SECTION
ABOUTBEYOND BOUNDARIES
Home Ground
เรื่องราวของคนตัวเล็กที่ตัดสินใจกลับเมืองน่าน บ้านเกิดเมืองนอนของพวกเขา เพื่อก่อร่างสร้างธุรกิจ กรุ่นกลิ่นกาแฟที่ทำให้บ้านหลังนี้กลายเป็นจุดหมายปลายทางโปรดของหลายคน ทว่ายังคงไว้ซึ่งเสน่ห์และ วิถีชีวิตเรียบง่ายแบบน่าน
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จังหวัดน่านได้จัดแจงแปลงโฉมตัวเอง จากเมืองเกษตรกรรมที่ไม่มีใครสนใจ ให้กลายเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ซึ่งเกิดขึ้นได้จากการร่วมมือร่วมใจของทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงภาคประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ชาวน่าน ที่ตัดสินใจกลับบ้าน มาช่วยพลิกฟื้นเมืองบนภูเขาให้เต็มไปด้วยมนตร์เสน่ห์และความคิดสร้างสรรค์
แม้จะไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า การท่องเที่ยวเปรียบเสมือนดาบสองคม ที่ในทางหนึ่งก็ช่วยสร้างเม็ดเงินและสร้างงานให้แก่ชาวบ้านในพื้นที่ แต่ในทางกลับกัน การท่องเที่ยวก็นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของคน จนอาจสูญเสียตัวตนและอัตลักษณ์ของตัวเอง แต่นั่นไม่ใช่ปัญหาของเมืองน่าน เพราะแม้ว่าจะได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวมากขึ้นเรื่อยๆ แต่เมืองส่วนใหญ่ของที่นี่ยังคงไว้ซึ่งวิถีชีวิตที่เรียบง่าย ไม่วุ่นวาย และสงบสุข โดยเม็ดเงินไม่ใช่เป้าหมายสูงสุด ทว่าคือความสุขของทุกคนในพื้นที่ อย่างน้อยก็ในตอนนี้
เมืองน่านในวันนี้ยังคงความเป็นเมืองเกษตรกรรมเอาไว้ได้อย่างเข้มแข็ง และเพิ่มความพิเศษด้วยกลิ่นหอมอบอวลของหมู่มวลกาแฟหลากสายพันธุ์ ที่กลายเป็นผลิตภัณฑ์ช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวให้ลองมาเรียนรู้ พร้อมสัมผัสบรรยากาศสุดสบายและธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ แม้วิกฤติโควิด-19 จะเป็นตัวบังคับให้ภาคธุรกิจของน่านต้องปรับตัว แต่ด้วยวิถีของชาวน่านที่ยังยึดมั่นกับธรรมชาติและความเรียบง่ายทำให้การท่องเที่ยวของเมืองน่านยังคงอยู่ได้แม้ในช่วงที่ลำบาก และยังมีธุรกิจรูปแบบใหม่ๆ เกิดขึ้น ที่มาสร้างสีสันให้กับจังหวัดในแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน
จังหวัดน่านอาจไม่ใช่จังหวัดแรกหรือจังหวัดเดียวที่เฟื่องฟูเรื่องการปลูกกาแฟคุณภาพสูงในไทย แต่ก็ถือว่าเป็นจังหวัดที่เรียกความสนใจและปลูกปั้นกระแสการบริโภคกาแฟในแบบที่ไม่ใช่แค่ให้ตาสว่าง แต่เป็นอีกหนึ่งสุนทรียภาพในชีวิต
จังหวัดน่านอาจไม่ใช่จังหวัดแรกหรือจังหวัดเดียวที่เฟื่องฟูเรื่องการปลูกกาแฟคุณภาพสูงในไทย แต่ก็ถือว่าเป็นจังหวัดที่เรียกความสนใจและปลูกปั้นกระแสการบริโภคกาแฟในแบบที่ไม่ใช่แค่ให้ตาสว่าง แต่เป็นอีกหนึ่งสุนทรียภาพในชีวิต ด้วยรสกลิ่นที่มีมิติและความซับซ้อน หนึ่งในผู้บุกเบิกเรื่องกาแฟประจำจังหวัดคือชายที่มีชื่อว่าเคเลบ จอร์แดน ผู้ก่อตั้งโรงคั่วกาแฟ Gem Forest ณ หมู่บ้านมณีพฤกษ์ เขาคือชาวอเมริกันรูปร่างสูงใหญ่ แต่พูดไทยคล่องปร๋อ ผู้เกิดและเติบโตท่ามกลางชาวเขาเผ่าลัวะบนยอดดอยในจังหวัดน่าน เขาเรียนในโรงเรียนไทย ก่อนจะย้ายไปเรียนโรงเรียนนานาชาติในเชียงใหม่ และเดินทางไปศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัยที่สหรัฐอเมริกา ก่อนที่พระเจ้าและหัวใจจะบอกให้เขาเดินทางกลับเมืองน่าน ซึ่งเปรียบเสมือนบ้านเกิดที่ให้ความสุขกับเขามาโดยตลอด
เหตุใดฝรั่งคนนี้จึงละทิ้งทุกอย่างที่สหรัฐฯ เพื่อกลับมาใช้ชีวิตบนภูเขา “น่านคือบ้าน” เคเลบรีบตอบ น่านคือพื้นที่ที่เขาคุ้นเคยและมีความทรงจำอยู่มากมาย เคเลบเข้าใจวัฒนธรรมและวิถีของคนน่านเป็นอย่างดี จึงไม่แปลกเลยที่นั่นจะทำให้ชายคนนี้เรียกที่นี่ว่า ‘บ้าน’ ได้อย่างเต็มปาก
เคเลบเล่าย้อนไปว่า ระหว่างที่เขากำลังเรียนอยู่ในอเมริกา เขามีโอกาสได้ฝึกงานที่โรงคั่วกาแฟของโบสถ์คริสต์ นั่นเปรียบเสมือนจุดเริ่มต้นของชีวิตเคเลบในวันนี้ เขาได้เรียนรู้เรื่องกาแฟมากมายจากโรงคั่วแห่งนั้น ทั้งสายพันธุ์กาแฟ การคั่ว และการสร้างรายได้ กระทั่งเขากลับมายังเมืองน่านด้วยเป้าหมายที่จะรับใช้พระเจ้า จากจุดเริ่มต้นที่อยากใช้ชีวิตให้เป็นประโยชน์กับคนอื่น ทำให้เคเลบหยิบเอาความรู้เรื่องกาแฟมาช่วยเหลือชาวบ้านให้มีอาชีพที่ยั่งยืน ผนวกกับตอนที่เขากลับมาใหม่ๆ เคเลบพบว่าตลาดกาแฟในเมืองไทยยังไม่ได้รับความสนใจเท่าไรนัก และเขาก็มองว่ามันสามารถไปได้ไกลกว่านั้นได้ นั่นจึงเป็นตัวจุดประกายให้เขาเดินหน้าบุกเบิกเรื่องการทำกาแฟอย่างจริงจัง
การกลับมาสู่บ้านที่ชื่อว่า ‘น่าน’ ถือเป็นความสำเร็จของคนรุ่นใหม่ในพื้นที่ พลังของคนเหล่านี้ได้ทำให้เมืองน่านกลายเป็นเมืองสร้างสรรค์ ที่ยังคงไว้ซึ่งวิถีชีวิตใกล้ชิดธรรมชาติในแบบฉบับชาวน่าน รวมไปถึงการต่อยอดอาชีพประจำถิ่นให้เติบใหญ่อย่างยั่งยืน
“ช่วงแรกผมไม่เอาไปเสนอให้ใครปลูกเลยนะ ผมทดลองปลูกเอง ประมาณ 4-5 ปีแรก ก็ใช้การทดลองด้วยตัวเอง ให้คนอื่นได้เห็น คือผมยอมรับความเสี่ยงเอง ถ้ามันไปได้ ถ้ามันดี เดี๋ยวคนอื่นก็คงอยากทำตาม ไม่ต้องไปบอกให้เขาทำ”
เพราะเคเลบเข้าใจปัญหาและความเจ็บปวดของพี่น้องชาวลัวะ ซึ่งไม่มีงานที่หาเลี้ยงชีพได้อย่างเพียงพออยู่ใกล้ตัว ทำให้คนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่จำต้องย้ายถิ่นฐาน ออกไปทำงานไกลบ้าน ขณะที่คนลัวะที่ยังไม่ได้ไปไหน ซึ่งส่วนมากเป็นเกษตรกร ก็มักโดนเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลางที่เข้ามาหลอกล่อให้ซื้อกล้าพันธุ์ไม้และเคมีภัณฑ์ในราคาแพง พร้อมสัญญาว่าจะรับซื้อผลผลิตในราคาสูง แต่สุดท้ายก็หนีหาย แม้ชาวบ้านจะทุ่มเทดูแลเอาใจใส่พืชพรรณของตัวเองมากแค่ไหนก็ตาม เคเลบจึงไม่เคยเอ่ยปากชวนชาวบ้านมาปลูกกาแฟในช่วงเริ่มต้น แต่เขาใช้วิธี ‘ทำให้เห็น สาธิตให้ดู’ แม้ช่วงแรกจะต้องแข่งขันกับขิง ซึ่งเป็นผลผลิตทางการเกษตรที่ชาวบ้านเห็นว่าปลูกแล้วได้เงินเร็วกว่า แต่ความพยายามของเคเลบและการสนับสนุนจากทางจังหวัด ก็ส่งผลให้ความตั้งใจของเคเลบเริ่มบรรลุผล เกิดเป็นตลาดซื้อขายกาแฟของมณีพฤกษ์ที่ให้ราคาดีที่สุด สามารถสร้างอาชีพผู้ผลิตกาแฟและรายได้ที่มั่นคงให้กับชาวบ้านตัวเล็กๆ เช่นเดียวกับก่อให้เกิดวัฒนธรรมการดื่มกาแฟที่กระจายไปสู่ร้านกาแฟทั่วจังหวัดน่านและในพื้นที่อื่นๆ
ไม่เพียงแต่เป็นผู้บุกเบิกการปลูกกาแฟในพื้นที่มณีพฤกษ์เท่านั้น เคเลบยังเป็น ‘นายช่าง’ ที่ทำเครื่องคั่วกาแฟของตัวเองอีกด้วย เนื่องจากราคาของเครื่องจักรที่มีราคาสูง ทำให้เคเลบซึ่งได้รับความรู้ด้านวิศวกรรมจากมหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ และการชื่นชอบในการทำศิลปะเหล็ก ตัดสินใจหาเศษเหล็กมาสร้างเป็นเครื่องคั่วกาแฟของตัวเอง ซึ่งสามารถลดต้นทุนลงไปได้อีก
จากเป้าหมายที่อยากช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ตามคำสอนของพระเจ้า สู่การเป็นนักบุกเบิกกาแฟแห่งมณีพฤกษ์ ที่มุ่งมั่นจะสร้างชีวิตที่ดีและมั่นคงให้กับชาวบ้าน ทุกวันนี้เคเลบยังคงใช้เวลาทุกสัปดาห์ในการขึ้นไปดูเมล็ดกาแฟบนภูเขาสูง เรียนรู้และพัฒนากาแฟที่เหมาะจะปลูกในสภาพแวดล้อมของเมืองน่าน รับซื้อและสอนการทำกาแฟให้กับชาวบ้านที่สนใจ พร้อมกับอนุรักษ์และคงไว้ซึ่งความเป็นเผ่าลัวะ ผ่านภาษาเขียนที่พ่อของเขาเป็นผู้สร้างเอาไว้ เพื่อรักษาคุณค่าความคิด ภาษา และวัฒนธรรมของชาวลัวะให้ยังมีที่ทางในโลกสมัยใหม่
หากเปรียบเทียบการท่องเที่ยวของจังหวัดน่านในปัจจุบันกับเมื่อประมาณ 7-8 ปีที่แล้ว คงจะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนหลายอย่าง ทั้งจำนวนแหล่งท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้น หรือความสะดวกสบายของถนนหนทางและสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ เช่นเดียวกับวิถีชีวิตของชาวบ้านในพื้นที่ที่ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปตามกระแสและตามกาลเวลา แต่บ้านมณีพฤกษ์กลับยืนหยัดชัดเจนว่าจะไม่ยอมให้การท่องเที่ยวมาเปลี่ยนวิถีชีวิตคน และวิชัย กำเนิดมงคล หรือรองกล้วย ก็เป็นคนสำคัญต่อการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์รูปแบบนี้ของบ้านมณีพฤกษ์
วิชัยเป็นชาวม้งที่เคยเดินทางไปเรียนและทำงานอยู่ในเมืองหลวง แต่ด้วยค่าครองชีพที่สูง เขาจึงตัดสินใจเดินทางกลับบ้าน และทันทีที่กลับมาถึง ชาวบ้านก็ผลักดันให้เขาลงเล่นการเมืองท้องถิ่น ทำให้วิชัยได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งรองนายกเทศมนตรีตำบลงอบ อำเภอทุ่งช้าง ก่อนจะพ่วงตำแหน่งประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกาแฟเดอม้งมณีพฤกษ์ หลังจากมองเห็นช่องทางการสร้างรายได้จากกาแฟ วิชัยได้ขอความช่วยเหลือจากเคเลบ ซึ่งเข้ามาอยู่ในพื้นที่ก่อนหน้านั้น ทั้งในเรื่องสายพันธุ์กาแฟ การคั่ว การชง รวมถึงการจัดจำหน่าย และเกิดเป็นแบรนด์ ‘กาแฟเดอม้ง’ แบรนด์กาแฟของชาวม้งที่ชาวบ้านภาคภูมิใจ และโดดเด่นเรื่องกาแฟอราบิก้า เช่นเดียวกับวิธีการปลูกที่ไม่พึ่งสารเคมี และกรรมวิธีในการผลิตที่เน้นความเป็นธรรมชาติ ทำให้กาแฟของที่นี่ขายดี และเป็นที่รู้จักของคอกาแฟทั่วประเทศ ทั้งยังมีจำหน่ายเมล็ดกาแฟสายพันธุ์ ‘เกอิชา’ ซึ่งเป็นสายพันธุ์โด่งดังอันดับต้นๆ ของโลก ที่เคเลบได้นำมาปลูกที่มณีพฤกษ์ได้สำเร็จ และมีราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 8,000 บาท
เมื่อบทสนทนาวนมาสู่เรื่องการท่องเที่ยวของมณีพฤกษ์ วิชัยก็ได้อธิบายให้เข้าใจถึงแก่นหลักของการท่องเที่ยวของชุมชนของเขา
“ตอนที่ผมกลับมาอยู่บ้าน ตอนนั้นน่านมีปัญหาเรื่องภูเขาหัวโล้น กระแสภูเขาหัวโล้นที่น่านดังมากเราจึงได้รับนโยบายจากภาครัฐ ให้หาวิธีแก้ไขปัญหาเรื่องคนกับป่า และให้ทั้งสองอย่างนี้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน เราก็เลยต้องมานั่งทำการบ้านกันอย่างหนัก จนสุดท้ายมณีพฤกษ์ก็ตกผลึกเรื่องการทำการท่องเที่ยวในชุมชน ที่เน้น 4 ด้าน ได้แก่ธรรมชาติ เกษตรกรรม วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์”
มณีพฤกษ์มีแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติมากมาย และมีความสวยงามเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะ ‘ดอยผาผึ้ง’ ซึ่งเป็นภูเขาหินปูน อยู่สูงจากระดับน้ำทะเล 1,600 เมตร นักท่องเที่ยวสามารถขึ้นไปชมบรรยากาศพระอาทิตย์ขึ้นและตกได้ เช่นเดียวกับขึ้นไปสัมผัสอากาศบริสุทธิ์พร้อมชมทะเลหมอกแบบสุดลูกหูลูกตาในช่วงหน้าหนาว ซึ่งเป็นไฮไลท์ที่วิชัยเองก็แนะนำว่าไม่ควรพลาด หรือจะไปสำรวจ ‘ถ้ำผาผึ้ง’ ซึ่งมีความลึกกว่า 4.7 กิโลเมตร และติด 1 ใน 10 ถ้ำที่ลึกที่สุดของประเทศไทย ด้านในของถ้ำมีโถงขนาดใหญ่ และเต็มไปด้วยหินงอกหินย้อยที่สวยงาม ถือเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่นักท่องเที่ยวที่ได้มีโอกาสไปเยี่ยมเยือนบ้านมณีพฤกษ์ไม่ควรพลาดเช่นกัน
แต่นอกจากธรรมชาติที่สวยงามของมณีพฤกษ์แล้ว สิ่งที่วิชัยและชาวบ้านให้ความสำคัญคือที่พักที่ไม่เน้นการอำนวยความสะดวกหรือความเลิศหรูอลังการ แต่มุ่งที่จะคงไว้ซึ่งวิถีชีวิตแบบชาวม้ง ด้วยรูปแบบที่พักแบบโฮมสเตย์ เปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้ความเป็นอยู่ของชาวบ้าน ได้กินอาหารพื้นถิ่น และได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกับชาวบ้านอย่างเป็นกันเอง ซึ่งการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์แบบที่หมู่บ้านมณีพฤกษ์ตั้งใจทำ และกาแฟคุณภาพดีที่อยู่ในใจของทั้งคนรักกาแฟและบุคคลทั่วไป นอกจากจะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวให้แวะเวียนมาเยี่ยมเยือนพื้นที่อย่างสม่ำเสมอแล้ว ยังช่วยเรียกลูกหลานชาวมณีพฤกษ์ให้กลับบ้าน มาอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากับครอบครัว และสร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับคนรุ่นใหม่
จากการเติบโตของวิสาหกิจกาแฟที่มณีพฤกษ์ ความนิยมในกาแฟในจังหวัดน่านก็แพร่กระจายเป็นวงกว้าง ทำให้เกิดร้านกาแฟที่เป็นมากกว่าเพียงทางผ่านเพื่อแวะถ่ายรูป อย่างที่อำเภอเวียงสา ร้านจ๊างน่าน (Chang Nan Coffee & Bakery) เป็นร้านกาแฟที่แฝงตัวอยู่ในบ้านตึกไม้เก่าของวงศกรและมลาพร ไกรทอง คู่รักที่เทหมดหน้าตักเพื่อเปลี่ยนแปลงบ้านไม้หลังเก่าอายุกว่า 100 ปี ให้กลายเป็นร้านกาแฟและเบเกอรี ที่บรรจุเรื่องเล่าในอดีตของครอบครัวตั้งแต่สมัยยังเลี้ยงช้าง สู่การเป็นอู่รถเมล์ประจำอำเภอ
“เราเอาสิ่งที่เรามีอยู่ อย่างเรื่องราวของคุณตาที่เป็นคนเลี้ยงช้างมาก่อน โดยนำเอาบันทึกหลักฐาน รวมถึงไม้เก่าที่ท่านเก็บสะสม แล้วตรงนี้ก็ถูกเปลี่ยนให้เป็นอู่รถเมล์ ซึ่งเราก็เอาเรื่องราวตรงนั้นมาทำเป็นร้านแห่งนี้” วงศกรยังได้เล่าติดตลกว่า ตอนแรกก็คิดไว้ว่าถ้าธุรกิจนี้ไม่ประสบความสำเร็จ อย่างน้อยทั้งคู่ก็จะมีบ้านให้พักพิงอยู่อาศัยในพื้นที่อำเภอที่พวกเขาคุ้นเคย
แม้ในช่วงสองสามขวบปีแรก พวกเขาได้ตั้งใจทำร้านจ๊างน่านให้เป็นร้านนมประจำอำเภอ แต่วงศกรและมลาพรตัดสินใจเปลี่ยนร้านจ๊างน่านให้กลายเป็นร้านกาแฟ หลังได้ทราบถึงชื่อเสียงและความโดดเด่นของกาแฟน่าน อาจเรียกได้ว่าร้านจ๊างน่านเป็นหนึ่งในร้านกาแฟร้านแรกๆ ของจังหวัด ที่นำกาแฟน่านมาใช้เป็นจุดขาย ซึ่งทั้งคู่ก็ได้รับการช่วยเหลือและคำแนะนำจากเคเลบแห่งหมู่บ้านมณีพฤกษ์ด้วย โดยมีแนวคิดที่ว่า “เราไม่ได้เลือกกาแฟที่อร่อยที่สุด แต่เราพยายามหารสชาติกาแฟที่มีอยู่ในจังหวัดน่าน และเลือกกาแฟที่สามารถนำเสนอความเป็นเมืองน่านได้ดีที่สุด”
การระบาดของโรคโควิด-19 ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของร้านจ๊างน่าน หลังจากมีมาตรการให้ทุกคนอยู่บ้านเพื่อหยุดการแพร่กระจายของเชื้อโรค ก็ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั่วโลก จังหวัดเล็กๆ อย่างจังหวัดน่านก็หนีไม่พ้นความซบเซา และจ๊างน่านก็ประสบปัญหายอดขายตกฮวบ นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของขนมปังไส้ครีมชีส สูตรพิเศษที่เจ้าของร้านทั้งสองเรียนรู้การทำขนมจากยูทูบ และได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากลูกค้าในพื้นที่ ทั้งคู่จึงพัฒนาไปเป็นขนมเบเกอรีชนิดอื่นๆ ซึ่งทำให้ขนมของร้านจ๊างน่านถูกจดจำว่าเป็นของอร่อยที่ใครมาเวียงสาก็ห้ามพลาด
แน่นอนว่า ร้านจ๊างน่านไม่ได้เป็นธุรกิจเดียวที่ต้องปรับตัวในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 แต่ อีกหนึ่งตัวอย่างของการปรับตัวในวิกฤติจนเกิดเป็นจุดขายที่โดดเด่นก็คือ ได้ดิบได้ดี ฟาร์มสเตย์ (DaiDib DaiDee Farmstay) แห่งอำเภอปัว ของอดิศักดิ์ ยานันท์ เมื่อเขาถูกสถานการณ์บีบบังคับให้ต้องหาช่องทางให้ธุรกิจของตัวเองไปต่อได้ และสุดท้ายจึงมาลงเอยที่การชูโรงพิซซ่าเตาฟืน ซึ่งต่อมากลายเป็นสิ่งสร้างชื่อเสียงให้ฟาร์มสเตย์แห่งนี้ โดยอดิศักดิ์ตั้งใจที่จะผสมผสานความอร่อยแบบพิซซ่าอิตาเลียนกับความเป็น ‘คนเมือง’ ด้วยการนำรสชาติที่ชาวบ้านคุ้นเคยมาทำเป็นพิซซ่าหน้าต่างๆ อย่างหน้าคาวาอีเจี้ยน หน้าไกยี (สาหร่ายน้ำจืด ของขึ้นชื่อจังหวัดน่าน) หน้าน้ำพริกอ่อง หน้าน้ำพริกข่า และหน้าไส้อั่ว ที่สร้างความอิ่มอร่อยทั้งร่างกายและหัวใจให้กับผู้มาเยือน ทั้งยังเป็นเมนูต่อลมหายใจให้กับธุรกิจของเจ้าของกิจการวัยหนุ่มคนนี้
ได้ดิบได้ดี ฟาร์มสเตย์ เกิดขึ้นจากความตั้งใจของอดิศักดิ์ ที่อยากสร้างแหล่งเรียนรู้เกษตรกรรมที่เขาคุ้นเคยมาตั้งแต่เกิด และเป็นสิ่งที่ชาวบ้านในพื้นที่ยังคงยึดถือเป็นวิถีชีวิตประจำวัน ทั้งการทำนาไถหว่าน รวมไปถึงกิจกรรมพิเศษอย่างการนั่งเกวียน ขี่ควาย อบตัวสมุนไพร ทำผ้ามัดย้อม และเดินป่าธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญมากกว่ารายได้ที่เข้ามา คืออดิศักดิ์ ผู้เคยเป็นช่างภาพอยู่ในกรุงเทพฯ ได้กลับมาอยู่กับครอบครัว ได้กลับมาสร้างรอยยิ้มให้กับพ่อแม่และตัวเขาเองอีกครั้ง ถึงแม้จะเกิดวิกฤติ แต่กำลังใจจากครอบครัวก็ทำให้เขาไม่ยอมแพ้
การกลับมาสู่บ้านที่ชื่อว่า ‘น่าน’ ถือเป็นความสำเร็จของคนรุ่นใหม่ในพื้นที่ พลังของคนเหล่านี้ได้ทำให้เมืองน่านกลายเป็นเมืองสร้างสรรค์ ที่ยังคงไว้ซึ่งวิถีชีวิตใกล้ชิดธรรมชาติในแบบฉบับชาวน่าน รวมไปถึงการต่อยอดอาชีพประจำถิ่นให้เติบใหญ่อย่างยั่งยืน อาจกล่าวได้ว่า จังหวัดน่านไม่ใช่เพียงจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ที่นี่ยังเป็นจุดหมายปลายทางของคนน่านรุ่นใหม่ ที่จะได้กลับบ้าน มาทำให้ครอบครัวได้ลิ้มรสความสุขของการอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันอีกครั้ง ■