที่ชวนให้เกิดการโต้เถียงอย่างเผ็ดร้อนก็คือภาพลักษณ์ของคนหลากหลายทางเพศที่แฟนคลับเรื่องวายในยุคก่อนๆ เห็นว่าแกนหลักของเรื่องไม่ต้องวางอยู่บนความสัมพันธ์ของคนรักเพศเดียวกันก็ได้ ผลที่ได้คือการถูกลดทอนเนื้อหาหรือบทที่เอ่ยถึงชาว LGBTQ+ ในนิยายและละครหลายเรื่อง ขณะเดียวกัน ยังมีเสียงจากคนหลากหลายทางเพศว่าวัฒนธรรมวายในปัจจุบันเลือกนำเสนอแต่ภาพความรักความผูกพันระหว่างตัวละครเพศชายมากเกินไปจนลืมนึกถึงการต่อสู้เพื่อสิทธิและการเป็นที่ยอมรับในสังคมของชาว LGBTQ+ บางคนถึงกับเห็นว่ากระแสวายไม่ได้ช่วยให้ชีวิตของพวกเขาดีขึ้นเลย ซึ่งการถกเถียงหรือโต้แย้งทำนองนี้ก็ดูจะร้อนแรงขึ้นตามกระแสวัฒนธรรมวายที่ยังพุ่งขึ้นไม่หยุดหย่อน
แต่อย่างน้อยที่สุดวัฒนธรรมวายก็นับเป็นจุดเริ่มต้นของการถกเถียงที่อาจนำไปสู่สังคมที่เปิดกว้างยิ่งขึ้นอีกของชาว LGBTQ+ ในอนาคตก็ได้ ■