SECTION
ABOUTOPTIMUM VIEW
The Knight’s Errand
ศาสตราจารย์กิตติคุณ วิทิต มันตาภรณ์ ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติ (UN Special Rapporteur) กับภารกิจเพื่อสิทธิมนุษยชนแบบไม่จำกัดพรมแดน
30 กันยายน 2566
หากถือตามคำพูดจากป๊อบคัลเจอร์ในยุคนี้ที่ว่า “ไม่ใช่ฮีโร่ทุกคนจำเป็นจะต้องใส่ผ้าคลุม” ก็เป็นไปได้ว่าไม่ใช่อัศวินทุกคนจะต้องขี่ม้าขาว
ยิ่งกว่านั้น ในชีวิตจริง อัศวินบางคนอาจไม่มีแม้แต่รถยนต์เป็นของตัวเอง อย่างเช่นศาสตราจารย์กิตติคุณ วิทิต มันตาภรณ์ คนไทยเพียงคนที่สอง ที่ได้รับการยกย่องให้เป็น ‘อัศวิน’ ภายใต้คณะเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันวิเศษยิ่งแห่งจักรวรรดิบริติช (Knight Commander of the Most Excellent Order of the British Empire หรือ KBE) นับจากอดีตนายกฯ สองสมัย (และศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยเคมบริดจ์) ท่านหนึ่ง อันถือเป็นเกียรติภูมิที่ให้แก่ผู้ทำคุณประโยชน์ในด้านศิลปศาสตร์ วิทยาศาสตร์ การกุศล หรืองานที่ทำประโยชน์เพื่อสังคมในระดับนานาชาติจนเป็นที่ประจักษ์
ยามไปไหนมาไหนในกรุงเทพฯ ผู้ที่หากอยู่ในอังกฤษจะได้รับคำนำหน้าชื่อว่าท่าน ‘เซอร์’ นี้ พอใจที่จะใช้รถเมล์ประจำทางมากกว่า “ผมรู้ว่าเวลากลับบ้านที่สุขุมวิท ขึ้นสายไหนกลับได้เร็วที่สุด และเวลาไหนจะขึ้นได้แบบไม่ต้องแย่งกันครับ”
อย่างไรก็ตาม ความเป็นอัศวินของศาสตราจารย์กิตติคุณ วิทิตนั้นไม่เป็นข้อกังขา เพราะด้วยตำแหน่งผู้รายงานพิเศษ (UN Special Rapporteur) และประธานกรรมการหรือกรรมการในองค์คณะและหน่วยงานหลากหลายขององค์การสหประชาชาติเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน ควบคู่ไปกับการเป็นอาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ‘อาจารย์วิทิต’ คือผู้ที่ได้ท่องไปสมรภูมิที่มีความขัดแย้งสูง และเป็นส่วนหนึ่งของกลไกที่เปลี่ยนชีวิตหรือช่วยเหลือกลุ่มชนเปราะบาง ไม่ว่าเด็ก สตรี ผู้ถูกคุมขัง ผู้ได้รับผลกระทบจากสงคราม ผู้มีความหลากหลายทางเพศ ฯลฯ ผ่านการเก็บข้อมูลในพื้นที่และรายงานสิ่งที่เกิดขึ้นให้กับองค์กรที่มีหน้าที่รักษาระเบียบและสันติภาพของโลกอย่างสหประชาชาติ
กล่าวกันโดยเนื้อหา ขอบเขตการทำงานของอาจารย์วิทิตยังครอบคลุมกว้างขวางเสียยิ่งกว่าภารกิจการช่วย ‘หญิงงามตกยาก (damsel in distress)’ ของอัศวินในนิยาย
แน่นอน ในสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันที่ดอกเบี้ยสูง ราคาน้ำมันสูง และเงินเฟ้อยังไม่มีจุดจบในสายตาคนทำมาหากินทั่วไป การให้ความช่วยเหลือเรื่องสิทธิมนุษยชนแก่คนตกทุกข์ได้ยากอย่างไม่จำกัดพรมแดนอย่างที่อาจารย์วิทิตได้ทำ อาจดูเป็นปัญหาหรือภารกิจของคนในโลกที่หนึ่งที่ยังไม่อยู่ในความสนใจ
กระนั้น ประวัติศาสตร์ชี้ชัดว่าสิทธิมนุษยชนถือกำเนิดมาในโลกนี้ไม่ใช่เพียงเพื่อเป็นงานอดิเรกของนักวิชาการในช่วงหลังสงครามโลกครั้งสอง ที่ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights หรือ UDHR) ถูกร่างขึ้นมานั้น โลกเดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้าด้วยการรบราและภาวะเมืองแตกสาแหรกขาด เศรษฐกิจของหลายประเทศพังทลายท่ามกลางการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และการทิ้งระเบิดปรมาณู
การทำให้โลกมีสันติภาพ คือทางเดียวที่จะทำให้ภายในแต่ละประเทศเกิดสันติภาพ และสันติภาพนั่นแหละที่จะช่วยประกันไม่ให้เกิดหายนะทางเศรษฐกิจอย่างที่ทุกคนกลัว
ดังนั้น แม้ในวันนี้โลกจะเดินทางมาไกลมากแล้วในเรื่องสิทธิมนุษยชน แต่การหลับตาให้กับเรื่องนี้ยังเป็นความเสี่ยง โดยเฉพาะเมื่อความขัดแย้งที่มาจากโลกร้อน ทรัพยากรที่ร่อยหรอ และการแบ่งขั้วจากภูมิรัฐศาสตร์ อาจต้อนให้แต่ละประเทศหรือแม้กระทั่งแต่ละบุคคลกลับไปที่จุดเริ่มต้นของภาวะ ‘ตัวใครตัวมัน’ เมื่อไหร่ก็ได้ ในเมืองไทยเอง ความขัดแย้งที่ทวีขึ้นจากการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม อาจไม่ใช่เรื่องที่แค่ในน้ำมีปลาในนามีข้าวจะเอาอยู่
นี่คือเวลาที่ทุกคนต้องลุกขึ้นมาเป็น ‘อัศวิน’ แล้วหรือไม่
เรื่องราวของอาจารย์วิทิตน่าจะเป็นส่วนหนึ่งของคำตอบ
เริ่มฝึก
เช่นเดียวกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ชีวิตอาจารย์วิทิตมีจุดเริ่มต้นที่เชื่อมโยงไปได้ถึงสงครามโลกครั้งที่สอง บิดาของเขาคือศาสตราจารย์นายแพทย์ สมาน มันตาภรณ์ ผู้บุกเบิกการผ่าตัดหัวใจในประเทศไทย และปูชนียาจารย์ทางศัลยศาสตร์ของประเทศ นายแพทย์สมานได้รับทุนเล่าเรียนหลวงไปศึกษาที่สหราชอาณาจักรตั้งแต่อายุ 17 ที่โรงพยาบาลกายส์ มหาวิทยาลัยลอนดอน ซึ่งเมื่อใกล้สำเร็จการศึกษาอังกฤษก็เข้าสู่สงครามโลก ห้องของนายแพทย์สมานที่เต็มไปด้วยหนังสือกลายเป็นส่วนหนึ่งของเถ้าถ่านที่เกิดขึ้นจากการปูพรมทิ้งระเบิดถล่มเกาะอังกฤษโดยกองทัพเยอรมัน
“หลังสงครามโลก คุณพ่อกลับเมืองไทยมาช่วยก่อตั้งแผนกศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ที่จุฬาฯ แล้วผมก็เกิด เนื่องจากคุณพ่อมีความสัมพันธ์กับที่อังกฤษอยู่แล้ว พอผมอายุได้ 9 ขวบท่านก็เลยส่งผมไปเรียน ตัวผมเองก็เป็นคนอยากลองอะไรใหม่ๆ ตอนแรกที่บ้านจะส่งพี่ชายไปผมเลยขอไปด้วยครับ โดยไปเข้าโรงเรียนประจำที่อังกฤษ แถวบักกิ้งแฮมเชียร์ จากนั้นก็เข้าโรงเรียนมัธยมที่มาลเวิร์น ใกล้กับเวลส์ เขียนจดหมายกลับบ้านฉบับแรก เป็นเด็กยังไม่รู้เรื่องก็บอกคิดถึงบ้าน not happy ซึ่งต้องผ่านครู ครูอ่านแล้วยังล้อ อ้าว---ไม่แฮปปี้กับที่นี่เหรอ
...ผมเป็นเด็กอ้วน คิดว่าตัวเองขี้ขลาดและอ่อนแอ โดนแกล้ง แต่ผมก็อยู่ได้ เพราะบังเอิญเรียนดี ทำการบ้านแล้วได้รางวัลครับ เพราะฉะนั้น ไปเรื่อยๆ คนอื่นเขาก็เห็น แต่ช่วงมัธยมมีกิจกรรมที่ผมไปเป็นอาสาสมัคร ให้ชาวบ้าน ทำสวน ล้างหน้าต่าง ผมก็เกิดความรู้สึกตั้งแต่ตอนนั้นว่าคนเราต้องช่วยกัน ถ้าเจอคนดีๆ แล้วเราไม่ช่วย โลกจะเป็นยังไง เพราะคนดีๆ บางทีก็เขาต้องการความช่วยเหลือจากเรา เพื่อที่เขาจะได้ไปช่วยคนอื่นต่อ เป็นจุดเริ่มเล็กๆ ที่รู้สึกว่าเป็นสิ่งดีที่ทำอะไรเอื้อเฟื้อกับมนุษย์ ตอนนั้นโรงเรียนให้ทำกิจกรรมหรือเล่นกีฬา ผมไม่อยากจะเล่นกีฬา ก็เลือกทำกิจกรรมนี้ครับ
ผมเป็นเด็กอ้วน คิดว่าตัวเองขี้ขลาดและอ่อนแอ โดนแกล้ง แต่ผมก็อยู่ได้ เพราะบังเอิญเรียนดี แต่ช่วงมัธยมมันมีกิจกรรมที่ผมไปเป็นอาสาสมัคร ให้ชาวบ้าน ทำสวน ล้างหน้าต่าง มันก็เกิดความรู้สึกตั้งแต่ตอนนั้นว่าคนเราต้องช่วยกัน ถ้าเจอคนดีๆ แล้วเราไม่ช่วย โลกจะเป็นยังไง เพราะคนดีๆ บางทีก็เขาต้องการความช่วยเหลือจากเรา เพื่อที่เขาจะได้ไปช่วยคนอื่นต่อ
...ในทางกลับกัน ผมชอบเรียน ผมต้องการไปมหาวิทยาลัย มีคุณตาคุณยายของเพื่อนฝรั่งพาไปรับประทานน้ำชาที่ออกซ์ฟอร์ด (Oxford) ตั้งแต่เก้าขวบ ผมก็คิดว่าผมต้องเข้ามหาวิทยาลัยที่นี่ให้ได้ รู้สึกว่าเป็นสถานที่สำหรับเรียนรู้ เป็น Center of Learning ไม่ใช่การเรียนในโรงเรียน แต่เป็นวัฒนธรรมของการเพิ่มพูนภูมิปัญญา และผมประทับใจเพื่อนคุณพ่อที่เป็นทูตพูดภาษาฝรั่งเศส พอเข้ามัธยม ผมก็เลยเมเจอร์ภาษาฝรั่งเศส ผมรู้ตัวว่าการสอบ A-Level เพื่อเข้ามหาวิทยาลัยยาก และที่อังกฤษสอนฝรั่งเศสไม่ค่อยเก่ง พออายุ 14-15 ผมก็เลยเตรียมการโดยขอไปฝรั่งเศสช่วงปิดเทอมไปอยู่กับครอบครัวชาวฝรั่งเศสเพื่อเรียนภาษาที่เมืองตูร์ ตอนนั้นไม่ได้คิดว่าเป็นสิ่งที่สวยงามอะไรนัก จนตอนหลังถึงได้คิดว่าเราโชคดี ตูร์เป็นเขตที่สวยงามมาก บางครั้งตอนเจอประสบการณ์ต่างๆ เราคิดว่ามันดี แต่ไม่ได้นึกว่าอลังการอะไร จนมานั่งคิดย้อนหลังถึงได้รู้ครับ
...ผมไม่ค่อยเก่งวิชาฟิสิกส์ กับวิทยาศาสตร์ตอนสอบ A-level ก็เลยเลือกสอบวิชาประวัติศาสตร์โลก ภาษาฝรั่งเศส กับภาษาละติน ละตินไม่ใช่ภาษาพูดแต่ก็ช่วยให้เข้าใจอะไรง่ายขึ้น ทุกวันนี้ภาษาสเปนก็พออ่านได้ อิตาลีพออ่านได้ โปรตุเกสพออ่านได้ พออายุ 16-17 ก็สอบ A-level ได้ A หมด หลังจากนั้นก็สอบเข้าออกซ์ฟอร์ดได้ ชอบมหาวิทยาลัยมาก ชอบเสรีภาพไม่ชอบโรงเรียนประจำ ไม่ชอบการบังคับ ไม่ชอบกฎเกณฑ์ที่ไม่เข้าใจ อย่างตอนเด็กบังคับให้ผมเล่นกีฬา ผมไม่เข้าใจ แต่ตอนหลังพอไม่บังคับ เดี๋ยวนี้ผมเล่นกีฬาเกือบทุกวันเลยครับ
...เข้าออกซ์ฟอร์ดแล้วเลือกเรียนกฎหมาย เพราะการเรียนของเด็กที่กำลังเติบโตคือการเรียนเพื่อนำไปสู่อะไรสักอย่าง ตอนแรกผมก็คิดว่าผมจะลงเรียนทางภาษา แต่หลังจากคุยกับคุณพ่อ คุณครูแล้ว ไปลงกฎหมายดีกว่า กฎหมายมีโครงสร้าง มีเนื้อ และใช้เข้าได้หลายอาชีพ ภาษาผมพัฒนาได้เอง แต่สำหรับกฎหมายไม่ใช่ว่าจะเรียนด้วยตัวเองแล้วไม่มีใครคอยเช็คได้ แต่ในขณะเดียวกันผมก็ไม่ใช่นักกฎหมาย 100% ตั้งแต่เรียนผมมองว่ากฎหมายคือลู่ทางไปสู่อีกสิ่งหนึ่งเท่านั้น ตอนแรกก็ยังไม่ทราบว่าจะไปเป็นอะไร แต่ตอนนี้ทราบแล้วว่าผมจะเป็น development catalyst เป็นคนที่ช่วยเร่งการพัฒนา โดยผ่านกฎหมายครับ”
ดาบปลายปากกา
อาจารย์วิทิตอาจไม่มีโอกาสได้เลือกเรียนภาษา แต่ ‘ภาษา’ คือสิ่งหนึ่งที่แยกออกไม่ได้จากงานของเขา ภาษาอังกฤษอันเป็นภาษาสากลนั้นไม่ต้องพูดถึงอยู่แล้ว หรือแม้แต่ภาษาฝรั่งเศสก็ยังมีความจำเป็นในการใช้ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนที่หนีไม่พ้นการติดต่อเจรจากับหลายประเทศในทวีปแอฟริกา เหนือไปกว่านั้น ในบริบทของกฎหมายระหว่างประเทศที่ไม่มีสภาพบังคับสมบูรณ์แบบกฎหมายภายในประเทศ ภาษาคือเครื่องมืออันทรงพลังและบ่อยครั้งคือเครื่องมือหนึ่งเดียวที่จะกดดันหรือโน้มน้าวให้เกิดการกระทำหรือไม่กระทำใดๆ อาจารย์วิทิตคือนักวิชาการที่ย่างกรายเข้าไปเจรจากับผู้มีอำนาจของรัฐที่บางครั้งถูกขนานนามว่า rogue states หรือ ‘รัฐอันธพาล’ แบบตัวเปล่า แต่สิ่งที่เขาจะนำกลับมาบันทึกในรายงาน ร่างเป็นสุนทรพจน์หรือเขียนเป็นบทความอาจสร้างความเปลี่ยนแปลงได้อย่างไม่ต้องมีกองกำลังบังคับ
“ความจริงตอนที่ผมเป็นเด็กที่ไทย ไม่ค่อยได้อ่านเป็นตัวเป็นตน ต้องขอบคุณโรงเรียนที่อังกฤษ ทุกบ่ายเขาจะให้นั่งอ่าน มี reading period พอเริ่มอ่านเป็นแล้วมันก็ไหลไปเอง เพราะนักเรียนประจำต้องอ่านทุกบ่ายครับ ตอนหลังผมอ่าน La Peste (The Plague) ของอัลแบร์ กามูส์ เกี่ยวกับโรคติดต่อที่จริงๆ คืออุปมาอุปมัยถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 อ่านออนอเร่ เดอ บัลซัค ซึ่งเป็นคล้ายๆ ชารลส์ ดิกเคนส์ของฝรั่งเศส อ่าน เออซูล มิรูเอต์ อ่านฟรังซัวร์ โมรียัก เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมเป็นนักอ่าน ก่อนหน้านั้นมีแค่อ่านหนังสือสอบเล็กๆ น้อยๆ แต่การจมเข้าไปอยู่ในวรรณกรรมมันเริ่มที่จุดนั้นครับ
...ทุกวันอาทิตย์ก็ต้องฝึกเขียนจดหมาย ครูมาตรวจให้ ไปจากเมืองไทยเก้าขวบภาษาอังกฤษก็ได้แค่นิดๆ หน่อย จนครูทิม ซึ่งสอนประวัติศาสตร์ให้ผมลองเขียนโดยไม่เปิดหนังสือ วันนั้นเป็นวันแรกที่ผมเขียนได้โดยไม่ดูหนังสือ เสร็จแล้วครูทิมก็บอกว่าดีนะ ให้เขียนต่อ ไม่น่าเชื่อสามสิบปีให้หลังท่านมาเป็นหัวหน้าบริติช เคานซิล ที่เมืองไทย พอเจอผมยังเข้าไปขอบคุณเพราะท่านเป็นคนแรกที่บอกว่าผมเขียนหนังสือได้ ต่อมาขึ้นมัธยมก็ได้ครูดีมากชื่อครูลาฟ อายุ 90 กว่า สอนวิธีเขียนเรียงความ บอกเรียงความต้องมี key sentence ทุกย่อหน้าประโยคแรกสำคัญที่สุด และท่านไม่ได้สอนแต่ตำรา ท่านยังเอาสไลด์รูปภาพในมิวเซียมมาให้นักเรียนดู เอาเวอร์เมียร์ เอาแร็มบรันต์มาให้ดู อธิบายว่าแต่ละภาพมีความหมายอะไร ทำให้ผมเริ่มเข้าใจเรื่องศิลปะ อีกคนที่ต้องชมคือครูเทรเวอร์ ซึ่งสอนเขียนเรียงความเพื่อสมัครเข้าออกซ์ฟอร์ดเพราะต้องแข่งขันกันสูงมากครับ
...เคล็ดลับคือเขียนแบบมีวิจารณญาณ (Critical Analysis) แบบปิดหนังสือเขียน แต่ให้มีเนื้อหา ซึ่งวิจารณญาณจะมีได้ก็มาจากการมีฐานความรู้หลากหลาย ห้ามอ่านหนังสือเล่มเดียว ต้องอ่านเป็นสิบๆ เล่มแล้วก็ปิด ออกไปวิ่งแล้วกลับมาเขียน ผมทำอย่างนั้น ผมไม่มีทีวี ทุกวันผมไปห้องสมุดที่สนามม้แล้วก็ไล่อ่านหนังสือพิมพ์ทั้งราว อ่านไฟแนนเชียลไทมส์ อ่านนิวยอร์กไทมส์ ของไทยหลายอันผมก็อ่าน พวก glossy magazines ทั้งหลายก็อ่าน สีสันที่ได้จากพวกนิตยสารช่วยให้ผมเขียนได้แบบมีสีสัน ไม่ใช่แค่วิชาการ ล่าสุด เนื่องจากหนังสือเล่มใหม่ที่ผมกำลังเขียนเกี่ยวกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผมก็กำลังอ่าน History of South-East Asia ของเคมบริดจ์สี่เล่มพร้อมกัน ก่อนหน้านั้นก็อ่านประวัติศาสตร์ของทะเล พันกว่าหน้า เอามาใช้สอนหนังสือ เขียนบทความได้ครับ
การลงพื้นที่สำคัญมากแทนที่จะนั่งโต้วาทีทำแต่การเมืองระดับสูง แต่มูลค่าเพิ่มของยูเอ็นไม่ได้อยู่ที่ออฟฟิศ ผมพูดตลอดว่าผมไม่รับตำแหน่งของคุณ I’m not your employee ทุกอย่างผมทำให้ฟรี เครื่องมือผมซื้อเองทั้งนั้น ไฟฟ้าก็เงินผม มีแค่เบี้ยเลี้ยงนิดหน่อยเวลาเดินทาง เชิญมาหลายครั้งไม่เป็น
...สำหรับผม วรรณกรรม ศิลปะ บทกวีพวกนี้เป็นสิ่งที่ก่อสร้างเราในเรื่องการสื่อสาร ชื่อบทความของผมในหนังสือพิมพ์ไม่ได้มาจากกฎหมาย ชื่อมาจากสีสันของศิลปะครับ เวลาสอนน้องๆ ทำวิทยานิพนธ์ผมก็จะบอกว่าชื่อต้องเป็นกลาง ห้ามลำเอียง แต่ต้องเซ็กซี่ วันนี้สิ่งที่ผมเสียดายที่สุดในชีวิตนี้ คือผมไม่สามารถอ่านวรรณกรรมที่ดีที่สุดของโลกได้ทุกเล่ม ผมรู้สึกว่าวรรณกรรมคือจินตนาการในทางที่ดีของมนุษย์ วรรณกรรมสอนเรา มีแสงสี มีความหวัง จากความไม่ดีก็ช่วยให้เราอยากทำดี เป็นสิ่งที่วัดไม่ได้เป็นวัตถุ แต่สำหรับชีวิตมนุษย์ที่ผมเชื่อว่าสักวันก็จะไม่มีแล้ว ส่วนที่จะเหลือในพื้นที่ที่ล่องลอยอยู่ก็คือความดี คือศิลปะที่ดีที่สุดที่มนุษย์ผลิตออกมาได้ วัดไม่ได้แต่ยังเหลืออยู่ ผมจึงดีใจที่ได้ร่วมสร้างสิ่งนี้ ผมเก่งไม่พอที่จะเป็นนักเขียนวรรณกรรม แต่ตอนนี้ค้นคว้าอลังการมากเพื่อจะเขียนตำรา เพิ่งเข้าไปดู archive เอกสารจริงจากสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นข้อมูลสำหรับหนังสือกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หนังสือเล่มต่อไปของผมครับ”
ท่องโลก
ไม่ใช่เรื่องยากที่จะเห็นว่าอาจารย์วิทิตคือหนอนหนังสือตัวยง คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ กระทั่งจัดห้องทำงานของอาจารย์วิทิตไว้ในห้องสมุด เพื่อให้เอื้อต่อการค้นคว้าต่างๆ อย่างไรก็ตาม อาจารย์วิทิต ห่างไกลจากการเป็นเพียงนักวิชาการในหอคอยงาช้าง ด้วยตำแหน่งหลากหลายในสหประชาชาติ น้อยคนจะทราบว่าอาจารย์วิทิตทำงานให้สหประชาชาติ แต่ไม่ยอมเป็นลูกจ้าง ด้วยเหตุผลง่ายๆ เพียงว่าไม่ต้องการอยู่แต่ในออฟฟิศ นักเรียนนิติศาสตร์ จุฬาฯ ร่ำลือกันว่าอาจารย์อยู่พื้นที่เสี่ยงอย่างฉนวนกาซาหรือเกาหลีเหนือมากไม่แพ้การอยู่ที่คณะฯ ชีพจรลงเท้าดูจะเป็นทางเลือกของอาจารย์วิทิตมาตั้งแต่ไหนแต่ไร
“การลงพื้นที่สำคัญมากครับ แทนที่จะนั่งโต้วาที ทำแต่การเมืองระดับสูง การลงพื้นที่ทำให้เราได้เห็นอะไรต่อหน้าและแก้ปัญหาได้ทันที เช่น ตอนผมเป็น ผู้รายงานพิเศษของยูเอ็น ผมเน้นว่าเราต้องเยี่ยมคุก เยี่ยมบ้านที่ถูกปิด เวลาผมเจอชาวบ้านที่เขาติดต่อพ่อแม่พี่น้องเขาไม่ได้ผมก็จะสะกิดเจ้าหน้าที่สหประชาชาติช่วยตรวจสอบเลย ยูไปช่วยตามเรื่องพี่น้องของเขาหน่อยเขาจะได้เจอพี่น้องเขา เจ้าหน้าที่ยูเอ็นเงินเดือนเป็นแสนเป็นล้าน แต่ผมทำให้ฟรี สิ่งเหล่านี้สำคัญเท่าการเจรจาทางการเมือง หรือการเจอนายกฯ ผมไม่เชื่อการที่นั่งอยู่ที่นิวยอร์กหรือเจนีวา มันเป็นสิ่งที่ต้องทำ แต่มูลค่าเพิ่มของยูเอ็นไม่ได้อยู่ที่ออฟฟิศ ผมพูดตลอดว่าผมไม่รับตำแหน่งของคุณ I’m not your employee ทุกอย่างผมทำให้ฟรี เครื่องมือผมซื้อเองทั้งนั้น ไฟฟ้าก็เงินผม มีแค่เบี้ยเลี้ยงนิดหน่อยเวลาเดินทาง เชิญมาหลายครั้ง ไม่เป็นครับ
…เดิมทีตั้งแต่เด็กผมเองก็ไม่ได้ออกไปดูโลกนัก หมกอยู่กับหนังสือ แต่พี่ชายผมเขาชอบไปดูพิพิธภัณฑ์ถึงจุดหนึ่งก็เลยคิดได้ว่าผมน่าจะไปดูโลกบ้าง แต่เราก็ไม่มีเงินอะไรนัก พออายุสัก 17-18 ผมก็เริ่ม hitchhiking โบกรถเที่ยวทั่วยุโรปคนเดียว ไปทั่วเลย โบกรถจากตูร์ที่ไปบอร์โดซ์ ไปอยู่บ้านพักเยาวชน ก็เลยได้เห็นชีวิต ต้องรอรถต้องรู้วิธีว่าไปรอที่ไหน บางทีไม่มีรถ ฝนตกก็เปียก ต้องเตรียมการให้ดี นอนบนดินข้างถนนก็นอนมาแล้ว บางทีก็มีหลังคา บางทีก็ไม่มี นอนข้างสถานีรถไฟหลายที่มาก บางทีก็ถูกตำรวจไล่ แต่ไม่อันตราย เพราะสมัยก่อนยุคบีเทิลส์ ผมก็แต่งตัวรุงรังๆ ดูรุ่งริ่ง ไม่มีใครทำอะไรเพราะไม่มีเงินครับ
…มีครั้งหนึ่งที่โบกรถที่ฝรั่งเศส ผมก็รอตั้งนานแล้วมีคนหนึ่งที่ขับเดอซ์เชอโวซ์ เหมือนรถเต่าเปิดประทุน เขามารับผมแล้วก็ไปอยู่หอพักเยาวชน แล้วก็ไปเรื่อยๆ ตั้งหลายวันด้วยกัน ได้เห็นฝั่งตะวันออกของฝรั่งเศส แถวเกรโนเบิล ชาโมนี ไปกับเขาก็เลยได้เห็นโลกต่างๆ ติดตรึงอยู่ในสมองเลย อีกครั้งที่สแกนดิเนเวีย เดินข้ามฟากจากสวีเดนเข้านอร์เวย์ตอนค่ำ ไม่มีที่นอนก็นอนข้างถนนที่ศาลาของรถเมล์ คืนต่อไปก็ไปนอนข้างสถานีรถไฟเล็กๆ ระหว่างทางไปออสโล ไม่ใช่ในสถานี ข้างๆ ราง ปรากฏตอนค่ำมีเสียง กริ๊งๆๆ รถจักรยานมาจอด คุณป้าคนหนึ่งมาถามหนูมีที่พักหรือเปล่า ผมก็บอกเปล่า---ผมโบกรถ เขาก็บอกให้ไปนอนบ้านป้า ท่านให้ข้าว แนะนำให้รู้จักสามี วันรุ่งขึ้นให้สามีขับรถไปส่งผมที่ออสโล ตอนไปหาคุณลุงเพื่อนคุณพ่ออยู่ที่เวียนนาแล้วจะไปต่ออิตาลี ผมก็โบกผิดโบกถูกไปผิดทิศ คนก็น่ารักก็พาผมไปส่งถูกทิศ
...ผมถือว่าพวกนี้เป็นประสบการณ์ที่เปลี่ยนแปลงผม ผมประทับใจกับโลกที่คนไม่รู้จักเรายังเอื้อเฟื้อต่อเรา คนมาช่วยเราเจอกันแป๊บเดียวก็ไปแล้ว แต่เขาก็ยังใจดีกับเรา อยู่ในโลกคนเดียวเราอยู่ไม่ได้ครับ”
เริ่มภารกิจ
หลังจบปริญญาตรี อาจารย์วิทิตได้ต่อปริญญาโททางกฎหมายที่ออกซ์ฟอร์ด ก่อนจะเรียนต่อเนติบัณฑิตที่สำนักมิดเดิ้ลเทมเปิ้ล และฝึกว่าความในศาลจนเป็นทนายอังกฤษเต็มตัวอย่างไรก็ตาม อาจารย์วิทิตพบว่าตัวเองไม่ชอบว่าความในศาล และตัดสินใจรับทุนไปเรียนปริญญาโททางกฎหมายยุโรปที่ Université Libre de Bruxelles ในเบลเยี่ยม ขณะกำลังจะออกท่องเที่ยวหลังจากเรียนจบ อาจารย์วิทิตต้องกลับมางานศพคุณยาย ไม่มีใครรู้ว่าการกลับไทยครั้งนั้น คือสิ่งที่จะส่งออกอาจารย์วิทิตสู่เวทีระหว่างประเทศอย่างแท้จริง
“คุณตาผมคือพระยาโทณวณิกมนตรี คุณยายผมคือคุณหญิงโทณวณิก คุณยายถึงแก่กรรมผมก็เลยกลับมา คุยกับคุณพ่อว่าลองทำงานในไทยหน่อยก็ได้ คุณพ่อก็แนะให้มาสมัครจุฬาฯ ปรากฏวันแรกที่เข้ามาสมัคร เป็นวันสุดท้ายของท่านอาจารย์อุกฤษ (ศาสตราจารย์ ดร.อุกฤษ มงคลนาวิน) และเป็นวันแรกของท่านอาจารย์ประสิทธิ์ (ศาสตราจารย์พิเศษ ประสิทธิ์ โฆวิไลกูล) ในฐานะคณะบดี ผมก็เลยได้ผจญภัยมาด้วยกันกับอาจารย์ประสิทธิ์ในการเติบที่คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ผมก็เด๋อๆ จบภาษาไทยป. 4 เท่านั้น ต้องมาค่อยๆ เรียนรู้ มีคณาจารย์ พี่ๆ น้องๆ ช่วยเกลาภาษาให้ แต่นอกเหนือจากการสอน สิ่งที่ผมทำคือไปค่ายพัฒนาชนบท น้องๆ นิสิตมาชวนไปสร้างห้องสมุดในอีสาน ผมก็เลยได้ช่วยเรี่ยไรเงิน วิ่งขอน้ำกินมาให้น้องๆ เป็นสิ่งที่ช่วยจุดประกายว่าการพัฒนาแบบนี้ดี ถึงไม่มีน้ำมีไฟ อาบน้ำในลำธาร น้องๆ ช่วยให้ผมเติบโตในเรื่องนี้ครับ
ผมไปค่ายผู้ลี้ภัยที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งอยู่ข้ามเขตกับซีเรียเขาตั้งชื่อว่าอะไรรู้ไหม ‘ช็องเซลีเซ’ (Champs-Élysées) คนเขาอยู่ในค่ายลี้ภัยแต่เขาก็พยายามมองหาแสงสว่างพยายามดิ้นรน นี่คือสิ่งที่เขาอยากจะเป็น เขาเรียกถนนนั้นซึ่งไม่ได้เป็นถนนด้วย มีร้านกินแค่นิดหน่อยว่านี่คือช็องเซลีเซ แม้แต่ในยามสงครามคนเราก็ยังอยากมีอะไรที่ดีอะไรที่ปกติ
...และค่ายอาสาก็เป็นจุดเริ่มงานระหว่างประเทศของผม เพราะตอนกําลังทําค่ายอยู่ก็มีคำเชิญจากยูเอ็นมาที่คณะ บอกว่าต้องการเปเปอร์เรื่องผู้ลี้ภัยในประเทศไทยในกรอบของกฎหมายระหว่างประเทศ อาจารย์ประสิทธิ์ก็บอกว่าอาจารย์วิทิตทำนะ ผมบอกไม่สามารถทำได้เพราะว่าผมอยู่ในค่าย และผมไม่มีความรู้เรื่องนี้ครับ ท่านก็ปรารถนาดีมาก พูดสองสามหน ผมก็โอเค---ลองดู กลับมาจากค่ายก็วิ่งหาข้อมูล 4 วัน เพราะข้อมูลไม่ได้อยู่คณะนิติ ไปอยู่ที่รัฐศาสตร์ เพราะไม่มีใครเคยเขียน ก็เลยกลายเป็นบทความแรกๆ เกี่ยวกับผู้ลี้ภัยในประเทศไทยเป็นภาษาอังกฤษ ถูกนำไปเสนอที่ฟิลิปปินส์ สหประชาชาติชอบ เชิญไปร่วมกับสหประชาชาติเรื่องผู้ลี้ภัย หลังจากนั้นก็ไปเรื่อยๆ ไม่รู้กี่หน่วยงาน บอกให้ช่วยหน่อยก็ช่วยครับ”
ไร้พรมแดน
งานของอาจารย์วิทิตในเวทีระหว่างประเทศเรียกว่า “ไปเรื่อยๆ” อย่างแท้จริง เพราะหากไปค้นดูจะพบว่าเขาดำรงตำแหน่งในองค์กรและองค์การระหว่างประเทศมาอย่างหลากหลาย เช่น เป็นกรรมการในคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในประเทศซีเรีย ประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศโกตดิวัวร์ ประธานร่วมคณะทำงาน NGO เพื่อกลไกสิทธิมนุษยชนอาเซียน ที่ปรึกษาของหลายองค์การระหว่างประเทศ ฯลฯ แต่นอกเหนือจากการทำงานเป็นองค์คณะในลักษณะกรรมการที่สำคัญ อาจารย์วิทิตยังได้รับแต่งตั้งให้เป็น UN Special Rapporteur หรือ ‘ผู้รายงานพิเศษแห่งองค์การสหประชาชาติ’ ในหลากหลายกรณี เช่น ผู้รายงานพิเศษแห่งองค์การสหประชาชาติว่าด้วยสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศเกาหลีเหนือ ผู้รายงานพิเศษแห่งองค์การสหประชาชาติว่าด้วยการค้าเด็ก การค้าประเวณีเด็ก และสื่อลามกเด็ก
คนที่ไม่ได้ติดตามการเมืองระหว่างประเทศใกล้ชิดอาจไม่เห็นภาพการทำงานของ สเปเชียลราพอร์เทอร์ หรือ ‘ผู้รายงานพิเศษ’ แต่แท้ที่จริงตำแหน่งนี้ถือได้ว่าเป็นกลไกพิเศษของสหประชาชาติที่ตั้งขึ้นมาเพื่อแก้ไขสถานการณ์สิทธิมนุษยชน เพราะผู้ดำรงตำแหน่งนี้ไม่ได้ถือว่าสังกัดประเทศใด และไม่ได้เป็นแม้แต่เป็นพนักงานของสหประชาชาติ ผู้รายงานพิเศษได้รับการเชื้อเชิญมาจากหลากหลายวงการไม่ว่านักวิชาการ นักเศรษฐศาสตร์ นักกฎหมาย ฯลฯ โดยผู้รายงานพิเศษแต่ละคนสามารถใช้เอกสิทธิความเป็นกลางของตำแหน่งท่องไปในพื้นที่ต่างๆ ตั้งแต่ในครม.ไปจนถึงในคุก เพื่อเก็บข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นสิทธิมนุษยชน กดดันหรือเรียกร้องให้มีการแก้การแก้ไขประเด็นปัญหา ตลอดจนออกรายงานสรุปและข้อแนะนำแก่สหประชาชาติ หากโลกนี้ยังมีอัศวินที่ตระเวนม้าเพื่อดูแลสุขทุกข์ของผู้คน ผู้รายงานพิเศษย่อมนับเป็นหนึ่งในนั้น
“ผมทำในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่สหประชาชาติเลือกให้ช่วยชาวบ้านครับ ไม่เกี่ยวกับสัญชาติ ผมจะไม่เปรียบเทียบว่าประเทศนั้นดีไม่ดี แต่จากข้อมูลเราก็จะเห็นว่าในแต่ละสังคมมีการซื้อขายหรือเอาเปรียบเด็ก ก็ควรมีการปรับปรุงได้ เช่น ผมเสนอให้ออสเตรเลียออกกฎหมายลงโทษผู้เอาเปรียบเด็กทางเพศแบบข้ามประเทศออสเตรเลียก็เปลี่ยนกฎหมาย ของไทยตอนนั้นก็มีประเด็นเด็กเป็นเหยื่อค้าประเวณี ผมก็ติดต่อรัฐบาลไทยดำเนินการเพื่อปกป้อง หรือในตะวันออกกลาง จำได้มีการแจ้งว่าเด็กตัวกะเปี๊ยกถูกใช้เป็น camel jockey ขี่อูฐ ผมก็เขียนกลับไปแจ้งรัฐบาลว่าช่วยมีกฎหมายห้ามหน่อย เขาก็ออกเป็นกฎหมายห้ามไม่ให้ใช้เด็กอายุหรือน้ำหนักต่ำกว่าเท่านี้ๆ เป็น camel jockey มีประเด็นทั้งนั้นไม่ว่าที่ไหน อย่างประเทศใหญ่ประเทศหนึ่งของโลกก็มีเรื่องการขายเด็กผ่าน adoption ครับ
...จากนั้น สหประชาชาติก็เชิญไปเป็นผู้รายงานพิเศษฯ ประเทศเกาหลีเหนือ เป็นประธานกรรมการสืบสวนสอบสวนในเรื่องไอวอรีโคสต์ และกรรมการสืบสวนสอบสวนของสงครามซีเรีย อลังการมากได้เรียนรู้เกี่ยวกับสงคราม คน 6-7 ล้านคนหนีข้ามประเทศ แต่สิ่งที่จุดประกายในจิตใจคือผมได้เจอครูในค่ายลี้ภัย ตั้งซุ้มสอนหนังสือเด็ก ผมเห็นว่าแม้ในยามสงครามก็ยังมีคนที่พยายามทำสิ่งที่ดี ดังนั้น อย่าไปคิดว่าทุกคนจะเอาแต่เครียดและไม่ทำอะไรในยามสงคราม ผมไปค่ายผู้ลี้ภัยที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งอยู่ข้ามเขตกับซีเรีย เขาตั้งชื่อว่าอะไรรู้ไหม ‘ช็องเซลีเซ’ (Champs-Élysées) คนเขาอยู่ในค่ายลี้ภัย แต่เขาก็พยายามมองหาแสงสว่างพยายามดิ้นรน นี่คือสิ่งที่เขาอยากจะเป็นครับ เขาเรียกถนนนั้นซึ่งไม่ได้เป็นถนนด้วย มีร้านกินแค่นิดหน่อยว่านี่คือช็องเซลีเซ แม้แต่ในยามสงครามคนเราก็ยังอยากมีอะไรที่ดีอะไรที่ปกติ ดังนั้น การทำสิ่งดีๆ ไม่ยากอะไรหรอก ไม่จำเป็นต้องออกไปทำอะไรทั่วโลก ผมแค่โชคดีที่มีโอกาสแต่คุณเริ่มที่บ้าน อย่าตีเด็ก นั่นแหละสิทธิมนุษยชนแล้วครับ”
น่าภูมิใจว่าแม้ในยามที่เรื่องใหม่ในกระแสสังคมอย่างความหลากหลายทางเพศทวีความสำคัญและต้องได้รับการการดูแลมากขึ้น อาจารย์วิทิตคือผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งจากสหประชาชาติให้เป็น ‘ผู้เชี่ยวชาญอิสระด้านการป้องกันความรุนแรงและการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศวิถีหรืออัตลักษณ์ทางเพศ’ (Independent Expert on the Protection against Violence and Discrimination based on Sexual Orientation and Gender Identity: SOGI) ในปี 2016 หรือเรียกได้ว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญทางสิทธิมนุษยชนของกลุ่ม LGBTQI+ คนแรกของยูเอ็น
“เหมือนเป็นชะตากรรมครับ มีคนส่งสัญญาณสะกิดให้ผมขอเป็นแคนดิเดตสำหรับตำแหน่งนี้เป็นครั้งแรกที่เราต้องขอเสนอตัวเป็นแคนดิเดตเพราะสมัยก่อนเขาเชิญโดยตรง ตอนนั้นผมเป็นกรรมการสืบสวนสอบสวนเรื่องซีเรียเลยไม่ได้คิดจะสมัคร แต่มันก็อยู่ในใจ วันหนึ่งผมก็เปิดคอมลองดูว่าตำแหน่งนี้สมัครกันยังไง เพราะเป็นครั้งแรกที่ต้องมีการสมัคร ปรากฏว่ามีอยู่สองฟอร์ม ฟอร์มแรกคือประวัติชีวิต ฟอร์มสองคือยุทธศาสตร์ ผมก็ลองกรอกเล่นๆ กรอกฟอร์มหนึ่งเสร็จ ผมก็นั่งคิดว่าผมมากรอกทำไม เพราะผมมีตำแหน่งอยู่แล้ว และก็เป็นงานสำคัญที่ช่วยเหลือชาวบ้าน เป็นตอนเย็นวันเสาร์ ที่ตึกใหญ่ของสหประชาชาติที่เจนีวา ก็คิดว่าเลิกๆ---ซิลลี่ ปิดเครื่อง ไม่ได้ส่ง แต่ปรากฏว่ามันไป วันรุ่งขึ้น ยูเอ็นติดต่อกลับมา บอกให้วิทิตกรอกฟอร์มที่สองด้วย ก็แปลกดีครับ
ทั้งหมดมันเป็นเรื่องอำนาจ รัฐที่ฐานอำนาจเป็นแนวดิ่งจะสอนแต่ประวัติศาสตร์ของผู้ชนะผมเลยชอบอ่าน alternative history อ่านประวัติศาสตร์อีกแบบหนึ่ง เพื่อให้เห็นประวัติศาสตร์ที่หลากหลายก่อนเชื่อข้อความที่เขียน มันช่วยทำหน้าที่เป็น check and balance ของอำนาจ ส่วนจะทำในรูปแบบไหน อย่างไรคือศิลปะ ผมเริ่มช่วยสหประชาชาติมา 40 กว่าปีในบทบาทต่างๆ ผมก็ไม่ได้ไปช่วยแก้ปัญหาอะไรได้มากมาย แต่ผมว่าผมเป็นคนบันทึกประวัติศาสตร์ ที่เป็นกลาง
...เผอิญผมเป็นคนมียุทธศาสตร์ ผมก็เลยกรอกฟอร์มที่สอง ตั้งเป็นยุทธศาสตร์ 6 อย่างเรื่อง LGBTQI+ คือ 1. ต้อง decriminalize ไม่ถือว่าความรักระหว่างเพศเดียวกันเป็นอาญา เพราะช่วงนั้นมีประมาณ 70 ประเทศที่ถือว่าการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างเพศเดียวกันเป็นความผิดทางอาญา 2. ต้องมีกฎหมายที่ป้องกันไม่ให้ถูกเลือกปฏิบัติทาง LGBTQI+ 3. ต้องมีกฎหมายที่รับรองอัตลักษณ์ทางเพศให้เปลี่ยนเพศในบัตรประชาชนได้ 4. ต้องมี depathologization คือไม่ให้เห็นว่าความหลากหลายทางเพศเป็นเรื่องแปลกหรือผิดเพี้ยน 5. ต้องมี sociocultural inclusion แล้วสุดท้ายก็คือ 6. การศึกษาที่เอื้อเฟื้อ ไม่บูลลี่กัน ส่งฟอร์มเข้าไปแล้วภายใน 2-3 วันเขาเรียกผมไปสัมภาษณ์แล้วหลังจากนั้นก็เลือกแต่ผมอยู่ได้ปีเดียว ต้องลาออกเพราะไม่สบาย จังหวะจึงตลกดี มีบุญในการก่อร่างสร้างไว้นิดๆ แล้วก็ส่งให้คนอื่นทำต่อครับ
...หน้าที่ผมคล้ายๆ เป็นผู้เก็บ วิเคราะห์ และตรวจสอบข้อมูลเพื่อนำเสนอสิ่งที่จะช่วยชาวบ้านกลับไปทางสหประชาชาติ ผมถึงเรียกว่าตัวเองเป็น development catalyst ในการทำสิ่งเหล่านี้ต้องมีศิลปะในการเสนอ ในหลายกรณีรายงานของผมไม่มีการระบุชื่อคนเลย เพราะว่าการจี้ไปที่ชื่อคน โอกาสพลาดมีเยอะ และทำให้เขาแค้นไม่จำเป็นต้องเป็นอย่างนั้น นี่คือศิลปะ การเมืองเป็น art of the possible อันนี้ก็คล้ายๆ กัน บางทีเขียนรายงานยูเอ็นไม่ได้ ผมก็ไปเขียนหนังสือพิมพ์ เขียนหนังสือพิมพ์ไม่ได้ผมก็เขียนงานวิชาการหรือเป็นหนังสือผมเอง หรือไม่ก็เขียนเป็นสปีชเลกเชอร์หรือสปีชที่ช่วยกระตุ้นคนอาจสำคัญเท่ากับรายงานที่เขียน และผมก็จะตามประเมินดูว่าเวลาคนเขาฟังเราแล้วเขาคิดยังไง จะสร้างผลกระทบกับเขาได้ไหมครับ”
เขียนประวัติศาสตร์
คำว่า ‘ผู้รายงานพิเศษ’ อาจชวนให้นึกถึงการทำเอกสารในที่ประชุม แต่สำหรับอาจารย์วิทิต รายงานไม่ใช่เพียงผลผลิตทางเอกสารแต่คือประวัติศาสตร์ ยิ่งไปกว่านั้น ประวัติศาสตร์เองก็เป็นมากกว่าเพียงเรื่องเล่าของอดีต แต่คือส่วนหนึ่งของกลไกแห่งอำนาจที่กำหนดความเป็นไปของสังคม และชีวิตผู้คน
“ส่วนมากคาบแรกของวิชาสิทธิมนุษยชน ผมจะให้น้องๆ เขียนที่มาของสิทธิมนุษยชนตามประวัติศาสตร์ไทยคืออะไร ส่วนมากก็จะเขียนถึงพ่อขุนราม จากสุโขทัยจนถึงอยุธยา ผมก็จะถามว่าแล้วชาวใต้ล่ะครับ เขาอยู่มาตั้งนาน เขาไม่มีวัฒนธรรมสิทธิมนุษยชนอะไรที่เกี่ยวกับเราเลยเหรอ หรือตำราเรื่องสิทธิมนุษยชนมักจะเขียนเรื่องแมกนาคาร์ตา ในศตวรรษที่ 13 แต่ศิลาจารึกของพ่อขุนรามก็มีมาภายใน 50 ปีหลัง แล้วทำไมเราต้องเจาะจงเรียนแมกนาคาร์ตาเป็นบทแรกของสิทธิมนุษยชน ไม่ต้องพูดถึงว่า nothing is perfect แมกนาคาร์ตาที่เป็นต้นตอของรัฐธรรมนูญ เขียนไว้ว่า “อย่าจ่ายดอกเบี้ยแก่ชาวยิว” Declaration of Independence ของสหรัฐฯ ก็เขียนโดยบุรุษ 5 คน ซึ่งบางคนอาจจะมีทาสอยู่ในสวน ในความไม่สมบูรณ์มีความคิดบางอย่างที่ดี แต่ก็ไม่สมบูรณ์ ดังนั้น ความหลากหลายของข้อมูลและการตรวจเช็คสำคัญครับ
...ผมไปเป็นนักวิชาการที่เขาให้ทุนเพื่อเดินทางที่อเมริกา ผมขอไปอยู่กับเผ่านาวาโฮ เผ่าซู ไปนอนบนดิน ผมไปปีสองพันกว่าแล้ว น้ำก็ไม่มี ไฟก็ไม่มีอยู่กลางดินแดง จะไปห้องน้ำ หัวหน้าเผ่าก็บอกไปเข้าในทุ่ง นั่งดูดาวอยู่ข้างบนไม่มีน้ำอาบ ผมก็เอ๊ะ---อีสานเรายังดีกว่าหรือเปล่า ผมก็เลยเริ่มอ่านประวัติศาสตร์ที่เขียนโดยเผ่าครับ เลยได้รู้ว่าพอการล่าอาณานิคมเข้ามามีการบีบชาวอินเดียนออกไป แยกลูกเผ่าไป assimilate โดยผ่านศาสนา เกิดขึ้นทั่วโลก ในแคนาดา ก็ห้ามลูกชาวเผ่าพูดภาษาอินเดียนต้องแต่งกายตามโรงเรียนของกลุ่มที่อ้างว่าศิวิไลซ์ ชาวอะบอริจิน ลูกก็ถูกแยกออกมาแบบเดียวกันแล้วคนเราไม่ว่าจะเผ่าไหน ถ้าเราถูกพรากคนที่เรารักที่สุด เจเนอเรชันแล้วเจเนอเรชันเล่า เราจะไม่คิดอยากฆ่าตัวตาย หรือทำลายตนเองเหรอ เพราะฉะนั้นเวลาเราไปนั่งดูคดีในศาลเผ่า ที่เห็นว่าชนเผ่าทั้งหลายทั่วโลกเขาดื่มเหล้าเยอะ มีการใช้ความรุนแรงเยอะ เราจะไม่โทษเขาอย่างเดียวเราจะเห็นว่าประวัติศาสตร์เขานั่นแหละทำลายเขาครับ
...ทั้งหมดเป็นเรื่องอำนาจ รัฐที่ฐานอำนาจเป็นแนวดิ่งจะสอนแต่ประวัติศาสตร์ของผู้ชนะ ผมเลยชอบอ่าน alternative history อ่านประวัติศาสตร์อีกแบบหนึ่ง เพื่อให้เห็นประวัติศาสตร์ที่หลากหลายก่อนเชื่อ และในฐานะที่เป็นบุคคลที่ช่วยเรื่องการพัฒนา ผมก็พยายามสร้างคานสมดุลอำนาจ การช่วยเป็นครู การช่วยยูเอ็น ช่วยชาวบ้าน ช่วยเอ็นจีโอ ข้อความที่เขียน จะช่วยทำหน้าที่เป็น คาน check and balance ของอำนาจ ส่วนจะทำในรูปแบบไหน อย่างไรคือศิลปะ ผมเริ่มช่วยสหประชาชาติมา 40 กว่าปีในบทบาทต่างๆ ผมมานั่งคิดว่าจริงๆ ผมก็ไม่ได้ไปช่วยแก้ปัญหาอะไรได้มากมาย แต่ผมว่าผมเป็นคนบันทึกประวัติศาสตร์ ที่เป็นกลาง เช็คมาแล้ว ดังนั้น สมมติถ้าน้องๆ ต้องการรู้เรื่องการขายเด็กหรือเรื่องเหยื่อโสเภณี ในยุค 1990-1991 น้องจะเชื่อใคร น้องคงเชื่องานผมมั้งครับ หรืออีกสิบปีข้างหน้า ถ้าน้องอยากรู้ว่าในช่วงปี 2016-2017 ซึ่งเป็นช่วงที่ disinformation แพร่หลาย น้องจะเชื่อการประเมินเรื่อง LGBTQI+ ของใคร น้องก็คงกลับไปอ้างการประเมินของสหประชาชาติ ประวัติศาสตร์ทำให้เรารู้จักตนเอง เราไม่สามารถเดินก้าวหน้าไปได้หรอก ถ้าเราไม่รู้จักตนเองครับ
คุณตั้งโจทย์ไว้ตรงไหนล่ะ คือผมไม่อยากจะเซ็ง ผมจะตั้งไว้นิดเดียวก่อน ว่าเราช่วยได้นิดหนึ่งก็พอแล้ว แต่ถ้ามันจะมีผลกระทบอลังการผมก็ยินดี แต่ผมไม่ใช่พวกจะเปลี่ยน จะปฏิวัติ ผมไม่ใช่คนอย่างนั้น แล้วผมไม่ไปเซ็งด้วยหรอก
..ต่อไปยุคใหม่ที่น้องๆ และผมจะเจอก็คือยุคครึ่งมนุษย์ ยุคโรบอท ซึ่งเขาก็สามารถมีการสร้าง narrative อะไรได้เอง แต่เขาไม่ใช่มนุษย์ ต่อไปโรบอทที่สร้างขึ้นมาในอนาคต อาจจะแสดงจิตสำนึกบางอย่าง ความจริงใจบางอย่าง หรือโชว์ว่าเขาเอื้อเฟื้อได้มากกว่าเราอีก แต่สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ถูกโปรแกรมมาแล้ว หรือเป็นสิ่งที่โรบอทโปรแกรมขึ้นมาเอง ซึ่งเราก็ต้องไม่ลืมว่าโรบอทก็เป็นโดรนที่ตัดสินใจฆ่ามนุษย์ได้ หรือเป็นโรบอทที่เพ่งเล็งเด็กเพื่อเอาเปรียบ ขายของ หลอกออนไลน์ได้ สิ่งที่เราต้องถามคือมูลค่าเพิ่มของมนุษย์ในอนาคตคืออะไรครับ”
หัวใจงาน
ภารกิจการดำเนินงานของอาจารย์วิทิต อาจเป็นไปในระดับนานาชาติ หรือเรียกได้ว่าภารกิจระดับโลก ยืนยันโดยคำกล่าวของผู้อำนวยการใหญ่องค์การยูเนสโกในโอกาสการมอบรางวัล UNESCO Human Rights Education Prize ให้แก่อาจารย์วิทิตในปี 2004 ว่า “ในการดำเนินกิจกรรมเพื่อสิทธิมนุษยชน อาจารย์วิทิตพยายามส่งเสริมให้เกิดความเคารพในสิทธิมนุษยชนทั่วโลก ไม่ว่าในประเทศพัฒนาแล้วหรือกำลังพัฒนา ท่านได้ทำอย่างดีที่สุดที่จะปลุกสาธารณะให้ตื่นรู้เกี่ยวกับการเอาเปรียบชนกลุ่มที่เปราะบางหรือเสียเปรียบ อาทิผู้หญิงและเด็กตลอดจนความอัตคัตและความยากจนรุนแรงที่ขยายตัวขึ้น ท่านได้ปกป้องและเสริมส่งหลักของความเป็นสากล ความแบ่งแยกไม่ได้ หรือความต้องพึ่งพิงและเกี่ยวพันกันระหว่างสิทธิมนุษยชนในทุกมิติ ไม่ว่าพลเมือง การเมือง วัฒนธรรม เศรษฐกิจ หรือสังคม ท่านได้ทำให้ความเข้าใจเรื่องความเกี่ยวโยงระหว่างสิทธิมนุษยชน สันติภาพ ความมั่นคง และประชาธิปไตยรุดหน้า”แต่สำหรับอาจารย์วิทิตเอง ดูเหมือนจะเห็นว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเพียงส่วนที่ถูกตีฟูขึ้นมา หากไม่ได้มีความหมายมากไปกว่าจุดเริ่มเล็กๆ ของการมีความตั้งใจที่ดี
“คุณตั้งโจทย์ไว้ตรงไหนล่ะครับ คือผมไม่อยากจะเซ็ง ผมจะตั้งไว้นิดเดียวก่อน ว่าเราช่วยได้นิดหนึ่งก็พอแล้ว แต่ถ้าจะมีผลกระทบอลังการผมก็ยินดี แต่ผมไม่ใช่พวกจะเปลี่ยน จะปฏิวัติ ผมไม่ใช่คนอย่างนั้น แล้วผมไม่ไปเซ็งด้วยหรอก ผมอยากจะเห็นประชาธิปไตยในทุกประเทศ ถึงวันนี้ผมไม่เห็น ผมก็ยังจะทำ ก็โชคดีว่าได้เห็นผลแล้วนิดหนึ่ง ก็ชื่นใจ เรื่องสิทธิมนุษยชนอาจมาถึงตัวเราเมื่อไหร่ก็ได้ เราอาจเคยมีบรรพบุรุษเป็นผู้ลี้ภัย ตัวเราหรือคนรุ่นหลังจากเราเขาอาจจะเป็นผู้ลี้ภัย เราจึงต้องช่วยกัน อย่ามานั่งเทศน์กันดีกว่า ผมแค่ถามน้องๆ นักศึกษาว่าอยากทำไหม ไม่ทำก็ไม่ว่าอะไร แค่มีใจเอื้อเฟื้อผมก็พอใจแล้วครับ
...เป็นการเดินทางของผมด้วย ผมกำลังหาความหมายในชีวิตของผม ชีวิตส่วนตัวของผมก็ขึ้นๆ ลงๆ เคยมีแฟนแล้วเขาก็ไป ก็ขึ้นลงเหมือนหลายๆ คนครับ แต่ในชีวิตทำงานของผม ผมค่อนข้างจะโชคดีที่ผมสามารถเป็นสะพานเล็กๆ สำหรับตัวผมและคนอื่น บางครั้งก็อาจจะไม่แฮปปี้ แต่ผมจะพยายามทำให้มันโอเค มีหลักคือ หนึ่ง ผมต้องฟิตทางร่างกาย มีเอนโดฟินพอที่จะอารมณ์ดี เล่นกีฬาอาทิตย์ละ 5 หน ทั้งว่ายน้ำ ทั้งโยคะ แล้วก็สวดมนต์ ดุลย์ระหว่างกายกับจิตและงานสำคัญ ผมรู้ว่าผมจะเจอปัญหาเยอะทั้งวันในสนาม ต้องไปเยี่ยมคุก ต้องโต้วาทีกับนักการเมืองบ้าง เราก็แก้กันไป จบวันแทนที่จะบอกว่าแย่มาก ทีมของเราก็ยิ่งเซ็งกันไปหมด ไม่---เราต้องเป็นที่บรรเทาใจให้กับเขา ให้เขารู้สึกสงบ แต่เราต้องฟิตพอที่จะบรรเทา สองก็คือว่า ผมพยายามไม่เอาชีวิตส่วนตัวมากระทบชีวิตการงาน ชีวิตส่วนตัวผมไม่ได้ดี แต่การงานของผมที่สร้างมาเจอทางที่ดีแล้วในหลายมิติ ผมก็สร้างต่อ ผมต้องข้ามฟากให้ได้ ไม่เอาส่วนที่ไม่ดีมากระทบส่วนที่ผมอยากจะดีครับ
...ผมไม่ได้นับเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องกาย แต่เป็นเรื่องจิตวิญญาณ จิตใจที่เอื้อเฟื้อ สนธิสัญญาเราเขียนได้แต่ไม่ใช่หรอก มันเป็นแค่เรื่องแบบ ‘ช่วยหน่อยนะ ช่วยนิดนึงนะ’ ผมมีความรู้สึกข้างในว่า ถ้าเราไม่ช่วยคนที่พยายามจะทำดีแล้ว โลกของเรามันจะเป็นยังไง ไม่ได้คิดว่าตัวเองเป็นคนดี หรือเขียนเก่งอะไร แต่บังเอิญมีโอกาสมากกว่าหลายคน ก็อยากจะใช้โอกาสนี้ ทำอะไรที่สร้างสรรค์บ้างในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ที่เราอยู่ในโลกนี้ แล้วผมก็ได้ค้นเจอตัวผมนิดๆ เพราะ self-discovery ไม่ใช่เรื่องการเป็นคนดีอย่างเดียว คือการค้นพบว่าตัวเราเกี่ยวพันกับโลกนี้ด้วยครับ มีปรัชญาเผ่าอินเดียนว่าการมุ่งสู่อนาคต ให้มองเหนือ-ใต้-ออก-ตกให้หมด แต่มองตรงนู้นแล้ว อย่าลืมมองตรงนี้นะ (ชี้ที่ตัวเอง) จึงต้องไปด้วยกันครับ”
เมื่อการสัมภาษณ์สิ้นสุดลง อาจารย์วิทิตไม่ลืมเตือนให้เราช่วยกันปิดไฟ เรื่องเล่าต่างๆ บวกกับความเรียบง่ายสมถะของอาจารย์วิทิตที่ปรากฏชวนให้นึกไปถึงอีกหนึ่งคำพูดที่ตกทอดมาในหมู่ชาวอินเดียนแดง “ชีวิตนั้นมันจะเป็นอะไรเล่า มันก็เป็นแค่เพียงแสงวิบวับของหิ่งห้อยในราตรี คือควันจากปลายจมูกของควายป่าในหน้าหนาว เป็นแค่ริ้วเงาที่แล่นตัดไปตามทุ่งหญ้าก่อนจะเลือนลับไปในอัสดงค์” เชื่อว่าอาจารย์วิทิตเองก็ไม่ได้เห็นชีวิตมีสาระยั่งยืนอะไรมากกว่านั้น
“ไม่รู้คุ้มหรือไม่คุ้ม แต่ผมพอครับ คนเอื้อเฟื้อกับผมก็เยอะแยะ มีอาหารรับประทาน มีไวน์รับประทาน ไม่ได้หรูหรา ไวน์จากกล่องประมาณ 2 แก้วต่อวัน ตามทฤษฎีฝรั่งเศสว่าดีสำหรับละลายไขมัน ไม่รู้จะหาอะไรเพิ่ม อาจจะมีเกร็ดความรักหน่อย เพื่อนมิตรหน่อย ฐานความรู้ที่เพิ่มพูน จะเอาอะไรอีกครับ”
ไม่ว่าคำถามนี้จะนำสู่คำตอบอย่างไรสำหรับคนอื่น
ดูเหมือนอาจารย์วิทิตจะมีคำตอบที่เพียงพอแล้วสำหรับตัวเขาเอง ■