HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

FULL FLAVOURS


A Foreign Taste

แม้เวลาจะล่วงเลยมานานกว่า 500 ปีแล้ว แต่ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับโปรตุเกสยังคงฝังรากลึกอยู่ในวัฒนธรรมอาหารของคนไทยอย่างไม่เสื่อมคลาย

30 กันยายน 2566

ในปี 1511 ดูวาร์ตึ ฟือร์นังดึช นักการทูตและนักสำรวจชาวโปรตุเกส โดยสารเรือสำเภาจีนมาถึงแผ่นดินสยามในสมัยกรุงศรีอยุธยา นับเป็นราชทูตจากราชสำนักยุโรปคนแรกที่มีหลักฐานบันทึกการเดินทางมาถึงสยามประเทศ

ในครั้งนั้น ราชสำนักอยุธยาในสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ได้ให้การต้อนรับดูวาร์ตึเป็นอย่างดี โดยดูวาร์ตึได้ทูลเกล้าฯ ถวายพระแสงดาบประดับอัญมณีกับพระราชสาสน์จากพระเจ้าแผ่นดินโปรตุเกสแก่สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 เพื่อเจริญสัมพันธไมตรีกับสยามอย่างเป็นทางการ

เหตุการณ์ครั้งประวัติศาสตร์นี้ได้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในหลายด้านต่อกรุงศรีอยุธยา โดยนอกเหนือจากการเปิดประตูสู่เวทีโลกแล้ว ยังส่งผลต่อเศรษฐกิจผ่านความสัมพันธ์ด้านการค้าระหว่างสยามประเทศกับโปรตุเกส แต่ผลลัพธ์สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่เปลี่ยนแปลงชีวิตของชาวสยามมาจนถึงปัจจุบันก็คือเรื่องของอาหาร

มะเขือเทศ มะละกอ สัปปะรด ไปจนถึงพริกล้วนเป็นพืชที่ชาวโปรตุเกสนำเข้ามาปลูกในราชอาณาจักรอยุธยา และพืชผักผลไม้เหล่านี้ได้กลายมาเป็นวัตถุดิบสำคัญในหลากหลายเมนูอาหารจานไทย เช่น ส้มตำ ที่อร่อยด้วยการผสานความกรุบกรอบของมะละกอดิบสีเขียวความหวานฉ่ำของมะเขือเทศสด และความเผ็ดร้อนจากพริก จนกลายเป็นเมนูขึ้นชื่อของเมืองไทยที่ดังไกลไปทั่วโลก แต่อิทธิพลของโปรตุเกสนั้นหยั่งรากลึกลงในวัฒนธรรมอาหารของไทยมากกว่าเพียงแค่อาหารจานเดียว

“พริกถือว่าเป็นส่วนหนึ่งในอัตลักษณ์ความเป็นไทย โฆษณาจำพวก ‘อะเมซิ่งไทยแลนด์’ จะขาดภาพชาวต่างชาติอ้าปากเป่าลมเพราะความเผ็ดจากอาหาร แล้วมีภาพคนไทยหัวเราะอย่างเอ็นดูอยู่ข้างๆ ไม่ได้เลย” ชาวดี นวลแข นักเขียน บล็อกเกอร์ และอดีตนักข่าวสำนักข่าวรอยเตอร์กล่าว

ผู้ที่พอรู้เรื่องราวของอาหารไทยคงทราบดีว่าวิวัฒนาการอาหารของไทยคงมีรสชาติไม่สมบูรณ์หากปราศจากมารีอา กียูมาร์ ดึ ปีญา หรือ ‘ท้าวทองกีบม้า’ ชาวต่างชาติที่มีอิทธิพลต่ออาหารไทยภาคกลางเป็นอย่างมาก สตรีชาวโปรตุเกส-ญี่ปุ่นผู้นี้ได้สร้างสรรค์ขนมหวานหลายรูปแบบในสไตล์โปรตุเกส ซึ่งมีไข่เป็นส่วนประกอบหลัก เพื่อถวายแก่พระราชสำนักของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยาในช่วงศตวรรษที่ 17 ขนมหวานที่ท้าวทองกีบม้าปรุงขึ้นมีทั้งขนมหม้อแกง ทองม้วน ทองหยอดและฝอยทองซึ่งเป็นของหวานที่ได้รับความนิยมในหมู่คนไทยจนถึงทุกวันนี้

มะเขือเทศ มะละกอ สัปปะรด ไปจนถึงพริก ล้วนเป็นพืชที่ชาวโปรตุเกสนำเข้ามาปลูกในราชอาณาจักรอยุธยา และพืชผักผลไม้เหล่านี้ได้กลายมาเป็นวัตถุดิบสำคัญในหลากหลายเมนูอาหารจานไทย

ยิ่งกว่านั้น นอกจากขนมหวานและวัตถุดิบอาหารที่หาได้ในชีวิตประจำวันแล้ว ร่องรอยความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับโปรตุเกสแบบอื่นๆ ยังปรากฏเป็นหลักฐานให้คนรุ่นปัจจุบันได้เห็น เช่น ชุมชนกุฎีจีน หนึ่งในชุมชนที่มีการตั้งรกรากมายาวนานและเก่าแก่ที่สุดของกรุงเทพฯ โดยชุมชนเล็กๆ แห่งนี้ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา มีจุดเริ่มต้นตั้งแต่ครั้งการสถาปนากรุงธนบุรีเป็นเมืองหลวงแห่งใหม่ในปี 1767 เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้พระราชทานที่ดินส่วนหนึ่งให้แก่ชาวโปรตุเกสที่เคยมีบ้านเรือนในกรุงศรีอยุธยาซึ่งล่มสลายไปแล้วเพื่อสร้างชุมชนใหม่ในเขตกรุงธนบุรี

หากได้ไปเดินเที่ยวเล่นดู กลิ่นอายของวัฒนธรรมไอบีเรียยังคงปรากฏชัดอยู่ที่โบสถ์ซางตาครู้ส โบสถ์คาทอลิกที่มีความเก่าแก่เป็นลำดับสองของประเทศไทย พิพิธภัณฑ์บ้านกุฎีจีนตลอดจนร้านอาหารบ้านสกุลทอง ร้านอาหารไทย-โปรตุเกสที่ซ่อนตัวอยู่ในซอยเล็กๆ ภายในชุมชน โดยร้านแห่งนี้มีจุดเริ่มต้นมาจากความฝันในวัยเด็กของขนิษฐา สกุลทองและประวีร์ สกุลทอง ผู้เป็นสามี และผู้สืบทอดตระกูลสกุลทอง หนึ่งใน 18 ตระกูลชาวไทยเชื้อสายโปรตุเกสที่อพยพจากกรุงศรีอยุธยามายังกุฎีจีน

“ตอนแรกเราคุยกันว่าควรจะเปิดร้านอาหารในห้างดีไหม แต่ตอนที่กำลังคุยกันอยู่ คุณย่าของสามีก็ทำอาหารโปรตุเกสแบบดั้งเดิมมาให้พวกเราทานพอดี เราเลยได้ไอเดียเรื่องการเปิดร้านอาหารที่จะนำเสนอและบำรุงวัฒนธรรมโปรตุเกสที่อยู่ในชุมชนของเรา” ขนิษฐากล่าว

นอกเหนือจากภูมิปัญญาอาหารโปรตุเกสจากฝั่งครอบครัวของประวีร์ ชวดของขนิษฐาเคยทำงานเป็นต้นเครื่องพระกระยาหารและเครื่องหวานในราชสำนักของรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ขนิษฐาและประวีร์ได้นำความรู้เรื่องอาหารของสองครอบครัวมาผสานกัน เพื่อเล่าถึงเรื่องราวแห่งยุคก่อน

“อาหารที่เราเสิร์ฟที่บ้านสกุลทองนั้น เป็นเมนูที่มีประวัติยาวนานกว่า 250 ปี และเรายังคงใช้วิธีการปรุงอาหารแบบดั้งเดิมเหมือนที่คนในอดีตเคยทำ แต่อาจมีการปรับระดับความหวานบ้าง เพราะบางเมนูอาจมีรสชาติหวานเกินไปสำหรับคนสมัยนี้” ขนิษฐาอธิบาย

นอกจากขนมหวานและวัตถุดิบอาหารที่หาได้ในชีวิตประจำวันแล้ว ร่องรอยความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับโปรตุเกสแบบอื่นๆ ยังปรากฏเป็นหลักฐานให้คนรุ่นปัจจุบันได้เห็น เช่น ชุมชนกุฎีจีน

ชุดสำรับอาหารของร้านบ้านสกุลทองนั้นประกอบไปด้วยอาหารตำรับชาววังอย่างขนมจีบนกและขนมช่อม่วง และอาหารที่ได้รับอิทธิพลมาจากโปรตุเกสอย่าง ‘ขนมจีนแกงไก่คั่ว’ขนมจีนสไตล์โปรตุเกสใส่น้ำกะทิแดง, ‘ต้มมะฝาด’แกงที่หน้าตาละม้ายคล้ายต้มจับฉ่าย ซึ่งดัดแปลงมาจากเมนูสตูว์ที่ชื่อว่า Cozido à Portuguesa,‘หมูซัลโม’ ที่พลิกแพลงมาจากเมนู Lombo de Porco à Alentejana, รวมถึงอาหารที่ทุกคนคุ้นเคยอย่าง ‘ทอดมันปลากราย’ ที่คล้ายคลึงกับ Pastéis de Bacalhau เค้กปลาค็อดทอดปรุงรสเค็มในแบบฉบับโปรตุเกส

นอกเหนือจากบ้านสกุลทอง ร้านอาหารอีกหลายแห่งในกรุงเทพฯ ก็ใช้อาหารสไตล์โปรตุเกสเป็นจุดดึงดูดใจนักชิมยุคปัจจุบัน อย่างร้าน La Mía บนถนนเพชรบุรี ซึ่งถือเป็นหนึ่งในร้านอาหารโปรตุเกสล้วนเพียงไม่กี่แห่งในกรุงเทพฯ โดยจุดเริ่มต้นของร้านมาจากการออกท่องเที่ยวและใช้ชีวิตในยุโรปของสุรัสดา แก้วมณี และสรัญรักษ์ กันมินทร์ ผู้เป็นเจ้าของร้าน ทั้งสองคนหลงใหลในอาหารเมดิเตอร์เรเนียน และเลือกเปิดร้านอาหารโปรตุเกสที่ผสมผสานวัตถุดิบจากท้องถิ่นไทย

“แม้ว่าเราจะตั้งใจเสิร์ฟอาหารโปรตุเกสขนานแท้ แต่เราก็ยึดมั่นกับการใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น ซึ่งเป็นเรื่องง่ายกว่าที่คิดไว้เพราะเมนูอาหารโปรตุเกสใช้วัตถุดิบหลายอย่างคล้ายกับเมนูอาหารไทย” สุรัสดาเล่า

สุรัสดาได้ยกตัวอย่างพริกขี้หนูที่นำมาใช้ทำซอส ‘เปริ-เปริ’ (Peri-Peri) ซอสพริกเผ็ดจัดจ้านสไตล์โปรตุเกส ที่ทางร้านทำขึ้นมาเอง และบันทึกประวัติศาสตร์ได้ระบุไว้ว่า พริกที่คนไทยใช้ปรุงอาหารทุกวันนี้ มีที่มาจากพริกที่ชาวโปรตุเกสเคยใช้ราดเมนูไก่ย่างอันโด่งดังอย่าง ‘ไก่ย่างเปริเปริ’

เมนูซิกเนเจอร์ของร้านละเมียอย่าง ‘Cataplana de Marisco’ มีวัตถุดิบหลักจากท้องทะเลเมืองไทย และในบางครั้งใช้กุ้งแม่น้ำจากอยุธยามาเพิ่มความอร่อย เรียกได้ว่าเป็นการย้อนทวนกลับสู่เมืองต้นกำเนิดการบรรจบกันของไทยกับโปรตุเกสก็ว่าได้

จะเห็นได้ว่า แม้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับโปรตุเกสเริ่มต้นเมื่อ 500 ปีที่แล้ว แต่มรดกทางวัฒนธรรมจากการพบกันของสองดินแดนจากคนละฟากฟ้ายังคงถูกโขลกจนเข้าเนื้อแน่นหนาในอาหารของสยามประเทศ รสชาติอันเฉพาะตัวนี้จะยังคงอยู่ต่อไปอีกเนิ่นนาน ผ่านการรักษาและการบอกเล่าของผู้ที่ได้รู้จักและหลงใหลในเสน่ห์ของความหลากหลายนี้