HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

ECONOMIC REVIEW


ย้อนเวลา ชะลอวัย ทำได้แล้วและกำลังทำต่อไป

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ
ที่ปรึกษา
กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร


30 กันยายน 2566

เรื่องน้ำพุแห่งความเยาว์วัย (Fountain of Youth) ที่อาจมองกันว่าเป็นเพียงนิยายหรือเรื่องงมงายนั้น เทคโนโลยีปัจจุบันทำให้เกิดขึ้นจริงได้แล้วกับหนูทดลอง และกับเซลล์มนุษย์ในห้องทดลอง ผมจึงขอเล่าเรื่องนี้และความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในการชะลอวัยหรือแม้กระทั่งย้อนเวลาทำให้หนูวัยชรา กลับกลายมาเป็นหนูที่มีสุขภาพแข็งแรงและอายุยืนเกินกว่าปกติได้ นอกจากนี้ ยังมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้านอื่นๆ เช่น ยา Wegovy ที่พบว่า นอกจากรักษาโรคเบาหวานแล้ว ยังช่วยลดน้ำหนักตัว และลดความเสี่ยงจากการเป็นโรคหัวใจอีกด้วย ทั้งนี้ผมจะขอแบ่งเป็น 2 ตอน

ตอนที่ 1: การโคลน (Cloning) แกะ ดอลลี

มีหลักฐานอะไรที่จะบอกว่า วิทยาศาสตร์สามารถย้อนเวลา ทำให้เซลล์ที่อายุมากหมุนเวลากลับกลายเป็นเซลล์ที่อายุน้อยได้ ในเรื่องนี้ได้มีการทำการพิสูจน์ในหลักการ (proof of concept) แล้วจากการโคลนแกะพันธุ์ Finn Dorset ชื่อดอลลี ที่เกิดเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 1996

แกะดอลลีมีแม่ 3 ตัว ตัวแรกเป็นแกะพันธุ์เดียวกัน อายุ 6 ปี (ซึ่งเทียบได้ว่าอยู่ในวัย ‘กลางคน’ เพราะแกะจะมีอายุประมาณ 12 ปี) โดยได้มีการนำเอาดีเอ็นเอจากนิวเคลียสของเซลล์เต้านมของแกะตัวนั้นออก แล้วนำเอาไปใส่ในไข่ของแกะพันธุ์ Scottish Blackface แต่เอาดีเอ็นเอในไข่ดังกล่าวออกไปหมด และทดแทนด้วยเซลล์ของแกะฟินน์ ดอร์เซตเพียงตัวเดียว กล่าวคือ ไม่เหมือนกับการผสมพันธุ์แบบเด็กหลอดแก้ว (IVF) ที่นำไข่จากผู้หญิงมาให้สเปิร์มของผู้ชายทำการปฏิสนธิ เพื่อให้ได้ลูกที่มีโครโมโซมของทั้งพ่อและแม่คนละครึ่ง หมายความว่า ในกรณีนี้จะเป็นโครโมโซม ของแม่แกะพันธุ์ฟินน์ ดอร์เซตแต่เพียงตัวเดียว

ไข่ของแกะพันธุ์สก็อตติช แบล็คเฟสที่ถูกแยกดีเอ็นเอออกมาและใส่ดีเอ็นเอของพันธุ์ฟินน์ ดอร์เซตนั้นถูกนำไปไส่ในครรภ์ของแกะพันธุ์สก็อตติช แบล็คเฟสอีกตัวหนึ่ง

เรื่องน้ำพุแห่งความเยาว์วัยที่อาจมองกันว่าเป็นเพียงนิยายหรือเรื่องงมงายนั้น เทคโนโลยีปัจจุบันทำให้เกิดขึ้นจริงได้แล้วกับหนูทดลองและกับเซลล์มนุษย์ในห้องทดลอง

เมื่อดอลลีเกิดมาก็พบว่า เซลล์ของดอลลี ‘เป็นเซลล์ของทารก’ และโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่เหมือนกับแกะอื่นๆ ที่ผสมพันธุ์และคลอดตามปกติ ประเด็นคือ ดีเอ็นเอของแม่ของดอลลีที่มีอายุ 6 ปีแล้ว สามารถย้อนเวลากลับไปเป็นเซลล์ทารกได้อย่างไร คำตอบคือในกระบวนการทำโคลนดังกล่าว ได้มีกลไกอะไรก็ไม่ทราบได้ที่ทำให้เซลล์จากเต้านม ย้อนเวลากลับกลายเป็นเซลล์ต้นกำเนิด (pluripotent stem cell) ที่มีความสามารถเปลี่ยนแปลงเป็นเซลล์ประเภทต่างๆ ของร่างกาย (ประมาณ 200 ประเภท) ทุกชนิดที่พบในตัวอ่อน

การคลอดของดอลลีนั้นพิสูจน์ได้ทันทีว่า ไม่ได้มีดีเอ็นเอของไข่ของแกะตัวแม่ หรือจากแกะตัวที่อุ้มท้องจนคลอด เพราะแกะทั้งสองเป็นแกะพันธุ์หน้าสีดำ แต่ดอลลีนั้น มาจากเซลล์ของแกะที่หน้าสีขาว

ดอลลีมีชีวิตอยู่แบบแกะปกติ โดยมีลูก 6 ตัวแต่อายุสั้นเพราะติดเชื้อไวรัส JSRV ทำให้เกิดมะเร็งในปอด (แกะตัวอื่นๆ ในสถานีทดลองก็ติดเชื้อเช่นกัน) จึงมีอายุยืนเพียง 6 ปี

ประเด็นคือ เมื่อรู้ว่าสามารถทำให้เซลล์ย้อนเวลาได้ จึงมีการทำการทดลองเรื่อยมา จนในที่สุดนักวิจัยของญี่ปุ่นคือ ดร.ชินยะ ยามานากะทำสำเร็จในปี 2006 กล่าวคือค้นพบว่า การกระตุ้นยีนส์ 4 ตัว (ที่เรียกว่า transcription factors) คือ Sox2, Oct4, Kif4 และ MyC (หรือ OSKM) จะสามารถทำให้เซลล์ผิวหนัง ย้อนเวลากลับกลายเป็นเซลล์ต้นกำเนิด กระบวนการดังกล่าวเรียกว่า ‘induced pluripotent stem cell’ (iPSC) ซึ่งทำให้ ดร.ชินยะได้รับรางวัลโนเบลร่วมกับเซอร์จอห์น กัวร์ดอนในปี 2012 กล่าวคือ การย้อนเวลานั้นไม่ใช่เรื่องเหลวไหลแต่อย่างใด

ปัญหาคือ งานวิจัยต่างๆ ที่ตามมาพบว่า การหมุนเวลากลับ ทำให้กลายเป็นเซลล์ต้นกำเนิดนั้น ทำให้มีความเสี่ยงสูง ที่จะทำให้เซลล์ดังกล่าวกลายเป็นเนื้องอกและเป็นเซลล์มะเร็ง

แนวทางในการหมุนเวลากลับดังกล่าว เป็นแรงจูงใจให้มหาเศรษฐีของสหรัฐฯ ร่วมลงขันกัน รวมทั้งสิ้น 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อจัดตั้งบริษัทค้นคว้าหาทางนำเอาเทคโนโลยี partial iPSC และเทคโนโลยีอื่นๆ มาใช้ในการยืดอายุมนุษย์

ต่อมา จึงได้มีแนวคิดที่จะกระตุ้นให้หมุนเวลากลับเพียงครึ่งทาง และกระตุ้นเพียงอ่อนๆ กล่าวคือ ย้อนเวลาเพียงเสี้ยวเดียว จึงเรียกว่า ‘partial iPSC’

การทำเช่นนี้ ทำสำเร็จแล้วในหนูทดลองและในเซลล์ผิวหนังของมนุษย์ในห้องทดลอง ผมขอยกตัวอย่างเพียงกรณีแรก ได้แก่ บทวิจัย ‘A single short reprogramming early in life initiates and propagates a mechanism improving fitness and promoting an increased healthy lifespan’ ในวารสาร Aging Cell เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2022 กล่าวโดยสรุปคือ การกระตุ้นการย้อนเวลาเซลล์ ทำให้หนูที่ได้รับ OSKM แบบเจือจางในน้ำตลอดชีวิต อายุยืนกว่าหนูที่ไม่ได้รับ OSKM จากเฉลี่ยอายุ 42.6 สัปดาห์ เพิ่มขึ้นมาเป็น 55.6 สัปดาห์ ทั้งนี้พบด้วยว่า หนูทดลองที่อายุยืนกว่านั้น สุขภาพแข็งแรงดีกว่าด้วยทั้งในเชิงของความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ผิวหนัง ตลอดจน ปอด ไต ฯลฯ

แนวทางในการหมุนเวลากลับดังกล่าว เป็นแรงจูงใจให้มหาเศรษฐีของสหรัฐฯ รวมทั้งเจฟฟ์ เบโซสประธานของ Amazon ร่วมลงขันกัน รวมทั้งสิ้น 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อจัดตั้งบริษัท Altos Laboratory เพื่อค้นคว้าหาทางนำเอาเทคโนโลยี partial iPSC และเทคโนโลยีอื่นๆ มาใช้ในการยืดอายุมนุษย์ครับ

สำหรับตอนที่ 2 ผมจะมาเล่าต่อในนิตยสาร Optimise ฉบับที่ 34 ครับ

สำหรับลูกค้าของกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทรบางท่านที่สนใจจะพูดคุยกับผมเกี่ยวกับเรื่องนี้เพิ่มเติมและเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสุขภาพหรือแม้กระทั่งมาคุยกันเรื่องเศรษฐกิจ ก็สามารถแสดงความจำนงกับที่ปรึกษาทางการเงินของท่าน เพื่อมาพบปะและทำกิจกรรมร่วมกันที่คีรีมายา เขาใหญ่ โดยจะเริ่มโครงการนี้เป็นปีที่ 2 ตั้งแต่เดือน ตุลาคม 2023 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2024 ครับ