SECTION
ABOUTCLIENT VALUES
Hospitality Business
แนวคิดเรื่องความ ‘น่าอยู่’ ที่มากกว่าขอบเขตคำว่า ‘บ้าน’ ของดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ ผู้นำหญิงแห่งวงการอสังหาฯ และทีมนโยบายกรุงเทพฯ
30 กันยายน 2566
“เพราะประเทศเรามีพลังงานแสงอาทิตย์ให้นำไปใช้ได้ฟรีตลอดทั้งวันอย่างไม่มีวันหมด …แล้วเราจะยอมทิ้งโอกาสจากภูมิประเทศที่ได้เปรียบไปจริงๆ หรือคะ”
นี่คือคำถามชวนคิดจากปลายปากกาของดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ หรืออาจคุ้นหูกันในนาม ‘ดร.ยุ้ย’ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) และที่ปรึกษายุทธศาสตร์ ทีมนโยบายของดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนปัจจุบัน ทั้งยังเป็นผู้เขียนหนังสือ Solar So Good ที่บอกเล่าถึงความคุ้มค่าในการหันมาใช้พลังงานแสงอาทิตย์
ดร.ยุ้ย หญิงเก่งแห่งวงการอสังหาริมทรัพย์ไทย มองเห็นโลกในฐานะ ‘บ้านหลังใหญ่’ ที่เราทุกคนต้องร่วมกันรักษาให้น่าอยู่
และการสร้างที่อยู่อาศัยให้เป็นมิตรต่อบ้านหลังใหญ่อย่างโลกใบนี้นี่เองที่กลายเป็นหัวใจการดำเนินธุรกิจของของเสนาฯ ภายใต้การนำของดร.ยุ้ย ผู้ให้ความสำคัญกับการใช้พลังงานสะอาดในบ้านแต่ละหลัง และแปลงความยั่งยืนให้เป็นไลฟ์สไตล์มากกว่าแค่กิจกรรมชั่วครั้งคราว จนกลายเป็นผู้บุกเบิกในไทยของการติดตั้งโซลาร์เซลล์ให้กับบ้านในทุกโครงการ ตลอดจนรองรับการใช้อีวีได้อย่างสะดวก
นอกจากนี้ ความเชี่ยวชาญในฐานะอาจารย์มหาวิทยาลัยที่ผนวกกับประสบการณ์การบริหารธุรกิจอสังหาฯ ของดร.ยุ้ยยังนำมาสู่อีกบทบาทที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิมในการวางนโยบายพัฒนากรุงเทพมหานคร
Decarbonize รายวัน
การที่วันนี้เดินทางด้วยรถไฟฟ้าก็ลดการใช้คาร์บอนแล้ว เพราะเราไม่ได้ก่อให้เกิดกิจกรรมอะไรที่ทำเพื่อเราคนเดียว รถไฟฟ้าก็วิ่งอยู่แล้ว ดังนั้นเราก็ไม่ได้ใช้อะไรมากกว่าที่ควร แล้วเราก็ได้ประโยชน์ในการเดินทางเหมือนเดิม ดังนั้นการลดคาร์บอนเกิดขึ้นได้ทุกวันและตลอดเวลา ขอแค่ให้เราเลือกที่จะทำแค่นั้นเอง
สิ่งที่บริษัทเสนาฯ กำลังทำวันนี้ คือ พยายามทำให้โครงการบ้านของเราเอื้อให้ผู้อยู่อาศัยสามารถเลือกไลฟ์สไตล์แบบลดคาร์บอนได้ง่ายและประหยัดมากขึ้นเรื่อยๆ แทนที่เราจะคิดแค่ว่าจะทำโครงการที่อยู่ใกล้รถไฟฟ้าแล้วให้มีประโยชน์แค่ว่าเดินทางสะดวก พี่อยากชวนลูกบ้านคิดถึงมิติที่ไกลกว่านั้นอย่างการรักษ์โลก ทุกอย่างที่เราทำจึงพยายามเอื้อให้ลูกค้าลดคาร์บอนได้ โดยที่ลูกค้าต้องไม่ลำบาก ไม่ได้ต้องฝ่าฟันเจ็ดยอดภูเขาในการจะรักษ์โลก
วิธีการลดคาร์บอนที่ดีที่สุดคือการเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ตัวเอง เพราะว่าคาร์บอนไดออกไซด์บนโลกนี้ถูกผลิตโดยครัวเรือนมากที่สุดมากกว่า 60% ดังนั้น ถ้าเราต้องการจะลดการผลิตคาร์บอน เราต้องลดจากครัวเรือน ไม่ใช่ไปบอกว่าโรงงานหรือนิคมอุตสาหกรรมลดอย่างเดียว วิธีการช่วยกันลดก็ไม่ใช่ว่าให้ทุกคนอยู่ในบ้านเฉยๆ เราต้องทำให้ทุกคนสามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ แต่ทำให้ทุกกิจกรรมไม่สร้างคาร์บอน
วิธีการลดคาร์บอนที่ดีที่สุดคือการเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ตัวเอง เพราะว่าคาร์บอนไดออกไซด์บนโลกนี้ถูกผลิตโดยครัวเรือนมากที่สุด
เปลี่ยนแบบไม่เปลี่ยน
ส่วนของบ้านพลังงานแสงอาทิตย์ เราทำมานานแล้ว ทำมาสิบกว่าปีแล้วตั้งแต่ตอนน้ำท่วมใหญ่ โดยที่เราจะให้ความยุ่งยากมันเกิดที่ฝั่งเรา แล้วลูกค้าก็ไม่ต้องทำอะไรมาก ฟีดแบคจากผู้อยู่อาศัยเป็นเชิงบวกมากเลย เมื่อก่อนอาจจะมีคำถามบ้างว่าติดแล้วดีจริงไหม แต่ช่วงนี้ความคุ้มค่ามันชัดเจนมากเพราะค่าไฟแพง
ทางเสนาฯ กำลังจะออกบ้านรุ่นใหม่ที่ใช้แนวคิดบ้านพลังงานเป็นศูนย์ โดยเราจะออกแบบให้ใช้พลังงานลดลงด้วยการออกแบบและเลือกใช้วัสดุที่ช่วยลดความร้อนก่อน แล้วค่อยใส่การใช้พลังงานสะอาดเข้าไป ทำให้ทุกคนใช้พลังงานเข้าใกล้เลขศูนย์ โดยไลฟ์สไตล์เหมือนเดิม ดังนั้นไม่ใช่เพราะใช้ไฟประหยัดขึ้นแต่บ้านหลังนี้ไม่มีความจำเป็นต้องเปิดแอร์มากเท่าบ้านหลังในอดีต เพราะว่าเราดีไซน์ให้บ้านหลังนี้เย็นสบาย แล้วไฟที่ใช้ก็ใช้พลังงานสะอาดด้วย เราได้แนวความคิดมาจากญี่ปุ่น แล้วก็เริ่มมาทำที่เมืองไทยครั้งแรก
เราจะใช้แบบจำลองสถานการณ์คำนวนดูว่า แดดแรงเท่านี้ แล้วใช้วัสดุแบบนี้ จะต้องใช้ไฟฟ้ามากน้อยแค่ไหนให้บ้านเย็นลง เราก็ทดลองจนกว่าจะเห็นว่าบ้านนี้สามารถลดการใช้ไฟฟ้าลงในอัตราที่เราต้องการได้ แต่ราคาของบ้านต้องไม่ขึ้นด้วย ซึ่งความยากมันอยู่ตรงนี้ ถ้าเรารับได้กับราคาที่สูง จะทำให้สินค้าดีเท่าไหร่ก็ได้ แต่ตรงนี้ยังไงก็เป็นการค้า ราคาก็ต้องไม่สูงเกินเซกเมนต์ไป ไม่เช่นนั้นมันจะกลายเป็นว่าเราไม่ได้ขายของในเซกเมนต์เดิม เราเลยมีการลองผิดลองถูกตลอดเวลา เอาวัสดุนี้ออก วัสดุนี้เข้า เพื่อหาส่วนผสมที่ลงตัวที่สุดระหว่างการลดการใช้ไฟฟ้า การคุมต้นทุนวัสดุ และให้ผลลัพธ์ตามที่เราต้องการ
การบริหารที่ต่างกัน
พี่ไม่ได้เป็นอาจารย์อย่างเดียว แต่เป็นนักธุรกิจด้วย คือเป็นคนทำมาหากิน หมายความว่าพี่ไม่ได้แค่คิดอย่างเดียว แต่ต้องปฏิบัติให้เห็นด้วยว่าสิ่งที่คิดขายได้จริง สามารถเลี้ยงดูคนเป็นพันได้จริง ตอนเป็นอาจารย์ มันไม่ต้องคิดถึงท่าจบเท่าไหร่ มันคิดท่าเริ่มอย่างเดียว เริ่มยังไง คิดยังไง แล้วก็เป็นที่ปรึกษา แต่การเป็นนักธุรกิจมันต้องคิดท่าจบให้ลง ขายให้หมดให้ได้
ส่วนการทำงานบริหารในเชิงเมือง เราไม่ต้องการกระดาษ เราต้องการสิ่งที่ทำให้คนรู้สึกว่าเมืองนี้ดีขึ้นจริงๆ ดังนั้นการมีประสบการณ์ด้านการทำธุรกิจเป็นเรื่องดีที่ทำให้เรารู้จัก execution ในสถานการณ์ต่างๆไม่ใช่แค่เขียนนโยบายไปอย่างนั้น
เราควบคุมสิ่งต่างๆ ในระดับธุรกิจได้ง่ายกว่า เปลี่ยนท่ายังไงก็ได้ ขอให้ขายได้แล้วกัน แต่เวลาที่เป็นระดับเมือง การจะเปลี่ยนท่าคืองานช้างมากเลยนะ
ในส่วนของความยากคือ การบริหารจัดการความคาดหวัง เนื่องจากหลายๆ อย่างไม่ได้อยู่ภายใต้การดูแล หลายคนอาจคิดว่า พ่อเมืองเป็นคนที่รับผิดชอบได้กับทุกเรื่อง สมมติเราเป็นผู้จัดอีเวนต์ในพื้นที่หนึ่งคนนอกคงคิดว่าเราทำให้ทุกจุดออกมาดีได้ตามใจอยาก แต่จริงๆ แล้ว เราไม่ใช่เจ้าของไฟ เจ้าของโต๊ะ ทำอะไรก็ต้องขออนุญาตเจ้าของ แต่เกิดอะไรผิดพลาดขึ้นหรือผลงานออกมาไม่ดี ไม่ไวพอ เราก็จะโดนด่าก่อน
เรื่องที่สองคือ ตัวแปรที่มีเยอะและไม่เคยหยุดนิ่ง สมมติเราตั้งใจทำเรื่องหนึ่งอยู่ แล้วบังเอิญมีความเสี่ยงใหม่เกิดขึ้นระหว่างนั้น เราอาจต้องยกเลิกบางโครงการไป ยิ่งมาทำในระดับเมือง เรื่องแบบนี้ยิ่งเกิดขึ้นง่ายกว่าทำในระดับธุรกิจอีก
เราควบคุมสิ่งต่างๆ ในระดับธุรกิจได้ง่ายกว่า เราเปลี่ยนกฎเกณฑ์เองได้เยอะ เปลี่ยนท่ายังไงก็ได้ ขอให้ขายได้แล้วกัน แต่เวลาที่เป็นระดับเมือง เราทำงานกับข้าราชการ การจะเปลี่ยนท่าคืองานช้างมากเลยนะ เรื่องต้องผ่านสารพัดสภา ดังนั้นสำหรับบางเรื่อง ตอนแรกอาจคิดไว้ว่าเปลี่ยนแล้วจะดี แต่พอรู้ถึงความเป็นจริงแล้ว ไม่เปลี่ยนจะดีกว่า เพราะต้นทุนธุรกรรมของการเปลี่ยนนี้อาจยังไม่คุ้มค่า อันนี้ไม่ได้พูดเพื่อจะบอกว่าระบบราชการดีหรือไม่ดี แต่เพื่อบอกว่ามันเป็นหน่วยงานขนาดใหญ่ และมีการกระทบกันได้เยอะมาก อาจทำให้มีข้อจำกัดเยอะกว่าเอกชนอย่างชัดเจน
บ้านช่วยเมือง
ในเรื่องของเมืองมีปัญหาที่เรามองไม่เห็นอยู่ตลอดเวลา เช่น ราคาบ้านแพงจนคนซื้อไม่ไหว ซึ่งเกิดจากต้นทุนค่าก่อสร้างแพง และคนซื้อบ้านไม่ไหวเพราะหารายได้ไม่ทัน ภาวะโลกร้อนก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ทำให้เราอยากใช้พลังงานสะอาด และอยากช่วยให้คนประหยัดค่าไฟได้มากกว่านี้ นอกจากนี้ ก็ยังมีปัญหาอื่นๆที่รู้สึกว่า เราเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาได้ จึงเกิดไอเดียการเอาแนวคิดของ Smart City มาใช้
สมาร์ทซิตี้เป็นทฤษฎีที่ช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการขยายเขตเมือง แก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศให้กับเมือง พี่ไม่ใช่เจ้าของเมือง ไม่ใช่คนที่เป็นคนดูแลเมืองด้วยซ้ำ แต่ในฐานะที่เราเป็นผู้ออกแบบที่อยู่อาศัย เราอาจไม่สามารถรอให้ผู้รับผิดชอบเรื่องเมืองให้มาแก้ทุกปัญหาให้ได้ แต่สามารถนำความรู้ด้านสมาร์ทซิตี้มาใส่ในโครงการบ้านของเราบางส่วนเพื่อช่วยแก้ปัญหา เช่น Smart Mobility การเอื้อให้คนเดินทางสะดวกที่สุด โดยเน้นรถสาธารณะ เราจะจัดการคำนวนและแนะนำในแอปพลิเคชันให้หมดว่าต้องใช้เวลาเดินทางเท่าไหร่ มีวิธีเดินทางอย่างไรบ้าง นอกจากนี้ เราก็พยายามแก้ pain point อื่นๆ
ท่านผู้ว่าฯ พูดอยู่บ่อยๆ ว่า “เมืองคือคน คนคือเมือง” เมืองจะไม่มีอะไรเลยถ้าคนที่อยู่ในเมืองไม่ดี ดังนั้นโจทย์คือการให้เมืองรักษาคนมีความสามารถไว้ให้ได้
อย่างปกติแล้วเวลาขึ้นรถไฟฟ้า ถ้าบ้านเราไม่ได้อยู่ใกล้รถไฟฟ้ามาก เราก็ต้องพึ่งวินมอเตอร์ไซค์ ถึงบางหมู่บ้านจะจัดรถรับส่งให้ แต่คนก็ไม่ค่อยใช้ เพราะเหมือนบังคับให้ทุกคนต้องมานั่งรอเวลา เราก็พยายามจะเปลี่ยนมาใช้บริการรถ EV shuttle ที่กำหนดให้มารับภายในสิบห้านาทีเมื่อมีคนเรียก
ถ้าคนสามารถเดินทางด้วยรถสาธารณะได้อย่างสะดวกในราคาถูก มันก็ไม่มีเหตุผลที่คนจะไม่ใช้ ในทางกลับกันถ้าเราเอาแต่รณรงค์ให้คนเดินทางด้วยรถสาธารณะ แต่เราไม่ปรับให้การเดินทางมันสะดวกขึ้นและราคาถูกลง พูดไปเถอะ คนก็ไม่ใช้อยู่ดี พี่บังคับเมืองไม่ได้ พี่ทำได้แต่ว่าทำยังไงให้โครงการเราเป็นโครงการที่สนับสนุนให้เรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นได้มากที่สุด
เมืองดีเพราะ ‘คน’
พี่ได้รับผิดชอบจุดที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจเมืองและรู้สึกว่าการกระตุ้นให้มีบริษัทต่างชาติมาอยู่ในกรุงเทพฯ มากขึ้น หรือการดึงคนมีความสามารถให้มาอยู่ในกรุงเทพฯ มากขึ้นเป็นเรื่องสำคัญ
ท่านผู้ว่าฯ พูดอยู่บ่อยๆ ว่า “เมืองคือคน คนคือเมือง” เมืองจะไม่มีอะไรเลยถ้าคนที่อยู่ในเมืองไม่ดี ดังนั้นโจทย์คือการให้เมืองรักษาคนมีความสามารถไว้ให้ได้ ซึ่งการรักษาคนกลุ่มนี้ก็ต้องมีการถ่ายทอดความรู้กันด้วย และถ้าเอาบริษัทต่างชาติมาอยู่ได้ก็หมายถึงการลงทุนที่เพิ่มขึ้น เศรษฐกิจจะดี ดังนั้น เรื่องคนก็เป็นหนึ่งในเรื่องที่สำคัญมาก ซึ่งในอดีตไม่มีส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะว่าไม่ได้มีเครื่องมือทางเศรษฐกิจอะไรอยู่ในมือ อย่างอัตราดอกเบี้ย ภาษี incentive ที่เรากำหนดเองไม่ได้
แต่ท่านผู้ว่าฯ ก็เคยบอกไว้ว่า การที่ไม่ได้มีของอยู่ในมือนั้น ไม่ได้หมายความว่าเราจะมีส่วนช่วยไม่ได้ อย่างการกระตุ้นให้ต่างชาติเข้ามาอยู่ หน่วยงานหลักคือบีโอไอ ซึ่งกรุงเทพฯทำงานร่วมไปด้วยกันได้ เพราะกรุงเทพฯ เป็นเจ้าของพื้นที่ เมื่อบีโอไอไปเรียกแขกว่ามาอยู่เมืองไทยกันนะ แต่พอแขกมาถึงแล้วเห็นมลพิษหนักหนา แถมไม่มีสวนสาธารณะให้เดิน เขาก็ย่อมไม่อยากมา ไม่ว่าจะมี super tax incentive ยังไงก็ไม่อยากมา เพราะฉะนั้น ในฐานะเจ้าของพื้นที่ พี่ก็มีหน้าที่ช่วยเรียกแขกว่า เมืองเราน่าอยู่ยังไง เมืองเรามีสวนนะ เมืองเราจะมีพลังงานสะอาดเข้ามาใช้ยังไง
นอกจากนี้แล้ว หากวนกลับมาถึงธุรกิจของพี่ ‘บ้าน’ กับการพัฒนาเมืองมันก็ไปด้วยกัน เวลาเราพูดคำว่าเมือง เราวัดมันด้วยคำว่า ‘น่าอยู่’ ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว จะมีเกณฑ์แข่งขันกันเลยว่าเมืองไหนน่าอยู่เป็นตัวเลขเท่าไหร่ ซึ่งคำว่าน่าอยู่เนี่ย เป็นคำที่ยิ่งใหญ่และมีความหมายกว้างมาก เมืองจะน่าอยู่ได้ มันต้องมีบ้านให้คนอยู่ ถูกไหม? ดังนั้นการที่เราทำธุรกิจที่อยู่อาศัย ก็ย่อมเป็นส่วนหนึ่งของการทำให้เมืองน่าอยู่ และเป็นพาร์ทสำคัญของทั้งคนและเมือง ■
รู้จักกับ ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์
ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนจะไปศึกษาต่อชั้นปริญญาโทด้านการเงินที่ University of California at Riverside และปริญญาโทและเอกด้านเศรษฐศาสตร์ที่ Claremont Graduate University ด้วยทุนของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปัจจุบันดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บริษัท เสนาดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) และเป็นหนึ่งในทีมนโยบายของดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ คนปัจจุบัน